สติ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม คือทางสายกลาง คือมรรค คือผล

แสดงธรรม กลุ่ม Natural Mild เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2559
ท่านทรงกลด : จริงๆ ก็ไม่ได้หายไปไหน ยังเฝ้าติดตามห่วงใยพวกเราอยู่เหมือนเดิม บางทีก็เอาธรรมที่ผุดขึ้นมามาลงให้อ่านกันเพื่อเตือนสติซึ่งกันและกัน เตือนตัวเองไปด้วย นอกจากกลุ่มนี้แล้ว กลุ่มอื่นๆ ผมก็เอาข้อธรรมไปลงเหมือนกัน จะได้ ไม่ได้ก็ขึ้นอยู่กับส่วนบุคคล ตอนนี้หนังสือกว่าจะถึงกระแสธรรม สั่งพิมพ์ครั้งที่สามไปแล้ว จำนวน ๒,๐๐๐ เล่ม ครั้งนี้มีการเพิ่มเติมเนื้อหาในส่วนประสบการณ์ และในส่วนธรรมที่แสดงไปพอสมควร บางอย่างเป็นเรื่องลี้ลับก็เอามาลงประดับไว้เสียหน่อยหนึ่ง พอให้คนอ่านสงสัยว่า เอ ! มันจะเป็นไปได้หรือ ครั้งนี้ก็คงเป็นครั้งสุดท้ายสำหรับการเขียนแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือธรรมะเล่มนี้ คงไม่มานั่งเขียนแบบนี้อีกแล้ว ที่เหลือก็คงเป็นการแสดงธรรม ที่ใครเห็นคุณค่าก็ตามเก็บเอาเองเถิด ส่วนที่เพิ่มเติมในหนังสือก็เอาที่รวบรวมไว้มาลงในส่วนธรรมที่แสดง หนังสือเล่มนี้มีค่าสำหรับคนที่สนใจการปฏิบัติ หาทางพ้นทุกข์อย่างแท้จริง ถ้าคนไม่สนใจเรื่องนี้แล้ว หนังสือเล่มนี้ก็ไร้ค่า
ล่าสุดสมาชิกที่ผมเชิญเข้ามาเป็นเจ้าพนักงานที่ดินไปฟังผมบรรยายกฎหมาย แล้วผมสอดแทรกธรรมเข้าไป ท่านสนใจขอหนังสือ ผมส่งไปให้ ท่านบอกว่า เป็นหนังสือดีมาก ไลน์มาขอให้ผมเชิญเข้ากลุ่มธรรมด้วย แล้วท่านก็เชิญภรรยาท่านเข้ามาด้วย ปกติผมจะไม่ค่อยเชิญใครเท่าไรนักเพราะเรื่องแบบนี้ต้องคนที่สนใจขวนขวายเอาเอง ไปเชิญมาไม่รู้ว่าสนใจจริงหรือไม่ เห็นบางท่านเชิญเพื่อนเข้ามาไม่กี่วันก็ออกไปแล้ว
อย่างที่บอก ผมเองก็ยังไม่เก่งถึงขนาดเป็นครูบาอาจารย์ใครได้ เพียงแต่รู้ว่า อะไรเป็นอะไรเท่านั้นเอง พอชี้ทางให้เท่านั้น แต่ขอให้เชื่อเถิดว่า ทางนี้เป็นทางที่ถูกต้องจริงๆ คนสนใจธรรมนั้นมีมาก แต่คนที่สนใจจริงๆ มีไม่มาก ส่วนใหญ่จะใจร้อน เข้ามาแล้วคิดว่า ฟังแล้วจะต้องบรรลุธรรม เห็นธรรมทันที พอเห็นว่าไม่มีอะไรก็ออกไป ยังไม่ทันลองลงมือปฏิบัติเลย น่าเสียดายเหมือนกัน แต่ของอย่างนี้อยู่ที่วาสนาใครวาสนามันเหมือนกัน บางคนพบคำสอนที่ถูกต้องแล้วก็ดูหมิ่นปรามาสเสียจึงเสียของเหมือนกัน
ธรรมะจากพระอาจารย์ชา สุภัทโท
“มีลูกศิษย์ของหลวงพ่อรูปหนึ่ง มีนิสัยชอบอ่านแต่หนังสือธรรมะ ไม่ค่อยใส่ใจการปฏิบัติ หลวงพ่อชารู้จึงกล่าวให้สติว่า อ่านหนังสือธรรมะมันก็เพลิดเพลินดีอยู่หรอก แต่มันเหมือนกับการนับเงินของคนอื่น มันไม่ใช่ของเรา”
