ถาม-ตอบ

มีสติ รู้สึกตัวทั่วพร้อม ไม่เสวยเวทนา

แสดงธรรม กลุ่มต้นบุญ  เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558

 

ท่านทรงกลด  วันหนึ่งๆ ควรอยู่กับสติให้มากที่สุด  หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนว่า ในวันหนึ่งให้อยู่กับความรู้ตัวอยู่เสมอ ท่านบอกว่า ครั้งแรกๆ จะยากหน่อย เพราะจิตมันเคยชินแล่นไปอยู่กับอารมณ์ต่างๆ  เหมือนอย่างที่เคยบอกว่า จะรู้ธรรมเห็นธรรม ต้องเปลี่ยนที่อยู่ของใจเสียใหม่  ถ้าใจมันชอบไปอยู่กับคนนั้นคนนี้ก็พิจารณากายดูอาการสามสิบสองให้เห็นว่า มันเป็นเพียงธาตุ  ไม่สะอาด หาแก่นสารไม่ได้ ใจมันก็เลิกวิ่งแส่ไปหาเองโดยอัตโนมัติ  

หลวงปู่ดูลย์บอกว่า (ลองสังเกตตัวเองดู) เมื่อจิตแล่นไปในอารมณ์จนอิ่มแล้วก็จะรู้สึกตัวขึ้นมาเอง  ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น  แต่เพราะไม่รู้อะไรก็วิ่งแล่นไปหาอารมณ์อีก เพราะเห็นผิดว่า อารมณ์คือเรา ของเรา   เคยมีพระถามว่า อารมณ์แล่นมาหาใจหรือใจแล่นไปหาอารมณ์  ถ้าใครตอบว่า อารมณ์แล่นมาหาใจอันนี้ไม่ถูก  ถ้าเป็นอย่างนั้นไม่มีวันพ้นทุกข์  แต่จริงๆ แล้ว จิตเราต่างหากที่แล่นแส่ไปหาเขา   อย่างเพลงทะเลใจ  เนื้อเพลงมีว่า  ทุกชีวิตดิ้นรนค้นหาแต่จุดหมาย   ใจในร่างกายกลับไม่เจอ   อย่าคิดว่าคนแต่งเพลงนี้จะเจอใจ พบใจแล้ว ยังไม่ได้เริ่มต้นแม้แต่น้อย  หยุดวิ่งตามอารมณ์ได้เมื่อใด ก็พบใจเมื่อนั้น ผมเคยบอกไว้  จริงๆ แล้วเราจะมีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมเกิดขึ้นวิบหนึ่งทุกครั้งที่รู้สึกตัวขึ้นมาหลังจากจิตมันอิ่มจากการแล่นไปอยู่กับอารมณ์อย่างที่หลวงปู่ดูลย์บอก (ตรงที่รู้สึกตัวขึ้นมาวิบหนึ่งนั้นคือ  จิตได้ปรุงแต่งวิญญาณขึ้นมาแล้ววิญญาณก็ทำหน้าที่รับรู้ของมันตามปฏิจจสมุปบาท)

หลวงปู่มั่นแต่งบทประพันธ์ไว้ว่า  แต่ก่อนข้าพเจ้ามืดเขลาเหมือนเข้าถ้ำ  อยากเห็นธรรมยึดจะเข้าเฉย  ยึดความจำว่าเป็น “ใจ” หมายจนเคย  เลยเพลินเชยชมจำธรรมมานาน  เข้าถ้ำคืออะไร เข้าเฉยคืออะไร  ก็คือ เข้าฌานไง เข้าไปแล้ว เฉยอยู่ อารมณ์เฉย อุเบกขารมณ์

อุเบกขารมณ์ในฌานกับอุเบกขาในสัมโพชฌงค์เจ็ด มันคนละอย่างกัน  ยึดความจำว่าเป็นใจ ยึดความจำได้หมายรู้ต่างๆ สัญญาต่างๆ เป็นใจ ไปหลงชม  หลงจำว่าเป็นใจเป็นธรรม ใจตั้งมั่นคือสัมมาสมาธิ พระอริยะเจ้าจะพูดเหมือนกันหมด เพราะเห็นเหมือนกัน 

การมีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลานี่คือสติ หลายคนก็บอกว่า  ก็นี่ไง ฉันทำอะไรก็รู้ตัวตลอดเวลานะ รู้ตัวแบบที่ว่า รู้มากี่สิบปีแล้ว สามสิบ  สี่สิบปีแล้ว ทำไมไม่รู้เห็นธรรมเสียที ไม่เข้าใจสติ ไม่เข้าใจสมาธิ ไม่เข้าใจอารมณ์ จึงไม่เข้าใจธรรม ไม่เห็นธรรม

