ธรรมแท้ย่อมสอดคล้องต้องกัน

แสดงธรรม กลุ่ม Natural Mind เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2558
ผู้ปฏิบัติ : สงสัยว่า เวลาเทศนาธรรมพระพุทธเจ้ามีมุขตลกบ้างหรือเปล่าครับ
ท่านทรงกลด : ไม่มี พระองค์มีแต่ยิ้มน้อยๆ อาการยิ้มน้อยๆ พระอานนท์จะรู้เลยว่า ต้องมีเหตุแล้ว แล้วจะถาม พระองค์ก็จะเล่าเรื่องที่ยิ้มให้ฟัง
ผู้ปฏิบัติ : แล้วพระอานนท์เป็นพระอนุชาพระพุทธเจ้าหรือเปล่าครับ
ท่านทรงกลด : เป็นลูกพี่ลูกน้อง อายุเท่ากัน ตอนพระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระอานนท์อายุแปดสิบ แล้วอยู่ต่อมาจนอายุร้อยยี่สิบปีจึงปรินิพพานกลางอากาศ เป็นพระอรหันต์อยู่สี่สิบปี
พระอานนท์เป็นเพียงพระโสดาบัน แต่ท่านทำให้คนสำเร็จอรหัตผลได้มาก อย่างคิรีมานสูตร พระพุทธเจ้าก็เทศน์ให้พระอานนท์ฟัง แล้วให้พระอานนท์ไปเทศน์ให้พระคิรีมานฟังจนสำเร็จอรหัตผล เรื่องนี้คนไม่ค่อยเชื่อ มีคนไปถามหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์ตอบสั้นๆ ว่า หมอป่วยเป็นมะเร็งยังรักษาคนเป็นมะเร็งหายเลยไม่ใช่เหรอ อยู่ที่ธรรมที่แสดงว่า เป็นธรรมที่ถูกต้องหรือไม่ หากถูกต้อง คนฟังก็มีโอกาสบรรลุธรรมได้ บางคนสวดมนต์ พิจารณาตามบทสวด (ภาษาไทย) ก็อาจจะบรรลุธรรมได้ บางคนขณะแสดงธรรมให้คนอื่นฟัง ตนเองก็บรรลุธรรมได้ เพราะส่งกระแสจิตตามธรรมที่ตนแสดง หลังจากที่รู้เห็นอะไรบางอย่าง ผมศึกษาวิธีการสอนของพระพุทธเจ้าจึงพบเคล็ดลับที่สำคัญว่า ทำไมท่านสอนแล้วคนบรรลุธรรม แล้วสอดคล้องกับแนวหลวงปู่ชาจริงๆ คือ ท่านสอนให้คนเห็นตามความเป็นจริงแห่งรูปนาม ขันธ์ห้า อารมณ์ว่า จะถือเป็นเรา ของเราไม่ได้ จิตก็จะปล่อยวาง พระพุทธเจ้าสอนเช่นนั้นจริงๆ
ผมก็พยายามแสดงเช่นนั้นให้พวกท่านฟัง แม้ต่อไปบวชแล้วก็จะแสดงเช่นนี้แหละ แต่คนฟังไม่ค่อยเชื่อ ถึงขนาดหลวงปู่ชาเคยบ่นหนักๆ ว่า เราสอนธรรมะ ไม่ค่อยมีใครเชื่อ ชอบแต่ไปนั่งเงียบสงบไม่รู้อะไรอยู่ อย่างสมาธินี่ หลวงปู่ชาบ่นเลย ท่านว่า พวกเราชอบสมาธิแบบหลับตากันเหลือเกิน สมาธิแบบลืมตา ยืน เดิน นั่ง นอน นี่ก็เป็นสมาธิได้ บอกก็ไม่เชื่อ เพราะอะไร เพราะเราถูกสอนให้นั่งภาวนาหลับตาจนเคยชิน พอมีคนมาบอกอีกทางหนึ่ง ก็ไม่เชื่อ ยึดแบบเดิมๆ แล้วเราก็ไม่รู้เห็นธรรมกันเสียที อย่างที่ผมเคยเรียน หลวงปู่ชาสอนขนาดนี้ ไม่ค่อยมีใครเอาแบบหรอกครับ เขาไม่เชื่อว่า ลืมตาก็เป็นสมาธิได้
