หยุดขุ่นก็ใส หยุดวุ่นก็ว่าง

แสดงธรรม กลุ่มต้นบุญ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2558
ผู้ปฏิบัติ : หากมีสมาธิดีจนเหมือนหยุดนิ่งได้ จิตย่อมเห็นอารมณ์ที่เคลื่อนไหวเหมือนน้ำในสระที่นิ่ง ย่อมเห็นตะกอนที่ก้นสระได้ใช่ไหมคะ
ท่านทรงกลด : ถูกต้องแล้ว หยุดขุ่นก็ใส หยุดวุ่นก็ว่าง ไม่ต้องหาที่ไหน อยู่ที่ใจเรานี่เอง หลวงปู่รูปหนึ่งเคยบอกไว้ เมื่อจิตหยุดนิ่งก็จะเห็นบรรดาตะกอนทั้งหลายที่อยู่ก้นสระ ตะกอนนั้นก็คืออารมณ์ทั้งปวง ตะกอนแยกออกจากน้ำที่ใส จะเห็นว่า น้ำก็น้ำ ตะกอนก็ตะกอน ตะกอนไม่ใช่น้ำ น้ำไม่ใช่ตะกอน ตอนที่มันยังไม่หยุด เราดูไม่ออกหรอกว่า อันไหนน้ำ อันไหนตะกอน ต่อเมื่อเจริญสติจนจิตหยุดได้นั่นแหละ จึงเห็นคนที่ฝึกสติมีสมาธิดี จะเห็นอารมณ์ได้ง่ายกว่าปุถุชนคนธรรมดา คนธรรมดาไม่เคยฝึกสมาธิ ไม่เคยฝึกสติเลย พออารมณ์เกิดก็วิ่งตามไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่คนที่มีสมาธิดี จิตละเอียด จะเห็นอารมณ์ได้ชัด
พวกปัญจวัคคีย์ พวกนี้ไม่ได้ไปนอนเล่นที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน หายใจทิ้งไปวันๆ นะ ท่านก็ฝึกสมาธิไปตามเรื่องของท่านอยู่ พอพระพุทธเจ้ามาเทศน์เรื่องอารมณ์สองฝั่งคือ ฝั่งสุข เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค กับฝั่งทุกข์คือ อัตตกิลมถานุโยค พระพุทธเจ้าบอกว่า อารมณ์ทั้งสองฝั่งไม่ควรเข้าไปข้องแวะนะ ชี้ให้เห็นโทษของอารมณ์ทั้งสอง จิตท่านก็ละเอียดเป็นสมาธิอยู่แล้ว ก็เห็นอารมณ์ชัด เข้าใจทันที จิตก็ออกมาจากอารมณ์ทั้งสอง มาตั้งมั่นอยู่กับรู้ (สติ) แยกจิตออกจากอารมณ์ทั้งสุขและทุกข์ได้เด็ดขาด
พระโกญฑัญญะเห็นคนแรก รู้ว่า อ้อ ! สุขและทุกข์ที่เราหลงเข้าใจว่าคือเรา ของเรา ที่แท้ไม่ใช่นี่นา เราหลงวิ่งตามมันมาหลายล้านกัป รู้ว่า เออ ! อารมณ์ทั้งปวงจะถือเป็นเรา ของเราไม่ได้ ก็เลยกลายเป็นพระอัญญาคือ รู้แล้วหนอๆ
พวกเรานี้หากไม่ทิ้งการดูลมหายใจทุกวันๆ จะต้องเป็น “อัญญา” สักวันอย่างแน่นอน เพราะเมื่อท่านมีอารมณ์โกรธ อารมณ์ชัง ท่านก็ไม่เอา นี่ ท่านมาอยู่กับรู้ลมหายใจเข้าออก เวลาท่านมีอารมณ์ยินดี ชอบ รัก ท่านก็ไม่เอาเหมือนกัน ท่านก็มาอยู่กับรู้ลมหายใจเข้าหายใจออกเสีย นี่แหละทางสายกลางของแท้ล่ะ หากท่านทำได้แบบนี้อยู่เนืองๆ สักวัน ท่านต้องเป็น “อัญญา” เหมือนพระอัญญาโกณฑัญญะอย่างแน่แท้ ผมขอรับรอง
