ถาม-ตอบ

จิตเสวยอารมณ์

แสดงธรรม  กลุ่มต้นบุญ  เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2559

 

ท่านทรงกลด : ทำไมพระพุทธเจ้าเทศน์เรื่องไฟให้พวกชฏิลฟัง ก็เพราะพวกนี้อยู่กับไฟมาตลอด จึงเห็นง่าย การเห็นไฟภายนอกมันร้อนก็จริงอยู่ แต่ไม่นานก็ดับไป แต่ไฟในใจของเรานี่ไม่เคยดับเลยแม้แต่นาทีเดียว  ธรรมชาติคนเราย่อมต้องหนีร้อนไปพึ่งเย็น มีใครที่หนีเย็นไปหาร้อน อันนี้เพี้ยนสุด สอนไม่ได้แล้ว  อย่างที่บอกบ่อยครั้ง ขนาดมือเราเผลอไปโดนหม้อข้าวร้อนๆ ยังชักมือกลับแบบอัตโนมัติเลย  จิตเราก็เหมือนกัน

ทุกวันนี้ จิตเรากอดโทสะไว้แน่น กอดราคะไว้แน่น โดยไม่รู้สึกร้อน หารู้ไม่ว่า มันคือไฟที่กำลังเผาไหม้ใจโดยไม่รู้ตัว  ดูคนโกรธสิ เราบอกว่า โกรธจนหน้าแดงก่ำ มีภิกษุณีอรหันต์รูปหนึ่ง ถ้าจำไม่ผิด พระอุบลวรรณาเถรี  กล่าวอุทานออกมาเลยว่า เมื่อยามที่มีไฟราคะเผาผลาญใจ เหมือนไฟที่กำลังหลอมเหล็กละลายฉะนั้น ไฟโทสะก็เช่นกัน นึกภาพดูสิว่า ไฟที่หลอมเหล็กได้ มันร้อนขนาดไหน พระอรหันต์จะเห็นราคะ โทสะ เป็นไฟหลอมเหล็กเหมือนกันหมด จิตท่านจึงไม่เอาเลย  ไฟมาจากไหน  มาจากการขาดสติไม่รู้เท่าทันเวทนานั่นเอง  

เมื่อตาเห็นรูปสวย ย่อมเกิดอารมณ์ยินดีเป็นธรรมดา ตรงนี้เรียกว่า สุขเวทนา  แต่เพราะไม่รู้เท่าทัน ขาดสติ หรืออบรมสติมาไม่ดีพอ จิตเข้าไปคว้าฉวยเวทนาคือ อารมณ์ยินดีในรูปนั้นมาปรุงแต่งเป็นตัณหา ราคะ  อาจจะเป็นกามตัณหา หรือภวตัณหา อยากมี อยากได้รูปสวยๆ นั้นขึ้นมา  รูปสวยๆ นี่ ไม่จำเป็นต้องเป็นหญิงงาม ชายหล่อก็ได้  อาจจะเป็นกระเป๋าหลุยส์ มือถือ รถยนต์ บ้าน  ทันทีที่จิตเข้าไปคว้าฉวยเวทนามาปรุงแต่งเป็นตัณหา  ราคะ ขณะนั้นไฟถูกจุดติดแล้ว คำว่า  ราคะ  อย่าหมายถึงในทางกามคุณอย่างเดียว อะไรที่อยากๆ เรียกว่าราคะทั้งหมด  ทำนองเดียวกัน เมื่อหูได้ยินเสียงด่า อารมณ์ยินร้ายคือ ความไม่ชอบใจจะเกิดก่อน  แต่เพราะขาดสติ สติไม่มีกำลังพอที่จะหยุดจิตเอาไว้ได้ จิตก็จะวิ่งแส่ไปเสวยอารมณ์ยินร้าย ไม่พอใจนั้น มาปรุงแต่งเป็นโทสะ คือความโกรธขึ้นทันที  ตรงนี้ ไฟถูกจุดขึ้นแล้วเช่นกัน  

