ประวัติหลวงปู่มั่น 2

ประวัติหลวงปู่มั่น 2
แสดงธรรม กลุ่ม Natural Mind เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2558
ท่านทรงกลด : สิ่งที่ผมแสดงไป ขอให้อ่านทวนไปมาหลายๆ รอบ รอบแรก อาจจะไม่เข้าใจ ผ่านไปอาทิตย์หนึ่ง กลับมาอ่านใหม่จะเข้าใจ จิตท่านจะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เพราะที่ผมแสดงไปล้วนแสดงธรรมที่ทำให้เห็นตามความเป็นจริงของรูปนาม ขันธ์ห้า อารมณ์ทั้งสิ้น
ตอนเด็กๆ ไปงานศพ คนเขานั่งสรวลเสเฮฮาในศาลา ผมดอดไปดูเขาเผาศพ นั่งมองศพที่ถูกเผาอยู่ จิตสงบดีจังหรือไปดูเขาโยนศพออกมาเหมือนท่อนไม้ท่อนฟืนที่โรงพยาบาลตำรวจ เห็นแล้ว กายเรานี่ไม่ต่างกับท่อนไม้ท่อนฟืนจริงๆ เวลาตาย นิรัตถัง หาประโยชน์ไม่ได้
การแสดงธรรม บางทีรู้สึกว่าไม่รู้จะแสดงอะไร นั่งภาวนาจิตสงบ ก็ปรากฏความรู้ (ต่อจากจิตที่สงบระงับแล้ว ไม่ใช่ความคิด) ขึ้นว่า แสดงอุปาทานๆ เลยได้แสดงอุปาทาน ขันธ์ห้าอยู่ตั้งเดือน เวลาแสดง ไม่รู้มันมาจากไหน ตัวผมเองยังเซฟเก็บไว้อ่านเลยทุกวันนี้
บางทีคิดในใจว่า อยากแสดงประวัติหลวงปู่มั่น แต่หาหนังสือฉบับที่หลวงตามหาบัวเขียนไม่ได้ (เคยมีแล้วให้เพื่อนไปตอนบวช เสียดายมาก) อยู่ๆ ก็มีโทรศัพท์จากญาติที่ไม่ค่อยได้พบกัน เบอร์มือถือก็ไม่มี เขาโทรมาเครื่องที่บ้าน บอกว่า เขาได้หนังสือหลวงปู่มั่นฉบับหลวงตามหาบัวเขียน อยากให้ผมเอาไปอ่าน อาจจะเป็นเรื่องบังเอิญก็ได้แล้วก็มีอะไรอีกเยอะ (ในจิต) ที่ทำให้ผมต้องอยู่แสดงธรรม ล่วงเข้าก็เจ็ดเดือนไปแล้ว
การที่เราได้มาพบกัน ส่วนใหญ่ผมไม่เคยเห็นหน้ารู้จักส่วนตัวเลย นับว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญเป็นแน่ เราต้องเคยมีอะไรกันมา เคยเป็นกัลยาณมิตรกันมาอย่างแน่นอน อย่างมีท่านหนึ่งตอบเรื่อง ช่างหัวมันได้ถูกต้อง จึงไม่ธรรมดา ช่างหัวมัน อนัตตา อตัมมยตา ตถตา ไม่แสดงกิริยาตามอาการของมัน เดี๋ยวมันไม่ดับวันนี้ก็พรุ่งนี้ ล้วนเป็นเรื่องเดียวกันทั้งสิ้น เมื่อใดที่เห็นว่า กายนี้ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือความรู้สึกนึกคิดทั้งปวง หรืออารมณ์ทั้งปวงมันเกิดของมันอย่างนั้น มันเสื่อมดับไปของมันอย่างนั้น หาแก่นสารตัวตนไม่ได้ คืออนัตตา
คำว่า อนัตตา เรามักจะแปลกันผิดๆ ทำให้ไม่เข้าใจธรรม อนัตตา ไม่ได้แปลว่า ไม่มีตัวตน แท้จริงตัวตนมันมีอยู่แต่หาแก่นสารในตัวตนไม่ได้ คือหาตัวหาตนในสังขารทั้งปวงไม่ได้ อย่างเช่น ใบไม้ผลิสีเขียว แล้วเหลือง และร่วงหล่นไปเน่าเปื่อย สลายไปเป็นดิน ไหนละ ตัวตนของใบไม้ มันหาตัวตนไม่ได้ นี่หละอนัตตาล่ะ อย่างกายนี้ เกิดตายๆๆๆๆ กี่ร้อยกี่พันชาติ ไหนละ นายทรงกลด ที่แท้จริงมันหาได้ไม่ อารมณ์ก็เช่นกัน มาแล้วไป เกิดแล้วดับ หาแก่นสารไม่ได้