ใครอ่านเยอะๆ ผมก็อยากจะเตือนว่า ทิ้งตำรามาอยู่กับลมหายใจดีกว่า ถ้อยคำของพระพุทธเจ้ากี่เล่มๆ ที่รวบรวมพิมพ์ขายอยู่ ไม่สู้รู้เท่าทันลมหายใจเพียงครั้งเดียว นี่แหละคือจุดตายล่ะสิบอกให้ จะมีประโยชน์อันใดที่ท่านอ่านหนังสือเป็นร้อยเล่มแต่ไม่เคยรู้เท่าทันลมหายใจที่หายใจเข้าออกทุกวันเลยแม้แต่ครั้งเดียว ไม่เคยรู้เท่าทันอารมณ์เลยแม้แต่อารมณ์เดียว อ่านหนังสือเป็นร้อยเล่ม แล้วหายใจทิ้งไปวันๆ นั่นคือการสูญเปล่า ความรู้ ความเห็นในธรรม ไม่อาจจะสำเร็จได้ด้วยการอ่าน อ่าน และอ่าน แต่อยู่ที่การรู้ รู้ และ รู้
มีคำสอนของพระอาจารย์รูปหนึ่งกล่าวว่า รู้เท่า แค่นี้จริงๆ การปฏิบัติรู้เท่าทันลมหายใจ รู้เท่าทันอารมณ์ พอโกรธก็มารู้เท่าทันลมหายใจ นิพพานไม่ต้องไปหาที่ไหน ไม่ต้องทำบุญจนหมดตัว อยู่ที่ปลายจมูกเรานี่เอง ตำราก็อย่าง ทำก็อย่าง มันต้องฝึกลงสระน้ำ อ่านตำราอยู่ข้างสระน้ำไม่มีวันว่ายน้ำเป็น บางทีอ่านตำราลงสระน้ำแล้วก็ยังว่ายไม่เป็นนะ เขาถึงต้องมีครูสอนว่ายน้ำไง แต่สมัยก่อน จับโยนลงน้ำ บางคนก็ว่ายได้เลยนะ ผมว่า เด็กใต้หลายๆ คนเป็นเหมือนผมนะ ว่ายน้ำไม่เป็น บ้านอยู่ใกล้คลอง เพื่อนผลักลงน้ำ ว่ายเป็นเลย กลัวตาย
ยิ่งสมัยนี้ ตำราว่ายน้ำมีเยอะเหลือเกิน อ่านตำราแล้วโดดลงน้ำ ตายไปเยอะแล้วนะ ตำราจึงสู้ของจริงไม่ได้ ของจริงก็คือ สติปัฏฐานสี่นั่นแหละ ผมบอกเสมอว่า การปฏิบัติไม่ว่าแนวไหนๆ ถ้าอิงสติปัฏฐานสี่ถือว่าใช้ได้หมด จะดูกาย ดูลมหายใจ ยืน เดิน นั่ง นอน ให้อยู่กับรู้ นี่ ใช้ได้หมด ถึงบอกว่า นิพพานอยู่ใต้จมูกเรานี่เอง ลมหายใจเข้ากระทบก็รู้แล้ววาง อารมณ์กระทบใจก็รู้แล้ววาง มันจะสอดคล้องกันไปเป็นอัตโนมัติ เมื่อเจริญได้ในระดับหนึ่ง การรู้เท่าลมหายใจจะนำไปสู่การรู้เท่าอารมณ์ทั้งปวง ระดับต่อไป มันจะวางของมันเอง กระทบแล้ววางๆ ๆ ๆ ๆ ทั้งลมหายใจและอารมณ์ มันจะว่างและไม่ว่างในเวลาเดียวกัน ที่ว่างคือใจ ที่ไม่ว่างคืออารมณ์ มันจะแยกกันทำหน้าที่ หน้าที่ใครหน้าที่มัน ต่อไปก็ต่างคนต่างอยู่จนกว่าขันธ์จะดับ ดับขันธ์ก็จะเหลือแต่ความว่าง จบกันเพียงนี้สังสารวัฏที่ยาวไกลคือ นิพพาน จิตบริสุทธิ์