ถาม-ตอบ

เวทนานี่แหละจะทำให้เรารู้เห็นธรรมได้ง่ายที่สุด

แสดงธรรมกลุ่ม Natural Mind  เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2558

 

ท่านทรงกลด : พิจารณาอายตนะเป็นไตรลักษณญาณ

      ผู้เจริญวิปัสสนาทั้งหลาย  เมื่ออายตนะภายในและภายนอกมากระทบกันเข้า  มีความรู้สึกเกิดขึ้นย่อมพิจารณาเป็นไตรลักษณญาณอย่างนี้ทุกขณะ ไม่ว่าอิริยาบถใดๆ ทั้งหมด   

     ถ้าพิจารณาจนชำนิชำนาญแล้ว  มันจะเป็นไปโดยอัตโนมัติของมันเอง มีความรู้เท่าตลอดเวลา จนเห็นว่า อารมณ์ทั้งปวงสักแต่ว่าอารมณ์ เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไปตามสภาพของมัน

                                                                        หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

 

สิ่งที่ผมนำมาลงเรื่องอายตนะที่หลวงปู่เทสก์สอน ตรงกับเรื่องที่จะพูดวันนี้พอดี เวทนูปาทานักขันโธ  ความยึดมั่นในเวทนาเป็นทุกข์  ขอโปรดสงบใจอ่านตามไปนะครับ อาจจะได้ดวงตาเห็นธรรมขึ้นได้ ผมสังเกตดูในพระไตรปิฏก ส่วนใหญ่พระพุทธเจ้าจะสอนเวทนานุปัสนาสติปัฏฐาน แล้วคนได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นจำนวนมาก เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ติดอยู่ฝั่งสุขก็ฝั่งทุกข์ 

เวทนานี่คือ ความรู้สึกสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่สุข ไม่ทุกข์ คือเฉยๆ บ้าง วันหนึ่งๆ เราจะเผชิญกับอารมณ์ดังกล่าวนี้มากเหลือเกิน แล้วมันก็ไวมาก ตามทันยาก หลวงปู่เทียนจึงบอกว่า ให้ฝึกสติรู้เท่าทันความเคลื่อนไหวของกาย เพื่อไปรู้เท่าทันความเคลื่อนไหวของใจ  ความเคลื่อนไหวของใจ นี่ภาษาพระอภิธรรมเรียกว่า อาการของจิตหรือเจตสิกนั่นเอง 

สติรู้ในกายจึงมาก่อนสติรู้ในเวทนา ที่ผมแสดงเรื่องกายคตาสติหรืออิริยาบถต่างๆ ให้มีสติ ก็เพื่อฝึกสติให้เข้มเข็งนั่นเอง บางท่านถ้ายังมองว่า ร่างกายคือเรา ของเรา ก็ขอให้พิจารณาสิ่งที่อยู่นอกกายก่อนก็ได้ อย่างรถเป็นต้น เราบอกว่า รถของเรา ลองพิจารณาด้วยไตรลักษณ์เถิดว่า มันเป็นของเราจริงหรือเปล่า ถ้ามันเป็นของเราจริง เราต้องบังคับบัญชามันได้ บอกมันว่า อย่าพัง อย่าชำรุดได้ไหม  แล้วตรงไหนที่เรียกว่า รถ มันก็เป็นสังขารคือ สิ่งปรุงแต่งขึ้นมาอย่างหนึ่งเท่าานั้นเอง บางทีมันก็พังก่อนเรา หรือบางทีเราก็พังก่อนมันคือ เจ้าของรถตายไปก่อนรถจะพัง  

ถ้าเราเห็นด้วยปัญญาอย่างนี้ เวลารถถูกชน เราจะไม่ทุกข์มากเลย เหมือนอย่างที่ใครเคยส่งไลน์มาให้อ่านว่า พ่อซื้อรถป้ายแดงมา  หวงมาก พอลูกสาวตัวเล็กๆ ไปขีดรถ พ่อใช้ค้อนตีนิ้วมือลูกหักหมดเลย อันนี้ น่าสังเวชมาก รถกับร่างกายเราก็เหมือนกัน ต่างก็เป็นสังขารเหมือนกัน ลองดูดีๆ คล้ายกันมาก ประกอบด้วยธาตุดิน (แข็ง) คือ โลหะ ตัวถัง ตัวเครื่อง ธาตุน้ำคือ น้ำหล่อเย็น น้ำมัน ธาตุไฟคือ แบตเตอรี่ หัวเทียน คอยล์สปาร์ค และธาตุลมคือ ต้องใช้อากาศสันดาป ตัวคนขับก็เหมือนจิตเรานี่แหละ ที่ขับเคลื่อนร่างกาย 

