ถาม-ตอบ

ที่มาของหนังสือกว่าจะถึงกระแสธรรม และ กรรมเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

แสดงธรรมกลุ่ม Natural Mind  เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2558

 

ท่านทรงกลด :  มีน้องผู้พิพากษาคนหนึ่ง ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม โทรศัพท์มาถามเรื่องธรรมะเหมือนกันแปลกอยู่เพราะปกติท่านไม่สนใจเรื่องพวกนี้เลย ท่านถามเรื่อง ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ก็อธิบายให้ฟัง ท่านสนใจมาก เลยบอกให้ไปหาสติปัฏฐานสี่อ่านก่อน คนที่มีของเก่า เมื่อใช้ชีวิตทางโลกไประยะหนึ่งจะหันกลับมาถามตนเองว่า เรา (กู) เกิดมาเพียงแค่นี้หรือ เกิด เรียน ทำงาน แต่งงาน แสวงหาทรัพย์ ชื่อเสียง ความสำเร็จ มีลูก เลี้ยงลูกหลานแล้วตาย พระพุทธเจ้าเรียกคนเหล่านี้ว่า โมฆบุรุษ ข้างนอกฉลาดรู้หมด แต่ข้างในไม่รู้อะไรเลย สนุกสนานไปวันๆ แป๊บเดียวห้าสิบ หกสิบ แปดสิบแล้ว

หนังสือ “ชีวิตนี้น้อยนัก” (สั้นนัก) พระนิพนธ์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช อ่านแล้วจะไม่ประมาทเลย หนังสือของผมนี้ผมก็ใช้ใจนำทางไป มีคนช่วยพิมพ์ส่งมาให้หลายคน เพราะที่ผมเก็บไว้ มันหายไปหมดเลย ต้องไปค้นย้อนขึ้นไปบ้าง ไม่มีใครเก็บโน้ตไว้เกี่ยวกับธรรมที่แสดง  แต่ในกลุ่ม Natural Mind และกลุ่มต้นบุญเขาเก็บโน้ตไว้ เลยง่ายหน่อย 

คนที่ไม่ชอบความวุ่นวายนี้ถือว่า มีวาสนาทางธรรมอยู่ พระยสะก็เดินท่องว่า ที่นี่วุ่นวายหนอๆ เห็นไหม ท่านก็แสวงที่จะหาทางออกจากความวุ่นวาย  นี่ถ้าเป็นพระจะหนีขึ้นเขา เร่งความเพียรให้บรรลุอรหัตผลไปเลย จะได้กลับลงมาเป็นเนื้อนาบุญให้แก่พวกท่าน พวกท่านจะได้ธรรมยิ่งกว่านี้ ลึกซึ้งกว่านี้ พูดถึงความลึกซึ้งของธรรมนี้ผมก็ไม่รู้ตัวหรอก ส่งบางอย่างไปให้ลูกน้องเก่าช่วยพิมพ์ เขาบอกว่า ลึกซึ้งจังเลยท่าน บ้างก็บอก อ่านไม่รู้เรื่องเลย ผมก็ว่า มันไม่มีอะไรนะ มันธรรมดามากๆ เลย ไม่เห็นจะลึกซึ้งตรงไหน ถ้าคนปฏิบัติมา จะเห็นเป็นของไม่ยาก เป็นของง่าย อย่างที่หลวงปู่ชาบอก เมื่อคนธรรมดาเห็น เขาจะกลายเป็นมุนี เมื่อมุนีเห็น จะเป็นธรรมดา 

สติปัฏฐานสี่ในชีวิตประจำวัน บทแรกจะปูพื้นฐานธรรมก่อน ขันธ์ห้าคืออะไร ประมาณนี้ สติปัฏฐานสี่คืออะไร หนังสือเล่มนี้ ภาษาที่ใช้ง่ายๆ บ้านๆ ครับ เป็นภาษาพูด เหมือนคนเขียนพูดกับคนอ่านสองต่อสอง  บอกแล้ว ผมเขียนหนังสือไม่เป็น ให้ใจมันนำทางไปเท่านั้นเอง มีทั้งหมดสี่ตอน ให้ความรู้เบื้องต้นที่จำเป็นต่อการปฏิบัติ จะไม่พูดถึงเจตสิก นิพพาน ปฏิจะ อิทปอิทับ จะพูดว่า ธรรมะคืออะไร ทำไมต้องปฏิบัติ ปฏิบัติอย่างไร เน้นชีวิตประจำวัน 

