ถาม-ตอบ

เมื่อเปลี่ยนที่อยู่ของใจได้คือความอัศจรรย์ของจิต

แสดงธรรมกลุ่ม Natural Mind เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2558

 

ท่านทรงกลด : ที่อยู่ของใจที่แท้จริงของเราคืออะไร ทุกวันนี้ ที่อยู่ของใจเราอยู่ที่ไหนกัน  อยู่ที่ลูก สามี ภรรยา บ้าน รถ ที่ดิน เงินทอง ตัวเลขในบัญชี อยู่ที่ยศถาบรรดาศักดิ์ ตำแหน่งหน้าที่การงาน อยู่ที่เสื้อผ้าสวยๆ สร้อยคองามๆ แหวนเพชรวงโต อยู่ที่ละครหลังข่าว อยู่ที่เพื่อนคนนั้น คนนี้ อยู่ที่อาหารมื้ออร่อย ไวน์ขวดแพงๆ อยู่ที่ชื่อเสียงเกียรติยศ อยู่ที่คนนั้น คนนี้  หรืออยู่ที่คำพูดของคนนั้น คนนี้

ที่อยู่ของใจของเราส่วนใหญ่ อยู่เสียข้างนอกทั้งนั้น ตรงนั้นไม่ใช่ที่อยู่ของใจที่แท้จริง อย่างที่เคยเอาคำสอนของหลวงปู่ชามาแสดง ท่านสอนพระฝรั่งรูปหนึ่งว่า อย่าฝากหัวใจไว้กับคนอื่น อย่าไปคาดหวังคนอื่น  ผมนี่ตั้งแต่เห็นอะไรเป็นอะไร มันเลิกคาดหวังคนไปโดยอัตโนมัติ อย่าไปคิดว่า คนนั้นจะต้องดีกับเราอย่างนั้น อย่างนี้ ทำไมคนนั้นทำกับเราอย่างนี้ ทำไมคนนี้ทำกับเราอย่างนั้น แต่ก่อนก็เป็นแบบนี้แหละ เหมือนคนบ้า เที่ยวไล่ไขว่คว้าว่า คนอื่นจะต้องดีกับตน เหมือนที่ตนดีกับเขา บอกได้เลยว่า คนเรานี้ไม่ว่าใครทั้งสิ้น เป็นอะไรที่คาดหวังไม่ได้เลยแม้แต่นิด เพราะคาดหวังจึงผิดหวัง เมื่อไม่คาดหวังก็ไม่มีอันต้องผิดหวังก็เท่านั้นเอง  เราเองยังคาดหวังตัวเราไม่ได้เลยว่า จะต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้  คนส่วนใหญ่ทุกข์มากเพราะไปคาดหวังเพื่อน คาดหวังคนรอบข้างว่าจะต้องดีกับเราอย่างนั้น อย่างนี้ เมื่อรู้เห็นธรรมจะเห็นชัดแจ้งประจักษ์ใจเลยว่า คนเรานี้ไม่สามารถคาดหวังได้ ถ้าเห็นว่า คนเรานี้คาดหวังอะไรไม่ได้ มันก็เลิกเอาใจไปอยู่กับคนนั้น คนนี้โดยปริยาย 

ทำไมผมจึงกล่าวว่า คนทุกคนไม่สามารถคาดหวังอะไรได้ เพราะคนก็เป็นสังขารอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง  ถ้าเห็นธรรม จะเห็นชัดว่า คนเรานั้นประกอบไปด้วยรูปและนาม รูปนี้ก็ปรุงแต่งขึ้นมาจากธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ส่วนนามคือ อารมณ์ทั้งปวง ความรู้สึกนึกคิดทั้งปวงก็ปรุงแต่งขึ้นมาจากจิตที่ว่างทั้งสิ้น อะไรที่ปรุงแต่ง พระบรมศาสดาสอนย้ำเสมอว่า ย่อมมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา หมายความว่า อะไรที่ปรุงแต่งย่อมไม่เที่ยง ไปคาดหวังสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้ หาแก่นสารอะไรไม่ได้ นี่แหละคือเหตุแห่งทุกข์ล่ะ ที่เราทุกข์ ๆ และทุกข์อยู่ทุกวันนี้ไม่ใช่ใดอื่นเลย  เพราะไปคาดหวัง หมายมั่นในสิ่งที่ไม่เที่ยงทั้งนั้น 

