ฉลาดเรื่องอารมณ์

แสดงธรรม กลุ่ม Natural Mind เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558
ท่านทรงกลด : วันนี้ขออนุญาตพูดเรื่องโลกสองใบ และหากมีเวลาจะขออนุญาตพูดเรื่องสัมมาทิฏฐิซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เป็นหลักธรรมที่ทำให้ถึงธรรม
ผู้ปฏิบัติ : โลกสองใบคือ ใบหนึ่งที่ผมสงบแบบลืมตา เคลื่อนไหว กับอีกใบที่ฟุ้งซ่าน มันอยู่ด้วยกัน ขึ้นอยู่กับว่า ผมจะอยู่ใบไหน ถ้าช่วงไหนจิตใจสงบตั้งมั่น เงียบในความเคลื่อนไหวได้นานๆ เวลาโผล่ออกไปโลกอึกทึก ฟุ้งซ่าน ผมจะสามารถกระโดดกลับมาโลกใบที่สงบเงียบได้ เรียกว่า สงบเงียบแม้เคลื่อนไหว
ท่านทรงกลด : เมื่อหลายปีก่อนผมก็เคยเป็นแบบนี้ นั่งอยู่ในป่า เสียงจักจั่น เรไร ร้องระงม นั่งเล่นๆ อยู่ เอาความรู้สึกไปไว้ที่ท้อง โลกเงียบสงัด เสียงจักจั่น เรไร เงียบหมด พอโผล่ออกมา เสียงก็ดังเหมือนเดิม บางทีนั่งดูละครด่าว่ากัน จิตมันคงเบื่อมั้งเข้าไปสงบอยู่ข้างใน เหมือนอยู่ในโลกอีกใบหนึ่ง เสียงละครเงียบหมด เห็นแต่ภาพ ถ้าทำต่อไปๆ เรื่อย ๆ จะชำนาญ ภาษาปริยัติเขาเรียก วสี
ท่านอย่าโกรธผมนะ ถ้าผมจะบอกว่า นั่นคือ สภาวะที่จิตหนีอารมณ์มาอยู่ในโลกอีกใบหนึ่ง แต่ที่ท่านทำได้ขนาดนี้เป็นเรื่องน่าสรรเสริญ มันแสดงให้เห็นว่า ท่านเคยฝึกมามากเพราะคนที่จะทำได้ขนาดนี้ มีไม่มาก เมื่อจิตท่านเข้าไปติดในโลกใบนี้จนชำนาญ จิตท่านจะแสดงอิทธิฤทธิ์ล่ะ จะเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้า เห็นภาพนิมิต จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง บางทีสามารถรู้วาระจิตคนอื่น บางคนก็ส่งจิตออกท่องเที่ยวได้ ท่านหรือท่านอื่นๆ มี “ของเก่า” มาไม่น้อยเลย และส่วนใหญ่ผู้พิพากษาก็เคยฝึกสมาธิมาแล้วทั้งนั้น สมอง ความจำ จึงดีกว่าคนอื่น ทั้งเคยบวชเรียนในพุทธศาสนามาแล้วทั้งสิ้นมาในชาตินี้จึงสนใจหาทางพ้นทุกข์กันอีก
เรื่องการปฏิบัติ พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนให้หนีอารมณ์นะครับ ท่านสอนให้รู้เท่าทันอารมณ์ ให้เห็นอารมณ์ไม่ว่าดีหรือร้ายตามความเป็นจริง ท่านสอนให้ฉลาดในเรื่องอารมณ์ เมื่อเห็นอารมณ์ตามความเป็นจริงว่า จะถือเป็นเรา ของเราไม่ได้ จิตก็จะละ จะวางไปเองโดยไม่ต้องบังคับ
