ถาม-ตอบ

ภาวนาเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานยามเจ็บป่วย

แสดงธรรม กลุ่มต้นบุญ เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 

ท่านทรงกลด : ผู้สนใจในธรรมก็จะเจริญในธรรมนะแม้จะเจ็บป่วย  เรื่องการเจริญสติภาวนาก็อย่าขาดกัน  อย่าให้ความเจ็บป่วยมาเป็นอุปสรรคต่อการภาวนาของเรา  บางคนก็คิดว่า  เรื่องการภาวนาไว้วันหลังเถิด  พอวันหลังป่วยก็บอก  รอให้หายป่วยก่อน พอหายป่วย ก็บอก  วันนี้อากาศร้อนจัง ไว้รออากาศเย็นหน่อย  พออากาศเย็นก็บอกว่า วันนี้อากาศน่านอนจัง  ขอนอนก่อนแล้วกัน ตกลงไม่ได้ภาวนากันพอดี  แต่จริงๆ ถ้าเราภาวนาเป็น ไม่ว่ายามดีหรือยามป่วยก็ภาวนาได้โดยตลอด  เพราะคนป่วยก็ยังหายใจอยู่นะ  หายใจออกก็ให้รู้ หายใจเข้าก็ให้รู้  คนป่วยยังต้องกินข้าว  กินยาอยู่  ยังเดินเข้าห้องน้ำได้อยู่   ยืน เดิน นั่ง นอน ก็ให้รู้  อารมณ์ต่างๆ ก็มีตามปกติ เวลานั่ง  นอน  นึกถึงเรื่องดีๆ ความยินดีก็เกิด นึกถึงเรื่องที่ไม่ดี ความไม่ยินดีก็เกิด ก็รู้เท่าทันมัน พยายามอยู่กับรู้ อยู่กับสติ  แม้เราจะเจ็บป่วย ก็ต้องเร่งภาวนาล่ะเผื่อพรุ่งนี้ลุกขึ้นไม่ได้ไปตลอดชีวิตแล้วเราจะเสียใจที่ไม่ทำวันนี้ให้ดีที่สุด

ความเจ็บป่วยเป็นของประจำโลกไม่มีใครหนีพ้นหรอก  พระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ก็หนีไม่พ้น เป็นเรื่องธรรมดา  แต่เมื่อเราได้พบเห็นธรรมะแล้ว  การเจ็บป่วยก็ทำได้แค่เวทนาทางกายเท่านั้นเอง  ใจเราไม่ได้พลอยป่วยไปด้วยเลย  ใจเราไม่ได้ทุกข์ไปกับอาการเจ็บป่วย  มันจะป่วยก็ป่วยไป มันจะหายก็หายไป เราก็กินหยูกยาไปตามเรื่อง  ตามอาการ  ไม่ไปดิ้นรนวุ่นวายตามอาการของมัน  เพราะเห็นชัดแจ้งแล้วว่า  ไอ้ที่ป่วยๆ อยู่นี้ (กาย) มันจะถือเป็นเรา  ของเราไม่ได้เลยแม้แต่นิด  ถ้าเราภาวนาแยกจิตออกจากกายได้ เราจะไม่วุ่นวาย ทุกข์ร้อนไปกับอาการป่วยมากเท่าใด  เมื่อไม่วุ่นวาย  จิตก็สงบตั้งมั่นอยู่ดูอาการเจ็บป่วยอยู่  เหมือนตาดูมือถืออยู่ขณะนี้  มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ  ความเจ็บป่วยนี้ก็ไม่ใช่ใดอื่นเป็นเพียงทุกขเวทนาอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง  ทุกขเวทนาเหมือนเดินตากแดดร้อนๆ  เท่านั้น  มาแล้วก็ไป มันไม่ไป ร่างกายนี่ก็ไป ดูสิว่า ใครจะทนกว่ากัน  ไม่ว่ากายหรือเวทนา จะถือเป็นเรา  ของเราไม่ได้สักอย่าง  ใครจะไปก่อนหลังก็เรื่องของมัน  เราไม่เอาด้วยหรอก  จิตเราก็ตั้งมั่นอยู่ในความสงบ อยู่กับสติ อยู่กับรู้ หยุดอยู่ตรงนั้น ไม่ไปตามอาการเจ็บป่วยให้พลอย (จิต)  ป่วยไปด้วยหรอก  หลวงปู่ชาบอกว่า ผู้เข้าถึงพระรัตนตรัย ไม่มีอะไรจะมาทำร้ายได้  จริงอย่างหลวงปู่ว่าไว้ไม่มีผิด  มันทำร้ายได้เฉพาะขันธ์เท่านั้น แต่เรา (จิต) นี้ มันทำอะไรไม่ได้เลย  ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือภิกษุ ความเจ็บป่วยก็ไม่ละเว้น  เมื่อยามอยู่ดีมีสุข บางคนก็ประมาทไม่เคยคิดจะเจริญสติภาวนา  พอเจ็บป่วยจะเอากำลังสติที่ไหนมาภาวนา ยากยากเหลือเกิน  ดังนั้นในยามที่พวกเราสบายดีพากันเร่งภาวนาอย่าประมาทแม้ลมหายใจเดียวนะ  

