หัวใจพระพุทธศาสนา

แสดงธรรม กลุ่มต้นบุญ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2559
ท่านทรงกลด : วันนี้เป็นวันมาฆบูชา ธรรมะวันมาฆบูชา คือ ละบาป ทำบุญ และทำจิตใจให้ผ่องใส นี่คือ หัวใจพระพุทธศาสนา เรื่องการละบาปก็ไม่มีอะไรมากคือ เรื่องศีลห้า เราต่างก็ทราบดี แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยละบาป จะเอาบุญ ทำบุญ ให้ทานกัน พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ละบาปก่อน เรื่องบาป เรื่องศีลห้านี้เป็นเรื่องหยาบสุดๆ ของหยาบยังละไม่ได้ จะข้ามขั้นไปทำบุญ ทำจิตให้ผ่องใสกันได้อย่างไร
ตอนผมบวช เดินจงกรมที่โบสถ์วัดมาบจันทร์ พระเอาเทปหลวงปู่ชามาเปิดให้ฟัง ยังจับใจอยู่จนบัดนี้หลวงปู่ชาบอกว่า โยมเคยย้อมสีผ้าไหม ถ้าผ้ามันสกปรก โยมจะย้อมได้ไหม จิตใจเราก็เหมือนกัน ถ้ามันยังสกปรก แค่ศีลห้ายังรักษาไม่ได้ มันจะรองรับธรรมที่สะอาด บริสุทธิ์ได้อย่างไร หลวงปู่ชาบอกว่า ทุกวันนี้ เราเอาผ้าที่สกปรกไปย้อมเป็นสีนั้น สีนี้ ยิ่งสกปรกใหญ่ บางคนโกหกเป็นไฟ แต่บอกว่า ตัวเองปฏิบัติธรรม ศีลจึงมาก่อนสมาธิ เพราะหากกายไม่สงบ ไม่มีทางเลยที่จิตจะสงบ จริงๆ ศีลนี้คือ สติหยาบๆ ลองพิจารณาดูคนทำผิดศีลแม้ข้อหนึ่งข้อใด ขณะที่ทำลงไป ขณะนั้นย่อมขาดสติเป็นแน่แท้ ถ้ามีสติ เราจะไม่ฆ่าใคร จะไม่ลักทรัพย์ใคร จะไม่ผิดลูกเมียใคร จะไม่เจตนาโกหก จะไม่เจตนาดื่มสุรา
การละบาปคือโอวาทข้อแรกในหัวใจพระพุทธศาสนา ทำบุญคือหัวข้อต่อมา ซึ่งเราต่างก็ทราบดี นี่ก็อีกเหมือนกัน เป็นความไม่เข้าใจของชาวพุทธเป็นส่วนมาก ส่วนใหญ่คิดว่า การทำบุญคือ ตักบาตรพระ ทำสังฆทาน สร้างวิหารการเปรียญ บุญมีตั้งสิบอย่าง เช้าๆ ใครเอาธรรมะมาลง แค่เปล่งเสียง สาธุ อนุโมทนามิ นี่ก็บุญมหาศาลแล้ว ก็ได้แต่บอกนะ ของใครของมัน เห็นไหมแค่นี้บุญก็เกิดแล้ว ตอนที่จะเปล่งวาจา สาธุ ลองสังเกตใจตนเองตอนนั้นสิ มันสะอาด สว่าง สงบ ใช่ไหม แม้จะเป็นเพียงชั่วขณะแว้บเดียวก็เป็นบุญใหญ่แล้วนะ ความสงบของจิตนี่แหละคือยอดของบุญล่ะ พระพุทธเจ้าตรัสไว้เช่นนั้นจริงๆ ว่า จิตจะสงบ สะอาดขึ้นมา แต่ถ้าท่านทำทานแล้วนึกในใจว่า ขอให้ถูกหวยรางวัลที่หนึ่ง ท่านว่า บุญจะเกิดไหม ขณะที่ท่านนึกขอให้ถูกหวยรางวัลที่หนึ่ง ขณะจิตนั้น ท่านว่าเป็นอย่างไร มันจะสะอาด สงบไหม ทุกวันนี้ชาวเราจึงบ่นว่า ทำไมทำดีไม่ได้ดี การทำบุญแล้วตั้งจิตไว้อย่างนั้น ในความเห็นของนักปฏิบัติ ไม่ใช่ทำดี มันจะทำดีได้อย่างไร เพราะขณะทำ จิตเต็มไปด้วยตัณหาคือ ความอยากรวย ทำบุญแล้วตั้งจิตว่า ขอให้สุขภาพแข็งแรง อย่าเจ็บป่วย อย่าให้คนในบ้านเป็นอะไรเลย บุญตรงไหนนี่ ผลถึงน้อยมาก
