ธรรมารมณ์ อารมณ์ ความคิด

แสดงธรรมกลุ่ม Natural Mind เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2558
ท่านทรงกลด : มีผู้ปฏิบัติขอให้ช่วยขยายความเรื่องธรรมารมณ์ อารมณ์ ความคิด
จริงๆ ความคิดนี้หยุดได้นะ ถ้าสติมีกำลัง พอมีสติ มันจะหยุดอยู่แค่รู้ มันจะไม่เลยไปคิด มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ (ที่เห็นอยู่) ตอนแรกผมก็ไม่เชื่อว่า ความคิดจะหยุดได้ ต่อเมื่อหยุดได้จริงๆ จึงรู้ รู้ว่าคิดก็คิด จิตก็จิต มันคนละอันกัน
ที่เราฝึกสติก็เพื่อจะฝึกให้จิตหยุด หยุดปรุงแต่ง หยุดก่อร่างสร้างตัว อย่างที่หลวงปู่ดูลย์ว่านั่นแหละ มันคล้ายๆ กับเราโยนหินลงไปในบ่อน้ำ แล้วน้ำแยกออกจากกันให้เห็น พอออกมาน้ำก็รวมเหมือนเดิม แต่พอมีสติขึ้นมาอีกมันก็แยกให้เห็นอีก บอกไม่ถูกเหมือนกัน ได้แต่เปรียบเทียบให้ฟัง ต้องมาเห็นอย่างที่ผมเห็นจะหายสงสัย
พอมีสติก็แยก มีเผลอก็รวม (จิตกับอารมณ์) มันจะเป็นอย่างนี้ จนจิตหลุดพ้นไป เรียกว่า มีสติบริบูรณ์คือจิตนั่นแหละเป็นมหาสติ (ภาษาหลวงตา) คนที่มีสติบริบูรณ์คือพระอรหันต์นั่นเอง (ภาษาพระพุทธเจ้า) พระอรหันต์มีสติบริสุทธิ์ บริบูรณ์ พอมีสติ มันจะหยุด หยุดคิดเลย อันนี้ก็บอกไม่ถูกเหมือนกัน มันเป็นปัจจัตตัง
หลวงปู่ชาก็เคยบอกว่า (พอมีสติ) มันจะหยุด ตอนแรกก็ไม่เชื่อว่า เอ! มันจะหยุดได้อย่างไร มันหยุดจริงๆ อย่างที่ผมเคยบอกไว้ว่า หากเห็นธรรมแล้วจะเห็นภาพธรรมารมณ์เหมือนภาพสโลว์โมชั่นของอารมณ์คือ เห็นก่อนคิด อันนี้น่าจะเป็นภาษาของหลวงพ่อเทียน หรือท่านเขมานันทะ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ อย่างปฏิจจสมุปบาทที่เห็นเป็นวงกลมนั้น แท้จริงแล้วเป็นชั่วขณะจิตหนึ่งเท่านั้นเอง มันเหมือนจุดปลายเข็ม แต่พระพุทธเจ้าทรงขยายให้ดูด้วยอำนาจญาณ
ตอนนี้ผมเห็นอะไร ผมจะขยายภาพสโลว์โมชั่นในจิตผมให้ดู ตอนนี้ภาพที่ปรากฏในใจมันค้างนิ่งอยู่ จิตก็อยู่ของมันอยู่ ไม่เข้าไปหมายมั่น ความคิดเกี่ยวกับภาพนั้นที่คิดปรุงแต่งก็ไม่มี แล้วถ้อยคำผมมาจากไหน มันไม่ได้ออกมาจากความคิด มันออกมาจากความ “รู้” จากผู้รู้ ผมไม่ได้ใช้ความคิดอะไรคุยกับท่านๆ เลย ผมใช้ความรู้ความเห็นคุยกับกับท่าน ใช้สัญญาเกี่ยวกับภาษาไทยถ่ายทอดออกไป ใช้กาย (รูป) พิมพ์มันออกมา
ผมกำลังจะบอกอะไร ผมก็กำลังจะบอกว่า พระอริยะเจ้าระดับอนาคามี (ผมยังไปไม่ถึงนะ) ขึ้นไป เวลาเขาคุยกัน เขาไม่ได้ใช้ความคิดเลย อย่างที่เคยเล่าให้ฟัง หลวงปู่ชอบกับหลวงปู่ขาวพบกัน ไม่ได้คุยกันเลยสักคำ นั่งมองหน้ากันแล้วหัวเราะเป็นชั่วโมง ท่านคุยกันด้วยภาษาจิต จิตที่เป็นธาตุรู้
