สติอ่อน กิเลสมาก สติกล้า กิเลสน้อย

แสดงธรรม กลุ่มต้นบุญ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2558
ท่านทรงกลด : คนที่มีสติอ่อน กิเลสจะมาก คนที่มีสติกล้า กิเลสจะน้อย สตินี่แหละคือมรรค มรรคก็คือสติ เมื่อกิเลสกล้าก็ฆ่ามรรค เมื่อมรรคกล้าก็ฆ่ากิเลส มันจะผลัดกันแพ้ชนะกันในตอนแรก แต่เมื่อสติเราดีขึ้นเรื่อยๆ เราจะเริ่มชนะขึ้นเรื่อยๆ เป็นการชนะ ด้วยสติ ด้วยปัญญา แล้วใจเราก็จะสงบขึ้นเรื่อยๆ
หลวงปู่เหรียญจึงสอนว่า ความสุขอันเกิดจากความสงบนี้ไม่อิงสิ่งใด อิงอาศัยแต่สติและปัญญา สัมปชัญญะคือความต่อเนื่องของสติ เมื่อสติต่อเนื่องจะเกิดปัญญา จะเห็นแจ้งชัดซึ่งรูปนามตามความเป็นจริง สติเหมือนหลอดไฟ ถ้าติดๆ ดับๆ เมื่อไรจะแจ้งเสียที สติของพวกเราตอนนี้เหมือนหลอดไฟติดๆ ดับๆ นั่นแหละ ลองเจริญสติต่อเนื่องเป็นวงกลมอย่างที่หลวงปู่มั่นสอนหลวงปู่ชาดูสักห้าหกเดือนเถิด ผมรับรองว่าจะเห็นผล อย่างผมสมัยนั้น กัดมันทุกๆ อารมณ์ ไม่ยอมปล่อยเลยตลอดเวลา ยกเว้นตอนหลับ จนมันแสดงโพละขึ้นมาก็ถึงบางอ้อเมื่อนั้นแหละ ยืน เดิน นั่ง นอนให้มีสติ ให้อยู่กับความรู้สึกตัว
ถ้านั่งเฉยๆ หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ เข้าห้องน้ำ เจริญกายคตาสติ ก่อนนอน เดินจงกรมเจริญกายคตาสติ หรือนั่งเจริญอานาปานสติ ระหว่างวันเฝ้าดูอารมณ์ที่เกิดขณะทำงาน ไม่ว่าดีหรือไม่ดี มีสติรู้เท่าทันทุกๆ อารมณ์ ไม่ให้ขาดแม้อารมณ์เดียว ที่เคยเล่าให้ฟังอย่างไม่อาย ตอนไปเขาใหญ่ เห็นผู้หญิงสวยคนหนึ่งแล้วเกิดความยินดีพอใจในรูปงามของเธอ ขับรถพิจารณาอสุภะ ก็ยังเฝ้าคิดถึงใบหน้าของเธออยู่ เพราะเธองามจริงๆ เลยจอดรถ นั่งภาวนาเลย นั่งภาวนานี้ไม่ใช่นั่งหลับตาเข้าฌานอะไรนะ นั่งพิจารณาให้เห็นว่า รูปที่เราเห็นเมื่อสักครู่ มันไม่เที่ยง ต่อไปมันต้องเสื่อม ต้องเหี่ยว อารมณ์ยินดีที่เกิดจากตาเห็นรูปเล่า ก็ไม่ต่างจากรูปที่เห็นนั่นแหละ มันต้องเสื่อมต้องดับไป ไม่เที่ยงแท้ไปได้หรอก นั่งพิจารณาจนออกจากอารมณ์ยินดีในรูปนั้นได้ จิตสงบ จึงขับรถต่อ หรือเวลาทำงาน ใครมาว่ามาด่า เกิดความไม่พอใจ ก็จะหยุดเลย เฝ้าดูอารมณ์ไม่พอใจนั้น มีสติรู้เท่าทันมันว่า มันไม่เที่ยงแท้ไปได้หรอก สักพักก็ออกมาจากอารมณ์นั้นได้ พระบรมศาสดาจึงสอนว่า เธอจงมีสติ ออกจากความเศร้าหมองของกามเสีย เมื่อออกมาได้เรื่อยๆ จิตก็มีกำลังขึ้นเรื่อยๆ แต่พอเผลอก็วิ่งไปหาอีก เพราะอยู่กันมานาน จิตกับอารมณ์นี้มันอยู่กันมานานจนจิตมันหลงนึกว่า อารมณ์คือจิต จิตคืออารมณ์ จึงต้องประคองสติไว้ ต้องใช้ความเพียรพยายามสูงสักหน่อยในตอนแรกๆ เมื่อจิตมันชินอยู่กับสติ มันก็จะเรียนรู้ว่า การอยู่กับสติมันสงบกว่าอยู่กับอารมณ์ ครั้งหนึ่ง จิตมันตอบของมันเลยว่า