เวทนาคือสุขและทุกข์

แสดงธรรม กลุ่มต้นบุญ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2558
ท่านทรงกลด : เวทนาคือสุขและทุกข์ จิตนี้ ธรรมชาติเดิม ไม่สุขไม่ทุกข์ เวทนาไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่เวทนา ออกจากสุข จากทุกข์ได้เมื่อใด จะพบจิตเมื่อนั้น และจะเห็นว่า เรานี้ไม่ใช่สุข ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่คิด เรานี่คือจิตดวงหนึ่งที่ไม่มีอะไร ว่างเปล่า บริสุทธิ์ ทุกวันนี้ พอสุขเกิด เราก็สุข พอทุกข์เกิด เราก็ทุกข์ เพราะไปยึดอุปาทานว่า สุขนั่นคือเรา ของเรา ทุกข์นั้นคือเรา ของเรา
ความเจ็บป่วย ก็เป็นเวทนาอย่างหนึ่ง เป็นทุกขเวทนา จริงๆ เป็นเวทนานอกคือ เกิดกับร่างกาย แต่เพราะเห็นผิดจิตเข้าไปยึดความเจ็บป่วยนั้น จิตก็เลยทุกข์ไปด้วย จริงๆ ถ้าเห็นธรรม จะเห็นว่า เจ็บก็เจ็บ จิตก็จิต มันคนละส่วน ความเจ็บป่วย มาแล้วก็ไป เกิดแล้วก็ดับเป็นธรรมดา ธรรมชาติของเขาเป็นอย่างนั้น มันไม่มีอะไรจะเที่ยงสักอย่าง อะไรที่ปรุงแต่งเกิดขึ้น ย่อมต้องเสื่อมต้องดับ หาแก่นสารไม่ได้ แต่เพราะขาดการอบรมสติอย่างเพียงพอ จิตจึงวิ่งเข้าจับยึดความเจ็บโดยอัตโนมัติ
คนที่ฝึกสติมาดี อาบน้ำร้อนก็ไม่ร้อน อาบน้ำเย็นก็ไม่เย็น มันเหมือนจะร้อนแต่ไม่ร้อน มันเหมือนจะเย็นแต่ไม่เย็น อาบน้ำทุกครั้ง ฝึกสติได้ทุกครั้ง ให้อยู่กับความรู้สึกตัวทั่วพร้อม อย่าไปอยู่กับความรู้สึกร้อน หรือเย็นของน้ำ นี่คือการปฏิบัติธรรม ถ้าภาวนาเป็น อยู่ที่ไหน สถานะอย่างไร แม้อยู่ในคุกก็ปฏิบัติได้ สุขเวทนาก็อย่าไปมั่นหมาย มันไม่เที่ยง ทุกขเวทนาก็อย่าไปยึดมั่น มั่นหมาย มันก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน นี่คือ ปัญญา
สติคือ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ใจอยู่กับสติ ขณะเดียวกันก็ใส่ปัญญาเข้าไป นี่เรียกว่า ธัมมวิจยะ พยายามเข้าๆ ๆ ทำเนืองๆ เรียกว่า วิริยะ เอาแค่สามอย่างนี่ก่อน เมื่อเจริญมากๆ เข้า เดี๋ยวปิติ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา ก็ตามมาเองอย่างมิต้องสงสัย หนีไม่พ้นสัมโพชฌงค์เจ็ด จริงๆ มันไม่ได้ลึกซึ้งอะไรเลย สัมโพชฌงค์นี้จะไปลึกซึ้งตอนจิตเป็นสมาธินั่นแหละ
สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ แค่นี้ก่อน นี่คือ สติปัฏฐานสี่นั่นเอง เห็นกาย เห็นลม ไม่เที่ยง นี่คือกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เห็นสุข ทุกข์ไม่เที่ยง รู้สึกตัวอยู่เนืองๆ ไม่ไปอยู่กับสุข กับทุกข์ นี่คือเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ให้จิตอยู่กับรู้ มีราคะก็รู้ โทสะก็รู้ ฟุ้งซ่านก็รู้ นี่คือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เมื่อทำอย่างนี้ มันก็เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานอยู่ในตัว
สัมโพชฌงค์ก็อยู่ในธัมมา ขันธ์ห้า สุข ทุกข์ รูป กาย ก็อยู่ในธัมมา ตาเห็นรูป เกิดความยินดี ยินร้ายบ้าง นั่น อายตนะหกทำงาน เกิดผัสสะ เกิดเวทนาอีกแล้ว นี่ก็ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เห็นความยินดี ความยินร้าย สุข ทุกข์ ไม่เที่ยง นี่คือเห็นชอบ สัมมาทิฐิ นี่คือมรรคมีองค์แปด เห็นจิตปรุงแต่งออกมาเป็นนาม เป็นนั่นเป็นนี่ เป็นอารมณ์ต่างๆ จิตเข้าไปยึดมั่นหมาย เกิดภพ เกิดชาติ ชรา มรณะ นี่คือปฏิจจสมุปบาท นี่ก็เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน มันสอดคล้องกันไปหมด ถ้ารู้ถ้าเห็น ไม่ต้องไปคอยท่องจำ กำหนดอะไรหรอก ขอให้เห็นสักครั้งหนึ่งเถิด เมื่อฟังธรรม หรือพิจารณาตามเห็นตามจริง มันจะเกิดปิติ
ในสมัยพุทธกาล เวลาพระสาวกฟังพระพุทธเจ้าก็จะเป็นอย่างนี้ เมื่อส่งกระแสจิตตามไปเห็นตามเป็นจริง ขณะนั้น ก็จะเกิดสติ เกิดปัญญา ฟังต่อเนื่องตามไปไม่ขาดสาย นี่คือ วิริยะ ผล output ก็คือ ปิติ เมื่อฟังต่อไปๆๆ ปิติจะระงับ เกิดปัสสัทธิ แล้วต่อไปจะเกิดสมาธิ เป็นสัมมาสมาธิ ตรงนี้ จะเห็นธรรม จะเห็นรูปนามตามความเป็นจริง พอฟังต่อไปๆ อีก จิตจะหลุดพ้นๆ ไปตามลำดับ เป็นอนาคามี หรืออรหัตผล นั่นคือจิตจะแยกออกจากเวทนาได้เด็ดขาด เหมือนหลวงปู่ดูลย์ แยกจิตออกจากความเจ็บป่วยได้เด็ดขาด นั่นเอง ที่เราปฏิบัติๆ อยู่ แท้จริงก็คือ สัมโพชฌงค์เจ็ดนี่แหละ มันซ่อนอยู่ในตัว พระพุทธเจ้าตรัสว่า องค์ธรรมแห่งการตรัสรู้ธรรม ก็คือ สัมโพชฌงค์เจ็ด ไม่หนีไปจากนี้หรอก