พระพุทธเจ้าสอนให้เห็นเช่นนี้ เพื่อจิตของเราจะได้ละความยึดมั่นในกาย ในอารมณ์ ในเวทนา ในสุข ในทุกข์ ในความคิดทั้งปวง ในเมื่อเอ็งมาแล้วไป เกิดแล้วดับ หาแก่นสารตัวตนไม่ได้ กูก็ไม่เอากับมึงแล้วโว้ย! (นี่ภาษาท่านพุทธทาส) ก็คือ ช่างหัวมัน พอตาเห็นรูปงามก็เกิดความยินดี พอคนด่าก็ไม่พอใจ มันก็เกิดเป็นธรรมดาแล้วดับไปเป็นธรรมดา ช่างหัวมัน จริงๆ ไม่มีเรื่องใดที่เป็นเรื่องของเราแม้แต่นิด กายนี้จะป่วย จะเสื่อมก็เป็นเรื่องของกาย อารมณ์จะดี จะร้ายก็เป็นเรื่องของเวทนา ความจำเดี๋ยวจำเดี๋ยวเสื่อมก็เป็นเรื่องของสัญญา ความคิด (สังขาร) ปรุงแต่ง คิดนั่น คิดนี่แล้วก็ดับไปมันก็เป็นเรื่องของความคิด วิญญาณ ความรู้ทางตา หู จมูก พอตาเห็นรูปเกิดจักขุวิญญาณ พอหูได้ยินเสียง เกิดโสตวิญญาณ จักขุวิญญาณก็ดับไปเป็นธรรมดา มันก็เป็นเรื่องของวิญญาณ รวมความแล้วมันเป็นเรื่องของขันธ์ห้าทั้งนั้น
เวลาในหลวงให้คนไปนิมนต์พระป่าบางรูปให้อยู่นานๆ ท่านจะฝากมาบอกในหลวงว่า แล้วแต่ขันธ์เขาจะเอื้ออำนวย หลวงปู่ดูลย์จึงบอกว่า ทิ้งหมด (คือทิ้งขันธ์ห้า) ได้หมด (ได้จิต นิพพาน) นั่นเป็นเรื่องของขันธ์ห้าทั้งนั้น ช่างหัวมัน ช่างขันธ์ห้ามัน มันก็เกิดแล้วดับ เป็นเช่นนั้นเอง ตถตา หลวงปู่ชาจึงสอนว่า เขาสอนให้ละ ไม่ได้สอนให้เอา นั่งสมาธิ ปฏิบัติธรรมไม่ได้ทำเพื่อให้รวย ให้มียศตำแหน่งสูงขึ้นๆ ให้เจ้านายรัก
ต่อไปก็จะเข้าเรื่องประวัติหลวงปู่มั่น ก่อนจะเข้าเรื่อง ขอทำความเข้าใจเล็กน้อยนะครับว่า ประวัติท่านออกจากไม่ธรรมดา เหนือปุถุชนคนสามัญจะมี จะเป็นได้ ท่านจะเชื่อหรือไม่เชื่อ โปรดวางใจเป็นกลางๆ ผมขอเตือนจริงๆ อย่างที่บางคน กล่าวปรามาสพระพุทธเจ้าว่า คนอะไรเกิดมาเดินได้เจ็ดก้าว ซึ่งผมเคยอธิบายไปแล้วว่า เอาตัวเองซึ่งไม่เคยทำความดีอะไรเลยไปเปรียบเทียบกับพระพุทธเจ้าที่บำเพ็ญบารมีมาตั้งสี่อสงไขยกับอีกแสนกัป เรื่องเหล่านี้เหนือความคาดเดา เมื่อปฏิบัติถึง ผมขอรับรองว่า ท่านจะหายสงสัย
เมื่อสองตอนก่อน กล่าวถึงหลวงปู่มั่นได้บรรลุอนาคามีที่ถ้ำสาริกา เขาใหญ่ หลังจากท่านภาวนาใช้คำบริกรรม จิตสงบก็เกิดสมาธินิมิต ติดอยู่ตรงนั้นหลายเดือน ไม่รู้จบ ออกจากสมาธิมาก็มาเจออารมณ์แล้วหวั่นไหว ท่านจึงคิดว่า ไม่น่าใช่ ต่อมาท่านจึงใช้วิธีพิจารณากาย (กายคตาสติ) ซึ่งผมพยายามเน้นให้พวกเรากลับมาพิจารณา (อาการสามสิบสอง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ฯลฯ) แล้วท่านพบว่า เออ ! คราวนี้มันหยุด (จิตมันหยุด) เกิดสติที่รู้อยู่กับที่ ท่านจึงมั่นใจว่า นี่คงใช่แน่
เมื่อท่านธุดงค์ไปภาวนาที่ถ้ำสาริกาก็อาพาธหนัก ท่านคิดว่า ต้องเอาชีวิตมาทิ้งที่นี่แน่ จึงตัดสินใจเลิกฉันยา เพราะฉันแล้วไม่หาย เข้าที่นั่งสมาธิ พิจารณากาย แยกธาตุขันธ์ด้วยพระไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วจิตสงบตั้งมั่น บรรลุอนาคามีผลที่ถ้ำแห่งนั้น โรคร้ายก็หายหมด
