ถาม-ตอบ

หลวงปู่มั่น หลวงตามหาบัว หลวงปู่หลุยพิจารณากาย

แสดงธรรม  กลุ่มต้นบุญ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559

 

ท่านทรงกลด : หลวงปู่มั่นเพ่งกายมิได้เพ่งเพื่อความยึดมั่นในกาย  แต่เพ่งเพื่อให้เห็นตามความเป็นจริงของกาย เพื่อจะถ่ายถอนความเห็นผิด ถ่ายถอนความยึดมั่นในกายว่าหาใช่เรา ของเราไม่  อันว่า เพ่งคือ ฌาน ฌานคือ การเพ่ง เพ่งแล้วชิน ติดตา หากไม่ใช่เป็นการเพ่งด้วยสติ ด้วยปัญญา ด้วยการรู้เท่าทันต่อสิ่งที่เพ่ง ก็จะหลงเข้าไปติดกับการเพ่ง กับฌานนั้นได้   นี่คือกับดักของนักภาวนาที่ติดตรงนี้เยอะมาก  

หลวงปู่มั่นตอนแรกก็ภาวนาบริกรรม เกิดนิมิต ติดในนิมิต  เห็นตนเองท่องเที่ยวอยู่ในนิมิต คืนนี้ไปถึงตรงนั้น คืนนั้นไปถึงตรงนี้ เป็นอย่างนี้อยู่สามเดือน  ท่านว่า มันไม่จบ มันไปเรื่อยๆ ไม่รู้จะจบเมื่อใด ท่านก็มานั่งพิจารณาว่า เออ! สงสัยผิดทางละกระมัง คราวนี้ ท่านเอาใหม่ เอาอาการสามสิบสอง ผม  ขน  เล็บ  ฟัน  หนัง  มาพิจารณา  เอาน้ำเลือด น้ำหนอง กระดูก ม้าม ตับ ไต ไส้  ปอด  มาพิจารณา มาเพ่งดู ก็เห็นตามความเป็นจริงของอาการสามสิบสองหรืออวัยวะน้อยใหญ่เหล่านั้นว่า ที่แท้เป็นสักแต่ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เท่านั้นเอง  พวกกระดูกก็เป็นธาตุดิน พวกน้ำดีก็เป็นธาตุน้ำ ลมหายใจก็เป็นธาตุลม สูดเข้าขึ้นลงในร่างกาย  ตัวตนของร่างกายจริงๆ อยู่ที่ไหน นี่! ท่านพิจารณาเพ่งอย่างนี้  พอเห็นอย่างนี้มันจึงจบ ท่านว่า มันจบ จิตไม่ส่งนอกไปตามนิมิตพาเที่ยวอะไรอีก  คราวนี้ท่านก็รู้ของท่านเองโดยไม่ต้องมีใครมาบอกเลยว่า เออ! มันถูกแล้ว ก็เพราะเมื่อท่านเพ่งพิจารณาเห็นตามความเป็นจริงของร่างกายดังกล่าวแล้วว่า เป็นเพียงสักแต่ว่าธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม จะหาตัวเราได้ที่ไหน จิตท่านก็วาง ไม่ยึดมั่นหมายมั่นในกายนั้นนอีกต่อไป  หลวงปู่มั่นเพ่งกายมิได้เพ่งเพื่อความยึดมั่นในกาย  แต่เพ่งเพื่อให้เห็นตามความเป็นจริงของกาย เพื่อจะถ่ายถอนความเห็นผิด ถ่ายถอนความยึดมั่นในกายว่า  หาใช่เรา ของเราไม่  