สมัยเด็กๆ เคยอ่านหนังสือเรื่องหนึ่งบอกว่า สาวชาวจีนนางหนึ่งไปทำบุญที่วัดด้วยเงินเฟื้องเดียว เจ้าอาวาสเอาพระทั้งวัดมาสวดชยันโตให้ เวลาผ่านไป หญิงสาวคนนี้กลายไปเป็นสนมเอกฮ่องเต้ และนางยกขบวนใหญ่โตกลับมาทำบุญใหญ่ที่วัดเดิม เจ้าอาวาสให้เพียงพระลูกวัดรูปเดียวมาสวดชยันโตให้ ทำไมเป็นอย่างนั้น ลองคิดดู ความสงบเป็นยอดแห่งบุญจริงๆ ผมเคยบอกท่านทั้งหลายว่า ลองภาวนาจิตเป็นสมาธิสักครั้งหนึ่ง มันเหมือนสร้างโบสถ์หลังหนึ่งเลยนะ การทำสมาธินี่แหละเป็นยอดแห่งบุญ
ข้อสุดท้ายของหัวใจพระพุทธศาสนาคือ การทำจิตให้บริสุทธิ์ ผมขอใช้คำว่า การทำจิตให้บริสุทธิ์นะ จิตผ่องใสกับจิตที่บริสุทธิ์นี้ต่างกัน บางคนไปนั่งสมาธิ จิตสว่างไสวไปหมด คิดว่า ตนเองเข้าถึงขั้นสูงสุดของคำสอนพระพุทธเจ้าแล้ว นั่นคือ การทำจิตให้ผ่องใสเท่านั้นเอง แต่ก่อนก็งงว่า ทำไมหลวงตามหาบัวจึงสอนว่า จิตผ่องใสคืออวิชชา บางคนเข้าสู่สภาวะความว่างไปหมด ไร้ตัวตน ผ่องใส ก็คิดว่า จบกิจแล้ว ตรงที่หลงเข้าใจว่าจบกิจแล้วนั่นแหละคืออวิชชาล่ะ ตรงนี้จะหลงกันมากๆ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์มาแก้ให้ ตายไป ไปเกิดเป็นพรหมลูกฟัก ก็หายโง่ ถูกจิตตัวเองหลอกเข้าให้แล้ว
เมื่อเราภาวนาทำสมาธิกำจัดนิวรณ์ห้าได้ จิตย่อมสงบ ผ่องใสเป็นธรรมดา แต่จะถือว่าบริสุทธิ์ ยังไม่ได้ เป็นเพียงหินทับหญ้าไว้เท่านั้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า จิตเราไม่สามารถบริสุทธิ์ได้เพียงการทำสมถภาวนา (เจโตวิมุตติ) พระพุทธเจ้าจึงตรัสเป็นเด็ดขาดไว้เลยว่า คนเรา (จิต) จะบริสุทธิ์ได้ก็ด้วยปัญญาเท่านั้น หลวงปู่มั่นท่านก็รับรองว่า ต้องปัญญาวิมุตติ พระรูปไหนบอกว่า บรรลุอรหัตผลโดยไม่ผ่านปัญญาวิมุตติ ขอฟันธงว่า ของเก๊แหงๆ การทำสมถบริกรรมภาวนาโดยทั่วไป ทำให้จิตสงบ ผ่องใสชั่วขณะเท่านั้น ไม่งั้น เจ้าชายสิทธัตถะคงไม่หนีอาฬารดาบสและอุทกดาบสมาหรอก
ทำอย่างไรจึงจะถึงเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนาได้ ถ้าใครคิดว่าแค่ไม่ทำบาป ทำบุญก็พอแล้ว ผมบอกได้เลยว่า สงสารพระพุทธเจ้าจริงๆ ที่อุตส่าห์บำเพ็ญบารมีมาตั้งสี่อสงไขยแสนกัป การทำจิตให้บริสุทธิ์ ไม่มีทางอื่น มีทางเดียวคือ มรรคมีองค์แปด มรรคมีองค์แปดเป็นเรื่องสติ เรื่องปัญญาทั้งสิ้น มรรคนี้ต้องเป็นมรรคจริงๆ นะ ไม่ใช่มักง่าย ทุกวันนี้ เราเจอแต่พระสอนให้บรรลุอรหัตผลกันเลย พระก็ใจร้อน โยมก็ใจร้อน เรื่องลมหายใจ เรื่องกาย เรื่องอารมณ์อะไรนี่ ยังไม่รู้อะไรเลย อยู่ๆ มาสอนโยมเรื่องปฏิจจสมุปบาทบ้าง อิทัปปัจจยตาบ้าง วุ่นวายไปหมด ลมหายใจเข้าออกนี่แหละ คือมรรค คือสติ คือปัญญา
