สอนกายานุปัสนาสติปัฏฐานคนป่วยหนัก 1

แสดงธรรมกลุ่ม กลุ่ม Natural Mind เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2559
ท่านทรงกลด : เหตุที่อยากจะแสดงธรรมให้พวกเราฟังก็เพราะว่า เมื่อวานไปเยี่ยมคนป่วยคนหนึ่ง ป่วยหนัก ไม่สามารถเดินได้ นอนอยู่บนเตียงอย่างเดียว ได้ไปแสดงธรรมให้ฟัง ผมก็บอกว่า ยังหายใจอยู่ใช่ไหม มือยังพลิกได้อยู่ใช่ไหม พอขยับท่อนแขนได้ใช่ไหม แล้วผมก็สอนว่า นั่นแหละเครื่องมือกรรมฐานล่ะ ลองพลิกมือไปมาดู ยกมือได้นิดหน่อย ยกดู ขณะที่พลิกมือ ขณะที่ยกมือ ให้รู้สึกตัว จับความรู้สึกให้ได้ ความรู้สึกตัวนั่นแหละคือ สติ
ดูเหมือนเขาจะไม่รู้จักคำว่า สติ เขาพยายามคลึงหัวแม่มือตามที่ไปอบรมมาจากสำนักหนึ่ง ผมบอกว่า การคลึงหัวแม่มือ ถ้ารู้อยู่ใช้ได้ แต่พอคลึงไปนานๆ มันจะเพลิน ว่าง โปร่ง โล่งสบาย เขาบอกว่า ใช่ ผมบอกว่า นั่นไปติดกับความเพลิดเพลินในการคลึงหัวแม่มือแล้ว ออกจากความเพลิดเพลิน (นันทิ) เสีย มาอยู่กับความรู้สึกตัว
ผมเคยนั่งคุยกับหมอคนหนึ่ง เขาเล่าว่า เขาปฏิบัติด้วยการกระดิกเท้าไปมา พอกระดิกไปสักพักมันจะสบาย แล้วจิตก็รวมลงไป ผมได้แต่รับฟัง ไม่กล้าแนะนำ เพราะพวกหมอ พวกผู้พิพากษา อีโก้สูง สอนยาก เลยปล่อยเลยตามเลย
ในกายานุปัสนาสติปัฏฐาน การยืน เดิน นั่ง นอน คู้ตัว พลิกแขน ขา ให้อยู่กับรู้ รู้อย่างเดียว แต่อย่าไปอยู่กับความสบายอันเกิดจากการเคลื่อนไหว นักปฏิบัติติดตรงนี้กันมาก คนนี้ก็เหมือนกัน เขางงมาก พอผมบอกว่า พลิกมือไปมาให้รู้สึกตัว ยกแขนให้รู้สึกตัว เลยรู้ว่า ยังไม่รู้จักสติที่แท้จริง นักปฏิบัติหากรู้จักสติอย่างแท้จริง การปฏิบัติจะเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เลยบอกว่าให้หายใจเข้าลึกๆ ดูซิ เขาก็ทำตาม ผมถามว่า รู้สึกตัวหรือยัง เขาบอกรู้สึกตัวแล้ว ผมบอกว่า นั่นล่ะ สติล่ะ หายใจเข้าให้รู้ หายใจออกให้รู้
คราวนี้ลองมาจับความรู้สึกตัวขณะยกมือ ยกแขนดูสิ คราวนี้เริ่มจับได้ ถ้ารู้จักสติจริงตรงนั้นมันจะเยือกเย็น สงบและตื่นรู้อยู่ในตัว ยิ่งอยู่กับสตินานได้มากเท่าใด จะเยือกเย็น ตื่นรู้มากเท่านั้น ทำไมเยือกเย็น ก็เพราะใจมันผละจากเหล็กที่เผาไฟเมื่อสักครู่มาอยู่กับน้ำเสียแล้ว เมื่อใจผละมาอยู่กับสติ ไฟที่ใจเองเป็นผู้จุดก่อขึ้นมันก็ดับไปเป็นธรรมดาของมัน ดังที่ว่า สิ่งใดเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นก็ดับไปเป็นธรรมดา ใจเรานี่แหละเป็นผู้จุดเพลิงกิเลส ไม่มีใครอื่นหรอก
เมื่อใจเริ่มรู้จักสติ เขาย่อมรู้จักมิตรแท้แล้ว เมื่อเขาคุ้นเคยกับสติ เขาจะเกิดปัญญาแยกแยะได้ว่า อะไรดีอะไรชั่ว อะไรร้อน อะไรเย็น อะไรวุ่น อะไรสงบ การหายใจเข้าออก การยกมือ พลิกมือไปมา เป็นเพียงอุบายให้รู้จักทำความคุ้นเคยกับสติเท่านั้นเอง ต่อไปเมื่อรู้จักสติแล้ว นอนเฉยๆ นั่งเฉยๆ ยืนเฉยๆ เดินเฉยๆ มันก็มีสติไปเอง