อารมณ์ทั้งปวงออกมาจากใจนะ หลายปีก่อนนั่งภาวนาพิจารณากายอยู่ก็เกิดความรู้ผุดขึ้นมารองรับว่า อะไรที่ออกมาจากใจ ไม่ใช่ใจ  นามรูปทั้งปวง ออกมาจากใจทั้งนั้น  ใจหรือจิตนี้ปรุงแต่งออกมาทั้งสิ้น ปรุงแต่งแล้วก็หลงกับสิ่งที่ปรุงแต่ง หลงอารมณ์ วิ่งตามอยู่เหมือนคนบ้าแบกหินร้อน ๆ

สติคือ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม เป็นความรู้สึกตัวในลักษณะตื่นรู้ ถ้าเฉยๆ ไม่ใช่สติ หายใจเข้าลึกๆ แรงๆ ก็พบสติแล้ว ตรงนี้ไม่ใช่ความรู้ตัวของคนธรรมดาทั่วไป คนธรรมดาถ้าไม่รู้ตัวมันก็คือคนบ้าเท่านั้นเอง  สติต้องเป็นสติใจ สติปัฏฐานสี่ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม คิด พูด ทำ ให้อยู่กับรู้  รู้สึกตัวทั่วพร้อม นี่คือ  อิริยาบถบรรพในกายานุปัสสนา

วันหนึ่งเราอยู่กับสติกี่เปอร์เซ็นต์ อยู่กับอารมณ์กี่เปอร์เซ็นต์ ลองนึกดู ครั้งหนึ่งมีโยมผู้หญิงคนหนึ่งชอบไปปฏิบัติธรรม  กลับบ้านไปไฟไหม้บ้านหมด กลับมาต่อว่าหลวงปู่ว่า ทำไมปฏิบัติธรรม ไฟยังไหม้บ้าน   พวกเราเคยรู้สึกแบบนี้ไหม  ปฏิบัติธรรมแล้ว ทำไมยังมีคนด่า ทำไมเจ้านายยังเกลียด ทำไมทำอะไรไม่ขึ้นเหมือนเดิม  อย่างที่ผมเคยบอกหลายครั้งว่า  พระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่องอีคิวมาหลายพันปีแล้ว หลวงปู่ตอบว่า การปฏิบัติธรรมไม่ได้ช่วยห้ามไม่ให้ไฟไหม้บ้านได้  บางคนไปเข้าคอร์สองวัน  สามคืน กลับมานึกว่าจะดีขึ้น เจ้านายด่าหนักกว่าเดิม  คราวนี้พยาบาทเจ้านาย ด่าธรรมแล้ว อะไรวะ  ไม่เห็นช่วยให้อะไรดีขึ้นเลย  คราวหน้าก็ไม่ไป ไม่เอามันแล้วธรรมะอะไรไม่ช่วยเลย   นี่ โง่หนักกว่าเดิมเข้าไปอีก  พระพุทธเจ้าสอนให้เราฉลาดทางอารมณ์ ให้รู้เท่าทันมัน  เมื่อรู้เท่าก็จะได้วาง  วางอารมณ์ทั้งปวงเสีย  

อย่างความจำนี้ก็คืออารมณ์นะ  เช่น เราเดินไปตลาดตอนเช้าซื้อกับข้าวแล้วมีคนด่า  พอเขาด่าเสร็จมันก็จบตรงนั้น  ไม่มีอะไร  เรารีบๆ ก็เลยลืมไปแล้ว  ตกกลางคืนก่อนนอน ภาพที่ถูกด่ามันผุดขึ้นมา ไม่รู้เท่าทันก็เกิดโทสะ พยาบาท นอนไม่หลับทั้งคืน ตอนเช้าจะไปด่าคืน  ภาพที่ผุดขึ้นมา  เรียกว่า  รูปสัญญา  เป็นอารมณ์อย่างหนึ่ง  รูปสัญญานี้คือธรรมารมณ์  เมื่อมากระทบใจ เกิดผัสสะย่อมเกิดเวทนา  ความรู้สึกไม่ยินดีเพราะไม่รู้เท่าทันในเวทนานั้นจิตก็เข้าไปยึดโดยอัตโนมัติตามวิสัยของปุถุชนแล้วปรุงแต่งเป็นวิภวตัณหาคือ  ความโกรธขึ้นมา  เวทนาก่อให้เกิดตัณหาเพราะเหตุนี้  

