หลักการทำจิตให้มีกำลัง

แสดงธรรมกลุ่ม Natural Mind เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2558
ท่านทรงกลด : เมื่อวานได้คุยกับ ผอ. ศาล แห่งหนึ่ง เลยนึกถึงพวกเรา เผื่อบางท่านเอาไปใช้ แต่บางท่านที่ไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร ถือว่าเล่าสู่กันฟังแล้วกัน บิดา ผอ.ท่านตายไปประมาณยี่สิบปี ผอ. ก็ทำบุญ สวดมนต์ นั่งสมาธิแผ่ส่วนบุญไปให้ แล้วสงสัยว่าบิดาได้รับหรือเปล่า ไปเกิดหรือยัง แต่ไม่เคยพบเคยเจอเลย แม้ฝันถึงก็ไม่มี ผมฟังแล้วเอะใจขึ้นมา เลยถามว่า แผ่ส่วนบุญให้ตอนไหน ท่านบอกว่าก็หลังจากสวดมนต์ ทำสมาธิเสร็จ ผมบอก ลองใหม่นะ ตอนทำสมาธิขณะที่จิตเป็นสมาธิ (ยังไม่ถึงอัปปนาสมาธิหรือถึงก็ถอนออกมา) ขณะนั้นให้แผ่บุญให้เลย ผอ. ท่านก็ลองทำดู ปกติท่านนั่งสมาธิเกือบทุกวัน เมื่อวานคุยโทรศัพท์ น้ำเสียงตื่นเต้น บอกท่านๆ ที่ท่านแนะนำไป ผอ.ลองไปทำดู ปรากฏว่าพ่อ ผอ.มาหาเลย (ในสมาธิ) บอก ยังไม่ได้ไปเกิด ขอบใจที่แผ่บุญมาให้ ประมาณนี้ เผื่อพวกเราเอาไปใช้อุทิศให้ญาติที่ล่วงลับทำไมแต่ก่อน ผอ.ก็ทำสมาธิ แต่ไม่ถึงบิดา เหตุผลก็คือ เมื่อออกจากสมาธิ แล้วมาแผ่ส่วนบุญ ตอนนั้น จิตหมดกำลังแล้ว จิตไม่มีกำลัง กำลังส่งหมด อุปมาจะช่วยคนข้ามถนน ต้องช่วยในขณะที่เรามีเรี่ยวแรงดี ถ้าช่วยตอนเราอ่อนแอ มันช่วยไม่ได้มาก ขณะที่จิตเป็นสมาธิ (ไม่ว่าจะสมาธิแบบใด) ขณะนั้น จิตมีกำลังมาก บุญขณะนั้นก็มากมายมหาศาล ที่ผมเคยบอก ความสงบเป็นยอดแห่งบุญ คือ เหนือกว่าบุญทั้งปวง จิตที่เป็นสมาธินี่แหละบุญใหญ่ และต้องให้ขณะที่อยู่ในสมาธิ จึงได้ผลเร็ว แรง
อย่างที่มีท่านหนึ่งบอกว่า เราเหนื่อยยากในการทำบุญ ทำทาน สร้างวัด สร้างวิหาร แต่สู้มาปฏิบัติฝึกใจไม่ได้ ไม่เช่นนั้นเขาจะเรียงลำดับบุญไว้เป็น ทาน ศีล ภาวนา ทำไม ถ้าท่านไม่มีเงินไปสร้างโบสถ์ วิหาร สร้างพระประธาน ไม่ต้องน้อยใจ บุญที่เกิดจากการปฏิบัตินี่แหละยิ่งใหญ่ที่สุด
พระหลายรูปเมื่อได้สมาธิก็ส่งบุญไปช่วยพ่อแม่ที่ตกนรกอยู่ (ไม่ได้บอกให้เชื่อนะ) ดังนั้น หากเจริญสติ เจริญสมาธิ จนจิตสงบ หากประสงค์จะแผ่บุญให้บุคคลที่ล่วงลับก็ทำได้เลย ถ้าเขาอยู่ในวิสัยที่รับได้ เขาจะได้รับ แต่ถ้าไม่อยู่ในวิสัย เช่น ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็ถือเป็นกรรมของเขา
การสวดมนต์ก็เป็นการทำสมาธิอย่างหนึ่ง เมื่อจิตแนบแน่นกับบทสวดก็เกิดสมาธิขึ้นได้ ขณะนั้นให้แผ่บุญเลย ถ้าท่านสวดจบ ออกมาแล้ว กำลังส่งมันไม่มี จิตหมดกำลังแล้ว