พระพุทธเจ้าแม้ท่านจะบรรลุอรหัตผลด้วยการพิจารณาปฏิจจสมุปบาท ขณะที่ท่านบรรลุเป็นยามสามแล้ว เวลานิดเดียว แล้วท่านออกมาเสวยวิมุตติสุขอยู่ 49 วัน ท่านไม่ได้เสวยสุขอยู่อย่างเดียวอย่าง เขาเขียนให้เราอ่านแต่ท่านใช้เวลาช่วงนั้นทบทวนข้อธรรมที่ได้บรรลุ ผมบอกได้เลยว่า ตอนรู้ธรรมเห็นธรรมจะเห็นอะไรไม่มากหรอก แต่หลังจากนั้น ข้อธรรมต่างๆ จะหลั่งไหลออกมาเหมือนสายน้ำ สี่สิบเก้าวัน ธรรมทั้งปวงก็หลั่งไหลออกมา ท่านก็ทบทวน บัญญัติ แยกแยะเป็นหมวดหมู่
พอทบทวนเสร็จ ท่านก็เสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ ท่านไม่ได้สอนเรื่องปฏิจจสมุปบาทเลยแม้แต่นิด หรือเวลาไปโปรดชฎิลสามพี่น้อง ท่านก็ไม่ได้เทศน์เรื่องปฏิจจสมุปบาทเลย เพราะของสิ่งนี้เป็นเรื่องลึกซึ้งเกินกว่าปุถุชนจะรู้ จะเข้าใจได้ด้วยความคิด เหมือนที่พระองค์ดุพระอานนท์ที่ดูหมิ่นว่า ปฏิจจสมุปบาทนี่เป็นของง่าย ง่ายถ้าท่องเหมือนนกแก้วนกขุนทอง อวิชชาก่อให้เกิดสังขาร สังขารก่อให้เกิดวิญญาณ วิญญาณก่อให้เกิดนามรูป อย่างนี้ง่ายแน่ แต่ถ้าเห็นจริง มันไม่ใช่อย่างนั้น
หลวงปู่ชาไปพบแผนผังอธิบายปฏิจจสมุปบาทที่เขียนโดยพระรูปหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากในปัจจุบัน แล้วท่านก็ส่ายหัว บอกเข้าใจผิดหมดเลย ถ้าเป็นปุถุชนคนธรรมดาพระองค์จะสอนให้เป็นอริยชนก่อน อย่างน้อยก็เป็นพระโสดาบันก่อน ผมไม่ได้คาดหวังว่าท่านจะต้องบรรลุสกิทาคามี อนาคามี อรหัตผลเลย แค่ท่านได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระอริยบุคคลเบื้องต้นเป็นพระโสดาบันก็ถือว่า สำเร็จแล้ว เหมือนพาท่านมาส่งปากทางเข้าบ้าน ที่เหลือท่านก็เดินไปเองได้แล้ว ซึ่งหากท่านไม่ทิ้งความเพียรเดินตามมรรคที่ถูกต้อง ท่านต้องประสบผลสำเร็จอย่างแน่นอน หลวงปู่ชาบอก คนสมัยนี้ไม่รู้ธรรมเห็นธรรมเพราะเดินมรรคผิดนั่นเอง ไม่รู้ว่าอะไรคือมรรค อะไรคือกิเลส อะไรคืออารมณ์
