ให้อยู่กับปัจจุบันอย่างตื่นรู้
แสดงธรรมกลุ่ม Natural Mind เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2558
ผู้ปฏิบัติ : ฟังเพลงประกอบหนังพระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก แล้วรู้สึกอย่างไรบ้างครับ
ท่านทรงกลด : ฟังแล้วปิติ แต่เมื่อรู้สึกตัว ปิติก็ระงับลง หยุดอยู่ตรงนั้น ตรงความรู้สึกตัว ตรงสติ เป็นสติที่ไม่ต้องกำหนด สติอัตโนมัติ เป็นสติที่เกิดจากสัมมาทิฐิ ซึ่งจะเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเราก้าวข้ามโลกียมรรคมาสู่โลกุตรมรรคแล้ว
ที่ท่านส่งมาให้ดู เพลงที่ร้องตรงท่อนที่ว่า พระองค์ทรงค้นพบการเวียนจบของจักรวาล ในความเห็นผม น่าจะไม่ถูกต้อง พระองค์ไม่ได้ค้นพบจักรวาลอะไรเลยในคืนตรัสรู้ ที่พระองค์พบคือจิต คือใจ ของพระองค์ต่างหาก พระองค์พบว่า ขันธ์ห้าคือขันธโลกนี้ หาใช่ตัวตนของพระองค์ไม่ คำว่า โลกวิทู รู้แจ้งโลก ไม่ได้หมายถึงโลกภายนอก ไม่ได้หมายถึงจักรวาลแต่อย่างใด แต่หมายถึงโลกแห่งกายใจอันนี้ ที่เรียกว่าขันธโลก
ในหนังเรื่องนี้ ผมเคยบอกให้ดูระวังหน่อย เพราะคำสอนยังไม่ถูกเสียเท่าใดนัก แต่ดูเพื่อระลึกถึงคุณพระองค์ท่านได้ เป็นพุทธานุสติ ส่วนข้อธรรมต่างๆ ยังไม่ได้ แต่เป็นข้อคิด ปรัชญาเสียมากกว่า พระพุทธองค์ตรัสรู้ธรรมชาติภายใน ธรรมชาติของจิตเดิม จิตแท้ จิตที่บริสุทธิ์ ไม่ข้องเกี่ยวกับขันธ์ห้า อารมณ์ทั้งปวง ในตอนแรกท่านไม่ได้ตรัสรู้จักรวาลอะไรเลย คืนนั้นท่านตรัสรู้อริยสัจจ์เท่านั้น เรื่องจักรวาล เช่น พระองค์ตรัสไว้ว่า โลกเราไม่ได้มีโลกเดียวในจักรวาลนี้ ยังมีโลกที่มีมนุษย์อาศัยอยู่อีกสี่โลก แต่ไม่เหมาะที่จะไปเกิดตรัสรู้ที่นั่น จึงมาเกิดตรัสรู้ที่โลกใบนี้ อันนี้เป็นความรู้อันเกิดจากญาณที่มาปรากฏในภายหลัง และเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องรู้เพื่อการพ้นทุกข์ ปล่อยให้พวกฝรั่งเขาค้นคว้าไป เสียเวลาเปล่าๆ ฝรั่งจึงสนใจสิ่งนอกตัว สิ่งที่เห็นด้วยตาวิทยาศาสตร์ สิ่งที่เห็นด้วยใจมันพิสูจน์ไม่ได้ เพราะมันเป็นปัจจัตตัง จะเรียกคนอื่นมาดูเหมือนที่เราเห็นก็ไม่ได้
ให้อยู่กับปัจจุบันอย่างตื่นรู้ ตรงนี้แหละคือธรรม อดีตก็ทำเมา อนาคตก็ทำเมา ปัจจุบันนี่ธรรมา หลวงปู่แหวน พระอริยะเจ้า เมื่อถึงธรรมจะถึงปัจจุบันธรรมเหมือนกันหมด อยู่กับรู้ กับสติ กับความรู้สึก นี่แหละปัจจุบันธรรม การตื่นรู้ก็คือ ตื่นรู้ ไม่มีความหมายหรืออาการอะไรมากมายอย่างที่เขียนๆ กัน มันตื่นรู้แล้วมันหยุด หยุดแค่นั้น ถ้าตื่นรู้แล้วยังปรุงแต่งออกมามากมาย นั่นไม่ใช่การตื่นรู้ แต่คือการคิดปรุงแต่ง คนละเรื่องกับการตื่นรู้