แม่ค้าขายผักเมื่อมาอ่านหนังสือเล่มนี้ วางหนังสือแล้ว ภาวนาได้ทันที เอาแนวทางการปฏิบัติเป็นหลัก ถ้าคนอ่านทำจริง เขาจะเจอ เชื่อไปเอง คนสมัยนี้เชื่อยากครับ บอกนรกสวรรค์มี มีใครเชื่อบ้าง บอกนิพพานมีจริง มีใครเชื่อบ้าง บอกชีวิตไม่แน่นอนนะ รีบพากันปฏิบัตินะ มีใครเชื่อบ้าง บอกเทวดา พรหม เขามีจริงๆ นะ สัตว์นรกมีจริงๆ นะ วิญญาณมีจริงๆ นะ มีใครเชื่อบ้าง จิตใจคนสมัยนี้ เขาคิดว่า ตนเองเรียนมาก รู้มาก อ่านมาก เขาไม่เชื่ออะไรง่ายๆ  ให้เขาปฏิบัติเจริญสติ พอจิตสงบ ไม่ต้องมีใครมาบอกหรอก เพราะจิตเขานั่นแหละเห็นด้วยตนเอง ต้องระวังเหมือนกันนะ ยิ่งเป็นผู้พิพากษา เหมือนดาบสองคม ถ้าเขียนเรื่องแบบนั้นออกไป นั่งภาวนาเห็นใครคิดอะไร ใครบริสุทธิ์ ไม่บริสุทธิ์ เดี๋ยวจะมีคนมาโจมตี บอก เอ ! เวลาตัดสินคดี ใช้วิธีนั่งภาวนาดูหรือเปล่านี่ จำเลยผิดจริง ไม่ผิดจริง ไม่ได้ดูจากพยานหลักฐานนี่ ดูจากการภาวนา ถ้าเกิดจิตมันบอกผิดล่ะ จึงพยายามเลี่ยงครับ เอาแนวทางการพ้นทุกข์ดีกว่า สิ่งลึกลับเป็นน้ำจิ้ม เป็นทางผ่าน  ถ้าเขาอ่านแล้วเชื่อ ปฏิบัติ เจริญสติ เห็นบาปบุญคุณโทษมีจริงจะดีกว่าเชื่อ เพราะเราบอกว่าสิ่งลึกลับมีจริง จริงๆ มันก็ไม่ลับหรอก เพียงแต่เราปฏิบัติยังไม่ถึงเท่านั้นเอง เมื่อถึงแล้วที่ลับมันก็ไม่ลับหรอก ให้เขาสนใจการปฏิบัติก่อนดีกว่า 

ความเห็น (ญาณ) ที่จิตเขาไปเห็นตอนเจริญภาวนา ไม่ว่าจะเป็นจิตตัวเอง หรือเห็นอะไรก็ตาม จะดีกว่าความเชื่อ ความเชื่อเปลี่ยนแปลงได้ ไม่แน่นอน วันนี้เชื่อ พรุ่งนี้อาจไม่เชื่อแล้ว

ผู้พิพากษากับการวางใจเป็นกลางนี่สำคัญมาก อาชีพนี้จำเป็นต้องปฏิบัติธรรมอย่างยิ่ง ขอบอก เวลาจำเลยได้รับโทษทัณฑ์ จิตเราจะพลอยยินดีไปด้วยไม่ได้เลยนะ เวลาต้องยกฟ้อง จิตเราจะพลอยยินร้ายไม่ได้เลยเหมือนกัน เอาง่ายๆ อย่างพระอาจารย์จวนที่เครื่องบินมาตกละสังขาร ที่เคยเล่าให้ฟังไป ชาติหนึ่ง เคยเกิดเป็นลูกชาวนา ช่วยเอากิ่งไม้แหย่รังนก ลูกนกตกมาตาย น้องสาวคนหนึ่ง ปรบมือดีใจ กรรมเพียงแค่นี้ทำให้นางต้องมาพลอยร่วมเฮลิคอปเตอร์ลำที่มาตกกับพระอาจารย์จวนด้วย