ลองพิจารณาดูเถิด ไม่ต้องดูอื่นไกล อารมณ์เรานี่เที่ยงแท้หรือไม่ เมื่อเช้าอารมณ์ดีอยู่ ตอนนี้แย่แล้ว อารมณ์เรายังไม่เที่ยงแท้เลย แล้วจะไปคาดหวังกับอารมณ์คนอื่นว่า จะดีต่อเราเสมอได้อย่างไร วิ่งตามอารมณ์ตัวเองก็เหนื่อยพอแล้ว ยังเที่ยววิ่งตามอารมณ์คนอื่นอีก  ทุกวันนี้คนทั่วไปก็เป็นแบบนี้แหละ เที่ยววิ่งตามอารมณ์คนนั้น คนนี้ เราจึงทุกข์อยู่ตลอดเวลา ใจไม่เคยอยู่กับตนเองเลย ไปอยู่กับอารมณ์ อยู่กับคำพูดคนอื่นเสียหมด

พระบรมศาสดาจึงสอนว่า ดึงใจกลับมาเสีย กลับมาอยู่กับสติ สติปัฏฐานก็คือ ฐานที่ตั้งของสติ เอาจิตมาอยู่กับสติ มาระลึกรู้ในกาย ในลมหายใจ ในอิริยาบถ รู้เท่าทันอารมณ์ทั้งปวงเสีย เปลี่ยนที่อยู่ของใจเสีย อย่างพระองค์สอนเรื่องกายคตาสติ ใช้สติระลึกรู้อยู่ภายในกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ตับ ไต เลือด หนอง อาหารเก่า อาหารใหม่  ก็เพื่อให้เห็นว่า เมื่อดึงจิตกลับมาอยู่กับสติคือ  การระลึกรู้อยู่ในกายจนจิตสงบ เห็นกายตามความเป็นจริงว่า เป็นเพียงสักแต่ว่าธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ประชุมกันเท่านั้น เป็นของไม่สะอาด ไม่เที่ยง หาสาระแก่นสารไม่ได้  เมื่อเห็นกายอย่างชัดแจ้งอย่างนี้ ผมท้าได้เลยว่า จิตของท่านที่เคยวิ่งไปอยู่กับคนนั้น คนนี้ เที่ยวไปคาดหวังคนนั้น คนนี้ มันจะชะงักลงทันที จะเริ่มหยุดส่งจิตออกนอก  เพราะว่าจิตมันเห็นแจ้งแล้วว่า กายเราที่เคยเที่ยววิ่งไปซุกคนนั้นที คนนี้ที มันไม่มีอะไร ตรงไหนที่เรียกว่า ขน ผม เล็บ ฟัน สมอง หรือแยกออกมาดูทีละอย่างๆ ตรงไหนที่เรียกว่านายนั้น นายนี้  หนัง เลือด น้ำเสลด น้ำมูตรเหรอ ช่วยตอบทีว่า ตรงไหนคือคนนั้น คนนี้  นายนั้น  นายนี้ นางนั้น  นางนี้   

หรือว่า… คนนั้น  คนนี้อยู่ที่ลมหายใจ เพราะมีลมจึงมีเรา หมดลมก็หมดเรา แสดงว่า เรานี้ตายเกิดอยู่ตลอดเวลา เพราะหายใจเข้าออกตลอดเวลา  หากเห็นว่า ลมหายใจคือนายนั่น  นายนี่จะยิ่งไปกันใหญ่ เพราะลมมันหาตัวตนไม่ได้ มีใครบอกได้บ้างว่า ลมมีหน้าตาอย่างไร คนคนนี้ก็เป็นเพียงสักแต่การรวมตัว ปรุงแต่งของธาตุขึ้นมาเท่านั้น เมื่อเราตีแผ่ แยกย่อยออกมาด้วยกายคตาสติ เราจะเห็นชัดเลยว่า ความเป็นคนมันไม่มี  ไปคาดหวัง หมายมั่น ในสิ่งที่ไม่มี เรานี่บ้ากันหรือเปล่า เราต้องพิจารณากายจนจิตสงบ แล้วมันจะเห็นปรากฏชัดขึ้นในจิต  จิตก็จะคลายความยึดมั่นในกายลงไปเรื่อยๆ จนหมด แล้วจะมีสัญญาณปรากฏขึ้นในจิตว่า มันหมดจริงๆ  ยิ่งพิจารณาเห็นความเป็นจริงของกายได้มากเท่าใด ใจก็ผ่องใสขึ้นมากเท่านั้น เป็นการผ่องใสเพราะเห็นตามความเป็นจริง ผ่องใสด้วยปัญญา ยิ่งเห็นความเป็นจริงมากเท่าใด ใจก็เลิกเที่ยวไปคาดหวังคนนั้น คนนี้เองโดยไม่ต้องบังคับ 