ในหนังสืออตุโล เขียนไว้ว่า มีพระปฏิบัติรูปหนึ่งมาขอพบหลวงปู่ดูลย์ พระมหาสมศักดิ์ (ตอนนั้นอยู่กับหลวงปู่ดูลย์) ตอนนี้ไม่แน่ใจว่า เป็นเจ้าอาวาสวัดบูรพารามที่สุรินทร์หรือเปล่า บันทึกไว้ว่า ท่านก็บอกว่า โน่นไง หลวงปู่ดูลย์อยู่บริเวณหอระฆัง พระรูปนั้นก็เดินไปกราบแล้วลงนั่ง แต่ภาพที่พระมหาสมศักดิ์เห็นก็คือ พระรูปนั้นไม่ได้ถามอะไรเลยสักคำ หลวงปู่ดูลย์ก็ไม่ได้ตอบเลยสักคำ สักพักพระรูปนั้นก็กราบหลวงปู่ดูลย์ เดินออกมา พระมหาสมศักดิ์ก็ถามว่า อ้าว ! ไม่เห็นถามอะไรเลย พระรูปนั้นตอบว่า ถามแล้ว หลวงปู่ก็ตอบแล้ว ตอบเป็นภาษาที่สวยงามมาก
พระมหาสมศักดิ์นี่เหมือนจะเป็นหลานหลวงปู่ดูลย์ ผมเคยได้กราบครั้งหนึ่ง แปลกมาก หลายปีก่อน ผมไปงานแต่งงานลูกสาวท่านผู้พิพากษาสมทบที่สุรินทร์ ก็แวะไปที่วัดบูรพาราม ว่าจะไปหาหนังสืออตุโล แต่นักปฏิบัติคนหนึ่งบอกว่า หายากมาก (ในตอนนั้น) มันหมดตลาดไปนาน ไม่มีคนจัดพิมพ์ ผมก็แวะไป พบพระมหาสมศักดิ์ ก็กราบท่าน ถามหาหนังสือ ท่านบอก เออ ! แปลก หนังสือนี่หมดไปนานแล้ว แต่เมื่อวานมีพระฝรั่งนำมาถวายสอง สามเล่ม อยู่ในตู้นั่น ไปหยิบเอาสิ ผมก็ทำบุญมาเล่มหนึ่ง ตอนไปกราบลา ผมคิดในใจว่า ขอให้ผมได้รู้เห็นธรรมเหมือนอย่างที่หลวงพ่อได้เห็นด้วยเถิด พระมหาสมศักดิ์ก้มหน้า (ท่านนั่งอยู่บนตั่ง) ลงมาใกล้ๆ แล้วกระซิบที่ข้างหูผมเบาๆ ว่า ขอให้สำเร็จนะๆ ท่านไม่ธรรมดาเป็นแน่
ตอนนี้ผมใช้สัญญาคุยแล้วนะ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ถามว่า ท่านเอาอะไรมาตรัสรู้ ท่านก็เอาขันธ์ห้านี่แหละมาเรียนรู้ขันธ์ห้า จนรู้แจ้งขันธ์ห้า กลายเป็นผู้รู้แจ้งโลก ขันธ์ห้ามีอะไร รูปคือร่างกายนี้ หรืออะไรก็ได้ที่เป็นรูป เวทนาคือความรู้สึกสุขบ้าง ทุกข์บ้าง สัญญาคือความจำได้หมายรู้ เช่น เห็นโต๊ะ ก็จำได้ว่านี่คือโต๊ะ แต่ถ้าฝรั่งเห็น เขาจะไม่เรียกว่าโต๊ะ เพราะอะไร คิดดูเอง สังขารคือความคิดปรุงแต่ง วิญญานคือตัวรู้ ถ้าใครเรียนอภิธรรม (ผมไม่ได้เรียนมา เลยเถียงกับใครไม่ค่อยเป็น เพราะไม่มีความรู้เรื่องอภิธรรมเลย) เขาจะเรียนเรื่องจิต รูป เจตสิก นิพพาน เวทนา สัญญา สังขาร นี่คือเจตสิกคืออาการของจิตต่างๆ นานา มีมากมายเรียนกันไม่หวาดไหว ผมก็ไม่รู้หรอกมีอะไรบ้าง ส่วนวิญญาณนี่เขาจัดไว้ในพวกเดียวกับจิต ผมเคยอ่านผ่านๆ เจอ ตอนแรกก็งง พอเห็น อ๋อ! วิญญาณคือตัวรู้นี้ มันไม่มีอาการ มันสักแต่รู้เท่านั้นเอง มันมีสภาพเหมือนจิตมากที่สุด (ซึ่งเรื่องนี้ผมก็พูดไปหลายครั้งแล้ว) ตัวรู้ วิญญาณนี่แหละคือสติ
พระพุทธเจ้าเอาตัวรู้หรือวิญญาณมาบัญญัติแยกให้เห็นชัดว่าคือสติ มาเรียนรู้ขันธ์ห้า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ใช้อานาปานสติ ลมหายใจเข้ารู้ ลมหายใจออกรู้ อยากรู้ว่า จิตมีลักษณะเป็นอย่างไร ท่านลองทำอย่างนี้ ทำตอนนี้เลยก็ได้ หายใจเข้าลึกๆ แล้วค้างไว้ (ผมเคยสอนไว้ในการทำอานาปานสติ) ท่านจะเกิดความรู้สึกตัวทันที (ที่ท่านเขมานันทะชอบพูด) ความรู้สึกรู้นี่แหละคือสติ คือวิญญาณ คือตัวรู้ ที่มีสภาวะเหมือนจิต วิญญาณนี่ออกมาจากจิต อยู่ใกล้จิตที่สุด (มันออกมา หรือถูกปรุงแต่งโดยจิตนั่นเอง) หายใจเข้าลึกๆ รู้ตัวขึ้นมา นั่นแหละคือลักษณะของจิต