หลวงปู่มั่นเมื่อท่านเพ่งกายดังกล่าวเป็นนิมิตแล้ว ท่านไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น  ท่านพิจารณาด้วยไตรลักษณ์ให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นั่นแหละ ท่านจึงปล่อยวางกายลงได้ ท่านเพ่งเพื่อปล่อยวาง ไม่ได้เพ่งเพื่อเข้าไปยึด ท่านเพ่งด้วยวิปัสสนาญาณ ไม่ได้เพ่งด้วยสมาธิหัวตอ  ผมเคยบอกหลายครั้งว่า การพิจารณากายนี้ให้ระวัง  พอเราพิจารณาไป  จิตได้ที่มันจะปรากฏให้เห็นขึ้นในจิต หากไม่รู้เท่าทันไปยึดหมายมั่น มันจะเป็นฌานโดยไม่รู้ตัว พอนึกขึ้นมาปั๊บ เช่น เพ่งกระดูก พอนึกปุ๊บ กระดูกใสเป็นแก้วก็มาปรากฏ ขณะนั้นกิเลสหายไป มันสุขมาก  ก็เลยเข้าใจว่า  ตนบรรลุธรรมแล้ว  เพราะกิเลสหายไปหมด  

ผมก็เคยเล่าเรื่องหลวงตามหาบัวบ่อยๆ ว่า พอท่านออกจากพุทโธมาพิจารณากาย จนจิตกับกายรวมเป็นหนึ่ง กิเลสหายไปหมดเลย ถ้าเป็นคนไม่มีปัญญาก็เข้าใจว่า ตนเองบรรลุอรหัตผลแล้ว  วันหนึ่งท่านก็มานั่งทบทวนว่า เอ! กิเลส มันหายไปตอนไหนหว่า วันไหนคืนไหน มันต้องปรากฏสิ นี่มันหายไปเฉยๆ  เพราะจิตกับกาย (กายคตาสติ) ท่านเป็นหนึ่งเดียวตลอดเวลา คืนต่อมา ท่านลองใหม่ ลองกำหนดเป็นภาพสาวงาม (ท่านใช้คำว่า สุภะ) พอจิตเห็นภาพสาวสวยเท่านั้น ราคะก็กำเริบเลย ท่านจึงรู้ว่า อ้าว! มันยังอยู่นี่  ไอ้ราคะ  มันซุกซ่อนอยู่  มันไม่ได้หมดไปนี่หว่า ท่านจึงออกอุบายทางปัญญา เอาภาพสุภะนั้น เอาอารมณ์ราคะนั้นมาพิจารณาดู จึงเห็นว่า จิตท่านเองปรุงแต่งอารมณ์ราคะ  ปรุงแต่งภาพนั้น  พอเห็นอย่างนั้น จิตท่านก็หลุดผลั้วะออกมาจากอารมณ์ราคะนั้น (ออกมาจากจิตที่ปรุงแต่งเป็นราคะ)  เพราะท่านเห็นแล้วว่  อะไรที่ปรุงแต่ง (สังขาร) ย่อมไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ จิตท่านจึงออกมาจากอาการของจิตที่ปรุงแต่งนั้นเอง บรรลุอนาคามีตรงนี้เอง

ส่วนใหญ่หลวงปู่มั่นจะสอนให้ศิษย์พิจารณากายนะ เท่าที่เห็น  “อย่าส่งจิตออกไปข้างนอก ให้ดูอยู่ที่กาย ให้รื้อค้นร่างกายนี้ให้ชัดแจ้ง ให้รู้ว่าร่างกายมันมีอยู่   จึงทำให้เกิดทุกข์   ก็ร่างกายนี้แหละ  ที่ทำลายความสงบสุข   มันทำให้เกิดเป็นที่รับโรค  รังหนอนอย่างใหญ่หลวง   ไม่เลือกละว่าร่างกายของใคร   ถ้าพิจารณามองให้เห็น ตัดให้ขาดจากร่างกายนี้  จริงๆ แล้วจะพบกับความสงบสุขถาวรตลอดไป”  นี่คือ โอวาทธรรมของหลวงปู่หลุย จันทสาโร  ลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่น  

