พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร

แสดงธรรม กลุ่ม Natural Mind เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2558
ท่านทรงกลด : วันนี้วันวิสาขบูชา ก่อนจะแสดงธรรมขอทำความเข้าใจก่อนว่า สิ่งที่จะแสดงในวันนี้เป็นความเห็นส่วนตัว หากไม่ตรงกับที่เรียน อ่าน ศึกษามา แล้วคิดแย้งในใจก็ปล่อยมันเสีย อาจจะตรงข้ามกับที่ท่านศึกษามา รู้มา ท่านต้องถ่ายชาในแก้วพักไว้ก่อน ขอเรียนตรงๆ แบบนี้
วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพาน พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเห็นว่า การบำเพ็ญทุกรกิริยาไม่เป็นผลพระองค์ก็ทรงเลิกเสีย บรรดาปัญจวัคคีย์ก็หนีไป เช้าวันก่อนจะตรัสรู้ นางสุชาดาก็เอาข้าวมธุปายาสมาถวายพร้อมถาดทองคำ พระองค์ก็ตั้งจิตอธิษฐานลอยถาดทองคำทวนกระแสแม่น้ำเนรัญชราแล้วเดินข้ามฝั่งมาประทับนั่งที่ใต้ต้นโพธิ์ ใช้หญ้าคาที่พราหมณ์คนหนึ่งถวายเป็นอาสนะบัลลังก์
พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร หลายคนก็นึกตอบในใจ ก็ตรัสรู้อริยสัจจ์นะสิ ถูกแล้ว พระองค์ตรัสรู้อริยสัจจ์ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เราก็ท่องมาอย่างนี้ตั้งแต่เด็กๆ เป็นการตอบตาม “สัญญา” คือความจำ บางคนก็บอกว่า ตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาท อิทัปปัจจยตา
ลำดับการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างนี้ ขอให้ตั้งใจอ่าน พระองค์ทรงคิดถึงวัยเยาว์เมื่อสมัยที่พระบิดาทำพิธีพืชมงคล (อนึ่ง ภาษาที่ใช้อาจผิดๆ ถูกๆ ขออภัยด้วย ผมว่าไปสดๆ) แล้วทรงกำหนดลมหายใจเป็นอารมณ์ ทรงสนุกกับการเอาจิตไปไว้ที่ลมหายใจเข้าออก เอาลมหายใจเป็นวิตก (เป็นอารมณ์) จิตนั้นก็จดจ่ออยู่กับลมหายใจ (วิจาร) คลุกคลีอยู่กับลม เมื่อจิตอยู่กับลมหายใจเข้าออกๆ จนถี่เข้าๆ จิตกับลมหายใจก็รวมเป็นหนึ่ง เกิดปิติ สุขและเอกคตารมณ์ เป็นฌานขึ้นมา บังเกิดอัศจรรย์คือ เงาพระอาทิตย์ไม่ล่วงไปตามพระอาทิตย์ คงให้ร่มเงาแก่พระกุมารอยู่เช่นนั้น เมื่อพระเจ้าสุทโธธนะเห็นก็เผลอกราบพระกุมาร