จริงๆ แล้ว ถ้ารู้เท่าทันเรื่องที่เกิดเมื่อเช้า มันเป็นสัญญาไปแล้ว สัญญามันทำหน้าที่ของมันก็คือ แสดงให้เราเห็นเท่านั้นเอง  แต่เราไม่เป็นผู้ชมที่ดี เต้นไปกับมันเลยเสร็จมัน  เหมือนดูหนัง  ดูละครแล้วเต้นไปกับบทที่เขาแสดง พาลชอบ พาลเกลียดตัวแสดงไปโดยไม่รู้ตัว  นี่คือปุถุชนที่ไม่รู้เท่าทันอารมณ์  

ถ้าเราเจ็บไข้ กายมันก็แสดงเวทนาไปตามเรื่องของมัน   เวทนามันก็ทำหน้าที่ของมันคือ  เจ็บปวด  ถ้าเราแยกจิตออกจากเวทนา ออกจากอารมณ์ได้ เราจะเห็นเลยว่า เวทนาก็สักแต่เวทนา ต่างคนต่างอยู่   เหมือนอย่างครั้งหนึ่ง หลวงปู่ดูลย์ป่วยหนัก ขยับตัวไม่ได้อยู่ที่โรงพยาบาล คืนนั้นหลวงปู่อ่อนเพลียมาก ต้องใช้ออกซิเจนช่วยหายใจตลอด  เวลาประมาณเที่ยงคืนพระรูปหนึ่งพร้อมบริวารไปขอกราบเยี่ยมหลวงปู่  แล้วพระนั้นก็ขยับก้มไปชิดหูหลวงปู่แล้วถามว่า หลวงปู่ยังมีเวทนาอยู่หรือ  หลวงปู่ดูลย์ตอบว่า  เวทนากับร่างกายนั้นมีอยู่ตามธรรมชาติของมันแต่ไม่ได้เสวยเวทนานั้นเลย  นี่คือท่านแยกจิตออกจากเวทนาได้   ถ้ารู้เห็นธรรมสักครั้งหนึ่งจะเห็นเลยว่า เวทนามันก็อยู่ของมันจริงๆ  จะเห็นเวทนาอยู่ตรงหน้าเหมือนเห็นหนังสือที่อยู่ตรงหน้าในขณะนี้  ถ้าเราเห็นกายไม่ใช่เรามันก็ไม่ยากที่จะเห็นเวทนาไม่ใช่เราในชั้นต่อไป

อีกครั้งหนึ่งที่หลวงปู่ป่วยหนัก มีพระรูปหนึ่งพร้อมญาติโยมไปเยี่ยม  พระรูปนั้นไปถึงก็บอกหลวงปู่ว่า หลวงพ่ออย่าไปคิดอะไรมาก ปล่อยวางๆ สังขารทั้งหลายมันไม่เที่ยงอย่างนี้แหละ ปล่อยวางนะหลวงพ่อ  ทายซิหลวงปู่ดูลย์ว่าไง  ท่านหัวเราะออกมาอย่างชนิดที่ไม่เคยเห็นมาก่อน (ลูกศิษย์บอก) หัวเราะอยู่นาน แล้วค่อยๆ สะกดกลั้นๆ  ตัวเองยังปล่อยวางอะไรไม่ได้เลย ไปสอนท่านให้ปล่อยวาง  

หน้าที่เรา ชาวพุทธจึงไม่มีอะไรมาก ทำความเห็นให้ถูกเท่านั้นเอง เมื่อความเห็นถูกเต็มรอบ ชัดแจ้ง อวิชชาก็ดับไป ก็จบเท่านั้น  ก็อะไรเล่าที่จะทำให้ความเห็นชอบเกิดขึ้น  ความเห็นชอบที่จะทำให้จิตบริสุทธิ์ ไปไกลกว่าการละบาป ทำบุญ  ซึ่งเป็นหัวใจพระพุทธศาสนาทีเดียว  ซึ่งก็คือสติปัฏฐานสี่ไงเล่า   พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทางนี้เป็นเอโกมรรคโค (ทางเอก) เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อข้ามพ้นโสกะปริเทวะ เพื่อความอัสดงแห่งทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุซึ่งโลกุตรมรรค และเพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน ทางนี้คือ  สติปัฏฐานสี่ ภิกษุทั้งหลาย 