เห็นไหม หลวงปู่หลุยก็บอกให้พิจารณากาย กายนี้อย่าคิดว่าเป็นผม ขน  เล็บ  ฟัน  หนังอย่างเดียวนะ  แม้ลมหายใจก็เป็นกายอย่างหนึ่ง  จัดอยู่ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน บางคนมักจะมีภาพอสุภะปรากฏในขณะทำสมาธิ ก็เพราะเคยพิจารณามาก่อน ถ้าเห็นอสุภะก็เอาอสุภะที่เห็นนั่นแหละเดินไตรลักษณ์เลย  ใส่ปัญญาเข้าไป  วันหนึ่งจิตหลุดออกมาผลั้วะแบบหลวงตามหาบัวนั่นแหละ อนาคามีผลล่ะ  อย่าไปเริ่มต้นภาวนาอะไรใหม่ๆ เอาของเก่าที่เคยทำมานั่นแหละ มาใช้ให้เป็นประโยชน์  ถ้าคุ้นทางนี้อยู่แล้วจะไปเดินทางใหม่ทำไมให้เสียเวลา

เรื่องฌานก็อย่าไปสนใจเลย  เป็นเรื่องของพวกฤษีชีไพร  เรื่องสติ  เรื่องสมาธิ  เป็นเรื่องของพระพุทธเจ้า  ฌานก็ฌาน สมาธิก็สมาธิ คนละอันกันนะ  ตอนแรกผมก็สงสัยในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานว่า  ทำไมพระพุทธเจ้าจึงสอนว่า จิตเป็นมหรคต (ฌาน) ก็ให้รู้  จิตเป็นสมาธิก็ให้รู้  ตอนนั้นก็โง่นะ เข้าใจว่า ฌานกับสมาธิอันเดียวกัน  พอมารู้เห็นว่าอะไรเป็นอะไร อ๋อ! มันต่างกันนี่นา คนละเรื่องกันเลย  มิน่าล่ะ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า จิตเป็นฌานก็ให้รู้  จิตเป็นสมาธิก็ให้รู้  หมายถึงว่า  จิตเป็นฌานให้ออกจากฌานมาอยู่กับรู้  เมื่อออกจากฌานมาอยู่กับรู้  จิตก็เป็นสมาธิ  รู้นี้ก็คือสติ สติตัวเดียวกับหายใจเข้ารู้ หายใจออกรู้นั่นแหละ  

ถ้าปฏิบัติไปจนถึงเห็นธรรม เข้าสู่โลกุตรมรรค รู้หรือสตินี้จะมาเอง โดยแทบไม่ต้องกำหนดเลย แปลกมาก จะรู้พร้อม รู้เท่าทันนะ ไม่ใช่รู้เฉย  เป็นรู้ที่กอปรด้วยปัญญา   ส่วนสมาธินะหรือ  เมื่อจิตมันรู้พร้อม รู้เท่าทันตลอดเวลา มันก็เป็นสมาธิอยู่ในตัว  จิตมันจะตั้งมั่น  ไม่หวั่นไหวไปตามโลกธรรมแปด  นี่คือในขณะที่รู้หรือมีสติขึ้นมานะ  โลกธรรมแปดจะทำอะไรจิตไม่ได้   จิตที่เป็นสมาธิคือ  จิตที่มั่นคง  ไม่หวั่นไหวตามไปโลกธรรมทั้งหลาย  ข้อที่สำคัญที่สุด  สมาธิหมายถึงจิตที่ตั้งมั่น  ตั้งมั่นด้วยสติ  ด้วยปัญญา  ส่วนฌานคือ  การเพ่งภาวนา  บริกรรมจนจิตรวมลงไปเป็นเอกคตารมณ์ เมื่อออกมาจากการเพ่งภาวนาก็ยังโง่เหมือนเดิม เพราะขาดสติ ขาดปัญญา