ผมเปิดช่องธรรมช่องหนึ่ง เขาเอาหลวงปู่เทสก์มาเปิด ท่านก็บอกว่า อยากรู้ว่า จิตเป็นอย่างไร ให้หายใจลึกๆ ตอนพระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ เมื่อหายใจเข้า ท่านก็รู้ หายใจออกท่านก็รู้ เมื่อจิตกับรู้ตั้งมั่นเข้าด้วยกัน ท่านก็แยกจิต แยกอารมณ์ ออกจากกันได้ ท่านจึงเห็นทุกข์ (อารมณ์) ก่อนเป็นอันดับแรก
ความคิดของคนทั่วไปมาจากไหน อย่างที่ผมบอก จิตนี้ปรุงแต่งขันธ์ห้า แต่จะเริ่มปรุงแต่งเมื่อใด ไม่มีใครรู้จุดเริ่มต้น แต่ตอนนี้มันปรุงแต่งขึ้นมาแล้ว จริงๆ ถ้าปรุงแต่งแล้วรู้เท่าทันความจริงของมันก็จบ แต่เพราะไม่รู้เท่าทัน เห็นผิด เห็นว่า รูปนี้คือเรา ของเรา เวทนา สุข ทุกข์นี้คือเรา ของเรา สัญญาคือเรา ของเรา สังขารคือเรา ของเขา ประมาณนี้ เรื่องมันจึงไม่จบ นี่คือข้อสรุปของพระอรหันต์ ซึ่งผมจะขยายให้ฟังความหมายที่ลึกซึ้งของมัน ที่ไม่จบเพราะไปทะเลาะกับมัน คืออะไร (หมายเหตุ ท่านอาจจะไม่เคยฟังที่ใดมาก่อน นี่เป็นความเห็นของผมล้วนๆ อย่าเอาไปเทียบคนอื่นเลย)
โทสะ เอออวย พลอยยินดี ราคะ วิพากษ์ วิจาร โมหะ หลง ไม่รู้เท่าทัน ก็วิพากษ์ วิจาร คิดปรุงแต่งมากมายเหลือคณานับ อย่าไปใส่ใจ นี่คือจิตเสวยอารมณ์ จิตเข้าไปหมายมั่น ยึดมั่น นี่คือเหตุเแห่งทุกข์ทั้งสิ้น เมื่อใดที่ใจไม่รู้เท่าทัน ไปหลงตะครุบอารมณ์ นั่นคือใส่ใจ เสวยอารมณ์เข้าแล้ว
สมัยก่อนเห็นรูปหญิงงาม นอนคิดถึงทั้งคืน นอนไม่หลับ กระวนกระวาย ปรุงแต่งไปมากมาย ทุกข์ร้อนอยู่ทั้งคืน นี่คืออาการของจิตเสวยอารมณ์ยินดี อันเกิดจากตาเห็นรูปงามนั่นเข้าแล้ว เพราะอะไร ผมจะขยายภาพสโลว์โมชั่นของอาการที่ว่าที่เคยเป็นมาก่อนให้ดู
เมื่อเราพบเห็นหญิงงามเมื่อตอนกลางวัน ตาเห็นรูป อายตนะภายนอก ภายในกระทบกัน เรื่องอายตนะนี่พูดไปหลายทีแล้ว คงไม่ต้องทวนแล้ว (จริงๆ เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจะรู้ที่มาของอารมณ์) ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่คืออายตนะภายใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (การสัมผัสกาย) ธรรมารมณ์ นี่คืออายตนะภายนอก แต่ช้าก่อน ธรรมดาเมื่อตาเห็นรูป ธรรมดาไม่มีอะไร เหมือนตาของคนตายนอนเห็นเพดาน จะเกิดอารมณ์ยินดียินร้ายก็หาไม่ เพราะคนตายไม่มีวิญญาณคือผู้รู้แจ้งทางอารมณ์ ขณะนั้นจิตวิญญาณ (ปฏิสนธิวิญญาณ) ได้ไปก่อร่างสร้างรูปนามใหม่ตามอำนาจอวิชชาไป