ผู้ปฏิบัติ : ผมแค่รู้สึกว่า ตัวเองสามารถถอยออกมาจากโลกได้อย่างน้อยหนึ่งก้าวคือ อารมณ์เข้ามาน้อยลง หรือหมดไวขึ้น ถ้าฟลุคๆ มันจางและหายตรงนั้นเลย ผมถึงเชื่อหมดใจจากประสบการณ์ว่า พระพุทธเจ้าท่านมีจริง ท่านของจริง เพราะลูกศิษย์ท่านสอนให้เรารู้ได้
ท่านทรงกลด : สาธุครับ ที่ท่านเดินมาไม่ผิดนะ ท่านจะเห็นแล้วว่า ท่านสามารถออกจากการครอบงำของอารมณ์ได้ มันเป็นทางผ่านของนักปฏิบัติก่อนที่จะเห็นธรรม ตอนนี้จิตเรียนรู้แล้วว่า อารมณ์ไม่น่าจะเป็นจิตล่ะ เพราะมันถอยห่างออกมาได้ แต่ยังไม่เห็นขาด
ผู้ปฏิบัติ : ใช่ครับ มันรู้ว่าเผลอ ความคิดมา แล้วแป๊บเดียวก็กระเพื่อมเป็นทอดๆ มาถึงกายเลย ความจริงการปฏิบัติธรรมนี้สนุกดีนะ แต่ละวันไม่เหมือนกัน ชนะบ้าง แพ้บ้าง แต่ส่วนใหญ่แพ้ครับ
ท่านทรงกลด : แรกๆ จะแพ้ก่อน แต่ถ้าเราสู้กับมันไม่ท้อถอย วันหนึ่งก็ต้องชนะแต่ถ้าไม่สู้ เราก็ตกเป็นทาสของอารมณ์ไปจนตาย ตายแล้วก็ยังเป็นทาสมันอีก ความจริงมีคนปฏิบัติได้แบบท่าน พอทำต่อไปจนหูดับ เข้าในคล่อง คราวนี้ก็จะติด พอมีอารมณ์เกิด จะหนีเข้าไปสงบเงียบอยู่ บางทีแทบไม่ต้องกำหนด หลายคนติดอยู่ตรงนี้หลายปี บางคนติดจนตาย มีแม่ชีคนหนึ่งติดเป็นหลายสิบปี ตอนนี้ไม่รู้แก้ได้หรือยัง ร่างกายติดยาบ้ายังพอแก้ได้ง่ายกว่าจิตติดสุขในความสงบเงียบ
ผู้ปฏิบัติ : ผมขอเปรียบเทียบการปฏิบัติอย่างนี้ครับ เหมือนตอนเช้าตื่นมาจัดกำลังทหารป้องกันเมือง แล้วข้าศึกก็เข้าตีทันที บางทียังจัดกำลังไม่เสร็จ เละทั้งวัน บางทีจัดกำลังเสร็จ สู้ได้ 2 ขั่วโมง บางทีสู้ได้ครึ่งวันเช้า บ่ายแพ้ บางทีผลัดกันชนะผลัดกันแพ้ได้ทั้งวัน แต่ส่วนมากสองชั่วโมงเราก็ถูกยึดครองเมือง ไม่เป็นไร สนุกตรงที่ตื่นเช้าทำ restart เล่นใหม่ ไม่ได้โกง หาวิธีสู้มัน เริ่มจัดกำลังใหม่ ไอ้ข้าศึกนี่แปลกตกกลางคืนมันคืนเมืองให้เรา เช้าเรารีบเข้าเมืองไปจัดกำลังแล้วมันก็มาเข้าตีใหม่ คิดว่ามันเป็นเกม เราเป็นทั้งเสนาธิการ เป็นทั้งแม่ทัพและหน่วยรบ
ท่านทรงกลด : จริงๆ แล้วมันยึดครองเมืองเราไว้ทั้งกลางวัน กลางคืนนั่นแหละ มีเจ้าเมืองคือ อวิชชา ลูกน้องคือ ตัณหา อุปาทาน เห็นไหมกลางคืนบางทีจิตเราเที่ยววิ่งตามอารมณ์ต้อยๆ ตื่นมายังเหนื่อยอยู่เลย ที่ท่านเปรียบการชนะกิเลสเหมือนตีเมืองนี้ตรงเผงเลย เมืองนี้ชื่อ จิตนคร ดูเหมือนสมเด็จพระญาณสังวร เคยประพันธ์ไว้ ถูกอวิชชายึดไปตั้งแต่เมื่อใดก็ไม่รู้ บังคับให้เจ้าของเดิมเป็นทาส กดคออยู่