หลักของการทำจิตให้มีกำลัง ไม่เหมือนกับร่างกาย ร่างกายถ้าจะทำให้แข็งแรง เราต้องวิ่งต้องเดิน แต่จิตตรงกันข้าม ถ้าจะทำให้จิตมีกำลัง เราต้องหยุดวิ่งตามอารมณ์ ตามความคิด การทำให้จิตสงบ ก็คือ การทำให้จิตหยุด หยุดวิ่ง เมื่อจิตหยุดวิ่งจิตก็ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว จิตจึงมีกำลัง
การทำจิตให้สงบมีสองแบบ คือ แบบสมถะ เพ่ง บริกรรมภาวนา กับอีกแบบคือ การทำจิตให้สงบด้วยปัญญาหรือวิปัสสนา คือ การพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริง
เรื่องอารมณ์ ความคิด ถ้าเราพิจารณาเห็นความเป็นจริงของมัน จิตก็หยุดเอง หลวงปู่มั่น เมื่อท่านรู้จักความคิดแล้วว่ามันคืออะไร ธรรมชาติเป็นอย่างไร ท่านก็สบาย ท่านแต่งเป็นกลอนไว้ว่า “ถึงจะคิดก็ไม่ห้ามตามวิสัย เมื่อไม่ห้ามก็หายยุ่งหมดฟุ้งไป”
วิสัยของความคิด กับวิสัยของลิงก็เหมือนกัน ท่านไม่ห้ามและไม่วิ่งตาม เมื่อไม่วิ่งตามก็ไม่ฟุ้ง ไม่ยุ่ง
ความคิด อารมณ์นี่สำคัญมาก เคยมีคนรู้จักคนหนึ่ง เป็นนักธุรกิจ รวยมากมีเงินหลายร้อยล้าน เช้าๆ เจอผมสังเกตดูสีหน้าซีดเซียว ก็ถามเป็นอะไร
เขาบอก นอนไม่หลับ มันคิดทั้งคืน คิดนั่นคิดนี่สารพัด คิดไปเรื่อย ผมก็ไม่รู้จะบอกอย่างไร เพราะเขาไม่เชื่อเรื่องการปฏิบัติแต่ชอบทำบุญมาก ต่อมาก็ล้มหมอนนอนเสื่อ ป่วยเข้าโรงพยาบาล นี่เพราะไม่รู้จักความคิด ไม่รู้จักอารมณ์ อันตรายมาก
บางคนที่ป่วยๆ เหตุมาจากคิดนี่แหละ จิตเหนื่อยเพราะวิ่งตามไม่เคยหยุดเลย จนป่วย ล้า เมื่อจิตป่วย ก็ส่งผลมาทางกาย กายจึงป่วยตามไปด้วย โดยเฉพาะมะเร็งนี้ มาจากความคิด ความเครียดทั้งนั้น เราจึงต้องมาอบรมจิตให้รู้จักอารมณ์ ความคิดตามความเป็นจริง จะได้ไม่เครียดมาก ไม่ทุกข์มาก
เรื่องการพิจารณากาย พิจารณาอาการ 32 ถ้าท่านเห็นอันใดอันหนึ่ง จิตใจท่านหรือคุณภาพจิตท่านจะดีขึ้นทันที เพราะอะไร
เพราะท่านจะเห็นว่า กายท่านกับกายคนอื่นมันก็เหมือนกัน สักแต่ว่าธาตุเหมือนกัน ส่วนที่แข็ง เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน กระดูกก็คือ ธาตุดิน ส่วนที่อ่อน เหลว คือ ธาตุน้ำ ที่อบอุ่น ร้อน คือ ธาตุไฟ ที่เคลื่อนไหวพัดไปพัดมา คือ ธาตุลม ต่างกันแต่เพียงรูปลักษณ์ แต่เนื้อแท้มันคือ ธาตุเหมือนกัน สุดท้ายก็ต้องคืนกลับสู่ธรรมชาติเหมือนกัน
