ถาม-ตอบ

จิตปัจจุบันขณะ

แสดงธรรม กลุ่มต้นบุญ  เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2558

 

ผู้ปฏิบัติ  คนที่ภาวนามากๆ ทำบุญมากๆ แต่อารมณ์ฉุนเฉียว  โมโหเก่ง  ด่าคนอื่น เขามีใจทำบุญ แต่จิตเข้าไม่ถึงบุญ หรือไม่

ท่านทรงกลด  :   ขณะที่ทำบุญ จิตหรือใจก็เป็นบุญ  ขณะที่ฉุนเฉียว จิตปรุงแต่งโทสะขึ้นมา  จิตหรือใจอันเดียวกันนั่นแหละพอปรุงแต่งเป็นกุศลก็เป็นบุญ  พอปรุงแต่งเป็นอกุศล เป็นโทสะก็เป็นบาป  หยุดการปรุงแต่งก็จบเท่านั้นเอง จิตผ่องใสบริสุทธิ์  นี่กลับมาที่หัวใจพระพุทธศาสนาอีกแล้วเห็นไหม  มันถึงกันหมดนั่นแหละ ถ้าเห็นเสียแล้ว ใจที่เป็นบุญก็กิริยาอย่างหนึ่งของจิต  ใจที่เป็นโทสะก็อีกกิริยาหนึ่งของจิต  เรียกว่า จิตปรุงแต่งใจเป็นบุญ  จิตปรุงแต่งเป็นใจที่เต็มไปด้วยโทสะก็ได้  จะบอกว่า ใจคือกิริยาของจิตก็ได้  ใจคือการปรุงแต่งของจิตก็ได้  แล้วแต่จะบัญญัติ  เรียกหรือเข้าใจ  มันก็แค่ความเข้าใจนั่นเอง  เมื่อเข้าถึง มันเลยบัญญัติไปแล้ว มันไม่มีคำอธิบาย  จะเป็นอะไร มันก็ไม่มีความหมาย เพราะมันว่างเปล่า ไม่มีอะไร จิตเดิมนี้ว่าง ผ่องใส  ทำบุญมากๆ ไม่ได้หมายความว่าใจจะบริสุทธิ์ขึ้นมาได้  แต่มันช่วยทำให้ใจบริสุทธิ์ได้ง่ายขึ้นด้วยทาน ศีล ภาวนา ไง

การทำบุญ ขณะทำ กิเลสโลภะจะดับไปชั่วขณะ (โลภะจัดอยู่ในราคะ)  ขณะนั้นจิตบริสุทธิ์ผ่องใสชั่วขณะ  แต่การทำบุญ จิตปรุงแต่งเป็นบุญ ขึ้นชื่อว่าอะไรที่ปรุงแต่งเป็นสังขตธรรม ย่อมเสื่อม  จิตที่เป็นบุญนั้นก็เสื่อมไปได้  พอกลับมาบ้าน สามีบอก เป็นไง ไปทำบุญลืมคนที่บ้านเลยนะ  หูได้ยินเสียงแบบนั้น อารมณ์ไม่พอใจจะเกิดก่อน  ทุกขเวทนาเกิดแล้ว  พอเวทนาแบบนั้นเกิด เพราะไม่รู้เท่าทัน ขาดสติ จิตเรานี่แหละก็เข้าไปฉวยคว้าอารมณ์ยินร้ายนั้นมาปรุงแต่งเป็นโทสะ  โมโหฉุนเฉียว ปาถาดข้าวที่ไปทำบุญใส่สามีโครมใหญ่  จิตนี่ไวมาก สำหรับคนที่ไม่ฝึกสติมาก่อน  บางทีมีมีดทำครัวอยู่แถวนั้น อาจขว้างปาเข้าใส่หน้าตาสามีได้  นี่  เกิดครบแล้ว กิเลส (โทสะ) กรรม (ปาใส่) วิบาก  เห็นไหมจิตที่เป็นบุญดับไปแล้ว  ตอนทำบุญจิตมันเข้าถึงอยู่ มันปรุงแต่งเป็นกุศลจิตขึ้นมา  ต่อพอสามีด่า จิตดวงเดียวกันนั้นแหละก็ปรุงแต่งเป็นโทสะ อกุศลจิตขึ้นมาใหม่  