ความเห็น…….. เวลาท่านเจ็บป่วยลองพิจารณากายดู เมื่อจิตสงบอาจจะหายป่วยได้ ในสมัยพุทธกาล เวลาพระป่วย พระพุทธเจ้าจะให้พระไปสวดสัมโพชฌงค์เจ็ดให้ฟัง พระจะหายป่วย สมัยนี้สวดให้ตายก็ไม่หายเพราะไม่เข้าใจความหมาย ในสัมโพชฌงค์เจ็ด ประกอบด้วย สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปิติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา หัวใจหลักคือ สติกับธัมมวิจะยะ ขณะนั้นให้มีสติ ให้จิตอยู่กับสติ คือความรู้สึกตัวทั่วพร้อม เมื่อจิตอยู่กับสติ ก็จะเห็นอาการเจ็บป่วย ที่เป็นทุกขเวทนา เป็นอารมณ์แยกออกไป เอาอารมณ์นั้นมาพิจารณาด้วยไตรลักษณ์คือ ให้เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง คือ ทนไม่ได้ อนัตตา หาแก่นสารไม่ได้ จิตจะละจากความเจ็บป่วยมาตั้งมั่น ความเจ็บป่วยเมื่อเกิดแล้วก็ดับได้เป็นธรรมดา เมื่อเจริญได้เช่นนี้ อาการเจ็บป่วยก็หายไป (ยกเว้นโรคกรรม ต้องตั้งเจตนาถึงเจ้ากรรมนายเวรนั้นๆ ดังเคยแสดงไปหลายครั้งแล้ว)
หลวงปู่มั่นก็เอาอาการเจ็บป่วยทั้งกายที่เป็นรูป ทั้งความเจ็บที่เป็นนามมาพิจารณา จนละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ บรรลุอนาคามีภูมิ ต่อมาท่านก็นึกถึงเพื่อนสหธรรมมิกจึงกลับไปอีสาน ไปโปรดญาติโยม หลายปีต่อมาก็นึกสงสารตัวเอง ว่าเรานี่ยังไม่จบกิจเลย มัวแต่มาตามสงเคราะห์เพื่อนอยู่จงเห็นแก่ตัวก่อนเถิด แล้วท่านก็ปลีกวิเวกจนมาถึงที่แห่งหนึ่ง เรียกว่า หนองอ้อ ที่นี่เอง ท่านหยิบยกเอาหัวข้อธรรม อวิชชาปัจจยา สังขารา อวิชชาเป็นเหตุให้เกิดสังขาร ขึ้นมาพิจารณา
ความเห็น …….. สังขารนี้ไม่ได้หมายถึง สังขารในขันธ์ห้า สังขารในขันธ์ห้าคือ ความคิดปรุงแต่งต่างๆ แต่สังขารที่หลวงปู่มั่นพิจารณาคือ สังขารทั้งปวง เพราะอวิชชาคือความไม่รู้ จิตจึงปรุงแต่ง (สังขาร) รูปนาม ขันธ์ห้าขึ้นมา เมื่อท่านทำความรู้ ความเห็นชอบให้กระจ่าง ท่านก็ดับอวิชชาลงได้ บรรลุอรหัตผล เทวดาสาธุการทั่วโลกธาตุ แล้วก็มีคู่บารมี (สตรี) ที่เคยบำเพ็ญมาด้วยกันมาตัดพ้อต่อว่า หาว่าท่านหนีไปรูปเดียว ท่านจึงเทศน์สอนให้นางมีสติ กลับไปสู่ภพภูมิที่สูงขึ้น
การรักษาศีลมีจุดหมายที่แท้จริงคือสติ แต่ยังเป็นสติภายนอกคือ ให้สำรวมกาย ถ้ายังสติให้เกิดที่ใจได้ ศีลก็มาเองโดยอัตโนมัติ เคยมีคนถามหลวงปู่มั่นว่า ศีลตั้ง ๒๒๗ ข้อ ท่านรักษาไหวหรือ ท่านตอบว่า อาตมารักษาใจข้อเดียว ธรรมทั้งปวงไหลมาจากใจคือ เกิดจากการปรุงแต่งของใจ ด้วยความไม่รู้ (อวิชชา) เวลาเห็นธรรม อะไรเห็น… ก็ใจนี่แหละเห็น ไม่ได้ใช้ตาเนื้อนะ ใจเห็นใจ จิตเห็นจิตนั่นแหละ ท่านยังวางหลักธรรมด้วยว่า เห็นใจคือเห็นตน พบใจก็คือพบตน ถึงใจก็คือถึงตน ผู้เห็นธรรม เขาจะเห็นว่า อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เคยคิดว่าเป็นใจ มันไม่ใช่ใจ ใจก็ใจ อารมณ์ก็อารมณ์ เหมือน้ำมันกับน้ำ อย่างที่หลวงปู่ชาบอก การปฏิบัติหากไม่ทิ้งสติปัฏฐานสี่แล้วถือว่าถูกทางทั้งสิ้น
หลวงปู่มั่นเมื่อบรรลุอรหัตผลแล้วก็บังเกิดเหตุการณ์ดังนี้ จึงขอเตือนเพื่อนๆ อีกครั้ง โปรดวางใจเป็นกลางๆ อย่ากระทำตัวเหมือนนักเขียนใหญ่มียศถาท่านหนึ่ง ที่เขียนโจมตีเรื่องนี้จนตายไปแล้วลงอบายภูมิอยู่ทุกวันนี้ นั่นคือ มีพระพุทธเจ้าแล้วพระสาวกเสด็จมาเยี่ยมมิได้ขาด คืนนี้พระพุทธเจ้าองค์นั้น คืนนั้นพระพุทธเจ้าองค์นี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า หาคนที่จะแหวกว่ายออกจากกองทุกข์ยากแสนเข็ญ เพราะสัตว์โลกจำนวนมากไม่ค่อยมีผู้สนใจทุกข์ที่เบียดเบียนใจอยู่ตลอดเวลา แล้วตอบความสงสัยของหลวงปู่มั่นด้วยว่า ที่ตถาคตมาในร่างนี้ มาในร่างแห่งสมมุติต่างหาก ส่วนพระตถาคตแท้คืออะไร คือความบริสุทธิ์แห่งใจที่เธอเห็นแล้วนั่นแหละ
