ถาม-ตอบ

ทำให้มาก อย่ามัวแต่ถาม

แสดงธรรม กลุ่ม Natural Mind เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2558

 

ผู้ปฏิบัติ : ท่านทรงกดดฝึกมากี่ปีแล้วครับ

ท่านทรงกลด :  ประมาณเก้าปีครับ  มาเอาจริงเอาจังช่วงปี 2554 2555  ก่อนหน้าก็ไปมาทุกสำนัก  แต่ตอนนี้แค่เห็น  ” บ้าน” ยังไม่ถึงบ้าน กำลังเดินทางครับ

ผู้ปฏิบัติ : จากสภาพจิตที่เล่า ท่านไปได้ไกลมากน่าอิจฉา ยินดีด้วยครับ

ท่านทรงกลด :  หนังสือหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ชา และหลวงปู่เทสก์ ช่วยได้เยอะมากครับ

ผู้ปฏิบัติ : เห็นรูป นาม เห็นสังขาร เห็นความคิด ใกล้จะทำลายวงจรปฏิจจสมุปบาทได้แล้วมั้ง

ท่านทรงกลด :  ยังไม่ไกลเท่าใดครับ แต่ยืนยันได้ว่าพวกเราทำได้ทุกคน

ผู้ปฏิบัติ : ละสังโยชน์ 3 ได้ยังครับ

ท่านทรงกลด : โห !  ถามตรงเลยนะครับนี่

ผู้ปฏิบัติ : ผมก็หยั่งงี้แหละ ท่านก็เห็น  ไม่อาบัติหรอก

ท่านทรงกลด : มันเป็นปัจจัตตัง  แต่พอจะอธิบายเรื่องสังโยชน์สามได้

ผู้ปฏิบัติ : งั้นเอาเลย  ขอฟังแบบภาษาท่าน

ท่านทรงกลด : เมื่อไปถึงตรงนั้น จิตท่านจะมีลักษณะดังนี้  จะเห็นรูป  นาม ขันธ์ห้า อารมณ์ทั้งปวงไม่ใช่เรา อีกต่อไป  เพราะว่า ท่านได้พบ “ตน” ที่แท้จริงแล้ว  คือ เห็นจิต  เห็นอารมณ์แยกออกจากจิต  คำว่า สักกายทิฏฐินี้  ไม่ใช่เห็นกายไม่ใช่เรา  นั่นเป็นเบื้องต้น  สักกาย คือ เห็นขันธ์ห้าเป็นตัวเป็นตน ฟังไว้เป็นฉันทะ ไว้เป็นศรัทธา ความเห็นตรงนี้หมดลง วิจิกิจฉาก็หมดไปด้วย   ที่เคยคิดสงสัยว่า เราคือใครกันแน่ ขันธ์ห้าคือเรา เราคือขันธ์ห้าหรือไม่ หมด เพราะเห็นแล้ว  แม้พระพุทธเจ้า สมัยตรัสรู้ใหม่ ๆ ท่านยังรำพึงเลยว่า เออ ! เรานี่ หลงตามรอยโคมานาน หลายกัลป์ แม้ชาตินี้ออกบวชแล้วยังเดินตามรอยโค โดยหลงเข้าใจว่าเป็นโคอยู่อีกตั้งหกปี รอยโคคือ อารมณ์ โคคือ จิต หรือสมัยพุทธกาล มีมานพกลุ่มหนึ่งเที่ยวไล่ตามหญิงโสเภณีเพราะขโมยของไป วิ่งตามหญิงจนมาพบพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าถามว่า พวกท่านจะตามหญิงโสเภณีหรือตามหาตน มานพเหล่านั้นตอบว่า หาตนพระเจ้าข้า พระองค์ก็เทศน์ให้ฟังจนมานพเหล่านั้น พบ “ตน” เลยเลิกตามหาหญิงอีกต่อไป

ทีนี้ สังโยชน์ข้อที่สาม ท่านอาจจะฟังแล้วไม่เหมือนที่เคยได้ฟังมา ตามตำราสังโยชน์ข้อนี้คือ การละการกราบไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเครื่องรางของขลัง นั่นก็มีส่วนถูกอยู่ แต่ที่เห็น มันเป็นอย่างนี้ครับ