การทำจิตให้ผ่องใส ได้แก่ การทำจิตของตนให้ผ่องใส ปราศจากนิวรณ์ซึ่งเป็นเครื่องขัดขวางจิตไม่ให้เข้าถึงความสงบ มี ๕ ประการ ได้แก่
๑. ความพอใจในกาม (กามฉันทะ)
๒. ความอาฆาต พยาบาท (พยาบาท)
๓. ความหดหู่ ท้อแท้ ง่วงเหงา หาวนอน (ถีนะมิทธะ)
๔. ความฟุ้งซ่าน รำคาญ (อุทธัจจะกุกกุจจะ)
๕. ความลังเล สงสัย (วิกิจฉา) เช่น สงสัยในการทำความดี ความชั่วว่ามีผลจริงหรือไม่
การทำจิตให้ผ่องใสที่ผมยกมาข้างต้น คัดลอกมาจากที่มีผู้นำมาลงไว้ในไลน์กลุ่ม เมื่อเราเจริญภาวนา ไม่ว่าจะด้วยวิธีบริกรรมภาวนาหรือเพ่งอะไรก็แล้วแต่ จิตเราจะไปจดจ่ออยู่กับเครื่องล่อนั้น คือเอาสิ่งนั้นเป็นอารมณ์
ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้ พวกฤาษี พวกพราหมณ์ทั้งหลายก็เจริญสมาธิกันด้วยวิธีเพ่งน้ำ เพ่งไฟ หรือบริกรรมคำว่า โอม ซึ่งพระพุทธเจ้าไม่ได้ต่อต้านหรือโจมตีว่าผิด ไม่ถูกต้องนะ แต่ท่านใช้วิธีแอพพลายอย่างแยบยล ชักนำจิตนักพรตเหล่านั้นไปสู่สภาวะบริสุทธิ์ได้ กล่าวคือ ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะบังเกิด เขาเหล่านั้นก็กำจัดนิวรณ์ห้าได้เป็นปกติอยู่แล้ว ด้วยอำนาจสมถะ จิตของพวกเขาผ่องใสเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ไม่บริสุทธิ์ ผ่องใสในขณะสงบ ในขณะทำสมาธิแบบนั้น บางคนก็มีฤทธิ์ มีเดช หลงเข้าใจว่า ตนเองสำเร็จอรหัตผล ผู้คนก็พากันนับถือมากมาย แม้แต่กษัตริย์ หารู้ไม่ว่า คนที่เขาพากันเคารพอยู่นั้นทำได้เพียงทำจิตให้ผ่องใสเท่านั้น แต่ยังมีอวิชชาครอบงำอยู่เต็มหัวใจ
นิวรณ์ห้าประการที่ถูกขับเคลื่อนออกจากจิตจากใจในขณะทำสมาธิ ได้แก่ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ และวิกิจกิจฉา กามฉันทะคือ โลภะและราคะ ราคะไม่ได้หมายถึง การมีเพศสัมพันธ์อย่างเดียว ความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส ล้วนเป็นราคะทั้งนั้น พยาบาทคือ โทสะ ส่วนโมหะคือ ความลังเลสงสัย ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ความง่วงเหงา หาวนอน ท่านพุทธทาสเปรียบเทียบให้เห็นง่ายๆ ว่า
อะไรที่อยากได้เข้ามา เรียก ราคะ
อะไรที่อยากผลักไสออกไป เรียก โทสะ
ส่วนโมหะ ท่านว่า เหมือนวิ่งวนรอบอยู่ ไม่หยุด