พระพุทธเจ้าจึงบอกว่า วันหนึ่งๆ เราไม่เห็นอะไรจะเกิดดับรวดเร็วเท่าจิตเลย  จริงๆ พระองค์ไม่ได้หมายถึงจิตเดิมเลย  จิตเดิมไม่มีการดับ ที่หลวงตามหาบัวสอนเสมอว่า จิตนี้ไม่มีวันตาย  แต่จิตที่เกิดดับคือ จิตที่ปรุงแต่ง พอปรุงแต่งก็เสื่อมก็ดับ มันเร็วมากนะ  บางทีไปเถียงกับพวกเรียนอภิธรรม พวกนี้ไม่มีวันเข้าใจ หากไม่เห็นจิตสักครั้ง  จิตดวงนั้น ดวงนี้ มีทั้งหมดกี่ร้อยดวง  บางคนก็เข้าใจผิดมหันต์เลย ผมเห็นแล้วก็สลดใจมาก สอนว่า พอตาเห็นรูปก็เกิดจิตขึ้นแล้ว

การปฏิบัติตามต้องเข้าใจให้ถูกต้องก่อนจึงจะเดินไปได้อย่างปลอดภัย อย่างน้อยต้องเข้าใจเรื่องสติ   จิต  อารมณ์  เวทนา สัญญา สังขาร ความรู้สึกนึกคิดทั้งปวง รวมเรียกว่า  อารมณ์ ตรงนี้ในพระไตรปิฎกก็พูดไว้ชัด  

ส่วนวิญญาณคือ ตัวรู้ หลวงปู่ชาก็พูดไว้ชัด  ผมบอกในกลุ่มที่แสดงธรรมหลายครั้งว่า พระพุทธเจ้าท่านได้ไม่ได้ไปตรัสรู้อะไรนอกโลกหรอก  ท่านก็ใช้วิธีหนามบ่งหนาม  ท่านเอาขันธ์ห้ามาเรียนรู้ขันธ์ห้า  ท่านเอาวิญญาณคือตัวรู้นี่แหละมาเรียนรู้ขันธ์ห้าที่เหลือทั้งหมด  ลมหายใจเข้าก็รู้ ลมหายใจออกก็รู้  ลมหายใจสัมผัสจมูก เกิดกายวิญญาณคือตัวรู้นี่ไง  เอาตัวรู้สึกนั่นแหละมาเรียนรู้  แต่พระองค์เรียกใหม่ว่า เป็นสติ  เพื่อไม่ให้งงกับวิญญาณในขันธ์ห้า  แต่จริงๆ แล้วเป็นตัวเดียวกัน  เรื่องนี้ พอไปรู้ธรรมเห็นธรรม จะหายสงสัย 

ตอนนี้ ถ้าใครไม่เคยภาวนา จะงงๆ ๆ มาก ๆ ๆ  แต่ถ้าใครมีปัญญา อ่านแป๊บเดียวก็เข้าใจแล้ว พอจิตอยู่กับรู้ลมหายใจเข้าออกมากเข้าๆ ๆ ๆ (คือ อานาปานสตินั่นเอง)  จิตของพระองค์ก็ตั้งมั่นกับสติคือรู้ขึ้น แยกอารมณ์ออกไปจากใจ เห็นอารมณ์ที่เป็นทุกข์ตั้งอยู่เฉพาะหน้าใจหรือจิตที่ตั้งมั่นของพระองค์นั่นเอง  พระองค์จึงบอกว่า ท่านเห็นทุกข์ก่อน เห็นทุกข์ เห็นเหตุแห่งทุกข์ เห็นการดับทุกข์ และหนทางที่จะไปสู่การดับทุกข์คือ มรรคมีองค์แปด  ไม่ว่าใครเห็นธรรมจะเห็นในลักษณะอาการทำนองเดียวกัน  