ที่วัดหนองป่าพง ท่านเน้นเรื่องการปฏิบัติ ไม่เน้นเรื่องการอ่านหรือปริยัติ หนังสือธรรมที่ผมเขียน ถ้าไม่ลงมือปฏิบัติก็ไม่มีค่าอะไรเลย ในกลุ่มนี้ก็มีค่าสำหรับบางท่านอยู่เหมือนกัน แต่เท่าที่สังเกตดู นอกกลุ่มที่ได้หนังสือไปดูจะเอาจริงเอาจังกันมาก เห็นประโยชน์ของหนังสือเนื่องจากไปแก้ไขการภาวนาที่ติดขัดของเขาได้ แต่ก็ไม่ได้หมายให้พวกเราต้องเคร่งครัดเอาเป็นเอาตายกับการปฏิบัติ
วันหนึ่งๆ ขอให้มีสติรู้เท่าทันอารมณ์สักสองสามอารมณ์ก็พอแล้ว หายใจเข้าออกให้มีสติรู้เท่าทันลมหายใจบ้าง ยืน เดิน นั่ง นอน กิน พูด ดื่มและคิด ให้มีสติคือ ความรู้สึกตัวอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับอาการดังกล่าวบ้าง ทำไปเรื่อยๆ เดี๋ยวสติมันก็จะโตของมันเอง ให้เลิกละความคิดหาเหตุหาผลอะไร ผู้รู้ ผู้ไม่รู้ อะไรทั้งปวงเสีย ถ้าทำอย่างนี้ได้ วันหนึ่งผู้รู้จะโผล่ขึ้นมาให้เห็นเองและอย่าใจร้อนในการปฏิบัติ ค่อยๆ ทำไป ให้พยายามทำต่อเนื่อง เพิ่มสติในแต่ละวันไปเรื่อยๆ พอจิตเราฝึกให้คุ้นกับสติได้มันจะทำของมันเองอย่างที่หลวงปู่เทสก์สอนนั่นแหละ อย่าเพิ่งไปดูอะไร ค้นคว้าอะไร ไล่เรียงปฏิจจสมุปบาทอะไรเลย หาจิตหาใจตนเองให้เจอก่อนเถิด เรื่องอื่นมันจะตามมาเอง ถ้ายังหาจิตหาใจตนเองไม่เจอ ไม่มีวันจะเข้าใจขันธ์ห้า เข้าใจปฏิจจสมุปบาท แต่ถ้าเจริญสติพบจิต พบธรรมวันใด (โสดาปัตติผล) ที่เหลือมันก็จะไหลลื่นมาเองโดยไม่ต้องกำหนดอะไรมาก สติอย่างเดียวนี่แหละที่จะทำให้รู้แจ้งใจ รู้แจ้งโลก สติที่หมายถึง ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมนี่แหละคือทางสายกลาง คือมรรค คือผล
วันนี้มีพี่คนหนึ่งไปโพสต์คำถามเกี่ยวกับอริยสัจจ์โยงกับจิตส่งนอก ผมเข้าไปตอบในไลน์ส่วนตัว ซึ่งคำถามพอจะดูออกว่า ยังอยู่ในขั้นคิดอนุมานอยู่ จิตส่งนอกคือ สมุทัย นี่คือคำสอนหลวงปู่ดูลย์ หมายถึงเมื่อมีอะไรมากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เกิดอารมณ์อะไรขึ้นมา แทนที่จะปล่อยให้ดับไป ก็ส่งจิตไปฉวยคว้ามาปรุงแต่งต่อ นี่คือความหมายของจิตส่งนอก แต่ถ้าปล่อยให้ดับไปตามธรรมดาของมัน จิตก็ไม่ส่งนอก จริงๆ ความคิดปรุงแต่งนี่แหละคือ จิตส่งนอก และตัวที่จะหยุดความคิดปรุงแต่งได้คือ “สติ”