ที่เราเห็นว่า รถเป็นของเรานี้เป็นเรื่องที่เราทึกทักเองทั้งนั้นแหละ ร่างกายเราก็เหมือนกันกับรถนั่นแหละ เราทึกทักไปเองทั้งนั้นว่า มันคือเรา ของเรา มันอยู่กับเราได้กี่ปี ลองพิจารณาดู บ้างก็สิบปี บ้างก็ยี่สิบ สามสิบ ห้าสิบ หกสิบ เจ็ดสิบ แปดสิบ เก้าสิบ หรือร้อย เต็มที่ได้แค่นี้แหละ มันปรุงแต่งมาจากธาตุทั้งสี่ แล้วก็เสื่อมทรุดไปตามกฎที่พระพุทธเจ้าบอกว่า สังขารทั้งหลายย่อมเสื่อมไปเป็นธรรมดา ขึ้นชื่อว่า สังขาร ต้องเสื่อมต้องดับเป็นธรรมดา จึงไม่ควรยึดมั่น อะไรเป็นสังขาร พระพุทธเจ้าบอกไม่ควรเข้าไปยึดมั่น 

ปกติคนเรา ก่อนตายจะต้องพูดวาจาที่สำคัญที่สุดให้ลูกหลาน พระพุทธเจ้าก็เหมือนก่อน ก่อนปรินิพพาน  ท่านบอกว่า บัดนี้ เราขอเตือนพวกท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังตนให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด ทุกวันนี้ เรามองไปรอบๆ ตัวเราสิ เห็นไหมครับ เราใช้ชีวิตเหมือนกับว่าจะไม่มีวันแตกดับกันเลย ทั้งๆ ที่เราไปงานศพกันแทบทุกวัน พระพุทธเจ้าจึงเตือนว่า อย่าประมาทนะ สังขารทั้งหลายคืออะไร รวมความแล้วก็คือขันธ์ห้านั่นเอง  หากเราออกจากความยึดมั่นในขันธ์ห้าได้ เราก็จะเข้าถึงสภาวะที่เรียกว่า อสังขารคือ สภาพที่ไม่มีการปรุงแต่ง เมื่อไม่มีการปรุงแต่งก็ไม่มีการเสื่อม การดับ นั่นก็คือ นิพพานนั่นเอง  การออกจากความยึดมั่นในขันธ์ห้า มีทางเดียวก็คือมรรคมีองค์แปด เริ่มที่ความเห็นชอบ 

ทุกวันนี้ เรายังมีความเห็นผิดในขันธ์ห้าอยู่ โดยเฉพาะความเห็นผิดในเรื่องสุข เรื่องทุกข์ เพราะเห็นว่า สุขนั้นคือเรา ของเรา เราจึงแสวงหา เมื่อเราแสวงหาสุข ทุกข์ที่เป็นของคู่กับสุขก็ตามติดเราเป็นเงาตามตัว เมื่อใดที่เห็นสุขตามความเป็นจริงว่า จะถือเป็นเรา ของเราไม่ได้ เราก็จะหยุดแสวงหาสุข ทุกข์ก็ดับไป เกิดความสงบ อันเป็นสุขที่แท้จริงขึ้นมาแทน  

เรามาดูกันว่า สุขที่เราเสาะแสวงหา มันใช่เรา ของเราหรือไม่ เอาแค่เห็นว่า สุขไม่ใช่เราอย่างชัดแจ้งแค่นี้ ก็ถือว่า เห็นธรรมแล้ว ความสุขก็ดี ความทุกข์ก็ดีมาจากไหน  เมื่ออายตนะภายในกับภายนอกกระทบกัน ย่อมเกิดเวทนาคือ ไม่ยินดีก็ยินร้ายเป็นส่วนใหญ่  ตาเห็นรูปสวยงามย่อมเกิดความยินดี หูได้ยินเสียงด่าย่อมเกิดความยินร้าย  ห้ามไม่ได้เพราะสัญญาขันธ์คือ ความจำได้หมายรู้  จิตท่านได้สร้างมันไว้แล้ว ยกตัวอย่าง ใครด่าท่านว่า ท่านนี่เลวจริงๆ อารมณ์ไม่พอใจต้องเกิดอย่างแน่นอน แต่ถ้าฝรั่งด่าท่านว่า Notorious  ท่านโกรธไหม ไม่โกรธหรอก เพราะท่านไม่ได้จำได้หมายรู้ไว้ว่า คำนี้แปลว่า ชั่วร้ายเหมือนกัน ในทางกลับกันท่านด่าฝรั่งว่า ชั่วมากๆ เขาก็ไม่โกรธท่านเหมือนกัน เพราะเขาไม่มีสัญญาในเรื่องนี้ จิตเขาไม่ได้ปรุงแต่งคำว่าชั่วในภาษาไทยไว้ 

