ถาม-ตอบ

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานต่างกับจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานอย่างไร

แสดงธรรมกลุ่ม Natural Mind เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์  2558

ผู้ปฏิบัติ :  เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานต่างกับจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานอย่างไร

ท่านทรงกลด : เวทนานุปัสสนาเป็นแค่ความยินดี ยินร้าย พอจิตไม่รู้เท่าทัน เข้าไปยึดฉวยคว้ามาปรุงแต่ง เป็นโทสะ นั่นคือจิตปรุงแต่งแล้ว ธรรมชาติของจิตนี้ปกติเมื่อมีผัสสะ เช่น หูได้ยินเสียงด่า จะเกิดความยินร้ายก่อนเป็นทุกขเวทนา แต่ปุถุชนจิตไม่ทัน คือ ไม่เห็นก่อนคิด คว้าหมับเข้าไปฉวยคว้าปรุงแต่งเลย ความยินร้ายเข้ายึดปรุงแต่งเป็นโทสะ

ส่วนจิตตานุปัสสนาคือ ให้รู้เท่าทันจิตที่ปรุงแต่ง  ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตมีราคะก็ให้รู้ จิตมีโทสะก็ให้รู้  ไปโทสะแล้ว แต่ก็ต้องให้รู้ รู้นี่แหละคือสติ ราคะก็เหมือนกัน ตาเห็นรูปปั๊บ ความยินดีเกิดทันที เพราะเมื่อมีผัสสะ ก็ต้องมีเวทนา มันหนีไม่พ้น แม้พระอรหันต์ที่ยังไม่ดับขันธ์เรียกว่า อุปาทิเสสนิพพาน นิพพานมีเศษคือ ใจนิพพานแล้วแต่ขันธ์ยังมีอยู่ พอตาเห็นรูป เกิดความยินดีเป็นเวทนาก่อน จิตไม่รู้เท่าทันเห็นว่า ความยินดีนั่นคือเรา ของเรา คว้าปั๊บเลย มันเร็วมาก ถ้ายังไม่ได้ดวงตาเห็นธรรม ไม่มีทางทันหรอก พระพุทธองค์จึงบอก จิตมีราคะ (จิตปรุงแต่งความยินดีเป็นราคะแล้ว) ก็ให้รู้ ให้จิตอยู่กับรู้ เพราะไม่รู้เท่าทันเวทนา จิตท่านเข้าคว้าเวทนานั้นด้วยอุปาทานเพราะเห็นผิด  เห็นว่า  เวทนานั้นคือเรา ของเรา  แล้วปรุงแต่งเป็นโทสะทันที  ตอนนี้กิเลสเกิดแล้ว แล้วเราก็คิดว่า แม่งเอ๊ย ! ตอนนี้กรรมเกิดแล้ว เป็นมโนกรรม  ถ้าด่า แม่งเอ๊ย ! อันนี้เป็นวจีกรรม ถ้าลงมือเข้าต่อย  อันนี้เป็นกายกรรม กิเลส กรรม วิบาก เกิดครบ วิบากอันแรกเกิดกับใจเราทันที ใจเราขณะนั้นรุ่มร้อนเหมือนเพลิงไฟแล้วจะส่งผลต่อขันธ์ห้า เช่น ความเครียดอันเป็นนาม  จะส่งผลต่อกายคือ สารก่อมะเร็ง อันเป็นรูป

พระอรหันต์จึงไม่มีกิเลสเพราะเมื่ออารมณ์ยินร้ายเกิดก็ดับไปทันที  มันมาไม่ถึงจิต เมื่อมาไม่ถึง แล้วจิตจะเอาอารมณ์ใดมาปรุงแต่งเป็นโทสะเล่า ตอนแรกผมไม่เข้าใจหรอก มีอยู่วันหนึ่งผมเอาอารมณ์ที่เห็นมันแยกออกนั้น มาพิจารณาด้วยไตรลักษณ์ จิตเริ่มถอยห่างออกมาจากอารมณ์จนมาไม่ถึง   แต่ก็รู้ว่ามี  ตรงที่อารมณ์มาไม่ถึงนั้น สงบ สุข ยิ่งกว่าฌานอีก แต่ก็ยังไปไม่ได้ กำลังไม่พอ  อินทรีย์ยังไม่แก่กล้า ก็กลับออกไป ภายหลังไปอ่านหนังสือหลวงปู่ชา ท่านบอก มันยังไปไม่ได้ ต้องออกมาศึกษา (เป็นเสขบุคคล) ก่อน  ตรงเป๊ะเลย หลวงปู่ชาเรียกคนแบบผมว่า พระโยคาวจร  ผู้ยังเดินทางไม่ถึงที่ ผมเชื่อเลยว่า วันที่หลวงปู่มั่นบรรลุอรหันต์ใต้ต้นไม้ ท่านนั่งกราบต้นไม้ (กราบพระพุทธองค์) อยู่ตรงนั้น กราบแล้วกราบอีก ท่านบอกเวลานั้น ใครผ่านมาก็นึกว่าท่านปฏิบัติจนบ้าไปแล้ว

