โคลนเกิดจากน้ำ เอาน้ำนั่นแหละล้างโคลน ทุกข์เกิดจากใจ ก็เอาใจนั่นแหละล้างทุกข์

แสดงธรรม กลุ่ม Natural Mind เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2558
ท่านทรงกลด : วันนี้ สถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งนี้เงียบสงบดี ดูสงบ เหมือนคลื่นใต้น้ำ ข้างบนเรียบสงม แต่ข้างล่างฟุ้งซ่านไปหมด จริงๆ สงบหรือไม่สงบ ไม่ได้อยู่ที่สถานที่หรอก ความสงบอยู่ที่ใจเรานี่ จะคุยกันพันหมื่นข้อความ ถ้าใจสงบ มันก็สงบ ถ้าไม่สงบ ไปนั่งเงียบๆ อยู่ในป่าลึก ก็ไม่สงบ กลับฟุ้งซ่านคิดไปต่างๆ นานามากขึ้นกว่าเดิมอีก
หลวงปู่ชายกตัวอย่างดีมากไว้ว่า นึกว่าความสงบอยู่ที่หูละกระมัง ไม่อยากได้ยินใครพูดเลย มันตึงตังๆ ตลอดเวลา เลยไปหาอะไรมาอุดหูแน่น ไม่ได้ยินอะไรเลย นึกว่าจะแก้ปัญหาได้ ที่ไหนได้ ท่านบอก มันอื้อๆ ๆ ๆ ไปหมด ใจก็ฟุ้งเหมือนเดิม
พระพุทธเจ้าก็เหมือนกัน ท่านสอนว่า นึกว่าความสงบอยู่ที่ร่างกายละกระมัง เลยไปภาวนาอดอาหาร ไม่ให้มันกินอะไร ดูสิ มันจะสงบหรือเปล่า มันก็ไม่สงบ ยังฟุ้งด้วยกิเลสเหมือนเดิม บ้างก็หนีความฟุ้งไปอยู่กับลมหายใจ ไปเพ่งลม จริงๆ อย่าไปจับลมหายใจ แต่จงรู้เท่าทันลมหายใจ ลมหายใจเข้าก็รู้ ลมหายใจออกก็รู้ อย่าไปตามลม แต่จงรู้เท่าทันลม เมื่อรู้เท่าทันลม ต่อไปจะรู้เท่าทันอารมณ์ นี่คือหลักย่อๆ ของอานาปานสติ
ถ้าไปนั่งบังคับเพื่อให้จิตจับลมหายใจมันจะยิ่งฟุ้งซ่าน เหมือนจับลิงมาขังกรงไว้ เมื่อรู้เท่าทันลมหายใจเนืองๆ จนจิตกับสติเริ่มอยู่ด้วยกัน จะเห็นลมหายใจเข้าออกเหมือนคนเข้ามาในบ้านแล้วออกไป แต่เรานั่งมองอยู่ ไม่วิ่งเข้า วิ่งออกตามเขาไปด้วย ขณะที่เรานั่งนิ่งมองอยู่ เราจะเห็นว่า ลมก็ลม เรา (จิต) ก็เรา
ลมคืออะไร ลมก็คือธาตุลม ธาตุลมแห่งกายนี้ (กายประกอบไปด้วยธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ) ลมก็คือกาย เพราะการปฏิบัติภาวนา จะทำให้เรารู้จักตัวเอง รู้ว่าแท้จริงเราคือใคร ใครคือเรา เมื่อรู้แล้ว จะเป็นใบเบิกทางไปสู่ความสงบ ความสุขที่แท้จริง