ทำไมคนไทยด่าท่านว่าชั่ว ท่านโกรธ แต่ฝรั่งด่าว่า Notorious  ท่านไม่โกรธ ทั้งๆ ที่มันก็คือชั่วร้ายเหมือนกัน จริงๆ แล้ว เป็นเรื่องที่ท่านคิดปรุงแต่งไปเองทั้งนั้น จิตเราทึกทักไปเองทั้งนั้น ไม่ว่าคำว่า ชั่วหรือดีมันเกิดแล้ว ต่างก็ดับไปเป็นศูนย์เหมือนกันหมด นี่คือความจริง เป็นสัจธรรม สุขกับทุกข์ก็เหมือนกัน แท้จริงเมื่อหูได้ยินเสียงด่า เกิดควายินร้าย จริงๆ แล้ว มันก็ดับไปทันที พอเสียงด่าจบลง มันดับไปพร้อมกับเสียงนั่นแหละ แต่ที่เราไม่ยอมให้ดับเพราะจิตเราเข้าไปยึดมั่นมันมาปรุงแต่งเป็นความโกรธต่อ ความโกรธคือ วิภวตัณหา ผัสสะ ก่อให้เกิดเวทนา เวทนาก่อให้เกิดตัณหา  ตัณหาก่อให้เกิดภพ เมื่อจะละกิเลส พระพุทธเจ้าจึงเน้นที่เวทนานี่แหละ  

เหมือนอย่างที่หลวงปู่เทียนบอกว่า เมื่อโซ่คล้องกลางขาดแล้ว ภพชาติจะมาจากไหน  ตรงเวทนานี่แหละจะทำให้เรารู้เห็นธรรมได้ง่ายที่สุด เมื่อหูได้ยินเสียงด่าเกิดอารมณ์ยินร้ายอย่างแน่นอน ห้ามไม่ได้ มันเป็นเรื่องของเวทนาขันธ์ที่ต้องแสดงอาการของมัน การรู้เท่าทันเวทนาต่างหากที่จะป้องกันหรือดับวิภวตัณหา (โกรธ) ได้ หากเราฝึกสติมาอย่างดี เมื่อเกิดอารมณ์ยินร้ายเพราะตาเห็นรูปที่ไม่งาม หูได้ยินเสียงที่ไม่พอใจ จิตจะวิ่งมาอยู่กับสติทันที และจะเห็นอารมณ์ยินร้าย อารมณ์ไม่ชอบใจ ดับไปต่อหน้าทันที ผมขอยืนยันเป็นครั้งที่ล้านว่า มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เราจะเห็นอารมณ์นั้นดับไปพร้อมๆ กับเสียงที่ดับลงในเวลาแทบจะอันหนึ่งเดียวกัน แรกๆ จะเห็นอย่าง  ถ้าฝึกสติมาดี จิตมันจะนิ่ง ไม่แสดงอาการหรือเต้นไปตามอาการของเวทนา ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ไม่ว่าดีหรือร้าย ไม่ว่าชอบใจหรือไม่ชอบใจ จิตจะเริ่มนิ่งขึ้นๆๆๆๆๆ  และจะตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิได้ในที่สุด สมาหิโต ยถาภูตัง ปชานาติ เมื่อจิตเป็นสมาธิ ย่อมจะเห็น (รูปนาม) ตามความเป็นจริง ที่หลวงปู่ชาบอกว่า ความสงบเป็นบ่อเกิดของปัญญาคืออันนี้แหละ ตัวช่วยที่จะทำให้จิตนิ่ง ตั้งมั่น ไม่แสดงอาการไปตามอาการของเวทนาก็คือ ปัญญา 

ครั้งหนึ่งผมพิจารณากายจนจิตสงบก็ปรากฏคำว่า สติและปัญญาลอยเด่นซ้อนกันอยู่ในสมาธิ  พิจารณาดูว่าคืออะไร ก็ได้คำตอบว่า มันต้องไปด้วยกัน ปัญญาคืออะไร พระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นเอง  ไม่จำเป็นต้องใช้พร้อมกันทั้งสามหรอก หลวงตามหาบัวบอก เอาอันใดที่เห็นชัดก็พอ หลวงปู่ชาใช้คำเดียวคือ  อนิจจังคือไม่แน่  ไม่เที่ยง มีพระธรรมเทศนาบทหนึ่งทีเดียวชื่อ อนิจจัง ไม่แน่ ท่านใช้จนถึงอรหัตผลโน่น คำๆ นี้  อะไรที่เป็นอนิจจังคือไม่เที่ยง เราจะถือว่านั่นคือเรา  ของเราได้ไหม 