สติปัญญาเมื่ออบรมด้วยดีจะยังจิตให้เป็นสมาธิได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ใดถูกโลกธรรมทั้งหลาย (ทั้งดีหรือร้าย) กระทบกระทั่งแล้วจิตไม่เศร้าโศก   ไม่หวั่นไหว   เกษม   มั่นคง   ปลอดโปร่ง    จิตเป็นสมาธิ  หมายความว่า เมื่ออารมณ์ยินดี (ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข) กระทบใจ ก็ให้มีสติรู้เท่าทันว่า  อารมณ์ยินดีนี้ไม่เที่ยงแท้แน่นอนไปได้   เกิดได้ก็เสื่อมได้  เมื่ออารมณ์ยินร้าย ฝ่ายร้ายคือ  เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ มากระทบ ก็ให้มีสติรู้เท่าทันว่า แม้อารมณ์ฝ่ายร้าย (ยินร้าย) นี้ก็ไม่เที่ยงแท้แน่นอนไปได้ เกิดได้ก็เสื่อมได้  เป็นอนิจจังโดยแท้

เมื่อจิตเห็นเช่นนี้ก็ย่อมไม่เข้าไปหมายมั่น ทั้งอารมณ์ฝ่ายดีหรือฝ่ายร้าย เมื่อไม่เข้าไปหมายมั่นอยู่เนืองๆ วันหนึ่งจิตจะตั้งมั่นขึ้นมาเป็นสัมมาสมาธิ ตรงสัมมาสมาธิตรงนี้เแหละจะรู้ธรรม เห็นธรรมขึ้นมา  แต่จะมาถึงตรงนี้ได้ เราจะต้องฝึกสติให้มีกำลังเพียงพอ  จึงจะเอาอารมณ์ฝ่ายดี  ฝ่ายร้ายอยู่  ถ้าไม่เคยฝึก  หรือฝึกไม่ดี  ไม่มีทางจะรู้เท่าทัน ไม่มีทางจะเอาอารมณ์ที่ว่าอยู่ได้ 

วิธีการฝึกสติก็คือ ดึงจิตกลับมาอยู่กับลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าให้รู้  หายใจออกให้รู้ หรือยืน เดิน นั่ง นอนให้รู้ รู้สึกตัวอยู่เนืองๆ  ถ้าใจลอยไปโน่น นี่ นั่น ก็ดึงกลับมาอยู่กับลมหายใจ อยู่กับสติ  ก่อนนอนก็พิจารณากายบ้าง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ดูซิ มันสวยงามหรือสกปรก มันเที่ยงหรือไม่เที่ยง มันใช่เรา ของเราจริงหรือ

อารมณ์ยินดียินร้ายเกิด แรกๆ จะไม่รู้ทันหรอก จะจมปลักหรือหลงระเริงอยู่กับมันพักหนึ่ง แต่ก็ต้องฝึกให้รู้เท่าทันเช่นกัน

รู้คือสติ เท่าทันคือปัญญา ปัญญาที่เห็นว่า เออ! ไม่ว่าอารมณ์ไหน ฝ่ายดีหรือฝ่ายร้าย  มันก็ไม่แน่ไม่เที่ยงไปได้สักอารมณ์หรอก

หากเห็นเช่นนี้ จิตมันจะออกมาจากอารมณ์นั้นๆ โดยไม่รู้ตัวก่อน แต่เมื่อฝึกๆๆๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้น วันหนึ่ง เมื่อเห็นจิตมีกำลังเข้มแข็งด้วยอำนาจของสติ จะเห็นจิตประกาศความเป็นอิสระจากอารมณ์อย่างน่าอัศจรรย์ จิตจะเริ่มเป็นไทขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมเคยเป็นทาสชนิดโงหัวไม่ขึ้น พออารมณ์ยินดีมากระทบ ก็วิ่งเต้นระเริงไปกับมัน เพ้อฝัน ล่องลอย ไร้สติ  พออารมณ์ยินร้ายมากระทบ ก็ซบหน้าอยู่กับฝ่าเท้ามันแรมวัน แรมเดือน จมปลักเศร้าโศก พิไรรำพัน โทษโชคชะตาฟ้าดิน  ไม่เคยโทษตัวเองว่า เคยทำกรรมไม่ดีอะไรไว้บ้างจึงได้รับผลเช่นนี้  นี่! เราตกเป็นทาสของโลกธรรมแปดมานานหลายกัปกัลป์แล้ว ถึงเวลาประกาศอิสรภาพได้แล้ว