อารมณ์นี่เหมือนนักเลงโต อันธพาลนี่ ตามมันไปทีไร เดือดร้อนทุกที แต่สตินี่เหมือนพี่เลี้ยงดูแลเรา เอาใจใส่เรา หวังดีกับเรา มีสติเป็นพี่เลี้ยงคอยกั้นไม่ให้เราเที่ยวไปกับนักเลงโตเหมือนก่อน เมื่อเราเริ่มโต เริ่มมีกำลังต่อกรกับอารมณ์ นักเลงโตได้ ต่อไปเราก็ไม่ต้องอาศัยพี่เลี้ยงอีกต่อไป ฟังดูเหมือนพูดธรรมดานะ ข้อความเมื่อสักครู่นี้ แต่จริงๆ เป็นเรื่องลึกซึ้งมาก ในตอนต้นเราต้องอาศัยสติก่อน สตินี่แหละคือผู้รู้ ที่จะคอยสอนเรา แต่เมื่อสอนจนเรารู้เรื่องรู้ราวของขันธ์ห้า อารมณ์แล้ว เมื่อจะก้าวขึ้นสู่พระนิพพาน เราก็ต้องวางสติเสีย จึงจะไปได้ เหตุที่วางสติ ก็ไม่มีอะไรหรอก เพราะจิตนั่นแหละเป็นจิตที่มีสติบริบูรณ์ด้วยตัวมันเองแล้ว ไม่จำต้องอาศัยสติที่เป็นการปรุงแต่งอีกต่อไป
สติที่เราฝึกยังเป็นการปรุงแต่งอยู่ เราต้องอาศัยการปรุงแต่ง มาดับการปรุงแต่ง เดี๋ยวจะลึกไปอีก เอาเป็นว่าการเจริญสติเป็นวงกลม หมายถึง เจริญสติต่อเนื่องไม่ขาดสายนั่นเอง เหมือนท่านเขมานันทะบอกไว้ว่า เหมือนสายน้ำไม่ขาดสายนั่นแหละ หรือหลวงปู่ชาก็สอนว่า เหมือนเทน้ำออกจากกานั่นแหละ ตอนแรกก็ต๋อมแล้วหาย ต๋อมแล้วหาย แต่เมื่อเราหยดถี่ๆ เข้า มันก็เริ่มต๋อมๆ ๆ ต่อไปมันก็จะต๋อมๆ ๆ ๆ ๆ ต่อเนื่องกันไปไม่ขาดสาย แล้วเราจะรู้เห็นธรรมในขณะที่สติต่อเนื่องไม่ขาดสาย เพราะสติมันจะแยกจิตออกจากอารมณ์ให้เห็นอย่างชัดแจ้ง ไม่ต้องไปถามใครเลย ปัจจัตตังๆ ๆ การแยกจิตออกจากอารมณ์ได้เป็นเบื้องต้นของการนำไปสู่ความสุขที่แท้จริง นั่นคือความสงบแห่งจิต จิตจะสงบ เยือกเย็น ไม่รุ่มร้อนเป็นไฟเหมือนเก่าก่อน ไม่วุ่นวายกระเสือกกระสนเหมือนเก่าก่อน
พระมหากัปปินเถระท่านเคยเป็นกษัตริย์ในสมัยพุทธกาล วันหนึ่งมีพ่อค้ามาจากเมืองสาวัตถี พระองค์ก็ถามว่า ที่เมืองสาวัตถี มีข่าวอะไรใหม่ๆ บ้าง พ่อค้าก็กราบทูลว่า ไม่มีข่าวสารใดนอกจากข่าวที่พระสัมมาพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นเท่านั้น พอพระองค์ได้ยินคำว่า พระพุทธเจ้า ก็เกิดปิติ นั่งนิ่งไปชั่วขณะ คนที่เคยเกิดมาพบพระพุทธเจ้าและตั้งความปรารถนาไว้ เมื่อได้ยินคำว่า พุทธะ จะปิติ เพราะเคยสั่งสมอุปนิสัยไว้เมื่อกาลก่อน อย่างพวกเราอ่านธรรมที่ผมแสดง จิตพวกท่านเหมือนจะอ่านผ่านๆ แต่โปรดรู้ไว้เถิดว่า มันบันทึกทุกอย่างไว้หมดแล้ว รอวันที่บารมี การเพียรภาวนาเต็มรอบ มันก็จะปรากฏเป็นมัคสมังคีออกมาให้เห็น อย่างคำว่า ขันธ์ห้า เวทนา สัญญา ความรู้สึกตัว ที่ผมย้ำๆ อยู่นี้เมื่อวันหนึ่งท่านไปอ่านหนังสือธรรมะหรือไปฟังพระเทศน์ จิตท่านอาจจะทะลุ ตั้งมั่นขึ้นมาเพราะท่านเข้าใจแล้วว่ามันคืออะไร รอวันเข้าถึงเท่านั้นเอง
