ภาคขยายของกายคตาสติ

แสดงธรรมกลุ่ม Natural Mind เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558
ผู้ปฏิบัติ : วันนี้ชกแลกหมัดกับอารมณ์จนคว่ำมันลงไปได้ครับ
ท่านทรงกลด : สาธุครับ วันนี้ขอพูดถึงเรื่อง ภาคขยายของกายคตาสติในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก่อนอื่นผมขออุปมาว่า มีคนส่งตุ๊กตายางมาให้ท่าน ท่านไม่มีคู่ครอง ท่านก็นอนกอดมาราวยี่สิบปี จนวันหนึ่งท่านสังเกตว่า มีสารเคมีเหมือนเลือดซึมออกมาจากปาก จากหู ท่านก็สงสัย จึงเอามีดกรีดดู ปรากฏว่า ข้างในเต็มไปด้วยสารเคมีที่เหมือนเลือด หนอง ไขมัน เสลด สิ่งสกปรกนานาประการ ท่านจึงกลับไปที่ร้านที่ซื้อมา ที่ร้านบอกว่า โอเค เดี๋ยวเขาซ่อมให้ เย็บให้ใหม่ และทำให้เหมือนจริง สดสวยกว่าเดิม ทรวดทรงเร้าใจกว่าเดิม ผิวนุ่มนวลกว่าเดิม เหมือนคนจริง และจะมานำส่งคืนให้ท่าน ท่านจะกล้ารับ เอามานอนกอดอีกหรือไม่
ถ้าท่านไม่บ้า เสียสติ ท่านก็คงไม่รับเอามานอนกอดอีก เพราะอะไร เพราะท่านเห็นตามจริงแล้วนี่ว่า ข้างในที่เรานอนกอดนั่นมันเต็มไปด้วยสารเคมีเหมือนเลือด เสลด ไขมัน สิ่งบูด เน่าเหม็น นี่คือ ภาคขยายของกายคตาสติในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน อันเป็นเรื่องแรกๆ ที่พระพุทธองค์ทรงสอน
ถามตัวเองว่า ทุกวันนี้เราบ้าหรือเสียสติ หรือใครบ้าหรือเสียสติกันแน่ ผมไม่โทษพวกเราเพราะเรายังไม่เห็นตามความเป็นจริง เรายังไม่มีสติ เราส่งจิตส่งใจไปอยู่กับกายคนนั้น คนนี้ หารู้ไม่ว่า แท้จริงเป็นเพียงธาตุทั้งสี่คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ประกอบกันขึ้นเท่านั้นเอง เมื่อใดที่พิจารณาเห็นตามความเป็นจริง จิตเราจะกลับมา ๆ จะเลิกว่าคนนั้น คนนี้ นินทา ไร้สาระ เพราะเรา เขา ก็เหมือนกันคือ เป็นเพียงธาตุประกอบกัน มีเสื่อมไป ดับไปเป็นธรรมดา เดี๋ยวก็ตาย เผา ส่วนที่เป็นธาตุแข็งก็กลับไปเป็นดิน ธาตุเหลวคือ น้ำ ก็กลับไปเป็นน้ำหรือระเหยไปเป็นธาตุลม ลมหายใจกลับไปตั้งแต่ตอนสิ้นลมหายใจแล้ว ธาตุไฟก็แตกดับไปในเวลาพอๆ กับธาตุลมนั่นแหละ แล้วจะเอาอะไรกับกายนี้ ถ้าพิจารณาเห็นเช่นนี้เนือง ๆ จะเกิดสภาวะอันหนึ่งขึ้นในจิต หรือบางคนอาจไม่เกิดก็ได้ ส่วนผมเกิดสภาวะเหมือนภูเขาถล่มขึ้นในจิต ภูเขาแห่งอุปาทานในกาย ถูกขับเคลื่อนแล้ว ความยึดมั่นในกายสั่นคลอนแล้ว จากที่เคยเห็นว่า กายเป็นเรา ของเราเห็นชอบขึ้นมาแล้ว สัมมาทิฏฐิน้อย ๆ เกิดขึ้นแล้ว เข้าใจหรือยังว่า สัมมาทิฏฐิ มรรคมีองค์แปด กับสติปัฏฐานสี่มันเรื่องเดียวกัน