ตอนแรกก็ไม่เชื่อหลวงปู่ชาที่สอนว่า ถ้ามีสติ ความคิดหรือจิตจะหยุดปรุงแต่ง พอเราเจริญสติมาได้ถึงขั้นนั้น โห ! มันทำได้จริงๆ เราสามารถหยุดความคิดได้มันจะเหลือเพียงเห็นก็สักแต่ว่าเห็น จะคิดก็ได้ จะหยุดก็ได้ อัศจรรย์มากนะธรรมของพระพุทธเจ้านี้ พอหยุดคิด หยุดปรุงแต่ง มันก็นิโรธสิ นิโรธแปลว่า การดับทุกข์ มันทะลุคำสอนหลวงปู่ดูลย์ขึ้นมาเดี๋ยวนั้นเลยว่า “คนเราทุกวันนี้เป็นทุกข์เพราะความคิด” ทะลุคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า เตสัง วูปสโม สุโข ความเข้าไปสงบระงับเสียได้ซึ่งสังขาร (ความคิดปรุงแต่ง) เป็นสุขอย่างยิ่ง
คนเราเป็นทุกข์เพราะความคิดจริงๆ คิดมาก ทุกข์มาก คิดน้อย ทุกข์น้อย ไม่คิด ไม่ทุกข์ ผลแห่งการปฏิบัติทั้งหลายดังกล่าวสืบเนื่องมาจากคำคำเดียวที่พระพุทธเจ้าค้นพบและนำมาสอนนั่นคือ คำว่า “สติ” สติทำให้เห็นทุกข์ สติทำให้เห็นเหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย) สติทำให้ดับทุกข์ (นิโรธ) และสตินี่แหละคือ มรรค
ทำไมจึงกล่าวเช่นนี้ ท่านอาจจะไม่เคยฟังที่ไหนมาก่อน เมื่อมีสติ หมายความว่า จิตกับสติรวมกันเป็นหนึ่ง ขณะนั้น ทุกข์ทั้งปวงก็ล่าถอยไปอยู่อีกฟากหนึ่งให้เห็น ท่านจะเห็นทุกข์แยกออกไปจากจิต แต่เมื่อใดท่านขาดสติ ส่งจิตส่ายแส่เข้าไปหาทุกข์ เข้าไปยึดทุกข์ (ที่หลวงปู่ดูลย์เรียกว่า จิตส่งนอก) เมื่อนั้นท่านจะรู้สึกทุกข์ทันที ท่านก็จะร้องว่า อ้อ ! ที่แท้จิตจริงๆ ไม่ทุกข์ แต่เพราะขาดสติ จิตไม่อยู่กับสติ จิตจึงแส่เข้าไปหมายมั่นในทุกข์ (ขันธ์) พอจิตเข้าไปหมายมั่นในทุกข์ จิตก็อยากสุข ตรงอยากสุขนี่แหละ เรียกว่า จิตดำริ จิตปรุงแต่ง จิตคิด ก่อความอยากขึ้นมา เรียกว่า ตัณหา นี่แหละคือ เหตุแห่งทุกข์ แต่พอดึงจิตกลับมาอยู่กับสติ จิตไม่เข้าไปหมายมั่นในทุกข์ จิตก็ไม่ทุกข์ (เพราะธรรมชาติแท้เดิมของมันไม่ทุกข์ ไม่สุข มีสภาวะกลางๆ และว่างเปล่าบริสุทธิ์) ตรงจิตไม่ทุกข์นี่แหละ เรียกว่า นิโรธคือ การดับทุกข์ อันเป็นการดับที่ใจ ไม่ได้ไปดับที่ตัวทุกข์ ตัวทุกข์ (ขันธ์) ก็ยังมีอยู่ ยังไม่ดับ จะดับต่อเมื่อดับขันธ์ (นิพพาน)
บางท่านก็สอนว่า ขันธ์ห้าจะแตกดับเมื่อตาย อันนี้ไม่ใช่อย่างแน่นอนเพราะตราบใดที่อวิชชายังไม่ดับ ขันธ์ห้าก็ไม่มีวันดับ เพราะจิต (จิตเดิม) ยังมีอวิชชาอยู่ จิตนี้ก็จะปรุงแต่งขันธ์ห้าขึ้นมาใหม่ เวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จบ ต่อเมื่อละอวิชชาได้ ก็หมดเชื้อพาเกิดพาตาย นั่นแหละขันธ์ห้าจึงจะดับสนิท จึงเรียกว่าดับขันธปรินิพพาน คงเหลือแต่จิตบริสุทธิ์ คือนิพพานธาตุ เรียกว่าดับทุกข์ได้โดยสิ้นเชิงไม่เหลือเศษ การดับทุกข์ดังที่กล่าวมาข้างต้นเพราะเราเจริญสติตัวเดียว การเจริญสตินี่แหละเรียกว่า มรรค มรรคแปลว่า ทางเดิน เมื่อเรามีสติ หมายความว่า จิตจะสวนกระแสกลับมาตั้งที่สติเพราะปกติเราจะปล่อยให้จิตไหลตามอารมณ์ไปอย่างที่ปุถุชนทั้งหลายเป็น การเจริญสติจึงเป็นการสวนกระแสโลก กระแสอารมณ์ ต้องทวนกระแสโลก จึงจะพบกระแสธรรม สติจึงเป็นมรรค เป็นทางเดินของจิตที่สวนกระแส ดึงจิตกลับมาอยู่กับสติ ไม่ไหลตามอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง ไปอย่างคนโลกๆ ซึ่งผมแสดงเสมอว่า เวลามีคนชม เราก็ลอย เคลิ้ม นั่นเรียกว่า เราไหลตามกระแสโลกไปแล้ว ทำนองเดียวกัน พอมีคนด่า เราก็หงุดหงิด ฉุนเฉียว นั่นเรากำลังไหลตามกระแสโลกไปแล้วเช่นกัน พระพุทธเจ้าจึงให้หยุดจิตหยุดใจด้วย “สติ” คือ ความรู้สึกตัว ที่ผมมักจะบอกพวกเราเสมอว่า อยู่กับอารมณ์ให้น้อย อยู่กับสติให้มาก ถ้าท่านอยู่กับอารมณ์มากเท่าใด ใจท่านก็ร้อนวุ่นมากเท่านั้น
ในทางตรงกันข้าม ถ้าท่านอยู่กับสติมากเท่าใด ใจท่านก็จะเย็นสงบมากเท่านั้น มันจะเย็น สงบขึ้นเรื่อยๆ เป็นการเยือกเย็นสงบด้วยปัญญา ผมขอรับรองว่า หากท่านเจริญสติถึงระดับหนึ่ง ท่านจะไม่เป็นโรคประสาท โรคนอนไม่หลับเลย อย่างผมนี้แต่ก่อนกว่าจะหลับได้ โอ้ ! มันคิดโน่น คิดนี่อยู่ทั้งคืน ไม่ได้หยุดเลย (จิต) ทุกวันนี้หลับสบายกว่าเมื่อก่อนมากมาย ความคิดจรมาแล้วก็ไป มาแล้วก็ไป เราไม่ไปบ้าตามมัน จริงๆ ความคิดจรนี่ ถ้าจะเรียกให้ถูกก็เรียกว่า สัญญาขันธ์คือ ความจำ จำเรื่องนั้น เรื่องนี้ ตกกลางคืนมันก็โผล่มาให้เห็น ถ้าไม่รู้เท่าทันมันว่า มันก็มาของมันอย่างนั้นแหละ เดี๋ยวมันก็ไป ไม่มีอะไรเลย ไม่มีจริงๆ ถ้าไม่รู้เท่าทันนะ จิตเราจะวิ่งตามมันไปทุกเรื่อง คำว่า “วิ่งตาม” หมายถึง คิดปรุงแต่งนั่นแหละ จริงๆ ความคิด (สังขาร) กับความจำหรือความนึกนี่มันคนละเรื่องกันเลย ความนึก นึกนั่น นึกนี่ขึ้นมา เรียกว่า สัญญาขันธ์มันทำงานของมัน ไม่มีอะไรหรอก
เหมือนฟ้าแลบแปลบหนึ่งแล้วหายไปแต่เพราะไม่รู้เท่าทันว่ามันไม่เที่ยง มาแล้วไป ใจเราก็วิ่งเข้าไปฉวยคว้ามาปรุงแต่ง ตรงปรุงแต่งโน่น นี่ นั่น เรียกว่า สังขาร (คิดปรุงแต่ง) แต่ถ้ามีสติ จิตหรือใจมันก็จะหยุด หยุดอยู่กับสติ อยู่กับรู้ ความนึกที่โผล่มา มันก็ดับไปเหมือนฟ้าแลบ แบบเดียวกันเลย เราก็มีปัญญารู้เท่าทันขึ้นมาว่า อ้อ ! ที่แท้มันไม่มีอะไร ไม่มีแก่นสาร สาระอะไร (อนัตตา) ไม่มีความสำคัญอะไรที่เราจะเข้าไปยึดมั่นหมายมั่นว่านั่นเป็นเรา ของเรา ต่อไปความจำอะไรๆ ไม่ว่าเก่าหรือใหม่โผล่ขึ้นมาในหัว มันก็รู้เท่าทันไปเอง รู้เท่าทันไปหมด มันก็จะเหลือเพียง “เห็นสักแต่ว่าเห็น” เท่านั้นเอง จิตนี้ก็ตั้งมั่นอยู่กับสติ อยู่กับรู้ ไม่ส่งนอก ทุกข์ก็ทำอะไรจิตไม่ได้ มันก็ดับทุกข์ ดับที่จิตดับที่ใจอยู่ตรงนั้นแหละ