ก่อนจะไปถึงจิตตานุปัสสนา อย่างหยาบที่สุดที่คนทั่วไปเห็นก็คือ รูป คิดว่า รูปกายนี้เป็นเรา ของเรา เป็นมิจฉาทิฐิต้นๆ แม้บางครั้ง จะรู้สึกว่า  มันไม่ใช่เรา ของเรา แต่มันก็เป็นแค่ชั้นความคิด ยังไม่ใช่ความเห็น คิดแล้ว วันนี้เข้าใจแล้ว พรุ่งนี้เดี๋ยวก็สงสัยใหม่ เอ๊ ! ใช่หรือเปล่าน้า มันยังมีวิจิกิจฉา มันเป็นสังโยชน์อยู่ 

พระพุทธองค์จึงสอนกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เช่น การพิจารณากายโดยอาการสามสิบสองบ้าง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ให้เห็นเป็นอสุภะ เห็นเป็นธาตุ ให้เห็นอนิจจลักษณะคือ ความไม่เที่ยง พิจารณาแค่ไหน ขึ้นอยู่กับคนจะรู้เอง ว่าแค่ไหนจิตมันยอมรับ

อย่างของผม พิจารณาเห็นผมร่วงลงไปเป็นดิน ต่อหน้า (จิต) แล้วมีความรู้ผุดขึ้น (ไม่ใช่คิด) ว่า สัพเพ สังขารา อนิจจา จิตมันตอบจิตแล้ว หายสงสัยแล้ว ในเรื่องกาย แต่ไม่ได้พิจารณากายอย่างเดียว (เขาเรียกกายคตาสติ) พระพุทธองค์ท่านสอนเรื่องอานาปานสติด้วย  หายใจเข้าให้รู้  หายใจออกให้รู้  สอนเรื่องอิริยาบถ การเดิน นั่ง นอน ยืน ให้จิตอยู่กับรู้ สอนให้พิจารณาซากศพด้วย  

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีจุดหมายก็คือ ให้จิตจางคลายจากความหมายมั่นว่ากายคือเรา เราคือกาย กายเป็นของเรา   เราเป็นเจ้าของกาย ขณะเดียวกันก็ให้จิตพยามยามมาอยู่กับรู้ อยู่กับสติ ตอนนี้ถ้าเริ่มเห็นชอบแล้วว่า กายไม่ใช่เรา ของเรา แต่ยังไม่เต็มรอบของมัน แต่นี่ก็คือ มรรค เรียกว่า ยังเป็นโลกียมรรคอยู่

ผู้ปฏิบัติ : ความยินดี  ยินร้ายคือ พึงพอใจหรือไม่พึงพอใจ เป็นเวทนา ส่วนโทสะเป็นผลของมันหรือมันต้องตามมาหลังเวทนาใช่ไหม

ท่านทรงกลด : ที่ว่า  ความยินดี  ยินร้ายคือ ความพึงพอใจหรือไม่พึงพอใจเป็นเวทนานั้นถูกต้อง เหตุของความยินดี ยินร้าย คือ ผัสสะ แต่ไม่จำเป็นต้องมีผลเป็นราคะหรือโทสะเสมอไป ถ้าเป็นปุถุชน  ผลคือ  โทสะทันที

พระโสดาบัน เมื่อความยินร้ายเกิดขึ้น ผลก็คือ โทสะเหมือนกันแต่เพราะเคยเห็นแล้วว่า อารมณ์นั้นจะถือเป็นเราไม่ได้  ก็จะละแต่จะใช้เวลาพักหนึ่งจึงจะละได้   ถึงบอกว่า พระโสดาบันนี้ไม่มีความพยาบาท  ความพยาบาทคือ เมื่อมีโทสะก็ใคร่ครวญคิดแก้แค้น   พระสกิทาคามี เมื่อความยินร้ายเกิดขึ้นก็มีโทสะเช่นกัน แต่จะละได้เร็วกว่าพระโสดาบัน  พระอนาคามี  โทสะไม่มี เพราะอารมณ์ยินร้ายมาไม่ถึงจิต เกิดแล้วดับทันที ไม่เหลือเชื้อให้จิตปรุงแต่งเป็นโทสะอีกต่อไป  ส่วนพระอรหันต์ นอกจากละอารมณ์ดังกล่าวได้แล้ว ยังละ “ความเห็น” อารมณ์นั้นได้ด้วย ไปดูในสติปัฏฐานสี่ พระพุทธองค์มักจบท้ายผู้สิ้นกิเลสว่า ละตัณหาและทิฐิ   ทิฐิคือ ความเห็น ความรู้ (ญาณ) นั่นเอง  นี่ไปไกลมากแล้วนะ หลวงปู่มั่นบอก บางทีก็น่าขัน พูดในสิ่งที่เห็นให้คนไม่เห็นฟัง เหมือนอธิบายช้างให้คนตาบอด ยังไงยังงั้น แต่เพื่อเป็นการแบ่งปันจึงต้องพูด 

สุดท้ายผมจะบอกว่า สติปัฏฐานสี่เป็นหนทางทำให้เกิดสัมมาทิฐิ (ที่เป็นอริยมรรค)  มันเรื่องเดียวกันและเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นกุญแจดอกสำคัญ ทำให้สัมมาทิฐิ (ในส่วนโลกุตร) เกิดได้อย่างรวดเร็ว เป็นอัศจรรย์