ถาม-ตอบ

ภาวนาอย่างไรให้ไปดี

แสดงธรรมกลุ่ม Natural Mind เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558

 

ผู้ปฏิบัติ :  อ่านพบบทความเรื่อง วินาทีก่อนตาย  มนุษย์จะเห็นอะไร!!!  จากหนังสือ อำนาจพลังจิต) ของคุณพศิน อินทรวงค์ ความว่า

ในวินาทีที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดกำลังจะถึงแก่ความตาย ปกติแล้วเมื่ออยู่ในช่วงเวลาแห่งความเป็นความตาย จิตของผู้ที่ไม่เคยฝึกฝนการภาวนาเลยจะควบคุมได้ยากมาก ก่อนที่จิตสุดท้ายจะดับไปสู่ความตาย จิตจะต้องเข้าภวังค์เสียก่อน ภวังค์จิตก่อนตายนี้มีลักษณะพิเศษคือ ประสาทสัมผัสจะดับ หูไม่ได้ยิน ตาไม่เห็น จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รู้รส กายไม่รู้สัมผัส พูดง่ายๆ ว่าร่างกายไม่ทำงานแล้ว แต่จิตยังทำงานอยู่ ในขณะนั้นเองจะมีนิมิตปรากฏขึ้นในภวังค์จิต ได้แก่

  1. กรรมารมณ์ปรากฏคือ สิ่งที่ทำไว้ในชาตินี้หรือชาติก่อน จะมาปรากฏในภวังค์จิต เป็นลักษณะเหตุการณ์ที่ดำเนินไปเรื่อยๆ คล้ายดูภาพยนตร์ ไม่ได้เจาะจงจุดใดจุดหนึ่ง

2.กรรมนิมิตอารมณ์ปรากฏ กรณีนี้จะไม่ปรากฏเป็นภาพในภวังค์จิต แต่จะปรากฏเป็นภาพกุศลหรืออกุศลที่ตนเคยทำไว้ในชาตินี้แทน ซึ่งจะมีความชัดเจนมาก เช่น เห็นภาพตอนที่ตนเองไปทำบุญ ทำกุศล (สร้างกรรมดี) ไปช่วยสร้างวัดหรือเห็นสัตว์ตัวที่เคยฆ่าไว้ซึ่งจะทำให้ไปเกิดทันทีด้วยผลกรรมที่รุนแรง

3.คตินิมิตอารมณ์ปรากฏคือ เกิดนิมิตเป็นผลแห่งกรรม เช่น เห็นเป็นภพภูมิตามผลกรรมที่ตนกระทำไว้ เห็นเป็นนรก สวรรค์ เป็นวิมาน เป็นเทวดา นางฟ้า หรือเปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เป็นผลแห่งกรรมจากการกระทำนั้นๆ เป็นต้น

นิมิตทั้งสามนี้ ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่า ก่อนเสียชีวิตจะเกิดนิมิตแบบไหนขึ้น บางคนอาจคิดว่า จะใช้ประโยชน์จากจิตสุดท้าย ซึ่งเคยได้ยินว่า ในชีวิตจะทำอะไรมาก็ตาม ถ้าจิตสุดท้ายคิดดีก็เป็นอันว่า ได้ไปเสวยสุขอยู่แดนสวรรค์ ก็ต้องขอบอกว่า “กฏแห่งกรรม” มิได้มีความโง่เขลาถึงเพียงนั้น ความคิดเช่นนี้ไม่ได้ทำได้ง่ายนัก เพราะจิตที่กำลังจะปฏิสนธิจิต เปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติเป็นจิตที่มีความรุนแรง ควบคุมได้ยากมาก 