ผมได้ยกตัวอย่างเรื่องรถไว้ในตอนต้น รถนี่ไม่เที่ยง เห็นชัดจริงๆ ยิ่งรถมือสองนี่เห็นชัดเลย เดี๋ยวอันนั้นเสีย อันนี้เสีย พอซ่อมเสร็จ อ้าว! อันโน้นเสียอีกแล้ว ถ้าเป็นของเราจริงๆ เราต้องบังคับบัญชามันได้  บอก รถเอ๋ย! วันนี้อย่าเสียนะฉันจะไปธุระตรงนั้นหน่อย ขับไปได้ไม่กี่กิโล อ้าว! เครื่องดับเสียแล้ว

ที่พระพุทธเจ้าสอนเรื่องอนิจจังนี้ก็เพื่อให้เห็นว่า อะไรที่มันไม่เที่ยง สุดท้ายมันหาแก่นสารไม่ได้ รถนี้มันมีแก่นสารไหม อยู่ได้ราวสามสิบปี ก็ย่อยพังกลับไปเป็นดินหมดแล้ว ร่างกายนี้มีแก่นสารหรือเปล่า หัวใจที่บอกว่าเป็นเรา ของเรา ปัจจุบัน ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจกันได้แล้ว ไปเอาหัวใจใครมาก็ไม่รู้ ไตก็เหมือนกัน หรืออย่างผมนี่ ถ้าหัวใจมันเป็นของผมจริงๆ ผมก็ต้องสั่งซ่อมได้สิ ไม่ต้องฝังเครื่องช่วยกระตุ้นหัวใจให้มันทำงานอย่างทุกวันนี้  ผมไม่ได้เสียใจเลยที่ต้องฝังเครื่อง ทุกวันนี้ บางทีมันก็เหมือนมาเตือนว่า เฮ้ย! เอ็งใช้ชีวิตสนุกทางโลกมากเกินไปแล้วนะ 

สมัยก่อนผมใช้ชีวิตเหมือนคนไม่รู้จักวันตาย ประมาทเหลือเกิน จนมาเป็นโรคหัวใจ ฝังเครื่องนี่แหละจึงหยุด หันมาปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง เพราะความตายมายืนรอหน้าประตูบ้านอยู่ทุกวันแล้ว  พอปฏิบัติจริงก็เห็นผล  ขอบคุณโรคร้ายทุกวันนี้ ที่เห็นชัดเลยเวลาป่วยด้วยโรคนี้ นอนดูกราฟที่เครื่องอีเคจี เวลาหัวใจมันอยากจะหยุด เราสั่งให้มันเต้นไม่ได้เลย มันอยากจะเต้นก็เต้นเอง มันอยากจะหยุดก็หยุดเอง  เห็นสัจจธรรม (ยังไม่เห็นธรรมในเวลานั้น) เลยว่า เออ! หัวใจนี่ มันไม่ใช่เรา ของเรา อย่างที่พระพุทธเจ้าพูดไว้จริงๆ สั่งบังคับบัญชาไม่ได้ สุดท้ายมันก็เสื่อมพังไปต่อหน้าต่อตา เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยงจริงๆ หาแก่นสารอะไรไม่ได้ เป็นแค่ชิ้นเนื้อก้อนหนึ่งเท่านั้นเอง พอตายเขาก็เผาเหลือเพียงเถ้าถ่าน   ไหนล่ะหัวใจของเรา ไหนล่ะ แก่นสารของหัวใจ ของร่างกาย ไม่เหลืออะไรที่เป็นแก่นสาร นี่แหละคืออนัตตาล่ะ หาตัวตนแก่นสารไม่ได้ 

พระสาวกเมื่อได้ฟังพระพุทธเจ้าเทศน์เช่นนี้  โดยปกติจิตก็จะละความยึดมั่นในกายลงไปได้ทันที พวกเราล่ะ ละความยึดมั่นในกายได้บ้างหรือยัง ผมหงอกขาว ร่วง หน้าเหี่ยวไปตามวัย แข้งขาเริ่มไม่มีแรง ยังทุกข์อยู่หรือเปล่า ถ้ายังทุกข์มากอยู่ก็แสดงว่า ยังยึดมากอยู่ ถ้าทุกข์น้อยก็ยึดมั่นน้อย เอาทุกข์นี่แหละเป็นเครื่องชี้วัดความยึดมั่นที่พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องอนิจจัง ทุกขัง (ทนอยู่ไม่ได้) และอนัตตา  พระองค์ทรงมีเป้าหมายในท้ายสุดว่า อะไรที่มันไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ หาตัวตนแก่นสารไม่ได้ อะไรนั่นควรจะถือว่าเป็นเรา ของเราได้หรือไม่   ภิกษุทั้งหลายก็ตอบว่า ไม่ได้พระเจ้าข้า ขณะที่ตอบว่าไม่ได้ จิตของภิกษุเเหล่านั้นก็หลุดพ้นจากความเห็นผิด จากความยึดมั่นว่า รูปนาม ขันธ์ห้า อารมณ์คือเรา  ของเราเสียสิ้น สำหรับพวกเรา ลองพิจารณาดูว่า อะไรที่มันไม่เที่ยง ต้องเสื่อมต้องดับไป จะถือเป็นเรา ของเราได้ไหม 