ทำไมพระพุทธเจ้าจึงบอกว่า   อานาปานสติเมื่อเจริญแล้วจะยังสติปัฏฐานสี่ให้บริบูรณ์   ยังสัมโพชฌงค์เจ็ดให้บริบูรณ์  เมื่อเอาจิตไปอยู่กับลม อยู่กับรู้จนลมระงับไป (ลมละเอียด) ก็จะเห็นว่า ลม (กาย) ไม่ใช่เรา  เมื่อลมระงับ จิตละเอียดขึ้น เกิดปิติ สุข (ตรงนี้เป็นฌานที่มีสติกำกับ) ต่อมาปิติ สุขระงับไป  เหลือแต่จิตกับรู้  ปิติ สุข ก็ดี ล้วนแต่ยังเกิดจากจิตที่ปรุงแต่ง เรียกว่า จิตสังขาร

ปิติ สุข นี้เป็นเวทนา  เป็นสุขเวทนา   เวทนาสติปัฏฐาน  เมื่อออกมา กระแสอารมณ์ ความคิดไหลบ่ากระทบใจ ให้อยู่กับรู้ อยู่กับจิต จนจิตตั้งมั่น นี่คือจิตตานุปัสสนา  เมื่อเห็นอารมณ์แยกออกไปเห็นว่า อารมณ์ไม่ใช่เรา ไม่ ใช่ใคร เห็นธรรมชาติที่แท้จริงของจิต เห็นทุกข์อยู่ต่างหากจากจิต เห็นเหตุแห่งทุกข์ เห็นขันธ์ห้า ฯลฯ นี่คือ  ธัมมานุปัสสนา  

สัมโพชฌงค์เจ็ดเล่า  เมื่อมีสติรู้เท่าทันลมหายใจเข้าออก  หายใจเข้ารู้ หายใจออกรู้  ลมสั้นรู้ ลมยาวรู้  ขณะนั้นมีสติเกิดขึ้นมา  มีความคิดฟุ้งซ่านก็รู้ อารมณ์ยินดีเกิดก็รู้  ยินร้ายเกิดก็รู้  ขณะนั้นอารมณ์ก็แยกออกไปจากจิต  เอาอารมณ์มาพิจารณาให้เห็นว่า มันไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ต้องเสื่อมดับไปเป็นธรรมดา หาแก่นสารไม่ได้ จะถือเป็นเรา  ของเราไม่ได้  นี่คือ  ธัมมวิจยะ  

อย่าไปหลงตามที่นักปราชญ์ราชบัณฑิตแปลว่าธัมมวิจยะคือ  การเลือกเฟ้นวิจัยธรรม  มัวแต่ไปเลือกเฟ้นวิจัยอยู่ หาหัวข้อวิจัยอยู่แบบนั้นเมื่อไรจะตรัสรู้ธรรม  เพราะสัมโพชฌงค์เจ็ด เป็นองค์ธรรมเพื่อการตรัสรู้ธรรม  ใครจะตรัสรู้ธรรมต้องผ่านตรงนี้ ถ้าไม่ผ่าน อันนั้นไม่ใช่  แต่เขาอาจจะผ่านโดยไม่รู้ว่ามันคืออะไร เพราะมันชั่วขณะจิตเดียว ผมมาแยกวิเคราะห์ให้เห็น เหมือนเอาแว่นขยายมาส่องดูจุดเล็กๆ ให้ขยายใหญ่ขึ้น  ที่ไม่เข้าใจเพราะเรายังแยกจิตออกจากอารมณ์ไม่ได้  เพราะเห็นผิดว่า อารมณ์นั้นคือเราของเรา จิตก็เข้าไปยึดไว้แน่น เหมือนน็อตตัวผู้ (สกรู) ที่หมุนเข้าไปในร่องเกลียวของน็อตตัวเมียนั่นแหละ   

ทุกวันนี้ เราเข้าใจผิด เห็นอารมณ์เป็นใจ อย่างบางคน โอนเงินเข้าบัญชีผิด โอ้ ! วันนี้ ใจหาย  วันนี้มีแต่คนว่าทั้งวัน เศร้าใจเหลือเกิน  ที่เราปฏิบัติแล้วไม่รู้ธรรมเห็นธรรม เพราะเราไม่เข้าใจเรื่องสติ  เรื่องอารมณ์ เรื่องจิต  หลวงปู่ชาบอกว่า อารมณ์ไม่ใช่จิต  จิตไม่ใช่อารมณ์ เหมือนน้ำกับน้ำมัน  แต่ต้องแยกในลักษณะประจัญหน้ากัน  ไม่ใช่หนีอารมณ์เข้าไปอยู่ในถ้ำ   

