ธรรมชาติของอารมณ์ ธรรมชาติของใจ

แสดงธรรม กลุ่มต้นบุญ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2558
ความสุขที่แท้จริงมันอยู่ที่การทำใจให้สงบ ความสุขอย่างอื่นนั้นมันไม่แน่นอนหรอก มันอิงอาศัยวัตถุต่างๆ ภายนอก
เมื่อวัตถุเหล่านั้นแปรปรวนไปแล้ว… ความสุขนั้นมันก็หาย… ส่วนความสุขอันเกิดจากความสงบนี่ ไม่ได้อิงอาศัยสิ่งใด อิงอาศัยแต่ “สติ” กับ “สัมปชัญญะ” นี่แหละ
หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
ความยินดีและความยินร้าย ความพอใจและความไม่พอใจ เป็นเรื่องของอารมณ์ต่างหาก ให้รู้จักแยกจิตออกจากอารมณ์ยอมให้อารมณ์เป็นอารมณ์ ให้จิตเป็นจิต นี่เราจะมีความสบายอยู่ตรงนี้
พระอาจารย์ชยสาโรภิกขุ
ท่านทรงกลด : วันนี้นำคำของครูบาอาจารย์มาลงไว้ก่อน อ่านแล้วจะเห็นว่า หลวงปู่เหรียญสอนเรื่องความสุขที่แท้จริงอยู่ที่การทำใจให้สงบ พระอาจารย์ชยสาโรก็สอนว่า ยอมให้อารมณ์เป็นอารมณ์ ยอมให้จิตเป็นจิต ท่านบอกว่า ให้รู้จักแยกจิตออกจากอารมณ์ ความสุขที่แท้จริงกับการแยกจิตออกจากอารมณ์เป็นเรื่องเดียวกันเลยล่ะ หลวงปู่เหรียญกับพระอาจารย์ชยสาโร ท่านพูดเรื่องเดียวกัน
คนเราทุกวันนี้ไม่พบความสุขที่แท้จริง เพราะไม่ยอมให้อารมณ์เป็นอารมณ์ ไม่ยอมให้จิตเป็นจิต เรียกว่า หลงอารมณ์ หลงอารมณ์ยินดีบ้าง หลงอารมณ์ไม่ยินดีบ้าง คนหลงอารมณ์ หลวงปู่ชาบอกว่าคือ คนหลงโลก ไม่ว่าอารมณ์ยินดี ไม่ยินดี มันก็ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ต้องเสื่อมต้องดับไปเหมือนน้ำค้างบนยอดหญ้านั่นแหละ ไปหลงสิ่งที่ไม่เที่ยง หาสาระแก่นสารไม่ได้ จึงไม่พบความสุขที่แท้จริงเสียที
ความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ไหน อยู่ที่รถใหม่ป้ายแดง บ้านหรูๆ กระนั้นหรือ อยู่ที่สาวงาม หนุ่มหล่อ กระนั้นหรืออยู่ที่ทรัพย์สมบัติเงินทอง กระนั้นหรือ อยู่ที่ชื่อเสียง เกียรติยศ จอมปลอม กระนั้นหรือ อยู่ที่อารมณ์น่ายินดี เพลิดเพลินในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สัมผัส) ธรรมารมณ์ กระนั้นหรือ อยู่ที่เสียงดนตรีเพราะๆ กลิ่นหอมๆ รสอร่อยของอาหาร สัมผัสเย็น นุ่ม อ่อนโยน ปล่อยใจคิดนึกเพลิดเพลินไป กระนั้นหรือ กี่พันกี่หมื่นสุขที่เราเคยสัมผัสในรสสุขที่กล่าวไป กี่พันกี่หมื่นสุขที่ลิ้มรส มันอยู่กับเรากี่นาที ไม่นานก็จางดับไป เหมือนน้ำค้างบนใบไม้ยามเช้า ความสุขที่เราแสวงหาคือ อารมณ์อันน่ายินดี หรือที่เรียกว่า สุข (สุขเวทนา)
เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง เกิดผัสสะ ย่อมเกิดเวทนาตามมาอย่างมิต้องสงสัย รูปสวยก็เกิดสุขเวทนา เสียงด่าก็เกิด ทุกขเวทนา นั่นล่ะคืออารมณ์ยินดี อารมณ์ยินร้าย ถ้าเรายอมให้มันเป็นสักแต่ว่าอารมณ์ เกิดแล้วดับไปเป็นธรรมดา ใจเราก็จะสงบ ไม่วุ่นวายเดือดร้อน
ความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เมื่อตาเห็นรูป เกิดอารมณ์ยินดี ใจเราก็วิ่งเข้าไปตะครุบ พอหูได้ยินเสียงด่า เกิดความไม่พอใจ ใจเราก็วิ่งเข้าไปตะครุบ การเข้าไปตะครุบอารมณ์ ภาษาธรรม เรียกว่า เสวยอารมณ์ แทนที่เราจะปล่อยให้มันเกิดแล้วดับไปเป็นธรรมดา ธรรมชาติของมัน เราเองนี่แหละที่ฝืนธรรมชาติ ธรรมะก็คือธรรมชาติ คนฝืนธรรมะก็คือ คนฝืนธรรมชาติ ผลที่ได้คือความทุกข์อย่างมิต้องสงสัย
การเข้าถึงธรรมะก็คือเข้าถึงธรรมชาติของอารมณ์ ของจิตใจ ธรรมชาติของใจก็คือ เพียงรับรู้ รับรู้อารมณ์ที่เกิด ส่วนธรรมชาติของอารมณ์ เมื่อเกิดแล้วก็ย่อมเสื่อมดับไปเป็นธรรมดา การปฏิบัติธรรมก็คือ การดำเนินจิตให้เป็นธรรมชาติของเดิมของมัน นั่นคือ รู้ ๆ และรู้ การเจริญอานาปานสติ หายใจเข้า รู้ หายใจออก รู้ ก็เป็นการฝึกจิตให้กลับคืนสถานะเดิมของมัน ไม่ให้เที่ยววิ่งไปซุกอารมณ์ใดๆ นั่นเอง
กายคตาสติก็คือ เห็นกายตามความเป็นจริงว่า เป็นของไม่สะอาด สักแต่เป็นธาตุประกอบกัน จะถือเป็นสัตว์ บุคคลได้ที่ไหน
เมื่อเห็นตามจริง ใจก็กลับคืนมาสู่สถานะเดิม ไม่ส่งใจไปหมายไปมั่นในกายคนนั้น คนนี้ หรือ ยืน เดิน นั่ง นอน คู้ตัว เหยียดตัว อิริยาบถต่างๆ ก็ให้อยู่กับรู้ ๆๆ ก็เป็นการดึงจิตกลับมาอยู่กับรู้ที่เป็นสภาวะเดิมของมัน หรือมีสติรู้เท่าทันอารมณ์ที่กล่าวไป ไม่ว่าดีหรือไม่ดี เห็นว่า อารมณ์มันก็เท่านั้นแหละ มาแล้วก็ไป เกิดแล้วดับอยู่อย่างนั้นๆ จะหาแก่นสารอันใดไม่ได้เลย จะหมายมั่นว่านั่นคือเรา คือใครไม่ได้เลย เมื่อจิตเห็นเช่นนี้เนืองๆ จิตก็จะละอารมณ์มาอยู่กับรู้ อยู่กับสติ จิตอยู่กับจิต ปล่อยให้อารมณ์เป็นเรื่องของอารมณ์ จิตเป็นเรื่องของจิต หรือจิตมีราคะก็ให้รู้ มีโทสะ ก็ให้รู้ ก็หลักการอันเดียวกัน ที่กล่าวมาทั้งหมดก็คือ สติปัฏฐานสี่นั่นแหละ แต่อย่าไปให้ความสำคัญกับชื่อของมันเลยว่าอันนี้เรียกอย่างนี้ อันนั้นเรียกอย่างนั้น เอาสาระแก่นสารการปฏิบัติก็พอ
การปฏิบัติตอนนี้ไม่ต้องทำอะไรมาก ให้อยู่กับรู้อย่างเดียว อยู่กับสติ พยายามอย่าไปอยู่กับอารมณ์ให้มาก ให้นานเหมือนเมื่อก่อน คำว่า อารมณ์นี้มีความหมายกว้างมาก ปกติจะแปลว่า ที่อยู่ของใจ (ของปุถุชน) เวทนาก็เป็นอารมณ์ ความยินดี ความยินร้าย นี่คือเวทนา สัญญา ความจำได้หมายรู้ ก็เป็นอารมณ์ เช่น ภาพคนที่พบเมื่อวานผุดขึ้นมาในใจเรียกว่า รูปสัญญา ถ้าเรารู้ทันอารมณ์จริงๆ จะเห็นว่า มันไม่มีอะไร สัญญามันทำหน้าที่ของมันเท่านั้นเอง เหมือนแขกยาม พอตีสามก็ตีระฆังเสียทีหนึ่ง พอดีสี่ก็ตีระฆังเสียทีหนึ่ง