ถาม-ตอบ

จิตเห็นจิตคือจิตเห็นอารมณ์

แสดงธรรมกลุ่ม Natural  Mind  เมื่อวันที่  23 พฤศจิกายน 2558

 

ท่านทรงกลด : เวลาเจ็บป่วย เห็นชัดเลยว่า ร่างกายนี้เป็นรังของโรคจริงๆ พระพุทธเจ้าจึงบอกว่า ขันธ์ห้าเป็นของหนักเน้อ  ร่างกายเจ็บป่วย ก็อย่าให้มันป่วยไปเปล่าๆ  เวลาไอ ทรมานไหม อยากเกิดดีนัก เวลาไข้ขึ้นสูง ร้อนมากไหม อยากเกิดดีนัก เวลาหนาวสั่น สุขไหม อยากเกิดดีนัก จะได้หายหลงในร่างกายเสียที

มีเพื่อนคนหนึ่ง เธอรวยมาก เป็นเพื่อนสมัยเรียน ป.ว.ช. ผมเคยเข้าไปเตือนๆว่าอย่าลุ่มหลงในความรวย ความสวยให้มาก ของแบบนี้มันเสื่อมได้ อย่าประมาท เธอบอกว่า ชีวิตเธอไม่มีทุกข์อะไรเลย การปฏิบัติเอาไว้ก่อนแล้วกัน  ผมมันคนปากเสีย สไตล์การสอนคนนี่เอาแบบเซนคือ แรงๆ ก็เลยบอกว่า ต้องรอให้สามี ลูกตายก่อนเหรอ จึงจะเห็นทุกข์  ว่าไปแรงๆ นะ บอกว่า หนอนนี่ พยายามเขี่ยมันออกมาจากกองขี้ มันก็ดิ้นกลับไปจนได้ ทรัพย์สมบัติกองอยู่นั่นน่ะ ไม่จีรังหรอก ตายไป มันไม่ช่วยให้เราไปดีได้เลย วันๆ ก็คิดแต่จะหาของกินอร่อยๆ ที่เที่ยวสนุกๆ ใช้ชีวิตไร้สาระไปวันๆ อายุก็ห้าสิบแล้วนะ  เขาบอกว่า ตอนนี้ยังไม่มีทุกข์ รออีกห้าปีแล้วกัน ผมก็บอกว่า รู้ได้อย่างไรว่าจะอยู่ถึงห้าปี เธอก็เงียบไป สักพักก็บอกว่า ไม่รู้ล่ะ เราขอเวลาอีกห้าปีแล้วกัน ตอนนี้คงยังไม่ตายหรอก ทำไมผมจึงพยายามสอนคนนี้จัง ตอนหลัง นึกขึ้นได้ว่า ตอนเจริญสัมโพชฌงค์ จิตถอยห่างออกมา เธอคนนี้แหละมาตะโกนบอกว่า อย่าเพิ่งทิ้งเขาไป รอโปรดเขาก่อน พอมาทอดกฐินเมื่อวานนี้ เธอได้ตามมาด้วย และรับสารภาพกับผมตัวต่อตัวว่า ขอบคุณมากนะทรงกลด ตอนนี้เราเข้าใจสิ่งที่เธอพยายามพร่ำสอนเราแล้ว ตอนนี้เขารู้แล้วว่า ทุกข์เป็นอย่างไร เพราะตอนนี้หุ้นตกมาก เขาติดอยู่ในนั้นมากเลย เขารู้แล้วว่า ขนาดสูญเสียทรัพย์สินเงินทองยังทุกข์ขนาดนี้ ถ้าสูญเสียสามี ลูกไป จะทุกข์ขนาดไหน เขาเห็นทุกข์แล้ว การเห็นครั้งนี้ ยังไม่ใช่เห็นภายใน แต่เป็นการเห็นด้วยตาเนื้อก่อน เหมือนตอนเจ้าชายสิทธัตถะเห็นคนป่วย เจ็บ ตาย เขาบอว่า ผมคือเพื่อนคนเดียวในโลกที่กล้าด่าสอนเขาแรงๆ ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยมีใครด่าว่าเขา เตือนสติเขาแรงๆ แบบนี้เลย ผมเคยด่าเขาแรงๆ ว่า พวกบัวใต้ตมนี่ ยี่สิบปีผ่านไปก็ยังอยู่ใต้ตม สอนยาก บัวใต้ตมส่วนใหญ่เป็นพวกฉลาดมาก (จนโง่) รวยมากจนหลงในความสุข พวกนี้สอนยากที่สุด เมื่อวานเธอสารภาพหมดว่า มองโลกผิดไป ขอบคุณผมที่ให้สติ ตอนนี้หันมาสนใจคำสอนพระพุทธเจ้ามาก ไม่รอห้าปีอย่างที่เคยบอกไว้แล้ว