เมื่อคิดถึงตอนนี้ เวลานั้นพระองค์ก็กำหนดลมหายใจอีกครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งที่ยังทรงพระเยาว์ พระองค์ไม่ได้เอาจิตเพ่งที่ลมหายใจเหมือนเดิมอย่างเดียว แต่พระองค์เพิ่ม “ตัวรู้” เข้าไป (ตัวรู้นี้ ภายหลังพระองค์บัญญัติว่า เป็นสติ) เมื่อหายใจเข้า พระองค์ก็ “รู้” หายใจออก พระองค์ก็ “รู้” หายใจสั้นก็รู้ หายใจยาวก็รู้ ขณะที่พระองค์ไม่ได้คิดถึงอะไร พระนางพิมพา พระราหุล พระปัญจวัคคีย์ สิ่งทั้งปวง ไม่ได้นึกถึงเลยแม้แต่นิด มีอยู่เพียงสองสิ่งที่พระองค์ทรงจดจ่ออยู่คือ ลมหายใจ และ “รู้” ลมหายใจ และจิตของพระองค์เอง เมื่อจิต ลม และรู้ แนบแน่น ๆ ๆ ขณะนั้นความรู้สึกทางกายก็หายไป ลมละเอียดจนเหมือนไม่มี ขณะนั้นก็เกิดปิติ สุข และเอกัคคตารมณ์ พระองค์บรรลุปฐมฌานด้วยเหตุนี้แต่ฌานครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งก่อนหรือครั้งไหนๆ ที่เคยบำเพ็ญมา ไม่ว่าจะเป็นฌานในวันพืชมงคล หรือฌานของอุทกดาบส หรืออาฬารดาบส เพราะเป็นฌานที่มีตัว “รู้” แนบแน่นอยู่ด้วย
เมื่อลมหายใจหายไป (วิตก วิจาร) ก็เหลือปิติ สุขและเอกัคคตารมณ์ นี่คือ ทุติยฌาน
เมื่อปิติหายไป เหลือสุขกับเอกัคคตารมณ์ ก็เป็นตติยฌาน
เมื่อสุขหายไป หรือจิตลอยเด่นอยู่กับรู้ ก็เป็นจตุตถฌาน
เมื่อพระองค์ออกจากฌานมา ขณะนั้นกระแสนิวรณ์ทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นกามฉันทะก็ดี พยาบาทก็ดี อุทธัจจะกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ) หรืออารมณ์ทั้งปวงก็ไหลบ่าเข้ามา แต่พระองค์ประคองจิตไว้กับ “รู้” โกรธก็รู้ จิตมีราคะก็รู้ อารมณ์ยินดี ยินร้าย ก็รู้ ด้วยกำลังจิตที่อบรมมาดี จิตของพระองค์ไม่หวั่นไหวไปตามกระแสอารมณ์ใดๆ จิตของพระองค์ตั้งมั่นอยู่กับรู้ ตั้งมั่นอยู่ท่ามกลางกระแสอารมณ์ที่เกิดดับๆ อยู่เฉพาะหน้า พระองค์บรรลุสัมมาสมาธิตรงนี้ จิตของพระองค์พรากออกจากขันธ์ห้า อารมณ์ทั้งปวง เห็นอารมณ์ทั้งปวงคือ ทุกข์ทั้งสิ้น พระองค์ทรงเห็นทุกข์แยกต่างหากออกจากจิต จิตก็จิต อารมณ์ก็อารมณ์ ขณะนั้นจิตของพระองค์เป็นฌาน พระองค์ไม่เห็นตรงนี้ เมื่อเห็นตรงนี้ ขณะนั้นจิตของพระองค์ก็ระลึกถึงชาติหนหลังเป็นอเนกชาติ เกิดปุพเพนิวาสานุสติญาณในยามหนึ่งนั่นเอง
แต่ก่อนผมก็สงสัยเหมือนกันว่าชั่วเวลาไม่กี่ชั่วโมง ทำไมพระองค์ถึงระลึกชาติได้เป็นแสนๆ ชาติ ต่อเมื่อปฏิบัติไประยะหนึ่งจึงเห็นว่า จิตนี้ไวนักแค่จึ๊กหนึ่งก็ชาติหนึ่งแล้ว แฮนดี้ไดรฟ์ที่เราใช้โหลดข้อมูล โหลดหนัง แป๊บเดียวก็ได้หนังเรื่องหนึ่งแล้ว แต่จิตโหลดไวกว่านั้นหลายร้อยเท่า
