ถาม-ตอบ

อาทิตตปริยายสูตร

แสดงธรรม กลุ่ม Natural Mind เมื่อวันที่ 14 มีนาคม  2559 

 

ท่านทรงกลด  :  หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม ไปโปรดปัญจวัคคีย์ โปรดพระยสะและเพื่อนๆ พระองค์ก็เสด็จเพียงพระองค์เดียวมาเมืองมคธ อันเป็นเมืองของพระเจ้าพิมพิสาร เสด็จล่วงเข้าตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ที่มีฤษีสามพี่น้องนำโดยท่านอุรุเวลกัสสปะ พำนักอยู่ริมแม่น้ำเนรัญชรา นั่งบูชาไฟอยู่ พระองค์ขอเข้าพำนักในโรงบูชาเพลิง แต่อุรุเวลกัสสปะเตือนว่า มีพญานาคอยู่ คืนนั้นพระองค์ใช้ฤทธิ์กำราบพญานาคอยู่หมัดแล้วจับขดไว้ในบาตร รุ่งเช้าแสดงพญานาคที่อยู่ในบาตรให้อุระเวลกัสสปะดู 

ท่านอุระเวละก็คิดว่า โอ้ !  พระมหาสมณะนี่มีฤทธิ์มาก แต่ถึงกระนั้นก็คงหาได้เป็นอรหันต์เหมือนเราไม่ อุระเวละนี่ ท่านบูชาไฟ เพ่งไฟ เป็นเตโชกสิณ เป็นฌาน (มิจฉาสมาธิ) ขณะจิตเป็นฌาน กิเลสทั้งปวงก็หายไป จึงเข้าใจว่า ตนบรรลุอรหัตผล 

คืนต่อมา พวกพระอินทร์ พระพรหมมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า แสงสว่างจ้าไปหมด รุ่งเช้าอุรุเวละก็ถามว่าใครมาหา พอรู้เข้า อุรุเวละก็คิดว่า โอ้ ! พระมหาสมณะนี่มีเดชานุภาพมาก พวกท้าวเทวราชก็ดี พรหมก็ดี จึงพากันมาเฝ้าฟังธรรม แต่ก็หาเป็นอรหันต์เหมือนเราไม่  ต่อมาจะมีงานบูชายันต์ใหญ่ที่อาศรมของท่าน ผู้คนจะพากันมามากมาย อุรุเวละเกิดความกลัวว่า จะมีคนหันไปนับถือพระพุทธเจ้าแทนตน จึงคิดไม่อยากให้พระพุทธเจ้ามาร่วมงาน

ตรงนี้สำคัญมากนะ ส่วนใหญ่พวกเล่นฌาน จิตจะแข็งกระด้าง อหังการมาก และจะมีอัตตาตัวตนสูงมาก ไม่อยากเห็นใครเด่น ดี ดังกว่าตน จะแอบอิจฉา ริษยาโดยบางทีไม่รู้ตัว ซึ่งน่าสังเวชใจเป็นอย่างมาก  แม้อุรุเวละก็เช่นกัน  เมื่อพระพุทธเจ้าทราบความคิดเช่นนั้น พระองค์จึงหลบไปบิณฑบาตที่อื่นแทน (ในวันที่เขาจัดงานกัน) พอวันรุ่งขึ้น อุรุเวละก็ไปนิมนต์พระพุทธเจ้ามาฉันภัตตาหาร (หลังจากพิธีงานเสร็จแล้ว คนกลับไปหมดแล้ว) และถามพระพุทธเจ้าว่า เมื่อวานท่านไปไหน ทำไมไม่ไปร่วมงาน (นั่น ยังเสแสร้งแกล้งถามอีก)  พระพุทธเจ้าจึงสวนออกมาว่า ก็เมื่อวานท่านคิดกลัวว่า หากเราไป คนจะหันมานับถือเรามากกว่าท่านมิใช่หรือ อุรุเวละก็สะดุ้ง คิดอยู่ว่า พระมหาสมณะนี่สำคัญยิ่งนัก ทราบแม้ความคิดเรา แต่ถึงกระนั้นก็หาเป็นอรหันต์เหมือนเราไม่ 