อย่างบางคนบอกว่า อาการตื่นรู้มีดังต่อไปนี้ แล้วร่ายยาวเป็นสิบๆ หน้า อ่านดูแล้ว ไม่ใช่การตื่นรู้ ยังส่งจิตออกนอกอยู่ หลวงปู่ดูลย์บอก อย่าส่งจิตออกนอกคือ อย่าปรุงแต่งเท่านั้นเอง เมื่ออารมณ์กระทบ ให้รู้และหยุดอยู่แค่นั้น อย่าไปวิพากษ์นั่นคือ ปรุงแต่ง เมื่อมีสติมันจะเป็นทั้งสมถะและวิปัสสนาอยู่ในตัว นี่คือคำของหลวงปู่มั่น
เมื่อมีสติ ตื่นรู้ จิตจะอยู่กับรู้ จะสงบ หยุด ตรงนี้คือ สมถะ เมื่อจิตหยุด จะเห็นอารมณ์แยกออกไป เห็นความไม่เที่ยง ไร้แก่นสารของอารมณ์ ตรงนั้นเป็นวิปัสสนา เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ต้องสงบด้วยสติ ด้วยปัญญา ไม่ใช่สงบด้วยการเพ่ง บริกรรม สงบด้วยการเพ่ง บริกรรม ยังเป็นการสงบด้วยการปรุงแต่งอยู่ แต่สงบด้วยสติ ปัญญา เมื่อสงบแล้ว เหนือการปรุงแต่ง สงบแล้วจะสงบไปเรื่อยๆ ไม่กลับกลอกไปมา ถ้าหลงอยู่ในนั้นก็เป็นโมหะ ถ้ารู้เท่าทันออกมา ก็ไม่เป็น ถ้าเพ่งจนจิตสงบ ถอนออกมาพิจารณากาย ขันธ์ห้า ก็ไม่เป็นโมหะ ส่วนใหญ่พระป่าจะใช้วิธีนี้ เมื่อพบธรรม เห็นธรรม ถึงธรรมเหมือนกัน ก็จะพูดเหมือนกันว่า สติ ๆ ตัวเดียว เพราะจะไปพบสภาวะตื่นรู้แบบอัตโนมัติเหมือนกันหมด
จับลมแบบรู้เท่าทันลมหายใจเข้าออก อันนี้ไม่ใช่เพ่ง หลวงปู่ชาบอก ยึดแต่อย่าให้มั่นคือ เอาลมมาเรียนรู้สติ แต่อย่าไปยึดลมเป็นตัวเป็นตน เป็นเรา ของเรา นั่นคือ เอาจิตไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสิ่งที่ยึดเลยกลายเป็นยึดมั่น อย่างเวลาใครด่าเราแล้วโกรธ เราก็ยึดอารมณ์นั้นมาพิจารณาด้วยไตรลักษณ์ พิจารณาแล้วก็ปล่อยมันไป ไม่ไปมั่นหมายในตัวโกรธ
ผมชอบแบบนี้ ธรรมะของจริงมันต้องซัดเปรี้ยงกันตรงนี้ ต่อหน้า ไม่ใช่ขอไปค้นตำราก่อน อย่างเวลา อารมณ์ไม่ยินดีเกิด คนไม่ยึดคือ ปล่อยมันไป ไม่ได้พิจารณาให้เกิดปัญญาอะไรเลย เปลี่ยนไปดูหนัง ฟังเพลงสบายใจ อย่างนี้เป็นการเปลี่ยนอารมณ์ หนีอารมณ์ เช่น กลุ่มธรรมนี้ มีแต่สิ่งไม่ชอบใจ หนีไปเปิดกลุ่มใหม่ ชอบให้คนชม คนด่า คนจริงนี่ไม่เอา ไม่มีทางเห็นธรรม ถ้าหนีอยู่อย่างนี้ เรียกว่า หนีอารมณ์ หนีตัวเอง หลวงปู่ชาสอนว่า ยึดแต่อย่าให้มั่น เมื่ออารมณ์ไม่ยินดีเกิด อย่าหนีมัน เอามันมาพิจารณาด้วยไตรลักษณ์ ดูซิ มันเที่ยงไหม มันเป็นเรา ของเราจริงไหม