อย่างดูหนังก็ภาวนาได้นะ เคยบอกพวกเราไปหลายครั้งแล้ว เวลาตัวละครร้ายออกมา อารมณ์ยินร้ายก็ปรากฏ เวลาตัวละครดีออกมา อารมณ์ยินดีก็ปรากฏ เฝ้าดูอารมณ์ตัวเอง ดูสิ อารมณ์ยินร้ายเสื่อมไป ดับไปอย่างไร อารมณ์ยินดีก็เหมือนกัน อย่างที่ผมเคยเล่าว่า เคยดูละครเรื่องคุณชายรัชชานนท์ เฝ้าดูอารมณ์ตัวเองอย่างที่บอกนั่นแหละ อารมณ์ยินดีก็ไม่เที่ยง อารมณ์ยินร้ายก็ไม่เที่ยง อยู่ๆ จิตก็ตั้งมั่น ได้ยินเสียงเหมือนไม่ได้ยิน อารมณ์นั้นก็อยู่ต่างหากจากเรา รู้ว่ามีอยู่ แต่แยกไปจากเรา เรานั่งมองมันอยู่ เหมือนนั่งมองมือถือที่อยู่เฉพาะหน้าขณะนี้แหละ
ตีกอล์ฟก็ปฏิบัติธรรมได้นะ ผมใช้บ่อย ตีช็อตนี้ดี โอ้ ! มันปลื้ม คนชม แคดดี้ก็ชม นายตีสวยมากช้อตนี้ เป็นไง เดินมีความสุขไปตลอด อารมณ์ยินดีเกิด พอเดินไปตีช็อตสอง เปรี้ยง ! เข้าป่า ตกน้ำ เป็นไง ไอ้ที่ยินดีเมื่อตะกี้ ไปแล้ว เสื่อมแล้ว ดับแล้ว เห็นไหม มันเที่ยงเสียที่ไหน เพื่อนที่ชมเมื่อตะกี้เดินหนีไป ใจซ่อนรอยยิ้มเพราะจะกินเราแหงๆ แคดดี้ก็รีบจ้ำอ้าวเลย กลัวนายด่าใส่อารมณ์ นั่นอารมณ์ยินร้ายเกิดแล้ว
นี่คือปุถุชนทั่วไป พอตีดีก็ยินดี เสวยอารมณ์นั้นเต็มที่ แทบสวาปาม พออารมณ์ยินร้ายเกิดเพราะตีเสีย ก็เอาอีก วิ่งไปซุกอีก แต่ถ้าคนที่เป็นอริยชน เขาจะไม่วิ่งไปซุกอารมณ์ทั้งสองเลย ตีดี อารมณ์ดีก็เกิด ก็บอกว่า โอ้ ! ไม่เที่ยงหรอก ตีไม่ดีก็เกิดอารมณ์ยินร้าย ก็บอกว่า ไม่เที่ยงหรอก อยู่ไม่นานหรอก เมื่อเห็นอย่างนี้จิตจะไม่เข้าไปหมายมั่นเลย ไม่ว่าจะตีดีหรือไม่ดี เมื่อไม่หมายมั่น จิตก็ตั้งมั่น ลองเอาไปใช้ดู ใครตีกอลฟ์อาจจะเห็นธรรมในสนามกอล์ฟก็ได้ นี่ผมไม่ได้ล้อเล่นนะ
ถ้าจิตเราตั้งมั่นสักคราวหนึ่งแล้ว (เห็นธรรมแล้ว) ต่อไปมันจะตั้งมั่นได้ไม่ยาก กายก็ต้องดูไปด้วย แต่ขณะที่อารมณ์เกิด เช่น ความโกรธ ขณะนั้นอารมณ์นั้นมันปรากฏชัด ก็ต้องฟาดฟันกับมันก่อน ตอนเช้าเข้าห้องน้ำ ก็พิจารณากาย กลางวันเห็นตัวเรา เห็นคนอื่น ก็พิจารณากายไปด้วย เห็นหล่อก็อย่าไปวิ่งตามเขาให้มากนัก เห็นสวยก็เหมือนกัน เอากายคตาสติมาจับ หากจับอยู่ ความยินดีในรูปนั้นก็ดับไป ความยินดีในรูปคืออะไร ก็คืออารมณ์อย่างหนึ่ง อารมณ์ยินดี เหมือนตอนตีกอลฟ์ช็อตที่ดีนั่นแหละ เห็นไหมมันสอดคล้องกันไปหมด เวลามีความโกรธก็ให้รู้ จิตฟุ้งซ่านก็ให้รู้ จิตมีราคะก็ให้รู้