ผมเอาซีดีธรรมะหลวงพ่ออนันต์ หนังสือ ให้ไปหลายเล่ม ตอนนี้ ติดซีรี่ส์พระพุทธเจ้า จำได้ทุกบท ทุกคำ นี่แหละครับ ความปิติของผมอันหนึ่ง พาคนขึ้นจากใต้น้ำได้ เมื่อวานเธอสารภาพกับผมมากมาย จำไม่ได้เหมือนกัน แต่ชมผมมานิดนึงว่า ถ้าผมบวชเป็นพระ คงเป็นพระที่ปากจัดที่สุดในโลก 

เธอยอมรับว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าเรื่องสติ เรื่องทุกข์ ทำให้เวลามีทุกข์ จะไม่ทุกข์มาก มีมากมายนะครับคนรวย หนุ่มสาว คิดว่าจะตายตอนอายุแปดเก้าสิบกัน ไม่ได้ซ้ำเติม แต่ให้ดูเป็นอุทาหรณ์ ซึ่งผมก็ชี้ให้ดูไปแล้ว อย่างดาราบางคน ใครเลยจะนึกถึงว่าเขาจะมามีวันนี้ (เสียชีวิตอย่างปัจจุบันทันด่วน)​ เขากับเราก็ไม่ต่างกันหรอก ไม่มีใครล่วงรู้ว่าพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับเรา เช้าพรุ่งนี้ลุกจากที่นอนไป ไม่รู้ว่าค่ำลงจะได้กลับมานอนที่นอน หมอนเดิมหรือเปล่า ไม่แน่คืออนิจจัง ๆ คือไม่แน่

บางคนบอกว่า ทำไมแสดงธรรมหดหู่เหลือเกิน โลกนี้ยังมีอะไรสวยงาม สนุกสนานอีกเยอะ ทำไมไม่แสดงด้านนั้นบ้าง  ดูพระอริยสงฆ์​ในสมัยพุทธกาลเถิด ก่อนจะบรรลุธรรมต้องผ่านการหดหู่ สลดสังเวชใจก่อนเกือบทั้งสิ้น พระพุทธเจ้าก็เห็นคนแก่ เจ็บ ตาย พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ วันหนึ่ง เห็นเขาเล่นละครบทซ้ำๆ เกิดความหดหู่สังเวชใจ เรามานั่งดูอะไรอยู่นี่ อย่างพวกเราดูละครน้ำเน่ามากี่สิบปีแล้ว รู้สึกหดหู่ สลดใจบ้างหรือเปล่า  พระยสะก็เห็นพวกนางรำนอนหลับก่ายกันเหมือนซากศพ ความสลดสังเวชใจ นำมาซึ่งสติ ชวนให้คิดว่า วันคืนล่วงไปเราทำอะไรอยู่ ความงดงามทำให้ลุ่มหลง ความเสื่อมชราทำให้เกิดปัญญา 

 

พระจูฬปันถก ท่านบรรลุธรรมตอนไหนเล่า ตอนที่พระพุทธเจ้าให้ผ้าใหม่สะอาดมาผืนหนึ่ง นั่งถูผ้าไปมา เห็นผ้าหมอง สกปรก น่ารังเกียจ เกิดปัญญาเห็นว่าผ้านี้เมื่อสักครู่สะอาด บัดนี้หมองลง สังขารไม่เที่ยงหนอ แล้วน้อมเข้าไปพิจารณาอารมณ์ เวทนา สัญญา สังขารภายใน จิตก็ละความยึดมั่นในขันธ์ห้า อารมณ์ บรรลุอรหัตผล

