เมื่อใจสัมผัสธรรมารมณ์ย่อมมีเวทนาตามมา

แสดงธรรม กลุ่ม Natural Mind เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2558
ท่านทรงกลด : บางคนปฏิบัติมาสามสี่สิบปี ยังไม่รู้ไม่เห็นอะไรเลย แสดงว่า มันต้องมีอะไรผิดอยู่แหงๆ ก็พระพุทธเจ้าท่านรับรองแล้วว่า หากปฏิบัติถูก อย่างเร็วเจ็ดวัน อย่างกลางเจ็ดเดือน อย่างช้าไม่เกินเจ็ดปี จะต้องได้รู้เห็นธรรมแน่ๆ ไม่เชื่อพระพุทธเจ้าแล้วเราจะเชื่อใคร
วันๆ ก็ให้มีสติรู้เท่าทันอารมณ์บ้าง เผลอบ้าง มีสติบ้างก็ไม่เป็นไร กลางคืนเดินจงกรมให้รู้สึกตัว พิจารณากายบ้าง อานาปานสติบ้าง นั่งสมาธิพิจารณากายบ้างหรือจะใช้พุทโธก่อน พอจิตสงบ อย่าให้ดิ่งรวมลงไป เอาความสงบตรงนั้นมาพิจารณากาย พิจารณาอารมณ์ ให้เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำแบบนี้ทุกวันๆๆ อะไรจะเกิดขึ้นท่านรู้ไหม สติปัญญามันจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แรกๆ ท่านไม่รู้สึกตัวหรอก ท่านจะเริ่มเห็นผล เวลาท่านมีโทสะ จิตท่านจะเริ่มรู้เท่าทันอัตโนมัติ โดยไม่ต้องกำหนด
บางท่านไลน์มาขอบคุณผมว่า ตอนนี้เริ่มเห็นโทสะชัด รู้เท่าทันโทสะ ไม่แสดงอาการตาม เพราะเอาวิธีสติรู้เท่าทันอารมณ์ระหว่างวันไปใช้ น่าอนุโมทนามากๆ เพราะท่านเริ่มจะเห็นเหมือนผมก่อนที่จะ “เห็น” จริงๆ แล้ว เป็นอาการของจิตที่เริ่มจะมีกำลังของสติที่อบรมมาพอควร
โทสะหรืออารมณ์ไม่พอใจ ไม่มีใครไปดับมันได้หรอก เมื่อมีคนด่า หูได้ยินเสียง (อายตนะภายนอกกับภายในกระทบกัน) ย่อมต้องเกิดเวทนาอย่างแน่นอน ห้ามไม่ได้ ลองเอามือตีแขน (กายสัมผัสโผฏฐัพพะ) ย่อมต้องเจ็บ เกิดทุกขเวทนาตามมาอย่างแน่นอน ห้ามไม่ได้
หลวงปู่เหรียญกล่าวไว้ว่า เราดับทุกข์ไม่ได้ หากยังมีขันธ์ทำหน้าที่ของมันอยู่ อารมณ์ไม่พอใจก็เหมือนกัน เราจะไปห้ามไม่ให้เกิดไม่ได้ ธรรมชาติเป็นอย่างนั้น เมื่อประสบกับสิ่งไม่น่ายินดี ไม่ว่ารูปหรือเสียง ย่อมต้องเกิดอารมณ์ไม่พอใจเป็นธรรมดา มีแต่เราจะรู้เท่าทันหรือไม่ เมื่อรู้เท่าทันมันก็ดับไป จริงๆ มันเกิดแล้วก็ดับของมันอยู่อย่างนั้น แต่เรา (จิต) ไม่ยอมให้มันดับต่างหาก ไปเติมเชื้อปรุงแต่งต่อ เมื่อไม่แสดงอาการตามมัน โทสะก็ดับไป เมื่ออบรมเช่นนี้เนืองๆ (ด้วยความเพียร ต่อเนื่อง) อะไรจะเกิดตามมา จิตจะค่อยๆ หยุดอาการ ไม่แสดงอาการตามมัน หมายความว่า จิตจะไม่เที่ยวไล่คว้าฉวยโทสะมาปรุงแต่งเหมือนแต่ก่อน ท่านใช้คำว่า “ไม่แสดงอาการตาม” เหมือนถ้อยคำธรรมดา แต่ไม่ธรรมดา