ความเห็น…….. ผมเคยแสดงไปแล้วว่า ผู้ใดเห็นทุกข์ ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา คำว่าเรา ไม่ใช่รูปโฉม ไม่ใช่ขันธ์ห้า ผู้ใดเห็นเรา จะเห็นว่า เราที่แท้หาใช่รูปโฉมที่ประกอบไปด้วยลักษณะมหาบุรุษแปดสิบประการแต่อย่างใดไม่ แต่จะเห็นว่า เราที่แท้ไม่มีอะไร เป็นเพียงจิตที่ว่างเปล่าเท่านั้นเอง
พระพุทธเจ้าตรัสต่อว่า เพราะพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์มิใช่ร่างแบบที่มากันนี้ (อันนี้ผมคัดตรงมาจากหนังสือหลวงตามหาบัวเลยนะครับ) นี่เป็นเรือนร่างที่สมมติกันต่างหาก หลวงปู่มั่นรีบทูลว่า ข้าพระองค์ทราบพระตถาคตและพระอริยสาวกมิสงสัย แต่ที่สงสัยก็คือ พระองค์และพระอริยสาวกทั้งหลายเสด็จไปด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน ไม่มีส่วนสมมติเหลืออยู่เลย แล้วเสด็จมาในร่างนี้ได้อย่างไร
ความเห็น…….. เรื่องนิพพานมีสองแบบคือ อุปาทิเสสนิพพาน นิพพานมีเศษคือ นิพพานของพระอรหันต์ที่ยังมีขันธ์ห้าอยู่ กับอนุปาทิเสสนิพานคือ การดับขันธ์ (ตาย) ของพระอรหันต์คือ ตอนบรรลุอรหัตผลยังมีเศษคือ ขันธ์ห้า ยังมีอารมณ์ต่างๆ แต่อารมณ์เหล่านั้น มาไม่ถึงจิต เหมือนน้ำกลิ้งบนใบบัว พอนิพพานจริงจะดับขันธ์ห้าทั้งหมดเหลือแต่ภาวะจิตที่บริสุทธ์ล้วนๆ ไม่มีภาวะอารมณ์รบกวนจิตใจอีกต่อไป หากจิตข้ามโคตร (โคตรภูญาณ) จากปุถุชน จะเห็นพระนิพพาน จะหายสงสัย
พระพุทธเจ้าตอบหลวงปู่มั่นว่า ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งแม้มีความบริสุทธิ์ทางใจด้วยดีแล้ว (คือพระอรหันต์) แต่ยังครองร่างอันเป็นส่วนสมมติอยู่ ฝ่ายอนุปาทิเสสนิพพาน (พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ที่ดับขันธ์ไปแล้วก็ต้องแสดงสมมติตอบรับกันคือ ต้องมาในร่างสมมุติซึ่งเป็นเครื่องใช้ชั่วคราวได้ ถ้าต่างฝ่ายต่างเป็นอนุปาทิเสสนิพพานด้วยกันแล้ว ไม่มีส่วนสมมติเหลืออยู่ ตถาคตก็ไม่มีสมมติอันใดมาแสดงเพื่ออะไรอีก ฉะนั้นการมาในร่างสมมตินี้จึงเพื่อสมมติเท่านั้น
ความเห็น… ทำให้นึกถึงพระอาจารย์รูปหนึ่งที่วัดสังฆทาน ที่เล่าว่า ที่สกลนครมีลานผาหินใหญ่แห่งหนึ่ง หากอยากจะเห็นพระอรหันต์สมัยพุทธกาล อาตมาจะพาไป (สนทนากับผมส่วนตัว) ท่านลงมาเหมือน ฮ. เลย หรือพระป่านักปฏิบัติหลายรูป บางท่านก็เล่าว่า เคยพบพระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร อะไรทำนองนี้ ก็ฟังหูไว้หูนะครับ อย่าเพิ่งเชื่อ หรือไม่เชื่อ ทำใจกลางๆ หากหลวงปู่มั่นไม่เท็จ หลวงตามหาบัวไม่หลอก แสดงให้เห็นว่า นิพพานไม่ได้สูญ การนิพพานไม่ใช่เป็นเรื่องที่น่าเศร้าโศกเสียใจ