อย่างอาจารย์กำพล ที่พิการเดินไม่ได้ ใช้เพียงการยกมือ ยกแขนไปมา ตามที่พระอาจารย์คำเขียนศิษย์หลวงปู่เทียนสอน ท่านก็เรียนรู้สติได้ จนแยกจิตออกจากกายได้ วันที่ท่านแยกจิตออกจากกายได้ ท่านบอกว่า ท่านลาออกจากความพิการได้แล้ว ทำไมท่านจึงกล่าวว่า ท่านลาออกจากความพิการทางกายได้ เพราะท่านแยกจิตออกจากกายได้แล้ว กายเท่านั้นที่ป่วย แต่จิตหาได้ป่วยไปด้วยไม่
เขาคนนี้ก็หมือนกัน ผมก็บอกว่า แม้เราจะเคลื่อนไหวยืน เดิน นั่ง อะไรไม่ได้แล้ว อย่าท้อใจในการภาวนา เอาเวลาที่เหลือทั้งหมดมาจดจ่ออยู่กับการเจริญสติ เลิกคิดถึงลูก ญาติพี่น้อง แม่ อะไรให้หมด แล้วผมก็สอนคนป่วยให้ภาวนาด้วยการเจริญกายคตาสติต่อไป บอกว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ดูสิ มันสะอาดหรือสกปรก มันใช่เรา ของเราหรือไม่ ลองพิจารณาดูดีๆ เมื่อวันหนึ่งเขาว่ายน้ำได้ จะได้ไม่ต้องคอยช่วยทุกครั้งไป อย่างเราสอนคนป่วยให้พ้นเจ็บ กับให้รู้จักความเจ็บ นี่ไม่เหมือนกัน ถ้าเราให้ยาแก้ปวดแก้เจ็บกิน มันก็พอทุเลาเท่านั้น แต่ยังไม่ได้แก้ที่เหตุ คือ สมุทัย ถ้าเขารู้จักความเจ็บ ต่อไปเมื่อเกิดความเจ็บ จะไม่เจ็บ เรื่องการปฏิบัติถ้าทำมาตลอดก็จะช่วยได้ในวาระสุดท้าย แต่คนส่วนมากจะประมาท พอใกล้ตาย ก็อยากจะถือศีล ปฏิบัติธรรมขึ้นมา
วันนี้พิจารณากายบ้างหรือยัง ยัง รู้เท่าทันลมหายใจบ้างหรือยัง ยัง ขอกินอาหารอร่อยๆ เที่ยวสนุกๆ ก่อนนะ ขอไปขับรถโก้ๆ ดูหนังสนุกๆ เล่นกับลูกหลานก่อน เรื่องภาวนายังไม่ถึงเวลา รอเกษียณก่อนแล้วกัน นั่น พอจะตายขึ้นมา นอนอยู่บนเตียง อยากจะทำบุญขึ้นมา ลำบากพระสงฆ์ ต้องถูกนิมนต์มาที่เตียง มารับสังฆทาน บางคนเห็นอายุเจ็ดแปดสิบแล้ว ยังเที่ยวลีลาศ เต้นรำ ร้องเพลง คาราโอเกะ พอป่วยหนัก จะตาย เที่ยววิ่งทำบุญเจ็ดวัด สิบวัด น้ำในตุ่มไม่เคยใส่เลยทั้งชีวิต จะมาเติมเอาวันสองวัน มันจะเต็มหรือ ใช้บุญเก่าจนเพลิดเพลิน ลืมสร้างบุญใหม่ไปสิ้น นี่แหละมนุษย์ล่ะ ต้องเอาแว่นส่องใจไปให้เขานะ ตาในเขาจะได้เปิด สำหรับคนนี้ ผมดูแล้ว ถ้าไปก็ไปสบาย เลยไม่ห่วงมาก แต่ก่อนไป อยากให้เขาภาวนา ให้รู้จักสติก่อน ผมก็สอนเรื่องพิจารณากายพอสังเขป เรื่องลมหายใจเข้าออกให้รู้ เคลื่อนไหวมือให้รู้ ก็ไม่ห่วงอะไรมาก
อย่างพระจักขุบาล ชาติหนึ่งเกิดเป็นหมอรักษาโรคตา เห็นแก่อามิส แกล้งทำให้คนตาบอด ชาตินี้มาบวชเป็นพระแล้วกรรมตามทัน ตาบอด แต่ขณะที่ตาจะบอดสนิท เจริญสติปัฏฐานสี่ จนบรรลุอรหัตผล เกิดตาใน ตานอกก็ไร้ค่า ไม่สำคัญอีกต่อไป พระจักขุบาล ทำไมท่านไม่ให้ราคากับตานอกที่บอดเลย ท่านไม่เรียกร้องหาแว่นวิเศษมาใส่เพื่อให้มองเห็น เพราะท่านเห็นด้วยตาในอย่างชัดแจ้งแล้วว่า ทุกขเวทนาอันเกิดจากตาบอดนั้น จะถือเป็นท่าน ของท่าน