ถาม-ตอบ

ความสุขที่แท้จริง

แสดงธรรม กลุ่มต้นบุญ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2558

 

ท่านทรงกลด  ความสุขที่แท้ไม่ต้องไปหาที่ไหน อยู่ที่ใจที่มีสตินี่แหละ  เมื่อใดขาดสติ เมื่อนั้นก็วุ่นวายรุ่มร้อน  เมื่อใดมีสติ เมื่อนั้นก็เยือกเย็น สงบ  หลวงปู่ชาบอกว่า รวยกับซวยมันใกล้ๆ กัน  พอมาเห็นอะไรเป็นอะไร จริงของท่านเลย  คนรวยที่ไม่เคยปฏิบัติธรรม เพราะคิดว่า เงินซื้อทุกอย่างได้ มีความสุข  ใช้ชีวิตอย่างประมาท ก่อนตายกอดทรัพย์สมบัติไว้แน่น  ตายแล้วก็ไปเกิดเป็นหมาบ้าง จิ้งจกบ้าง งูบ้าง เฝ้าสมบัติที่กอดไว้ก่อนตาย  ทรัพย์สมบัติที่หามาได้แว้งมากัดตนเองเพราะไม่ฉลาดในการมี การเป็น  

แต่ก่อนเห็นคนรวย ไปเที่ยวต่างประเทศ ถอยรถป้ายแดง ผมนี่อิจฉา ตอนนี้เห็นแล้วสงสารสมเพชเหลือที่จะกล่าว  ยิ่งบางคนอวดมั่งอวดมี อวดยศอวดศักดิ์ ผมนี่ หนีเลย ไม่คบ  ตอนนี้เพื่อนทางโลกแทบไม่มี นับคนได้   แต่ผมก็มีความสุขกว่าเมื่อก่อนมากมายมหาศาล  ไม่ต้องคอยเที่ยววิ่งตามอารมณ์ คำพูดใคร  ใครด่าก็เรื่องของเขา ใครชมก็เรื่องของเขา  เราก็อยู่ของเรา (ใจอยู่กับใจ) สบายจริงๆ  ถึงมีคนมานั่งด่าคนนั้นคนนี้อยู่รอบข้างให้ได้ยิน มันก็สบาย  อากาศจะร้อน จะเย็น มันก็สบาย  บางวันไม่กินข้าวเย็นเลย มันก็อยู่ได้ สบาย  ไม่นึกอยาก นึกหิวเหมือนเมื่อก่อน  ไม่นึกอยากให้คนนั้นคนนี้มาชื่นชมยินดีเหมือนเมื่อก่อน  มันสบาย สงบจริงๆ  

บางคนอาจจะคิดว่า แล้วไม่รู้สึกเหงาเหรอ ไม่มีเพื่อนเลย  ไม่เหงาหรอก เพราะเพื่อนเราคือพระพุทธ พระธรรม อยู่ในใจแล้ว  ตอบอย่างนี้ไม่ใช่ตีโวหารนะ  เห็นอะไรเป็นธรรมะไปหมด มันก็มีสติโดยอัตโนมัติ เมื่อมีสติมันก็เยือกเย็นสงบอยู่ในตัว  เมื่อเทียบกับชีวิตสมัยก่อน  มากมายด้วยเพื่อนฝูง  เที่ยวเตร่  เฮฮา กินเหล้า ดึกดื่น ถามว่า จะหวลกลับไปใช้ชีวิตแบบนั้นอีกหรือไม่ ใจมันร้องจ๊ากเลย บอกว่า อย่า !  ไม่เอาแล้ว  ไม่ต้องบังคับใจเลย  มันไม่เอาโดยอัตโนมัติ  ถามมันว่าอยากจะรวยมีทรัพย์สินเงินทองร้อยล้านพันล้านไหม  มันบอก ไม่  ถามว่า อยากมีบ้านใหญ่ๆ โตๆ  มีตำแหน่งหน้าที่การงานบิ๊กๆ ไหม มันบอก ไม่  เพราะมันรู้แจ้งด้วยตัวมันเองแล้วว่า สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมานั้น มีแต่จะนำโทษภัยมาให้  โดยเฉพาะภัยจากการเวียนว่ายตายเกิด  