ผมเคยบอกหลายครั้งแล้วว่า ไม่มีพ่อคนไหนพาลูกไปสู่ความสูญหรอก พระพุทธเจ้าก็เช่นกัน ท่านจับราหุลบวช สอนให้บรรลุอรหัตผล ท่านก็คงเห็นแล้วว่า ทางนี้คือ ความสุขที่แท้จริง หรือพวกเจ้าชายต่างๆ เสวยสุขทางโลกแบบที่เราๆ ท่านๆ กำลังเสาะแสวงหาอยู่ พอไปบวช บรรลุอรหัตผล ไม่เห็นมีใครกลับมาใช้ชีวิตทางโลกสักคน หลวงปู่ชาชอบพูดว่า พวกเรานี่ถือตะกั่วอยู่ ก็เข้าใจว่าทองคำ วันใดพบทองคำที่แท้จริงจะเขวี้ยงตะกั่วทิ้งทันที หลวงปู่มั่น เมื่อบรรลุอรหัตผลแล้วได้ข้อธรรมจากพระพุทธเจ้าอีกมากมาย และก็จาริกออกจากที่นั่นไปโปรดญาติโยมตามถิ่นต่างๆ ครั้งหนึ่งไปอยู่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ชาวบ้านไม่เข้าใจนึกว่าท่านเป็นเสือเป็นสาง พากันตำหนิ ปรามาสท่านต่างๆ นานา ขณะที่ท่านจะจากไปก็นั่งสมาธิ เห็นว่า ชาวบ้านพวกนี้ทำกรรมหนักที่ดูหมิ่นท่าน หากตายไปก็จะไปเกิดเป็นเสือทั้งหมู่บ้าน ท่านกับพระลูกศิษย์จึงเปลี่ยนใจ อยู่ทรมาน สั่งสอนพวกเขาด้วยเมตตา โดยให้เจริญภาวนาด้วยคำว่าพุทโธ จนชาวบ้านบางคนจิตสงบ สว่างไสว บอกต่อ จนภาวนากันทั้งหมู่บ้าน วันที่ท่านจะจากมา พวกชาวบ้านไม่ยอม ฉุดท่านไว้ ร้องไห้น่าสงสาร แต่ท่านก็จากมาเพื่อไปสอนลูกศิษย์ที่เป็นพระซึ่งต่อมาพระป่าเหล่านั้นต่างก็บรรลุอรหัตผล
เหตุที่พระมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติรวดเร็วเวลาอยู่กับท่านเพราะท่านรู้วาระจิตของพระทุกรูป ท่านจะเตือน สอนเวลาเจอกันอยู่เสมอ ทำให้พระไม่กล้าส่งจิตออกนอก เร่งความเพียร อย่างหลวงปู่ขาวเล่าว่า บางคืนจิตไม่สงบเลย ฟุ้งซ่านมาก ท่านก็สาปแช่งจิตตัวเอง บอกไปลงนรกเสีย พอเช้ามา หลวงปู่มั่นทักเลย ท่านขาว เมื่อคืนเป็นยังไง ทำไมไปแช่งชักหักกระดูกจิตตัวเองให้ลงนรกเช่นนั่นเล่า
แต่การอยู่กับครูบาอาจารย์ที่บรรลุธรรมนี่ก็เหมือนดาบสองคม ดังที่เคยแสดงแล้ว หากเคารพ ก็เป็นคุณ หากเผลอไปปรามาสท่านก็เป็นโทษมหันต์ ครูบาอาจารย์จึงสอนเสมอว่า อย่าไปอยู่กับพระอริยบุคคลนานๆ ได้ข้อธรรมแล้ว ก็นำมาปฏิบัติ หากเผลอ ขาดสติไปปรามาส ก็จะเป็นอกุศลติตไป
มีอยู่ครั้งหนึ่ง ขณะที่หลวงปู่มั่นกำลังสอนคนอยู่ คำพูดท่านยังไม่ทันจบ ก็มีพระรูปหนึ่งพูดแทรกขึ้น ในระหว่างท่านหยุดชั่วคราว พระรูปนี้ ไม่ค่อยรู้อะไร ท่านก็พูดพล่ามไปมิได้สำนึกตัวว่า ควรหรือไม่ควรแต่อย่างไร ความบ้าของเธออาจจะเข้าไปกระทบธรรมภายในหลวงปู่มั่นอย่างแรง ทำให้หลวงปู่หันมาชำระความ บอกว่า “ท่านนี่จะบ้าเสียแล้วกระมังนี่ พอตามองเห็นค้อน เห็นไม้ที่ใครโยนมาแต่ทิศใด แดนใด ก็คอยแต่จะโดดกัดร่ำไปเหมือนสุนัขบ้า ไม่มองดูใจที่กำลังจะบ้าอยู่ขณะนี้บ้างเลย ผมว่า ท่านจะบ้าแล้วนะ ถ้ายังขืนปล่อยให้น้ำลายไหลออกแบบไม่มีสติดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้” (นี่ผมลอกมาทุกคำเลยนะ) แล้วท่านก็เดินเข้าที่พัก ไม่พูดไม่สอนอะไรอีกเลย เกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น ตกกลางคืน พระรูปนั้นก็บ้าจริงๆ คืนนั้นก็รักษาบีบนวดไปตามอาการ วันรุ่งขึ้นก็มีคนมารับไปรักษา จากนั้นหลวงตามหาบัวบอกว่า ไม่ได้ข่าวคราวอีกเลย
