ถาม-ตอบ

แยกจิตกับอารมณ์เพื่ออะไร

แสดงธรรม กลุ่ม Natural Mind เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2558

ท่านทรงกลด : เมื่อรู้ (สติ) ก็จะหยุด (คิด) เมื่อหยุดคิดก็จะรู้ มรรคนี้ถ้าเดินถูก จะมีความก้าวหน้าด้วยตัวมันเอง ก้าวหน้าอย่างไรก็สังเกตใจตนเอง นิ่งมากขึ้น ฟุ้งซ่านน้อยลง ไม่แสดงอาการตามมัน (อารมณ์) มากขึ้น ใจค่อยๆ สงบเย็นลงมากขึ้น แต่อย่าไปคาดหวังว่า มันจะต้องสงบทันที สงบด้วยปัญญานี้มันจะค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป อย่ารีบร้อน

มีผู้บอกว่า ดาวเคียงเดือนเหมือนจิตคู่กับขันธ์ แสดงว่า จิตท่านคิดใคร่ครวญในธรรมอยู่ตลอด เป็นธัมมวิจยะ อันจะนำไปสู่การตรัสรู้ธรรมในอนาคต อย่าคิดว่าผมใช้ศัพท์สูง คำว่า ตรัสรู้ ไม่ได้หมายถึงพระพุทธเจ้าเพียงองค์เดียวแต่หมายถึง คนทั่วไปที่รู้ธรรม เห็นธรรม อย่างกรณีพระพาหิยะ พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่า เป็นสาวกที่ยอดเยี่ยมในการตรัสรู้ธรรมเร็ว เพียงแค่ได้ฟังว่า “เห็นก็สักแต่ว่าเห็น” ก็ตรัสรู้แล้ว อย่างท่านๆ ฟังผมไปอาจจะตรัสรู้ธรรมในขณะฟังก็ได้เพราะผมเอาวิธีการสอนของพระพุทธเจ้าหรือพระอริยสาวกที่สอนชนในสมัยพุทธกาลมาแสดงให้ท่านฟัง แสดงให้จิตท่านเห็นตามความเป็นจริงของรูป ของนาม  ของขันธ์ห้า และของอารมณ์

หากท่านฟังด้วยอาการเคารพ  ไม่ดูหมิ่น ตั้งใจฟัง เทชาที่เต็มถ้วยพักไว้ก่อน สงบความรู้ ความจำ ความคิดที่เคยศึกษามาทั้งหมด เมื่อส่งจิตตามไป จิตเห็นตามความเป็นจริง เกิดสัมมาทิฏฐิเต็มรอบของมัน จิตก็ตั้งมั่นเป็นสมาธิ (สัมมาสมาธิในมรรคมีองค์แปด) เมื่อจิตตั้งมั่นก็จะเห็นรูป นาม ตามความเป็นจริงอีกครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้จะไม่ใช่ความคิดพิจารณาเหมือนครั้งแรก แต่เป็นการเห็นขณะจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ ญาณคือ ความเห็น จะเกิดตรงนี้ จะละสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสได้ในเบื้องต้น  

ผู้ปฏิบัติ  :  บางครั้งก็นึกสงสัยในฐานะปุถุชนคนธรรมดาว่า เราพยายามแยกจิตกับอารมณ์เพื่ออะไร รัก โลภ โกรธ หลง เป็นสิ่งที่เกิดมาพร้อมกับชีวิต ถ้าเราไม่รู้สึกถึงอารมณ์แบบนั้นมันยังเป็นชีวิตอีกฤา หรือเราแค่รู้เพื่อจัดการและบรรเทาอารมณ์เหล่านั้นให้ถูกที่ ถูกทาง 