มีเพื่อนสมาชิกถามเกี่ยวกับว่า ฟังธรรมแล้วเหมือนจำอะไรไม่ได้เลย ได้แต่รู้ ผมอ่านคำถาม จิตขณะนั้นสงบก็เกิดความรู้โพล่งขึ้นมา (ไม่ใช่คิด) ว่า “ธรรมทั้งปวงรวมลงที่ตรงรู้” หลวงปู่ดูลย์จึงบอกว่า “เราอยู่กับ “รู้” ใจที่อยู่กับรู้ ผมขอบอกเลยว่า เป็นใจที่สงบและสุขกว่าสุขใด เมื่ออยู่กับรู้มากเข้าๆ มรรคก็กล้าเข้าๆ ราคะก็จืดจางลงไป โทสะก็จืดจางลงไปโดยอัตโนมัติจนถึงรอบ เต็มรอบของมันวันใด มันก็จบวันนั้นแหละ พระพุทธเจ้าจึงบอกว่า พระอรหันต์เป็นผู้มีสติบริบูรณ์คือ มีสติเต็มรอบเป็นอัตโนมัติ เรื่องอย่างนี้มันเป็นปัจจัตตัง ถ้าไม่ปฏิบัติ ไปไม่ถึงก็ไม่รู้ พูดก็พูดไม่ได้หรือพูดได้ก็ไม่เหมือน ไม่ถูก เมื่อถึงจุดหนึ่งจะเข้าใจคำว่า ของจริงนิ่งเป็นใบ้ ของพูดได้ ไม่จริง ปุถุชนทั่วไปพอได้ยินคำนี้จะเข้าใจว่า จะหมายถึง ใครที่บรรลุธรรมจะต้องเงียบๆ ไม่พูดมาก สำรวม เรียบร้อย ไม่มีกิริยาอาการโผงผาง เอะอะ โวยวาย ถ้าเงียบเป็นใบ้นั่นแหละของจริงล่ะ แต่ถ้าพูดมากๆ อันนี้ไม่จริง ซึ่งตนเองก็เข้าใจผิดมาตลอด ขอให้ดูพระพุทธเจ้า ท่านของจริงหรือเปล่าล่ะ ทำไมท่านพูดอยู่ตั้ง ๔๕ พรรษา คิดเป็นถ้อยวลีได้ถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระไตรปิฎกคือ คำพูดพระพุทธเจ้าทั้งนั้นเลยนะ ทำไมท่านพูดมากมายถึงปานนั้น ทั้งๆ ที่ท่านเป็นของจริง
คำที่ว่า ของจริงนิ่งเป็นใบ้ ของพูดได้นี่ไม่จริงมันเป็นปริศนาธรรม ที่หากใครปฏิบัติไม่ถึง ไม่มีวันเข้าใจเลย
เราเองเมื่อมาถึงบางอ้อตรงนี้ โอ้ ! คำนี้มันลึกซึ้งเกินกว่าที่เคยเข้าใจเสียมากมายจริงๆ คำว่า ของจริงนิ่งเป็นใบ้ หมายความว่า เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่นหรืออารมณ์ใดๆ มากระทบใจ จิตหรือใจที่รู้เท่าทันด้วยสติ ด้วยปัญญา เขาจะนิ่งเงียบไม่ตอบโต้ ไม่แสดงกิริยาอาการอะไรเลย ได้แต่รู้ ได้แต่เห็น (อารมณ์) ก็สักแต่ว่าเห็น จิตที่นิ่งเงียบไม่โต้ตอบนี่แหละคือ จิตที่หยุดคิด หยุดปรุงแต่ง หยุดพูด หยุดพากย์
หลวงปู่ดูลย์จึงบอกว่า เมื่อถึงตรงนั้นมันจะหยุดพูด หยุดพากย์ หยุดค้น หยุดคว้า ไม่เอาอะไรสักอย่าง ท่านใช้คำว่า คลองแห่งคำพูดได้ถูกตัดทอนไปแล้ว นี่แหละของจริงนิ่งเป็นใบ้ จิตหยุดพูด หยุดพากย์ก็คือ จิตที่หยุดคิด หยุดปรุงแต่ง คนเราทุกวันนี้เป็นทุกข์เพราะความคิด เมื่อไม่คิด (ได้แต่รู้ รู้แล้ววาง) มันก็ไม่ทุกข์ มันก็เท่านั้นเอง จิตหยุดคิด มันทำได้จริงๆ นะ แต่หยุดนึก (สัญญาขันธ์) ทำไม่ได้หรอกจนกว่าจะดับขันธ์ ต้องแยกให้ถูกด้วย