ส่วนเหตุที่สมัยพุทธกาล คนฟังธรรมแล้วบรรลุธรรมง่ายก็เพราะคนเหล่านั้นก็เหมือนพวกท่านในขณะนี้แหละ เคยฟังธรรมมาก่อน เข้าใจแต่ยังไม่เข้าถึง เมื่อพระพุทธเจ้าหรือพระอริยสงฆ์มาสอนนิดเดียวก็ทะลุไปได้ จึงดูเหมือนบรรลุธรรมกันง่าย เพราะต่างก็สั่งสมกันมาแล้ว ไม่ใช่เพิ่งจะเริ่มต้นใหม่ พระมหากัปปินะก็เช่นกัน ท่านสั่งสมคำว่า พุทธะ ๆ มาหลายชาติ พอมีพ่อค้ามาบอกว่า บัดนี้ พุทธะ บังเกิดในโลกแล้ว ท่านจึงเกิดปิติแรงกล้า ถึงกับให้ทรัพย์กับพวกพ่อค้านั้นหนึ่งแสน แล้วสละราชสมบัติ เดินทางไปหาพระพุทธเจ้าในบัดดล เห็นไหม ท่านไม่สนใจในทรัพย์สมบัติภายนอกเลย ท่านสละสิ่งที่พวกชาวโลกเพียรพยายามหากันอยู่อย่างหน้าดำคร่ำเครียดเอาเป็นเอาตายกันอยู่ในเวลานี้ เมื่อไปพบพระพุทธเจ้า ฟังธรรมก็ได้ธรรมจักษุ เหมือนเราหลงทาง มีแผนที่กลับบ้านมากมาย แล้วเรามานั่งศึกษาทางกลับบ้าน จนเข้าใจว่า อ้อ ! ทางกลับบ้านคือเส้นนี้ แล้วก็ลงมือเดินตามทางสติปัฏฐานสี่ มรรคมีองค์แปดที่พระพุทธเจ้าสอนไว้นั่นแหละคือทางกลับบ้านตามแผนที่กลับบ้านที่ถูกต้องที่สุด แต่พระมหากัปปินเถระ ท่านไม่หลงทาง ท่านทิ้งราชสมบัติออกบวช
พระพุทธเจ้าจึงเปรียบคนกับบัวสี่เหล่าไว้ว่า คนเห็นทุกข์นี้ถือว่า เป็นบัวปริ่มน้ำแล้วนะ เหมือนพระมหากัปปินะเห็นภัยในราชสมบัติจึงสละอย่างไม่อาลัยอาวรณ์เลย เมื่อมาบวช ศึกษาพระธรรมได้ไม่นานก็บรรลุอรหัตผล ส่วนพระมเหสี ก็สละราชสมบัติ บวชตาม บรรลุอรหัตผลเหมือนกัน วันหนึ่งมีภิกษุได้ยินพระมหากัปปินะเถระ เปล่งอุทานว่า อโห สุขัง อโห สุขัง สุขจริงหนอ โอ้ ! สุขจริงหนอ จึงพากันพูดว่า สงสัยท่านอุทานย้อนถึงความสุขในราชสมบัติ ก็พากันไปกราบทูลให้พระพุทธเจ้าทราบว่า พระมหากัปปินะยังติดใจความสุขแห่งราชสมบัติ พระพุทธเจ้าจึงตรัสเรียกให้ท่านเข้าเฝ้า แล้วถามว่า การที่อุทานสุขจริงหนอๆ เธอปรารภถึงความสุขอันเกิดจากราชสมบัติ จากกามจริงหรือ พระมหากัปปินะตอบว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ย่อมทรงทราบดีว่า ที่ข้าพระองค์เปล่งอุทานว่า สุขจริงๆ หนอ นั้น หมายถึง สุขนั้นหรือว่าปรารภถึงความสุขอื่น พระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย บุตรของเรามิได้เปล่งอุทานปรารภถึงความสุขอันเกิดจากกามหรือสุขจากราชสมบัติ แต่เธอเกิดธรรมปิติจากการประพฤติธรรม เธอปรารภถึงอมตนิพพาน จึงได้เปล่งอุทานอย่างนั้นต่างหาก พระมหาจักรพรรดิ์ยังไม่สามารถปิดอบายภูมิได้ แต่พระโสดาบันปิดอบายภูมิได้แล้ว และจะเกิดอีกเพียงไม่เกินเจ็ดชาติก็จะบรรลุซึ่งอมตสุขคือพระนิพพานเช่นเดียวกับพระมหากัปปินะเถระ แต่หากพระโสดาบันนั้นเร่งความเพียรในชาติปัจจุบัน ภูมิจิต ภูมิธรรมของท่านก็จะเลื่อนไปตามลำดับและอาจจะบรรลุอรหัตผลในชาติเดียวกับที่บรรลุโสดาปัตติผลนั่นเอง