ผมจะจับเฉพาะผัสสะนี่แหละมาแสดงให้เห็นในวันนี้ เมื่อมีผัสสะย่อมมีเวทนา นี่คือกฎ (ในปฏิจจสมุปบาท) แต่ผัสสะนั้นต้องประกอบไปด้วยวิญญาณ อย่างที่เคยอธิบายไปว่า ตามคัมภีร์บอกว่า เมื่อตาเห็นรูป ย่อมเกิดจักขุวิญญาณ แต่จริงๆ แล้ว คำว่าเกิดในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเกิดใหม่ วิญญาณนั้นมีอยู่แล้ว เพียงแต่มันทำหน้าที่รู้อารมณ์ เมื่อรู้แล้วก็แจ้งไปยังจิต ตาเห็นรูปหญิงงาม ก็เกิดอารมณ์ยินดี นี่คือการทำงานของเวทนา เมื่อเกิดแล้วใจก็รับรู้ผ่านทางวิญญาณ กระทบครั้งหนึ่ง วิญญาณก็รู้ (ดูเหมือนเกิด) ครั้งหนึ่ง จิตก็รับรู้ครั้งหนึ่ง
ทีนี้ การรู้ตามความเป็นจริง หมายความว่า เมื่อเกิดแล้ว ไม่ว่าเวทนา วิญญาณ อะไรก็แล้วแต่ จะดับไป เมื่อตาเห็นรูปเกิดความยินดี จิตก็รับรู้ (ผ่านวิญญาณ ตอนเห็น จะเห็นวิญญาณนี้เชื่อมอยู่ระหว่างอารมณ์กับจิตจริงๆ แต่มันไม่มีรูปร่างอะไร เป็นแต่ความรู้เท่านั้น มันไม่มีรูปให้เห็นหรอก บอกไม่ถูกเหมือนกัน)
พระพุทธเจ้าก็ดี หลวงปู่ดูลย์ก็ดี หรือครูบาอาจารย์ก็ดี จึงบอกว่า ให้รู้ๆๆๆ สักแต่รู้ รู้นี่แหละคือสติ เมื่อจิตหยุดอยู่แค่รู้ อารมณ์ยินดีอันเกิดจากสาวงามก็ดับไป แต่ถ้าไม่รู้ เกิดอะไรขึ้น จิตก็ไปจับอารมณ์ยินดีนั้นมาปรุงแต่งเป็นราคะทันที (มันไวมาก) หลักหัวใจของการปฏิบัติอยู่ตรงนี้เอง
ตอนปรุงแต่งนั้นคืออะไร สังขารไง สังขารคือความคิดปรุงแต่ง จิตใช้สังขารขันธ์ปรุงแต่งราคะ เคยอ่านพระพุทธเจ้าสอนพระอานนท์ก่อนปรินิพพานไหม อานนท์ เราขอบอกว่า อารมณ์อันวิจิตร (อารมณ์ยินดี) นี้ไม่ใช่กาม แต่การดำริ (ความคิด) ของจิตต่างหากคือกาม กาม (ราคะ) เกิดจากการดำริของจิตนี่เอง ลองไปหาอ่านดู อยู่ในหนังสือพุทธโอวาท ก่อนปรินิพพาน เรียบเรียงจากพระไตรปิฎก โดย อาจารย์วศิน อินทสระ นี่พอเห็นธรรม มันจะอ่านหนังสือสอดคล้องต้องกันไปหมด อันไหนผิด จะรู้เลย ใครกล่าวตู่พระธรรม บอกได้ทันที โดยไม่ต้องคิด เพราะเห็นแล้วนี่
ทีนี้ แม้ขณะเห็นหญิงงามแล้วเกิดอารมณ์ยินดีแล้วรู้ทัน แต่ยังอยู่ในขั้นแยกอารมณ์ไม่ได้เด็ดขาด จะเกิดอะไรขึ้น คืนนั้น รูปหญิงงามก็ตามมาหลอกหลอนอีก รูปหญิงงามนี่แหละเรียกว่าธรรมารมณ์ ที่แปลว่า ธรรมารมณ์คือ การที่ใจคิดไปในเรื่องราวต่างๆ อันนี้ผิดมากๆ รูปหญิงงามมาจากไหน มาจากสัญญา สัญญาขันธ์ สัญญาขันธ์ ที่ทำหน้าที่จำได้หมายรู้ เหมือนอย่างที่เราเห็นโต๊ะแล้วจำได้ว่า นี่เขาเรียกว่าโต๊ะนั่นแหละ ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับขันธ์แบบอนุปาทิเสสนิพพาน สัญญาขันธ์ก็ยังอยู่ สัญญานี่ก็เกิดได้ดับได้
รูปหญิงที่เราลืมไปแล้วตอนกลางวัน กลางคืนโผล่มา เขาเรียกว่า รูปสัญญา เป็นธรรมารมณ์ เมื่อปรากฏขึ้นมาต้องใจ ก็เกิดผัสสะ อันเป็นธรรมดาของมัน ใจต้องธรรมารมณ์ จริงๆ (ความจริงเป็นแบบนี้จริงๆ) มันก็ทำหน้าที่ของมันเท่านั้นเอง เหมือนเราเอามือตีแขน ก็ต้องเจ็บ นี่คือเวทนาทำหน้าที่