ของพูดได้นี่ไม่จริงก็หมายถึงในทางตรงกันข้ามนั่นแหละ นั่นคือ พอมีอะไรมากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เข้าหน่อย มันก็บ่นเพ้ออยู่ในใจไปตามกระแสโลก ไอ้นั่นเป็นอย่างนั้น ไอ้นี่เป็นอย่างนี้ ไอ้นี่ทำไมไม่เป็นอย่างนั้น ไอ้นั่นทำไมไม่เป็นอย่างนี้ ทำไมเขาทำอย่างนี้กับฉัน ทำไมเขาเป็นคนแบบนี้ ทำไมชีวิตฉันจึงโชคร้ายเหลือกัน โอ้ ! ฉันได้เลื่อนตำแหน่ง ฉันได้รถใหม่ ดีจังเลย นี่คือ จิตกำลังพูด กำลังพากย์หรือกำลังปรุงแต่งเรื่องราว เอ ! ฉันจะดูแลรถใหม่ ตำแหน่งใหม่อย่างไรดีนะ จิตที่พูดที่พากย์ดังกล่าว เป็นการพูดการพากย์ด้วยโมหะ ด้วยความไม่รู้เท่าทัน
ถามว่า พระอรหันต์ท่านคิดไหม พระพุทธเจ้าท่านคิดไหม ท่านก็คิด ท่านใช้ความคิด (สังขารขันธ์) ให้เป็นประโยชน์ต่อชาวโลก แต่เป็นการคิดที่ปราศจากเถ้าธุลีของกิเลสเจือปน แม้หลวงปู่ดูลย์สร้างโบสถ์ ท่านก็ต้องใช้ความคิดเหมือนกัน แต่ท่านใช้แบบไม่แบกความคิดนั้นไว้แม้แต่นิด เมื่อถึงตรงนั้น เราจะคิดก็ได้หรือจะหยุดคิดก็ได้ เมื่อเจริญสติจนจิตกับสติรวมเป็นหนึ่งได้อยู่อย่างสม่ำเสมอ ของเราไม่ต้องถึงขนาดพระอรหันต์หรอก แค่เราคิดแล้วไม่แบกความคิดไว้ก็พอเอาตัวรอดได้แล้ว แบกความคิดว่า เออ ! ความคิดฉันดีสุด เลิศสุด ประเสริฐสุด ถ้าเป็นอย่างนี้ จะทุกข์จนวันตาย ตายแล้วก็ยังทุกข์
ผมยกตัวอย่างเสมอ เปรียบเหมือนคนแบกจอบไปขุดดินปลูกต้นไม้ พอขุดดินเสร็จ เรายังจะแบกจอบไว้อีกเหรอ คนธรรมดาไม่มีใครแบกจอบไว้หรอก เขาก็วางไว้ข้างๆ จะแบกให้หนักทำไม ถ้าวันหนึ่ง เจริญสติจนรวมกับจิตได้เป็นหนึ่งวันใด จะเห็นว่า แม้ความคิดก็ไม่ใช่เราหรือของเราเลย เมื่อเห็นความคิดหรือสังขารขันธ์ ไม่ใช่เราของเรา ที่เหลือไม่ว่าจะเป็นรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ (ความรู้สึกสุข ทุกข์) สัญญาขันธ์ (ความจำได้หมายรู้) หรือแม้แต่วิญญาณขันธ์ มันก็จะเห็นในคราวเดียวกันว่า ไม่ใช่เรา ของเราเช่นกัน วันที่เห็นเช่นนั้นแหละเรียกว่า เห็นธรรม ดวงตาเห็นธรรม เห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (ขันธ์) เกิดเป็นธรรมดาและดับเป็นธรรมดา จะถือหรือหมายมั่นว่าเป็นเรา ของเราไม่ได้เลย เป็นการเห็นด้วยตาใน เห็นอยู่ในจิตในใจ หรือที่เรียกว่า ญาณทัสสนะนั่นเอง