มีเรื่องให้สลดใจอีกเรื่องหนึ่ง กล่าวคือ มีคนรู้จักที่สนิทกันมาก นอนๆ อยู่ลิ่มเลือดเข้าไปอุดเส้นเลือดในสมอง หมอผ่าตัดปรากฏว่า สมองตายหมดแล้ว ตอนนี้ใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่  เรื่องแบบนี้หากไม่เกิดกับเรา เราจะรู้สึกเฉยๆ  แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว หากฝึกสติปัญญามาน้อยเราจะทุกข์มากทีเดียว  การฝึกสตินี่จึงสำคัญที่สุด  สติคือความระลึกได้ในลักษณะรู้สึกตัวทั่วพร้อม  ที่เราฝึกสติ ก็เพื่อให้จิตเคยชินกับมัน  อย่างลมหายใจเข้ารู้ หายใจออกรู้ อันนี้ก็คือสติ  ยืน เดิน นั่ง นอน นั่งทำขนม คู้ตัว ยื่น หด มือ ให้รู้ นี่ก็คือสติ  ถ้าเราฝึกสติจนมีกำลัง ความเจ็บป่วยทางกายจะมาไม่ถึง  เพราะจิตก็ไม่เอาความเจ็บป่วยเลย มันจะอยู่กับสติ มันจะสงบ ไม่วุ่นวายเดือดร้อน  นี่คือการฝึกจิตให้อยู่เหนือเวทนา  ต่อไปเวทนาอะไรๆ ก็จะทำอันตรายกับเรายากขึ้นเรื่อยๆ  แม้เราจะไอจนตัวโก่ง ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของกายที่มันไอ  ไอแล้วมีเสมหะ ก็ดูสิว่า มันสะอาดไหม ใช่ของเราหรือไม่  ขณะเดียวกันก็ให้เห็นโทษภัยในวัฏฏะสงสาร เพราะมีการเกิดจึงมีการเจ็บ การแก่ การตาย  ถ้าไม่อยากเจ็บ ไม่อยากแก่ ไม่อยากตาย ก็อย่าเกิด

หลวงปู่ชาจึงสอนว่า ไปให้มันนอกเกิดเหนือตาย  เวลาเจ็บป่วยมันทรมานขนาดนี้ แล้วเวลาตายละ… หากฝึกสติมาไม่ดี จะทรมานขนาดไหน  เมื่อเราภาวนาเจริญสติจนสามารถแยกจิตออกจากเวทนาได้วันใด  เราจะเข้าใจ  แต่อย่าภาวนาหนีความเจ็บปวดเข้าไปแช่สงบอยู่ในถ้ำนะ  เอามันซึ่งๆ หน้านี่แหละ  สตินี่แหละจะเป็นตัวแยกเวทนาออกจากจิต