มาดูสุขเวทนากัน สุขที่จบปริญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก  สุขที่ได้ทำงาน สุขที่ได้เลื่อนตำแหน่ง สุขที่ได้แต่งงาน สุขที่ได้มีลูก สุขที่ได้รถคันแรกขับ สุขที่กินอาหารอร่อย  มันเสื่อมไป ดับไปหรือยัง สุขที่มีคนชื่นชม สุขที่พบเพื่อนเก่า สุขที่พบรักแรก สุขที่ได้จับมือคนรักครั้งแรก สุขที่ได้สบตาคนรักเมื่อแรกๆ มันเที่ยงไหม มันดับไปหรือยัง สุขที่ได้ดูละครที่ชื่นชอบ ดูกีฬาโปรด สุขที่ไทยเป็นเจ้าซีเกมส์ สุขที่ไปเที่ยวยุโรป  ไปต่างประเทศ สุขที่มีหลานน่ารัก มันหาแก่นสารอะไรได้ไหม ไม่ได้หรอก มันเกิดแล้วก็ดับไป เสื่อมไปทั้งนั้น บางทียังจำไม่ได้เลยว่า สุขวันแต่งงานมันเป็นอย่างไร  ก็บรรดาสุขทั้งปวงเมื่อมันไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ หาแก่นสารไม่ได้ แล้วเราจะพึงยึดถือได้อีกหรือว่า สุขนั้นคือเรา ของเรา 

ถ้าเราเห็นว่า รถก็ดี ร่างกายนี้ก็ดี ไม่เที่ยง หาแก่นสารไม่ได้ จะพึงยึดว่า เป็นเรา ของเราไมได้ มันก็ไม่ยากที่จะเห็นว่า สุข (เวทนา) ทั้งปวงก็ยึดถือว่าเป็นเรา ของเราไม่ได้เช่นกัน ที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการคือ  การคิดแบบแยบคาย สมัยพุทธกาล บางทีพระพุทธเจ้าเทศน์เรื่องกายอย่างเดียว แต่พระสาวกก็บรรลุธรรมได้ เพราะท่านฟังแล้วโยนิโสไปถึงเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนั่นเอง เมื่อรูปอันเป็นส่วนหนึ่งของขันธ์ห้าถือว่าเป็นเรา ของเราไม่ได้แล้ว ขันธ์อีกสี่ขันธ์ที่เหลือก็ถือไม่ได้เช่นกัน จิตก็ผละจากสุข จากทุกข์ ออกมาตั้งมั่น เป็นอิสระอยู่ต่างหากจากอารมณ์ทั้งปวงในบัดนั้น  

ส่วนฟากทุกข์เล่า มันก็เหมือนสุขนั่นแหละ เกิดแล้วเสื่อมดับเป็นธรรมดา เมื่อมีการเกิด (สังขาร) ก็ต้องมีการเสื่อมการดับ อย่างที่พระอัสสชิสอนพระสารีบุตรเพียงว่า ธรรมทั้งปวงย่อมไหลมาแต่เหตุ เมื่อจะดับก็ดับที่เหตุ ฟังแค่นี้พระสารีบุตรก็ได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน  ทำไมท่านฟังแค่นี้ก็เห็นธรรม ก็เพราะว่า (ผมเชื่อว่า ท่านๆ ไม่เคยฟังที่ไหนมาก่อนแน่) พระสารีบุตรเห็นทันทีเลยว่า อันว่า อธรรมนั้นก็คืออารมณ์ทั้งปวงย่อมไหลมาแต่เหตุ เหตุคือการเกิด  คือการปรุงแต่ง เมื่อปรุงแต่งก็ต้องเสื่อมต้องดับ อารมณ์ (ธรรมารมณ์) ก็เช่นกัน เมื่อเกิดแต่เหตุคือ มีการปรุงแต่งขึ้นมา ก็เสื่อมดับ หาแก่นสารไม่ได้ ไม่ควรยึดมั่น หมายมั่นในธรรม (อารมณ์) ทั้งปวงว่า นั่นคือเรา ของเรา จิตท่านก็ละจากอารมณ์มาตั้งมั่นอยู่ แยกจิตออกจากอารมณ์ได้ เห็นชัดว่า อารมณ์ไม่ใช่จิต จิตก็จิต อารมณ์ (ธรรมารมณ์) ก็อารมณ์ คนละส่วนกัน 