สีลัพพตปรามาส แปลตรงตัวคือ การลูบคลำศีลและพรต คือ จะเลิกลูบคลำศีล (ศีลห้า) แต่ก่อนถือบ้าง ไม่ถือบ้าง พอมาถึงตรงนี้ มันจะถือโดยอัตโนมัติ เรียกว่า ศีลวิรัติ เพราะว่าเมื่อเห็นแล้วว่า ขันธ์ห้าจะถือเป็นเรา เขาไม่ได้ แล้วจิตที่คิดจะไปฆ่า หรือเบียดเบียนด้วยเจตนามันก็หายไป และขนาดอารมณ์ ขันธ์ห้ายังไม่ใช่เรา ของเราเลย แล้วเราจะไปลักทรัพย์คนอื่นทำไม มันเลิกด้วยจิตไปเอง  ผิดลูกเมียก็เหมือนกัน  หรือการโกหกด้วยเจตนานี้ ส่วนใหญ่เราโกหกเพราะต้องการปกปิดการกระทำของตัวเอง หรือเพื่อความสบายใจของตัวเอง ก็ในเมื่อตัวเอง (คือขันธ์) มันไม่มีแล้ว จะโกหกไปทำไม เลิกเองโดยอัตโนมัติ  นี่คือ การมุสา แต่การพูดจาเสียดสี พูดคำหยาบ นี่ยังมีอยู่ ตามอุปนิสัยแต่ละคน ดูหลวงตามหาบัว เห็นไหม ท่านด่าไฟแลบ แต่จิตท่านไม่หมายมั่นในอารมณ์หรือคำด่าด้วย  อันสุดท้ายคือ การดื่มเหล้า อันนี้ ยากที่จะอธิบายเหมือนกัน ส่วนใหญ่เราดื่มเหล้าเพื่อบันเทิงบ้าง เพื่อหนีทุกข์บ้าง ก็เห็นอยู่แล้วว่า อารมณ์บันเทิงก็ดี อารมณ์ทุกข์ก็ดี ไม่ใช่เรา เราจะกินไปทำไม แต่ต้องดูด้วยความระมัดระวัง อย่างพระจี้กง ท่านดื่มเหล้า หรือหลวงปู่แหวน ท่านสูบบุหรี่ หรือหลวงปู่มั่น ถ้าอ่านประวัติ ท่านก็สูบบุหรี่ กายท่านเสพ แต่จิตไม่ได้เสพด้วย นี่คือ สีลหรือศีล

ทีนี้มาเรื่องของพรต พรต คือ ข้อปฏิบัติ เลิกลูบคลำพรต คือ เลิกลูบคลำข้อปฏิบัติ แต่ก่อนไปสำนักโน้นบ้าง สำนักนี้บ้าง  ใช้วิธีภาวนาแบบนั้นบ้าง แบบนี้บ้าง ปฏิบัติบ้าง  ไม่ปฏิบัติบ้าง พอเห็นตรงนี้ มันหมด เลิกไปหาสำนักโน้น สำนักนี้ เพราะจิตมันจะปฏิบัติเองโดยไม่ต้องบอก มันมีสัมมาทิฏฐิแล้วนี่ การได้ดวงตาเห็นธรรมกับสัมมาทิฏฐินี่อันเดียวกัน เป็นโลกุตรมรรคแล้ว เหมือนคนหลงทาง เดินตามมรรคที่พระพุทธเจ้าบอก เมื่อมาถึงปากทางเห็นบ้าน ก็รู้ว่าไม่หลงแล้ว จะเดินเร็ว เดินช้า ก็ไม่เกินเจ็ดชาติ จิตมันเลิกลูบคลำข้อปฏิบัติที่ทำให้พ้นทุกข์

ท่านเคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมสัมมาทิฏฐิจึงมาก่อนสัมมาสติ โดยเฉพาะสัมมาสมาธิ ทำไมอยู่ข้อท้ายสุดในอริยมรรคมีองค์แปด  แต่ก่อนผมก็ไม่เข้าใจ เอ ! พระพุทธเจ้าบัญญัติผิดหรือพระอรรถาจารย์บัญญัติผิด อริยมรรคนี่เหมือนรถไฟ สัมมาทิฏฐิคือ หัวขบวน คำว่า องค์ คือ ตามๆ กันไป เหมือนบทละคร องก์ที่หนึ่งมาก่อนองก์ที่สอง เมื่อเห็นตรงนี้ถึงเข้าใจ เพราะเมื่อมีความเห็นชอบ เห็นว่าขันธ์ห้า อารมณ์ไม่ใช่เรา ของเราจิตมันจะออกจากกามโดยตัวมันเอง