ความเห็น…….. มีข้าราชการผู้ใหญ่หลายคน ด้วยความไม่รู้ ปรามาสพระปฏิบัติบางรูป ผมรู้ ค่อยๆ อธิบายจนเข้าใจ ไปจุดธูปขอขมา พระอรหันต์นี่อย่าดูอาการภายนอกนะ ดูไม่ออกหรอก บางรูปเอะอะ ตึงตัง ด่าเก่ง เหมือนคนเจ้าอารมณ์ แต่ใจท่านไม่ได้เกี่ยวข้องกับอารมณ์ทั้งปวงแล้ว
อีกเรื่องหนึ่ง ที่หลวงปู่มั่นเล่า น่าสนใจคือ เมื่อท่านจาริกไปพำนักอยู่ที่แห่งหนึ่งก็เห็นวิญญาณสามเณรน้อยองค์หนึ่งกับผู้หญิงคนหนึ่งพากันเดินไปมาอยู่บริเวณนั้น วันต่อมาจึงถามเหตุ ก็ได้ความว่า ทั้งสองเป็นห่วงและอาลัยในพระเจดีย์ที่สร้างยังไม่เสร็จ แต่ได้ตายไปก่อนเพราะความห่วงใย จึงเดินวนไปวนมา
ความเห็น…….. นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งซึ่งผมได้แสดงให้พวกเราระมัดระวังหลายครั้งแล้วว่า ในการทำบุญ สร้างโบสถ์ วิหาร แม้จะเป็นบุญใหญ่ จะสร้างเสร็จ ไม่เสร็จ ไม่ควรห่วงหรือหวงว่า โบสถ์ของกู วิหารของกู ตายไปแทนที่จะไปดี เพราะวางใจไม่ฉลาด ก็เกิดเป็นหมาแมวอยู่แถวนั้นแหละ
หลวงปู่มั่นจึงเทศน์ว่า สิ่งที่ล่วงไปไม่ควรไปทำความผูกพัน อดีตควรปล่อยไว้ตามอดีต อนาคตก็ควรปล่อยไว้ตามกาลของมัน ปัจจุบันเท่านั้นจะสำเร็จประโยชน์ได้ การสร้างพระเจดีย์ เราหวังบุญกุศล มิได้สร้างเพื่อหวังเอาก้อนอิฐ ก้อนหิน ปูน ทรายในองค์พระเจดีย์ไปด้วย สร้างได้มากน้อยมันก็คือบุญ จึงไม่ควรห่วงใยในอิฐ ในปูน ในพระเจดีย์ ซึ่งเป็นวัตถุที่หยาบยิ่ง สิ่งที่สร้างเป็นเพียงเครื่องสนองกุศลเจตนาของผู้ทำเท่านั้น แล้วท่านก็แสดงศีลห้า พอเสร็จการแสดง สองพี่น้องก็มีใจยินดีในธรรมปิติ ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ความเห็น…….. เรื่องนรกสวรรค์นี่ก็เช่นกันจะมีนักต่อต้านอยู่มาก ก็อย่าเพิ่งเชื่ออย่าเพิ่งไม่เชื่อ ทำใจกลางๆ ก่อนนะครับ ปฏิบัติไปๆ จะค่อยหายสงสัย ปัจจัตตังๆ
ต่อมาหลวงปู่มั่นก็ไปพำนักที่ถ้ำเชียงดาว ท่านบอกว่า ในถ้ำแห่งนี้มีพระอรหันต์มานิพพานจำนวนหลายองค์ทีเดียว บางท่านอาจสงสัยว่า แล้วหลวงปู่มั่นไม่ลงมากรุงเทพฯ บ้างเหรอ ก็มีเหมือนกัน เวลาท่านลงมา ท่านจะไปพำนักที่วัดบรมนิวาส แล้วก็มีญาติโยมมาถามปัญหามาก
แปลกจัง เนื้อหาหลวงปู่มั่นมีเยอะมาก ผมจะอ่านๆ แเล้วเลือกพับไว้ที่ควรแสดง เมื่อวันก่อน เนื้อหาที่พับไว้ มีบางอย่างตรงกับที่เพื่อนสมาชิกพูดพอดีเลย
เมื่อท่านพักที่กรุงเทพฯ มีคนมาถามท่านว่า “ได้ทราบว่า ท่านรักษาศีลข้อเดียว มิได้รักษาถึง ๒๒๗ ข้อเหมือนพระทั้งหลาย ใช่ไหม” หลวงปู่ตอบว่า ใช่ อาตมารักษาเพียงข้อเดียว เขาถามว่า ที่ท่านรักษาเพียงข้อเดียวคืออะไร ท่านตอบว่า “คือใจ” อาตมารักษาใจไม่ให้คิด พูด ทำในทางที่ผิด ที่ว่า การรักษากาย วาจาให้เรียบร้อยเป็นศีลนั้นก็ถูก แต่ก่อนที่กาย วาจาจะเรียบร้อยเป็นศีลได้นั้นต้นเหตุเป็นมาจากอะไร ถ้าไม่ได้มาจากใจผู้เป็นนายคอยบังคับกาย วาจา ใจให้เป็นไปในทางที่ถูก เขาถามต่อว่า คำว่าศีล ได้แก่ สภาพเช่นไร และอะไรเป็นศีลอย่างแท้จริง ท่านตอบว่า ความคิดในแง่ต่างๆ อันเป็นไปด้วยความมีสติ รู้สิ่งที่ควรคิดหรือไม่ควร