สมัยพุทธกาล มีสตรีผู้หนึ่งกระทำความดีมาตลอดชีวิต อยู่ในศีลธรรมตลอด หากแต่วาระสุดท้าย จิตพลิกไปคิดถึงความผิดอันน้อยนิดที่เคยทำไว้ ยังบันดาลให้นางต้องไปชดใช้กรรมอยู่ในนรกภูมิชั่วระยะเวลาหนึ่ง  พลังจิตนี้เองจะสามารถช่วยผู้ที่ฝึกจิตในช่วงเวลาสำคัญเหล่านี้ได้ เพราะผู้ฝึกจิตทุกคนจะมีความคุ้นเคยกับการเข้าภวังค์ ยิ่งมีพลังจิตมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีความสามารถควบคุมการทำงานของจิตในภวังค์  ซึ่งภวังค์ในสมาธิก็มีความคล้ายคลึงกับภวังค์ในจิตสุดท้ายมาก นักพลังจิตที่มีความรู้จะใช้โอกาสทองนี้ยกจิตขึ้นสู่ฌานสมาธิ ส่งจิตไปสู่พรหมโลก หรือหากแม้ผู้ฝึกจิตมีความเชี่ยวชาญในการทำวิปัสสนาอยู่แล้ว ก็อาจใช้ช่วงเวลาดังกล่าว พิจารณาธาตุขันธ์ จนเห็นความเกิด  ดับ ตัดตรงเข้าสู่นิพพานก็ยังได้ เรียกว่า เป็นการใช้ภวังค์แห่งความตายให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั่นคือ ใช้เพื่อการบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในวินาทีสุดท้ายนั่นเอง

ฉะนั้นผู้ที่หวังไปสู่สุคติภูมิ ไปสู่ที่ที่ดี มีความสุขในภพภูมิต่อไปข้างหน้า ต้องหมั่นทำแต่ความดี ซื่อสัตย์ มีคุณธรรม ทำบุญสร้างกุศล สร้างแต่กรรมดี  และหมั่นฝึกฝนวิปัสสนาให้พร้อมอยู่เสมอ เพราะเราไม่รู้ว่า เมื่อไหร่ที่เราจะหมดอายุขัย หมดเวลาในโลกนี้  ดังนั้นจึงควรเร่งสะสมบุญ สะสมกรรมดีกันดีกว่า อนุโมทนาสาธุ 

ขอเชิญท่านทรงกลดวิจารณ์บทความนี้หน่อยครับ 

ท่านทรงกลด :  ท่านว่า ถ้าไม่เห็นสวรรค์ตอนเป็น อย่าหวังเห็นสวรรค์ตอนตาย ต้องเห็นสวรรค์ตอนลืมตา ถึงจะเห็นสวรรค์ตอนตาปิดสนิท ตายก่อนตาย  เรื่อง วินาทีก่อนตาย ถ้ายังไม่ได้ดวงตาเห็นธรรม คติคือที่ไปไม่แน่นอนเลย  พระเจ้าอโศกมหาราช ทำบุญยิ่งกว่าผู้ใด ก่อนตายมีโทสะเพราะจะทำทาน มหาดเล็กทูลว่า ทรัพย์ในท้องพระคลังหมดแล้ว ตายไปยังไปเกิดเป็นงูเหลือมเลย หรือมีผู้หญิงคนหนึ่งชอบสร้างโบสถ์  วิหาร ตายไป น่าจะไปเกิดในสวรรค์ ปรากฏว่า ไปเป็นหมาเฝ้าโบสถ์ แม้กระทั่งผู้ได้ฌาน หากก่อนตายมีทุกขเวทนากล้ายังจิตให้รวมเป็นสมาธิไม่ได้ ก็อย่าได้หวังว่าจะไปเกิดในพรหมโลกเลย ดังนั้นอย่าประมาทเลย เร่งเจริญภาวนาให้ได้ดวงตาเห็นธรรมในชาตินี้เถิด 