หลังจากนั้นพระองค์ก็แสดงฤทธิ์อีกมากมายเพื่อทรมานอุรุเวละกัสสปะ เช่น ใช้ฤทธิ์ดับไฟห้าร้อยกองที่พวกอุรุเวละจุดบูชา ต่อเมื่ออนุญาต จึงจุดได้ หรือใช้ฤทธิ์ห้ามมิให้ไฟที่จุดบูชาดับ ต่อเมื่ออนุญาตจึงดับได้ เป็นต้น  จนอุรุเวละจางคลายทิฏฐิมานะ พระองค์จึงตรัสว่า ดูก่อนอุรุเวละกัสสปะ ท่านไม่ใช่พระอรหันต์ มรรคปฏิปทาที่ท่านดำเนินอยู่ ไม่ใช่หนทางพ้นทุกข์ เท่านั้นแหละ อุระเวละยอมซบศีรษะที่พระบาทพระพุทธเจ้า ยอมถอดเครื่องทรงฤษี เครื่องบริขาร เครื่องบูชาไฟทั้งหลายลอยลงแม่น้ำ หันมาครองผ้ากาสาวพัสตร์อันเป็นเครื่องหมายแห่งพระภิกษุสงฆ์ในพุทธศาสนาแทน

สองพี่น้องที่อยู่ด้านล่างของแม่น้ำเห็นเครื่องบริขารของพี่ ลอยมาก็ตกใจ เดินทางมาดู เมื่อรู้เหตุจึงพากันออกบวชด้วยกันทั้งหมดรวมได้ ๑,๐๐๓ รูป ต่อมาพระองค์พร้อมพวกชฏิลสามพี่น้อง (ตอนนี้เป็นพระภิกษุแล้ว) ได้เดินทางมาพักอยู่ที่ตำบลคยาใกล้แม่น้ำคยา ตรงนี้เอง พระองค์ทรงแสดงธรรม เรียกว่า อาทิตตปริยายสูตร อันเป็นพระธรรมว่าด้วยไฟกับอายตนะหก อายตนะหก มีภายนอกและภายใน  ภายนอกคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์ ส่วนอายตนะภายในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อตาเห็นรูป เรียกว่า ผัสสะ หูได้ยินเสียงย่อมเกิดผัสสะคือ การกระทบ จมูกได้กลิ่น ลิ้นสัมผัสรส กายสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ธรรมารมณ์ (มโนภาพที่ปรากฏขึ้นในใจ) สัมผัสใจ เหล่านี้เรียกว่า ผัสสะคือ การกระทบ การเสียดสี เมื่อมีผัสสะ ย่อมเกิดเวทนาตามมาอย่างมิต้องสงสัย ห้ามไม่ได้ด้วย ผัสสะย่อมก่อให้เกิดเวทนา ลองเอามือตีแขนดูสิ ต้องเจ็บ (ทุกขเวทนา) เป็นธรรมดา 

ขณะที่เกิดเวทนา แท้จริง (ถ้าเห็นธรรม) ขณะนั้นยังไม่เกิดตัณหาแต่เพราะไม่รู้เท่าทันในเวทนาทั้งปวง จิตจึงเข้าไปยึดและปรุงแต่งตัณหาขึ้นมา ตรงนี้แหละ เรียกว่า เวทนาก่อให้เกิดตัณหา ตัณหาชื่อว่า ไฟ เกิดตรงนี้ ราคะก็เป็นไฟ โทสะก็เป็นไฟ  ขึ้นชื่อว่าไฟ เป็นของร้อน มีใครบ้างที่อยากเข้าใกล้ 

ทำไมพระพุทธเจ้าเทศน์เรื่องไฟให้พวกชฏิลฟัง  ก็เพราะพวกนี้อยู่กับไฟมาตลอด จึงเห็นง่าย การเห็นไฟภายนอกมันร้อนก็จริงอยู่แต่ไม่นานก็ดับไป แต่ไฟในใจของเรานี่ไม่เคยดับเลยแม้แต่นาทีเดียว พระองค์สอนให้พวกชฏิลเห็นความร้อนแห่งไฟตัณหาที่ปรากฏในใจอันเกิดจากผัสสะดังกล่าว ธรรมชาติคนเราย่อมต้องหนีร้อนไปพึ่งเย็น มีใครที่หนีเย็นไปหาร้อน อันนี้เพี้ยนสุด สอนไม่ได้แล้ว ขนาดมือเราเผลอไปโดนหม้อข้าวร้อนๆ ยังชักมือกลับแบบอัตโนมัติเลย จิตเราก็เหมือนกัน ทุกวันนี้จิตเรากอดโทสะไว้แน่น กอดราคะไว้แน่น โดยไม่รู้สึกร้อน บางคนถึงขนาดเห็นโทสะเป็นของหอมหวานน่าลิ้มรส หารู้ไม่ว่า มันคือไฟที่กำลังเผาไหม้ใจโดยไม่รู้ตัว ดูคนโกรธสิ เราบอกว่า  โกรธจนหน้าแดงก่ำ 