ไม่ธรรมดาอย่างไร โปรดฟัง การใช้คำพูดของท่านออกมาจากจิต เหมือนปกติ แต่นี่คือ ภาษาธรรมที่ไพเราะที่สุด ปกติคนทั่วไปเมื่ออารมณ์เกิด ก็จะแสดงอาการตาม อาการที่แสดงในเริ่มแรกคือ อาการของจิต จิตที่แสดงอาการ เรียกว่า กิริยา (กิริยาแปลว่า การกระทำ) ของจิต กิริยาของจิตก็คือ เจตสิกนั่นเอง
พระพุทธเจ้าสอนพระอภิธรรมอยู่สามเรื่องคือ จิต เจตสิก และนิพพาน เมื่อใดที่หยุดกิริยาของจิตได้ เมื่อนั้นนิพพาน หยุดการปรุงแต่งของจิต ทีนี้โดยปกติ เมื่อจิตแสดงอาการคือเป็นกิริยาของจิตแล้ว มันก็จะส่งผลให้เกิดกิริยาของกายคือกรรมตามมา เมื่อมีกรรมก็มีวิบากคือผลแห่งกรรม ดังนั้นการมีสติรู้เท่าทันอารมณ์เท่ากับจิตมาอยู่กับสติ จิตไม่ปรุงแต่ง ไม่แสดงอาการ อารมณ์ก็สักแต่อารมณ์ เกิดแล้วดับไปเป็นธรรมดา เมื่อจิตไม่ปรุงแต่ง ไม่คว้าฉวยอารมณ์มาปรุงแต่ง แสดงอาการเป็นนั่น เป็นนี่ ตัณหาก็ไม่เกิด ก็ตัณหาคือเหตุแห่งทุกข์ เป็นสมุทัย นั่นเท่ากับท่านละทุกข์ได้แล้ว เมื่อจิตท่านเริ่มไม่แสดงอาการตามคือ ไม่สร้างกิริยาอะไรขึ้นมา ท่านลองนึกถึงคนที่ไม่มีกิริยา คนนั้นเป็นอย่างไร คนที่ไม่แสดงกิริยาอาการคือ คนที่หยุดนิ่งอยู่กับที่
จิตก็เหมือนกัน เมื่อเริ่มรู้เท่าทันอารมณ์ เริ่มไม่แสดงอาการ จิตจะเริ่มหยุดๆๆๆๆ จนวันหนึ่ง จิตของท่านนั้นจะตั้งมั่นเกิดสัมมาสมาธิ แยกจิตออกจากอารมณ์ (พระไตรปิฎกบอกว่า จิตพรากออกจากขันธ์ ขันธ์พรากออกจากจิต) เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิก็จะเห็นขันธ์ห้า รูปนาม อารมณ์ ตามความเป็นจริงว่า จะถือเป็นเรา เป็นเขาไม่ได้ จะถือเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่ได้ ละสักกายทิฏฐิได้ วิจิกิจฉาได้ สีลัพพตปรามาสได้ เป็นพระอริยบุคคลเบื้องต้นในพระพุทธศาสนา เป็นบุตรของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง ผู้ใดเห็นทุกข์ (อารมณ์) ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นจิต ผู้นั้นเห็นธรรม เขาจะเห็นทั้งจิตและทุกข์พร้อมกัน ปิดอบายได้ ไม่ต้องกังวลเรื่องภพชาติที่จะไปเกิดใหม่ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานๆ เพราะปิดอบายภูมิได้
คำเตือน! มีนักปฏิบัติหลายคน พอปฏิบัติมาได้ขนาดจิตเริ่มรู้เท่าทันอารมณ์ เห็นอารมณ์โทสะดับไปต่อหน้าต่อตา ก็ไปถามพระอาจารย์ชื่อดัง พระอาจารย์ก็บอกว่า อ้าว! นี่มันได้นามรูปปริเฉทญาณแล้วนี้ เป็นโสดาบันแล้ว แล้วหยุดอยู่แค่นั้น อันนี้น่าเสียดายมากๆ คิดว่าตนเองเป็นพระโสดาบันแล้วก็หยุด พอแล้ว ไม่ปฏิบัติต่อ พอใจแค่นี้แหละ ไม่ต้องการอะไรอีกแล้วในชาตินี้ ไม่เกินเจ็ดชาติก็ต้องบรรลุอรหัตผล