พอยามสอง พระองค์ก็บรรลุจุตูปปาตญาณ เห็นการเกิดการตายของสัตว์โลกมากมาย จนเบื่อหน่าย ครั้นยามสามนี้สำคัญ เมื่อระลึกชาติได้ เห็นการเกิดการตายของหมู่สัตว์ จิตของพระองค์ก็เบื่อหน่ายการเกิดเป็นยิ่งนัก จึงทรงพิจารณาสิ่งที่เห็นอยู่เฉพาะหน้า การเห็นนี้ไม่ได้เห็นด้วยตาเปล่า แต่เห็นด้วยตาในเรียกว่า ปัญญาจักขุ เมื่อพิจารณาอย่างละเอียด พระองค์เห็นสิ่งที่ออกจากพระองค์คือ สภาวะอย่างหนึ่งที่พระองค์ใช้กำหนดก่อนจะบรรลุฌานนั่นคือ ตัวรู้ (ภายหลังทรงบัญญัติว่า วิญญาณ) ถัดจากตัวรู้ไปก็จะมีสภาวะอย่างหนึ่งผสมปนเปกันอยู่ เมื่อทรงแยกออกก็จะเห็นเป็นความรู้สึกสุข ทุกข์ (ต่อมาบัญญัติเป็น เวทนา) ความจำได้หมายรู้ (บัญญัติเป็น สัญญา) ความคิดปรุงแต่ง (บัญญัติเป็น สังขาร) และรูปโฉมของพระองค์เอง นาม รูปทั้งปวงเกิดจากจิตของพระองค์ที่ปรุงแต่งขึ้นมาเอง ไม่ได้มาจากพระเจ้าองค์ไหนสร้างอย่างที่สมัยนั้นเชื่อกันว่าพระเป็นเจ้า (พระพรหม พระอิศวร) สร้างขึ้นมา เมื่อเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มีขึ้นมาต่างก็ทำหน้าที่ของตนไป ส่วนจุดตั้งต้นของนามเหล่านี้มาเมื่อใด พระองค์ไม่ได้สนใจ เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง เวทนาก็ทำหน้าที่ของมัน เห็นรูปน่ายินดีก็เกิดความรู้สึกยินดีเป็นสุขเวทนา ได้ยินเสียงไม่ถูกใจก็เกิดอารมณ์ยินร้ายเป็นทุกขเวทนา ขณะนั้นพระองค์หลับตา หูก็ไม่ได้ยินอะไร แล้วอารมณ์มาจากไหนเล่า แล้วพระองค์ก็เห็น “สิ่ง” ที่มาสัมผัสใจ ต่อมาบัญญัติว่า ธรรมารมณ์ ซึ่งธรรมารมณ์นี้ แปลกันผิดมากๆ ไปแปลกันว่า คือ สิ่งที่ใจนึกคิดไปต่างๆ นานา แล้วเพลิดเพลินอยู่ อะไรที่ใจนึกคิดคือ ธรรมารมณ์ ซึ่งไม่ถูก ธรรมารมณ์คือ สัญญา (ความจำ) อย่างหนึ่งที่ผุดขึ้นในจิต (จริงๆ มากระทบจิต) เป็นรูปสัญญาบ้าง เวทนาสัญญาบ้าง เช่น คนที่คิดฟุ้งซ่านนี่เพราะไม่เข้าใจธรรมารมณ์ ก่อนจะคิดจะปรากฏ รูปสัญญาคือ ความจำเรื่องรูปคนนั้น คนนี้ก่อน หรือเวทนาสัญญา ความจำถึงความสุขความทุกข์ ซึ่งก็อาศัยรูปเป็นฐานทั้งสิ้น เมื่อรูปสัญญา (อันนี้ หลวงปู่มั่นก็กล่าวไว้) ปรากฏขึ้นในจิต นั่นคือ ธรรมารมณ์มากระทบใจ เกิดผัสสะ พระองค์ก็เกิดเวทนาขึ้น รูปพระนางพิมพา พระราหุล ปรากฏขึ้นก็เกิดทุกขเวทนาเพราะคิดถึง แต่ขณะนั้นจิตของพระองค์แยกออกจากเวทนาได้แล้ว เห็นแต่ทุกขเวทนาเกิดดับๆ อยู่ พระองค์ก็พิจารณาว่า ทุกข์นี้มาจากไหน ทำไมเราจึงมีทุกข์ในขณะนี้ ขณะนั้นจิตของพระองค์เข้าไปหมายมั่นในทุกข์ จิตของพระองค์จึงทุกข์ไปด้วยเพราะเห็นว่า