หลวงปู่มั่น เมื่อรู้ธรรมเห็นธรรม ท่านยอมรับเลยว่า เมื่อก่อนนี้เห็นผิด เห็นอารมณ์เป็นใจ  ความรู้สึกสุข ทุกข์  ยินดียินร้าย ความจำได้หมายรู้ ความคิดต่างๆ นี่คือ อารมณ์  อารมณ์จริงๆ คือ  ที่อยู่ของใจ (ของปุถุชน)  อยู่กับรูปบ้าง เอารูปงามๆ มาเป็นอารมณ์ ครุ่นคิดไปในทางกามทั้งวันทั้งคืน  ในชั้นลึกที่สุด ซึ่งถ้าไม่เห็นธรรมไม่มีวันเข้าใจ คือ  วิญญาณ  แม้พระอนาคามีก็ยังถือวิญญาณเป็นอารมณ์ คือ  เป็นที่อยู่ของใจ

หลวงปู่ดูลย์จึงบอกว่า ชั้นในสุดที่ต้องละก็คือ  วิญญาณ  หลวงตามหาบัวเมื่อบรรลุอนาคามีแล้ว เดินจงกรมภาวนา เกิดความรู้ว่า ถ้ายังมีต่อมผู้รู้อยู่ ก็ยังมีภพ (สุทธาวาส) ที่นั่น  ตอนนั้นท่านก็ไม่รู้จะไปถามใคร เพราะหลวงปู่มั่นละสังขารแล้ว  แต่สุดท้ายท่านก็ละได้  ผู้รู้นั่นแหละคือ  วิญญาณ  เลยพากันเกิดแก่เจ็บตายอยู่ทุกวันนี้ 

บางคนทำบุญมากเหลือเกินแต่ขาดปัญญา  ยังมองไม่เห็นภัยในวัฏสงสาร  เรานั้นเข้าใจมาหลายร้อยชาติแล้ว แต่ยังไม่เข้าถึงเลย  แล้วอะไรคือที่สุดแห่งบุญเล่า อะไรคือยอดของบุญ บุญอยู่ที่ปลายจมูกเหรอ แล้วเป็นบุญอย่างไร  ทำไมจึงเข้าใจว่า  อานาปานสติเป็นบุญ  อานาปานสติไม่ใช่เป็นเพียงบุญแต่มันอยู่เหนือบุญ หากเจริญถึง  ถ้าเราติดบุญ เราจะอยู่แค่บุญ  ที่จะคุยไม่ใช่ปริยัติแต่เป็นปฏิบัติ  เราไม่ค่อยเข้าใจเรื่องอานาปานสติ เราจึงไม่ถึงไหนกันเสียที 

อานาปานสติมีทั้งหมด  16 ขั้นในอานาปานสติสูตร  ขั้นที่ 1 10 ยังเป็นบุญอยู่  ต่อเมื่อจิตเป็นสัมมาสมาธิในขั้นที่ 11 จึงจะอยู่เหนือบุญ  เป็นปัญญา เห็นว่า รูปนาม  อารมณ์ จะถือเป็นเราไม่ได้อีกต่อไป  พอขั้นที่ 12 จิตจะเริ่มปล่อยจากอารมณ์ รูปนามที่เห็นเฉพาะหน้าขณะนั้น ขั้นที่ 13- 16 เป็นเรื่องปัญญาล้วนๆ  ตอนนั้นจิตเริ่มเข้าสู่อริยมรรคแล้ว  ที่พูดนี่จากประสบการณ์ตรง ไม่ใช่ปริยัติ  หลายๆ ท่านคงไม่เคยได้ยินมาก่อน  แต่ละบทในอานาปานสติสูตรมาตีแตกตอนสัมมาสมาธินั่นแหละ  มาแทงตลอดเมื่อดำเนินมรรคจิตถึงตรงนั้น   พระพุทธเจ้าเห็นทุกข์ เห็นธรรม ก็ตรงสัมมาสมาธินั่นแหละ  สมาธิในที่นี่ไม่ได้หมายถึงการกำหนดเพ่ง  บริกรรม  ภาวนาจนจิตรวมกับสิ่งที่เพ่ง บริกรรม เป็นเอกัคคตารมณ์และอุเบกขารมณ์อย่างที่สอนกันทั่วไป  แต่หมายถึงการเจริญสติจนจิตตั้งมั่นอยู่กับสติ นี่ต่างหากคือสัมมาสมาธิ  