แก่นของการปฏิบัติคืออะไร เช่น มีคนด่า มีผัสสะ เกิดอารมณ์ยินร้าย ถ้าจิตเห็นว่า อารมณ์ยินร้ายนั้นจะถือเป็นของเราไม่ได้ก็เป็นสัมมาสังกัปปะ เมื่อตาเห็นรูปสวยงามเกิดอารมณ์ยินดี จิตไม่เข้าไปฉวยคว้า ด้วยเห็นว่า อารมณ์นั้นจะถือเป็นของเราไม่ได้ นี่คือ สัมมาสังกัปปะ จากนั้นวาจาก็ชอบ การงานชอบ อาชีพชอบไปเอง เมื่อทำด้วยความเพียร ก็จะเกิดสติขึ้นเอง เป็นสติชอบ ท่านสังเกตดู สัมมาวายาโมมาก่อนสัมมาสติ สติจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติเป็นอัศจรรย์ เมื่อดำเนินไปเรื่อยๆ มรรคก็จะรวมกันเป็นสัมมาสมาธิ หรือเรียกว่า มัคสมังคี นี่คือ แผนที่การเดินทางกลับบ้านของพวกเรา

ทีนี้กลับมาที่คำถาม  แก่นของการปฏิบัติอยู่ที่สติปัฏฐานสี่ สติในทางโลกกับทางธรรมไม่เหมือนกันด้วยนะครับ เช่น มีคนด่าเรา เราจะด่าตอบ แต่มีสตินึกขึ้นได้ว่า คนที่ด่าเราเป็นหัวหน้า เราเลยไม่ด่าตอบ อันนี้ไม่ใช่สติ แต่เป็นความคิด เป็นอารมณ์อีกอันหนึ่ง เป็นสติทางโลก

ถ้าเป็นสติในทางธรรม พอเขาด่าเรา ให้สังเกตเห็นว่า อารมณ์ยินร้ายเกิด ให้มีสติรู้เท่าทัน ขณะนั้นให้จิตอยู่กับ “รู้” ขณะเดียวกันก็ให้พิจารณาให้เห็นว่า อารมณ์ที่เกิด เมื่อเกิดแล้วก็ต้องเสื่อมไปเป็นธรรมดา อย่าเข้าไปหมายมั่นในอารมณ์

หลวงปู่ชาบอก มันจะเร็ว  เร็วมาก เมื่อเราไม่หมายมั่นในอารมณ์ เพราะเห็นว่า มันก็เป็นอย่างนั้นเอง อารมณ์จะหมดความสำคัญไปเรื่อย ๆ เขาเรียกว่า หมดอำนาจ สติและจิตจะมีอำนาจมากขึ้นเรียกว่า อินทรีย์แก่กล้าคือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา    ระหว่างวัน ท่านเจออารมณ์เป็นล้าน  แรก ๆ จะไม่รู้เท่าทัน ต้องเพียร บางคนเลิกกลางคัน บอกสู้ไปนั่งหลับตาภาวนาให้จิตรวมไม่ได้ มีความสุขกว่า แล้วก็ติดอยู่ในนั้น