ตอนอารมณ์ยินดี ยินร้าย นั่นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตอนเห็นหนุ่มสาวสวยงามแล้วพิจารณาให้เห็นตามจริง นั่นก็กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตอนจิตมีโทสะแล้วรู้ จิตฟุ้งซ่านแล้วรู จิตมีราคะแล้วรู้ นั่นก็จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานแล้ว กายรู้เวทนา จิตรู้ธรรม เมื่อเราเจริญกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา เราจะรู้เห็นธรรม จะเห็นอริยสัจจ์สี่ จะเห็นโลกุตรมรรค ที่เห็นเพราะจิตเข้าสู่กระแสโลกุตรมรรคแล้วนั่นเอง ความรู้ที่ผุดขึ้นในจิต บางทีก็เป็นความรู้ขึ้นมา บางทีก็เป็นเหมือนเสียง (เสียงก็เป็นนิมิตอย่างหนึ่ง) ให้เอามาพิจารณาเป็นอุบายทางปัญญา แต่อย่าไปหมายมั่นในความรู้นั้นๆ
อย่างผม ครั้งหนึ่งพิจารณากาย จิตสงบลงไป ก็เกิดนิมิตมีรถสองแถวมารอที่หน้าบ้าน แต่ผมไม่ได้ไปด้วย นั่งมองเฉยอยู่ พิจารณาดูว่า นี่คืออะไร ก็ได้อุบายว่า รถสองแถวนั้นคือ อารมณ์น้อยใหญ่ วิ่งมารอให้เราคว้าฉวยไปกับมัน หากเราไม่ไปด้วย เดี๋ยวมันก็จากไป ทำอะไรเราไม่ได้ จึงใช้เทคนิคนี้เฝ้าดูอารมณ์ รักษาใจตน ไม่ให้วิ่งตามรถสองแถว ไม่นานจึงรู้ว่าอะไรเป็นอะไร เสียงที่ผุดขึ้นนี้ก็แปลก เป็นความลึกลับของจิตเหมือนกัน
อย่างคราวหนึ่ง เมื่อหลายปีก่อนโน้น (น่าจะปี 2552 – 2553 มั้ง) ผมไปกราบหลวงพ่อโสธร ที่แปดริ้ว ไปบนขอให้ขายที่ได้ กลับมาก็ภาวนาที่บ้าน ตอนนั้นหันมาพิจารณาอาการสามสิบสอง กายคตาสติ ประมาณตีสี่กระมัง พอจิตสงบลงไป ก็ปรากฏเสียงดังก้องกังวาลขึ้นในจิตว่า จิตเข้าสู่กระแสโสดาปัตติมรรคแล้ว ยังจะไปบนบานท้าวมหาพรหมอยู่อีกหรือ
ผมเองออกมาก็นั่งงงอยู่ เอ ! สภาวะจิตเราเมื่อไปถึงตรงนั้น เราก็รู้ของเราอยู่คนเดียว (ปัจจัตตัง) แล้วนี่ใครมาล่วงรู้ความเป็นไปของใจ (ในขณะนั้น) เราได้ แปลกจริงๆ แล้วที่บอกว่า เราไปบนบานท้าวมหาพรหม เราก็ไม่ได้ไปสักหน่อย เราไม่ได้ไปบนท้าวมหาพรหมที่เอราวัณ ไปบนหลวงพ่อโสธรต่างหากเล่า สงสัยอยู่ ภายหลังไปอ่านเจอที่ไหนไม่รู้ เขาบอกว่า หลวงพ่อโสธรนี้มีท้าวมหาพรหมรักษาดูแลอยู่ถึง16 องค์จึงศักดิ์สิทธิ์มาก กับพระแก้วมรกตไม่รู้ใครมีท้าวมหาพรหมรักษามากกว่ากัน พระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ก็เพราะพวกพรหมพวกนี้แหละ ใครไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่นะ พระพุทธรูปก็เป็นเพียงปูนปั้นทองเหลืองนะ เรื่องนี้ทำให้ตั้งแต่นั้นก็ไม่กล้าบนมาก อายๆ เสียงที่มาตำหนิเราในจิต ตอนนี้เลิกเด็ดขาดแล้ว มันเลิกไปเอง