หาได้ไม่ เวทนา (ทุกข์) หรือขันธ์ มันก็อยู่ของมัน ท่าน (จิต) ก็อยู่ของท่าน ต่างคนต่างอยู่ ไม่สร้างความรำคาญต่อกันแต่อย่างใด ครั้งหนึ่งท่านเดินจงกรม เหยียบแมลงตายนับร้อยนับพัน ภิกษุก็ไปฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็บอกว่า กรรมใดๆ ไม่มีแก่พระจักขุบาล เพราะท่านสิ้นกิเลสแล้ว เมื่อไม่มีกิเลส ก็ไม่มีกรรม ไม่มีวิบาก สิ่งที่เดิน ยืน นั่ง นอน เป็นเพียงกิริยาเท่านั้น ดังนั้นการทำให้คนเกิดตาในเป็นดีที่สุด ส่วนตานอก มันก็หนีไม่พ้นกฎอนิจจังก็คือ ต้องเสื่อมดับไปไม่วันใดวันหนึ่ง หาสาระแก่นสารอันใดไม่ได้ แต่ตาในสิ ดวงตาเห็นธรรม นี่สิ สำคัญที่สุด เกิดกับผู้ใดแล้ว มีแต่จะสว่างไปตลอด ไม่รู้ดับ
อะไรเล่าที่จะทำให้ตาในเกิด สตินี่แหละ เมื่อเรารู้จักสติ จิตกับสติลงตัว ลงรอยกันเมื่อใด (หลวงปู่มั่นใช่คำว่าจิตกับสติรวมเป็นหนึ่ง) เมื่อนั้นจะเกิดสภาวะพุทธะขึ้นมา นั่นคือ จิตของผู้นั้นจะตื่นรู้และเบิกบาน พุทธะมีอยู่ในจิตของทุกคนแล้ว แต่ที่ไม่พบ ไม่เจอ ไม่เห็น เพราะเรามองข้ามไป ข้ามไปไหน ข้ามไปอยู่กับนายนั่น นางนี่ คนนั้น คนนี้ ข้ามไปอยู่กับอดีตบ้าง ไปอยู่กับอนาคตบ้าง ข้ามไปจมอยู่กับกองสุขบ้าง กองทุกข์บ้าง
พระพุทธเจ้าจึงบอกว่า ให้หยุด หยุดอยู่กับรู้ อยู่กับสติ อยู่กับสติได้มั่นคงเมื่อใดก็จะพบพุทธเมื่อนั้น ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา เรานี่คือพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จึงต้องพยายามฝึกฝนสติให้มากๆ ๆ ๆ แรกๆ อาจจะอยู่กับสติไม่ค่อยได้ วิ่งพล่านไปโน่น นี่นั่น คน สัตว์ สิ่งของ ดึงกลับมาอยู่กับลมหายใจบ้าง อยู่กับการเคลื่อนไหวของร่างกายบ้าง กลางคืนดึงกลับมาพิจารณาภายในกาย อาการสามสิบสองบ้าง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง….ถึงเยื่อสมอง
เมื่อมีอารมณ์เกิดขึ้น ไม่ว่าดีหรือร้าย ให้รู้เท่าทันบ้างว่า เออ ! เอ็งไม่เที่ยงหรอก เกิดได้เดี๋ยวก็ดับได้ ไม่ดับวันนี้ก็พรุ่งนี้ นี่คืออุบายฝึกสติให้มีกำลังทั้งสิ้น วันหนึ่งสติมีกำลังขึ้นมา จะอัศจรรย์ใจ จะเห็นชัดว่า ทุกข์ก็ทุกข์ ตาบอดก็ตาบอด มะเร็งก็มะเร็ง ความเจ็บก็ความเจ็บ มันไม่ใช่เรา หลงนึกว่า มันคือเรามาตั้งนาน ตอนนั้นหละ ฮึ่ม ! ตาในเปิดแล้ว เกิดดวงตาเห็นธรรมแล้ว ต่อไปไม่ต้องสอนมันมากเหมือนเมื่อก่อนแล้ว มันจะสอนตัวมันเองล่ะคราวนี้ เพราะมันตื่นแล้ว มันรู้แล้วว่า อะไรเป็นอะไร คราวนี้จะตาบอด จะเป็นโรคร้าย ใครจะมายืนรอที่หัวเตียง ก็สบายแล้ว ไม่กลัวแล้ว คนที่มายืนรอต่างหากที่มันต้องกลัวเรา แทบจะก้มลงกราบเราไม่ทันละคราวนี้ แล้วเขาจะหายไป เขาไม่มีหน้าที่ต้องมาดูแลเราอีกต่อไป เพราะเราดูแลตัวเราได้แล้ว แม้พรหมก็ยังต้องกราบเรา เพราะเราเป็นบุตรตถาคตโดยสมบูรณ์แล้วในเวลานั้น