เคยสงสัยหรือไม่ว่า  ทำไมสัมมาสติจึงมาก่อนสัมมาสมาธิในมรรคมีองค์แปด  ผมก็เคยงงเหมือนกัน  พอเห็นจึงเข้าใจว่า อ๋อ ! หากสติไม่บริบูรณ์ในขณะนั้น สัมมาสมาธิไม่มีวันเกิดขึ้นเป็นอันขาด  พระพุทธเจ้าบอกว่า สติเป็นเครื่องกางกั้นกิเลส  นักปฏิบัติต้องเคยได้ยินคำนี้ ทุกวันนี้ มันกั้นได้หรือเปล่า  ใครด่าก็โกรธ  เห็นรูปงามก็หลงรัก  เกิดความกำหนัดยินดี  เพราะอะไร  เพราะว่าสติมันไม่บริบูรณ์   ใจเลยแส่ส่งออกนอกไปตะครุบอารมณ์ยินดี  ไม่ยินดีมาปรุงแต่งเป็นโทสะ  ราคะ  อยู่ตลอดเวลา  หลวงปู่ชาจึงสอนว่า  ให้อบรมสติให้ต่อเนื่อง เหมือนเทน้ำออกจากกา แรกๆ มันก็ต๋อมๆ  พอเทถี่เข้าๆ ๆ ๆ สติต่อเนื่องไม่ขาดสาย จึงจะเกิดปัญญา   หลวงปู่ดูลย์ก็สอนว่า ให้เจริญสติให้ต่อเนื่อง ไม่ใช่ทำ ๆ หยุดๆ เป็นหลอดไฟ ติดๆ ดับๆ เมื่อไหร่มันจะสว่างเสียที  ลองมันสว่างเสียครั้งหนึ่ง ก็เห็นแล้วว่า ไอ้งูเห่าที่มันฉกกัดเราทุกวันนี้มันมาจากไหน  ทุกวันนี้ตาเราไม่ได้บอดหรอกแต่ใจมันมืดจึงมองไม่เห็นความเป็นจริงของรูป  ของนาม ของขันธ์ห้า อารมณ์ทั้งปวง  

ปุถุชนกับพระอรหันต์ต่างกันที่ความเห็น  ฝั่งหนึ่งอยู่อีกปลายหนึ่ง อีกฝั่งหนึ่งก็อยู่อีกปลายหนึ่ง  หมายความว่าอย่างไร  ปุถุชนจะเห็นว่า รูป  เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ คือเรา ของเรา  แต่พระอรหันต์ท่านจะเห็นตรงกันข้าม จะเห็นว่า  รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่เรา ของเรา  

พระโสดาบัน ท่านจะทำลายความเห็นผิดที่ว่า  ขันธ์ห้าคือเรา คือสัตว์  บุคคล  ตัวตน  เรา  เขา  ท่านจะเห็นว่า  ขันธ์ห้า อารมณ์ที่เราคิดว่ามันคือเรา  ไม่ใช่เราอีกต่อไป  ทำไมเป็นเช่นนั้น  เพราะท่านเจริญสติ (สติปัฏฐานสี่) จนจิตตั้งมั่นแยกจิตออกจากอารมณ์ทั้งปวงได้  ผู้ใดเห็นจิตผู้นั้นเห็นธรรม  ความเห็นผิดที่ว่า  รูปนาม  ขันธ์ห้า  อารมณ์  คือเรา  คือเขา  หมดไปทันที เมื่อเห็นชอบตรงนี้  แต่ยังไม่จบ เพราะความเห็นผิดยังไม่หมด  แม้จะเห็นว่า  ขันธ์ห้าไม่ใช่เรา แต่ก็ยังเห็นผิดอยู่อีกว่า  มันคือของเรา  เพราะอยู่กับมันมานานมากหลายล้านๆ ชาติ  ก็ต้องเจริญภาวนา (สติ) ต่อไปอีก จนความเห็นชอบเต็มรอบของมัน มรรคก็จะสามัคคีกันอีกครั้ง เรียกว่า มัคสมังคี  เป็นสกิทาคามีผล  เจริญต่อเป็นอนาคามีมรรค  แล้วบรรลุอนาคามีผล เจริญต่อเป็นอรหัตตมรรค แล้วบรรลุอรหัตผล จบกิจตรงนี้  แต่บางท่านอีกรอบเดียวพรวดถึงอรหัตผลก็มี