บางทีเราคิดถึงใครคนหนึ่งเหลือเกิน ห้ามมันบอกว่า เขาทำกับเราแสบขนาดนี้ ยังจะคิดถึงเขาอยู่อีกเหรอ ถ้าเป็นทางโลก เขาจะสอนว่า ก็พยายามมองให้เห็นความไม่ดีของคนคนนั้นมากๆ จิตจะได้เลิกคิดถึง เชื่อเถอะ มันก็ยังคิดถึงอยู่นั่นแหละ ใจก็ยังวนเวียนอยู่ตลอด แต่ถ้าพิจารณากายจนเห็นความเป็นจริงปรากฏขึ้นในใจ ผมยืนยันว่า มันจะเลิกคิดไปโดยปริยาย อาจจะมีภาพคนนั้นปรากฎขึ้นมา แต่ขอให้รู้เท่าทันว่า เป็นเพียงรูปสัญญา (สัญญาคือ ความจำได้หมายรู้ มันทำหน้าที่ของมัน ไม่มีอะไรหรอก) พอภาพคนนั้นปรากฏ เราเห็นแล้วนี่ว่า คนที่แท้มันไม่มี สักแต่ว่าธาตุประชุมกัน ใจมันก็วางลงทันทีที่ภาพปรากฎ ไม่มีการปรุงแต่ง ต่อเติม วุ่นวายเหมือนเมื่อก่อน  ซึ่งปรากฏการณ์แบบนี้ผมเรียกว่า อารมณ์ค้าง ซึ่งหลายท่านไม่เชื่อว่ามันจะเป็นไปได้  ผมยืนยันว่า มันเป็นไปได้จริงๆ เวทนา สัญญา สังขาร อันนี้ก็เป็นอารมณ์ เวทนาค้าง สัญญาค้าง สังขารค้าง มันค้างเติ่งอยู่อย่างนั้น เงื้อง่า พอเราไม่เอาด้วยเพราะรู้ทัน มันก็จะเก้อเขิน สลายตัวไปในพริบตา ไอ้ที่จะฉวยคว้ามันมาคิดปรุงแต่งต่อให้เป็นเรื่องราวรกสมองเหมือนแต่ก่อน มันก็จะหมดไปโดยปริยาย ที่อยู่ของใจที่แท้จริงก็คือ สตินี่แหละ การระลึกรู้ในกายก็เป็นกายคตาสติ ที่อื่นไม่ใช่ที่อยู่ที่แท้จริง  มันอยู่ประเดี๋ยวประด๋าวเท่านั้นเอง