การแสดงธรรมวันนี้ก็ไม่เตรียมอะไรเหมือนเช่นก่อนๆ ปล่อยให้มันไหลออกมาจากจิต ตามธรรมชาติของมัน อาจจะลึกซึ้งอ่านไม่รู้เรื่อง ก็ค่อยๆ อ่านไป เจริญสติไป เป็นประสบการณ์ทางจิตของเราเอง แต่ทุกคนก็ต้องผ่านทางนี้เหมือนกันหมด หากจะไปยังจุดจบแห่งทุกข์ ยิ่งปฏิบัติเข้าไปๆ ก็จะเห็นจริงตามคำสอนของครูบาอาจารย์ที่ท่านก็ประสบ ผ่านทางนี้ไปเหมือนกันแต่ก็อดไม่ได้ที่จะท้อใจในการแนะนำสอนผู้คน เพราะของอย่างนี้ไม่ใช่ของตามตลาดที่อาจซื้อหรือแย่งยื้อเอาได้ตามใจปอง ต้องใช้ความเพียร อุตสาหะและศรัทธาในคำสอนของพระพุทธองค์อย่างแรงกล้าพอควร เหนืออื่นใดต้องเจริญสติอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีสติ มันก็มีสมาธิ มีปัญญาตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย สมาธิในที่นี้ ไม่หมายถึง การไปนั่งภาวนาหลับตาอะไรหรอกนะ อย่างที่หลวงปู่ชาบอกไม่ผิดเลย ท่านว่า ผมนี่สมาธิ (แบบหลับตาเข้าฌาน) น้อยนะ แต่สตินี่มาก สมาธิ (สัมมาสมาธิ) คือ สมาธิที่ประกอบด้วยสติ ด้วยปัญญา
เมื่อมีสติจิตก็จะหยุด จิตก็จะตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อจิตตั้งมั่นไม่ไหลไปตามกระแสอารมณ์ ก็จะเห็นอารมณ์ทั้งปวงเกิดดับอยู่อีกฟากหนึ่ง จะถือเป็นเรา ของเราไม่ได้ ตรงที่เห็นอย่างนี้แหละเรียกว่า ปัญญา ถึงได้บอกพวกเราว่า สติเป็นตัวหยุด สมาธิเป็นตัวตั้ง ปัญญาเป็นตัวตัด ตัดหรือละได้มากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับกำลังของจิตที่อบรมมานั่นแหละ ตัดหมด ละหมดก็จบกิจ แต่อย่างเราๆ นี่ อย่าเพิ่งไปถึงขนาดจบกิจ บรรลุนิพพาน อรหันต์อะไรกันเลย เอาแค่เห็นว่าอะไรเป็นอะไรก็พอแล้ว เจริญสติระหว่างวัน จนแยกจิตออกจากอารมณ์ เห็นรูปนาม ขันธ์ห้า อารมณ์ไม่ใช่เรา นี่ก็ถือว่า สำเร็จยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว ตรงนั้นแหละท่านจะพบจิต พบใจตนเอง ที่เหลือมันก็เป็นไปเองโดยอัตโนมัติ ตามครรลองของมันเอง
พอแยกจิตออกมาได้ เห็นอารมณ์ทั้งปวงไม่ใช่เราของเราแล้ว จิตมันก็จะค่อยๆ ละออกมาเองทีละน้อยๆ มันจะคลายความยึดมั่นออกมา คลายได้มากเท่าใด จิตก็จะสงบลง เย็นลงๆๆๆ อาการที่คลายออก มันจะมีปรากฏการณ์อย่างหนึ่งเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน นั่นคือ จิตจะมีสติ (ความรู้สึกตัว) เพิ่มขึ้นๆๆๆ เองโดยอัตโนมัติ จนบางทีจิตก็จะคอยตั้งมั่น จะมีปิติเยือกเย็นสงบ โดยไม่ต้องไปคอยนั่งหลับตาภาวนาอะไรเลย ยิ่งรู้เท่าทันอารมณ์ (ปัญญา) ว่า ไม่ว่าอารมณ์ใดๆ ผ่านเข้ามา ก็ไม่เที่ยงไปได้ทั้งนั้นแหละ ไม่ว่าอารมณ์ยินดี ยินร้ายก็จะยิ่งทำให้จิตคลายความยึดมั่นถือมั่นออกมาเร็วมากเท่านั้น