ท่านจะไม่ค่อยโกรธใครมากเหมือนก่อน เพราะเนื้อแท้ เขากับเราก็เหมือนกัน คุณภาพจิตหรืออีคิว จะดีขึ้นทันตา
เพลงทะเลใจ ของคาราบาว คนแต่งก็ไม่รู้หรอกว่าเป็นเพลงธรรมะ เพลงท่อนสุดท้าย ที่ว่า ทุกชีวิตดิ้นรนค้นหาแต่จุดหมาย “ใจ” ในร่างกายกลับไม่เจอ ทุกข์ที่เกิดเพราะใจนำพร่ำเพ้อ หาหัวใจให้เจอก็เป็นสุข เพลงนี้เป็นปฏิจจสมุปบาทเลยเชียวนะ เป็นอริยสัจจ์ด้วยทุกข์ ธรรม ทั้งปวงไหลมาแต่เหตุ เหตุคือ ใจนำพร่ำเพ้อปรุงแต่ง
ทุกวันนี้ เราไม่เคยเจอ “ใจ” จริงๆ เลย เพราะมัวหลง เห็นผิดคิดว่าอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดคือ ใจ ใจก็ใจ อารมณ์ก็อารมณ์ คนละอันกัน คาราบาวไม่ได้บอกว่าจะหา “ใจ” เจอได้อย่างไร เพราะพี่แอ๊ดก็คงไม่รู้เหมือนกัน ผมกำลังจะบอกว่า หยุดวิ่งตามอารมณ์ได้เมื่อใด ก็พบ “ใจ” เมื่อนั้น นี่แหละ เราจึงต้องมาฝึกอบรมใจหรือจิตให้หยุดวิ่ง เป็นสมาธิ จะได้เกิดปัญญาเห็นตามจริงเสียที เมื่อพบใจวันใดก็ฉลาดขึ้นมาแล้ว ไม่หลงวิ่งตามอารมณ์ แค่นี้ก็สุขแล้ว เมื่อใดที่เห็นใจ พบใจ เมื่อนั้นชื่อว่าเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน แต่ยังละกิเลสไม่ได้ ยังมีราคะ โทสะอยู่ แต่ฉลาดแล้ว จิตเป็นสุขขึ้นพอควรแล้ว ที่เหลือมันจะเป็นไปของมันเองจนถึงนิพพาน
การจะพบใจ หาใจ เบื้องแรกเลย ที่บอก คือ การพิจารณากายนี่แหละ ยังมีคนอีกมากเข้าใจว่าเรา (จิต) กับกายอันเดียวกัน เมื่อกายดับก็จบเรื่อง อันนี้ มิจฉาทิฐิอย่างร้ายแรงที่สุด เมื่อใดที่เจริญภาวนาจนแยกจิตแยกกายได้ (เห็นด้วยตาใน ในขณะที่จิตสงบ) เมื่อนั้นพระนิพพานก็อยู่ไม่ไกลแล้ว
การพิจารณาอาการสามสิบสอง จนเห็นส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นธาตุ จนจิตหายสงสัย (เหมือนอย่างที่ผมเคยเล่าให้ฟัง เห็นผมร่วงลงไปเป็นดินต่อหน้า (ในสมาธิ) แล้วมีบาลีขึ้นรองรับ จิตหายสงสัยในบัดดล อันนี้ ไม่ต้องเห็นอาการทั้งสามสิบสอง อย่างใดอย่างหนึ่งก็แทนที่เหลือทั้งหมดแล้ว
เมื่อเห็นเช่นนี้ เวลาเราสูญเสียญาติมิตรไป เราจะไม่เศร้าใจมาก ไม่ทุกข์มาก เพราะว่าเราเห็นแล้วว่า ร่างกายนี้สักแต่เป็นธาตุเท่านั้น ญาติมิตรเราไม่ได้เสียไปไหน ยังวนเวียนอยู่ในโลกนี้ (หากยังไม่นิพพานนะ) ที่เสียไป มันคือ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เท่านั้น มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ถ้าเราเห็นตามจริง จิตเราจะสงบ เพราะเห็นแล้วว่า เราไม่ได้สูญเสียเขาไปเลย เราจะรักคนในโลกมากขึ้น จะเห็นเลยว่า ทุกคนคือเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่เจ็บตายจริงๆ จิตใจจะอ่อนโยนลงโดยไม่ต้องกำหนด ที่เคยเที่ยววิ่งไล่รักหลงใครจะน้อยลง สามีไปมีเมียน้อยหรือภรรยาไปมีกิ๊ก เราจะไม่โกรธมาก เพราะไม่มีอะไรที่จะเป็นของใครได้