อีกเรื่องหนึ่ง เรื่องบังเอิญไม่มีในโลกจริงๆ อย่างผมกับเพื่อนเก่าๆ นี้ไม่สงสัยว่าเคยทำอะไรกันมานานแล้ว เคยสงเคราะห์ทางธรรมกันมา ชาตินี้ก็มาสงเคราะห์กันต่อ อย่างมีท่านหนึ่งต้องเคยเป็นแม่ผมชาติใดชาติหนึ่งแน่ ก่อนที่พวกท่านจะเข้ามาในกลุ่ม คืนหนึ่งนั่งภาวนาจิตสงบก็อธิษฐานในใจว่า เราเองก็คงอยู่ในโลกนี้อีกไม่นาน หากใครเคยมีวาสนาบารมีร่วมปฏิบัติกันมาก็ขอให้มาปรากฏด้วยเถิด แต่ละคนก็ไปเชิญเพื่อนๆ เข้ามามากมาย เช้าวันรุ่งขึ้น บางท่านที่ออกจากกลุ่มไปพักหนึ่งก็กลับมา คืนนั้นก็มีเพื่อนคนหนึ่งไปเชิญท่านหนึ่งเข้ามา เพิ่งมารู้ว่า ท่านนั้นและเพื่อนๆ เป็นคนนาบอน ที่เกิดและโตของผม อันนี้ก็แปลกอีกหนึ่งเรื่องล่ะ
เรื่องห้องไลน์ บางคนบอกห้องนี้เงียบดีจัง บางคนก็บอก เงียบไปน่าเบื่อ บางคนก็บอกเงียบดีเนอะ ไม่มีข้อความตึ๊งๆ ๆ ให้รำคาญ จริงๆ ห้องจะเงียบจะดัง ไม่ใช่เรื่องของเราเลย มันเป็นเรื่องของห้องไลน์ เหมือนเรื่อง รวยกับซวยมันอยู่ใกล้กันนะ คนรวยนี่ไม่ใช่ว่าจะโชคดีนะ ซวยมากกว่า เคยเห็นคนรวยหันมาสนใจปฏิบัติธรรมแบบเอาจริงแบบเราบ้างไหม เห็นไหม เศรษฐีบางคนไปวัด ภาวนาหลับตาทำสมาธิ กลับมาบ้าน หนักกว่าเดิม อะไรขวางหูขวางตา จัดการหมด
หลวงปู่ชา หลวงปู่ดูลย์ หรือพระพุทธเจ้าพูดเหมือนกันว่า ความสงบที่แท้จริงเกิดจากความเห็นชอบ ทำไมเวลาเบื่อ จึงไม่สงบ เพราะไปเห็นความเบื่อ (อารมณ์ประเภทหนึ่ง) ว่าเป็นเรา ของเรา วันใดที่เห็นความเบื่อ เหมือนหนังด้านๆ ที่เอาไปเผาไป วันนั้นจะหายเบื่อ หนังก็คือรูป ความเบื่อก็คือนาม มันก็คือขันธ์ห้า เห็นอย่างหนึ่ง ก็จะเห็นอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า โยนิโสมนสิการ ถ้าเห็นทุกอย่างตามความเป็นจริงมันก็คือเห็นชอบ เมื่อเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ) มันก็สงบ (สัมมาสมาธิ)