ทุกข์นั้นเป็นของพระองค์ เมื่อใดที่จิตเห็นว่า ทุกข์เป็นของพระองค์ ความไม่อยากมีทุกข์ อยากมีสุขก็เกิดขึ้น ความอยาก ความไม่อยาก ภายหลังบัญญัติเป็นตัณหา เป็นกามตัณหาบ้าง ภวตัณหาบ้าง วิภวตัณหาบ้าง เมื่ออยาก ก็เข้าไปยึดแนบแน่นในตัณหาที่จิตนั่นเองปรุงแต่งขึ้นมาด้วยความเห็นผิด พระองค์จึงรู้ว่า อ้อ ! กามนี้เกิดจากการดำริ (คิดปรุงแต่ง) ของเราเองที่ยึด ทรงบัญญัติว่า เป็นอุปาทาน เมื่อเกิดอุปาทานก็เห็นภพ ชาติ ชรา โสกปริเทวะ ทุกข์ทั้งปวง มรณะตามมา เมื่อมรณะไปด้วยความเห็นผิด (อวิชชา) เห็นนาม รูปเป็นเรา ของเรา ก็ปรุงแต่งวิญญาณ (ปฏิสนธิวิญญาณ) ขึ้นมา เป็นเช่นนี้ไม่รู้จบ
พระองค์จึงเห็นว่า ทุกข์ทั้งปวงเกิดจากการที่จิตเข้าไปฉวยคว้าเวทนาแล้วปรุงแต่งเป็นตัณหา เวทนาไม่ใช่เหตุของทุกข์ แต่ตัณหาต่างหากคือเหตุแห่งทุกข์ ทรงดำริต่อไปว่า แล้วจะดับทุกข์ได้อย่างไร ก็ทรงรู้ว่า อวิชชา ตัณหา อุปาทานนี่แหละคือสิ่งที่จะต้องดับ เพราะผลจะดับ ต้องดับที่เหตุ อวิชชาคือ ความไม่รู้ ความเห็นผิด เห็นว่า ขันธ์ห้า อารมณ์คือเรา ของเรา ลำดับนั้นก็ทรงเห็นการเกิดดับของเวทนา สัญญา สังขาร เห็นความไม่เที่ยง เห็นอนิจจัง ไม่อยู่ในสภาพที่ทนอยู่ได้ (ทุกขัง) และเห็นความดับไปไม่มีเหลือ หาแก่นสาร ที่จะพึงยึดถือว่านั่นคือเรา ของเราก็ไม่ได้ ทรงบัญญัติสิ่งที่เห็นสามลักษณะนี้ว่า ไตรลักษณ์
เมื่อจิตของพระองค์เห็นตามจริงเช่นนี้ จิตของพระองค์ก็เริ่มเบื่อหน่ายคลายกำหนัด (นิพพิทาและวิราคะ) สำรอกอารมณ์ ตัณหา อุปาทานทั้งปวง หลุดพ้น เพราะดับอวิชชา (เพราะวิชชาคือ ความเห็นชอบเกิดเต็มรอบ) เมื่อหลุดพ้นก็รู้ว่าหลุดพ้น กิจที่ควรทำเพื่อการนี้ไม่มีอีกแล้ว ถึงวิมุติสุข ไม่เหลืออวิชชาที่จะไปปรุงแต่งวิญญาณใหม่ (ปฏิสนธิวิญญาณ) คงเหลือแต่วิญญาณเดิม เวทนาเดิม สัญญาเดิม สังขารเดิม รูปเดิม ที่รอวันดับขันธ์ในวันปรินิพพานนั่นเอง
นาม รูปที่เหลือเดิมนั้นก็ยังทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะดับขันธ์เรียกว่า นิพพานมีเศษ คือ สอุปาทิเสสนิพพาน แล้วพระองค์ก็เห็นว่า ที่เราดับทุกข์ได้ก็เพราะความเห็นชอบคือ มรรคมีองค์แปด กล่าวคือ เมื่อเห็นว่า อารมณ์ (เวทนา) ไม่ว่าดีหรือร้าย ไม่ใช่ของเรา จิตก็ไม่หมายมั่น ขณะนั้นจิตก็เป็นสัมมาสังกัปปะคือ ดำริออกจากกาม (พยาบาทก็เป็นกามอย่างหนึ่ง) เมื่อจิตไม่หมายมั่นในอารมณ์ วาจา การกระทำ อาชีพก็ชอบตามมา เมื่อเห็นเนืองๆ ด้วยความเพียร วิริยะ สติก็บริบูรณ์ขึ้น สมาธิก็ตามมา จึงทรงบัญญัติมรรคมีองค์แปด นี่แหละคือ ทางดับทุกข์ จึงกล่าวได้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจจ์ก็อาศัยด้วยการเห็นปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง
การตรัสรู้ของพระองค์ไม่ใช่การคิดนึกเข้าใจไปเองแต่เป็นการ “รู้” ต่อจากเมื่อจิตของพระองค์สงบ ตั้งมั่น เราจึงเรียกความรู้ประเภทนี้ว่า ญาณ และญาณสุดท้ายที่พระองค์บรรลุในคืนวันวิสาขบูชาก็คือ อาสวขญญาณนั่นเอง ญาณที่รู้ว่ากิเลสสิ้นแล้ว กิจที่ควรทำเพื่อการนี้ไม่มีแล้ว เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง จึงเห็นได้ว่า การที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ก็อาศัยการเจริญสติเป็นบาทฐาน สติจึงเป็นธรรมที่มีอุปการะมาก มีคุณมาก เมื่อมีสติก็มีปัญญา เมื่อมีปัญญาก็มีสติ ส่วนสมาธิก็อยู่ตรงกลางระหว่างสติกับปัญญานั่นเอง สติทำให้เกิดสมาธิ สมาธิทำให้เกิดปัญญา ปัญญาก็ทำให้เกิดสติทำให้เกิดสมาธิได้ทำนองเดียวกัน สามสิ่งนี้เกื้อหนุนกันอยู่ในตัว
หลายท่านสงสัยว่า ปัญญาคืออะไร ปัญญานี้ไม่ใช่ปัญญาในทางโลกแต่คือปัญญาในทางธรรม คือความเห็นชอบ เห็นตามความเป็นจริงว่า รูป นาม ขันธ์ห้า อารมณ์จะถือเป็นเรา ของเราไม่ได้ เมื่อเห็นชอบอย่างแจ่มแจ้ง (สัมมาทิฏฐิ) สัมมาสมาธิจะตามมา เรียกว่า มัคคสมังคี ปกติจะมีสี่รอบ มัคคสมังคีรอบแรกคือ โสดาบัน รอบสองสกิทาคามี รอบสาม อนาคามี รอบสี่ อรหัตผล บางคนก็ครบสี่รอบ บางคนรอบเดียวก็บรรลุเป็นพระอรหันต์เลย เช่น พระพาหิยะ ส่วนพระสารีบุตร สองรอบ โสดารอบหนึ่ง อรหัตผลรอบหนึ่ง แต่ทำไมหนังสือสวดมนต์จึงกล่าวถึงพระสงฆ์ว่า นับเรียงตัวบุรุษได้แปดบุรุษ กล่าวคือ เมื่อเดินมรรคไประยะหนึ่ง ถ้าเดินถูกจะเกิดปัจจัตตังบอกให้รู้ว่า นี่คือ โสดาปัตติมรรค พอถึงรอบก็บรรลุโสดาปัตติผลเป็นพระโสดาบัน อันนี้คู่หนึ่ง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ คู่แห่งบุรุษสี่คู่ อัฏฐะปุริสะปุคคะลา นับเรียงตัวบุรุษได้แปดบุรุษ เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ นั่นแหละสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า สงฆ์นอกจากนี้ยังไม่ใช่ คนธรรมดาหากบรรลุแม้เพียงโสดาปัตติผลก็ถือว่า เป็นพระสงฆ์ เป็นสาวกที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าแล้ว