ลองทำๆ ไปก่อน เมื่อเห็นแล้วจะเห็นว่าสิ่งที่พูดไม่ได้โม้ ขณะเดียวกัน จะทำให้สติเราดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ จิตที่เคยไปวางไว้กับคนนั้นคนนี้ จะถอนกลับมาอยู่กับสติ กับตัวเองโดยปริยายเช่นกัน ก็เห็นแล้วว่า กายรูปนี้ มันไม่มีอะไร เป็นแค่ธาตุทั้งสี่ปรุงแต่งขึ้นมาเท่านั้น
จากในครรภ์ คลอดเป็นทารก เป็นเด็ก เป็นหนุ่มสาว ตอนนี้ก็วัยกลางคน ผมหงอกขาวและกำลังจะแก่ตายไปอีกชาติหนึ่ง ตกลงมันเป็นคนคนเดียวกันหรือเปล่า ไม่หรอก มันเป็นเรื่องของการปรุงแต่งทั้งนั้น เมื่อปรุงแต่งก็ต้องเสื่อมไปเป็นธรรมดา หาแก่นสาร ตัวตนที่แท้จริงไม่ได้ เมื่อเป็นเด็กทารกก็อันหนึ่ง เด็กน้อยก็อันหนึ่ง หนุ่มสาวก็อันหนึ่ง แก่ก็อันหนึ่ง อันไหนกันแน่ที่เป็นตัวตนของเรา เมื่อเห็นว่าไม่มีสักตัวที่เป็นเรา ของเรา จิตจะจางคลายจากความยึดมั่น อุปาทานที่เกาะกุมจิตมีหลายล้านกัปกัลป์ ก็สั่นคลอน คล้ายน็อตที่เกาะสกรูไว้มันยอมคลาย ต่อมาน็อต (จิต) เกิดฉลาดขึ้นมาว่า สกรูที่ยึดไว้นี่ ไม่ใช่ตัวเรา ของเรา มันก็คลายตัวๆ ๆ ๆ ๆ หลุด (พ้น) เมื่อใด ไม่ต้องมีใครมาบอก มันรู้ตัวมันเอง แล้วท่านจะประหลาดใจ เหมือนอย่างที่พระอาจารย์อนันต์บอก จะเห็นคนเดินไปมาเหมือนหุ่นยนต์ ถ้าเห็นว่ากายก็กาย จิตก็จิต ท่านจะเชื่อเรื่องตายแล้วไม่สูญ ชาติก่อนมีจริงไม่จริง โดยไม่ต้องนั่งคิดด้วยตรรกะอีกต่อไป เพราะเห็นชัดแล้วว่า เวลาตาย ที่เราเอาเข้าเตาเผามันไม่ใช่เรา เรานี้ ยังไม่ตายไม่ไหน ยังวนเวียนเที่ยวเกิดตายต่อไปตามเหตุปัจจัย อย่างที่หลวงตามหาบัวบอกยืนยัน จิตนี้ไม่มีวันตาย ที่เกิดตายคือ สังขารทั้งปวงต่างหาก
พระพุทธเจ้าเคยสรรเสริญคุณของการเจริญกายคตาสติไว้มาก คือ ทำให้คนบรรลุธรรม อย่างเรื่องพระไม้กวาดที่เล่าไป อีกเรื่องหนึ่ง ในสมัยพุทธกาล ผมขอตั้งชื่อเรื่องว่า โยมเก่งกว่าพระ คือ มีพระภิกษุกลุ่มหนึ่งประมาณห้าสิบรูป ไปเจริญภาวนาอยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง แล้วก็มีหญิงชาวบ้านคนหนึ่งคอยไปทำบุญถวายอาหาร วันหนึ่งหญิงชาวบ้านก็ไปถวายอาหารตามปกติ แต่วันนั้นพอไปถึงไม่พบใครเลย ก็งงว่า พระหายไปไหนหมด ต่อมาได้พบ จึงถามว่า พระไปไหนกันหมด พระก็ตอบว่า ปลีกตัวไปเร่งภาวนา โยมก็ถามว่า ภาวนาอย่างไร พระก็บอกว่า สาธยายอาการสามสิบสอง โยมก็อยากทำบ้าง จึงถามพระว่า อย่างโยมทำได้ไหม พระบอกได้ แล้วบอกอาการสามสิบสองให้โยมไปภาวนาที่บ้าน โยมกลับไปภาวนาไม่นาน ก็บรรลุอนาคามี พอตัวเองบรรลุ ก็เลยอยากรู้ว่า พระเหล่านั้นมีใครบรรลุธรรมบ้างหรือยัง จึงกำหนดจิตไปดู ก็พบว่า ยังไม่มีใครสำเร็จเลย ก็เลยกำหนดจิตดูว่า เป็นเพราะอะไร (พระอริยบุคคลนี้ ถ้าพบจิตแล้ว ก็ไม่ยากที่จะรู้จะเห็นอะไร เพราะจิตคือ ธาตุรู้) ก็พบว่า อาหารไม่เป็นสัปปายะ หมายความว่า อาหารที่ขบฉันไม่เป็นที่สบายแก่กายแก่ใจ ทำใจให้สงบยาก สัปปายะ ผมแปลของผมว่า ที่ที่สบาย อย่างบ้านพักศาลที่จังหวัดปราจีนบุรีนี้ สัปปายะมาก เงียบสงบ เหมาะแก่การภาวนา เป็นต้น มีอะไรอีกหลายอย่างที่เป็นสัปปายะ ผมจำไม่ได้แล้ว วันหลัง ฝากใครช่วยค้นมาเผยแผ่ก็ดีนะ ผมว่าสำคัญทีเดียว อย่างครูบาอาจารย์เราที่เที่ยววิเวกตามป่าเขา ก็มุ่งหาสถานที่อันเป็นสัปปายะ เหมาะแก่การบรรลุธรรม
กลับมาที่โยม โยมก็ปรุงอาหารที่เป็นสัปปายะไปถวายพระ พระขบฉัน ร่างกายสงบ จิตสงบง่าย ก็ภาวนาจนบรรลุอรหัตผลทั้งหมด
ในความเห็นผม คิดว่าอาหารที่ไม่เป็นสัปปายะ น่าจะได้แก่อาหารที่มีฤทธิ์ร้อน เช่น แกงหน่อไม้ อาหารรสจัด ใส่พริกไทย อาหารเหล่านี้ จะทำให้กามกำเริบง่าย ไม่เหมาะต่อการภาวนา
ต่อมาภิกษุเหล่านั้นก็กลับไปวัดในเมือง ไปเล่าเหตุการณ์ให้พระอื่นฟัง มีพระหนุ่มรูปหนึ่งอยากรู้ว่าโยมคนนี้เก่งจริงหรือเปล่า จึงจาริกมาพักอาศัยในที่ที่พระภิกษุชุดก่อนเคยอยู่ แล้วคิดว่า วันนี้ตนเองอยากฉันอย่างนี้ๆ โยมแกก็รู้วาระจิต ก็จัดมาให้อย่างนั้นๆ ต่อมาพระรูปนั้นก็บรรลุอรหัตผลเหมือนกัน แล้วระลึกชาติย้อนหลังไป ก็พบว่าตนกับโยมคนนั้นเคยเป็นสามีภรรยากันหลายร้อยชาติ โยมที่เป็นหญิงชาวบ้านนั้น ก็ระลึกชาติได้เช่นกันว่า ตนกับพระเคยเป็นสามีภรรยากัน (ผลัดกันเป็นสามีบ้าง ภรรยาบ้าง) พอตอนเช้าก็มาเจอ พูดเล่ากันฟัง แต่เล่าแบบคนไม่มีราคะ โทสะแล้วนะ (พระอนาคามีละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ คือ สักกายทิฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ราคะ โทสะ) เห็นไหม สังสารวัฏเป็นเรื่องที่น่าเบื่อหน่ายจริงๆ