ภิกษุณีอรหันต์องค์หนึ่ง พระอุบลวรรณาเถระ กล่าวอุทานออกมาเลยว่า เมื่อยามที่มีไฟราคะเผาผลาญใจ เหมือนไฟที่กำลังหลอมเหล็กละลายฉะนั้น ไฟโทสะก็เช่นกัน นึกภาพดูสิว่า ไฟที่หลอมเหล็กได้มันร้อนขนาดไหน พระอรหันต์จะเห็นราคะ โทสะ เป็นไฟหลอมเหล็กเหมือนกันหมด จิตท่านจึงไม่เอาเลย ไฟมาจากไหน มาจากการขาดสติไม่รู้เท่าทันเวทนานั่นเอง 

เมื่อตาเห็นรูปสวย ย่อมเกิดอารมณ์ยินดีเป็นธรรมดา ตรงนี้เรียกว่า สุขเวทนาแต่เพราะไม่รู้เท่าทัน ขาดสติหรืออบรมสติมาไม่ดีพอ จิตเข้าไปคว้าฉวยเวทนาคือ อารมณ์ยินดีในรูปนั้นมาปรุงแต่งเป็นตัณหา ราคะ อาจจะเป็นกามตัณหาหรือภวตัณหา อยากมี อยากได้รูปสวยๆ นั้นขึ้นมา 

รูปสวยๆ นี่ ไม่จำเป็นต้องเป็นหญิงงาม ชายหล่อก็ได้ อาจจะเป็นกระเป๋าหลุยส์ มือถือ รถยนต์ บ้าน ทันทีที่จิตเข้าไปคว้าฉวยเวทนามาปรุงแต่งเป็นตัณหา ราคะ ขณะนั้นไฟถูกจุดติดแล้ว คำว่า ราคะอย่าหมายถึงในทางกามคุณอย่างเดียว อะไรที่อยากๆ เรียกว่า ราคะทั้งหมด

ทำนองเดียวกัน เมื่อหูได้ยินเสียงด่า อารมณ์ยินร้าย คือความไม่ชอบใจจะเกิดก่อน แต่เพราะขาดสติ สติไม่มีกำลังพอที่จะหยุดจิตเอาไว้ได้ จิตก็จะวิ่งแส่ไปเสวยอารมณ์ยินร้าย ไม่พอใจนั้นมาปรุงแต่งเป็นโทสะคือความโกรธขึ้นทันที ตรงนี้ไฟถูกจุดขึ้นแล้วเช่นกัน

ลองนั่งนึกย้อนถามตัวเองดูว่า วันนี้ท่านจุดไฟขึ้นในใจท่านกี่กองเข้าไปแล้ว วันหนึ่งๆ เราถูกไฟที่เราเองนี่แหละจุดขึ้นมาทำร้ายตัวเอง เผาตัวเอง ไม่รู้กี่ร้อยกี่พันกอง บางทีหลับไปแล้ว ยังตามไปจุดในฝันอีก เราโง่หรือเราฉลาด ที่ทำร้ายตัวเองได้แม้กระทั่งหลับ ขนาดร่างกายเราเอง พอแกว่งมือไปกระทบหม้อข้าวร้อนยังชักกลับเอาตัวรอดเลย แล้วทำไมใจเราจึงโง่ยิ่งนัก เฝ้ากอดความร้อนอันเกิดจากไฟที่เราต่างเฝ้าจุดมันขึ้นมา

มีชายคนหนึ่ง วิ่งถือก้อนเหล็กเผาไฟแดงโร่ ทั้งหนักทั้งร้อนแล้วร้องว่า โอ้ ! ร้อนเหลือเกิน ๆ คนผ่านไปมาก็เห็นจึงตะโกนบอกว่า ทำไมไม่วางลงเสียล่ะ จะได้ไม่ร้อน ไม่หนัก ชายคนนั้นก็ร้องสวนมาว่า วางไม่ได้ ๆ คนผ่านไปดังกล่าวก็ถามกลับไปว่า ทำไมวางไม่ได้ ก้อนเหล็กที่เผาไฟแดงฉานนี่มันเป็นของฉัน ก้อนผม เล็บ ฟัน หนัง ก้อนกระดูกนี่เป็นของฉัน 