จะเห็นว่า  เวทนาก็สักแต่เวทนา จิตก็จิต คนละอันกัน  พอเริ่มรู้เรื่องของมัน ต่อไปมันจะสบาย  สบายเพราะอะไร  เพราะเห็นแล้วว่า  ที่ไม่สบาย (เวทนานั้น) มันไม่ใช่เรา ของเรานี่หว่า  หลงโง่อยู่ตั้งนาน  คราวนี้มันจะเจ็บ  จะป่วย  ก็เป็นเรื่องของมัน เราไม่เอาด้วยแล้ว  ที่สบาย สงบ เพราะไปรู้เรื่องของมันเข้าแล้ว  รู้แจ้งเห็นจริงในเรื่องของเวทนา ในเรื่องของขันธ์ห้าเข้าแล้ว  ต่อไปใครจะแก่  เจ็บ  ตายหรือแม้แต่ตัวเราจะเจ็บ จะตายก็ไม่ทุกข์มากเหมือนก่อนแล้ว  เพราะเห็นชัดแล้วว่า  ที่แก่ๆ ตายๆ  อยู่นี้  มันไม่ใช่แก่ตายจริงๆ  มันแก่ตายหลอกๆ ตายแล้วก็เกิดใหม่  เกิดแล้วก็แก่ตายอีก  วนเวียนซ้ำซากอยู่อย่างนี้ ไม่มีที่สิ้นสุด  เบื่อกันหรือยัง มาเกิดๆ ตายๆ อยู่ในโลกใบนี้  อยู่ในสังสารวัฏอันยาวนานนับอสงไขยไม่ได้เลย  ยามเจ็บป่วยก็จะได้ไม่ประมาท ยามไม่เจ็บป่วยก็จะได้มีกำลังภาวนา  

จริงๆ เวลาเจ็บป่วยนี่แหละคือเวลาที่ภาวนาดีที่สุด เพราะมันเห็นทุกข์ชัดประจักษ์ใจ  หลวงปู่มั่นตอนบรรลุพระอนาคามีที่
ถ้ำสาริกา  นครนายก  ท่านก็บรรลุตอนเจ็บป่วยหนักนะ  ถ้าเห็นชัดว่า ความเจ็บป่วยไม่ใช่เรา ของเรา มันจะวางลงได้เอง โดยไม่ต้องมีใครมาบอกให้วาง   ดังนั้นเวลาเจ็บป่วยอย่านึกน้อยใจในโชคชะตาเลย  ให้มองว่า  เป็นเรื่องโชคดี  โชคดีที่ถือโอกาสเป็นการใช้กรรม ใช้หนี้กันไป   โชคดีที่สองคือ  ได้เอาความเจ็บป่วยมาเป็นข้อพิจารณาว่า  ไม่ควรประมาทในการใช้ชีวิต   โชคดีที่สามคือ จะได้รู้ว่า ที่ว่าแน่ๆ ฝึกมาดีแล้วนั่นนะ ถึงเวลามันใช้งานได้จริงหรือเปล่า  ถ้ายังมัววิ่งเต้น  ทุกข์ร้อนไปตามอาการที่เจ็บป่วยอยู่นี้แสดงว่า ยังไม่ผ่าน  แต่ถ้าตั้งมั่น  สงบอยู่  ไม่วุ่นวายเดือดร้อนไปตามมัน  ถือว่า สติใช้ได้  แสดงว่า จิตมีกำลัง ไม่แส่ไปเอาความร้อนทางกายมาเป็นความร้อนทางใจ  กายรุ่มร้อนเพราะพิษไข้ก็ปล่อยให้มันร้อนไป  ใจเราไม่แส่เข้าไปยึดฉวยคว้ามาให้ร้อน  มันก็เป็นความเจ็บป่วยที่สบายๆ  เป็นความเจ็บป่วยที่สงบ เยือกเย็นอยู่ภายใน  