เมื่อใจต้องรูปสัญญาคือ ธรรมารมณ์ มีผัสสะ ก็เกิดอารมณ์ยินดีขึ้นมาอีก ใจก็รับรู้ผ่านตัวรู้คือวิญญาณอีก คราวนี้ หากไม่รู้ทันเหมือนตอนกลางวัน จิตไม่หยุดก็ไปคว้าฉวย เอออวยไปกับมัน (ภาษาหลวงปู่ดูลย์) ปรุงแต่งดำริราคะขึ้นมา อยากได้ในหญิงงามนั้น ทุกข์ร้อนก็เผาผลาญใจของชายนั้นอยู่ทั้งคืน ตาเห็นรูป อันเป็นกายเนื้อเมื่อตอนกลางวัน กับใจเห็นรูปสัญญาในตอนกลางคืน มันก็คืออันเดียวกัน
พระพาหิยะที่บรรลุธรรมอย่างเร็วพลัน เพียงแค่พระพุทธเจ้าเทศน์ว่า พาหิยะ เมื่อเห็นก็สักแต่ว่าเห็น ก็อาศัยหลักเพียงแค่นี้แหละ ใจพระพาหิยะไม่ได้ไปทะเลาะกับรูป หรืออารมณ์ยินดียินร้ายใดๆ ไม่ไปเอออวยกับมัน ไม่ไปวิพากษ์วิจาร ไม่ไปใส่ใจกับมัน จิตท่านตั้งมั่นอยู่กับรู้ มันก็หยุดแค่นั้น จิตก็หลุดพ้นไปทันที
พระพุทธเจ้าสอนพวกชฏิล ก็สอนเรื่องตาเรื่องรูปเหมือนกัน บรรลุอรหันต์เหมือนกัน ความคิดอันเป็นสังขารขันธ์ เมื่อเอามาใช้ประโยชน์ในการพิจารณาข้อธรรม เรียกว่าโยนิโสมนสิการ หรือเรียกว่าธัมมวิจยะ เช่น พิจารณาอาการสามสิบสอง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อย่างนี้ถือว่าคิดชอบ ดำริชอบ แต่ถ้าไม่รู้เท่าทันอารมณ์ คิดฟุ้งซ่านไปในเรื่องกาม เรื่องโกรธ ความคิดเช่นนี้ไม่ชอบ ไปดูสัมมาสังกัปปะ ดำริชอบสิ ดูว่าผมพูดหนีไปจากความจริงตรงนี้หรือไม่ พระพุทธเจ้าจึงสอนว่า ดำริคือ คิดได้ แต่ต้องดำริชอบคือ คิดชอบ ดำริที่จะออกจากกาม ดำริที่จะไม่พยาบาท จึงต้องใช้ความคิด อันเป็นสังขารขันธ์ไปในทางที่ชอบ
ที่หลวงปู่ดูลย์บอกว่า คนที่ศึกษามามากบรรลุธรรมช้า มันเป็นอย่างนี้ ด้วยความจำในตำราที่ตนศึกษามามากมาย คือสัญญา (ยังไม่ใช่ความจริงอันเกิดจากการปฏิบัติรู้แจ้งในจิต) ดังนั้นเวลาปฏิบัติพอก้าวหน้าไปสักนิด สัญญาก็ทำงาน เอ! ตอนนี้ ถึงญานนี้แล้วมั้ง ถึงตรงนี้ ตรงนั้นแล้วมั้ง พอสัญญาทำงานใจก็คิดทันทีว่า เอ! มันเป็นอย่างไร
หลวงปู่ชาไม่เคยพูดเลยว่า บัดนี้ถึงญาณนี่แล้ว ถึงญาณนั้นแล้ว ดูเหมือนเคยมีคนไปถาม ท่านตอบว่า เวลาคนตกจากต้นไม้พรวดเดียวลงมานี่ ไม่ได้มามัวนับอยู่ว่า ถึงกิ่งนั้นกิ่งนี้ ที่บอกว่าคิดเท่าใดก็ไม่รู้ จะรู้เมื่อหยุดคิด แต่ถ้าไม่คิดก็ไม่รู้นี่ หมายความว่า รู้กับคิดมันคนละเรื่องกัน รู้ก็รู้ คิดก็คิด เมื่อคิดก็ไม่รู้เพราะมัวแต่วิพากษ์วิจารอยู่ แต่เมื่อใช้ความคิดในเชิงธัมมวิจยะ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) เช่น มีคนชมเกิดความยินดี ก็รู้เท่าทันว่า ความยินดีนี้ ไม่เที่ยง ขณะนั้นคือธัมมวิจยะ ขณะนั้นยังไม่รู้ เพราะคิดพิจารณาอยู่ ต่อเมื่อพิจารณาเนืองๆ เห็นเนืองๆ จนจิตไม่เอาอารมณ์ใดๆ เพราะเห็นแล้วว่ามันไม่เที่ยง หาแก่นสารไม่ได้ จิตก็แยกจากอารมณ์ได้ มาตั้งมั่นอยู่ (สัมมาสมาธิ) ขณะนั้นจิตก็จะหยุด หยุดวิ่งตามอารมณ์ จิตหยุดคิด ก็จะรู้ รู้อะไร สมาหิโต ยถาภูตัง ปชานาติ