ท่านทรงกลด  :  เราพยายามแยกจิตกับอารมณ์เพื่ออะไร เพื่อจะได้รู้ว่า อันไหนจิต อันไหนอารมณ์ อารมณ์ยินดียินร้ายเป็นที่มาของรัก โลภ โกรธ หลง เป็นที่มาของกิเลส  กิเลสคืออะไร ทำไมเราต้องพยายามปฏิบัติเพื่อกำจัด เพื่อละกิเลส กิเลสมีหลายความหมายเหลือเกิน บางทีก็แปลว่า เครื่องเศร้าหมองแห่งใจ ทำใจให้เศร้าหมอง ทำใจให้เป็นทุกข์ แต่ที่แปลแล้วเห็นภาพชัดเจนที่สุดน่าจะแปลว่า เครื่องร้อยรัดทิ่มแทงใจ นึกถึงหนามตำมือ ทิ่มแทงมืออยู่ มันเจ็บไหม กิเลสนี่เจ็บกว่าร้อยเท่า นึกถึงคำพูดคนที่เคยด่าเราทีไร มันเจ็บทุกที บางคนบอกว่า  วันนี้ฉันไม่มีความกังวลใจอะไรเลย นี่คือคนที่หลอกตัวเองอีกประเภทหนึ่ง เมื่อท่านได้รถคันใหม่ย่อมรู้สึกยินดี มีความสุข รถป้ายแดงโก้มากขับไปที่ไหนมีแต่คนมอง ลองตั้งสติดูดีๆ ว่ามันสุขหรือทุกข์กันแน่ เวลาไปจอดที่ไหนคอยกังวล คอยเป็นห่วงว่า จะมีคนขับรถจักรยานยนต์มาเฉี่ยวหรือถูกรถอื่นชนหรือไม่ เวลาไปกินข้าว จอดรถไว้ข้างทาง เดินออกมาก็นึกกังวลว่า ล็อกรถหรือยัง เดินกลับไปดูอีกที ความกังวลใจของคนไม่จำกัดเรื่องรถ มันมีตลอด กังวลเรื่องลูก เรื่องงาน เรื่องบ้านเมือง เรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องพ่อ เรื่องแม่ เรื่องเพื่อนร่วมงาน เรื่องลูกน้อง เรื่องสัตว์เลี้ยง เรื่องบ้าน เรื่องรถ จิปาถะ อันความกังวลนี้ เขาเรียกความไม่สบายใจ มันร้อยรัดทิ่มแทงใจอยู่ รู้สึกบ้าง ไม่รู้สึกบ้าง ก็แล้วแต่ภูมิปัญญาของแต่ละคน 

นอกจากนี้ยังมีความไม่สบายกายอีก ลองนั่งนานๆ สิ ทุกข์ไหม ทุกข์แล้วต้องเปลี่ยนท่า ภาษาธรรมะ เขาเรียก อิริยาบถบดบังทุกขัง วันนี้ร้อนมาก หิวมาก เหนื่อยมาก แต่ถ้าเราฝึกจิตแยกออกจากอารมณ์ได้ (ด้วยสติ ด้วยปัญญา) เราจะทุกข์แบบไม่ทุกข์  ทุกข์ที่ว่ามาทั้งหมดมันยังคงมีอยู่ (เพราะยังมีเวทนาขันธ์อยู่) แต่ใจไม่เข้าไปหมายมั่น แค่รับรู้ แล้วก็วาง  มันทำได้จริงๆ ผมรับรอง พระพุทธเจ้าก็รับรอง พระอริยสาวกทุกองค์ก็รับรอง หลวงปู่ดูลย์บอกว่า ท่านสามารถแยกจิตออกจากกิเลสได้ แยกจิตออกจากอารมณ์ได้ ผมบอกหลายครั้งแล้วว่า ถ้าเห็นธรรมจริงๆ จะเห็นว่า อารมณ์มีสภาพหนัก ร้อนและวุ่นอยู่  ท่านลองนึกภาพตัวเองถือดุ้นไฟที่ทั้งหนัก ทั้งร้อน แล้ววิ่งวุ่นอยู่ หรือแบกหินร้อนไว้แล้ววิ่งวุ่นอยู่ ท่านว่า คนที่ทำเช่นนั้นมันทุกข์หรือไม่ นั่นคือพวกเราที่กำลังถือดุ้นไฟ แบกหินร้อนอยู่  ที่จริงแล้วท่านที่ถามก็เหมือนจะรู้คำตอบเป็นนัยบ้างแล้ว ที่เราต้องรู้อารมณ์ไม่ใช่ว่าจะหมดรสชาติในชีวิต แต่รู้เพื่อที่จะจัดการให้มันถูกที่ ถูกทาง เมื่อรู้จักมัน ก็ให้มันอยู่ในส่วนของมัน เรา (จิต) ก็อยู่ส่วนของเรา เพียงแค่รับรู้ ไม่เข้าไปทะเลาะวิวาท หรือเอออวยด้วย (อันหลังคือที่หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนไว้)  จิตเข้าไปยุ่งกับอารมณ์เมื่อใดก็ทุกข์เมื่อนั้น คำว่า ไปยุ่ง คืออุปาทานนั่นเอง เข้าไปยึดฉวยคว้าไว้ด้วยความเห็นผิด เรายังคงรู้สึกถึงอารมณ์นั้นอยู่ เพราะยังมีชีวิต แต่รู้สึกแบบรู้เท่าทันและไม่หลงไปกับมัน 