ตรงเอามาพิจารณานี่แหละเรียกว่า ยึด ยึดไว้เสียหน่อย อย่าเพิ่งหนีทิ้งมันไปดูหนัง หรือไปกลุ่มอื่น แต่เมื่อพิจารณาแล้ว เห็นชัดแล้วว่า มันไม่เที่ยง ก็ไม่มั่นหมายในอารมณ์นั้นๆ นี่แหละคือ อย่าให้มั่น อย่าไปมั่นหมายมันว่า จะเป็นตัวเป็นตน เป็นเรา ของเรา ต้องวางทั้งที่ไม่ชอบ และที่ชอบ ไม่ควรเข้าไปมั่นหมายทั้งสองอย่าง ชอบก็ไม่เที่ยง ไม่ชอบก็ไม่เที่ยง จิตปล่อยวางได้มากเท่าใด จิตก็เป็นปัจจุบันมากเท่านั้น
ปล่อยวางได้มากเท่าใด ใจก็จะเยือกเย็น สงบไปเอง โดยไม่ต้องบังคับ ธรรมะคือ ธรรมชาติ ทุกวันนี้เราทุกข์เพราะไปฝืนธรรมชาติ ของไม่เป็นของเราก็ไปอยากให้เป็นของเรา อยู่กับเรา สุขไม่ใช่ของเราก็อยากทำให้เป็นของเรา ทุกข์จึงตามมา เหตุแห่งทุกข์เพราะอยากสุข ถ้าไม่อยากสุขก็ไม่ทุกข์แค่นี้เอง สมุทัย นิโรธ มรรค อัตตา ต้องทำลายอัตตาด้วยปัญญา เมื่อใดเห็นว่า รูปนามไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่อัตตา ตัวตน เมื่อนั้นอัตตาก็หมดอำนาจไปเอง ที่อัตตา มานะ มีอำนาจ เพราะเราไปยอมมัน ไปยอมความคิด ให้ความคิดปั่นหัวว่ามันคือเรา ของเรา
คิดก็คิด จิตก็จิต คนละอันกัน เมื่อใดเห็นคิดไม่ใช่จิต เมื่อนั้นเห็นธรรม แต่ต้องหยุดคิดจึงจะเห็นจิต ไม่ต้องเอาน้ำไปดับไฟ ไฟก็ดับไปเอง ที่ไม่ดับเพราะเห็นผิด เห็นไฟ เห็นอารมณ์เป็นของเรา จึงเข้าไปยึด อุปาทาน แล้วปรุงแต่ง เติมเชื้อเข้าไป เมื่อมีสติ รู้ว่าร้อนก็ออกมาเสีย ก็จบเรื่อง ถ้าเจริญสติแยกจิตกับอารมณ์ได้เด็ดขาดวันใด จะเห็นจริงตามที่แสดง ไฟก็เกิดดับเป็นธรรมดาของมัน ไฟก็อยู่ส่วนไฟ เรา ( จิต) ก็อยู่ส่วนเรา ต่างคนต่างอยู่ ไม่ต้องคอยดับ มันเกิดเอง ก็ให้มันดับเอง รู้เท่าทัน มันก็จบแค่นั่น จะห้ามไฟไม่ให้เกิดไม่ได้ เพราะยังไม่ดับขันธ์ เพราะเห็นผิด จึงเห็นโกรธเป็นรสอร่อย หม้อข้าวร้อน แต่ไม่รู้ เลยกอดมันไว้แน่น มือ (ใจ) เลยพองทุรนทุรายอยู่ คนมีปัญญาจึงเห็นว่า โกรธนี่มันร้อนจริงๆ ดูหน้าคนโกรธสิ มีความสุขหรือเปล่า รู้เท่า โกรธดับ พยาบาทจะมาจากไหน
แต่ความโกรธก็มีคุณนะ ทดสอบตัวเองว่า สติดีแค่ไหน ถ้าดีจริง ในหนึ่งนาทีต้องออกมาได้ จะเห็นมันดับไปต่อหน้าต่อตาเลย บางที แว้บเดียวเอง พอรู้ก็ดับ พอรู้ก็ดับๆ ๆ ๆ พยาบาทจึงไม่มีในพระอริยบุคคล คราบงูออกมาจากงู งูปรุงแต่งคราบงู ฉันใด ความโกรธก็ออกมาจากใจ ใจปรุงแต่งความโกรธฉันนั้น เคยเห็นงูนอนกอดรัดคราบงูบ้างไหม เมื่อมันเห็นแจ้ง รู้ชัดแล้วว่า คราบงูหาใช่ตัวมัน ของมันแต่อย่างใดไม่ มันก็ทิ้งคราบไว้ปล่อยให้เสื่อมพังไปตามธรรมดาของมัน เรากับงู ใครฉลาดกว่ากัน เมตตาเป็นยาแก้ปวด ความเห็นชอบเป็นการแก้ที่สมุทัย สมุฏฐานของโรคได้เด็ดขาด