ถ้าเราฝึกสติ ฝึกจิต จนแยกจิตออกจากขันธ์ จากเวทนา จากอารมณ์ทั้งปวงได้เด็ดขาดวันใด เราจะเข้าใจว่า เวทนากับจิต มันแยกออกจากันได้   เหมือนที่เราฝึกอานาปานสติเพื่อแยกจิตออกจากลมในเบื้องต้นนั่นแหละ  เมื่อแยกจิตออกจากลมได้ ต่อไปก็จะแยกจิตออกจากอารมณ์ จากเวทนาได้  จะอยู่เหนือเวทนา อย่างที่หลวงปู่ชาเคยสอนไว้  ก็ขอให้พากันหมั่นเจริญสติตามแนวทางสติปัฏฐานสี่กันให้ได้ทุกวัน  อย่าคิดว่า ต้องรอวันพระ วันโกน  เอาง่ายๆ แค่รู้เท่าทันลม รู้เท่าทันอารมณ์ไม่ว่าดีหรือร้าย แค่นี้ก็ถือว่า  ได้ปฏิบัติธรรมในระหว่างวันแล้ว  ลมหายใจเข้ารู้ หายใจออกรู้  อารมณ์ยินดีเกิด ก็ให้รู้ ยินร้ายเกิดก็ให้รู้  รู้เท่าทันว่า มันไม่เที่ยงแท้ไปได้หรอก เดี๋ยวต้องเสื่อมดับไปเป็นธรรมดา    เมื่อเห็นอย่างนี้เนืองๆ จิตจะไม่เข้าไปจับในอารมณ์ทั้งสองฝั่งทั้งดีและร้าย  ขณะที่รู้ขณะนั้นคือ  สติ  ขณะที่เห็นว่า  ไม่ว่าลมหายใจหรืออารมณ์ล้วนไม่เที่ยง  เป็นอนิจจัง  ขณะนั้นคือปัญญา  ขณะที่จิตตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์เพราะรู้เท่าทันขณะนั้นคือ  สมาธิ  สมาธิแปลว่า  ความตั้งมั่นของจิต (ไม่ได้หมายถึงจิตรวมลงไปแบบฌาน)  เมื่อประกอบด้วยความเพียร ด้วยศรัทธา   ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา  อินทรีย์ห้า พละห้า ทำงานพร้อมเพรียงกัน  เมื่อนั้นก็จะรู้ธรรมเห็นธรรมขึ้นมาได้ แล้วจะหายสงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้า  จะเข้าถึงพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง  พระพุทธ (ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน) ก็อยู่ที่ใจ  พระธรรมก็อยู่ที่ใจเพราะใจเป็นธรรมเสียแล้ว (พลิกโลกออกมาเป็นธรรม) พระสงฆ์ (อริยสงฆ์) ก็อยู่ที่ใจ  คนเห็นธรรมอย่างน้อยก็เป็นอริยสงฆ์ชั้นโสดาบันแล้ว  พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ใช่อยู่ที่ใดอื่น อยู่ที่ใจเรานี่เอง  เมื่อเข้าถึงพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง อันตรายใดๆ ก็ทำอะไรเราไม่ได้อีกต่อไป  ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บ ความป่วยหรืออะไรก็ตามที  มันจะทำได้แต่ขันธ์ห้า ที่นับวันก็เสื่อมพังอยู่ทุกขณะอยู่แล้ว   แต่สำหรับจิตเราแล้วมันจะทำอะไรไม่ได้เลย   จึงขอให้พากันภาวนา ให้เข้าถึงพระรัตนตรัยที่อยู่ภายในจิตในใจของเรานี้เอง ไม่ต้องไปหาที่ไหน  อย่าได้ประมาทกันอยู่เลย