ผู้ปฏิบัติ : ผมเดาถูก
ท่านทรงกลด : ท่านไม่ได้เดาหรอก มันเป็นของเดิมของท่าน
ผู้ปฏิบัติ : ผมอ่านน้อยลงแล้ว
ท่านทรงกลด : ดีๆ ครับ อย่าไปอ่านเยอะเลย รู้เรื่องทุกข์ การดับทุกข์ และข้อปฏิบัติที่ทำให้พ้นทุกข์ก็พอแล้ว หลวงตามหาบัวจบมหาเปรียญ ไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นบอกว่า วางคัมภีร์ลงก่อนเด้อ ส่วนใหญ่คนเรียนเยอะจะคิดเยอะ รู้ช้า แต่เมื่อรู้แล้วจะแตกฉาน บางคนเคยเรียนเยอะมาในปางก่อน พอรู้ในชาตินี้ของเก่ามันก็มาเอง
ผู้ปฏิบัติ : ผมคิดว่า ธรรมะเป็นเรื่องซื่อๆ มันมีเสน่ห์ตรงรู้มันตรงๆ ชิมมันแล้วอธิบายด้วยภาษาเราเอง ธรรมะไม่ได้สอนให้คนเป็นคนซื่อ แต่คนที่ซื่อตรงต่อความรู้สึกต่างหากที่จะเข้าใจธรรมะได้
ท่านทรงกลด : ที่บอกว่า ซื่อตรงต่อความรู้สึกนี้ ใช่เลย อันไหนถูก อันไหนผิด วัดกันตรงนั้น เวลามีคนด่าเรา อารมณ์ยินร้ายเกิด อย่าไปหนี วัดกันตรงนั้นเลย เอามาพิจารณาด้วยไตรลักษณ์ บางครั้งระหว่างวันมันมีความรู้เกิดขึ้นมา มักจะเกิดตอนเผลอๆ คือ ใจสบายๆ ซัดกันตรงนั้น สังเกตดูหลายทีละ ถึงต้องฝึกให้มีสติตลอดไง
หลวงปู่มั่นบอกหลวงปู่ชาว่า การปฏิบัตินี้ต้องทำให้เป็นวงกลมคือ ต้องให้มีสติต่อเนื่อง ไม่ขาดสาย หลวงปู่ดูลย์ก็บอก สตินี้เหมือนหลอดไฟนี่แหละ มีบ้าง ไม่มีบ้าง เดี๋ยวดับเดี๋ยวสว่าง สติ ปัญญา เมตตา เป็นของเนื้อเดียวกัน ฝึกสติ ไม่อยากได้เมตตา ไม่อยากได้ปัญญา ไม่ได้ สองตัวนี้มันมาด้วย มาเอง
ผมเคยนั่งสมาธิ พอจิตสงบก็มีคำว่า สติ โผล่ขึ้นมา แต่ที่แปลกคือ เห็นคำว่า ปัญญาซ้อนอยู่ข้างหลัง เลยรู้ว่า อ้อ ! มันเป็นไวพจน์กัน มีสติก็มีปัญญา มีปัญญาก็มีสติ แต่ตอนแรกต้องอบรมสติให้เกิดปัญญาคือ สัมมาทิฏฐิ (โลกุตรมรรค) ก่อน เมื่อปัญญาเกิด สติในอริยมรรคมีองค์แปดก็มาเองโดยอัตโนมัติ
ท่านทรงกลด : สัมมาทิฏฐิคือ ความเห็นชอบ พระพุทธองค์ท่านสอนเรื่องทางสายกลาง ท่านบอกว่า สมณะ ทางสองทางที่ไม่ควรเดินคือ กามสุขัลลิกานุโยคคือ การเพลิดเพลินอยู่ในกาม การแสวงหาความสุข ความบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นรูป รส กลิ่น เสียง ฯลฯ หรือแม้กระทั่งความสุขในฌาน ทางนี้ไม่ควรเดิน