จิตหยุดคิด จิตตั้งมั่น อันเดียวกัน เมื่อจิตตั้งมั่นก็จะรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังบาลีที่ยกมา รู้เห็นอะไรตามความเป็นจริง รู้เห็นว่า รูปนาม อารมณ์ทั้งปวง (ที่แยกออกให้เห็นเสมือนตาเห็นรูป เหมือนน้ำที่แยกออกจากกันชั่วขณะให้ดู) รู้เห็นว่า รูปนาม ขันธ์ห้า อารมณ์ จะถือเป็นเรา เป็นเขาไม่ได้ เรานี้คือจิตอันหนึ่งซึ่งว่างอยู่ มีอยู่ แต่หารูปหาร่างไม่ได้ ผู้ใดเห็นจิต ผู้นั้นเห็นธรรม
หยุดคิด ก็จะรู้ รู้ธรรมนั่นเอง แต่ถ้าไม่คิดก็ไม่รู้ อันนี้มีสองนัย นัยแรกคือ ต้องคิดในเชิงธัมมวิจยะ ถ้าไม่คิดในเชิงนั้นก็ไม่รู้ อันนี้ อันนึง อีกนัยหนึ่ง ไม่คิดก็ไม่รู้คือ การเข้าฌาน เงียบสงบแน่นิ่ง หมดคิด สุขมาก ออกมาก็โง่เหมือนเดิมไม่รู้อะไรเลย ดังอาฬารดาบส อุทกดาบส หรือหลวงปู่ชอบ ตอนเดินธุดงค์กลับจากพม่าเข้าแดนป่าไทย ระหว่างทางเผชิญกับเสือโคร่งตัวใหญ่ คำรามลั่น ขณะนั้นจิตท่านกลัวมาก ด้วยความเคยชินกับการภาวนา จิตท่านหลบเข้าไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ เงียบไปหมด ความคิด ความกลัว หายเงียบไปหมด พอรู้สึกตัวอีกที ตะเกียงที่ถืออยู่ดับไปนานแล้ว เสือก็หายไปไหนแล้วไม่รู้ ไม่คิด ก็ไม่มีอะไรจะให้รู้ นี่คือปริศนาธรรมที่หลวงปู่ดูลย์ทิ้งไว้ และลูกศิษย์หรือใครมากมายพยายามอธิบาย ผมก็อธิบายไปตามที่รู้เห็น ผิดถูกก็ไม่รู้เหมือนกัน รู้เห็นอย่างไรก็พูดไปแบบนั้น พูดไปตามความรู้ความเห็น ไม่ได้พูดตามความคิด
อย่างที่เคยบอก ความคิดไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ถ้าใช้ให้เป็น อย่างพระพุทธเจ้าเวลาท่านจะสอน ท่านก็คิด (ดำริ) เหมือนอย่างที่ผมเคยยกตัวอย่างว่า ความคิดเหมือนจอบขุดดิน เมื่อขุดดินเสร็จ เราก็วางเสีย แต่ที่เราทุกข์ทุกวันนี้ เพราะไม่ยอมวางจอบคือความคิด ไปยึดมั่นมันไว้ว่า ความคิดฉันต้องใหญ่สุด ถูกสุด ผมถึงบอกแต่แรกว่า ไม่รับไปนั่งโต้วาทีเรื่องธรรมนะ จะเอาความคิดมาเถียงกับความรู้ มันคนละเรื่องกัน
ไปอ่านประวัติหลวงปู่มั่น ตอนตอบคำถามสิ ท่านไม่บอกว่า ท่านคิดว่าอย่างนั้น อย่างนี้ ท่านจะตอบว่า ท่าน “เห็น” อย่างนั้น “เห็น” อย่างนี้ ความเห็นมาจากความรู้ แต่ความคิดมาจากความปรุงแต่ง ความรู้นี่ ต้องเป็นความรู้อันเกิดจากจิตสงบตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิ จึงจะเป็นความรู้จริง (ภาษาธรรมเขาเรียกญาณ ยถาภูตญาณทัศนะ)
ถ้าความรู้เกิดจากการศึกษา ความคิด อันนี้ยังไม่ใช่ความรู้ หลวงปู่ชาจึงสอนพระว่า เวลาจะออกไปสอนประชาชน ให้เอาความจริงไปแสดง อย่าเอาความจำไปแสดง เอาความคิด (สังขารขันธ์) มาพิจารณาธรรม อันนี้ถือว่าเป็นความคิดที่ถูกต้อง พิจารณาในเชิงธัมมวิจยะ เห็นอะไรจับเข้าอนิจจังให้หมด อย่างที่หลวงปู่ชาสอน เอากาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เอาอารมณ์ไม่ว่ายินดียินร้ายมาพิจารณาให้เห็นเป็นอนิจจัง ไม่ควรเข้าไปหมายมั่น วางความคิด ความจำ วางตำราทั้งหมด เอาแค่นี้แหละ การปฏิบัติ เมื่อพบจิต รู้แจ้งในจิต มันจะแตกฉานไปเอง จะอัศจรรย์ใจว่า ธรรมะมันมาจากไหนมากมายบันทึกแทบไม่ทัน