มีใครเคยคอยลุกมาดูแขกยามตีระฆังบ้างไหม ไม่มีหรอก เพราะเรารู้ทันว่า แขกยามทำหน้าที่ของเขาเท่านั้น แต่ทำไมเวลารูปสัญญามันทำหน้าที่ โผล่หัวขึ้นมาในจิตเรา เราจึงโผเข้าไปหามันทุกทีล่ะ สังขารก็เหมือนกัน สังขารในขันธ์ห้า หมายถึงความคิดปรุงแต่งไปต่างๆ นานา ความคิดก็เป็นอารมณ์อย่างหนึ่ง เพราะเราชอบจมอยู่กับมัน และหลงไปเห็นว่ามันเป็นตัวเป็นตน เป็นเรา เป็นเขา ถ้าเราเห็นธรรม เราจะเห็นเลยว่า ความคิดก็ความคิด เรา (จิต) ก็เรา มันแยกกันอยู่ ตอนท่านเห็นธรรม ท่านจะเห็นขันธ์ห้าชัดแจ้ง โดยไม่ต้องมีใครมาบอก จะเห็นความสุข ความทุกข์เกิดดับอยู่ นี่เรียกว่า เวทนา จะเห็นรูปสัญญาเกิดดับๆ อยู่ นี่เรียกว่า สัญญา (ความจำได้หมายรู้ทั้งปวง) จะเห็นความคิดทั้งปวงเกิดดับๆ อยู่ นี่เรียกว่า สังขาร จะเห็นสภาวะหนึ่งที่ทำหน้าที่รับรู้ส่งผ่านมาถึงเรา (จิต) เรียกว่า วิญญาณ
ส่วนจิตนี่ก็ไม่มีอะไร เป็นสภาวะที่ว่างเปล่า บริสุทธิ์ ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวไปกับอารมณ์ทั้งปวง มันจะแยกให้เห็นชัด พระโกณฑัญญะท่านไม่เห็นอะไรมากหรอก ตอนได้ดวงตาเห็นธรรม ท่านเห็นแต่อารมณ์ที่ว่าเกิดดับๆ ๆ อยู่เฉพาะหน้า (ในจิต) เท่านั้น
ท่านจึงอุทานว่า สิ่งใดเกิดเป็นธรรมดา สิ่งนั้นก็ดับเป็นธรรมดา คำว่าสิ่งใด สิ่งนั้นก็คือ อารมณ์ทั้งปวงนั่นเอง มันเกิดดับๆ ๆ อยู่ แล้วจะถือว่าเป็นตัวเป็นตนได้ที่ไหน ส่วนจิตท่านก็แยกออกมาตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปกับอารมณ์ดังกล่าว ท่านพบตนเองแล้ว ท่านแยกจิตออกจากอารมณ์ได้แล้ว ต่อไปก็ไม่ยากที่จะนำพาจิตให้พบกับความสุขที่แท้จริง เพราะท่านเห็นชัดแล้วว่า อะไรคืออารมณ์ อะไรคือจิต ท่านเห็นชัดแล้วว่า อารมณ์จะถือเป็นเรา ของเราไม่ได้ จิตท่านก็ไม่เอาอารมณ์
พอพระพุทธเจ้าแสดงธรรมเรื่องอนัตตลักขณสูตร พระองค์ชี้ให้เห็นว่า ขันธ์ห้าหรืออารมณ์ทั้งปวง ไม่เที่ยง หาแก่นสารตัวตนไม่ได้เพราะเกิดแล้วเสื่อมดับอยู่ตลอดเวลา จะเอาตัวตนที่แท้มาจากไหน (อนัตตา) ควรหรือจะพึงหมายมั่นว่านั่นคือของเรา จิตของปัญจวัคคีย์ (ตอนนั้นบรรลุโสดาบันคือ แยกจิตกับขันธ์ห้าได้แล้ว) เห็นตามที่พระบรมศาสดาแสดง จิตท่านก็ละขันธ์ห้า ถ่ายถอนความยึดมั่น เบื่อหน่าย คลายกำหนัดและหลุดพ้น บรรลุอรหัตผลไปด้วยกันหมดทุกรูป บรรลุความสุขที่แท้จริง นิพพานัง ปรมัง สุขัง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง
ในตอนนี้ ให้เราพยายามแยกอารมณ์ออกจากจิต แยกจิตออกจากอารมณ์ด้วยสติ ด้วยการรู้เท่าทันลมหายใจเข้า ออก รู้เท่าทันกาย รู้เท่าทันอารมณ์ สตินี่แหละเป็นเครื่องแยกจิตออกจากอารมณ์ พระพุทธเจ้าบอกว่า สติเป็นเครื่องกางกั้นกิเลส