ทำไมพระโสดาบันปิดอบายได้ ก็เพราะพระโสดาบันจิตท่านเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จะเอาความเศร้าหมองที่ใดมาเป็นเหตุให้เกิดในอบายเล่า  ประการหนึ่ง   แม้ขณะใกล้ตายจะมีความทุกขเวทนาแรงกล้า แต่ท่านแยกจิต แยกอารมณ์ได้แล้ว จิตท่านไม่ไปยึดมั่นหมายว่า  ทุกขเวทนานั้นคือเรา ภพที่เป็นอบายอันเกิดจากความยึดมั่น (อุปาทานในภพ) ไม่มี นั่นแหละท่านจึงไม่ไปเกิดในอบาย นี่คือเหตุผลประการที่สอง   ตรงนี้ ถ้าใครศึกษาปฏิจจสมุปบาท จะเห็นว่า ภพเกิดต่อจากอุปาทาน นี่คือเหตุผลว่า ทำไมพระโสดาบัน ผู้ได้ดวงตาเห็นธรรมจึงปิดอบายได้ ไม่ไปเกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสูรกายหรือสัตว์เดรัจฉาน แต่ยังเกิด แสดงว่า ยังมีอุปาทาน ส่วนจะไปเกิดที่ใดก็สุดแท้แต่บุญ กรรม แต่ไม่เกิดในอบายแน่นอน ที่ว่า ยังเกิดอีก เพราะยังมีเชื้ออยู่ แม้จะหมดราคะ  โทสะ  แบบพระอนาคามี ก็ยังเกิดอยู่ ไปเกิดเป็นพรหมในชั้นสุทธาวาส ไปปฏิบัติต่อที่นั่น หลวงตามหาบัวตอนบรรลุอนาคามี ท่านจึงเร่งปฏิบัติต่อ ท่านบอกว่า ไม่อยากไปเกิดอีกชาติหนึ่ง

เรื่องชาติหน้า ให้ทุกคนหลับตา ตั้งสติให้รู้ตัวทั่วพร้อมประมาณสองสามนาที แล้วโปรดตอบผมหน่อยว่า ท่านคิดว่า ความรู้สึกนึกคิดกับร่างกายนี้มันคืออย่างเดียวกันหรือคนละส่วนกัน บางคนก็ตอบว่า คนละส่วนกัน บางคนก็ตอบว่า มันคืออย่างเดียวกัน ถ้าเป็นอย่างเดียวกัน ทำไมคนแขนด้วนไม่ตาย ทำไมตอนนี้เขาผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ เปลี่ยนอวัยวะกันได้ล่ะ  

ต่อไป….. ลองหลับตาไป ส่งใจไปอยู่ที่บ้านซิ….. ตอนนี้ใจอยู่ที่บ้านแล้วใช่ไหม…..  ถ้าใจและกายเป็นอย่างเดียวกัน ตอนนี้ใจอยู่ที่บ้านแล้วกายไม่ไปอยู่ด้วยกันเล่า  เริ่มยอมรับหรือยัง  คราวนี้…… ลองพิจารณาว่า ร่างกายคนเรานี้กำลังเสื่อม กำลังพัง เมื่อหมดลมหายใจ ร่างกายพัง นำไปเผา ใจตายไปด้วยหรือไม่ ก็ร่างกายกับใจ ความรู้สึกนึกคิดมันคนละส่วนกัน เมื่อกายถูกเผาแล้วใจไปไหนเล่า อันนี้เป็นการอุปมาให้คิดตาม แต่มันไม่เหมือนทำให้จิตเห็นนะ  มันก็ยังสงสัยอยู่นั่นแหละ ต้องทำให้จิตเจ้าปัญหาเห็นนั่นแหละมันจึงจะยอมรับ หายสงสัย  แต่การสอนที่เคยอุปมาแบบนี้ก็ทำให้หลายๆ คนเริ่มคิดเหมือนกัน  ที่เขาบอกตายแล้วสูญ จะทำชั่วอย่างไรก็จบกัน มันเริ่มหวั่นไหวในใจแล้วสิ 