ก้อนสกนธ์กายนี้มันเป็นของฉัน ก้อนผม เล็บ ฟัน หนัง ก้อนกระดูกนี่เป็นของฉัน ก้อนลูก ก้อนสามี ก้อนภรรยา ก้อนพ่อ ก้อนแม่ ก้อนบ้าน ก้อนรถ ก้อนที่ดิน ก้อนหุ้น ก้อนบริวาร ทั้งหมดนี่มันเป็นของฉัน ก้อนทุกข์ ก้อนสุขมันเป็นของฉัน พิจารณาดูดีๆ มันใช่ของฉัน ของเราจริงหรือไม่ ลูกเมียสามี ใช่หรือ ลูกก็เท่านั้น สามีก็เท่านั้น ภรรยาก็เท่านั้น เขาก็เป็นของเขา บังคับบัญชาอะไรได้บ้างไหม สามีเคยรัก บัดนี้ยังรักอยู่ไหม ภรรยาเคยรัก บัดนี้ยังรักอยู่ไหม  ลูกพอมีครอบครัว คนรัก เขาก็มีหนทางของเขา จะอยู่กับเราไปได้ตลอดหรือ แม้กายเรา ยังไม่ใช่ของเราเลย แล้วก้อนสกนธ์กายคนอื่นจะเป็นของเราได้หรือ วางได้แล้ว 

ส่วนก้อนเบื่อก็คือก้อนทุกข์อันหนึ่ง มันใช่ของเราหรือ บอกมันสิว่า เฮ้ย ! เลิกเบื่อได้แล้ว บอกมันสักพันครั้ง มันหายเบื่อไหม ไม่หรอก เพราะอารมณ์เบื่อ (ทุกขเวทนา) มันก็เป็นของมันอย่างนั้น ไม่ต่างจากผม จากฟัน ต้องใช้ปัญญาตีจึงจะแตก ปัญญาหรือวิปัสสนาอันเดียวกัน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ใส่มันเข้าไป เอาก้อนเบื่อ ก้อนทุกข์นั่นแหละมาพิจารณาให้เห็นว่ามันไม่เที่ยง ไม่ต่างไปจากร่างกายที่โทรมลงไปทุกวันของเรานั่นแหละ มันไม่เบื่อจริงหรอก มันเบื่อๆ อยากๆ  เอาความเบื่อหน่ายนั่นแหละมาพิจารณาให้เห็นว่า เออ ! เอ็งก็ไม่เที่ยง 

หากเห็นตามจริงว่า ความเบื่อหน่ายไม่เที่ยงจริงๆ จิตมันจะออกมาจากความเบื่อหน่าย ผลของจิตที่ออกมาคืออะไร จิตจะตื่นรู้ สงบ เยือกเย็น ถ้ายังเบื่อหน่ายอยู่จิตยังเสวยอารมณ์นั้นอยู่ ถ้าออกมาจะไม่เบื่อหน่าย ความเบื่อหน่ายก็เป็นทุกข์ ความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น เบื่อๆ นี่คือ วิภวตัณหา เป็นไฟสุมใจลึกๆ อยู่ เป็นไฟเย็นดูยาก (ไม่เหมือนโทสะ เห็นง่าย) ต้องใช้สติ ใช้ปัญญามากสักหน่อย  

ถ้าออกมาอยู่กับสติคือ ความรู้สึกตัว จะสลัดความเบื่อหน่ายออกไปได้ ระวังมันจะเป็นโมหะนะ หลงอยู่ในสุขอันเกิดจากการเบื่อโลก มันเหมือนไม่อยากแต่ก็ไม่หลุด ถ้าเบื่อจริงๆ คือ นิพพิทาญาณเกิด ตอนนั้น จิตจะคลายกำหนัดออกมาเลย พระพุทธเจ้าจึงบอกว่า เมื่อเห็นตามความเป็นจริงย่อมเบื่อหน่าย ตรงนี้นิพพิทาญาณ เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายกำหนัด (วิราคะ) เมื่อคลายกำหนัดก็หลุดพ้น วิมุตติ  นี่คือลำดับของการหลุดพ้นทุกข์

ปัญหาคือ เราต้องทำการบ้านข้อแรกให้แจ้งก่อนคือ การเห็นตามความเป็นจริง ตอนเดินแบบสบายๆ ต้องมีสติด้วยนะ มีความรู้สึกตัวตื่นอยู่ตลอด ไม่แช่อยู่ในความเบื่อ อย่างพวกชฏิลสามพี่น้องพอฟังธรรมพระพุทธเจ้าต้องหาเหตุแห่งการเบื่อให้ได้นะ หาสมุทัย  ระวังจะเบื่อเพราะอำนาจของกิเลสนะ ตรงนี้อันตรายมาก สำหรับคนที่มีทิฏฐิมานะ แสดงว่าไม่ใช่เหตุที่แท้จริง ถ้าหาเหตุเจอก็ดับที่เหตุ ความเบื่อก็ดับไป ไม่ยากเลยนะ 

มีนักปฏิบัติหลายคน อันตรายมาก หลายคนเป็นหมอด้วย ชอบฝึกสมาธิแบบจิตรวมลึก มีความสุขมาก วันหนึ่งจิตตก จิตเสื่อม เข้าสมาธิไม่ได้ เบื่อหน่ายชีวิตขึ้นมา ฆ่าตัวตายไปเลย ถ้าอบรมสติมาดีพอจะไม่เบื่อ ถ้าเบื่อแสดงว่า ขาดสติหรือสติไม่มีกำลังพอที่จะชนะความเบื่อได้ คนมีสติเขาจะตื่นรู้ สงบอยู่ในตัว จะไม่เบื่อหน่ายอะไรหรอก 

ตอนนี้ถ้าสภาวะจิตของใครน่าเป็นห่วง ให้หายใจเข้าลึกๆ ให้ตื่นรู้ขึ้นมา เบื่อกับทุกข์มันก็อันเดียวกัน ทำไมไม่เข้าใจ ถ้าบอกว่าเบื่อแล้วสุข อันนี้ไม่ใช่เบื่อแล้วนะ เขาเรียกว่า หลง  ถ้าเบื่อจริงๆ ต้องเร่งเจริญสติ ภาวนาหาทางพ้นทุกข์สิ นี่ยังขาดสติอยู่เลย ถึงบอกว่า เบื่อไม่จริง ดีแล้วที่เบื่อโลก เพราะแท้จริงแล้วโลกน่าเบื่อ แต่ไม่ใช่เบื่อแล้วหยุดอยู่แค่นั้น 

พระพุทธเจ้าเห็นคนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ท่านก็เบื่อ แต่ท่านก็แสวงหาทางพ้นทุกข์ พ้นจากความเบื่อตรงนั้น ถ้ามีสติจะไม่เบื่อหรอกเพราะสติกับความเบื่อมันอยู่คนละขั้วกัน คนมีสติดี พอเบื่อ เขาจะรู้เท่าทัน ออกมาอยู่กับสติเลย ในจิตตานุปัสสนา ท่านก็สอน จิตมีราคะก็ให้รู้ จิตมีโทสะก็ให้รู้ จิตเบื่อหน่ายก็ให้รู้ ให้อยู่กับรู้ ให้อยู่กับสติ 

พระอรหันต์นี่ ท่านก็มีเบื่อแต่ท่านก็ไม่เอากับมัน พระอริยะปกติ ความเบื่อย่อมมีเป็นธรรมดา เพราะเวทนาขันธ์ยังทำงานอยู่  แต่ท่านก็รู้เท่าทัน ไม่ให้ความเบื่อมาครอบงำจิตท่านได้ มันอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับสติ เมื่อใดที่เบื่อ เมื่อนั้นขาดสติ ก็เท่านั้นเอง

พระอริยะบางรูปนี้ท่านก็เบื่อที่จะสอนญาติโยมนะเพราะสอนยากสอนเย็น แต่ท่านก็ไม่เอาความเบื่อนั้นมาเป็นอารมณ์ มาเป็นที่อยู่ของใจ ของไม่ดีจะเอามาถือไว้ทำไม ดังชายถือก้อนเหล็กเผาไฟแดงฉานนั่นไง ทำไมไม่วาง เหตุที่ไม่วางเพราะเห็นผิดไง เห็นว่า ก้อนเหล็ก ก้อนทุกข์ ก้อนไฟนั้นเป็นของเขา  พวกชฏิลสามพี่น้องก็เช่นกัน เมื่อเห็นว่า ไฟที่เกิดจากอายตนะกระทบกันเพราะความไม่รู้เท่าทัน เป็นของร้อนสุดๆ  และไม่ว่าจะเป็นไฟราคะ โทสะ หรือไฟอะไรก็แล้วแต่ ต่างเกิดเพราะเหตุคือ ผัสสะ คือการกระทบ หมดเหตุก็ดับไปเป็นธรรมดา ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวหมายมั่น จิตท่านก็หดตัวเข้ามา คงไว้แต่เวทนาเท่านั้นที่เกิดและดับอยู่

ขณะนั้นธรรมารมณ์ (มโนภาพ) มากระทบใจท่านก็จริงอยู่ ภาพดีปรากฏก็เกิดอารมณ์ยินดี (สุขเวทนา) ภาพร้ายปรากฏก็เกิดอารมณ์ไม่ดี (ทุกขเวทนา) จิตท่านเห็นอยู่ชัดแจ้งอยู่ ไม่เข้าไปฉวยคว้าปรุงแต่งให้เป็นฟืนเป็นไฟต่อไป อารมณ์เกิดอย่างไรก็ปล่อยให้ดับอยู่เฉพาะหน้าเช่นนั้น เห็นตามจริงว่า ไฟกิเลส ไม่ว่าจะเป็นราคะ โทสะ ที่เราคอยปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลานี่มันร้อนนะ จิตก็ไม่ปรุง ไม่แต่งต่อไป แล้วมาเห็นตามความเป็นจริงว่า ไม่ว่าจะเป็นไฟ จะเป็นอารมณ์ยินดี ยินร้าย ล้วนเกิดแล้วต้องดับ ไม่เที่ยง จะถือเป็นเรา ของเราไม่ได้ 

เมื่อเห็นความจริงเช่นนี้ จิตก็เบื่อหน่ายที่เที่ยวตามจุดไฟอีกต่อไป  เมื่อเบื่อหน่ายที่จะวิ่งตามอารมณ์น้อยใหญ่ ตะครุบมาจุดไฟเผาจิตเผาใจตนเอง ผลที่ตามมาก็คือ จิตก็คลายกำหนัด ออกมาจากไฟราคะ โทสะ เหล่านั้น  เมื่อคลายกำหนัด (วิราคะ) ก็หลุดพ้น วิมุตติ เมื่อหลุดพ้นก็รู้ว่าหลุดพ้น ไม่มีกิจต้องทำเพื่อการนี้อีกแล้ว ดุจชายที่ถือก้อนเหล็กเผาไฟเห็นความเป็นจริงว่า ก้อนเหล็กเผาไฟอันนี้หาใช่ของเราไม่ ก็ปล่อยวางลงเสีย ชายคนนั้นก็ไม่ต้องทนทุกข์ทนร้อนอีกต่อไป 

ผู้ปฏิบัติ :  ทุกข์นิดนึงคะ    แต่ก็มีความสุขนะคะ  แต่ก็เบื่อโลกไปหมด งงเหมือนกันคะ  

ท่านทรงกลด : ระวังมันจะเป็นโมหะนะ  หลงอยู่ในสุขอันเกิดจากการเบื่อโลก  เบื่อจากกิเลส ก็อย่างหนึ่ง  เบื่อจากการเห็นตามความเป็นจริง (นิพพิทา) ก็อีกอย่างหนึ่ง   ถ้าเบื่อจริงๆ คือ นิพพิทาญาณเกิด  ตอนนั้น จิตจะคลายกำหนัดออกมาเลย   พระพุทธเจ้าจึงบอกว่า เมื่อเห็นตามความเป็นจริง ย่อมเบื่อหน่าย  ตรงนี้นิพพิทาญาณ  เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายกำหนัด (วิราคะ)  เมื่อคลายกำหนัดก็หลุดพ้น วิมุตติ  นี่คือลำดับของการหลุดพ้นทุกข์  ปัญหาคือ เราต้องทำการบ้านข้อแรกให้แจ้งก่อน  คือการเห็นตามความเป็นจริง  ตอนเดินแบบสบายๆ ต้องมีสติด้วยนะ มีความรู้สึกตัว ตื่นอยู่ตลอด  ไม่แช่อยู่ในความเบื่อ