ถ้าใครบอกว่า นั่งภาวนาแล้วเห็นพระแก้วใส แล้วบอกว่า  เห็นธรรม อันนี้ยังไม่ใช่  หรือใครบอกว่า นั่งภาวนาแล้วตัวหายไปหมด หรือจิตว่างอยู่ อันนี้ก็ยังไม่ใช่  ดังนั้นเรื่องจิตเรื่องใจ ต้องเข้าใจใหม่ว่าเป็นอันเดียวกัน  แต่ขันธ์ห้าต่างหากที่ไม่ใช่จิต ไม่ใช่ใจ  ที่เรางงก็เพราะเราไม่เคยเจริญสติจนแยกกายกับจิตได้ส่วนหนึ่งก่อน  วันหนึ่งวันใดเจริญกายคตาสติจนแยกกายออกจากจิตได้ จะเห็นส่วนที่เหลือไม่ยาก

อานาปานสติ  ตอนแรกจะเห็นว่า ลม (กาย) ไม่ใช่จิตก่อน  ลมก็คือกาย คือรูป  ต่อไปมันก็ไม่ยากที่จะเห็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่ใช่จิต  จิตหรือใจนี่แหละคือเราล่ะ  มีพระหลวงตาศิษย์หลวงปู่ดูลย์ไปนั่งภาวนาหาจิตหาใจ  หลวงปู่ท่านรู้วาระจิต เดินเข้าไปเตือน บอก นี่ จะมานั่งหาให้เห็นมันเป็นตัวเป็นตน มันไม่มีให้ใครเห็นหรอกนะ  นี่คือผู้เห็นตน พบตน อีกท่านหนึ่ง

เห็นตนคือ เห็นใจ คือเห็นธรรม  พบตนคือ พบธรรม  

จิตไม่เป็นสัญญา  สัญญาคือความจำได้หมายรู้  สัญญาของฝรั่งก็อย่างหนึ่ง ของไทยก็อย่างหนึ่ง เช่น คำว่า โต๊ะ ฝรั่งก็จะจำเป็น Table  สัญญาก็มีหลายอย่าง มีรูปสัญญาบ้าง  เช่น เมื่อเช้าเราเห็นรถเฟอรารี่แว้บหนึ่ง  ระหว่างวันลืมไปแล้ว ก่อนนอน ภาพรถคันนั้นผุดขึ้นมา นี่เรียกกว่า รูปสัญญา ถ้าไม่รู้ทันก็เข้าไปปรุงแต่งเป็นอะไรต่างๆ จนนอนไม่หลับทั้งคืนก็ได้  

จิตปัจจุบันไม่ใช่สัญญา  ปัจจุบันธรรมก็คือจิตนี่แหละ อดีตก็เป็นสัญญา อนาคตก็เป็นสังขาร  จิตอดีตเป็นสัญญาแล้ว  เมื่อเห็นอดีตก็ไม่ใช่เรา ของเรา เมื่อเห็นอนาคตก็ไม่ใช่เรา ของเรา จิตก็อยู่กับปัจจุบัน คืออยู่กับตัวเอง  จิตปัจจุบันขณะคือจิตแท้  จิตเดิม  สัญญาเป็นสิ่งที่จิตเดิมปรุงแต่งเอาไว้  ถ้าภาวนาจนแยกจิตกับสัญญา สังขารได้เมื่อใด จะเข้าใจ  ถ้าเห็นจิต มันจะเป็นสภาวะหนึ่งที่ไม่อาจจะจัดเรียงได้ นั่นคือจะต้องเห็นสัญญาไม่ใช่เรา  ไม่ใช่ของเรา  

เมื่อหลวงปู่ดูลย์ (หลังจากท่านแยกจิตออกจากกิเลสได้แล้ว) ไปกราบหลวงปู่มั่น ก่อนจากมา หลวงปู่มั่นให้การบ้านมาข้อหนึ่งให้หลวงปู่ดูลย์ไปภาวนา นั่นคือ  สัพพะสัญญาอนัตตา  หลวงปู่ดูลย์ หลังจากแยกจิตออกจากอารมณ์ จากกิเลสได้ (บรรลุโสดาบันอย่างน้อย)  ให้ใช้สติ การเจริญสติ ปัญญารู้เท่าทันอารมณ์ให้มาก  แค่นี้แหละการปฏิบัติ ไม่ต้องไปศึกษามากหรอก ปวดหัว งงไปเปล่าๆ   ก็ไม่ยากที่จะเอาสัญญาซึ่งเป็นอารมณ์อย่างหนึ่งมาพิจารณาด้วยพระไตรลักษณ์ จนเห็นสัญญาทั้งปวงเป็นอนัตตา ถือเป็นของเราไม่ได้ ก็บรรลุอรหัตผล  