เมื่อเห็นธรรมชาติที่ไม่เที่ยงแท้ภายใน ให้น้อมเข้ามาให้เห็นธรรมชาติที่ไม่เที่ยงแท้ของอารมณ์ภายใน นี่แหละจึงจะรู้เห็นธรรม  ถ้าไปติดธรรมชาติที่สวยงามภายในไม่น้อมเข้ามา จะไม่เห็นธรรม การเห็นธรรม ไม่ใช่การยอมรับความเป็นจริงของธรรมชาติ แต่การยอมรับความเป็นจริงของธรรมชาติของรูป ของนาม ว่าไม่เที่ยงแท้ มีความแปรปรวน เป็นธรรม เป็นบันไดที่จะนำไปสู่การรู้แจ้งเห็นจริงได้ 

เห็นธรรม มันต้องเห็นเด็ดขาดลงไป จึงเรียกว่า รู้แจ้งเห็นจริง ไม่ใช่คิดเอา นึกเอา เห็นจิตที่เป็นอิสระเด็ดขาดจากขันธ์ห้า อารมณ์ ไม่ไปๆ มาๆ หายสงสัยตรงนั้น ละความเห็นผิดว่า รูปนาม ขันธ์ห้า อารมณ์ คือเรา คือเขาได้ตรงนั้น ผู้เห็นตนคือผู้ที่รู้ว่าไม่มีตน หลวงปู่ชากล่าวไว้ จะเห็นว่า ขันธ์ห้าอารมณ์ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เกิดเป็นธรรมดาและดับไปเป็นธรรมดา เป็นอยู่อย่างนั้น ความเป็นจริงของสรรพสิ่งเป็นอยู่อย่างนั้น ไร้สาระแก่นสารตัวตน หากเห็นจริง จิตจะหดหู่ จะหดเข้ามา จะมาอยู่กับสติโดยอัตโนมัติ

กายคตาสติก็เป็นเรื่องน่าหดหู่ สลดสังเวชใจ เห็นกายในกายเป็นของสกปรก โสโครก น่าสะอิดสะเอียน คนทั่วไปที่ไม่เคยปฏิบัติธรรม หารู้ไม่ว่า ยิ่งเห็นกายสกปรก เป็นของไม่สะอาดเพียงไร จิตใจยิ่งผ่องใสสะอาดเพียงนั้น ทุกอย่างมีที่มาที่ไป มีเหตุมีผล อยู่ในตัว เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี  เราไม่ได้มีเจ้ากรรมนายเวรเพียงแค่นี้ ยังมีตามมาอีกมาก ปฏิบัติไปให้พ้นกรรมดีที่สุด ปล่อยให้ธาตุขันธ์มันรับกรรมไป จิตเราพ้นไปแล้ว มันก็ทำได้แค่ขันธ์ หลวงปู่ชาเคยสอนว่า วิปัสสนานี่แหละอยู่เหนือกรรม แต่ก่อนผมนี่โง่อยู่ นึกเถียงในใจ เอ ! มันจะอยู่เหนือกรรมได้อย่างไร ทุกคนต้องเป็นไปตามกฎแห่งกรรม พอปฏิบัติไปถึง อ้อ ! หากเราสามารถแยกจิตออกจากอารมณ์ได้ อารมณ์ ธาตุขันธ์เท่านั้นที่รับกรรม แต่มันมาไม่ถึงจิต 