อีกทางหนึ่งก็คือ อัตตกิลมถานุโยคคือ การทำตนให้ยากลำบาก เป็นทุกข์ ความประพฤติใดที่เป็นไปแล้วทำให้ต้องได้รับทุกข์ ก็ไม่ควรเดิน ท่านกำลังบอกว่า อารมณ์ยินดีทั้งปวงที่เกิดจากกามสุขัลลิกานุโยคไม่ควรเดิน ไม่ควรเอา ไม่ควรเข้าไปข้องแวะ ไม่ควรเข้าไปหมายมั่น ขณะเดียวกันอารมณ์ยินร้ายทั้งปวงที่เกิดจากอัตตกิลมถานุโยค ก็ไม่ควรเดิน ไม่ควรเอา ไม่ควรเข้าไปหมายมั่น เมื่อเทศน์มาถึงตรงนี้ เกิดอะไรขึ้นกับจิตพระโกณฑัญญะ จิตของท่านซึ่งปกติเที่ยววิ่งไปเกาะอารมณ์ฝั่งสุขบ้าง ฝั่งทุกข์บ้าง จิตท่านละจากอารมณ์ทั้งสองมาตั้งมั่นอยู่ชั่วขณะ มาตั้งมั่นอยู่กับสติ เพราะขณะนั้นจิตท่านระลึกรู้แล้วว่า อารมณ์ทั้งสองไม่ควรเข้าไปข้องแวะ ขณะนั้นเมื่อจิตแยกออกจากอารมณ์ทั้งสองได้ จิตท่านก็จะเห็นอารมณ์ทั้งปวงไหลเกิดดับอยู่ตรงหน้า ท่านก็อุทานออกมาว่า ยังกิญจิ สะมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ สิ่งใด (คืออารมณ์) เกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นก็ย่อมดับเป็นธรรมดา หาสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ไม่ได้ ที่เคยเห็นว่า รูป นาม ขันธ์ห้า อารมณ์ คือเรา คือเขา มันไม่ใช่ ความเห็นผิด (สักกายทิฏฐิ) หมดลงตรงนั้น พระพุทธเจ้าท่านรู้วาระจิต ท่านก็อุทานออกมาว่า โกณฑัญญะรู้แล้วหนอๆ ผู้รู้เกิดกับท่านโกณฑัญญะแล้ว ที่ว่า รู้แล้วหนอ ๆ คือ จิตของพระโกณฑัญญะละจากอารมณ์มาตั้งมั่นอยู่กับ “รู้” คือสติ นั่นเอง
ปฐมเทศนา พุทธองค์ทรงสอนเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานแก่ปัญญจวัคคีย์ พระองค์สอนทางสายกลาง คือ สัมมาทิฏฐิในเชิงโลกียมรรคก่อน หมายถึง ขณะที่จิตพระโกณฑัญญะพิจารณาตาม จึงเห็นว่า อารมณ์ทั้งยินดี ยินร้าย ไม่ควรเข้าไปหมายมั่น ขณะนั้นยังเป็นโลกียมรรค ต่อเมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิ แยกจิตแยกอารมณ์ทั้งปวงได้ ขณะนั้นเรียกว่า เป็นมัคสมังคีในรอบแรก จิตตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิ เกิดสัมมาทิฏฐิที่เป็นโลกุตรมรรค จริง ๆ เกิดญานอย่างหนึ่งคือ ยถาภูตญาณทัศนะ ญาณที่เห็นรูป นาม อารมณ์ตามความเป็นจริง แต่ยังไม่จบ นี่เป็นเบื้องต้น ท่านได้เพียงดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลคนแรก วันต่อมาท่านก็ให้พระอัญญาโกณฑัญญะไปบิณฑบาต ส่วนพระองค์ก็สอนพระปัญจวัคคีย์สี่รูปที่เหลือจนได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระอริยบุคคลเบื้องต้นคือ โสดาบันทั้งหมดนั่นแหละ จากนั้นพระองค์ท่านจึงสอนอนัตตลักขณะสูตรว่าด้วย รูป นาม ขันธ์ห้า อารมณ์ที่เห็นทั้งปวง มีสภาวะอนิจจังคือ ไม่เที่ยง ทุกขัง คือ ทนอยู่ไม่ได้ และเป็นอนัตตาคือ หาสาระแก่นสารที่จะเป็นตัวเป็นตนไม่ได้ ไม่ควรเข้าไปหมายมั่นว่า นั่นคือเรา ของเรา จิตของปัญญจวัคคีย์ก็เบื่อหน่าย คลายกำหนัด และหลุดพ้นไปตามลำดับ เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด สัมมาทิฏฐิเป็นหัวขบวนแรกในมรรคมีองค์แปดจึงสำคัญมาก
ถ้าท่านศึกษาดู ในเรื่องอริยสัจจ์สี่ ทุกข์เป็นเรื่องที่ควรกำหนดรู้ สมุทัยเป็นเรื่องที่ต้องละ นิโรธต้องทำให้แจ้ง มรรคคือข้อปฏิบัติให้ถึงทางดับทุข์ เป็นเรื่องที่ต้องเจริญคือ ทำให้มาก ทำให้เกิด การเห็นทุกข์ในอริยสัจไม่ใช่เป็นเรื่องคิดเอา นึกเอา
เวลาเราพูดกันว่า เออ ! ชีวิตนี้ทุกข์นะ เห็นคนป่วย เจ็บ ตาย ไปทำงานเจอแต่คนไม่ดี มีแต่คนนินทาว่าร้าย ทุกข์จริง ๆ อันนี้ยังไม่ใช่เห็นทุกข์ในอริยสัจจ์ เห็นทุกข์ต้องเห็นด้วยใจ เห็นทุกข์แยกออกจากจิตให้เห็นเลย พระพุทธองค์ตรัสว่า ผู้ใดเห็นทุกข์ ผู้นั้นเห็นธรรม ถ้าเป็นอย่างนี้ ชาวบ้านทั่วไปที่เห็นชีวิตนี้มีแต่ความยากจน ทุกข์แสนสาหัสก็เห็นทุกข์แล้ว เห็นทุกข์ในอริยสัจจ์ หมายถึงเราเจริญสติ จนจิตตั้งมั่นอยู่กับสติ แยกอารมณ์ แยกทุกข์ออกจากจิตได้ นั่นจึงชื่อว่า เห็นทุกข์
อีกเรื่องหนึ่ง หนังสือธรรมะสมัยนี้ก็ต้องระวังด้วยนะครับ เป็นความคิด ความเข้าใจเสียส่วนมาก ไม่ใช่เกิดจากความ “เห็น” จึงพาเราหลงทางเสียส่วนมาก มีหนังสือเล่มหนึ่งพระดังรูปหนึ่งเขียนเรื่อง แนวทางพ้นทุกข์ ผมไปร้านหนังสือ หยิบขึ้นมา เปิดมาเจอหน้าที่เขียนว่า เมื่อจิตบรรลุอัปณาสมาธิก็จะบรรลุโสดาบัน ผมวางแทบไม่ทัน
ท่านลองพิจารณาดูที่ผมเล่าปฐมเทศนาให้ฟังเมื่อสักครู่สิครับ จิตของพระอัญญาโกณฑัญญะไม่ได้เข้าฌานหรืออัปนาสมาธิอะไรเลย ถ้าเราอ่านประวัติพระอริยสาวกมาบ้าง สังเกตเวลาพระพุทธเจ้าสอน ไม่เห็นท่านบอก อ้าว ! หลับตา เข้าอัปณาสมาธิหรือเข้าฌานก่อนเลย แต่ท่านสอนให้เห็นตามความเป็นจริง เป็นการทำจิตให้สงบด้วยปัญญา สมาธิคือ ความตั้งมั่นของจิต เราแปลกันถูก แต่เราไม่ค่อยเข้าใจกัน แค่สงบ แต่ไม่ได้ฉลาด เวลาจิตตั้งมั่น จิตมันไม่เอากับอารมณ์ แต่จะฉลาด ต้องมีความสงบ ไม่วิ่งตามอารมณ์ ถ้าสงบอยู่กับการเพ่ง บริกรรม จะไม่ฉลาด แต่ถ้าสงบอยู่กับ “รู้” จะฉลาด จะเกิดปัญญา ปัญญาที่เกิดต่อจากจิตที่สงบแบบหลังนี่แหละเรียกว่า ญาณ