หลวงปู่มั่นบอกว่า พระโสดาบันหากจะบรรลุอรหัตผล ง่ายเหมือนพายเรือตามน้ำ  ตรงใช้ความคิด มีคนเป็นอันมากไปตีความคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ผิดๆ คือ ที่ว่า  คิดเท่าไรก็ไม่รู้ จะรู้เมื่อหยุดคิด แต่ต้องอาศัยคิดจึงจะรู้ ก็เลยพากันคิดๆ ๆ ๆ กันเข้าไป เลยไม่รู้ มีแต่จะงงๆ ๆ ๆ ๆ  บอกก็ไม่เชื่อ ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน  สัญญามันก็ยังอยู่ของมัน (ขันธ์ก็ยังอยู่ของมัน)   แต่จิตเราต่างหากผละจากการยึดมั่นสัญญาออกมา เหมือนน็อตหลุดออกจากสกรูนั่นแหละ  ใครจะเอาผมไปตัดคอ ผมก็ยังจะพูดแบบนี้ เพราะผมเห็นอย่างนี้นี่ครับ  จะให้บอกว่า เป็ดคือไก่ ไก่คือเป็ด จิตมันไม่รับครับ  จะให้บอกว่า จิตคืออารมณ์ อารมณ์คือจิต มันค้านกับความเห็นที่เห็น จิตมันก็ไม่ยอมรับด้วย  

ปริศนาธรรมของหลวงปู่ดูลย์ ไม่ว่าพระหรือฆราวาสถกเถียงกันมาก  โดยเฉพาะเรื่องคิดนี่ หาคนรู้จริงๆ ยากมากๆ ผมพูดไปก็ไม่มีใครเชื่อหรอกว่า หลวงปู่ดูลย์ไม่ได้สอนให้คิด  ก็นั่นไง ท่านบอกอยู่ว่า ต้องอาศัยคิดจึงจะรู้  เอาคนตาบอดกันคนหูหนวกคุยกันคงจะคุยกันสนุก  คิดเท่าไรก็ไม่รู้ จะรู้เมื่อหยุดคิด  

มีอยู่คืนหนึ่ง ภาวนาจิตสงบลงไป เห็นหลวงปู่ดูลย์เดินมาบอกเลยว่า ถ้าคิดอยู่ไม่ใช่นะ  เวลาเห็นธรรมมันจะเป็นวินาทีที่พลิกโลก พลิกความเห็นเราไปชั่วอนันตกาลเลย  คิดยังอยู่แต่ใจหรือจิตออกจากคิด เหมือนจิตออกจากสัญญานั่นแหละ  เพราะการภาวนาโดยส่วนใหญ่ เมื่อเพ่งบริกรรมจิตรวมลงไปเป็นเอกัคคตารมย์ ขณะนั้นทุกอย่างหายไปหมด แม้ความคิดก็ไม่เหลืออยู่  หรือบางทีจิตว่างๆ ๆ ๆ  ความคิดหายไปหมด  จริงๆ ความคิดไม่ได้หายไปไหน มันยังอยู่  แต่เราหนีความคิดเข้าไปอยู่ในถ้ำ เพราะใช้วิธีการ
เพ่งบริกรรม พอออกจากถ้ำมา ความคิดก็ดักรออยู่  เข้าไปตรงนั้น หลวงปู่เทสน์บอกว่า ออกมาก็โง่เหมือนเดิม เพราะไม่รู้อะไร  เป็นสมาธิหัวตัว ท่านว่านะ  หัวตอ  