อย่างที่เคยบอกพวกท่านไปนั่นแหละ อย่างพระพุทธเจ้า ตอนตรัสรู้ไม่รู้อะไรมากหรอก แต่สี่สิบเก้าวันหลังจากนั้น ที่ท่านทบทวนข้อธรรมนั่นแหละ มันอออมามากมายเหลือเกิน เเหมือนเราเดินทางกลับบ้าน ตอนถึงบ้านก็ไม่รู้อะไรมาก แต่พอเดินไปเดินมาสำรวจบ้าน จึงเห็นว่า เออ! มันมีหน้าต่างกี่บาน ประตู กลอน ห้องนอน พวกเราทุกวันนี้ ยังเดินไม่ค่อยจะถูกกันเลย ก็มานั่งเถียงกันแล้วว่า บ้านหน้าตาเป็นอย่างไร มี่หน้าต่างกี่บาน ประตูกี่บาน คาดเดาไปตามความเข้าใจของตนเอง พระนี่ชอบมาก เอาพระอภิธรรมมาสอนคนที่ปฏิบัติยังไม่ถึงไหนกันเลย ถ้าศึกษาจริงๆ จะเห็นว่า ตอนตรัสรู้ใหม่ๆ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนเรื่องเจตสิก พระอภิธรรมอะไรเลย เพราะเป็นของยาก จนล่วงไปแล้วถึงหกพรรษาหลังตรัสรู้ จึงสอน แม้พระพุทธเจ้ายังบอกเป็นของยากเลย แต่เราก็ชอบถกกัน
เอาของง่ายๆ แค่นี้ก่อน ตาเห็นรูป (ไม่ว่าจะเป็นรูปภายนอกหรือภายใน) เกิดอารมณ์ยินดียินร้าย ให้รู้เท่าทัน ให้หยุดอยู่แค่รู้ หยุดอยู่แค่สติ หยุดด้วยปัญญาที่รู้เท่าทัน เมื่อแยกจิตแยกอารมณ์ เสมือนตาเห็นรูปได้เมื่อใด จะหายสงสัยไปเอง ส่วนความคิด ถ้าคิดเพราะไม่รู้เท่าทันอารมณ์ มันก็คือคิดฟุ้งซ่าน คิดแบบนี้ไม่มีวันจบ ไม่มีวันหยุด พอรูปสัญญา (ความจำเรื่องรูป) อะไรโผล่ขึ้นมา ก็ตะครุบๆ แล้วก็คิดๆๆๆๆ นี่เรียกว่าไม่รู้เท่าทันอารมณ์ (ธรรมารมณ์)
มีผู้นำธรรมะมาลงไว้ว่า จิตมีราคะก็ให้รู้ จิตมีโทสะก็ให้รู้ จิตฟุ้งซ่านก็ให้รู้ นี่คือจิตตานุปัสนนาสติปัฎฐานคือ ให้รู้เท่าทันอาการของจิตที่คิดปรุงแต่งเป็นราคะก็ดี โทสะก็ดี ฟุ้งซ่านก็นดี ก็อันเดียวกันกับเวทนานุปัสนา คือให้จิตอยู่กับ “รู้” อยู่กับสติ
หลายคนไปเข้าใจว่า สติที่แปลว่าความระลึกได้คือความจำ อันนี้เข้าใจผิดมากๆ คนละเรื่องกันเลย ความระลึกได้เรื่องนั้นเรื่องนี้ คือสัญญา ความจำ แต่ความระลึกได้รู้สึกตัวทั่วพร้อมขึ้นมา อันนี้คือสติ
คนทั่วไป (ไม่ใช่กลุ่มนี้) ที่ปฏิบัติแล้วไม่ถึงไหนเพราะไม่เข้าใจคำว่าสตินั่นเอง ที่ผมบอกตั้งแต่แรกๆ เลยว่า เวลามีคนด่าเรา เราก็โกรธ จะด่าตอบแต่มีสตินึกขึ้นได้ว่าคนด่าเป็นเจ้านายเรา อันนี้ไม่ใช่สติ แต่เป็นอารมณ์ (สัญญา) อีกอันหนึ่งที่ซ้อนขึ้นมา ถ้าใช้สติแบบนี้ ไม่มีทางเห็นธรรม รู้ธรรม เขาเรียกว่า เดินมรรคผิด แต่ถ้าเวลาคนด่า เกิดอารมณ์ยินร้าย ไม่ชอบใจ ให้มีสติ ให้รู้สึกทั่วพร้อม แรกๆ ให้หายใจเข้าลึกๆ จะเกิดสติ แล้วก็ใช้ปัญญาให้เห็นว่า อารมณ์ไม่ชอบใจนี่มันไม่แน่ ไม่เที่ยงหรอก เกิดแล้วต้องเสื่อมดับไปแหงๆ อย่างนี้เรียกว่า เดินมรรคถูก นี่คือสัมมาทิฐิ อย่างนี้จะรู้ธรรมเห็นธรรม ถ้าคิดเห็นแบบนี้ มันจะหยุด มันจะจบ อย่างหลังนี่ไม่ใช่ความคิดฟุ้งซ่าน