ขอทิ้งท้ายด้วยเรื่องเล่าของหลวงปู่ดูลย์ มีคณะพระผู้ใหญ่ไปกราบหลวงปู่ ถามว่า แนวทางปฏิบัติที่ลัดสั้น ย่อที่สุดคืออะไร ท่านตอบว่า ท่าน (พระ) จงทำญาณให้เกิดเสมือนตาเห็นรูป ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นไปยิ่งเพื่อพระนิพพาน การทำญาณให้เกิดเสมือนตาเห็นรูปก็คือ ยถาภูตญาณทัสสนะ เมื่อเจริญสติ จนแยกจิตออกจากอารมณ์ เห็นอารมณ์ เสมือนตาเห็นรูปแล้ว คราวนี้ก็ง่าย ก็เอาอารมณ์ที่เห็นมาพิจารณาด้วยไตรลักษณ์ต่อจากตอนน้ัน ก็จะได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว หลวงปู่มั่นบอกว่า พระโสดาบันนี่จะให้บรรลุธรรม ง่ายเหมือนพายเรือตามน้ำ ดูพระอานนท์ ท่านทำความเพียรคืนเดียวก็บรรลุอรหันต์
ส่วนหลวงปู่ชาสอนเรื่องการปฏิบัติว่า ขี้เกียจก็ต้องทำ ขยันก็ต้องทำ และส่วนใหญ่มันจะเห็นตอนขี้เกียจ ไม่อยากทำนี่แหละ เพราะขณะนั้นจิตจะว่างจากความอยากรู้ อยากเห็น จะเห็นก็ตอนนั้น ธรรมะมันจะมาให้เห็นตอนที่เราไม่อยากเห็น ไม่อยากได้อะไร
โลกสองใบนี้ข้างในคือ ความสงบเงียบ ข้างนอกคือ ความวุ่นวาย ถ้าท่านพบกึ่งกลางระหว่างโลกสองใบนี้ท่านจะเห็นธรรม ท่านจะเห็นว่า มันจะสงบอยู่ท่ามกลางความไม่สงบ มันจะนิ่งอยู่ท่ามกลางความเคลื่อนไหว มันจะหยุดคิดอยู่ท่ามกลางความคิด ทวนกระแสคิด มันจะเห็นเหมือนน้ำไหลนิ่ง แบบที่หลวงปู่ชาบอก ถ้าท่านเข้าใจสัมมาทิฏฐิ ท่านไม่ต้องไปวัดก็ได้ ปฏิบัติได้ทั้งวันทั้งคืน ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน เพราะท่านต้องเผชิญอารมณ์ที่มากระทบตลอดเวลาได้โดยไม่ต้องไปนั่งหลับตา มีครูบาอาจารย์ที่เห็นตรงนี้ และนำมาเผยแผ่ต่อชาวโลก ท่านคือ หลวงพ่อเทียน ที่ท่านบอกโซ่คล้องกลางขาดแล้ว จะเอาภพมาจากไหนเล่า
ผมเองก่อนหน้านี้ กลางคืนซ้อมรบ กลางวันรบจริง กลางคืนเดินจงกรม พิจารณากาย ถ้านั่งก็ใช้อานาปานสติ กลางวันก็เดิน ยืน นั่ง ให้รู้ เอาไตรลักษณ์เข้าต่อสู้ พระพุทธองค์บอก ผู้มีสติบริบูรณ์คือ พระอรหันต์ ทำให้มาก เจริญให้มาก และท่านไม่ได้สอนให้เอากายเป็นเครื่องอยู่ ท่านให้เอากายเป็นเครื่องระลึกรู้ ระลึกรู้ก็คือ สติ ตรงจิตกระเพื่อมนั่นคือ อาการของจิต เมื่อจิตกระเพื่อมคือ อาการของจิต กิริยาของจิต ภาษาปริยัติเขาเรียก เจตสิก มันออกมาจากจิตนี่แหละหรือเรียกอีกอย่างว่า