อย่างเรามีลูก มีภรรยา มีสามี มีพ่อ มีแม่ ใจเราก็ไม่ไปไหนหรอก วนเวียนอยู่กับเขาตลอด เป็นเรื่องน่าสลดใจว่า ใจเรานี่อยู่กับเขาตลอด แต่เราไม่รู้เลยว่า ใจเขาจะอยู่กับเราหรือไม่ แต่ถ้าเราเห็นว่า แม้ลูกก็ไม่เที่ยง ไม่เที่ยงทั้งรูปและอารมณ์ ภรรยา สามี พ่อ แม่ ก็ไม่เที่ยง ต้องเสื่อม ต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เป็นอนิจจังอยู่ตลอด ทั้งกายและอารมณ์  ใจเราที่เคยอยู่กับเขาตลอดเวลา จะเริ่มหวั่นไหวสั่นคลอน ได้สติขึ้นมา   หรือใจเรามันจะวิ่งไปจับคำพูดคนนั้นคนนี้ แม้คำพูดคนก็ไม่เที่ยง วันนี้สรรเสริญ พรุ่งนี้ก็นินทา คำพูดคนไม่ว่าดีหรือร้าย มันก็แค่นั้น อย่างนั้นแหละ ไม่มีสาระแก่นสารอะไรหรอก อย่าไปหมายมั่นเลย ทำอะไรอย่างหนึ่ง ถ้าเขาชอบใจ ก็ชม ไม่ขอบใจก็ติว่า หรือเฉยๆ ไป  มันก็มีแค่นี้แหละ อย่าเอาใจไปผูกไว้กับคำพูดคนนั้นคนนี้เลย  เพราะคำพูดคนก็ออกมาจากอารมณ์ที่ปรุงแต่งขึ้นมาจากจิตที่ว่างเปล่า มันไม่มีอะไรเที่ยงสักอย่าง ถ้าคนที่ภาวนาจนเห็นจิตว่างจะเข้าใจไม่ยาก เขาคนนั้นจะรู้ทันทีว่า อารมณ์ทั้งปวงมาจากจิตที่ว่างนี่เองที่ปรุงแต่งขึ้นมา เมื่อปรุงแต่งก็เสื่อมดับไปสู่ความว่างเหมือนเดิม นี่ไง พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตาคือ หาแก่นสารตัวตนไม่ได้ เกิดจากความไม่มีอะไร แล้วเสื่อมดับกลับไปสู่ความไม่มีอะไร

เคยเดินเข้าไปซื้อของร้านสะดวกซื้อไหม พอเดินเข้าไป ประตูเปิดออกอัตโนมัติ แล้วจะมีเสียงประตูดังเป็นเสียงดนตรี  เดิมเสียงมีไหม ไม่มี พอมันดังขึ้น มันจึงมี  ตั้งอยู่ไม่นาน มันก็ดับไปสู่ความไม่มีเหมือนเดิม นี่แหละอนัตตา ไปหมายมั่นในสิ่งที่ไม่มี มันจึงทุกข์  อารมณ์ก็เหมือนกัน ถ้าภาวนาจนจิตว่าง จะเห็นว่า ธรรมชาติเดิมของจิตคือ ว่าง อารมณ์ปรุงแต่งขึ้นมาจากจิต แล้วจิตก็หลงสิ่งที่ปรุงแต่งว่า เป็นตัวเป็นตน ทั้งๆ ที่เนื้อแท้เดิม มันไม่มีอะไร มันว่าง จิตมันว่าง พอปรุงแต่ง ก็เป็นกิริยาของจิต อาการของจิต (ภาษาอภิธรรมเรียกว่า เจตสิก) หลวงปู่ดูลย์เรียกว่า พฤติของจิต ท่านสอนว่า เมื่อรื้อถอนพฤติของจิตจนหมดสิ้น ก็จะเหลือแต่ความบริสุทธิ์ซึ่งมีอยู่ประจำแล้วทุกคน

เมื่อตอนต้นได้พูดถึงที่อยู่ของจิตมักจะอยู่กับคนนั้น คนนี้ เมื่อเราหันมาพิจารณากายจนเห็นชัดแจ้งว่าไม่มีอะไร จิตก็เริ่มเดินทางกลับบ้าน กลับมาอยู่กับตนเองมากขึ้น ใกล้ความบริสุทธิ์มากขึ้น หรือการเอาจิตมาระลึกรู้ลมหายใจเข้าออกก็เป็นการดึงจิตกลับมาอยู่กับตนเองอย่างหนึ่ง แท้จริงลมหายใจก็คือกายนั่นเอง หายใจเข้ารู้ หายใจออกรู้ 

หลักการที่พระองค์วางไว้คือ พยายามดึงจิตให้กลับมาอยู่กับสติให้มากที่สุด สติก็คือ ความระลึกได้ในลักษณะรู้สึกตัวทั่วพร้อม เมื่อเราหายใจเข้าลึกๆ เราก็จะรู้สึกตัวโดยอัตโนมัติ ตรงนั้นแหละคือสติ ถ้าเรารักษาสติไว้ให้มาก ให้นานได้เท่าใด เราจะรู้สึกถึงความสงบ เยือกเย็นมากเท่านั้น ตรงนี้แหละคือ ทางสายกลางโดยนัยยะของพระพุทธเจ้า  ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน ให้มีสติระลึกรู้ในอิริยาบถน้อยใหญ่ ตอนนี้ที่อยู่ของใจจากเดิมเที่ยวไปอยู่กับคนนั้น คนนี้ อยู่กับรถคันโปรด อยู่กับยศตำแหน่ง เงินทอง ของสะสม ลูก สามี ภรรยา พ่อ แม่ จะถูกสั่นคลอนแล้ว จิตจะตื่นรู้ขึ้นไม่มากก็น้อย

แล้วพระบรมศาสดาก็ไม่ได้สอนให้หยุดแค่เพียงพิจารณากาย ท่านสอนว่า อันสุขเวทนาก็ดี ทุกขเวทนาก็ดี สองทางนี้ไม่ควรเดิน  ท่านสอนปัญจวัคคีย์ว่า ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ไม่ควรเข้าไปข้องแวะ พระบรมศาสดาสอนบรรดาปัญจวัคคีย์ให้เปลี่ยนที่อยู่ของใจใหม่ว่า  ปัญจวัคคีย์  ใจของท่านทั้งหลายไปอยู่กับทุกขเวทนา อยู่กับความคิดว่า ทำไมเราจึงทิ้งการบำเพ็ญทุกรกิริยา ทรมานตน นั่นเป็นเพราะเหตุที่ว่า ปัญจวัคคีย์เชื่อว่า การทรมานกายให้ได้ทุกข์เช่นนั้นจะเป็นการพ้นทุกข์นั่นเอง  นี่เป็นเพราะจิตของปัญจวัคคีย์ไปเอาการทรมานกายให้ได้ทุกข์มาเป็นที่อยู่เสียแล้วในขณะนั้น พระองค์จึงบอกให้เปลี่ยนที่อยู่ของใจเสียใหม่   

ไม่ต้องปัญจวัคคีย์หรอก บรรดาพวกเราทั้งหลายก็เช่นกัน พอมีทุกข์สักอย่างหนึ่ง ใจเราก็วิ่งไปอยู่กับมันเป็นแรมเดือน แรมปี น่าสงสารจิตใจเราเสียเหลือเกิน วิ่งไปซุกอยู่กับสิ่งที่ไม่สามารถจะเป็นที่อยู่ที่แท้จริง ที่พึ่งพิงอันนี้หรือ ที่ชาวเราพากันซุกอาศัยอยู่ ควรแล้วหรือที่จะเอาทุกข์มาเป็นที่อยู่ของใจ สมณะทั้งหลาย อัตตกิลมิถานุโยโค ทุกข์ทั้งหลาย ไม่ควรข้องแวะ พระบรมศาสนาตรัสสอนอย่างนี้จริงๆ ท่านชี้ให้เห็นโทษของทุกข์ เหมือนชี้ให้เห็นโทษของบ้านที่อยู่ว่ากำลังจะพังลงมาทับคนอยู่แล้วนะ ขณะเดียวกัน สุขหรือสุขเวทนาก็เช่นกัน ไม่ควรเข้าไปข้องแวะ แปลตรงๆ ก็คือ ไม่ควรเอาสุขเป็นที่อยู่ของใจเช่นกัน 

พระองค์ชี้ให้เห็นโทษทั้งฝั่งสุขและฝั่งทุกข์ จิตพระโกณทัญญะเห็นโทษทั้งสองฝั่ง จิตที่เคยซุกเอาสุขเป็นที่อยู่บ้าง ที่เคยซุกเอาทุกข์เป็นที่อยู่บ้าง ก็ออกมาตั้งมั่นอยู่ตรงกลาง เกิดดวงตาเห็นธรรม เห็นว่าไม่ว่าสุขหรือทุกข์ เกิดเป็นธรรมดาดับเป็นธรรมดาอยู่ตรงหน้า จะถือเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา หามิได้เลย ดวงตาเห็นธรรมเกิดขึ้น เป็นพระอัญญาโกณทัญญะในบัดดล จริงๆ พระพุทธเจ้าท่านสอนเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานแก่บรรดาปัญจวัคคีย์ เพราะเห็นว่า จิตของท่านเหล่านั้นฝังแน่นอยู่กับการบำเพ็ญทุกรกิริยาคือ ทรมานตนให้ลำบาก ท่านเปลี่ยนที่อยู่ของใจของปัญจวัคคีย์ให้มาอยู่ตรงกลาง ตั้งมั่นอยู่กับสติ ตรงนั้นแหละคือ ที่อยู่ของใจที่แท้จริง ที่อื่นไม่ใช่ ลูก เมีย สามี ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง บริวาร ไม่พึงเป็นที่อยู่ของใจ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ไม่พึงเป็นที่อยู่ของใจของนักปฏิบัติอย่างพวกเรา เสื่อมลาภ เสื่อมยศ คำนินทา ทุกข์ ก็ไม่พึงเป็นที่อยู่ของใจของนักปฏิบัติอย่างพวกเราเช่นกัน ออกมาเสีย ออกมาจากคนนั้น คนนี้ มาอยู่กับสติ อยู่กับตัวเองได้แล้ว ออกจากความสุข ความทุกข์ ความหลัง ความคิดฟุ้งซ่าน มาอยู่กับสติ เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่เที่ยงแท้ ไม่ควรเป็นที่อยู่ของใจของเราได้เลย มีแต่จะนำมาแต่ความทุกข์  

หลวงปู่ดูลย์จึงสอนว่า จิตส่งนอกคือสมุทัย  ผลของจิตส่งนอกคือทุกข์ สุขก็ไม่เที่ยง ทุกข์ก็ไม่เที่ยง ความจำก็ไม่เที่ยง ความคิดก็ไม่เที่ยง เกิดแล้วเสื่อมไปอยู่อย่างนั้น เป็นธรรมชาติ ธรรมดาของมัน หากพิจารณาเห็นอย่างนี้ จิตจะออกมาอยู่กับสติ จะมีอาการตื่นรู้ สงบ เยือกเย็นอยู่ในตัว

ขณะเดียวกัน หายใจเข้าออกให้รู้ ยืน เดิน นั่ง นอน ก็ให้รู้ ให้มีสติ จิตจะประคองตัวอยู่กับสติดีขึ้นเรื่อยๆ จนวันหนึ่งสามารถเปลี่ยนที่อยู่ของใจได้สำเร็จ ต่อไปมันจะคิด จะมีอะไรโผล่ขึ้นมา ก็ไม่รำคาญแล้ว  มันจะสงบอยู่ท่ามกลางความไม่สงบ มันจะตั้งมั่นอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง เพราะมันรู้เท่าทันความเป็นจริงแล้วว่า ไอ้ที่ไม่สงบก็ดี ไอ้ที่ฟุ้งซ่านก็ดี ไอ้ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ก็ดี มันจะถือว่าเป็นเรา ของเราไม่ได้นั่นเอง เรา (จิต) ก็อยู่ของเรา มัน (ขันธ์) ก็อยู่ของมัน เพราะเราไม่ยอมไปอยู่กับมัน มันก็ทำอะไรเราไม่ได้ เราเป็นอิสระจากมันเสียแล้ว ไม่ยอมให้มันครอบงำเราเหมือนก่อนแล้ว แท้จริงที่อยู่ของใจจริงๆ ก็คือ ใจนี่แหละ ใจคือ สติที่บริสุทธิ์ 

แต่ก่อนจะถึงสติที่บริสุทธิ์ เราต้องฝึกสติที่เป็นการปรุ่งแต่งขึ้นมาก่อน สติระลึกรู้ในกาย ระลึกรู้ในลมหายใจเข้าออก ยืน เดิน นั่ง นอนให้อยู่กับรู้ รู้เท่าทันอารมณ์น้อยใหญ่ เอาแค่นี้แหละ ไม่ต้องอะไรมาก  เมื่อเจริญสติต่อเนื่องเป็นวงกลมติดต่อกันไป จนวันหนึ่งแยกจิตกับอารมณ์ได้เด็ดขาดสะบั้นลง เห็นขันธ์ห้าอารมณ์ทั้งปวงไม่ใช่ เราไม่ใช่ขันธ์ห้า (เป็นจิตอันหนึ่ง) เกิดดวงตาเห็นธรรม จิตเข้าสู่กระแสพระนิพพาน เข้าสู่โลกุตรมรรค ที่อยู่ของใจก็จะเริ่มเปลี่ยนเป็นสติอัตโนมัติหมายความว่า สติเกิดขึ้นโดยไม่ต้องกำหนด เกิดจากความเห็นขอบ เห็นอารมณ์ ขันธ์ห้า จะถือเป็นเรา  ของเราไม่ได้  จิตก็จะออกจากอารมณ์ จากขันธ์ห้าที่เคยอยู่อาศัย ขณะที่จิตออกมาเรียกว่า สัมมาสังกัปปะ เพราะจิตเห็นแล้วว่า เหตุแห่งทุกข์ทั้งปวงเพราะวางใจไว้ผิด ไปวางไว้ที่กาม (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ (อารมณ์ที่ผุดในจิต) วางไว้ที่อารมณ์ยินดี อารมณ์ไม่ยินดี (โทสะ พยาบาท) จิตก็ออกมา เป็นสัมมาสังกัปปะ วาจาก็สำรวม การกระทำชอบ การงานชอบ (ศีลห้าชอบ) เห็นชอบต่อเนื่องกันไป สติก็เกิดขึ้น และเกิดสัมมาสมาธิคือ ความตั้งมั่นของจิตตามมาในที่สุด เรียกว่า มัคสมังคี ภูมิจิต ภูมิธรรมของคนคนนี้ก็เลื่อนไปตามลำดับ จนกระทั่งไม่มีอะไรเหลือจะให้เดินต่อไป เรียกว่า จบกิจ ก็จะถึงสภาวะจิตเดิม จิตถึงจิต จิตบริสุทธิ์ หรือสติบริสุทธิ์ พระบรมศาสดาจึงกล่าวว่า พระอรหันต์คือ ผู้มีสติบริสุทธิ์คือ มีสติเต็มบริบูรณ์ เต็มร้อย หากเปรียบเทียบเป็นเปอร์เซนต์ พอจะได้ดังนี้

พระโสดาบัน มีสติ ๒๕ %

พระสกาทาคา มีสติ ๕๐ % 

พระอนาคามี มีสติ ๗๕ %

พระอรหันต์ มีสติ ๑๐๐ % เป็นสติอัตโนมัติ

คงไม่มีในตำรากระมัง  นี่นั่ง ๆ อยู่ สติก็มาเอง โดยไม่ต้องกำหนดมั่นหมายจะให้เป็น บอกไม่ถูกเหมือนกัน ตรงนั้นมันสงบ เยือกเย็นแม้ลืมตา ผู้มีสติจึงมีความสงบทุกที่ ทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะหลับตาหรือลืมตา จะคิดอะไรมันก็สงบ มันเป็นอย่างที่หลวงปู่ชาว่าไว้จริงๆ สังเกตสิ ท่านใช้คำว่า “ถ้าเรารู้” มันไม่รำคาญหรอก รู้นั่นแหละคือสติล่ะ จะมีใครมานั่งบ่นอยู่ข้างๆ สักสิบคน ก็ไม่รำคาญ เพราะเรา “รู้” เสียแล้ว มอเตอร์ไซค์เด็กแว้นวิ่งผ่านสักร้อยคัน มันก็ไม่รำคาญ เพราะเรา “รู้” เสียแล้ว จิตมันอยู่กับรู้ของมันเอง มันไม่ไปอยู่กับอารมณ์รำคาญใดๆ แล้วมันจะรำคาญได้อย่างไร ถ้าเราฝึกอบรมสติ จนเปลี่ยนที่อยู่ของใจได้เมื่อใด จะเห็นความอัศจรรย์ของจิตชนิดน้ำตาร่วงจริงๆ นะ 

ก็ขอให้เจริญในธรรมด้วยกันทุกท่าน