พระพุทธเจ้าจึงบอกว่า เวทนาภายนอกมีอยู่ แต่เวทนาทางใจนี่ไม่มี (พระอรหันต์) ไม่มีอะไรจะยิ่งใหญ่กว่าการเจริญสติภาวนานะ  สุขทั้งปวง เมื่อมาพบสุขจากการภาวนา ย่อมพ่ายแพ้ไปโดยอัตโนมัติ พระอรหันต์จึงไม่กลับมาแสวงหาสุขทางโลกอีกเลย มรรค ผล นิพพาน มีจริงๆ ผมขอยืนยันเป็นครั้งที่ล้าน เส้นทางนี้ พระพุทธเจ้าไม่ได้โกหก สุขแท้นั่นมีอยู่ จงทิ้งสุขทางโลก ที่เป็นสุขลวงๆ เสียเถิด รักแท้ทางโลกก็ไม่มี รักแท้ทางธรรมมี  ความปรารถนาที่จะให้เพื่อนพ้นทุกข์นี่แหละคือรักแท้ทางธรรม รักแท้ทางโลก มันประเดี๋ยวประด๋าว เกิดชาตินี้ พบชายคนนี้ บอกว่ารักแท้ เกิดอีกชาติ เจอคนใหม่อีก บอกว่ารักแท้ เกิดอีก เจอคนใหม่อีก ก็บอกรักแท้ ไหนล่ะ รักแท้ รักแท้ตรงไหน มันก็รักไปเรื่อยๆ นั่นแหละ ทั้งหญิงทั้งชาย ไปตามอารมณ์ ตามอำนาจกิเลส  อย่าไปหาเลยรักแท้ ใครที่อยู่คนเดียวในเวลานี้ อย่าไปหาเลยนะคู่ครอง มีแต่จะพาทุกข์มาให้ ไม่งั้นพระพุทธเจ้าคงไม่บอกว่า ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ แสวงหาคู่รัก มีแต่จะทุกข์  แสงหาจิตหาใจตนเองดีกว่า จะพบสุขแท้

บุญที่ปิติที่สุดมากกว่าบุญกฐินเสียอีกคือ นำพาคนให้พบแสงสว่างแห่งธรรม ไม่หลงงมงายอยู่ในกองทรัพย์สิน แต่ก่อนไม่เข้าใจ หลวงปู่ชาสอนว่า รวยกับซวยมันใกล้ๆ กัน พอเห็นชีวิตคนรวยที่วางไม่ลง รู้เลยว่า ทุกข์มากกว่าคนจนอีก แต่ไม่ว่ารวยหรือจน ก็หนีไม่พ้นทุกข์ เมื่อใจเราสว่าง แสงสว่างอะไรๆ ก็สู้ไม่ได้ พระพุทธเจ้าบอกว่า หากก่อนตายใจเศร้าหมอง ทุคติก็เป็นอันหวังได้ ต่อไปจะมีคนสนใจธรรมมากขึ้น เพราะเห็นชัดแล้วว่า วัตถุไม่สามารถตอบโจทย์ในชีวิตได้ อย่างไอโฟน ต่อให้มีถึงไอยี่สิบ มันก็แก้ทุกข์ทางใจไม่ได้ 

เมื่อสักครู่พูดถึงว่า หากเราเห็นร่างกายสวยงาม ใจจะเศร้าหมอง แต่หากเห็นร่างกายตามความเป็นจริงว่า เป็นของไม่สะอาด ใจจะกลับสว่างไสว มันกลับกันเลยนะ ทางโลกกับทางธรรม เพราะเห็นผิด จิตจึงเศร้าหมอง ไม่สว่างผ่องใส  เพราะเห็นถูก เห็นชอบ (สัมมาทิฐิ) จิตจึงผ่องใส สว่าง สุข เป็นอย่างนั้นจริงๆ 

 

ผมเคยนั่งพิจารณากาย อาการสามสิบสอง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เห็นตามจริงว่าไม่ใช่ของสะอาด ไม่จีรัง  ขณะนั้นจิตก็สงบ สว่างไสว เจิดจ้าไปหมด  หลวงพ่ออนันต์ก็เคยสอนเหมือนกันว่า ถ้าเห็นร่างกายตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่ของสะอาด จิตจะสว่าง อ้อ ! มันเป็นอย่างนี้ อันนี้ จะเป็นเบื้องต้นที่จะนำไปสู่การรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมต่อไปได้ แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี การเห็นรูปนามตามความเป็นจริงนี่แหละ เรียกว่าปัญญา วันนี้เห็นไม่ชัด แต่พยายามให้เห็น ใจมันจะค่อยๆ สว่างๆ สงบๆ ๆ คราวนี้เมื่อใจมันสว่าง สงบ มันจะเห็นอารมณ์อะไรๆ ชัดแจ้ง อย่างที่หลวงปู่ฝั้นเคยเทศน์ไว้ เมื่อใจสงบ ก็เหมือนน้ำขุ่นหยุดขุ่น จะเห็นอารมณ์ ชัดแจ้ง  แค่ยอมรับยังไม่พอ ต้องทำให้มันสิ้นสงสัย สิ้นสงสัยในรูปนาม ขันธ์ห้า อารมณ์ว่า ไม่ใช่เรา ของเรา ตอนนี้เหมือนจะยอมรับ แต่มันยังไม่ยอมจริงๆ หรอก พอมีอะไรขึ้นมา ตัวตนก็โผล่มาแล้ว

