สัมมาทิฏฐิที่แท้จริง

แสดงธรรม กลุ่ม Natural Mind เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558
ท่านทรงกลด : ความเห็นทางธรรมหรือความเห็นชอบหรือสัมมาทิฏฐิ มันเห็นคนละทางกับชาวโลกเขา เขาเรียกว่า เห็นตามความเป็นจริง ถ้าเห็นตามความเป็นจริง จิตจะสงบเอง โดยไม่ต้องเพ่ง บริกรรม บังคับมัน
ทุกวันนี้เรานั่งภาวนา ไปจับลิงมาขังไว้ในกรง สมาธิที่เล่าเรียนกันมาส่วนใหญ่ไม่ใช่สมาธิ แต่ส่วนใหญ่เป็นฌาน ซึ่งพราหมณ์สมัยก่อนเล่นกันอยู่แล้วก่อนที่พระองค์จะมาตรัสรู้ ถ้าใครไม่เชื่อ ลองไปดูสติปัฏฐานสี่ ในหมวดจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ท่านแยกไว้ชัด จิตเป็นมหรคตหรือจิตเป็นใหญ่ จิตเป็นฌานกับจิตที่เป็นสมาธิ ท่านแยกไว้
สมาธิคือ ความตั้งมั่นของจิต ซึ่งเราแปลกันถูก แต่ไม่เข้าใจ เพราะไม่เคยเห็นกัน
ส่วนการเพ่ง บริกรรมภาวนาให้จิตแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อให้จิตรวมลงไป นั่นคือ ฌาน
สัมมาสมาธิคือ สมาธิที่เกิดจากการอบรมสติปัฏฐานสี่ มีสติอยู่ที่สัมมาทิฏฐิหัวขบวน ก่อให้เกิดสัมมาสมาธิที่ท้ายขบวนในมรรคมีองค์แปด
การมีสติเป็นสัมมาทิฏฐิก็เพื่อให้เกิดความเห็นชอบ เห็นตามความเป็นจริงว่า ขันธ์ห้า อารมณ์ทั้งปวงจะถือเป็นเราไม่ได้ เอาแค่เป็นเราก่อน เมื่อใดที่เจริญสติปัฏฐาน 4 เต็มรอบของมัน จิตกับสติจะรวมกันเป็นหนึ่ง แยกขันธ์ห้า อารมณ์ออกมาให้เห็น จะเห็นอารมณ์เกิดดับอยู่ตรงหน้า (จิต) ยังกิญจิ สะมุทะยะ ธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะ ธัมมันติ เห็นอารมณ์เกิดเป็นธรรมดา ดับไปเป็นธรรมดา จะถือเป็นสัตว์ บุคคล ตัวเรา เขา หาได้ไม่ หลวงปู่ชาเรียกว่า น้ำไหลนิ่ง ท่านเขมานันทะก็เรียก น้ำไหลผ่าน หลวงปู่ดูลย์เรียกว่า คิดเท่าไร ไม่มีวันรู้ จะรู้เมื่อหยุดคิด แต่ถ้าไม่คิดก็ไม่รู้ หลวงปู่มั่นบอกว่า รู้จิตต้นพ้นโหยหวล ศิษย์หลวงพ่อเทียนคนหนึ่งบอกว่า จะเห็นเหมือนลูกปืนหมุนอยู่กลางแกน แกนนั่นแหละคือ จิตที่ตั้งมั่น ส่วนที่ทำสมาธิแล้ว อารมณ์หายไป เหลือแต่ความว่าง สว่างไสว ไม่มีอะไร ว่างเปล่า แล้วจะเอาอะไรมารู้เล่า
พระพุทธเจ้าตอนตรัสรู้ธรรมใหม่ ๆ คนแรกๆ ที่ท่านจะสอนคือ อุทกดาบสและอาฬารดาบส แต่พอกำหนดจิตดู อ้าว ! ท่านทั้งสองตายแล้ว บัดนี้ ไปเกิดเป็นอรูปพรหม ว่าง หาตัวตน (ขันธ์) อะไรไม่ได้ ท่านก็อุทานมาว่า ฉิบหายแล้ว คำว่า ฉิบหายในทางธรรม ไม่ใช่เป็นคำหยาบ แต่หมายถึง หมดโอกาสในทางธรรม เพราะดาบสทั้งสองติดสุขในความว่างเสียแล้ว ไม่มีขันธ์ห้า อารมณ์ใด ๆ จะให้เห็น แต่ก็ต้องกลับมาเกิดอีกเพราะการทำสมาธิแบบนี้ เป็นการหนีอารมณ์ อวิชชายังครอบงำเต็มหัวใจ แม้จิตผ่องใส สว่างไสวก็ตาม อันนั้นคือจิตเดิมที่มีอวิชชาครอบงำ หลวงตามหาบัวจึงบอกว่า จิตผ่องใสคืออวิชชา ผมจึงเชื่อหมดหัวใจว่า หลวงตาคือพระอรหันต์
วันหนึ่งเมื่อไม่มีโอกาสได้คุยกับผม จะได้ระลึกได้ว่า ผมเตือนท่านแล้ว จิตเดิมผ่องใส แต่ไม่บริสุทธิ์ เพราะยังเห็นผิดอยู่ เมื่อออกจากตรงนั้นมา ก็โง่เหมือนเดิม แต่มีคนจำนวนมากที่เข้าใจว่า ตนเองบรรลุธรรมเพราะจิตผ่องใส ผมเคยขึ้นไปบนเขาสูง ป่าใหญ่แห่งหนึ่ง ไปหลบปฏิบัติ เจอพระบอกว่า หลวงตา… บรรลุธรรมแล้ว ผมถามพระว่า ยังไงครับหลวงพี่ พระบอกว่า ท่านนั่งกระดิกเท้า อยู่ ๆ จิตก็รวมพรึ่บลงไป ผมนึกถึงเพื่อนนักปฏิบัติผมหลายคน นั่งคุยๆ อยู่ จิตก็รวมลงไปได้ แม่ชีคนหนึ่งเข้าห้องน้ำ นั่งถ่าย จิตก็รวมลงไป ป่านนี้ ไม่รู้แก้ได้หรือยัง อันว่า จิตรวมเป็นเรื่องดี แต่ท่านต้องรู้เท่าทันมัน อย่าติดมัน ฌานแปลว่า ชิน จิตมันเคยชิน การภาวนาจนจิตรวมได้ แสดงว่า จิตท่านมีกำลัง ให้เอากำลังนั้นไปเดินต่อในเชิงปัญญาคือ การเจริญสติปัฏฐานสี่
ถ้าท่านไม่เชื่อผมในเรื่องที่กล่าว ลองไปหาประวัติหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ มาอ่าน ผมเคยอ่าน ตอนนั้นไม่เข้าใจคือ มีศิษย์ฆราวาสคนหนึ่งไปปฏิบัติกับท่าน จริง ๆ ท่านไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ท่านเป็นพระโพธิสัตว์ แต่ท่านสอนให้คนบรรลุธรรมได้ ท่านรู้แผนที่การเดินทางกลับบ้าน แต่ท่านยังไม่กลับ เป็นห่วงลูกหลาน แต่ถ้าใครจะกลับก่อน ท่านก็บอกทางกลับบ้านที่ไม่หลงให้ ฆราวาสคนนี้ ชอบภาวนาแบบจิตรวม เผลอไม่ได้ พอนั่งเข้าที่ จิตรวม ๆ หลวงปู่ท่านโขกแรง ๆ เลย จำได้ว่า ท่านนั่งคุยกับแขกอยู่ คนนี้ก็ปฏิบัติไป แต่ท่านรู้ว่า จิตคนนี้กำลังจะรวม ท่านก็ตะคอกตะโกนออกมาว่า ถอนขึ้นมา ภายหลังคนนั้นตาย กระดูกดูเหมือนจะเป็นอัฏฐิธาตุ
เรื่องพระธาตุไว้คุยปลีกย่อย แม้กระทั่งสัมมาสมาธิในบทสวดมนต์ ก็ไปตีความเป็นโลกียฌาน ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตรงนี้ จะพูดถึงวันหลัง ถ้ายังมีโอกาสพูดในกลุ่มไลน์นี้อยู่ว่า ฌานมีสองแบบคือ โลกียฌาน กับโลกุตรฌาน ฌานโลกีย์เสื่อมได้ แต่โลกุตรฌานไม่เสื่อม เรื่องฌานไว้แค่นี้ก่อน