รวมความแล้ว นิวรณ์ห้าก็คือ กิเลสนั่นเอง เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิก็กำจัดนิวรณ์ห้าได้ แต่กำจัดได้ชั่วขณะ ขณะนั้นจิตก็ผ่องใส เพราะธรรมดากิเลสคือ เครื่องเศร้าหมองแห่งใจ
พระพุทธองค์ตรัสไว้อย่างนี้ (ใครที่เคยทำสมาธิได้ จะเห็นจริงตามนี้) เวลาจิตมันรวมดิ่งลงไป ตอนนั้นมันผ่องใส สงบ สุขจริงๆ เพราะเครื่องเศร้าหมองแห่งใจคือกิเลสถูกขจัดไปชั่วขณะ จริงๆ ไม่ได้ถูกกำจัดหรอก เรา (จิต) ต่างหากที่หนีเข้าไปซุกอยู่กับสิ่งที่เพ่ง บริกรรม ภาวนา กิเลสยังอยู่ครบเหมือนเดิม พอออกมา มันก็โดดชกหน้าตาแหกทันที ผมบอกเสมอว่า สมาธิแบบนี้ เวลาสงบก็ดีอยู่ แต่เวลาไม่สงบ มันจะแรงกว่าคนธรรมดาหลายเท่าเลย มีเยอะไป พระหรือฆราวาสพอเข้าสมาธิแบบนี้ไม่ได้ก็ฆ่าตัวตาย หรือหัวหน้าศาลท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า พอจิตรวมลงไปตัวแข็งไปหมด จะออกก็ออกไม่ได้ กว่าจะออกมาได้ เกือบตาย ถ้าเช้ามามีคนไปพบคนทำสมาธิแล้วนอนตายตัวแข็งอยู่ก็ไม่ต้องสงสัย
แล้วอะไรเล่า ที่จะทำให้กิเลสถูกขจัดไปอย่างถาวร พระพุทธเจ้าท่านสอนสั้นๆ แต่ทำให้คนมีปัญญาบรรลุธรรมเลยทีเดียว ประโยคที่มาไขปริศนา เรื่องการกำจัดนิวรณ์ห้าอย่างถาวรคือ พระพุทธเจ้าตรัสว่า สตินี่แหละเป็นเครื่องกางกั้นกิเลส แต่ก่อนผมก็สงสัยว่า สตินี่นะจะกางกั้นกิเลส ตอนนี้หายสงสัยไปนานแล้ว นิวรณ์ห้ากับกิเลสก็ความหมายเดียวกัน ลองหายใจเข้าลึกๆ ตอนนี้ดู หายใจเข้าให้รู้ หายใจออกให้รู้ ขณะหายใจเข้า รู้ (รู้สึกตัว) ขณะหายใจออก รู้ ขณะนั้นจิตอยู่กับสติ ถ้าท่านทำได้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย ท่านจะเห็นว่า กิเลสหรือนิวรณ์ห้า หรืออารมณ์ทั้งปวงจะถูกจับแยกออกไปอยู่อีกฝั่งหนึ่ง หลวงปู่มั่นจึงสอนหลวงปูชาว่า การปฏิบัติให้ปฏิบัติเป็นวงกลม หมายความว่า ให้มีสติต่อเนื่องตลอดเวลาเป็นวงกลม เมื่อเรามีสติต่อเนื่องตลอดเวลา จะเกิดอะไรขึ้น พระพุทธเจ้าสอนแล้วว่า สติเป็นเครื่องกางกั้นกิเลส ขณะนั้นกิเลสถูกสติกางกั้นออกไปไม่ให้เข้ามายุ่งกับจิตเรา กิเลสกับนิวรณ์ห้าก็อันเดียวกันอย่างที่บอก หมายความว่า เมื่อท่านดำรงจิตให้อยู่กับสติอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย นิวรณ์ห้าก็ถูกกำจัดแยกออกไปเช่นกัน ผลของการที่นิวรณ์ห้าถูกกำจัดหรือแยกออกไปคืออะไร จิตท่านจะเป็นสมาธิขึ้นมา แต่คราวนี้นิวรณ์ห้าหรือกิเลสหรืออารมณ์ทั้งปวง ไม่ได้ถูกกำจัดอย่างที่เข้าใจเช่นเดิม พระพุทธเจ้าใช้คำว่า “กางกั้น” หมายความว่า