การพิจารณาให้เห็นว่ารูปนาม ขันธ์ห้า เวทนา สัญญา สังขารนี้เป็นของไม่เที่ยงแท้ หาแก่นสารอะไรไม่ได้ เกิดเป็นธรรมดาแล้วดับเป็นธรรมดา ขั้นนี้มันยังไม่สิ้นสงสัย อยู่ระหว่างทาง อย่างเราเห็นว่า ความตายเป็นเรื่องธรรมดา แต่พอลูกเมียหรือสามี พ่อแม่เราตาย มันจะเริ่มไม่ธรรมดาขึ้นมาแล้ว นั่นแหละอัตตาตัวตนโผล่ล่ะ 

จิตพระอนาคามีนี้แม้ลูกตาย ท่านก็นิ่ง จิตท่านไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์เสียใจที่เกิดเลยแม้แต่นิด เพราะท่านละอารมณ์ได้แล้ว จิตท่านเห็น (ภายใน) ชัดแจ้งแล้วว่า อารมณ์ไม่ใช่เรา และไม่ใช่ของเราอย่างเด็ดขาด เมื่อเห็นตามจริงชัดแจ้งอย่างนี้ จิตก็วางเฉย อุเบกขาไปเอง กิเลสมาจากจิตเราที่ปรุงแต่งขึ้นมาเพราะไม่รู้ (อวิชชา) เมื่อรู้เท่า จิตก็ไม่ปรุงแต่ง  สติเร็วเท่าใดก็ยิ่งดีกับจิตมากเท่านั้น สติเป็นเครื่องกางกั้นกิเลส ต้องฝึกให้ถึงขนาดเมื่ออะไรมากระทบ รู้แล้ววาง กระทบ รู้ แล้ววาง ลมกระทบปลายจมูก รู้ แล้ววาง อารมณ์กระทบใจ รู้ แล้ววาง จะเกิดภายในพริบตาเดียว จะมีความรู้สึกเหมือนใจออกมาจากห้องแห่งอารมณ์ นี่แหละที่พระบรมศาสดาจึงกล่าวว่า ออกมาจากความเศร้าหมองแห่งกาม ขณะที่จิตออกมา ขณะนั้น จิตมีอาการตื่นรู้  ลองรักษาจิตให้อยู่กับสติสักหนึ่งนาที สองนาที สามนาทีต่อวันนะ จะเห็นจิตเริ่มนิ่งๆ ๆ หรือให้จิตอยู่กับรู้ลมหายใจเข้าออกก็ได้ สติจะเข็มแข็งขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อมีอารมณ์มากระทบ มันจะรู้ แล้วปล่อยทันที เหมือนแกว่งมือไปโดนกาน้ำร้อน เมื่อใดที่จิตเริ่มชินกับสติ มันจะรู้ถึงอรรถรสที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน นั่นคือความสงบ เยือกเย็น ยิ่งอยู่กับสติ รู้ทันอารมณ์มากเท่าใด จิตจะสงบ เยือกเย็นมากเท่านั้น เป้าหมายของการปฏิบัติ เจริญสติภาวนาคืออะไร คือการยังจิตให้พ้นภาวะข้องเกี่ยวที่เรียกว่า อุปาทานในขันธ์ห้า พระพุทธเจ้าสอนว่า อุปาทาน ขันธ์ห้านี่แหละตัวทุกข์  จริงๆ ขันธ์ห้าไม่ใช่ตัวทุกข์ รูป เวทนา สัญญา สังขาร มันก็อยู่ของมันอย่างนั้น ใจเราเองต่างหาก แส่วิ่งเข้าไปยึดมัน มันเลยทุกข์ 

การเจริญสติก็เพื่อให้จิตเป็นอิสระจากการยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้า พระพุทธเจ้าจึงสอนว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เมื่อเราเห็นอารมณ์ไม่ว่าดีหรือร้าย แล้วเราบอกว่า ช่างหัวมัน หรือเห็นก็สักแต่เห็น ขณะนั้น จิตก็ไม่เข้าไปข้องเกี่ยวในอารมณ์ ในขันธ์ห้า หากรักษาใจไว้ได้อย่างนี้ตลอดเวลา วันหนึ่งก็จะมีกำลังแยกใจออกจากอารมณ์ได้อย่างเด็ดขาด เทคนิคอันหนึ่งที่ผมใช้ได้ผลคือ ให้พยายามเห็นโทษในการเข้าไปข้องเกี่ยวในอารมณ์ทั้งปวง ถ้าเราเห็นโทษในอารมณ์ เหมือนเห็นว่า แตงโมใบนี้มียาพิษอยู่ข้างใน มันก็จะหยุดโดยอัตโนมัติ ไม่เข้าไปยึดมั่น วางไปเอง เทคนิคนี้ ได้มาตอนไปนั่งภาวนา พอจิตสงบก็เห็นแตงโม แต่จิตบอกว่า ข้างในคือยาพิษ กำหนดว่านี่คืออะไร ก็รู้ว่า แตงโมนั้นคืออารมณ์ ในอารมณ์ไม่ว่าจะดีหรือร้ายย่อมมีพิษซุกซ่อนอยู่ อารมณ์ยินดี ก็นำมาซึ่งราคะ อารมณ์ยินร้าย ก็นำมาซึ่งโทสะ มันไฟทั้งนั้น ครั้งหนึ่งที่คิดนั่นคือ จิตเผลอเสวยอารมณ์เข้าให้แล้ว หลวงปู่ดูลย์บอกว่า อย่าไปวิพากษ์ อย่าไปเออออห่อหมกกับมัน เมื่อเห็นว่ามันเกิดเป็นธรรมดา ดับเป็นธรรมดา ตอนนี้ในเบื้องต้นคือยอมรับเบื้องต้น แต่ยังไม่เห็นธรรมแต่จะนำไปสู่การเห็นธรรมอย่างที่บอกเมื่อตอนต้น แต่ปุถุชนทั่วไป เมื่ออารมณ์เกิดก็ตะครุบแทบจะทันที เห็นแล้วสักแต่ว่าเห็น ช่างหัวมัน ไม่คิด จิตหยุดปรุงแต่ง แต่ถ้าเห็นแล้วคิด จิตปรุงแต่ง จิตหยุดปรุงแต่ง จึงจะเห็น เห็นจิตที่ปรุงแต่ง เห็นแล้วจะหายสงสัยนะ แล้วจะเข้าใจทะลุสิ่งที่ผมพูดมานี้ ใช่ “ทุกสิ่ง”  สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น นี่คือคำสอนที่สุดของพระพุทธเจ้า หลวงปู่ดูลย์สอนว่า “ทิ้งหมด  ได้หมด” จริงๆ เมื่อถึงขณะจิตนั้น จิตไม่ได้ยอมรับแล้ว แต่จิตอยู่ในชั้นไม่รับโดยอัตโนมัติ มันจะไม่มีเวลามาคิดอยู่ว่า ทุกอย่างเกิดเป็นธรรมดาตามหตุตามปัจจัยอะไรอีก มันรู้ของมันอยู่อย่างเดียว รู้นี่ไม่ปรุงแต่ง คิดนี่ยังปรุงแต่งอยู่ อารมณ์ดีเกิดขึ้นก็รู้ รับทราบ วาง อารมณ์ไม่ดีเกิดขึ้นก็รู้ รับทราบ วาง ยังไม่ทันจะคิดว่า มันเกิดเป็นธรรมดา ดับเป็นธรรมดา มันก็ดับเสียแล้ว อร่อยก็ช่าง ไม่อร่อยก็ช่าง สักแต่ว่า อย่าเออออ ความอร่อยกับความสงบแห่งจิต เทียบค่ากันไม่ได้เลย ไม่ได้หยุดคิดนะ 