ความเห็น…….. ในไลน์กลุ่มนี้ ตั้งแต่ตั้งกลุ่มมาจะเห็นว่า ผมไม่เคยพูดเรื่องการรักษาศีลเลย จนมีบางท่านไม่เข้าใจ ออกจากกลุ่มไปบอกว่า ทำไมไม่เริ่มต้นที่ศีลก่อน ไม่ได้มีโอกาสอธิบาย ตั้งแต่ตั้งกลุ่มมา ผมเน้นการอบรมสติ สติ และสติ เพราะถ้ามีสติกำกับใจ ศีลมันก็มาเอง ยิ่งเจริญสติ จนแยกจิต แยกอารมณ์ได้ ศีลห้าไม่ต้องคอยรักษาหรอก มันจะเป็นศีลอัตโนมัติ ไม่ต้องคอยสมาทานเรียกว่า ศีลวิรัติ
ผมแสดงธรรมบนสมมติฐานที่ว่า พวกเรา สมาชิก มีศีลห้าเป็นปกติ หากยังเที่ยวเบียดเบียน ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เที่ยวลักทรัพย์ เบียดบังทรัพย์ ผิดลูกผิดเมีย มุสา โกหกทุกครั้งที่พูด กินเหล้าอยู่ทุกวัน แม้วันพระก็ไม่เว้น ผมก็แนะนำให้ออกจากกลุ่มไปเถิด เพราะขนาดสติแบบหยาบๆ คือ กาย วาจา เรายังไม่มี ไฉนเลยจะกล่าวถึงสติละเอียดที่เป็นเรื่องภายในได้
คำว่า มีศีลปกตินี่ไม่ได้หมายถึงว่า จะต้องครบทุกข้อ ทุกวัน ปกติของคนกินเหล้าคือ กินเหล้าทุกวัน แต่ถ้าไม่ได้กินทุกวัน กินตามโอกาส อันนี้ถือว่า มีศีลห้าปกติ และเมื่อได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุอย่างน้อยพระโสดาบันจะเลิกกินเหล้าไปเองโดยอัตโนมัติ ครั้งหนึ่งมีพระจากวัดหลวงปู่ชาไปปฏิบัติที่สวนโมกข์ เห็นพระสวนโมกข์ไม่ค่อยเคร่งครัดวินัยก็นึกตำหนิในใจ หลวงพ่อพุทธทาสคงรู้วาระจิต ท่านจึงพูดเปรยๆ ว่า เรื่องวินัยมันเป็นเรื่องของเด็กๆ นักปฏิบัติก็เช่นกัน เรื่องศีลห้านี่เป็นเรื่องของเด็กๆ แต่อย่าไปเคร่งครัดถึงขนาดโกหกไม่ได้ กินเหล้าไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าบอก หากเลี่ยงไม่ได้ ก็ทำ แต่อย่าทำบ่อย อย่าทำจนเป็นอาจิณกรรม
เรื่องหลวงปู่มั่นตอบการรักษาศีลนี่ ที่ว่าท่านรักษาใจเพียงข้อเดียว เมื่อรักษาใจได้ ศีลห้าก็มาเอง หรือศีล ๒๒๗ ก็มาเอง
ความเห็น ..ในสมัยพุทธกาล ก็เคยมีพระภิกษุรูปหนึ่ง ไปทูลลาสิกขา (สึก) กับพระพุทธเจ้า บอกไม่ไหวแล้วพระองค์ ศีลพระนี่เยอะเหลือเกิน ถือไม่ไหว ขอสึกดีกว่า พระพุทธเจ้าจึงบอกว่า งั้นเธอจงรักษาเพียงข้อเดียวได้หรือไม่ พระภิกษุรูปนั้นบอก ได้สิ ถ้าข้อเดียว สบายมาก พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า งั้นเธอจงรักษาใจเพียงข้อเดียว พระรูปนั้นก็กลับไปไม่สึก ต่อมาก็บรรลุอรหัตผล
ทำไมการรักษาใจเพียงข้อเดียวจึงบรรลุธรรมได้ แล้วท่านก็บอกว่า นั่งดูอยู่ ไม่แสดงอาการไปตามมัน ขณะที่ท่านนั่งมองอยู่นั้น ท่านไม่ใด้ใช้ตาเนื้อมอง ท่านใช้ใจหรือจิตมองอยู่ มองอะไร มองอาการหรืออารมณ์ที่ไม่พอใจนั้น อารมณ์ที่ไม่พอใจก็ดี หรือที่พอใจก็ดี ล้วนออกมาจากจิต จิตปรุงแต่งเป็นอาการ เป็นกิริยา (ภาษาพระเรียก เจตสิก) เมื่อท่านไม่แสดงอาการไปตามอารมณ์นั้น นั่นท่านกำลังรักษาใจอยู่ไม่ให้เที่ยวแล่นไปคว้าอารมณ์ไม่พอใจนั้นมาปรุงแต่งต่อเป็นโทสะ เป็นกิเลส ขณะนั้นจริงๆ แล้วจิตท่านมีสติอยู่ หากไม่มีสติ จะไม่เห็นอารมณ์เป็นอาการ เพียงแต่สติยังไม่กล้าแข็ง อินทรีย์ยังไม่กล้า จิตท่านจึงไม่ตั้งมั่นให้เห็นเด็ดขาดลงไป เมื่อท่านพยายามรักษาใจไว้ให้อยู่กับสติ อยู่กับรู้ ไม่ให้เที่ยวแล่นไปตามอารมณ์น้อยใหญ่ วันหนึ่งธรรมจะปรากฏให้เห็นประจักษ์แก่ใจท่าน