พระพุทธเจ้าจึงสอนว่า สุดท้ายแล้ว สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น คำว่าสิ่งทั้งปวงไม่ได้หมายถึงรูปนี้ กายนี้แต่อย่างเดียว แต่หมายถึง อารมณ์ทั้งปวงนั่นเอง อารมณ์ใดก็อย่าไปหมายมั่นให้มากเลย หมายมั่นมากก็ทุกข์มาก หมายมั่นน้อยก็ทุกข์น้อย ไม่หมายมั่นเลย ไม่ทุกข์เลย
หลวงปู่ชาจึงสอนว่า อะไรๆ ก็ไม่สำคัญเท่ากับคำว่า “วาง” มันหนักก็วางเสีย มันร้อนก็วางเสีย มันวุ่นก็วางเสีย พอวางได้มันก็แข็ง เย็น และสงบเท่านั้นแหละ ถ้าวางไม่ได้ มันก็หมายมั่น ยึดมั่น พอยึดมั่นมันก็ปรุงแต่งเรื่องราวขึ้นทำร้ายตนเองอยู่ตลอดเวลานั่นแหละ ปรุงแต่งเรื่องดีก็ทำร้ายตนเอง ปรุงแต่งเรื่องร้ายก็ทำร้ายตนเอง ทำไมถึงกล่าวว่า ปรุงแต่งเรื่องดีทำร้ายตนเอง เพราะเมื่อใดที่ปรุงแต่ง เท่ากับท่านกำลังผลักไสใจตนเองให้วิ่งวุ่นครุ่นคิดแล้ว คนที่วิ่งตลอดเวลา ไม่เคยหยุดพักเลย ท่านว่า เขาจะเหน็ดเหนื่อยสาหัสแค่ไหน นักวิ่งร้อยเมตรหรือมาราธอนยังต้องหยุดพัก แล้วใจท่านเคยหยุดพัก หยุดวิ่งบ้างไหม
พักใจกันบ้างเถิด ที่พักใจที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลกคือสติ สติคือที่พักใจที่ยอดเยี่ยมที่สุด ไม่มีที่ใดเสมอเหมือน วลีนี้ผุดขึ้นมาขณะภาวนาและผมก็เคยลงให้พวกเราอ่านกัน พูดจากประสบการณ์ในการปฏิบัติธรรมของเรา ลองนึกดู คนที่มีสติอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะกินพูด ดื่ม คิด ยืน เดิน นั่ง นอน ก็เท่ากับใจเขาได้พักอยู่ตลอดเวลา กายหรือขันธ์ของเขาเท่านั้นที่เหนื่อย ที่ต้องหลับต้องนอน แต่ใจเขาไม่เหนื่อยไปด้วยเลย เพราะเขาได้พบที่พักใจที่เยี่ยมยอดที่สุด นั่นคือสติ
ผมจึงบอกพวกเราอยู่เสมอว่า การปฏิบัติธรรมไม่ต้องอะไรมากหรอก ไม่ต้องไปหาเหตุผลกลไกอะไรให้ปวดสมองเลย หา “สติ” ให้เจอ แล้วอยู่กับเขาให้มากแค่นี้เอง อยากหาสติเจอก็ใช้วิธีแบบพระพุทธเจ้าในคืนตรัสรู้ก็ได้ ลองหายใจลึกๆ ดูสิ (ผมบอกพวกเราให้ทำบ่อย) จะเกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา พระพุทธเจ้าหายใจเข้า ท่านก็รู้สึกตัว หายใจออกท่านก็รู้สึกตัว ในคืนวันตรัสรู้ ความรู้สึกตัวนี่แหละคือ ความรู้สึกกลางๆ ไม่ซ้าย ไม่ขวา ไม่ขึ้น ไม่ลง ท่านค้นพบทางสายกลาง คือ ความรู้สึกตัวหรือสตินั่นเอง เมื่อท่านพบสติ ท่านก็ใช้สตินี่แหละเป็นมรรค ดำเนินจิต จนเห็นทุกข์ เห็นเหตุแห่งทุกข์และถึงการดับทุกข์ในที่สุด การแสดงธรรมในคืนนี้ก็มาจบลงที่อริยสัจจ์โดยไม่ตั้งใจ ก็ขอให้พากันเจริญสติให้มาก อยู่กับสติให้มาก อยู่กับอารมณ์ให้น้อย แล้วท่านจะพบจิต พบใจตนเอง เห็นอริยสัจจ์ และนำไปสู่การพ้นทุกข์ในที่สุด