การจะทำให้ตาในเปิดให้เห็นสัจจธรรมข้อนี้ ต้องใช้สติ ปัญญา แต่ถ้ายังเห็นว่า ความเบื่อนี้คือเรา ของเรา นี่เรียกว่าเห็นผิด มันก็ไม่สงบ มันทุกข์อยู่นั่นแหละ สติคือความระลึกได้ในลักษณะรู้สึกตัวทั่วพร้อม สติไม่ใช่ความคิดได้อย่างนั้น คิดได้อย่างนี้ คิดได้ว่า ก็เขาเป็นอย่างนั้น แก้ไขอะไรไม่ได้ อันนี้ไม่ใช่สติ ไม่ใช่ปัญญา หรือคิดได้ว่า ก็เราไม่ได้เป็นอย่างที่เขานินทา จะไปทุกข์ร้อนทำไม อันนี้ก็ไม่ใช่สติ ไม่ใช่ปัญญา ลองหายใจเข้าแรงๆ สิ สติก็เกิดแล้ว ความรู้สึกตัวนะ
ส่วนปัญญาเล่า ก็สำคัญไม่แพ้สติ ให้เห็นว่า ความเบื่อนี้มันก็ไม่เที่ยงเหมือนผมที่เริ่มหงอก เริ่มขาว ที่ต้องขายเครื่องมืออุปกรณ์แพทย์คอยย้อมอยู่นั่นแหละ ถ้าเห็นความเบื่อไม่เที่ยงจริงๆ จิตมันจะออกมาจากความเบื่อ (ที่เป็นอารมณ์) มันจะไม่เบื่อ เพราะมันออกมาแล้ว ที่เรายังเบื่ออยู่ๆ เพราะมันยังออกไม่จริง
มีน้องคนหนึ่งเป็นนักปฏิบัติในกลุ่มนี้ เขาไม่ชอบนั่งหลับตาภาวนา แต่เขาชอบอะไรที่มันสดๆ เขาเล่าให้ฟังว่า ตอนนี้เวลามีความโกรธ อาศัยการมีสติรู้เท่าทันที่แนะนำไป จิตมีสติรู้เท่าทันทันทีและออกจากความโกรธได้เร็วขึ้น เห็น “ตัวโกรธ” ชัดเจน ตัวโกรธนี่ไม่ได้มาจากที่ไหน มาจากจิตเรานี่แหละปรุงแต่งมันขึ้นมา จิตที่ปรุงแต่งเป็นโทสะ กับจิตที่เป็นธรรมชาติเดิม มันคนละอันกัน ถ้าอันเดียวกัน มันออกมาไม่ได้ แยกจากันไม่ได้ ถ้าจิตกับโกรธมันอันเดียวกัน พระพุทธเจ้าไม่มีวันพ้นทุกข์ น้องคนนี้เก่งมาก พอโกรธปั้บ รู้ตัวปั๊บ ออกมาเลย นี่แหละ ไม่ต้องไปอ่านคัมภีร์พุทธอะไรหรอก ขณะที่กำลังขบเคี้ยวอยู่กับอารมณ์โกรธ อารมณ์เบื่อนั่นแหละมันยิ่งกว่าไปนั่งอ่านคัมภีร์พุทธศาสนาทั้งหมด ตรงนั้นแหละคือคัมภีร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ตรงที่จิตนั่นแหละ ธรรมทั้งปวงออกมาจากจิต ความโกรธเห็นง่ายหน่อย ความเบื่อก็เช่นกัน เห็นง่าย เอาอารมณ์ใหญ่ๆ เห็นชัดๆ ตรงนี้ก่อน ความเฉยอาจจะเห็นยากไม่เป็นไร เอาตรงความเบื่อ ความโกรธก่อน เอาอารมณ์ใหญ่ๆ ก่อน เมื่อเห็น และรู้เท่าทันเรื่อยๆ เดี๋ยวจิตมันจะละเอียดๆ ๆ ๆ ขึ้น จะรู้เท่าทันมากขึ้นจนต่อเนื่องเหมือนสายน้ำ
