เรื่องเวทนาเป็นเรื่องใหญ่

แสดงธรรม กลุ่มต้นบุญ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2558
ท่านทรงกลด : ความสุขที่แท้ไม่ต้องไปหาที่ไหน อยู่ที่ใจที่มีสตินี่แหละ เมื่อใดขาดสติ เมื่อนั้นก็วุ่นวายรุ่มร้อน เมื่อใด มีสติ เมื่อนั้นก็เยือกเย็นสงบ หลวงปู่ชาบอกว่า รวยกับซวยมันใกล้ๆ กัน พอมาเห็นอะไรเป็นอะไร จริงของท่านเลย คนรวยที่ไม่เคยปฏิบัติธรรม เพราะคิดว่าเงินซื้อทุกอย่างได้ มีความสุข ใช้ชีวิตอย่างประมาท ก่อนตายกอดทรัพย์สมบัติไว้แน่น ตายแล้วก็ไปเกิดเป็นหมาบ้าง จิ้งจกบ้าง งูบ้าง เฝ้าสมบัติที่กอดไว้ก่อนตาย ทรัพย์สมบัติที่หามาได้ แว้งมากัดตนเองเพราะไม่ฉลาดในการมี การเป็น
แต่ก่อนเห็นคนรวย ไปเที่ยวต่างประเทศ ถอยรถป้ายแดง ผมนี่อิจฉา ตอนนี้เห็นแล้วสงสารสมเพชเหลือที่จะกล่าว ยิ่งบางคนอวดมั่งอวดมี อวดยศอวดศักดิ์ ผมนี่ หนีเลย ไม่คบ ตอนนี้เพื่อนทางโลกแทบไม่มี นับคนได้ แต่ผมก็มีความสุขกว่าเมื่อก่อนมากมายมหาศาล ไม่ต้องคอยเที่ยววิ่งตามอารมณ์ คำพูดใคร ใครด่าก็เรื่องของเขา ใครชมก็เรื่องของเขา เราก็อยู่ของเรา (ใจอยู่กับใจ) สบายจริงๆ ถึงมีคนมานั่งด่าคนนั้นคนนี้อยู่รอบข้างให้ได้ยิน มันก็สบาย อากาศจะร้อน จะเย็น มันก็สบาย บางวันไม่กินข้าวเย็นเลย มันก็อยู่ได้ สบาย ไม่นึกอยาก นึกหิวเหมือนเมื่อก่อน ไม่นึกอยากให้คนนั้นคนนี้มาชื่นชมยินดีเหมือนเมื่อก่อน มันสบาย สงบจริงๆ
บางคนอาจจะคิดว่า แล้วไม่รู้สึกเหงาเหรอ ไม่มีเพื่อนเลย ไม่เหงาหรอก เพราะเพื่อนเราคือ พระพุทธ พระธรรม อยู่ในใจแล้ว ตอบอย่างนี้ไม่ใช่ตีโวหารนะ เห็นอะไรเป็นธรรมะไปหมด มันก็มีสติโดยอัตโนมัติ เมื่อมีสติมันก็เยือกเย็นสงบอยู่ในตัว เมื่อเทียบกับชีวิตสมัยมากมายเพื่อนฝูงเที่ยวเตร่เฮฮา กินเหล้า ดึกดื่น ถามว่า จะหวนกลับไปใช้ชีวิตแบบนั้นอีกหรือไม่ ใจมันร้องจ๊ากเลย บอกว่า อย่า ไม่เอาแล้ว ไม่ต้องบังคับใจเลย มันไม่เอาโดยอัตโนมัติ ถามมันว่าอยากจะรวยมีทรัพย์สินเงินทองร้อยล้านพันล้านไหม มันบอกไม่ ถามว่าอยากมีบ้านใหญ่ๆโตๆ มีตำแหน่งหน้าที่การงานบิ๊กๆ ไหม มันบอกไม่ เพราะมันรู้แจ้งด้วยตัวมันเองแล้วว่า สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมานั้น มีแต่จะนำโทษภัยมาให้ โดยเฉพาะภัยจากการเวียนว่ายตายเกิด