อารมณ์ เมื่อจิตกระเพื่อมก็รู้ทัน ขณะนั้นจิตท่านอยู่กับรู้แล้ว เมื่อรู้ไปๆ ๆ ๆ จิตจะเคยชินอยู่กับรู้ แล้ววันหนึ่งจิตจะหยุดอยู่กับ “รู้” วันนั้นท่านจะพบจุดที่อยู่ระหว่างโลกสองใบของท่าน จะว่านิ่ง ก็ไม่นิ่ง จะว่าไม่นิ่ง ก็นิ่ง คิดเท่าไรก็ไม่รู้ จะรู้เมื่อหยุดคิด แต่ถ้าไม่คิดก็ไม่รู้ นี่หลวงปู่ดูลย์ มันจะหยุดคิดอยู่ท่ามกลางความคิด มันคล้าย ๆ ศิษย์ของหลวงพ่อเทียนคนหนึ่งที่เห็นสภาวะนี้พูดว่า เหมือนลูกปืนหมุนอยู่ท่ามกลางแกนลูกปืน
จุดกึ่งกลางระหว่างโลกสองใบของท่านคือ โลกุตระ ตอนนี้ภพท่านมันวิ่งอยู่ระหว่างพรหมโลกกับโลกมนุษย์ ท่านโชคดีที่มีแนวคำสอนที่ถูกของหลวงพ่อเทียนเป็นแนวทาง ไม่หลงทาง ถ้าท่านไปถึงจุดนั้นจะหายสงสัย
สุดท้าย ฝากนักดูกายนิดหนึ่งครับ พิจารณากายจนเห็นนิมิตเป็นภาพติดตา จิตแน่วแน่ในนิมิตนั้น เป็นผมบ้าง กระดูกบ้าง สว่างใสเป็นแก้ว พอนึกปุ๊บพรึ่บขึ้นเลยจะมีความสุขมาก
พวกเราส่วนใหญ่ปรารถนาพุทธภูมิกันไว้ส่วนใหญ่ จึงมีจิตที่อยากช่วยเหลือคนหมู่มากให้พ้นทุกข์ บางคนปฏิบัติไม่ถึงไหนเพราะอาลัยตรงนี้แหละ หลวงปู่มั่นท่านก็ปรารถนาไว้ พอท่านทำสมาธิเห็นตนเองเกิดเป็นสุนัข แล้วติดใจในความเป็นสุนัข เกิดตายเป็นสุนัขอยู่ประมาณห้าร้อยชาติ ท่านเลิกเลย ไม่เอาแล้วพุทธภูมินี้เบื่อที่จะเกิด ตายแล้ว พระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ยังมีอีกมาก อย่าเอาเลย มุ่งตรงต่อพระนิพพานในชาตินี้เถิด วันนี้เราออกจากบ้าน คืนนี้ยังไม่รู้เลยว่า จะได้กลับไปนอนที่นอนเดิมอีกหรือเปล่า ที่มาที่ไปยังไม่แน่นอนเลย
อย่าคิดว่า นิพพานเป็นเรื่องยาก เรื่องหนัก เหลือวิสัย ดูพระอรหันต์สายพระอาจารย์มั่นสิ ท่านก็ลูกชาวนา ตาสีตาสาทั้งนั้น ท่านยังไปได้เลย แล้วลองพิจารณาดูดี ๆ สิครับ สิ่งที่เราขวนขวายหากันในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ สรรเสริญ สุขทั้งปวง ก็ล้วนแล้วแต่พระพุทธเจ้าเคยมี หรือพระอริยสาวกที่เคยเป็นเจ้าชาย เคยเป็นมหาเศรษฐีเคยมีแล้วทั้งสิ้น แต่ท่านก็ไม่เอาเลย เมื่อท่านพบวิมุติสุขแล้ว ท่านก็ไม่กลับไปแสวงหาความสุขทางโลกอีกเลย แสดงว่า สิ่งที่ท่านพบต้องดีกว่า พวกเรานี้ก็เหมือนถือตะกั่ว โดยเข้าใจว่านี่คือ ทองคำ ต่อเมื่อพบทองคำจึงรู้ว่าสิ่งที่ถืออยู่มันคือตะกั่ว ไม่ใช่ทองคำ ก็จะวางตะกั่วเสียโดยอัตโนมัติ เอวัง