กลับมาที่บทความที่ให้วิเคราะห์กันต่อครับ  ตอนท้ายของบทความ  บอกให้เร่งสั่งสมบุญ สะสมกรรมดี นั่นก็เป็นเรื่องที่ดีแต่ว่ามันน้อยเกินไป  พระพุทธเจ้าอุตส่าห์สั่งสมบารมีผ่านความยากลำบากมาถึงสี่อสงไขยกับแสนมหากัปเพื่อตรัสรู้ธรรม สั่งสอนเวไนยสัตว์ ชี้ทางพ้นทุกข์ ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก การเกิดมาพบพระพุทธศาสนา แล้วเพียงแต่ทำบุญ สะสมกรรมดีนั้นยังน้อยเกินไป ต้องไปให้เหนือดี เหนือชั่ว หัวใจพระพุทธศาสนาคือ ละเว้นกรรมชั่ว ทำกรรมดี และทำจิตให้ผ่องใส บริสุทธิ์ ถ้าเอาแค่บุญก็สงสารพระพุทธเจ้านะ   บางวัดบอกให้เร่งทำบุญจะได้ไปเกิดในศาสนาพระศรีอาริยเมตตรัย อันนี้ยิ่งเหลวใหลใหญ่ จะพระศรีอาริยเมตตรัยหรือพระสมณโคดมก็หลักธรรมเดียวกัน เกิดมาพบศาสนาในสมัยพระสมณโคดมแล้ว ทำไมไม่ใช้โอกาสนี้แสวงหาโมกขธรรมเล่า 

ต้องเข้าใจว่า การภาวนาที่แท้จริงคือ การพิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริง ไม่ใช่การนั่งบ่น ท่อง เพ่งหรือสวดมนต์ การสวดมนต์ถ้าเข้าใจเนื้อหาก็เป็นการภาวนาได้เหมือนกัน เช่น บทพิจารณาสังขาร ถ้าเราสวดมนต์แล้วส่งกระแสจิตตามเนื้อหา จิตจะสงบ อาจจะเกิดปัญญาในขณะนั้นขึ้นมาก็ได้  

ขณะเดียวกันการสวดมนต์ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ดีนะครับ  บางท่านจะแย้งแล้ว การสวดมนต์โดยท่องๆ ๆ ๆ ไป ก็เป็นการทำฌานอย่างหนึ่ง ฌานคือ การเพ่งเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาเป็นอารมณ์ คำสวดกับจิตรวมกันเกิดสมาธิ (ฌาน) ขึ้นมา จิตรวมปั๊บเลย คราวนี้ติดล่ะ เวลามีทุกข์ขึ้นห้องพระเลย ไปนั่งสวดมนต์ จิตสงบมีความสุข  พอลงมาเจอคนในบ้าน อ้าว ! ไม่สงบแล้ว  เผลอ ๆ หนักกว่าเดิม แรงกว่าเดิม เพราะจิตมันจะหวงความสงบอันนี้ เพราะมันสุข ใครมาแหย่นี่ระเบิดเลย ท่านลองสังเกตคนไปวัดสวดมนต์สิ กลับมาโกรธแรงกว่าเดิม

ผู้ปฏิบัติ :  หลักปฏิจจสมุปบาท บอกว่า ทุกสรรพสิ่งเป็นอนัตตาล้วนเกิดจากเหตุปัจจัย ไม่มีตัวตนของมันเอง
ท่านพุทธทาสเปรียบเหมือนรถยนต์ที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนต่างๆ ไม่มีรถยนต์ที่แท้จริง จิตก็ไม่มีตัวตนที่แท้จริง 

ท่านทรงกลด :  จิตนั้นมีอยู่แต่หาตัวตนไม่ได้  ทีนี้ต้องเข้าใจอนัตตาของจิตกับของสรรพสิ่งด้วย มันคนละบริบทกัน อย่างรถยนต์นี้ประะกอบไปด้วยธาตุดินคือ โลหะ เครื่องยนต์ ตัวถัง   ธาตุน้ำก็คือ น้ำมัน น้ำมันหล่อลื่น ธาตุลมก็คือ ต้องใช้อากาศเข้าไปสันดาป การสันดาปนั้นคือ ธาตุไฟ  การสตาร์ทรถให้จ่ายไฟจากแบตเตอร์รี่นั่นคือ ธาตุทั้งสี่  ซึ่งเหมือนร่างกายคนเลย คนขับรถก็คือ จิตที่ขับเคลื่อนร่างกายนี่แหละ ทีนี้ตรงไหนที่เรียกว่า รถ มันเป็นสังขาร  สังขารคือ การปรุงแต่งใช่ไหม อะไรที่ปรุงแต่ง ต้องเสื่อมไป ไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง ทนอยู่ไม่ได้คือทุกขัง สิ่งใดไม่เที่ยง ต้องเสื่อมดับไป ทนอยู่ไม่ได้  สิ่งนั้นจะถือว่า ไม่มีสาระแก่นสารหรือในแง่ปรมัตถ์มันหาตัวตนไม่ได้ 