การเห็นอารมณ์ไม่ว่าดีหรือร้ายดับไปต่อหน้า เป็นเพียงเริ่มต้นเท่านั้น จิตเริ่มเห็นแต่ยังไม่ตั้งมั่น เหมือนเด็กหัดเดินยังยืนไม่ได้ พอจะยืนได้ยังล้มอยู่ยังยืนตั้งมั่นไม่ได้ เพราะกำลังขา (คือสติ) ยังไม่แข็งแรงพอ การเห็นจะต้องขาดเหมือนตาเห็นรูป อย่างที่หลวงปู่ดูลย์ว่า พอเห็นแล้วจะหายสงสัยว่า อะไรคือจิต อะไรคืออารมณ์ เหมือนอย่างที่หลวงปู่ชาบอก เถียงกันเรื่องเป็ด เรื่องไก่ โดยที่ยังไม่เห็นของจริงว่า อะไรเป็ด อะไรไก่ ต่อเมื่อได้เห็นเป็ดคือเป็ด เห็นไก่คือไก่ ต่อไปใครมาบอกว่าไก่คือเป็ด เป็ดคือไก่ ก็ไม่เชื่อ เพราะเห็นแล้วว่าอะไรคือเป็ด อะไรคือไก่ เรื่องเป็ดๆ ไก่ๆ นี่ ตอนแรกผมก็งงกับหลวงปู่ชานะ คิดในใจ เอ! หลวงปู่สอนอะไร เป็ดๆ ไก่ๆ พอเห็นจึงเข้าใจ ต่อไปใครเอาเป็ดมาแล้วบอกว่านี่คือไก่ เอาไปเชือดคอก็ต้องบอกว่านั่นมันเป็ดไม่ใช่ไก่
พระโสดาบันก็เช่นเดียวกัน มีคนมาบอกว่า รูปนาม ขันธ์ห้า อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดทั้งปวงคือจิต ท่านก็ไม่มีวันเชื่อ เอาท่านไปเชือดคอ ท่านก็ไม่เชื่อ เพราะท่านเห็นแล้วนี่ว่า อะไรคือจิต อะไรคืออารมณ์ ดังนั้นการมีสติรู้เท่าทันอารมณ์ในระหว่างวันจึงสำคัญมาก บางทีนั่งเฉยๆ ก็มีอารมณ์ได้ เพราะอะไร เพราะว่าขณะนั่งเฉยๆ ใจไม่ได้เฉยไปด้วย มีผัสสะคือ สัมผัสกับธรรมารมณ์อยู่ตลอดเวลา ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นสัมผัสรส กายสัมผัสโผฏฐัพพะ ใจสัมผัสธรรมารมณ์ เมื่อมีผัสสะย่อมมีเวทนาตามมา มีอารมณ์ไม่ว่าดีหรือร้ายตามมา
การปฏิบัติ เดิน ยืน นั่ง นอน ให้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม นั่งสาธยายอาการสามสิบสอง ผม ขน เล็บ ฟัน หนังบ้าง หายใจเข้าให้รู้ หายใจออกให้รู้ เอาแค่นี้แหละ นี่คือ การเพาะบ่มสติ สมาธิ ปัญญา ทั้งสิ้น อย่างการพิจารณากายนี่ให้เห็นความไม่สวยงามของมัน (อสุภะ) เห็นอนิจจัง เห็นโทษ (อาทีนวะ) อารมณ์ยินดีหรือยินร้ายเกิดก็ให้เห็นเป็นอนิจจัง เป็นโทษของมันทั้งสองอย่าง ยินดีก็ทำให้ฟุ้ง ยินร้ายก็ทำให้โกรธ ร้อน ไม่ดีสักอย่าง ทิ้งทั้งสองอย่าง ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ นี่แหละทางสายกลาง เอาแค่นี่แหละ