กลับมาที่สัมมาทิฏฐิว่า หน้าที่แรกของนักปฏิบัติคือ ต้องทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิที่แท้จริง การทำให้สัมมาทิฏฐิเกิด ท่านต้องหาที่อยู่ของใจกันใหม่ ลองถามตนเองสิว่า ตอนนี้ใจท่านอยู่ที่ไหน อยู่ที่ลูก ที่เมีย ที่สามี ที่ทำงาน ที่เจ้านาย ที่เพื่อนคนนั้น คนนี้ อยู่กับความหลังที่หวานชื่น หรือขมขื่นที่ดับไปนานแล้วแต่ก็ยังอดไม่ได้ ที่จะอาลัยอาวรณ์กับมัน หรือยู่กับที่ทำงานใหม่ หรือยู่กับคำพูดคนที่ด่าเราเมื่อวาน เมื่อเช้า หรืออยู่กับเรื่องลิฟท์ที่เสียเมื่อวาน จะอยู่กับอะไรก็แล้วแต่ จะเห็นว่า ใจเราไม่เคยอยู่กับใจเลย อยู่กับความหลังก็เป็นสัญญา อยู่กับอนาคตก็เป็นสังขาร (ความคิดปรุงแต่ง) ความหลังที่ดีก็หลงใหลได้ปลื้ม ที่ไม่ดีก็โมโหหรือเศร้าซึม เป็นการอยู่กับเวทนา รวมเรียกว่า จิตเราไม่เคยอยู่กับตนเองเลย แต่ไปอยู่กับอารมณ์เสียส่วนใหญ่ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นก็เพราะเราเห็นผิด เห็นว่า อารมณ์เป็นเรา สตินี่แหละที่จะแยกให้เห็นว่า อะไรคือเรา อะไรคืออารมณ์ พระพุทธองค์จึงบอกว่า สติเป็นเครื่องกางกั้นกิเลส
สติคือความระลึกได้ ความรู้ตัวทั่วพร้อม หลวงปู่ดูลย์ใช้คำว่า การรู้ตัวอยู่กับที่ เมื่อเราส่งใจไปในอารมณ์ ไหลเลื่อน ปรุงแต่งไป สักพักธรรมชาติของจิต จะมีสติคือ รู้สึกตัวขึ้นแป๊บหนึ่ง แล้วไปใหม่ ไม่ต้องอะไรมาก ลองฝึกให้รู้ตัวอยู่กับที่ เราทำได้นานแค่ไหน ใหม่ ๆ อยู่ได้แป๊บเดียวก็ไปอีกแล้ว เพราะเคยชินอยู่กับอารมณ์มานาน เราต้องฝึกให้จิตชินที่จะอยู่กับสติคือ ความรู้สึกตัวพร้อม การรู้อยู่กับที่ ผมพูดเสมอว่า เมื่อใดที่จิตกับสติรวมเป็นหนึ่งได้ เมื่อนั้นท่านจะเห็นธรรม เห็นอารมณ์เปลื้องออกจากจิต และจะเห็นว่า อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดที่เราวิ่งตามทั้งวันทั้งคืนที่หลงว่าเป็นเรานั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่ เรานี้คือธรรมชาติอย่างหนึ่ง ธรรมชาติที่รู้ (ธาตุรู้) นี่คือ หลักปฏิบัติที่ย่นย่อสั้นที่สุดในนิยามของผม
การปฏิบัติที่สั้น ลัดที่สุดคือ การเจริญสติจนจิตตั้งมั่นอยู่กับสติ แยกจิต แยกอารมณ์ได้ เห็นอารมณ์เกิดแล้วดับ แล้วนำอารมณ์นั้นมาพิจารณาด้วยไตรลักษณ์ ให้เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถือเป็นเรา ของเราไม่ได้เลย จิตก็จะเบื่อหน่าย คลายกำหนัดและหลุดพ้นไปในที่สุด เมื่อหลุดพ้นก็รู้ว่า หลุดพ้น กิจที่ต้องทำเพื่อการนี้ไม่มีอีกแล้ว ภพ ชาติ ที่จะต้องเกิด ก็ไม่มีอีกแล้ว จริง ๆ ตรงความเห็นที่ว่า เห็นขันธ์ห้า อารมณ์เป็นเรา มันหมดไปตั้งแต่ตอนเห็นจิต เห็นธรรมแล้ว ผู้ใดเห็นทุกข์ ผู้นั้นเห็นธรรม