ลองนั่งนึกย้อนถามตัวเองดูว่า วันนี้ท่านจุดไฟขึ้นในใจท่านกี่กองเข้าไปแล้ว  วันหนึ่งๆ เราถูกไฟที่เราเองนี่แหละจุดขึ้นมาทำร้ายตัวเอง เผาตัวเอง ไม่รู้กี่ร้อยกี่พันกอง  บางทีหลับไปแล้ว ยังตามไปจุดในฝันอีก  เราโง่หรือเราฉลาด ที่ทำร้ายตัวเองได้แม้กระทั่งหลับ  ขนาดร่างกายเราเอง พอแกว่งมือไปกระทบหม้อข้าวร้อน ยังชักกลับเอาตัวรอดเลย  แล้วทำไมใจเราจึงโง่ยิ่งนัก เฝ้ากอดความร้อนอันเกิดจากไฟที่เราต่างเฝ้าจุดมันขึ้นมา  มีชายคนหนึ่ง วิ่งถือก้อนเหล็กเผาไฟแดงโร่ ทั้งหนักทั้งร้อน แล้วร้องว่า โอ้ ! ร้อนเหลือเกิน ร้อนเหลือเกิน  คนผ่านไปมาก็เห็น จึงตะโกนบอกว่า ทำไมไม่วางลงเสียล่ะ จะได้ไม่ร้อน ไม่หนัก  ชายคนนั้นก็ร้องสวนมาว่า วางไม่ได้ วางไม่ได้  คนผ่านไปดังกล่าว ก็ถามกลับไปว่า ทำไมวางไม่ได้  ชายคนนั้นบอกว่า ก็ก้อนเหล็กอันนี้มันเป็นของฉัน  ก้อนเหล็กที่เผาไฟแดงฉานนี่มันเป็นของฉัน ก้อนสกลกายนี้มันเป็นของฉัน  ก้อนผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ก้อนกระดูกนี่เป็นของฉัน  ก้อนลูก ก้อนสามี ก้อนภรรยา ก้อนพ่อ ก้อนแม่ ก้อนบ้าน ก้อนรถ ก้อนที่ดิน ก้อนหุ้น ก้อนบริวาร ทั้งหมดนี้มันเป็นของฉัน  ก้อนทุกข์ ก้อนสุขมันเป็นของฉัน  พิจารณาดูดีๆ มันใช่ของฉัน ของเราจริงหรือไม่  ลูก เมีย สามี ภรรยา ใช่หรือ   ลูกก็เท่านั้น สามีก็เท่านั้น ภรรยาก็เท่านั้น  เขาก็เป็นของเขา บังคับบัญชาอะไรได้บ้างไหม  สามีเคยรักบัดนี้ยังรักอยู่ไหม ภรรยาเคยรัก บัดนี้ยังรักอยู่ไหม  ลูกพอมีครอบครัว คนรัก เขาก็มีหนทางของเขา จะอยู่กับเราไปได้ตลอดหรือ  

แม้กายเรา ยังไม่ใช่ของเราเลย แล้วก้อนสกนธ์กายคนอื่นจะเป็นของเราได้หรือ  วางได้แล้ว  ส่วนก้อนเบื่อก็คือก้อนทุกข์อันหนึ่ง   มันใช่ของเราหรือ บอกมันสิว่า เฮ้ย เลิกเบื่อได้แล้ว  บอกมันสักพันครั้ง มันหายเบื่อไหม  ไม่หรอก เพราะอารมณ์เบื่อ (ทุกขเวทนา) มันก็เป็นของมันอย่างนั้น ไม่ต่างจากผม จากฟัน  ต้องใช้ปัญญาตี จึงจะแตก  ปัญญาหรือวิปัสสนาอันเดียวกัน  อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ใส่มันเข้าไป  เอาก้อนเบื่อ ก้อนทุกข์นั่นแหละมาพิจารณาให้เห็นว่า มันไม่เที่ยง ไม่ต่างไปจากร่างกายที่โทรมลงไปทุกวันของเรานั่นแหละ  มันไม่เบื่อจริงหรอก  มันเบื่อๆ อยากๆ  เอาความเบื่อหน่ายนั่นแหละมาพิจารณาให้เห็นว่า เออ !  เอ็งก็ไม่เที่ยง  หากเห็นตามจริงว่า ความเบื่อหน่ายไม่เที่ยงจริงๆ จิตมันจะออกมาจากความเบื่อหน่าย  ผลของจิตที่ออกมาคืออะไร  จิตจะตื่นรู้ สงบ เยือกเย็น  แต่ถ้ายังเบื่อหน่ายอยู่ จิตยังเสวยอารมณ์นั้นอยู่  ถ้าออกมา จะไม่เบื่อหน่าย ความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น เบื่อๆ นี่ คือวิภวตัณหา เป็นไฟสุมใจลึกๆอยู่  ไม่เหมือนโทสะ เห็นง่าย  ต้องใช้สติ ใช้ปัญญามากสักหน่อย  ถ้าออกมาอยู่กับสติ คือความรู้สึกตัว จะสลัดความเบื่อหน่ายออกไปได้

ผู้ปฏิบัติ :  ทุกข์นิดนึงคะ    แต่ก็มีความสุขนะคะ  แต่ก็เบื่อโลกไปหมด งงเหมือนกันคะ  

ท่านทรงกลด : ระวังมันจะเป็นโมหะนะ  หลงอยู่ในสุขอันเกิดจากการเบื่อโลก  เบื่อจากกิเลส ก็อย่างหนึ่ง  เบื่อจากการเห็นตามความเป็นจริง (นิพพิทา) ก็อีกอย่างหนึ่ง   ถ้าเบื่อจริงๆ คือ นิพพิทาญาณเกิด  ตอนนั้น จิตจะคลายกำหนัดออกมาเลย   พระพุทธเจ้าจึงบอกว่า เมื่อเห็นตามความเป็นจริง ย่อมเบื่อหน่าย  ตรงนี้นิพพิทาญาณ  เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายกำหนัด (วิราคะ)  เมื่อคลายกำหนัดก็หลุดพ้น วิมุตติ  นี่คือลำดับของการหลุดพ้นทุกข์  ปัญหาคือ เราต้องทำการบ้านข้อแรกให้แจ้งก่อน  คือการเห็นตามความเป็นจริง  ตอนเดินแบบสบายๆ ต้องมีสติด้วยนะ มีความรู้สึกตัว ตื่นอยู่ตลอด  ไม่แช่อยู่ในความเบื่อ