หลวงปู่ชาบอกว่า ตอนแรกก็เหมือนเรารินน้ำจากกาน้ำนี่แหละ แรกๆ ก็ต๋อมๆ แล้วหาย ต๋อมๆ แล้วหาย แต่เมื่อเรารินถี่เข้าๆ ๆ ๆ มันจะต๋อมๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ต่อเนื่องเป็นสายน้ำไม่ขาดสาย ตรงกับที่ท่านเขมานันทะบอกไว้ เมื่อสติต่อเนื่องเหมือนสายน้ำไม่ขาดสาย จะเกิดอะไรขึ้น จิตกับอารมณ์ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์โกรธ รัก เบื่อ ชัง จะแยกออกจากกันให้เห็นอย่างชัดแจ้ง นี่ไง ที่พุทธองค์ตรัสว่า สติเป็นเครื่องกางกั้นกิเลส จะเห็นว่ากิเลส (จิตที่ปรุงแต่ง) ก็ดี อารมณ์ทั้งปวงก็ดี ความรู้สึกนึกคิดก็ดี ขณะนั้น ถูกสติแยกออกจากกัน ก็จะเห็นว่า รูปนามทั้งหลายแหล่นั้น จะถือเป็นเรา ของเราไม่ได้เลย จิตก็จิต อารมณ์ก็อารมณ์ จะเห็นธรรมตรงนี้ล่ะ
เมื่อเห็นธรรม คราวนี้ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานก็สบายแล้ว เพราะจิตมันเห็นธรรมในธรรมแล้ว มันก็ทำของมันเองไปเรื่อยๆ อย่างช้าไม่เกินเจ็ดชาติ ยิ่งเห็นความเป็นจริงว่า รูปนามจะถือเป็นของเราไม่ได้เท่าไร ทุกข์ก็น้อยลงไปเท่านั้น เอาแค่นี้ก่อน เอาแค่รู้เท่าทันความโกรธ ความเบื่อ แค่นี้ชีวิตก็สุขขึ้นเยอะแล้ว
ผมถามน้องท่านนั้นว่า ลองเปรียบเทียบดูสิ ตอนนี้ กับตอนก่อนๆ ปฏิบัติ ชีวิตตอนไหนมีความสุขมากกว่ากัน เขาบอกตอนนี้มีความสุขมากกว่าเยอะ แถมบอกว่า เดี๋ยวนี้เห็นคนโกรธแล้วสงสาร หลวงปู่ชาบอกว่า คนเราเวลาโกรธ ดอกเตอร์กับ ป. สี่ ก็โง่เหมือนกัน เราไม่ต้องปฏิบัติคาดหวังอะไรมาก เอาแค่ดำเนินชีวิตในปัจจุบันให้มีความสุขคือ ความสงบใจก็พอแล้ว ความเบื่อมันก็ไม่เที่ยง ความโกรธมันก็ไม่เที่ยง อย่าไปหมายมั่นมันเลย
ส่วนอารมณ์เฉยๆ นี่ เอาไว้ก่อน เดี๋ยวจิตมันจะเรียนรู้ไปเอง บางคนบอกว่า อารมณ์เฉยก็คือ การปล่อยวาง อันนี้เข้าใจผิดอย่างมหันต์ แสดงว่า คนนั้นยังไม่รู้เห็นธรรมเลย อารมณ์เฉยกับจิตวางเฉยต่ออารมณ์ต่างกันราวฟ้าดิน อารมณ์เฉยคือ จิตเสวยอารมณ์ แต่จิตวางเฉยต่ออารมณ์คือสภาวะที่จิตออกมาจากอารมณ์นั้น แล้วมองอารมณ์นั้นเฉยอยู่ ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวหมายมั่น เหมือนน้องคนนั้นที่มีอารมณ์โกรธ แล้วรู้เท่าทัน จึงออกมามองความโกรธอยู่ ที่ออกมาคือจิต ที่โกรธอยู่คือจิตที่ปรุงแต่ง นี่คือ จิตเห็นจิตของหลวงปู่ดูลย์นั่นเอง เมื่อออกมาจากความโกรธ ดูความโกรธ มันจะเหมือนอย่างที่เคยบอกไปว่า งูลอกคราบ ออกมามองคราบที่ตนปรุงแต่งไว้อยู่ มีงูที่ไหนนอนกอดคราบตนเองไว้บ้างไหม แล้วทำไมท่านจึงนอนกอดความโกรธ ความเบื่อไว้ไม่ยอมปล่อย ที่พูดมาคือธรรมล้วนๆ ไม่ต้องบอกว่า นี่คือเวทนานุปัสนาสติปัฏฐาน นี่คือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวลาพระพุทธเจ้าสอน ท่านไม่ได้บอกเลยว่า เอ้า ! บัดนี้จะสอนเวทนาแล้วนะ จะสอนจิตตาแล้วนะ อันนี้มันเป็นรูปแบบ เวลารบ ต้องรบนอกรูปแบบ หน้าที่เราคือพิจารณาให้เห็นความเป็นจริงของกาย ของรูป ของนาม โดยอาศัยสติปัฏฐานสี่นี่แหละ
ก่อนจบก็มีนิทานมาฝากอีกสักเรื่องหนึ่ง เรื่องนี้หลวงปู่ชาชอบสอน ผมเองก็ชอบอ่าน ชอบฟัง เลยเอามาฝากกัน เป็นเรื่องของพระพุทธเจ้ากับสาวก เย็นวันหนึ่ง ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่แห่งหนึ่งกับบรรดาพระสาวก ก็มองไปเห็นสุนัขขี้เรื้อนตัวหนึ่ง วิ่งไปซุกที่โพรงต้นไม้ สักพักหนึ่งก็ออกมา วิ่งไปซุกที่พุ่มไม้บ้าง ไปซุกที่โขดหินบ้าง ในถ้ำบ้าง แล้วก็วิ่งออกมาอีก ไปที่นั่นที่นี่ พระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้นก็หันมาถามพระสาวกว่า ภิกษุทั้งหลาย เห็นสุนัขตัวนั้นหรือไม่ ภิกษุทั้งหลายก็ตอบว่า เห็นพระพุทธเจ้าข้า ที่สุนัขตัวนั้นวิ่งไปซุกโพรงไม้ โขดหิน พุ่มไม้ ในถ้ำ เป็นเพราะโพรงไม้นั้นไม่ดี โขดหินไม่ดี พุ่มไม้ไม่ดี ในถ้ำไม่ดี หรอกหรือ ภิกษุทั้งหลายก็ตอบว่า หามิได้พระพุทธเจ้าข้า งั้นเพราะอะไรล่ะหรือที่ทำให้สุนัขวิ่งไม่เป็นสุขอยู่ เพราะมันเป็นขี้เรื้อนพระพุทธเจ้าข้า ผมอ่าน ฟังแล้ว ก็มักจะเอามาสอนตัวเองเสมอ เออ ! เรานี่อยู่ที่ไหนก็ไม่สบาย ทำไมหนอ เพราะใจเรานี่หนอ มันเป็นขี้เรื้อนอยู่ จะไปอยู่ที่ไหนก็ไม่สบาย จึงเฝ้าเพียรรักษาใจอยู่ตลอดเวลา เผื่อวันหนึ่งไปอยู่ที่ไหนก็สบาย สงบ ไม่ขัดข้อง ไม่วุ่นวาย ผมสอนตัวเองนะ ต้องแก้ที่ตัวเรา
ห้องไลน์จะวุ่น จะเงียบ ศาลาจะเล็ก จะใหญ่ต้องแก้ที่เรา เคยมีใครไม่รู้น่าจะเป็นพระป่าเขียนไว้ ผมเคยเก็บไว้ หายไปแล้ว โคลนเกิดจากน้ำ ก็เอาน้ำนั่นแหละล้างโคลน ทุกข์เกิดจากใจ ก็เอาใจนั่นแหละล้างทุกข์ หยุดวุ่นก็ว่าง หยุดขุ่นก็ใส ไม่ต้องหาที่ไหน อยู่ที่ใจเรานี่เอง เอวัง