ผมสอนหนังสือกฎหมาย ครั้งหนึ่งผมอยากรู้ว่า เด็กปีสี่จะสนใจธรรมะหรือไม่ ก็หยิบปากกาขึ้นมา ชูมันขึ้นเหนือศีรษะแล้วทิ้งลงบนโต๊ะ เสียงดังตึ้ง แล้วผมก็ถามว่า เสียงที่ดังเมื่อสักครู่นี่ดับไปแล้วหรือยังอยู่ ทุกคนก็บอกว่า มันก็ดับไปแล้วสิอาจารย์ เงียบทั้งห้อง ผมก็บอกว่า แล้วทำไมเสียงนั้นยังดังในหัวของพวกเธอ ตกลงมันดับไปจริงๆ หรือยังอยู่ แล้วผมก็โยนใหม่ เงียบ นั่นแหละ (ผมบอกต่อ) เสียงเพื่อนที่ด่าเธอเมื่ออาทิตย์ก่อน เมื่อวานก่อน หรือเมื่อเช้านี้ มันก็เหมือนเสียงปากกาที่หล่นลงพื้นโต๊ะเมื่อสักครู่นี่แหละ มันดับไปแล้วเหมือนกัน แล้วทำไมพวกเธอยังโมโหเพื่อนคนที่ด่าเธออยู่ พวกเธอไปเที่ยวไล่คว้าสิ่งที่ดับไปแล้ว เธอเพี้ยนหรือเปล่า หรือว่าอาจารย์เพี้ยนที่สอนเธอแบบนี้ (เด็กๆ หัวเราะ) ต่อมาก่อนสอนกฎหมาย ลูกศิษย์ก็บอกว่า อาจารย์สอนธรรมะก่อนดีกว่า น่าสนใจดี ผมก็ไม่สอนอะไรมาก สอนตา สอนหูนี่แหละ อิธป อิธัปอะไรนี่ไม่เคยสอนเลย ห้องนี้ได้ธรรมไปมาก เลยตั้งข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า จริงๆ คนสนใจธรรมะมาก แต่เห็นเป็นของยากเกินมนุษย์จะทำได้เลยไม่สนใจ อย่างมากก็ทำบุญ ทำทาน รักษาศีล ง่ายดี ซึ่งน่าเสียดายจริงๆ
ถ้าพระพุทธเจ้ามาเห็นพระสอนธรรมะในปัจจุบันคงไล่ตะเพิดหมด สอนอะไรคนฟังฟังไม่รู้เรื่อง พระองค์ไม่ได้สอนอะไรมาก สอนหู สอนตา สอนกายที่มีอยู่ทุกคนแล้ว ให้เห็นตามความเป็นจริง พระองค์สอนแค่นี้แหละ พอคนเขา “เห็น” แล้ว ไม่ต้องสอนมาก บางคนบอก พระพุทธเจ้าสอนอะไรยากๆ สอนนิพพาน สอนเจตสิก สอนปฏิจจสมุปบาท อย่างนี้ ไม่เอาดีกว่า น่าเบื่อ จริงๆ พระองค์สอนไปตามลำดับขั้นตอน แต่คนในปัจจุบันนี้ไปเอาหัวมาสอนหาง เอาหางมาสอนหัว เลยวุ่นไปหมด คนสมัยนี้จึงไม่ค่อยรู้เห็นธรรมกัน แล้วพากันปรามาสคำสอนของพระพุทธเจ้า น่าสังเวชใจจริงๆ
บางคนก็เอาไอน์สไตน์ไปเปรียบเทียบกับพระพุทธเจ้า ไอน์สไตน์พบพระพุทธเจ้า อันนี้น่าสังเวชใจหนัก มันคนละชั้นกันเลย เหมือนเอามดไปเทียบกับช้าง ไอน์สไตน์ได้แค่ฌานแล้วมีกำลังสมาธิไปเห็นปรมาณู จึงมาเขียนกฎสัมพันธภาพ สิ่งที่เขาเห็นคือนิมิตแต่ไม่รู้จะเรียกอะไร เลยเรียกสิ่งที่เห็นว่า จินตนาการ (Imagination) มาจากคำว่า Image แปลว่า ภาพ ภาพพจน์ แล้วก็บอกว่า จินตนาการสำคัญกว่าความคิด เพราะขณะที่เห็น ความคิดมันหมดไป คงมีแต่นิมิต (ที่เกิดจากจิตที่สงบจากอารมณ์ ความคิด) แต่เขาก็มีคุณต่อพุทธศาสนาอยู่บ้าง เพราะก่อนตาย (เขาเป็นคนไม่นับถือศาสนา) เขาบอกว่า ถ้าจะให้เขานับถือศาสนา ศาสนาที่เขาจะนับถือคือ ศาสนาพุทธ ทำให้ฝรั่งชาวตะวันตกฉงนว่า เอ! พุทธศาสนามีดีอะไร ทำไมไอน์สไตน์จึงพูดเช่นนั้น เลยพากันสนใจศาสนาพุทธกัน ว่ากันว่า เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ของไอน์สไตน์มีพียงกระดาษกับดินสอเท่านั้นเอง ส่วนความเห็นที่ว่า ไอน์สไตน์เห็นปรมาณูอย่างไรเป็นความเห็นส่วนตัวผมนะครับ