สมัยก่อน ผมนอนไม่หลับ เอาอาการสามสิบสอง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มาพิจารณาด้วยไตรลักษณ์ จิตก็สงบ ลงไปได้ ถ้าคิดในทางธรรม มันจะหยุด มันจะสงบ เพราะเห็นชอบ คิดชอบ (สัมมาสังกัปปะ) ปลายทาง จิตสงบเป็นสัมมาสมาธิ สตินี่เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนา หลวงปู่มั่นก็กล่าวไว้เช่นนี้
หลวงปู่ชาก็กล่าวไว้ เมื่อมีสติ จิตก็สงบ ความสงบนี่แหละคือสมถะ เมื่อมีสติ ก็จะรู้เท่าทันอารมณ์ว่า มันเกิดแล้วต้องเสื่อม (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) นี่คือวิปัสสนา ดังนั้นอย่าไปสนใจ (ซึ่งผมบอกหลายครั้งแล้ว) ว่าอันไหนสมถวิปัสสนา หลวงปู่ชาเคยดุลูกศิษย์ฝรั่ง เพราะง่วนอยู่กับความเข้าใจสมถวิปัสสนา ท่านบอก ประเดี๋ยวฉันจะทำสมถะ บัดนี้ ฉันจะทำวิปัสสนา ท่านบอกมันก็เหมือนมีดเล่มเดียวกันนั่นแหละ พลิกด้านนี้ก็เป็นสมถะ พลิกอีกด้านก็เป็นวิปัสสนา อย่าไปง่วนกับมันมากเลย สติปัญญานี่แหละคือมีดที่จะฟาดฟันอวิชชา ดังนั้นต้องแยกให้ออกเรื่องความคิดว่า อันไหนเป็นสัมมาความคิด อันไหนเป็นมิจฉาความคิด สัมมาความคิด เมื่อคิดแล้วจิตจะสงบ เรียกว่า สงบด้วยปัญญา มิจฉาความคิดคือ คิดแล้วจิตยิ่งฟุ้งซ่าน ยิ่งสงสัย เพิ่มวิจิกิจฉา ท่านจึงสอนว่า หากจะคิด ให้คิดอยู่ในกายนี้ กายคตาสติ แต่เมื่อปฏิบัติไปจน “รู้” แล้ว ความคิดก็น้อยลงไปเอง จะเห็นอารมณ์มันค้าง พระพุทธเจ้าบอก อารมณ์วิจิตรนั้นมันจะเก้อๆ อยู่ ท่านใช้คำนี้จริงๆ นะ พอตาเห็นรูปเกิดอารมณ์ยินดี จะเห็นอารมณ์นี้มันค้างแล้วดับไป ไม่ใช่อารมณ์ค้างแบบชาวโลกนะ อารมณ์ค้างอย่างหลังนี้คือจิตเสวยอารมณ์ เฝ้าครุ่นคิดอยู่ เอ! กูจะเอามันอย่างไรดีให้มันเจ็บสาหัส อันนี้ไม่ใช่อารมณ์ค้าง แต่เรียกว่า ไม่ยอมให้อารมณ์ดับไปตามธรรมชาติของมัน ไปปรุงแต่งมันต่อ ไปทะเลาะวิวาทกับมัน นี่คือการปฏิบัติที่ตรงที่สุดแล้วนะ
คำว่า อารมณ์ภายนอกนี้ต้องเข้าใจด้วยนะ ไม่ใช่อารมณ์ตาเนื้ออย่างเดียว อารมณ์อันเกิดจากใจสัมผัสกับธรรมารมณ์ใด (สัญญาใดๆ ที่ผุดขึ้นในใจ) ก็จัดเป็นอารมณ์ภายนอกทั้งสิ้น คำว่า ภายนอกคือนอกใจ อารมณ์นี้ถ้าเห็นธรรมจะเห็นว่ามันเกิดอยู่นอกใจทั้งนั้น หลวงปู่ดูลย์จึงใช้คำว่า อารมณ์ภายนอก คำว่า กระทบคือรู้ รู้อาการที่กระทบ อย่างใจกระทบกับรูปหญิงงาม ที่ปรากฏในภายหลังที่มานึกขึ้นได้ รูปหญิงงามนั้นก็คือ อารมณ์ภายนอก นอกใจ นอกจิต นี่คือที่มาของคำสอนหลวงปู่ดูลย์ที่ว่า อย่าส่งจิตออกนอก เมื่อกระทบก็รู้ รู้แล้ววาง ไม่ส่งจิตไปจับอารมณ์ที่มากระทบ เอวัง