เคยมีเรื่องเล่าว่าหลวงปู่บุดดา ถาวโร (ละสังขารนานแล้ว) ไปเที่ยวกับลูกศิษย์หลายคน แล้วมีหญิงกับชาย สามีภรรยาคู่หนึ่งไปด้วย ไปนั่งใกล้ๆ หลวงปู่ หลวงปู่ก็เปรยๆ ว่า เออ ! คนเรานี่ก็แปลกดี เอาลูกทำผัว (สามี) หมายความว่า สามีของหญิงคนนั้นในชาตินี้ คือ ลูกของเธอในชาติก่อนนั่นเอง
ทีนี้ การพิจารณากายคตาสติ อาจจะทำให้เราบรรลุอานาคามีได้จริงๆ อย่าทำเป็นเล่นไป หากขณะนั้น จิตสงบ มีกำลัง เห็นตามจริงขึ้นมา หลวงปู่มั่น หลวงตามหาบัวก็พิจารณากายทั้งนั้น
ขณะเดียวกัน การเคลื่อนไหวร่างกายก็สำคัญ ยืน เดิน นั่ง นอน ให้มีสติตลอด (พยายาม) ให้อยู่กับความรู้สึกตัวทั่วพร้อม กลางวันก็พิจารณาอารมณ์ด้วยไตรลักษณ์ ไม่ว่าอารมณ์ยินดีหรือยินร้าย นั่งสมาธิ ก็ใช้อานาปานสติ หายใจเข้าออก ให้รู้ ลมดับไป เห็นความไม่เที่ยงของลม อารมณ์ ความคิด ใดๆ เข้ามา ขบเคี้ยวด้วยคำว่า ไม่เที่ยงๆ มันเชื่อมโยงสัมพันธ์กันไปหมด
การรู้เท่าทันอารมณ์ คือ เวทนานุปัสนาสติปัฏฐาน เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ พระองค์เสด็จไปสอนปัญจวัคคีย์ ก็สอนเรื่องอารมณ์ยินดียินร้าย พระองค์บอก สมณะ ทางสองทางที่ไม่ควรเดิน ทางหนึ่งคือ กามสุขัลกานุโยค คือ การหมกมุ่นในความสุข สุขเวทนา อารมณ์ยินดี ความชอบใจทั้งปวง อีกทางหนึ่งก็คือ อัตตกิลมิถานุโยโค คือ การทำตนให้ลำบาก ความไม่ชอบใจ ทุกขเวทนา อารมณ์ยินร้ายทั้งปวง สองทางนี้ สมณะไม่ควรเดิน พระองค์กำลังสอนเหล่าปัญจวัคคีย์เรื่อง การวางใจนั่นเอง ว่าไม่ควรวางใจไว้กับอารมณ์ยินดี คือ สุขเวทนา ไม่ควรวางใจไว้กับอารมณ์ยินร้าย คือ ทุกขเวทนา ขณะนั้นเอง พราหมณ์โกณฑัญญะ จิตของท่านก็เปลี่ยนที่อยู่ใหม่ จากเดิมเคยอยู่กับสุข กับทุกข์ จิตท่านละมาอยู่ตรงความรู้สึกกลางๆ คือสตินั่นเอง จิตตั้งมั่นขึ้นมา หยุดวิ่งตามอารมณ์ไม่ว่าดีหรือร้าย พอจิตตั้งมั่น จิตก็แยกออกจากอารมณ์ เห็นจิตก็จิต อารมณ์ก็อารมณ์ เห็นอารมณ์เกิดดับอยู่ตรงหน้า จึงอุทานว่า ยังกิญจิ สมุทยธัมมัง สัพพันตัง นิโรธธัมมันติ สิ่งใดเกิดเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา จะถือเป็นเรา เป็นเขาไม่ได้เลย จิตโกณฑัญญะเห็นธรรมด้วยเหตุนี้ พระศาสดาจึงอุทานว่า โกณฑัญญะรู้แล้วหนอๆ ได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน พระอริยบุคคลคนแรกในพระพุทธศาสนา
ลองพยายามกันดู ผมก็ใช้แค่นี้แหละ กายคตาสติ อิริยาบถ อานาปานสติ และรู้เท่าทันอารมณ์ (เวทนา)