สติเหมือนพี่เลี้ยงกางกั้นนิวรณ์ห้าหรือกิเลสคือ นักเลงโต ไม่ให้ทำร้ายเรา เราก็เห็นนักเลงโตยืนอยู่ตรงหน้า แต่ทำอะไรเราไม่ได้ เพราะมีพี่เลี้ยงกางกั้นอยู่ ทำนองเดียวกัน กิเลสหรือนิวรณ์หรืออารมณ์ทั้งปวงไม่ได้ถูกกำจัดหายไปไหน มันยังอยู่เฉพาะหน้า แต่ถูกพี่เลี้ยงคือสติกางกั้นไว้ กล่าวคือ เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ (สัมมาสมาธิ) ก็จะเห็นรูป นาม ตามความเป็นจริงนั่นเอง
ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้ พวกฤาษี ดาบส พราหมณ์ทั้งหลายไม่เห็นธรรม เพราะภาวนาแค่จิตสงบแล้วกิเลสนิวรรณ์ อารมณ์ รูป นาม มันหายหมด ไม่เหลือให้เห็น อย่างที่หลวงปู่เทสก์บอกว่า สมาธิหัวตอนั่นแหละ แต่เมื่อพระพุทธเจ้ามาสอนคนพวกนี้ก็พลิกนิดเดียวคือ ยังจิตให้อยู่กับสติ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ลมหายใจเข้า ให้รู้ ลมหายใจออก ให้รู้ อารมณ์ใดๆ เกิด ให้มีสติรู้เท่าทัน สติเป็นเครื่องกางกั้นกิเลส กางกั้นระหว่างจิตกับกิเลส กับนิวรณ์ กับอารมณ์ทั้งปวง
เมื่อนักปฏิบัติเจริญสติจนเกิดสภาวะสติเป็นเครื่องกางกั้นกิเลสขึ้นมาได้ เขาย่อมจะเห็นความจริงว่า โอ้หนอ ! ที่แท้แล้ว กิเลสทั้งหลาย นิวรณ์ทั้งหลาย อารมณ์ทั้งหลาย ที่เราหลงเข้าใจมานานแสนนานว่า นั่นคือเรา แท้จริงหาใช่เราไม่ เป็นเพียงอาการของจิตที่ปรุงแต่งขึ้นมา เกิดแล้วดับๆ อยู่ตรงเฉพาะหน้า ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะ ธัมมันติ เป็นสักแต่เกิดเป็นธรรมดา ดับเป็นธรรมดา เป็นมายา หาแก่นสารตัวตนไม่ได้เลย ดาบส พราหมณ์ทั้งหลาย รวมทั้งโกณฑัญญะ จึงเห็นธรรมด้วยเหตุนี้
สมาธิที่เกิดจากการอบรมสติ จึงเป็นสัมมาสมาธิ เป็นสมาธิที่จะทำให้เรารู้แจ้ง เห็นจริงในรูป ในนาม ในอารมณ์ ในนิวรณ์ ในกิเลสทั้งปวง แต่ก่อนที่จะเป็นสัมมาสมาธิ ต้องผ่านการอบรมสัมมาสติคือ สติปัฏฐานสี่ก่อน
รู้เท่าทันลมหายใจเข้าออก ระลึกรู้ในกาย รู้เท่าทันการเคลื่อนของกาย นี่คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
รู้เท่าทันอารมณ์ยินดี ยินร้าย สุขเวทนา ทุกข์เวทนา และเห็นว่า ไม่เที่ยง ไม่ควรหมายมั่น นี่คือ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