ผู้พิพากษา วันหนึ่งตัดสินกี่คดี ทำใจกลางๆ ได้สักกี่คน การวางใจเป็นกลางนี่จึงสำคัญที่สุด การมีสติรู้เท่าทันอารมณ์ยินดียินร้ายนั่นแหละ ที่ต้องนำมาใช้อย่างยิ่งสำหรับอาชีพนี้ บางท่านบอก แหม ! ไอ้นี่มันโหด อย่าให้ตกถึงมือฉันนะ ประหารแน่ๆ ชะรอยเจ้านั้นชะตาถึงฆาต ตกถึงมือท่านที่เปรยจริงๆ สุดท้ายประหาร เรื่องกรรมเป็นเรื่องละเอียดอ่อน อย่าไปดูถูกกรรมเล็กกรรมใหญ่ 

ขอยกตัวอย่างเรื่องกรรมเรื่องหนึ่งคือ มีคนไปยั่วอารมณ์พระสารีบุตรเพราะเขาได้ยินคนบอกกันมาว่า พระสารีบุตรไม่โกรธจึงลองไปยั่วอารมณ์ดู ว่าแล้วไปตีหลังพระสารีบุตรดังพลั่ก พระสารีบุตรโกรธไหม ในพระไตรปิฎกบอกท่านไม่โกรธ แต่ผมเห็นว่า ท่านโกรธนะ แต่จิตท่านไม่เข้าไปยุ่งกับความโกรธนั้น เมื่อไม่ยุ่ง มันก็ดับไปชั่วพริบตาจึงดูเหมือนไม่โกรธ คนตีเห็นเช่นนั้น ก็คิดว่า โอ้ ! เราทำกรรมหนักเสียแล้ว เข้าไปกราบขอขมา พระสารีบุตรก็อโหสิกรรมให้ จริงๆ กรรมมันไปแล้ว  คนตีนี่โง่มากๆ ทางโลกคงมองว่า เขาเก่ง  ตีพระอรหันต์ได้   จะเอากันไหม ความเก่งแบบนี้ หรืออย่างพวกนักหนังสือพิมพ์บางคน ด่าว่าหลวงตามหาบัว ตายไป ก็ลงข้างล่างหมด คนพวกนี้ทางโลกเขาอาจจะยกย่องกันในหมู่นักหนังสือพิมพ์ เขียนดีเหลือเกินแต่ทางธรรมนี่ โง่มากๆ (อันนี้ฟังมานะครับ) เคยมีคนนั่งสมาธิไปดูว่า อาชีพไหนตกนรกมากที่สุด เขาบอกนักการเมืองกับนักหนังสือพิมพ์เพราะเขียนขาวเป็นดำ ดำเป็นขาว  

วันนี้มาพูดถึงหนังสือว่ามีอะไรบ้าง ส่วนแรกก็เป็นพื้นฐานธรรม ส่วนที่สองก็เป็นประสบการณ์ธรรม ทั้งวัยเด็ก วัยแก่ ลำดับการเจริญในธรรม จนถึงพลิกโลกออกมาเป็นธรรม  ส่วนที่สามก็เป็นข้อธรรมต่างๆ ที่ออกมาจากจิต  ส่วนที่สี่เป็นเรื่องการแสดงธรรม ธรรมที่แสดงไป เอาเท่าที่ได้เพราะที่เก็บไว้ หายหมด  อาจจะมีแทรกเรื่องลึกลับไปบ้าง ทั้งภายในและภายนอก  ให้คนสงสัยเล่นว่า เอ ! จริงเร้อ  ผมจินตนาการว่า กำลังเขียนหนังสือให้แม่ค้าขายผักอ่าน พยายามใช้ภาษาง่ายๆ บ้านๆ แบบหลวงปู่ชาสอนญาติโยม เรื่อง สติปัฏฐานสี่ก็ใช้ภาษาง่ายๆ แต่เมื่อนำไปทำแล้วจะได้ผล เห็นผลเร็ววัน  เรื่องหนังสือก็ขอเล่าไว้แค่นี้