เมื่อพระพุทธเจ้าไปโปรดปัญจวัคคีย์ท่านก็เทศน์เรื่องมรรคเลย ท่านไม่ได้บอกด้วยซ้ำว่า อะไรคืออวิชชา อะไรคือสังขาร อะไรคือวิญญาณ ไม่ได้บอกเลยว่า อะไรคือทุกข์ อะไรคือเหตุแห่งทุกข์ อะไรคือนิโรธ ท่านบอกแต่เพียงว่า สมณะ (ยังไม่ได้เป็นภิกษุ) ทางสองทางที่ไม่ควรเดิน ทางหนึ่งคือ อารมณ์สุขทั้งหลาย ความชอบใจทั้งหลาย ที่เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค แม้ความสุขในฌานก็เป็นกามสุขัลลิกานุโยโค อีกทางหนึ่งเล่า สมณะ คือ การทำตนให้ลำบาก ทำตนให้ไม่ชอบใจ อารมณ์ยินดียินร้ายทั้งปวง เรียกว่า อัตตกิลมิถานุโยโค สองทางนี้ไม่ควรเดิน ไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง มั่นหมาย โกณฑัญญะได้ฟังเช่นนี้ จิตท่านก็เห็นว่า อารมณ์ยินดีไม่ควรเอา อารมณ์ยินร้ายก็ไม่ควรเอา จิตท่านก็ละจากอารมณ์ทั้งสองมาตั้งมั่นอยู่ และเห็นอารมณ์ไม่ว่าดีหรือร้าย เกิดดับๆ อยู่เฉพาะหน้า ท่านจึงอุทานขึ้นว่า สิ่งใด (อารมณ์) เกิดเป็นธรรมดา สิ่งนั้นก็ดับไปเป็นธรรมดา จะสำคัญมั่นหมายเป็นเรา เป็นเขาหาได้ไม่ ท่านเกิดดวงตาเห็นธรรม พระพุทธองค์ทรงรู้ด้วยพระญาณก็อุทานออกมาว่า โกณฑัญญะรู้แล้วหนอๆ
หลวงปู่ชาก็เหมือนกันท่านก็เทศน์อยู่แค่เรื่องนี้ พบอารมณ์ชอบใจก็บอก มันไม่แน่ มันอนิจจัง พบอารมณ์ไม่ชอบใจก็บอกมันว่า ไม่แน่ มันเป็นอนิจจัง แค่นี้แหละ คำว่า อนิจจังอันเดียวใช้ได้ถึงอรหัตผลโน่น ท่านบอก ท่านไม่ได้สอนอะไรมากเลย แต่พวกเราก็ไม่ค่อยเชื่อ เอ ! มันจะง่ายอย่างนี้หรือ ลองไปทำดูสักวัน เอามันทุกนาทีเถิด มันไม่ง่ายหรอก เผลอหน่อยเดียวเข้าไปคลุกวงในกับมัน (อารมณ์) แล้ว ถ้าพิจารณาเนืองๆ (เขาเรียก ธัมมวิจยะ) สติท่านจะดีขึ้น จะค่อยๆ ห่างจากอารมณ์ไม่ว่าดีหรือร้าย ถ้าไม่ทิ้งความเพียร จิตต้องตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิอย่างพระอัญญาโกณฑัญญะอย่างแน่นอน
ขณะเดียวกันการพิจารณากายก็สำคัญ เพราะจะช่วยถ่ายถอนอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นในกาย ให้เห็นว่าที่แท้ จะถือเป็นเรา เป็นเขาไม่ได้ ที่แท้มันก็คือ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกันเท่านั้น จิตจะถ่ายถอนออกมา สติจะดีขึ้นตามลำดับ ยืน เดิน นั่ง นอน ก็ให้มีสติกำกับ ถ้าจะนั่งสมาธิแบบหลับตา ก็อานาปานสติอย่างที่เคยนำมาอธิบาย หายใจเข้าลึกๆ สติก็เกิดขึ้นแล้ว ไม่เชื่อลองทำดูตอนนี้เลย สติที่เกิดตอนที่หายใจเข้าลึกๆ ก็เป็นสติตัวเดียวกับที่ใช้พิจารณากาย ตัวเดียวกับยืน เดิน นั่ง นอน ตัวเดียวกับที่ใช้รู้เท่าทันอารณ์ทั้งชอบใจ ไม่ชอบใจ เขาเรียกว่า อบรมสติให้มีกำลัง เป็นอินทรีย์ เป็นพละ