เคยยกตัวอย่างไป วันหนึ่งภาวนาจิตสงบ แล้วปรากฏสมาธินิมิต เป็นแตงโม แต่จิตรู้ว่า ข้างในเป็นยาพิษ  แตงโมถึงแม้จะหวานฉ่ำ แต่ข้างในคือยาพิษ ยังจะกินลงอีกหรือ   ลูกเมีย ทรัพย์สมบัติ ยศถาบรรดาศักดิ์คือ  ผลแตงโม  ภาราหะเว ปัญจะขันธา  ขันธ์ห้าเป็นของหนักเด้อ  รูปนี้ก็หนัก ต้องคอยขับคอยถ่ายคอยล้างทำความสะอาด  คอยดูแลรักษาไม่ให้เจ็บป่วย  เวลาหิวก็ต้องคอยหาอาหารให้มันกิน  ปวดท้องฉี่ ปวดอึ ก็ต้องวิ่งหาห้องน้ำให้มันได้ถ่ายได้อึ  คอยหายใจเข้าออกหล่อเลี้ยงมันไว้  รู้สึกกันบ้างหรือยังว่า กายนี้เป็นของหนัก รู้สึกหรือยังว่า กำลังแบกมันอยู่  เวทนานี้ก็หนัก หนักมากๆ  สุขเวทนาก็ต้องวิ่งไปหามาแบกไว้ พอมันดับไป สิ่งที่เหลือก็คือทุกข์ แบกไว้หนักอึ้ง ต้องคอยหาทางแก้ปัญหาทุกข์  ทุกข์แต่ละลูกก็หนักหนาสาหัสเหลือกัน

เมื่อวันก่อน มีผู้พิพากษาสมทบ อายุหกสิบกว่า เส้นเลือดสมองแตก อยู่ไม่นานก็จากไป ภรรยาและลูกๆ ทุกข์มาก เพราะกะทันหันเหลือเกิน เพิ่งจัดงานแต่งงานลูกได้ไม่นาน ยังไม่ทันได้อุ้มหลานเลย  ภรรยารับไม่ได้ ทุกข์มากๆ ๆ ๆ  แม้คนปฏิบัติมาบ้าง ยังทำใจยาก นี่เป็นคนปกติที่ไม่เคยปฏิบัติเลย ลองนึกดูว่าถ้าเป็นเรา จะทุกข์ขนาดไหน  น่าสงสารเหลือที่จะกล่าว สามีที่จากไปก็เป็นคนดีมากๆ ช่วยเหลือสังคมมาตลอด  เมื่อถึงเวลา ไม่ว่าดีหรือเลว ก็ต้องไปตามยถากรรม  เราก็สงสาร อดไม่ได้ ภาวนาไปดู เห็นไปดี เลยโทรไปบอก ภรรยาค่อยหายทุกข์ไปเยอะเลย เสียงสดใสสดชื่นขึ้นทันที  แต่ก็ช่วยได้แค่นั้นแหละ  ที่เหลือต่างก็ต้องช่วยตัวเอง  

เรื่องเวทนานี้จึงเป็นเรื่องใหญ่  เราแบกมันไว้ตลอดเวลา แม้กระทั่งหลับ  เช้ามาก็ตื่นหาสุขเวทนาแล้ว อาหารอร่อยๆ กาแฟรสชาติดีๆ ใส่เสื้อผ้าสวยๆ แต่งหน้าทาปาก  ไปทำงานก็อยากให้คนรอบข้างพูดจาแต่สิ่งดีๆ นั่น สุขเวทนาทั้งนั้น สุขกับทุกข์มันเป็นของคู่กัน  เมื่อแสวงหาสุขก็เหมือนแสวงหาทุกข์  พวกเราต่างก็ตกเป็นทาสของสุขเวทนากันทั้งนั้น  เหตุแห่งทุกข์ก็คือการแสวงหาสุข