จิตมีราคะรู้ มีโทสะรู้ จิตฟุ้งซ่านรู้ นี่คือ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เอาแค่นี้แหละ จะอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างมันก็รวมลงที่ตรงรู้คือ สตินั่นแหละ ปฏิบัติมาทั้งหมดก็เพื่อสภาวะ “สติเป็นเครื่องกางกั้นกิเลส” เพื่อจะเห็นว่า ที่แท้กิเลสมาจากการปรุงแต่งของจิตหาใช่จิตไม่ ดังที่หลวงตามหาบัวตอนบรรลุพระอนาคามี ท่านเห็นว่า ราคะมาจากจิต แล้วจิตท่านก็หลุดจากราคะในบัดดล เพราะขณะจิตนั้นท่านเห็นชัดแจ้งแล้วว่า ราคะก็ราคะ จิตก็จิต เมื่อเกิดสภาวะสติเป็นเครื่องกางกั้นกิเลสดังนี้แล้ว หากนักปฏิบัติท่านนั้นมีปัญญา ก็จะเห็นว่า กิเลสทั้งปวง อารมณ์ทั้งปวง เกิดแล้วดับ นอกจากจะถือเป็นเราไม่ได้แล้ว ก็ไม่อาจจะถือเป็นของเราด้วย
อะไรที่ดับเสื่อมลงไม่เหลือ จะถือเป็นของเราได้หรือ ดูใบไม้ใบหนึ่งสิ ร่วงลงมา เน่าเปื่อย สุดท้ายไม่เหลืออะไรเลย นี่แหละอนัตตาล่ะ พระพุทธเจ้าแสดงธรรมเรื่อง อนัตตลักขณสูตรให้พวกปัญจวัคคีย์ฟังก็ด้วยอาการอย่างนี้ แม้อารมณ์ กิเลส ทั้งปวงก็เช่นกัน เกิดแล้วดับไป ไม่เหลืออะไรเลย สุขที่เสพเมื่อเช้าตอนนี้ดับหมดแล้ว โทสะที่มีเมื่อวันก่อน ตอนนี้ดับหมดแล้ว ราคะที่มีเมื่อคืน ตอนนนี้ไปไหนแล้ว ทั้งหลายทั้งปวงก็เสื่อมดับไปไม่เหลืออะไรเป็นแก่นสารสักอย่าง ไหนละตัวตนของสิ่งเหล่านั้น หาตัวตนได้ที่ไหน เมื่อหาตัวตนแท้จริงไม่ได้ ต่างล้วนเป็นมารยา ควรแล้วหรือจะพึงหมายมั่น ยึดมั่นว่านั่นคือของเรา ควรแล้วหรือจะหมายมั่นว่าราคะนั้นเป็นของเรา โทสะนั้นเป็นของเรา สุขเวทนาเป็นของเรา ทุกขเวทนาเป็นของเรา ลมหายใจเข้าออกนี้เป็นของเรา กายนี้เป็นของเรา ตายไปก็เผาไม่เหลือซาก ไหนล่ะนายนั่น นางนี่ที่รู้จัก พอตายไป เผาไป ฝังไป สุดท้ายเหลืออะไรบ้าง ไม่เหลืออะไรเลย ต่างจากใบไม้ตรงไหน เห็นอย่างนี้แล้วยังจะยึดมั่น หมายมั่นว่า รูป นาม ขันธ์ห้า อารมณ์ กิเลส นิวรณ์ทั้งปวงเป็นของเราได้อยู่อีกหรือ
ภิกษุปัญจวัคคีย์ได้ฟังเช่นนี้ จิตท่านก็ปล่อยหลุดจากการพันธนาการของกิเลส นิวรณ์ ขันธ์ห้า อารมณ์ทั้งสิ้นทั้งปวง จิตที่เคยผ่องใสอยู่อย่างเดียวเพราะการเพ่งฌาน คราวนี้กลับผ่องใสบริสุทธิ์ขึ้นมาเพราะหลุดพ้นไปด้วยปัญญา เห็นรูป นามตามความเป็นจริง เมื่อหลุดพ้นก็รู้ว่าหลุดพ้น กิจที่ควรทำเพื่ออย่างนี้ๆ ไม่มีแล้ว จบกิจเพียงนั้น จบการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏที่ยาวนานหาต้นหาปลายไม่ได้ บรรลุจุดมุ่งหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาคือ การยังจิตให้บริสุทธิ์
การแสดงธรรมเนื่องในวันมาฆบูชา ๒๕๕๙ ก็พอสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ ธรรมที่แสดงวันนี้ ออกมาเองเป็นธรรมดาเช่นนั้นแล อย่าได้สงสัยอันใดเลย ขอความเจริญในธรรมโปรดมีแด่ทุกท่านด้วย เทอญ