จะยอมให้มันกดหัวอยู่อย่างนี้ไปตลอดอยู่ได้อีกหรือ คนที่เขาประกาศอิสรภาพได้สำเร็จ มีพระพุทธเจ้า หลวงปู่มั่น หลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ชา หลวงตามหาบัว หลวงปู่หลุย ฯลฯ  ท่านต่างก็ไม่ใช่ใครอื่น ลูกชาวนาทั้งนั้น  ท่านยังทำได้เลย  เพียงแต่ท่านทำจริง เอาจริง เอาชีวิตเป็นเดิมพัน ท่านจึงได้ของจริง ใครจะเหลาะแหละ  โลเล ก็ปล่อยไป ขอให้เราเอาจริง เฝ้าแก้ไขตัวเองก็พอ แล้วอย่าไปเชื่อว่า นิพพานนี่คงเหงา มาคนเดียวไปคนเดียว ไม่เหลือใคร ไม่มีสังคม จะอยู่กับใคร  ที่ท่านบอกว่า มาคนเดียวไปคนเดียว หมายถึงว่า ไปนิพพาน  ไม่ได้แห่แหนตามกันไป คนที่ทำจึงจะไปได้ ไม่ได้หมายถึงว่า มาคนเดียว แล้วไป (นิพพาน) อยู่คนเดียว นิพพานเป็นสภาวะอย่างหนึ่ง ที่จิตบริสุทธิ์ของพระอริยเจ้าทั้งหลายท่านอยู่กัน แต่บอกไม่ได้ว่าที่ไหน หน้าตาเป็นอย่างไร  แต่ขอให้เชื่อว่า พ่อแม่ญาติพี่น้องของเรามากมายล่วงหน้าไปรอเราอยู่นานแล้ว แล้วเราจะรออะไรอีก จะรอเพื่อนรอฝูงที่ใจคอโลเล เอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้กระนั้นหรือ มันจะเสียเวลาเปล่าๆ มุ่งแก้ไขตนเองนี่ดีที่สุด โลกนี้ไม่มีอะไรหรอก ถ้าจะมีก็มีแต่เรื่องไร้สาระ ไร้แก่นสาร เป็นภาพมายาหลอกคนเขลาเท่านั้น คนมีปัญญาจะข้องอยู่ในโลกนี้ทำไม  ถ้าเป็นคนมีปัญญาจะเห็นว่า โลกนี้ไม่มีอะไร คำว่า “ไม่มีอะไร” นี่แหละ คือ  อนัตตา  เราเองเมื่อตายไปเขาก็เผาเสียสิ้น  แม้กระดูกที่เป็นเถ้าถ่านเขายังเอาไปลอยทิ้งทะเลเลย  จึงอย่าหมายมั่นให้มากนักเลย  ใครเล่าจะล่วงรู้วันตายที่จะมาในวันพรุ่ง มีคนไม่น้อยออกจากบ้านไป แล้วไม่ได้กลับมานอนที่นอนเดิม หมอนใบเดิม ไม่รู้ว่าวันนี้ออกจากบ้านจะเป็นวันสุดท้ายที่ได้ออกหรือเปล่า รู้อย่างนี้แล้วอย่าพากันประมาทอยู่เลย  เร่งเจริญสติปัญญา เร่งพากันภาวนาเถิด