การแสวงหาสุขก็คือตัณหานั้นเอง  เป็นกามตัณหาบ้าง รูป เสียง กลิ่น รส  นี้  ภวตัณหาบ้าง อยากมี อยากได้ อยากเป็น  วิภวตัณหาบ้าง เพราะอยากสุข เลยไม่อยากมี (ทุกข์) ไม่อยากได้ (ทุกข์) ไม่อยากเป็น (ทุกข์)  ตัณหาแปลง่ายๆ ว่า  การแสวงหาสุข  การแสวงหาสุขคือเหตุแห่งทุกข์ คือสมุทัย  นิโรธคือการดับทุกข์ ดับตัณหา หยุดแสวงหาสุขเสีย  มรรคก็คือวิธีการหยุดการแสวงหาสุข  การหยุดแสวงหาสุข ก็คือวางสุขเสีย   ถ้าเห็นสุขตามความเป็นจริงว่า เป็นเหตุแห่งทุกข์ เป็นของหนัก จิตมันก็วางสุขลงเอง  แต่เพราะเห็นความสุขเป็นเรื่องจริง เป็นเรา เป็นของเรา มันก็แสวงหาอยู่เรื่อยไป  แต่ถ้าเริ่มเห็นสุขเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ต้องเสื่อมต้องดับไปเป็นธรรมดา หาแก่นสารไม่ได้  จิตมันก็เริ่มวางสุขลงเรื่อยๆ  ยิ่งวางเร็วเท่าใด ใจก็จะเห็นธรรมเร็วเท่านั้น  ลองหาเวลานั่งพิจารณาดูเอาเถิดว่า สุขๆ ๆ ที่เราแสวงหาอยู่นี่ มันของแท้ของจริงละหรือ  ทำไมใจเราไม่เคยอิ่มเลย 

เหตุที่เรามาปฏิบัติธรรม ก็เพราะใจเราไม่เคยอิ่ม มีคณะพระญี่ปุ่นไปถามหลวงปู่ชาว่า ปฏิบัติธรรมไปทำไม  หลวงปู่ชาตอบประมาณว่า กินข้าวทำไม ทำไมต้องกินข้าว กินแล้วได้อะไร พระญี่ปุ่นยิ้ม พอใจในคำตอบ  หลวงปู่ชาตอบแบบเซนเลย  นี่คือเหตุที่เรามาปฏิบัติธรรม เพราะใจเราไม่เคยอิ่ม เราให้อาหารมันผิด เราวิ่งหาสุขให้มัน มันเคยพอไหม  ถามตนเอง ใจเคยพอกับสุขที่แสวงหาอยู่ทุกวันไหม  แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี  พระพุทธเจ้าก็ตรัสไว้  มีไอโฟนห้า ก็จะเอาหก เอาเจ็ด  เอาถึงสิบ มันก็ยังไม่พอ  คนรวยที่รู้จักพอ หายากเหลือเกิน  คนรวยที่ไม่ปฏิบัติธรรม เพราะเห็นว่าสุขที่ได้รับจากการมีเงินมันก็ดีอยู่แล้ว จะปฏิบัติไปทำไม นี่คือคนที่น่าสมเพชที่สุด

ถ้าเขามีปัญญา เขาจะเห็นว่า พระพุทธเจ้าหรือเจ้าชายอื่นๆ ท่านมีทุกอย่าง มีมากกว่าคนรวยอย่างเขาเสียอีก แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ทิ้งทุกสิ่ง และเมื่อตรัสรู้ธรรม ท่านไม่กลับไปเอาทรัพยสมบัติราชวังอะไรอีกเลย  หรือแม้กษัตริย์องค์หนึ่งที่เคยเล่าให้ฟัง ทิ้งราชสมบัติมาบวช บรรลุอรหัตผล แล้วอุทานว่าสุขจริงหนอๆ ๆ  ท่านพบสุข วิมุตติสุขแล้ว มันสุขยิ่งกว่าราชสมบัติหลายร้อยเท่า

ปล่อยให้คนรวยที่ไม่ปฏิบัตินอนกอดสมบัติเขาไปเถิด แล้วสมบัตินั่นแหละจะแว้งมากัดเขา มากัดลูกหลานเขาอย่างน่าสลดใจที่สุด  เราแบกรูป แบกเวทนา นี่ก็หนักมากแล้ว 

ยังๆ ยังไม่พอ เรายังแบกสัญญา คือความจำได้หมายรู้ไว้อย่างมหาศาล  เรื่องราวในอดีตที่จบแล้วไปแล้ว แทนที่เราจะปล่อยให้มันจบไปตามธรรมดาของมัน เราก็ไปนั่งขุดคุ้ยมันขึ้นมา เดี๋ยวเรื่องนั้น เรื่องนี้  มันจบแล้ว ไม่ยอมให้จบ ไปหยิบมันขึ้นมาแบกใหม่  วางไม่ลง ปลงไม่ได้ เพราะไม่มีปัจจุบันธรรม คือสติ  