ใบไม้มาจากไหน มาจากดิน เติบโตขึ้นมา แล้วก็เสื่อมไป เหี่ยวแห้ง ผุพังกลับไปเป็นดินอีก ตรงไหนเล่าที่เป็นใบไม้แท้จริง มันสักแต่ว่าธาตุเท่านั้นนี่คือ อนัตตา หาสาระแก่นสารไม่ได้ หาตัวตนไม่ได้

กลับมาดูตัวเราสิ ก่อนจะมาเป็นตัวเรา ทางวิทยาศาสตร์ก็คือ เชื้ออสุจิของบิดากับไข่ของมารดาปฏิสัมพันธ์กัน จนเป็นรูปเป็นร่าง  แล้วป้อนข้าวน้ำเข้าไป เติบโตมา รูปตัวตนเวลานี้กับเวลาเป็นเด็กทารก เป็นหนุ่มสาว ก็เปลี่ยนไปเป็นอนิจจังแล้ว ผมก็เริ่มหงอกแล้ว ฟันเคยถอนไปกี่ซี่ เคยตามไปดูไหมว่า ตอนนี้ไปอยู่ที่ไหน ผมร่วงไปแล้วเท่าใด เคยตามไปดูไหม ป่านนี้กลับไปเป็นธาตุดินหมดแล้ว แม้กระทั่งลมหายใจก็ยืมมาจากธรรมชาติ หายใจเข้าเอาเข้ามา หายใจออกคืนไป มีอะไรที่เป็นเรา ของเราบ้าง นี่นิพพานอยู่ตรงปลายจมูกนี่แหละ นี่แหละคือ ความหมายของคำว่า อนัตตาของสังขารทั้งปวง สิ่งใดที่เป็นสังขาร มีการปรุงแต่ง มันก็เป็นอนัตตาอยู่ในตัวแล้ว 

ที่ให้พิจาณาเห็นสังขารทั้งปวง (รวมทั้งความรู้สึกนึกคิด ขันธ์ห้า) ให้เห็นเป็นอนัตตา ก็เพื่อว่า เมื่อเห็นเป็นอนัตตา มันก็จะถือเป็นเรา ของเราไม่ได้ เมื่อเห็นเช่นนี้ จิตก็จะคลายจากความยึดมั่น ถือมั่น หลุดพ้น เป็นอิสระ ไม่เกาะเกี่ยวกับขันธ์อีกต่อไป จิตหลุดพ้นหรือจะเรียกว่า นิพพานก็ได้ ไม่ถูกอารมณ์บีบคั้น ทิ่มแทงอีกต่อไป

ส่วนคำว่า จิตเป็นอนัตตานั้นก็เป็นอนัตตาโดยตัวมันเองอยู่แล้ว มีอยู่แต่หาตัวตนไม่ได้ เหมือนอวกาศ คำอธิบายว่า จิตมันเกิดดับๆ ๆ ๆ เหมือนการทำงานของหลอดไฟ ดูเหมือนจะสอดคล้องกับหลักปฏิจจสมุปบาทมากกว่า ปริยัติ บอกว่า จิตเกิดๆ ดับๆ แต่ที่เห็น มันไม่เกิด ไม่ดับ ที่เกิด ดับ คือ อารมณ์ที่จิตเข้าฉวยคว้าด้วยความไม่รู้ต่างหาก หลวงตามหาบัวก็เคยพูดไว้ จิตนี้ไม่มีวันตาย ไม่เกิด ไม่ดับ ธรรมชาตินั้นไม่มีเกิด ไม่มีดับ 