ทีนี้บางคนเพียงแต่พิจารณากายคตาสติ หากเคยพิจารณามาแต่กาลก่อน เห็นตามความเป็นจริงแล้วว่า กายไม่น่าอยู่ ไม่น่ายึด จิตเขาจะออกจากกาม นั่น… สัมมาสังกัปปะ มาแล้ว เห็นมาก ๆ ด้วยความเพียร สติก็มากขึ้นๆ จิตนี้จะละจากความยึดมั่นในกายมาอยู่กับสติมากเข้าๆๆๆ จนรวมเป็นหนึ่ง ตั้งมั่นอยู่กับสติ อะไรเกิดตามมา นั่น… สัมมาสมาธิ ความตั้งมั่นแห่งจิตเกิด จะเห็นกายและอารมณ์ที่ยินดีในกายแยกออกมา และหากผู้ใดฉลาดในการภาวนาก็จะเอาอารมณ์ความยินดี ยินร้ายในกายมาพิจารณาด้วยไตรลักษณ์ หลุดพ้นจากอารมณ์นั้นได้ อารมณ์ยินดีหรือยินร้ายทำอะไรจิตเขาไม่ได้อีกต่อไป อนาคามีเกิดตรงนี้ ถ้าละความเห็น อารมณ์ (คือผู้รู้อารมณ์) ได้อีก อรหัตผลก็เกิดแก่พระโยคาวจรนั้น ส่วนใหญ่คนที่เจริญกายคตาสติจะไปบรรลุอนาคามี เท่าที่เห็น พระโสดาบัน ละสังโยชน์สามได้คือ ละสักกายทิฏฐิคือ ความเห็นว่า ขันธ์ห้าเป็นตัว เป็นตน เรา เขา วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยและสีลัพพตปรามาส พระอนาคามีจะละสังโยชน์ได้อีกสองประการคือ ราคะและโทสะ ห้าอย่างนี้เรียกว่า สังโยชน์เบื้องต่ำ หากไปเจริญภาวนาต่อ เมื่อตายแล้วก็จะไม่กลับมาเกิดในโลกอันแสนจะวุ่นวาย เร่าร้อนใบนี้อีก (อนาคามี แปลว่า ผู้ไม่กลับมาอีก) แต่จะไปเกิดในพรหมโลกชั้นสุทธาวาส ไปเจริญภาวนาต่อ และดับขันธ์ปรินิพพานที่นั่น
ผู้ปฏิบัติ : อารมณ์คือ เวทนา สัญญา สังขาร ถ้าเรากำลังรู้สึกสุข ทุกข์ (เวทนา) หรือไปคิดถึงอดีต (สัญญา) หรือไปฝันกลางวันถึงอนาคต (สังขาร ) อันนี้จิตกับอารมณ์คลุกกัน แต่ถ้าจิต ไปรู้อยู่ที่กาย ตอนนั้นมันจะว่างๆ อาการว่างๆ นี้เป็นอาการที่จิตไม่สุข ไม่ทุกข์ เฉยๆ และไม่มีเสียง ไม่มีภาพในหัว ไม่พูดกับตัวเอง (อาการของสังขาร ) จิตที่ว่างจะมีพลังโดยธรรมชาติ จะแจ่มใสโดยธรรมชาติของมัน จะกล้าหาญตามธรรมชาติของมันและจะเบิกบานตามธรรมชาติของมัน จิตที่ว่างอยู่บ่อยๆ เมื่อเกิดอารมณ์ พอใจ ไม่พอใจ ขบคิดถึงอดีตหรือฟุ้งไปในอนาคต มันจะสังเกตเห็นความต่างเพราะการคิดถึงอดีต การฟุ้งไปในอนาคต ท้ายสุดจะจบด้วยเวทนาคือ สุข ทุกข์ ขึ้นที่ใจ อาการกระเพื่อมเกิดตรงนี้ จิตจะรู้เห็นข้อแตกต่างของสภาวะว่างกับไม่ว่าง รู้ ตื่น เบิกบาน กับไม่รู้ ไม่เบิกบาน รู้เหตุที่ทำให้จิตกระเพื่อม จิตกระเพื่อมเป็นเรื่องไม่น่ามี ไม่น่าเป็น เป็นทุกข์ จิตมันจะอยากกลับไปอยู่กับความว่าง โดยเพียรดูกายเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ส่วนจิตที่รู้ว่า กำลังคิดไปในอดีตหรืออนาคตเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ส่วนจิตที่ปล่อยให้คิดจนเกิดสุข ทุกข์ขึ้นในใจ แล้วไปรู้ว่า เฮ้ย ! โกรธแล้ว อันนี้เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน อย่างนั้นหรือเปล่าครับ
ท่านทรงกลด : เข้าใจถูกแล้ว ให้จิตอยู่กับรู้ จิตอยู่กับรู้แต่ยังไม่ตั้งมั่นอยู่กับรู้ และอย่าให้เลยไปที่ว่าง ถ้าว่างจะไม่รู้ ถ้ารู้จะไม่ว่าง ความว่างก็เป็นอารมณ์อย่างหนึ่ง รู้อารมณ์ก็อีกอย่างหนึ่ง จิตว่างก็อย่างหนึ่ง รู้คือสติ จิตว่างคือ จิตถึงจิต คือ ถึงความว่างของตัวมันเอง (สุญญตา) คำว่า ถึงความว่างของตัวมันเอง (สุญญตา) ก็คือ ถึงธรรม ตอนท้ายของธรรมที่ตอบนี้ ลึกซึ้ง ยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจ เข้าถึงจริงๆ