เวลาพระบรรลุธรรมท่านจะพูดเสมอว่า อารมณ์ก็อยู่ของมัน จิตก็อยู่ของจิต ต่างคนต่างอยู่ ไม่ยุ่งเกี่ยวกัน จนกว่าจะดับขันธปรินิพพาน อารมณ์ก็หมดไปคงเหลือแต่จิต อันเป็นธาตุรู้ล้วนๆ นึกถึงคนที่ทำสมาธิแบบหนีอารมณ์ (ฌาน) เขามีความสุขมากมายเพียงใด เขาจึงติดสุขอยู่ในสมาธิแบบนี้ อันนี้ก็ทำนองเดียวกัน เมื่อแยกจิตกับอารมณ์ได้ (ด้วยสติปัญญา) มันก็สุขเหมือนกัน แต่มากกว่าหลายในแง่ทั้งการที่ไม่ต้องคอยกำหนด ไม่ต้องคอยรักษาเพราะสภาพตอนนั้นมันเป็นอสังขตธรรมคือ ไม่ปรุงแต่ง เมื่อไม่ปรุงแต่งก็ไม่เสื่อม (สังขารทั้งหลายย่อมเสื่อมไปเป็นธรรมดา สภาวะตรงนั้นอยู่เหนือสังขาร จึงเรียกว่า อสังขตธรรม) ต่างกับฌานสมาธิซึ่งเสื่อมได้เพราะคอยกำหนดปรุงแต่ง  พระพุทธเจ้าจึงหนีอาฬารดาบสมาด้วยเหตุนี้ เพราะพระองค์เห็นว่า ฌานสมาธิแบบนี้มันเสื่อมได้ มันไม่ใช่การพ้นทุกข์อย่างแท้จริง เมื่อออกจากสมาธิแบบนี้มา ภาพพิมพาและราหุลก็มาปรากฏร้อยรัดทิ่มแทงใจอยู่เพราะขณะนั้นยังเห็นผิด เห็นว่าภาพ (แท้จริงคือธรรมารมณ์) พิมพาและราหุลเป็นของเรา

คำถามต่อไป นักดนตรีจะกล้าเจริญสติหรือไม่ ต้องถามกลับว่า ระหว่างตะกั่วกับทองคำ อันไหนมีค่ามากกว่ากัน หากเห็นว่า ตะกั่วดีกว่าทองก็เล่นดนตรีต่อไป ไม่ต้องเจริญสติ มีความสุขชั่ววูบชั่ววาบอยู่กับการเล่นดนตรี   การเล่นดนตรีก็เจริญสติได้ โด เร มี ฟา ซอล ลา ซี โด เห็นอะไรหรือไม่ เสียงโดดับไป เสียงเรดังขึ้นแล้วดับไป อยู่กับการเกิดดับของเสียงดนตรีอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่เคยสำเหนียกธรรมเลย ถ้าเขาเพียงแค่เจริญสติด้วยจะเห็นว่า เสียงโดก็ไม่เที่ยง เสียงเรก็ไม่เที่ยง แล้วโยนิโสมนสิการทำใจให้แยบคาย เสียงคนด่า เสียงคนชมก็ไม่เที่ยง เสียงคนด่าคืออะไร อารมณ์ยินร้าย ทุกขเวทนา เสียงคนชม อารมณ์ยินดี สุขเวทนา สองสิ่งนี้ก็ไม่เที่ยงเหมือนเสียงโด เร มี ฟา ซอล วันไหนเล่นดีคนก็ชม วันไหนเล่นไม่ดีคนก็ด่า สองอารมณ์นี้พระบรมศาสดาบอกว่า อย่าเข้าไปหมายมั่น มันเกิดได้ก็เสื่อมได้ จิตก็ดำเนินอยู่ในทางสายกลาง ไม่หมายมั่นในอารมณ์ไม่ว่าดีหรือร้าย สุขหรือทุกข์ จิตก็จะตั้งมั่นเป็นสมาธิขณะเล่นดนตรีขึ้นได้ เมื่อตั้งมั่นก็จะเห็นธรรม 