บางท่านอธิบายว่า เมื่อจิตดับก็นิพพาน จริงๆ แล้ว เมื่อดับขันธ์ต่างหากจึงจะนิพพาน สังเกตพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์เวลาตายใช้คำว่า ดับขันธปรินิพพาน ที่สอนกันว่า จิตเกิดดับนี้ทำให้งงมาก เลยหาจิตไม่เจอสักที เพราะเห็นว่าเดี๋ยวมันเกิด เดี๋ยวมันดับ

ผู้ปฏิบัติ  :  จิตเป็นธาตุชนิดหนึ่ง มีคนตั้งชื่อมันว่า ธาตุรู้

ท่านทรงกลด : ใช่ครับ จิตก็คือ ธรรมชาติที่รู้อารมณ์ แต่พระอรหันต์ท่านดับขันธ์ ไม่เหลืออารมณ์ให้กระทบ ให้รับรู้แล้ว คิดดูสิว่า สภาวะนั้นจะมีความสุขเพียงใด เป็นบรมสุข จิตเดิมเป็นธาตุรู้ มีสภาวะผ่องใส ปภัสสรัง แต่ไม่บริสุทธิ์ เพราะถูกครอบงำด้วยอารมณ์  

ก่อนพุทธองค์มาตรัสรู้ธรรม นักบวชก็ทำจิตให้ปภัสสร ผ่องใส ด้วยการหนีอารมณ์ โดยเอาจิตไปเพ่งจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น คำบริกรรม เป็นต้น  ขณะนั้นไม่มีอารมณ์ใด ๆ ในจิต  จิตก็สว่าง ผ่องใส แต่พอออกมาจากตรงนั้นก็เจออารมณ์อีก ต่อเมื่อพระพุทธองค์มาตรัสรู้ ใช้วิธีทำให้จิตผ่องใสด้วยความเห็นชอบ เห็นว่า อารมณ์จะถือเป็นเรา ของเราไม่ได้ จิตก็ไม่เอาอารมณ์ผ่องใสขึ้นมาใหม่  ทั้งบริสุทธิ์ด้วย เพราะอวิชชาถูกขับเคลื่อนออกไปจากใจแล้ว จริงๆ ไม่ได้ถูกขับเคลื่อนหรอก เมื่อเห็นชอบ วิชชาคือ ความรู้ (ญาน) เกิด อวิชชาก็ค่อยๆ หายไปจากจิต คราวนี้จิตจะผ่องใสและบริสุทธิ์แบบถาวร 

เคยฟังองค์ท่านหลวงตามหาบัวเทศน์ว่า จิตผ่องใสคืออวิชชา   ผมคิด เอ๊ะ ! หลวงตาเทศน์ผิดหรือเปล่านี่ ก็พระพุทธเจ้าสอนอยู่ว่า หลักสูงสุดของพุทธศาสนาคือ การทำจิตใจให้ผ่องใส  ต่อเมื่อเห็นตรงนี้เลยเข้าใจตรงนั้นว่า อ๋อ ! ที่หลวงตาพูดหมายถึง การทำสมาธิแบบฌานจนจิตผ่องใส ไม่ได้เดินทางปัญญาพิจารณาให้เห็นตามจริง

ตอนนี้ท่านกำลังตามหาจิตเหมือนพระพุทธเจ้าตามหาโคนั่นแหละ หลงคิดว่า รอยโคคือ โคอยู่ตั้งหลายกัปหลายกัลป์ แม้ชาตินี้บวชแล้ว ยังตามรอยโคอยู่อีกตั้งหกปีจึงจะพบตัวโค รอยโคคือ อารมณ์ โคก็คือ จิต  มีพระภิกษุลูกศิษย์หลวงปู่ดูลย์รูปหนึ่งนั่งคิด นั่งหา ตามจิต เอ! จิตมันเป็นอย่างไรหนอ พยายามนั่งเพ่งอารมณ์หาจิต มีคำพูดหลวงปู่ชาว่า ถ้าพิจารณาตามความเป็นจริง ให้เห็นตามความเป็นจริง เช่น เห็นอารมณ์มันไม่แน่นอน สติมันจะโตขึ้น จิตมันจะมีกำลังขึ้น เอวัง