ผู้ใดเห็นจิตผู้นั้นเห็นธรรม ทุกข์ก็เป็นอารมณ์หนึ่งเรียกว่า ทุกขเวทนา ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ทุกข์ที่หิวเมื่อตอนเย็น ทุกข์ที่เหงื่อออกมากเพราะอากาศร้อน ทุกข์ที่เคยเจ็บป่วย โน่น นี่ นั่น มันเที่ยงไหม ทุกข์ที่เพื่อนเคยด่า ตอนนี้กลับมาดีกัน (หรือสุขที่เพื่อนเคยชื่นชม ตอนนี้ก็กลับไม่ชอบกัน) ทุกข์ที่คนรับเหมาสร้างทำบ้าน (อันนี้ตัวเอง) กี่ครั้งต่อกี่ครั้งที่โกงเรา รับเงินไปมากมายแล้วทิ้งงาน  ทุกข์ที่รถถูกชน  ของในบ้านพัง  จิปาถะ  มันเที่ยงหรือไม่ อย่างคนเคยด่าเรา เราก็ทุกข์ ผ่านไป มันก็ดับไป เราก็ลืมไปแล้ว ภายหลังนึกขึ้นได้ก็ทุกข์อีก แล้วก็ดับไปอีก ที่เรานึกได้ในภายหลัง อย่างที่ผมเคยแสดงไป เขาเรียกว่า ธรรมารมณ์ เมื่อมากระทบใจ ก็เกิดผัสสะ ย่อมเกิดเวทนาเช่นกัน นึกถึงภาพ เรื่องที่ดี ก็เกิดสุขเวทนา อ้าวประเดี๋ยว ภาพไม่ดี เรื่องราวไม่ดีโผล่เข้ามาอีก ก็เกิดทุกขเวทนา เป็นอยู่อย่างนี้ไม่รู้จบ  อายตนะภายนอกคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สัมผัส) ธรรมารมณ์ (สิ่งที่นึกขึ้นมาต้องใจ)  ส่วนอายตนะภายใน คือตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ  เมื่ออายตนะภายนอกกระทบกับอายตนะภายในจะเกิดเวทนาทันที  ส่วนใหญ่ธรรมารมณ์ที่มาต้องใจนี่แหละตัวร้ายสุด ทำให้นอนไม่หลับทั้งคืน  รูป (เรียกรูปสัญญา) เรื่องราวที่ดี ผุดขึ้นมา ก็สุข เกิดแล้วก็ดับ เรื่องใหม่มาอีก ก็สุขหรือทุกข์อีก แล้วแต่ว่าจิตเราจะปรุงแต่งจดจำมันไว้ในฐานะอะไร มันเที่ยงเสียที่ไหน

เมื่อสุขก็ดี ทุกข์ก็ดีต่างก็มีสภาวะเหมือนกันคือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป คือไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ด้ ต้องเสื่อม ต้องดับ หาแก่นสารตัวตนอะไรไม่ได้  แล้วเราจะยังยึดมั่น ถือมั่นอยู่ได้อีกหรือว่า สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี นั่นคือเรา ของเรา ปล่อยเสีย วางลงเสีย ปลดปลงมาลงจากบ่า (ใจ) เสีย แบกสุข แบกทุกข์มานานมากแล้ว จริงๆ สุขนั้นไม่มีหรอก มันแต่มีแต่ทุกข์ทั้งนั้นแหละ  เพราะแท้จริงชีวิตเรานี้คือทุกข์ เราจึงแสวงหาสุขมากลบเกลื่อน ปรุงแต่งสุขมันขึ้นมากลบทุกข์ พอหิวก็หากิน พอเครียดก็ไปดูหนัง ฟังเพลง เที่ยวโน่น เที่ยวนี่ มีเงินหน่อยก็ไปต่างประเทศ อยู่ไม่นาน อ้าว! ทุกข์เพราะคิดถึงเมืองไทย กลับมาอีกแล้ว เกิดมาไม่มีเสื้อผ้าก็ทุกข์กายแล้วเพราะต้องหนาว ก็ต้องแสวงหาสุขคือ เสื้อผ้าใส่   ร่างกายเจ็บปวดก็ต้องหายาพารากิน หนีทุกข์  อย่างที่บอก อะไรที่มันปรุงแต่งก็ต้องเสื่อม ต้องดับทั้งสิ้น สุขที่เราปรุงแต่งขึ้นมาเหมือนกัน หนีไม่พ้น พอมันเสื่อม  มันดับ ก็กลับมาทุกข์เหมือนเดิมแล้ว  เวลาหิว ทุกข์มาก พอกินอิ่ม ก็สุข พออิ่มเสื่อมดับไป ก็กลับมาหิวเหมือนเดิมอีกแล้ว เห็นหรือยังว่า แท้จริงชีวิตนี่คือทุกข์