หากเขาไม่หยุดเล่นดนตรียังคงเล่นต่อไป เอาเสียงโด เร มี มาพิจารณาว่า เสียงนี้ใช่ของเราหรือไม่ มันไม่ใช่ มันเป็นเพียงผัสสะเกิดจากลมที่เป่าเข้าไปในเครื่องเป่า ปิ๊กกีตาร์ดีดกับสาย มือตีกลอง แส้ม้าสีสายไวโอลิน ผัสสะทั้งนั้น กระทบแล้วเกิดเสียง เกิดแล้วดับ เสียงไม่ว่าจะเป็นโด เร มี ฟา ซอล ย่อมถือเป็นของเราไม่ได้เลย มันเกิดเพราะเหตุปัจจัย หมดเหตุปัจจัยก็ดับไป  อารมณ์ยินดี ยินร้ายทั้งปวงก็เช่นกัน เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง ผัสสะย่อมเกิดเป็นธรรมดา เมื่อหมดเหตุปัจจัยก็ดับไปเป็นธรรมดา อารมณ์นี้ก็เหมือนเสียงโด เร มี ฟา ซอล ลา ซี โด จะถือเป็นของเราไม่ได้เลย จิตของนักดนตรีผู้นั้นก็ก้าวล่วงสู่อนาคามีภูมิและอรหัตภูมิในที่สุด แล้วเขาก็จะวางเครื่องดนตรี วางภาระที่แบกมาทั้งชีวิตลง มุ่งหน้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ เพราะเขาได้พบความสุขที่แท้จริงแล้ว เสมือนบุรุษพบทองคำเลอค่าย่อมวางตะกั่วที่ถืออยู่ในมือ ฉะนั้น ที่ตอบนี้ไม่ได้เตรียมตัวอะไรเลย เป็นความรู้ ความเห็น ที่ออกมาเอง ขณะตอบน้ำตาแห่งความปิติก็ออกมาเอง ใครมาเห็นผมตอนนี้ คงนึกว่าบ้าแน่ 

ไม่ต้องห่วงนักดนตรีหรอกนะ เขาไปดีแล้ว ไม่ต้องห่วงว่า รู้ธรรม เห็นธรรม แล้วจะอยู่บนโลกใบนี้ไม่ได้ นางวิสาขาก็เห็นธรรมเป็นพระโสดาบัน ยังมีครอบครัว มีลูกหลานเป็นร้อย พระเจ้าพิมพิสารก็เห็นธรรม เป็นโสดาบัน ก็ยังทำหน้าที่กษัตริย์ ผมเคยบอกว่า หากบรรลุโสดาบันหรือสกิทาคามีก็ยังอยู่ในโลกได้ ไม่อันตรายมาก แต่ถ้าบรรลุอนาคามีควรแยกตัวออกไปอีกสถานะหนึ่งคือ นักบวช มิฉะนั้นคนรอบข้างจะพลอยวิบัติ ลองคิดดูถ้าท่านไปตบหัวพระอนาคามีเข้า จะบาปหนักเพียงใด  อย่างไรก็ตามขอย้ำตรงนี้ว่า หากท่านรู้ธรรม เห็นธรรม ท่านจะอยู่ในโลกได้อย่างมีความสุขสงบกว่าเมื่อก่อนเป็นอย่างมาก ไม่ต้องหนีโลกไปไหน พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้หนีโลก ท่านอยู่กับโลก แต่ใจท่านหาข้องอยู่กับโลกไม่ ท่านเห็นโลกตามความเป็นจริงแต่ใจไม่เข้าไปหมายมั่นด้วย  จะเห็นว่าโลก (ขันธ์ห้า) มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้น แก้ไขไม่ได้แต่แก้ไขที่ใจเราเองได้  จึงไม่ต้องห่วงใจของนักดนตรีหรอก ห่วงใจตัวเองดีกว่า บางทีผมแสดงธรรม บางท่านอาจจะอ่านแล้วไม่เข้าใจ คำถามนี้ให้ข้อคิดดีมาก บางท่านบอกว่า  อ่านครั้งแรกยังไม่เข้าใจ ต้องอ่านสามครั้งจึงพอจะเข้าใจ ท่านทั้งหลายก็เช่นกัน หากอ่านแล้วไม่เข้าใจ ลองอ่านดูหลายๆ ครั้ง อาจจะเห็นหรือเข้าใจอะไรขึ้นมาบ้างก็ได้  สมัยพุทธกาล (ในพระไตรปิกฎ) จะเห็นว่า เวลาพระพุทธเจ้าสอน ท่านจะพูดทวนหลายครั้ง ตอนแรกสงสัยว่า ทำไมพระองค์ต้องพูดซ้ำๆ ตอนนี้เข้าใจแล้วว่า เพื่อให้คนฟังคอยคิดโยนิโสมนสิการตาม เพื่อจะได้เห็นรูป นาม ตามความเป็นจริงนั่นเอง