อย่างที่เคยบอก เห็นทุกข์ ไม่ใช่เห็นแบบคิด เข้าใจ แต่เห็นทุกข์เปลื้องออกมาจากจิต ตั้งอยู่เฉพาะหน้าต่อจิต เหมือนงูลอกคราบ มองคราบที่ลอกออกฉะนั้น เมื่อเห็นทุกข์คือ อารมณ์เปลื้องออกมา ในขณะเดียวกันท่านก็เห็นตัวเองคือ จิต แต่มันไม่ใช่เห็นเป็นรูปร่างเหมือนเห็นต้นไม้ แต่เป็น… เห็นอยู่ในรู้ รู้อยู่ในเห็น บอกไม่ถูกเหมือนกัน ต้องเห็นเอง นั่น ท่านพบตนแล้ว ผู้ใดเห็นจิต ผู้นั้นเห็นธรรม จิตนั่นแหละคือตน ที่ใคร ๆ ค้นหาอยู่ว่า เราคือใครกันแน่ ตอบแบบตาบอดคลำช้างว่า เราก็คือจิต ท่านต้องไปทำให้เห็นเอง รู้เอง
ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา เรานี้คือ ไม่ใช่รูปโฉมของพระพุทธองค์ และไม่ใช่ความรู้สึกนึกคิดของพระองค์ด้วย เห็นเรา นี่มีสองความหมาย อันแรกคือ จะเห็นเรา ว่าหาตัวตนไม่ได้ เหมือนผู้เห็นนั่นแหละ อันที่สองก็คือเห็นเราในเชิงพุทธะ ผมพูดเสมอ (อาจจะไม่เคยได้ฟังที่ใดมาก่อน) ว่า เมื่อใดที่ท่านเจริญสติจนจิตกับสติรวมเป็นหนึ่ง ตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิได้ก็จะเกิดสภาวะอันหนึ่งขึ้นมาคือ พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้รู้นี่แหละจะเฝ้าสอนท่าน นำทางท่านกลับบ้าน เขาจะสอนทั้งวันทั้งคืน จนบางทีจิต (ที่เป็นอกุศล) ดุ บอกจะสอนอะไรหนักหนานี่ มันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ เล่าให้ท่านฟัง ท่านก็คงเห็นว่า ผมนี้คงบ้า เพี้ยนไปแล้ว
หลวงปู่ชาบอก ผู้รู้นี้ออกมาจากจิตและจะเฝ้าสอนจิตผู้เป็นเจ้าของ นี่แหละ ผมถึงกลับไปกราบหลวงปู่ชาสุดหัวใจ กราบขอขมาท่านว่า แต่ก่อนคิดว่า อ่านคำสอนท่านแล้วคิดว่า ท่านสอนอะไรไม่รู้เรื่อง สอนเป็ด สอนไก่ เห็นเป็ดเป็นไก่ เห็นไก่เป็นเป็ด พอมาเข้าใจ อ้อ ! เห็นอารมณ์เป็นจิต เห็นจิตเป็นอารมณ์ เที่ยวหลงไล่ตามมันเป็นล้าน ๆ กัปป์ พอเห็นแล้ว พอจะแยกได้ว่า อันไหนจริง อันไหนปลอม ถ้าไม่เห็นของจริงก็จะไม่รู้ว่าอันไหนจริง อันไหนปลอม
วันนี้ก็พูดถึงหลักปฏิบัติ แก่นของการปฏิบัติก็คือ สติ สตินี่แหละคือ ทางสายกลาง เพราะถ้าท่านไม่ส่งใจไปอยู่กับอดีต ปัจจุบัน ไม่ไปอยู่กับคนนั้น คนนี้ ไม่ไปอยู่กับอารมณ์ ความยินดี ยินร้าย ไม่ไปอยู่กับราคะ โทสะ จิตท่านก็เป็นกลางขึ้นมาเอง หลวงปู่เทสก์จึงบอกว่า ผู้ใดเข้าถึงความเป็นกลางได้ ผู้นั้นจะพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ไปหาอ่านได้จากคำสอนท่าน ส่วนการเข้าถึงความเป็นกลางที่บางสำนักสอนนั้น ไม่ใช่ ผิด ผิดมากๆ ๆ เป็นการเข้าถึงความเป็นกลางด้วยการกำหนด การเพ่งให้จิตไปอยู่ที่กลางกาย ขออนุญาตพูดตรง ๆ อย่างที่หลวงตามหาบัวบอก เวทีนี้ต้องฟัดกันจริง ๆ จริง ๆ แล้ว ขณะใดที่เปลี่ยนที่อยู่จากอารมณ์มาอยู่ที่สติได้ ขณะนั้นจิตท่านเดินสายกลางแล้ว เอวัง