วันหนึ่งๆ เราเรารักษาใจกันบ้างไหม ใครว่าอะไรก็แล่นไปตะครุบ ใครชมอะไรก็แล่นไปตะครุบ หารู้ไม่ว่า สิ่งที่วิ่งไล่ตะครุบ มันเงาแห่งใจตนเองทั้งนั้น หาสาระแก่นสาร ตัวตนอะไรไม่ได้เลย นี่แหละ รักษาใจเพียงข้อเดียวก็เห็นธรรม บรรลุธรรมได้ หลวงปู่มั่นอบรมศิษย์ถึงแก่นจริงๆ ใครประมาท ท่านจะมาเข่นถึงที่ อย่างหลวงตามหาบัว เคยหลับนอนพักผ่อนในกุฏิ หลวงตานอนหลับ หลวงปู่มั่นก็มาในฝัน บอกจะมานอนตายแบบหมู่อยู่หรือ ท่านสะดุ้งตื่น ต่อแต่นั้น ไม่กล้านอนหลับกลางวันอีกเลย
อีกเรื่องหนึ่งคือ หลวงปู่มั่นไปพักที่บ้านนามน จังหวัดสกลนคร ก็มีอุบาสิกานุ่งห่มขาวแก่ๆ อายุแปดเก้าสิบมาปฏิบัติภาวนาด้วย หลวงปู่มั่นก็สั่งสอนอบรมด้วยดี อุบาสิกาท่านนี้ภาวนาดีมาก และกล้าที่จะพูดตรงๆ กับหลวงปู่มั่น ไม่กลัวท่านจะดุอะไรเลย เขาบอกว่า “ฉันทราบจิตหลวงพ่อมานานแล้ว จิตหลวงพ่อไม่มีใครเสมอ ทั้งในวัดนี้หรือที่อื่นๆ จิตหลวงพ่อประเสริฐเลิศโลกแล้ว หลวงพ่อจะภาวนาไปเพื่ออะไรอีก” หลวงปู่มั่นตอบว่า ภาวนาไปจนวันตายไม่มีถอย ใครถอยผู้นั้นมิใช่ศิษย์ตถาคต ยายคนนี้รู้วาระจิตหลวงปู่มั่น และรู้วาระจิตพระในวัดทุกรูป เวลามาวัด พระเณร จะหวาดๆ เพราะธรรมดาพระปุถุชน ย่อมยังคิดในเรื่องกาม เรื่องราคะ โทสะอยู่
ในสมัยพุทธกาลมีเรื่องคล้ายๆ กันนี้คือ มีพระกลุ่มหนึ่งไปปฏิบัติอยู่ที่วัดแห่งหนึ่ง แล้วมียายคนหนึ่งนำอาหารไปถวายพระ แต่ไม่เจอใคร รออยู่ พอเจอก็ถามว่า พระหายไปไหนหมด อิชั้นมา ไม่เจอใครเลย พระเหล่านั้นก็บอกว่า กำลังแยกย้ายภาวนาเจริญอาการสามสิบสองอยู่ คือ กายคตาสติ ยายก็ถามว่า ทำอย่างไร ยายทำได้ไหม พระบอกทำได้สิ แล้วสอนให้ ยายคนนี้ (เคยทำมาก่อนในอดีตชาติ) ก็กลับไปทำที่บ้าน ต่อมาก็บรรลุอนาคามี ยายคนนั้นพอบรรลุอนาคามี ก็ส่งจิตไปดูพระกลุ่มนั้นจึงรู้ว่า ยังไม่มีใครบรรลุธรรมเลยแม้ชั้นโสดาบัน ก็ตรวจสอบดูด้วยอำนาจจิตจึงพบว่าอาหารนั่นเอง อาหารไม่เป็นสัปปายะ จึงจัดอาหารใหม่ที่ฉันแล้วทำให้จิตสงบง่าย (อันนี้ผมเติมเองนะ) ต่อมาพระเหล่านั้นก็บรรลุอรหัตผลทุกรูป เรื่องสัปปายะ จึงสำคัญเหมือนกัน ท่านลองกินอาหารเผ็ดร้อนพวกกระชายสิ เวลาภาวนาจิตจะฟุ้งมาก ก็เล่าย้อนไปถึงสมัยพุทธกาลว่า โยมผู้หญิงแก่ๆ นี่ อย่าไปดูถูกเชียวนะ ภาวนาดีได้เหมือนกัน เหมือนอุบาสิกาที่หลวงปู่มั่นสอนนั่นแหละ บางทีก็มาเล่าให้หลวงปู่ฟังว่า ภาวนาขึ้นไปพรหมโลก เห็นแต่พระ ไม่เห็นฆราวาสเลย หลวงปู่ตอบว่า เพราะพรหมโลก (ที่เห็นน่าจะเป็นชั้นสุทธาวาส ที่พักของพระอนาคามี) โดยมากมีแต่พระที่ท่านบำเพ็ญจิตสำเร็จธรรมชั้นอนาคามีผลแล้ว เวลาตายก็ไปเกิดในพรหมโลก ส่วนฆราวาสมีจำนวนน้อยจึงไม่ค่อยเห็น