นอกจากนี้ ท่านต้องเจริญกายานุปัสสนาด้วยคือ เราจะตีเมือง ชิงเอาเมืองที่อวิชชายึดครองอยู่นี้ ต้องเข้าตีทั้งสี่ด้าน นั่นคือ กลางคืน ท่านอาจจะพิจารณากายบ้าง เป็นการเจริญกายคตาสติ หรือหายใจเข้า รู้ หายใจ ออก รู้ จะเดิน ยืน นั่ง นอน ก็ให้อยู่กับรู้ ขณะเดียวกัน ถ้าไม่รู้เท่าทันอารมณ์ จิตเผลอเข้าไปปรุงแต่งเป็นราคะบ้าง โทสะบ้าง ต้องดึงจิตให้กลับมาอยู่กับรู้ นี่เป็นจิตตานุปัสนาสติปัฏฐาน ส่วนธรรมมานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้ต้องโอปนยิโก เช่น เห็นใบไม้ร่วง ไปงานศพ ก็น้อมเข้ามาพิจารณาให้เห็นว่า ร่างกาย อารมณ์ของเราก็เหมือนกัน นี่เป็นธรรมานุปัสสนา แต่ไม่ต้องเน้นมาก ธรรมานุปัสนามันจะทำงานด้วยตัวมันเอง ต่อเมื่อแยกจิต เห็นจิตได้แล้ว  มันจะเอาอารมณ์ที่เห็นมาพิจารณาด้วยไตรลักษณ์โดยอัตโนมัติ

ถ้าไปอ่านสติปัฏฐานสี่ จะเห็นว่า พระพุทธองค์ทรงสอนว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นกายในกายบ้าง เห็นเวทนาในเวทนาบ้าง เห็นจิตในจิตบ้าง ท่านทรงสอนให้ “ทำให้มาก” จุดหมายก็คือ ทำอย่างไรให้จิตรวมตั้งมั่นอยู่กับสตินั่นเอง เมื่อเห็นอารมณ์แยกออกจากจิต เกิดสัมมาทิฏฐิที่เป็นโลกุตรมรรคแล้วเวลาจิตเห็นความโกรธ สติมาแล้ว ถ้าโกรธเล็กๆ มันจะดับเอง เพราะไม่ปรุงต่อ แต่ถ้าโกรธใหญ่ๆ กำลังสติไม่พอ ความคิดใหญ่กว่าจะลากออกไปอยู่กับความคิดแล้วปรุงจนเป็นไฟ จะดับก็ด้วยอนิจจังของมันเอง สติปัฏฐานสี่ก็จะถูกวางลงโดยอัตโนมัติ แรก ๆ จะใช้เวลานาน นานมากในการพิจาณา

ธัมมวิจยะ ในสัมโพชฌงค์เจ็ด นี่ก็แปลผิดกันไปเลย ไปแปลว่า การเลือกเฟ้นวิจัยธรรมคือ การวิจัยธรรมด้วยไตรลักษณ์  ปกติความโกรธนี่มันเกิด มันก็ดับทันที เร็ว ๆ มาก แต่ที่ไม่ดับ เพราะเราไม่ยอมให้ดับ ปุถุชน จิตจะเข้าไปฉวยคว้าโดยอัตโนมัติเพราะเห็นผิด เห็นว่านั่นคือเรา ของเรา เข้าไปยึด แล้วปรุงแต่ง เหมือนไฟจะดับ  ไม่ยอมให้ดับ เติมเชื้อ ๆ เข้าไป ช้ามากทีเดียวกว่าจะดับ ปล่อยให้มันเผาผลาญใจอยู่หลายวัน   พระโสดาบันนี้ก็มีอยู่เหมือนปุถุชนแต่เขาจะใช้เวลาไม่มากเท่าปุถุชน  ส่วนพระสกิทาคามีนี้ก็ช้า แต่ยังเร็วกว่าพระโสดาบัน   ส่วนพระอนาคามีไม่ต้องใช้เวลาเลย เกิดแล้วดับอยู่ตรงนั้น เขาเรียกว่า อารมณ์มาไม่ถึงจิต พระอนาคามีจึงละราคะ โทสะได้

จริง ๆ ผมยังไปไม่ถึงตรงนั้นหรอก แต่เมื่อเราเดินทางมาถึงทางเข้าบ้านก็จะเห็นทางที่จะกลับบ้านทั้งหมด ผมเคยพิจารณาอารมณ์ จนจิตถอยห่างออกมา อารมณ์มาไม่ถึงจิต เกิด ดับ อยู่ข้างนอก ตรงนั้นสงบ สุขมาก ไม่ใช่ฌานด้วย แล้วกลับออกมา  หลวงปู่ชาบอก มันยังไปไม่ได้ ต้องออกมา ศึกษา (เสข) ก่อน

ฝากไว้อีกข้อหนึ่ง เห็นใจคือ เห็นธรรม ถึงใจคือ ถึงธรรม เอวัง