ถาม-ตอบ

ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตาคือหาตัวตนที่แท้ไม่ได้

แสดงธรรมกลุ่ม Natural Mind เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2558

 

ท่านทรงกลด : ถ้าเจริญสติ ภาวนาจนเห็นว่า ตัวตนจริงๆ มันไม่มี มันก็เลิกเทียบ เพราะเห็นแจ้งแล้วว่าไม่มีอะไรจะเทียบกับอะไร ไม่มีอะไรจะต้องเทียบ ไม่มีอะไรจะต้องทุกข์  ที่เทียบก็เพราะคิด หากเห็นว่าคิดไม่มีอะไร ก็เลิกเทียบไปโดยปริยาย เหตุแห่งทุกข์ไม่ใช่เพราะเทียบ หากแต่เพราะไม่รู้เท่าทันทุกข์ต่างหาก เพราะไม่รู้เท่าทันทุกข์ จึงคิดจะหนีทุกข์ แสวงสุข อยากมีสุขก็คือ ตัณหานั่นเอง 

พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ตัณหาคือเหตุแห่งทุกข์ การเทียบไม่ใช่เหตุแห่งทุกข์ จริงๆ ชีวิตเราไม่มีขาด ไม่มีเกินแต่เพราะการคิดปรุงแต่งต่างหากจึงทำให้มีขาด มีเกิน  อย่างหลวงปู่ชาสอนว่า ศาลาหลังหนึ่ง บางคนบอกใหญ่ไป บางคนบอกเล็กไป ศาลามันก็อยู่ของมันอย่างนั้น แต่ความคิดเราต่างหาก ไม่รู้เท่าทัน จึงคิดปรุงแต่งเป็นใหญ่ เป็นเล็ก เป็นขาด เป็นเกิน

ชีวิตก็หมือนกัน ชีวิตคือ ขันธ์ห้า รูปมันเป็นอย่างนั้นแหละ เวทนา สัญญา สังขารมันก็เป็นธรรมดาของมันอยู่อย่างนั้น หากเห็นตามความเป็นจริงของขันธ์ห้า ของชีวิต มันก็ไม่มีอะไรขาด ไม่มีอะไรเกิน มันทำหน้าที่ของมันอย่างถูกต้องที่สุดแล้ว นั่นคือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป มีอยู่แค่นั้น ไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร ที่จะยึด จะหมายได้

อย่างใบไม้ใบหนึ่งลองเด็ดมาถือไว้สิ จากที่มันเขียวสดงดงามถือไว้สักพักหนึ่ง ชั่วโมง สองชั่วโมงครึ่งวัน ค่อนวัน หนึ่งวัน สอง สามวัน ห้าวัน ถือไว้ เห็นความเปลี่ยนแปลงของใบไม้ไหม มันจะเริ่มเหี่ยวแห้งกรอบเฉา สุดท้ายก็เป็นเป็นผงธุลี กลับไปเป็นดินเหมือนเดิม ไหนละใบไม้ มันไม่มีหรอก มันสักแต่ปรุงแต่งตามเหตุตามปัจจัย เมื่อเกิดขึ้น มันก็ทำหน้าที่ของมันอย่างสมบูรณ์แล้ว แล้วก็ดับไปเป็นธรรมดาของมัน ไม่มีหรอกตัวตนที่แท้จริงของใบไม้ นี่แหละอนัตตาล่ะ จะไปหมายมั่นในใบไม้ได้หรือไม่ว่า มันต้องอยู่กับเราไปชั่วอนันตกาล ไม่ได้หรอก ลองไปยึดหมายว่า มันจะต้องอยู่กับเราไปตลอด พอมันเสื่อมก็ทุกข์แล้ว 

กายนี้ก็เช่นกันมันก็ไม่ต่างจากใบไม้เลย อารมณ์ก็เช่นกัน ไม่ต่างจากใบไม้เลย จะไปหวงแหนอารมณ์สุขให้อยู่ไปชั่วอนันตกาล ทำได้หรือ ไม่ได้หรอก ฝืนธรรมชาติ เมื่อฝืนธรรมชาติก็เกิดทุกข์ล่ะ คราวนี้ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตาคือหาตัวตนที่แท้ไม่ได้  เมื่อเห็นอย่างนี้จะได้ไม่หมายมั่น เรียกว่า เห็นชอบ เห็นตามความเป็นจริง เมื่อจิตเห็นตามจริง จิตจะคลายตัวออกมาจากการยึดมั่น หมายมั่นในกาย ในอารมณ์ ในสุข ในทุกข์ 

ใบไม้ใบหนึ่งแทนสิ่งทั้งปวง สิ่งทั้งปวงไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ หาแก่นสารไม่ได้เหมือนใบไม้ สัพเพ ธรรมา นาลัง อภินิเวสายะ สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่น ก็ละอุปาทาน ละตัณหา ละทุกข์ได้ เห็นใบไม้ร่วง ธรรมะมันออก ใจมันผละออกจากอารมณ์