พระภิกษุณี พระอรหันต์รูปหนึ่ง จึงบอกว่า ไม่มีอะไร มีแต่ทุกข์เท่าทั้นที่เกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ และทุกข์เท่านั้นที่ดับไป พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ผู้ใดเห็นทุกข์ผู้นั้นเห็นธรรมคือ เห็นทุกข์ (อารมณ์) เป็นสภาวะหนึ่งอยู่ต่างหากจากจิต เหมือนตาเห็นรูป การจะเห็นเช่นนั้นได้ จิตท่านจะต้องเห็นแล้ว ทั้งทุกข์และสุขไม่เที่ยง จะยึดเป็นเรา ของเราไม่ได้เลย  นี่คือทางสายกลาง จิตท่านจะจากสุขและทุกข์มาตั้งมั่นอยู่ตรงกลาง  เราต้องพิจารณาให้เห็นไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนาก็ดี ทุกขเวทนาก็ดี ไม่ควรเข้าไปหมายมั่น เพราะต่างก็หาสาระ  แก่นสารอะไรไม่ได้ เกิดแล้วดับๆ อยู่อย่างนี้ ชั่วนาตาปี เห็นเนืองๆ จนสลดสังเวชใจขึ้นมาเองว่า  เรานี้ทำไมเที่ยวไล่ตะครุบเงาอยู่ได้ 

วันนี้สุข พรุ่งนี้ทุกข์อีกแล้ว เป็นอย่างนี้ไม่รู้จบ เมื่อมีสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่ว่าจะเกิดจากอายตนะใดกระทบกัน ให้มีสติคือความรู้สึกตัวขึ้นมา ความรู้สึกตัวนี่คือสติ ความรู้สึกสุข ทุกข์ นี่คืออารมณ์ ขณะที่รู้สึกตัว (เร็วเท่าใดดีเท่านั้น) ขณะนั้น จิตจะแยกจากอารมณ์ไม่ว่าสุขหรือทุกข์โดยอัตโนมัติ แรกๆ จะยาก เพราะจิตจะชินอยู่กับอารมณ์มานานหลายล้านกัป  ขณะเดียวกันก็ให้พิจารณาให้เห็นอารมณ์ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ว่า มันก็เหมือนรถ เหมือนผม ขน เล็บเรานี่แหละคือ ไม่เที่ยงหรอก เป็นอนิจจังล้านเปอร์เซนต์ เกิดแล้วต้องดับมิต้องสงสัย นี่คือปัญญา  ขณะที่จิตผละจากอารมณ์มาอยู่กับสติได้ดีขึ้น จิตจะค่อยๆ ตั้งมั่นขึ้น นี่คือสมาธิ 

ทำอยู่เนืองๆ ด้วยความเชื่อมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้า ครบแล้ว อินทรีย์ห้า พละห้า  ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ห้าอย่างนี้ หลวงปู่มั่นมักจะสอนลูกศิษย์มากที่สุด วันหนึ่งจิตท่านจะละจากความยึดมั่น ถือมั่นในเวทนา ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ได้ เหมือนอย่างที่พระอัญญาโกณฑัญญะทำได้ ขณะฟังธรรมจากพระโอษฐ์พระพุทธเจ้าที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เพียงพระองค์ตรัสสอนว่า สมณะ สองทางที่ไม่ควรเดินคือ การแสวงหาความสุข หลงใหลในความสุข (กามสุขัลลิกานุโยโค) กับอีกทางหนึ่ง คือ  การต้องทำตนให้ได้รับความทุกข์ยากลำบากกายใจ (อัตตกิลมถานุโยโค) ทั้งสุขและทุกข์ สองอารมณ์นี้ ไม่ควรเดิน ไม่ควรเข้าไปข้องแวะ  ท่านใช้คำว่า ไม่ควรเข้าไปข้องแวะหมายถึง ไม่ควรเข้าไปฉวยคว้า หมายมั่น ยึดถือ ยึดมั่น จิตพระโกณทัญญะจึงละออกจากสองทางนั้นมาตั้งมั่นอยู่กับสติ (รู้) แยกจิตออกจากอารมณ์ได้ เห็นอารมณ์เกิดแล้วดับๆ เหมือนน้ำไหลอยู่ตรงหน้า จึงอุทานออกมาว่า ยังกิญจิ  สมุทยธัมมัง สัพพันตัง  นิโรธะ ธัมมันติ  สิ่งใด (อารมณ์) เกิดขึ้นเป็นธรรมดา ย่อมดับไปเป็นธรรมดา จะถือเป็นเรา ของเรา มิได้เลย พระพุทธเจ้ารู้วาระจิต จึงอุทานออกมาว่า โกณฑัญญะรู้แล้วหนอๆ จิตท่านโกณฑัญญะที่ว่า รู้แล้วหนอๆ ก็คือ จิตท่านผละออกจากอารมณ์ทั้งสองมาตั้งมั่นอยู่กับรู้คือสตินั่นเอง 