เคยยกตัวอย่างไป วันหนึ่งภาวนาจิตสงบ แล้วปรากฏสมาธินิมิต เป็นแตงโม แต่จิตรู้ว่า ข้างในเป็นยาพิษ แตงโมถึงแม้จะหวานฉ่ำ แต่ข้างในคือยาพิษ ยังจะกินลงอีกหรือ ลูกเมีย ทรัพย์สมบัติ ยศถาบรรดาศักดิ์คือ ผลแตงโม ภาราหะเว ปัญจะขันธา ขันธ์ห้าเป็นของหนักเด้อ รูปนี่ก็หนัก ต้องคอยขับคอยถ่าย คอยล้างทำความสะอาด คอยดูแลรักษาไม่ให้เจ็บป่วย เวลาหิวก็ต้องคอยหาอาหารให้มันกิน ปวดฉี่ ปวดอึ ก็ต้องวิ่งหาห้องน้ำให้มันได้ถ่ายได้อึ คอยหายใจเข้าออกหล่อเลี้ยงมันไว้ รู้สึกกันบ้างหรือยังว่า กายนี้เป็นของหนัก รู้สึกหรือยังว่า กำลังแบกมันอยู่ เวทนานี้ก็หนัก หนักมากๆ สุขเวทนาก็ต้องวิ่งไปหามาแบกไว้ พอมันดับไป สิ่งที่เหลือก็คือ ทุกข์ แบกไว้หนักอึ้ง ต้องคอยหาทางแก้ปัญหาทุกข์ ทุกข์แต่ละลูกก็หนักหนาสาหัสเหลือเกิน
เมื่อวันก่อนมีคนรู้จัก อายุหกสิบกว่า เส้นเลือดสมองแตก อยู่ไม่นานก็จากไป ภรรยาและลูกๆ ทุกข์มาก เพราะกะทันหันเหลือเกิน เพิ่งจัดงานแต่งงานลูกได้ไม่นาน ยังไม่ทันได้อุ้มหลานเลย ภรรยารับไม่ได้ ทุกข์มากๆ ๆ ๆ ๆ แม้คนปฏิบัติมาบ้าง ยังทำใจยาก นี่เป็นคนปกติที่ไม่เคยปฏิบัติเลย ลองนึกดูว่าถ้าเป็นเรา จะทุกข์ขนาดไหน น่าสงสารเหลือที่จะกล่าว สามีที่จากไปก็เป็นคนดีมากๆ ช่วยเหลือสังคมมาตลอด เมื่อถึงเวลา ไม่ว่าดีหรือเลว ก็ต้องไปตามยถากรรม
เรื่องเวทนานี่จึงเป็นเรื่องใหญ่ เราแบกมันไว้ตลอดเวลา แม้กระทั่งหลับ เช้ามาก็ตื่นหาสุขเวทนาแล้ว อาหารอร่อยๆ กาแฟรสชาติดีๆ สวมเสื้อผ้าสวยๆ แต่งหน้าทาปาก ไปทำงานก็อยากให้คนรอบข้างพูดจาแต่สิ่งดีๆ นั่น สุขเวทนาทั้งนั้น สุขกับทุกข์มันเป็นของคู่กัน เมื่อแสวงหาสุขก็เหมือนแสวงหาทุกข์ พวกเราต่างก็ตกเป็นทาสของสุขเวทนากันทั้งนั้น เหตุแห่งทุกข์ก็คือ การแสวงหาสุข การแสวงหาสุขก็คือ ตัณหานั้นเอง เป็นกามตัณหาบ้าง รูป เสียง กลิ่น รส นี้ ภวตัณหาบ้าง อยากมี อยากได้ อยากเป็น วิภวตัณหาบ้าง เพราะอยากสุข เลยไม่อยากมี (ทุกข์) ไม่อยากได้ (ทุกข์) ไม่อยากเป็น (ทุกข์) ตัณหาแปลง่ายๆ ว่า การแสวงหาสุข การแสวงหาสุขนี่แหละคือเหตุแห่งทุกข์คือสมุทัย นิโรธคือ การดับทุกข์ ดับตัณหา หยุดแสวงหาสุขเสีย มรรคก็คือ วิธีการหยุดการแสวงหาสุข การหยุดแสวงหาสุขก็คือ วางสุขเสีย ถ้าเห็นสุขตามความเป็นจริงว่า เป็นเหตุแห่งทุกข์ เป็นของหนัก จิตมันก็วางสุขลงเอง แต่เพราะเห็นความสุขเป็นเรื่องจริง เป็นเรา เป็นของเรา มันก็แสวงหาอยู่เรื่อยไป แต่ถ้าเริ่มเห็นสุขเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ต้องเสื่อมต้องดับไปเป็นธรรมดา หาแก่นสารไม่ได้ จิตมันก็เริ่มวางสุขลงเรื่อยๆ ยิ่งวางเร็วเท่าใด ใจก็จะเห็นธรรมเร็วเท่านั้น ลองหาเวลานั่งพิจารณาดูเอาเถิดว่า สุขๆ ๆ ที่เราแสวงหาอยู่นี่ มันของแท้ของจริงละหรือ ทำไมใจเราไม่เคยอิ่มเลย