เมื่อรู้ คิดจะหยุด หยุดดูคิด รู้คือสติ สภาวะสติ เขาจะหยุดอยู่ในตัว ส่วนปรุงแต่งนี่คือคิด (สังขารในขันธ์ห้า) เมื่ออารมณ์ใดๆ มากระทบใจ เกิดผัสสะ เกิดเวทนา คือความรู้สึกอย่างแน่นอน ความรู้สึกยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง หากเราไปจับความรู้สึกต่างๆ นั้นมาคิด นี่คือจิตเสวยอารมณ์แล้ว ปรุงแต่งแล้ว หรืออย่างภาพใดๆ (รูปสัญญา) มาปรากฏทางใจ แทนที่เราจะปล่อยให้มันดับไป เราเข้าไปตะครุบภาพนั้นมาคิด นี่คือจิตเสวยอารมณ์แล้ว ปรุงแต่งแล้ว เช่น ภาพไอโฟนปรากฏขึ้นในใจ โผล่ขึ้นมา เราคิดอยากได้ นี่เรียกว่าปรุงแต่งแล้ว ขณะภาพไอโฟนปรากฏกระทบใจ นั่นคือผัสสะ เกิดความรู้สึกยินดีเพราะมันสวยงามมาก นั่นคือเวทนา (สุขเวทนา) เพราะไม่รู้เท่าทันคิดอยากได้ นี่คือตัณหาเกิดแล้ว มันแว้บเดียว ไวมาก คิดแรกนี่จริงๆ เรียกว่าธรรมารมณ์  อันนี้ห้ามไม่ได้ มันก็คิดมันเรื่อยๆ แต่พอคิดแรกเกิดปั๊บ ถ้าฝึกสติมาดี อยู่กับรู้ เรียกว่า รู้เท่าทันคิด จิตจะอยู่กับรู้ คิดแรกนั้นจะดับไปให้เห็นทันที อย่างจิตอริยบุคคล เขาจะเห็นความคิดหรืออารมณ์ค้างอยู่อย่างนั้น เงื่อง่าอยู่ ทำอะไรไม่ได้ เพราะจิตเขามีสติอยู่เกือบตลอดเวลา ไม่แส่เข้าไปตะครุบอารมณ์ทุกๆ อารมณ์เหมือนปุถุชน

จิตที่เห็นคือจิตที่ไม่ปรุงแต่ง จิตที่คิดคือจิตที่ปรุงแต่ง จิตเห็นจิตหมายถึงจิตที่เห็น (จิตเดิม) เห็นจิตที่ปรุงแต่งคือคิด เมื่อเห็นจิตที่ปรุงแต่งอยู่เนืองๆ เท่ากับรู้เท่าทันความคิดอยู่เนืองๆ จิตจะหยุดคิด หยุดปรุงแต่ง และจะเห็นจิตที่ปรุงแต่งคือที่คิดไว้ หลวงปู่ดูลย์จึงบอกว่า “ต้องอาศัยความคิดจึงจะรู้” จิตส่งนอกคือ จิตที่แส่วิ่งไปตะครุบอารมณ์นั่นแหละ  จิตเห็นจิตคือ จิตเห็นอารมณ์ รู้เท่าทันอารมณ์ (อารมณ์คือจิตที่ปรุงแต่ง เป็นกิริยาจิต) คำว่า อย่างแจ่มแจ้งคือ จิตแยกออกมาเห็นจิตที่ปรุงแต่ง (อารมณ์ ความคิด) อย่างเด็ดขาด เห็นชัดแจ้ง เหมือนตาเห็นรูป จิตเป็นอิสระจากจิตที่ปรุงแต่ง (อารมณ์ กิริยาจิต) จิตหลุดพ้น นิโรธ  

ที่ผมตอบๆ ไป ก็ไม่ได้ไปค้นคว้ามาจากที่ไหนหรอก มาจากสิ่งที่ “เห็น” จากจิตนี่แหละ หลวงปู่ดูลย์สอนว่า อยากรู้อะไรให้ค้นที่จิต เอวัง