การมีสติรู้เท่าทันอารมณ์ในระหว่างวัน เวลาทำงานไม่ว่างานบ้าน  งานที่ทำงานจึงสำคัญมาก เช่น  เราวางของไว้ที่บ้านที่หนึ่งแล้วหาไม่เจอ นี่ อารมณ์ยินร้ายก็เกิดแล้ว รู้เท่าทันมันด้วยเทคนิคที่แสดงไป   พอไปทำงาน คนนั้นยกมือไหว้ ก็ยินดี เดินไป  อีกคนไม่ยกมือไหว้ แน่ะ อารมณ์ยินร้ายเกิดแล้ว  ถ้าท่านเจริญสติรู้เท่าทันเช่นนี้ได้เท่ากับว่า ท่านได้ปฏิบัติธรรมทั้งวันทั้งคืน ไม่ใช่หมายเพียงจะมาเจริญสติภาวนาเอาแค่เวลาค่ำก่อนนอน อย่างนี้ไม่ทันกิน โดนกิเลสกินหมด ในระหว่างวัน ชนะบ้าง แพ้บ้างก็ไม่เป็นไร ขอเพียงอย่ายอมแพ้  เหมือนท่านหนึ่งไลน์มาบอกว่า  วันนี้แพ้ แต่สุดท้ายท่านก็บอกว่า เจริญสติแล้วออกจากตรงนั้นได้ อย่างนี้ถือว่า แพ้ก่อน  ชนะภายหลัง ถ้าท่านรักษาใจแบบนี้ได้ในทุกๆ อารมณ์ ผมขอยืนยันว่า จะต้องรู้เห็นธรรมอย่างแน่นอนในชาติปัจจุบันนี้  ขออย่าถอดใจไปก่อนเท่านั้นเอง  สงครามครั้งนี้เราต้องชนะอย่างเดียว ช้าเร็วไม่สำคัญ  ถ้าเราแพ้ เราจะถูกกิเลสกดหัวไปชั่วอนันตกาล จิตเราจะเร่าร้อน วุ่นวาย เพราะถูกกิเลสร้อยรัดทิ่มแทงใจอยู่ตลอดเวลา หาความสงบสุข เยือกเย็นไม่ได้เลย  ที่น่ากลัวที่สุด มันจะลากเราลงอบายภูมิได้อย่างง่ายดายที่สุด  แต่หากเราฮึดสู้จนได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระอริยบุคคลเบื้องต้นคือ พระโสดาบัน เราก็ปิดอบายได้อย่างมิต้องสงสัย 

เพียงแค่เจริญสติปัญญาจนจิตตั้งมั่นเห็นว่า รูปนาม ขันธ์ห้า อารมณ์ จะถือเป็นเรา เป็นเขาไม่ได้เท่านั้นเอง สุข ทุกข์ สักแต่ว่า เกิดแล้วก็ดับเท่านั้น   นี่แหละคือกุญแจดอกสำคัญที่จะนำไปสู่การรู้เห็นธรรม วันใดเห็นว่า สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี จะถือเป็นเรา เป็นเขาไม่ได้ จิตก็จะละความยึดมั่นในเวทนาไปได้ในเวลานั้นเอง เวทนูปาทานักขันโธ อุปาทานคือ ความยึดมั่นในเวทนา ก็จะจางคลายลง ทุกข์อันเกิดจากความยึดมั่นในเวทนาก็จางคลายลงไปด้วยกัน 

ก่อนจบมีโอวาทธรรมของหลวงตามหาบัวมาฝากไว้อีกเรื่องหนึ่ง ขอให้อ่านและพากันปฏิบัติจิตตภาวนาเถิด 

 

รากแก้วพุทธศาสนาอยู่ที่ “จิตตภาวนา”

    เวลานี้พวกเราชาวพุทธได้แต่ “กระพี้” ไม่ได้แก่นคือ การให้ทาน รักษาศีล ทำความดีประเภทต่างๆ เป็น “กระพี้” ทั้งนั้น

    เมื่อเทียบเข้าไปหลัก “จิตตภาวนา” นั้นคือ “แก่นแท้”  ถ้าใครได้ปฏิบัติเข้าไปตรงนี้แล้วได้สัมผัสกับ “แก่นแท้” มากน้อยเพียงไร

    ความดีนี้จะกระจายออกมา ความละเอียดลออทุกอย่างจะออกมาจาก “จิตตภาวนา” ทั้งนั้น 

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน