ถาม-ตอบ

อย่าเอาหัวใจไปฝากไว้กับคนอื่น

แสดงธรรม กลุ่ม Natural Mind เมื่อวันที่  28 กันยายน  2558

 

ท่านทรงกลด  :  ตอนผมบวชครั้งที่สอง พระอาจารย์ก็สอนว่า เวลาไปอยู่กับครูบาอาจารย์ อย่าไปอยู่นาน เผลอไปละเมิดท่านเข้า มันจะไม่ดี และส่วนใหญ่ท่านจะดุมากๆ นะ พวกเราใครไม่รู้มาลงบอก ใช่เลย ท่านดุกิเลส กิเลสมันชอบคนปากหวาน มันไม่ค่อยชอบคนปากจัดแบบผมหรอก  

หลวงตามหาบัวบอกว่า  พระอรหันต์ก็เตะคนได้นะ ถ้าเราไปเห็นหลวงปู่ชาถีบพระ อย่าไปเข้าใจว่า ท่านบันดาลโทสะ ท่านคงยังไม่สำเร็จกระมัง กิริยาภายนอกของพระอริยะบอกอะไรไม่ได้นะ ครั้งหนึ่ง มีพระฝรั่งรูปหนึ่งไปอยู่กับหลวงปู่ชา จนสามารถเข้าใจภาษาไทยได้เป็นอย่างดี วันหนึ่งมีเรื่องขัดเคืองกับพระไทยรูปหนึ่ง เรื่องอาหารขบฉันก็คิดโกรธแค้นพระไทยอยู่ตลอดวัน ทำไมพระไทยรูปนั้นทำกับท่านแบบนี้ คิดๆ ๆ ๆ อยู่นั่นแหละ ตอนเย็น พระป่าก็มาฉันน้ำปานะกัน ฉันเสร็จ หลวงปู่ชาก็ไล่พระรูปอื่น ทั้งไทยทั้งฝรั่งไปสรงน้ำ ขึ้นโบสถ์ทำวัตรสวดมนต์เย็น บอกพระฝรั่งรูปนั้นให้อยู่ก่อน หลวงปู่ชาบอก เออ ! มานวดให้อาตมาหน่อยเถิด การนวดเฟ้นครูบาอาจารย์นี่ถือว่าเป็นบุญใหญ่ ถ้าใครถูกหลวงปู่ออกปากจะมีปิติมาก ได้นวดครูบาอาจารย์  พระฝรั่งก็ดีใจมาก ได้มีโอกาสนวดหลวงปู่ชา ปกติไม่เคยเข้าถึงเลย วันนี้โชคดีแท้ๆ ได้นวดหลวงปู่ ระหว่างที่พระฝรั่งรูปนั้นกำลังนวดแข็งนวดขาหลวงปู่อยู่อย่างมีความสุข ใจนึกเหมือนขึ้นสวรรค์  หลวงปู่ชาก็ถีบไปที่หน้าอกพระฝรั่งรูปนั้นอย่างแรง หงายตึงลงไป พระฝรั่งรูปนั้นงงมาก ๆ   หลวงปู่ชาก็ชี้หน้าว่า อย่าเอาหัวใจไปฝากไว้กับคนอื่น เมื่อเช้านี้ก็มีเรื่องไม่พอใจกับพระไทย ก็คิดร้อนรุ่มเหมือนตกนรกอยู่ทั้งวัน พอหัวค่ำก็หลงเพลิดเพลินในอารมณ์ยินดีที่ได้นวดเฟ้นเรา เหมือนขึ้นสวรรค์  อย่าเอาหัวใจไปฝากไว้กับคนอื่น คำคำนี้ พระฝรั่งรูปนี้จดจำไปจนตาย  ตอนนี้ท่านยังไม่สึกเลย  

อย่าเอาหัวใจไปฝากไว้กับคนอื่นหมายความว่าอย่างไร ทุกวันนี้ เราเคยเอาใจไว้กับใจตัวเองบ้างหรือเปล่า  ไปฝากไว้ที่ลูก ที่สามี ที่ภรรยาบ้าง  หลวงปู่ชาสอนว่า อย่าส่งจิตออกนอก เที่ยวเอาหัวใจไปฝากไว้ที่คำพูดคนนั้นคนนี้  ไปฝากไว้ที่เพื่อนบ้าง คำพูดคนบ้าง มันไม่มีอะไรแน่สักอย่าง พอเขาชมก็ชอบ ซุกอยู่ตรงนั้น พอเขาด่าก็ไม่ชอบ ซุกอยู่ตรงอารมณ์นั้นอีก ลองนึกย้อนเข้าหาตัวเองเถิด  ทุกวันนี้ที่ทุกข์ก็เพราะเราเที่ยวเอาหัวใจไปฝากไว้ที่นั่น ที่นี่ ที่คนนั้น คนนี้  ทำไมคนนั้นทำกับเราแบบนี้ ทำไมคนนี้ทำกับเราแบบนั้น  ใจไม่เคยอยู่กับใจเลย  ไม่เคยรักษาใจเลย ปล่อยให้มันวิ่งไปตามอารมณ์น้อยใหญ่ ให้มันชักจูงเราไป เราไม่เคยเป็นตัวของตัวเองเลย สติ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมนี่แหละ ที่จะทำให้เราอยู่กับตัวเอง

หลวงปู่ชาบอกว่า เหมือนเด็กจูงควายกลับบ้าน สองข้าทางมีต้นข้าวกำลังตกรวง ควายมันก็ชอบแวะข้างทาง แวะซ้ายบ้าง ไปกินหญ้า กินข้าวเสียหน่อย แวะขวาบ้าง ไปกินข้าว กินหญ้า ข้าวสองข้างทางก็คือ อารมณ์  ควายนี่คือจิต เชือกก็คือสติ ต้องประคับประคองควายไม่ให้หลงใหลสองข้างทางให้มาก ก็จะถึงบ้านก่อนค่ำ ถ้าค่ำแล้ว งูจงอางมันจะออกมาฉกกัดเป็นอันตรายได้  เวลาท่านเห็นผ้าขี้ริ้ว ท่านจะเห็นว่า เออ !  มันอนิจจังจริงๆ มันเก่าลงๆ ขาดลงๆ ทุกวัน เหมือนร่างกายสังขารเรานี่แหละ มันไม่มีอะไรแน่หรอก 

หลวงปู่ชา ท่านเป็นเซนเมืองไทยจริงๆ อ่านเรื่องปัญญาจากหมาขี้เรื้อนดูนะ

บัณฑิตใหม่หมาดจากเมืองนอกมาบวช เมื่อบวชที่วัดใหญ่ในกรุงเทพฯ แห่งหนึ่งเสร็จแล้ว ผู้เป็นแม่จึงพาไปฝากให้จำพรรษาอยู่กับพระวิปัสสนาจารย์รูปหนึ่งที่วัดป่าแถวภาคอีสาน  พระหนุ่มการศึกษาสูงมาจากตระกูลผู้ดี มีแต่ความสุขสบายเมื่อมาอยู่วัดป่า กว่าจะปรับตัวได้จึงใช้เวลานานเป็นแรมเดือน แต่ก็นั่นแหละกว่าจะ ‘นิ่ง’ ก็ทำเอาพระร่วมวัดหลายรูปพลอยอิดหนาระอาใจไปตามๆกัน ปัญหาที่ทำให้พระทั้งวัดเหนื่อยหน่ายจนนึกระอาก็เพราะ พระใหม่มีนิสัยชอบจับผิดและชอบอวดรู้ ยกหู ชูหางตัวเองอยู่เป็นประจำ

       วันแรกที่มาอยู่วัดป่าก็นึกเหยียดพระเจ้าถิ่นทั้งหลายว่า ไม่ได้รับการศึกษาสูงเหมือนอย่างตน ออกบิณฑบาตได้อาหารท้องถิ่นมาก็ทำท่าว่าจะฉันไม่ลง เห็นที่วัดใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าดแทนไฟฟ้า ก็วิพากษ์วิจารณ์เสียเป็นการใหญ่  หาว่า ล้าสมัยไม่รู้จักใช้เทคโนโลยี ตอนหัวค่ำมีการทำวัตรสวดมนต์เย็นก็บ่นว่า ท่านรองเจ้าอาวาสทำวัตรนานเหลือเกิน กว่าจะสิ้นสุดยุติได้ก็นั่งจนขาเป็นเหน็บชา ครั้นพอถึงเวรตัวเองล้างห้องน้ำเข้าบ้าง ก็ทำท่าจะล้างอย่างขอไปที ล้างไปบ่นไปประเภทตูจบปริญญาโทมาจากเมืองนอก ต้องมาเข้าเวรล้างห้องน้ำร่วมกับใครก็ไม่รู้

โอ้ชีวิต ! ความสำรวย หยิบโหย่ง ทำให้พระใหม่ไม่พอใจสิ่งนั้นสิ่งนี้ ถือดีว่าตัวเองมีชาติตระกูลสูง มีการศึกษาสูงกว่าใครในวัดนั้น  ผิวพรรณก็ดูสะอาดสะอ้านชวนเจริญศรัทธากว่าพระรูปไหนทั้งหมด มองตัวเองเปรียบกับพระรูปอื่นแล้วช่างรู้สึกว่า ตัวเองเหนือกว่าทุกประตู นึกแล้วก็ยิ้ม กระหยิ่มอยู่ในใจกลับเข้ากุฏิเมื่อไหร่ ก็เอาปากกามาขีดเครื่องหมายกากบาทบนปฏิทินนับถอยหลัง รอวันสึกด้วยใจจดจ่อ  อยู่มาได้พักใหญ่พระใหม่อดีตนักเรียนนอกก็สังเกตเห็นว่า ท่านเจ้าอาวาสวัดป่าแห่งนี้ไม่ค่อยพูดไม่ค่อยจา ซ้ำนานๆ ครั้งจะออกมาให้โอวาทกับลูกศิษย์เสียทีหนึ่ง วันๆ ไม่เห็นท่านทำอะไรเอาแต่กวาดใบไม้ เก็บขยะ ซักผ้าเอง (เณรน้อยก็มีไม่รู้จักใช้) สอนก็ไม่สอน การบริหารวัดก็มอบให้ท่านรองเจ้าอาวาสเป็นคนจัดการไปเสียทุกอย่าง   เห็นแล้วเลยนึกร้อนวิชาเสนอให้ปรับโน่น ลดนี่ สารพัดที่ตัวเองเห็นว่าไม่เข้าท่า ล้าสมัย รวมทั้งให้เสนอให้วัดใช้ไฟฟ้าแทนตะเกียงด้วย  อีกข้อหนึ่งเพราะตนเห็นว่ายุคสมัยก้าวไกลมามากแล้ว ไม่ควรจะทำตนเป็นคนหลังเขาให้คนอื่นเขาดูถูก 

       อีกหนึ่งในข้อวิจารณ์จุดด้อยของวัดทั้งหลายเหล่านั้น พระใหม่เสนอให้หลวงพ่อเจ้าอาวาส มีปฏิสัมพันธ์กับพระลูกวัดให้มากขึ้นกว่านี้ สอนให้มากขึ้น เทศน์ให้มากขึ้น และแนะนำว่าคนระดับผู้บริหารไม่ควรจะทำงาน อย่างการซักจีวรเองเป็นต้นด้วยตนเอง ควรจะกระจายอำนาจมอบงานให้คนอื่นทำดีกว่า เย็นวันนั้นเป็นวันพระสิบห้าค่ำ

หลวงพ่อเจ้าอาวาสมานั่งทำวัตรที่โบสถ์ธรรมชาติกลางลานทรายด้วย ท่านไม่ลืมที่จะหยิบข้อเสนอแนะจากพระใหม่มาอ่าน ให้พระหนุ่มสามเณรน้อยทั้งหลายฟัง แต่ท่านไม่บอกว่าพระรูปไหนเป็นคนเขียน  อ่านจบแล้วหลวงพ่อก็ยิ้มอย่างมีเมตตาพลางหยิบไมโครโฟนขึ้นมา แล้วชี้ให้ภิกษุหนุ่ม สามเณรน้อยทั้งหลาย ดูหมาขี้เรื้อนตัวหนึ่ง ที่นอนอยู่ใต้ม้าหินอ่อนใต้ต้นอโศกที่อยู่ใกล้ๆ

       “เธอทั้งหลายเห็นหมาขี้เรือนตัวนั้นหรือไม่ เจ้าหมาตัวนั้นน่ะมันเป็นขี้เรื้อนคันไปทั้งตัว ฉันเห็นมันวิ่งวุ่นไปมาทั้งวัน เดี๋ยวก็วิ่งไปนอนตรงนั้น เดี๋ยวก็ย้ายมานอนตรงนี้อยู่ที่ไหนก็อยู่ไม่ได้นานเพราะมันคัน แต่พวกเธอรู้ไหม เจ้าหมาตัวนั้นน่ะมันไปนอนที่ไหน มันก็นึกด่าสถานที่นั้นอยู่ในใจหาว่า แต่ละที่ไม่ได้ดั่งใจตัวเองสักอย่าง นอนที่ไหนก็ไม่หายคัน สถานที่เหล่านั้นช่างสกปรกสิ้นดี”

       “คิดอย่างนี้แล้วมันจึงวิ่งหาที่ที่ตัวเองนอนแล้วจะไม่คัน แต่หาเท่าไหร่มันก็หาไม่พบสักที เลยต้องวิ่งไปทางนี้ทางโน้นอยู่ทั้ง วันๆ เจ้าหมาโง่ตัวนั้นมันหารู้สักนิดไม่ว่า เจ้าสาเหตุแห่งอาการคันนั้น หาใช่เกิดจากสถานที่เหล่านั้นแต่อย่างใดไม่ แต่สาเหตุแห่งอาการคันอยู่ที่โรคของตัวมันเองนั่นต่างหาก”

        พูดจบแล้วหลวงพ่อก็วางไมโครโฟนลงเป็นสัญญาณให้รู้ว่า ได้เวลาภาวนาหลังการทำวัตรสวดมนต์เย็นแล้ว ขณะที่ทุกรูปนั่งหลับตาภาวนาอย่างสงบนั้น ในใจของพระใหม่กลับร้อนเร่าผิดปกติ นอกสงบ แต่ในวุ่นวาย นึกอย่างไรก็มองเห็นตัวเองไม่ต่างไปจากหมาขี้เรื้อนที่หลวงพ่อชี้ให้ดู ยิ่งนั่งสมาธินานๆ  ยิ่งคันคะเยอในหัวใจทั้งอายทั้งสมเพชตัวเอง นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา  พระใหม่อดีตนักเรียนนอกก็เปลี่ยนไปเป็นคนละคน จากคนพูดมากกลายเป็นคนพูดน้อย จากคนที่หยิ่งยโสกลายเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน จากคนที่ชอบจับผิดคนอื่นกลายเป็นคนที่หันมาจับผิดตัวเอง 

แม้เมื่อออกพรรษาแล้วโยมแม่มาขอให้ลาสิกขาเพื่อกลับไปสืบต่อธุรกิจจากครอบครัว ท่านก็ยังไม่ยอมสึก “อาตมาเป็นหมาขี้เรื้อนขออยู่รักษาโรค จนกว่าจะหายคันกับครูบาอาจารย์ที่นี่อีกสักหนึ่งพรรษา”  โยมแม่ได้ฟังแล้วก็ได้แต่ยกมืออนุโมทนาสาธุการกราบลาพระลูกชาย แล้วก็เดินออกจากวัดไปขึ้นรถพลางนึกถามตัวเองอยู่ในใจว่าคำว่า “หมาขี้เรื้อน” ของพระลูกชายหมายความว่าอย่างไรกันแน่ 

พระรูปนี้ถือว่าเป็นผู้มีปัญญา ถ้าคนไม่มีปัญญา ก็จะมองไปอีกแบบหนึ่ง จะเห็นว่า เอ หลวงปู่ชานี่ ทำไมมาด่าเขาเป็นหมูเป็นหมานะ  อยู่ไม่ได้แล้ว ๆ  ด่าขนาดนี้ไม่อยู่แล้ว พอรุ่งเช้าก็ให้คนไปตามโยมแม่ บอกเอาชุดมาให้ด้วย จะสึกแล้ว หรือย้ายวัด ไปอยู่วัดอื่นดีกว่า โยมแม่เราก็รวย สร้างวัดไว้หลายวัด ไปอยู่วัดที่ตามใจเราดีกว่า

ชะตากรรมก็จะไปอีกแบบหนึ่ง

ท่านมีปัญญา เพราะอะไร วัดป่าส่วนใหญ่ เขาจะสอนให้แก้ไขที่ตัวเอง อย่าไปแก้ไขคนอื่น ยิ่งหลวงปู่ชาท่านสอนให้เฝ้ามองอารมณ์ตัวเอง สอนให้ลดทิฐิมานะลง 

ตอนผมไปบวชครั้งที่สอง ที่วัดมาบจันทร์ สาขาวัดหนองป่าพง  สิ่งที่ขัดตาเป็นอย่างมาก คือเวลาพระ (ประมาณสี่สิบรูป) กลับจากบิณฑบาต เดินเข้าหอฉัน จะมีถังน้ำอยู่ที่บันใดหอฉัน และจะมีพระคอยตักน้ำล้างเท้า เช็ดเท้าให้กับพระทุกรูปที่เดินเข้าหอฉัน ผ่านไปหลายวันทีเดียวกว่าพระทรงกลดจะทำใจได้ เราเป็นถึงผู้พิพากษามาบวช จะให้ไปทำอย่างนั้นได้อย่างไร พระบางรูปก็อายุน้อยกว่าเราเท่าตัว บางรูปก็เด็กๆ อยู่เลย แต่พอครั้งแรกที่ได้สัมผัสเท้าพระเหล่านั้น ค่อยๆเอาน้ำล้างเท้า ทำความสะอาด เช็ดเท้า ผมรู้สึกว่า ทิฐิมานะในใจลดลงไปเยอะ จิตใจสงบขึ้นอย่างประหลาด วันต่อๆ ไป หน้าที่ล้างเท้าพระใหญ่ พระเล็กๆ พระทรงกลดจะคอยจองหน้าที่นี่อยู่เสมอ พระบางรูปก็รุ่นเด็กๆ แต่บวชก่อนหนึ่งวัน มันเป็นความรู้สึกที่ดีมากๆเลย ในตอนนั้น  เราต้องทำตัวเป็นผ้าขี้ริ้วก่อน ภาราหะเว ปัญจะขันธา ขันธ์ห้าเป็นของหนักเด๊อ 

ครั้งหนึ่ง มีชายคนหนึ่งบ่นว่าทุกข์เหลือเกิน อะไรไม่รู้เต็มหัวไปหมด ก็ไปหาหลวงปู่ชาๆ ก็พาไปตักน้ำ ให้ถือถังน้ำไว้ เขาก็ถือหนักมาก หลวงปู่ก็ไม่บอกให้วางเสียที เขาบอกหลวงปู่ชาว่า หลวงปู่ให้ผมถือไว้ทำไม หนักเหลือเกิน หนักก็วางลงเสียสิ หลวงปู่ตอบยิ้มๆ  

อย่างที่ผมเคยบอกพวกเรา มีชายคนหนึ่ง ถือดุ้นไฟวิ่งวิ่นอยู่ แล้วก็บ่นว่าร้อนๆๆ เหลือเกิน เราก็บอกว่า ร้อนก็วางดุ้นไฟนั่นเสียสิ เขาก็บอกว่า วางไม่ได้ ทำไมวางไม่ได้ ก็ดุ้นไฟนี่ มันของฉัน ๆ จะวางได้อย่างไร เราว่า คนนี้ไม่บ้าก็คงโง่ เราเองก็ไม่ต่างไปจากชายคนนั้นหรอก ถือดุ้นไฟกันไว้ ไฟโทสะ ไฟราคะ ไฟโมหะ 

เวลาพูดเรื่องราคะ บางคนจะเข้าใจไปในเรื่องทำนองนั้น จริงๆ ราคะไม่ได้หมายถึงเรื่องแบบนั้นทั้งหมด อย่างเราเห็นแหวนเพชรวงหนึ่ง เกิดความชอบแล้วอยากได้ ราคะเกิดขึ้นแล้ว ทันทีที่เกิด หากใครฝึกจิตมาดี จะเห็นความร้อนเกิดขึ้นที่ใจเบาๆ  ใจขณะนั้น ก็มืดอยู่แล้ว เพราะอวิชชาครอบงำ มันทั้งร้อนทั้งมืดอยู่ในที่เดียวกันคือใจเรานั่นแหละ 

แล้วเราจะจุดตะเกียง คือแสงสว่างแห่งปัญญาอย่างไร ใจเราจะได้สว่างเสียที   ก็ต้องทำให้ใจเรามีสัมมาทิฐิ คือความเห็นชอบในรูปนาม ขันธ์ห้า อารมณ์ตามความเป็นจริงด้วยสติ(ปัฎฐานสี่) ด้วยปัญญา จริงๆ แล้ว สติปัฎฐานสี่มันก็เป็นปัญญาอยู่ในตัว ลองไปอ่านดูเถิด เมื่อเจริญสติไปๆ สุดท้ายพระพุทธเจ้าก็ชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่ากาย หรือเวทนา หรือจิตที่ปรุงแต่งเป็นนั่นเป็นนี่ ล้วนไม่เที่ยง หาแก่นสารไม่ได้ ไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่นทั้งสิ้น  

สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ  สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นว่านั่นคือเรา ของเรา  ไม่ควรยึดมั่นว่า กายนี้ เวทนานี้ สัญญานี้ สังขาร (ความคิด) นี้   วิญญาณนี้คือเรา ของเรา เพราะทั้งปวงที่กล่าวมานั้น มันไม่เที่ยง ไมมีอะไรเหลือให้พอที่ยึดมั่นว่าเป็นเราของเราได้เลยแม้แต่นิด 

หากเห็นเช่นนี้ ตะเกียงในใจจะถูกจุดขึ้น  ไปนั่งอยู่ในที่มืดๆ มันก็สว่างได้  อะไรสว่าง  ใจนั่นแหละ มันสว่างเพราะความเห็นชอบ  นอนหลับตา จะรู้สึกว่า เอ้อ ! เมื่อตะกี้ปิดไฟหรือยังหว่า ทำไมมันยังสว่างอยู่ ลืมตาขึ้นดู อ้าว ! มืด(ภายนอก) นี่ ที่สว่างมันคือใจเรา สว่างเพราะความเห็นชอบๆ นี่แหละคือวิชชา ๆ นี่แหละจะทำให้ความมืดคืออวิชชาค่อยๆ หายไป

นัตถิ ปัญญา สมะอาภา แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี  สว่างแล้วสว่างเลย ไม่กลับไปมืดบอดอีกแล้ว