เหตุที่เรามาปฏิบัติธรรมก็เพราะใจเราไม่เคยอิ่ม มีคณะพระญี่ปุ่นไปถามหลวงปู่ชาว่า ปฏิบัติธรรมไปทำไม หลวงปู่ชาตอบประมาณว่า กินข้าวทำไม ทำไมต้องกินข้าว กินแล้วได้อะไร พระญี่ปุ่นยิ้ม พอใจในคำตอบ หลวงปู่ชาตอบแบบเซนเลย นี่แหละ คือเหตุที่เรามาปฏิบัติธรรม เพราะใจเราไม่เคยอิ่ม เราให้อาหารมันผิด เราวิ่งหาสุขให้มัน มันเคยพอไหม ถามตนเอง ใจเคยพอกับสุขที่แสวงหาอยู่ทุกวันไหม แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้ มีไอโฟนห้า ก็จะเอาหก เอาเจ็ด เอาถึงสิบ มันก็ยังไม่พอ
คนรวยที่รู้จักพอ หายากเหลือเกิน คนรวยที่ไม่ปฏิบัติธรรม เพราะเห็นว่าสุขที่ได้รับจากการมีเงินมันก็ดีอยู่แล้ว จะปฏิบัติไปทำไม
นี่คือคนที่น่าสมเพชที่สุด ถ้าเขามีปัญญา เขาจะเห็นว่า พระพุทธเจ้าหรือเจ้าชายอื่นๆ ท่านมีทุกอย่าง มีมากกว่าคนรวยอย่างเขาเสียอีก แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ทิ้งทุกสิ่ง และเมื่อตรัสรู้ธรรม ท่านไม่กลับไปเอาทรัพยสมบัติราชวังอีกเลย ท่านพบสุข วิมุติสุขแล้ว มันสุขยิ่งกว่าราชสมบัติหลายร้อยเท่า ปล่อยให้คนรวยที่ไม่ปฏิบัตินอนกอดสมบัติเขาไปเถิด แล้วสมบัตินั่นแหละจะแว้งมากัดเขา มากัดลูกหลานเขาอย่างน่าสลดใจที่สุด เราแบกรูป แบกเวทนา นี่ก็หนักมากแล้ว
ยังๆ ยังไม่พอ เรายังแบกสัญญาคือ ความจำได้หมายรู้ไว้อย่างมหาศาล เรื่องราวในอดีตที่จบแล้วไปแล้ว แทนที่เราจะปล่อยให้มันจบไปตามธรรมดาของมัน เราก็ไปนั่งขุดคุ้ยมันขึ้นมา เดี๋ยวเรื่องนั้น เรื่องนี้ มันจบแล้ว ไม่ยอมให้จบ ไปหยิบมันขึ้นมาแบกใหม่ วางไม่ลง ปลงไม่ได้ เพราะไม่มีปัจจุบันธรรมคือ สตินั่นเอง เท่านั้นยังไม่พอ สังขารคือ ความคิดปรุงแต่ง วันหนึ่งๆ เราคิดเรื่องนั้น เรื่องนี้กี่ร้อยกี่พันเรื่อง ใจเราเคยสงบกันบ้างไหม สัญญากับสังขารนี่มันคู่กันเลยล่ะ สำหรับคนที่ไม่มีสติ ไม่มีปัจจุบันธรรม พอเรื่องนั้นผุดขึ้นมา (สัญญา) สังขารคือ คิดปรุงแต่งก็ทำงาน คิดเรื่องดี ก็สุข แบกเวทนาอีก คิดเรื่องไม่ดี ก็ทุกข์ แบกเวทนาอีก ส่วนขันธ์อันสุดท้าย เป็นเรื่องลึกซึ้งคือ เรื่องวิญญาณ คือความรู้แจ้งทางอารมณ์ พอตาเห็นรูป เกิดจักขุวิญญาณคือ ตัวรู้ทำหน้าที่รู้ ใจเราก็ไปแบกวิญญาณไว้อีก เรื่องวิญญาณเอาไว้ก่อนเป็นชั้นในสุดที่จะต้องละ หลวงปู่ดูลย์บอก เอาแค่เรื่องรูป เรื่องเวทนา สัญญา สังขาร ที่รวมเรียกว่า อารมณ์ก่อน ทรัพย์สมบัติของนอกกายก็เป็นรูปอย่างหนึ่ง ใครที่ยังติดอยู่ในทรัพย์สมบัติ เห็นว่ามันเป็นของเรานี้ยังถือว่า สติอ่อนอยู่มาก พระพุทธเจ้าจึงสอนให้มีสติ พิจารณากาย พิจารณาลมหายใจ เมื่อใดเห็นว่า กายก็ดี ลมหายใจ (กายเหมือนกัน) ก็ดี ไม่ใช่เรา ของเรา มันก็จะวางทรัพย์สมบัติไปโดยปริยาย ขณะภาวนา หากเจริญสติปัฏฐานสี่ ฐานใดฐานหนึ่ง ขณะนั้นศีลห้าก็บริสุทธิ์แล้ว
23