ขณะที่รู้ มันจะรู้ในขณะที่คิดด้วย  จะเห็นความคิดแยกออกไปเหมือนมือถือที่วางอยู่ตรงหน้าเรานี่แหละ  ส่วนเราที่นั่งมองมือถืออยู่นี้คือจิตอันหนึ่ง  มันต้องมีตัวพร้อมกับมีความคิด  เพราะจะได้เห็นว่า คิดไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่คิดไง  นี่แหละที่หลวงปู่ดูลย์บอกว่า ต้องอาศัยความคิดจึงจะรู้  จะรู้ธรรม เห็นธรรมก็ตรงนี้แหละ  จะเห็นว่า  ความคิด (สังขารขันธ์) แท้จริงหาใช่เรา อย่างที่เข้าใจผิด เห็นผิดมาโดยตลอด  เพราะเมื่อพบตน เห็นตนเสียแล้ว ก็จะเห็นว่า  ความคิดหรือขันธ์ห้าจะถือเป็นเรา เป็นใครไม่ได้  

บางทีเราก็แปลมาผิดไปจากสภาวธรรมเลยทำให้เข้าใจผิด  เช่น คำว่า สติ ถ้าแปลว่า ความระลึกได้  คนที่ไม่เข้าใจก็จะหมายถึง  สัญญา คือความจำไป  แต่จริงๆ แล้ว สติก็สติ สัญญาก็สัญญา  เช่น  มีคนด่าเราแต่ระลึกขึ้นได้ว่า เขาเป็นเจ้านายเรา เลยหยุด แล้วบอกว่า ฉันมีสติขึ้นมา  ซึ่งเป็นแบบนี้กันมาก แล้วบอกว่า ฉันเจริญสติตลอด ไม่เห็นรู้เห็นธรรมอะไรเลย  สติแบบนี้มันสติแบบโลกๆ  

หลวงปู่ชาสอนบ่อย ท่านบอกว่า แมวจะจับหนูมันก็มีสตินะ  แมวเจริญสติหรือเปล่า หรือมือปืนไปซุ่มยิงคนก็ต้องคอยระวังไม่ให้เหยื่อได้ยิน จะขยับตัวก็บอกมีสติตลอดเวลา เดี๋ยวเหยื่อได้ยิน แล้วบอกว่า นี่ไงสติ   ขโมยเข้าบ้านคนกลางคืนมันก็มีสตินะ

อาจารย์  คนจะเข้ามาฟันข้างหลัง มีสติรู้ทันยกดาบขึ้นรับได้ทัน  อาจารย์บอกเธอฝึกสติสำเร็จแล้ว  แล้วเอาสติที่ฝึกไปฆ่าคน  เป็นความเข้าใจผิดที่ไม่รู้จะว่าไงเหมือนกัน  ไปเหมารวมสติกับสัญชาตญาณเป็นอันเดียวกัน  สติหากจะแปลว่า  ความระลึกได้ มันต้องหมายถึง  ระลึกรู้สึกตัวทั่วพร้อมขึ้นมา ลมหายใจเข้า ให้รู้ หายใจลึกๆ ก็เกิดสติแล้ว อันนี้ใช่ ถูกต้อง

หลวงปู่ดูลย์บอกว่า สติคืออาการรู้อยู่กับที่  หลวงปู่ทา จารุธัมโม บอกว่า รู้ซื่อๆ  ก็สติอันเดียวกัน  เวลาใครด่า หายใจเข้าลึกๆ อันนี้แหละ สติเกิดขึ้นแล้ว  ลองหายใจเข้าลึกๆ สิ จะเกิดความรู้สึกตัวทั่วพร้อมขึ้นมาอัตโนมัติ  นี่แหละสติ  นี่แหละคือทางสายกลาง  ที่พระพุทธเจ้าใช้ในคืนวันตรัสรู้ธรรม  ลองมีสติในอาการที่ว่าสิ จะเห็นว่า มันไม่ไปซ้าย ไม่ไปขวา ไม่สุข ไม่ทุกข์ มันเป็นความรู้สึกกลางๆ สงบ  เห็นไหม ครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่น แม้จะเริ่มด้วยพุทโธ แต่ท่านก็มาจบที่สติเหมือนกันหมด  

ขอให้ได้ดวงตาเห็นธรรมด้วยกันหมดทุกท่านในชาติปัจจุบันนี้เทอญ