เท่านั้นยังไม่พอ สังขาร คือความคิดปรุงแต่งเล่า  วันหนึ่ง ๆเราคิดเรื่องนั่นเรื่องนี้กี่ร้อยกี่พันเรื่อง  ใจเราเคยสงบกันบ้างไหม  สัญญากับสังขารนี่มันคู่กันเลยล่ะ สำหรับคนที่ไม่มีสติ ไม่มีปัจจุบันธรรม  พอเรื่องนั้นผุดขึ้นมา (สัญญา) สังขารคือคิดปรุงแต่งก็ทำงาน  คิดเรื่องดี ก็สุข แบกเวทนาอีก  คิดเรื่องไม่ดี ก็ทุกข์ แบกเวทนาอีก

ส่วนขันธ์อันสุดท้าย เป็นเรื่องลึกซึ้ง คือเรื่องวิญญาณ คือความรู้แจ้งทางอารมณ์  พอตาเห็นรูป เกิดจักขุวิญญาณ คือตัวรู้ทำหน้าที่รู้ ใจเราก็ไปแบกวิญญาณไว้อีก เรื่องวิญญาณ เอาไว้ก่อน เป็นชั้นในสุดที่จะต้องละ 

หลวงปู่ดูลย์บอก  เอาแค่เรื่องรูป เรื่องเวทนา สัญญา สังขาร ที่รวมเรียกว่า อารมณ์ก่อน  ทรัพย์สมบัติของนอกกายก็เป็นรูปอย่างหนึ่ง  ใครที่ยังติดอยู่ในทรัพย์สมบัติ เห็นว่ามันเป็นของเรานี่ ยังถือว่าสติอ่อนอยู่มาก

พระพุทธเจ้าจึงสอนให้มีสติ พิจารณากาย พิจารณาลมหายใจ  เมื่อใดเห็นว่ากายก็ดี ลมหายใจ (กายเหมือนกัน) ก็ดี ไม่ใช่เรา ของเรา มันก็จะวางทรัพย์สมบัติไปโดยปริยาย  ขณะภาวนา หากเจริญสติปัฏฐานสี่ ฐานใดฐานหนึ่ง ขณะนั้นศีลห้าก็บริสุทธิ์แล้ว

คนที่ละเมิดศีลห้าเป็นอาจิณกรรม จะภาวนายาก  เพราะใจเขาจะซุกอยู่กับความเศร้าหมอง  อันเกิดจากการละเมิดศีลห้าเป็นปกติ  อย่างคนฆ่าสัตว์ เบียดเบียนสัตว์ ใจเศร้าหมอง เพราะอำนาจของโทสะ  จิตเต็มไปด้วยโทสะอยู่ตลอดเวลา (คอยคิดเบียดเบียนอยู่ตลอด)  ภาวนายังไงก็ไม่เข้า  ลักทรัพย์ จิตก็เต็มไปด้วยอำนาจโลภะ  จิตก็เศร้าหมองอีก  ติดอยู่ตรงนั้น ภาวนาอย่างไรก็ไม่เข้า คิดจะเอาของคนนั้นคนนี้ คิดโกงตลอด  เมื่อใดที่มีสติ เมื่อนั้นก็มีศีล  อย่างข้อสาม จิตก็มีราคะ  ภาวนาอย่างไรก็ไม่เข้า

ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่างไร รู้หรือเปล่า  จิตมีโทสะก็ให้รู้ จิตมีราคะก็ให้รู้   นั่นคือเมื่อจิตออกจากโทสะ ออกจากราคะ ออกจากโลภะ มาอยู่กับรู้ มาอยู่กับสติ ขณะนั้น ศีลก็บริสุทธิ์แล้ว  

คนที่ละเมิดศีลเป็นปกติ ถามว่า เขาจะออกมาได้ง่ายไหม  ขนาดคนปฏิบัติยังยากในบางทีเลย แล้วคนที่ทุศีล จะออกมาได้หรือ  บางคนยังเห็นโทสะเป็นของเอร็ดอร่อย เห็นราคะ โลภะเป็นของเอร็ดอร่อย  จะออกมาได้ง่ายหรือ นั่นแหละท่านจึงว่า คนที่มีศีลไม่บริสุทธิ์ จึงภาวนาไม่เข้า  

สตินี่แหละคือศีล  สตินี่แหละคือสมาธิ  สตินี่แหละคือปัญญา  เมื่อมีสติก็มีศีลอยู่ในตัว  แต่คนละเมิดศีล คือคนที่ขาดสติ  ถ้ามีสติ จะไม่ทำผิดศีล  เมื่อไม่มีสติ ภาวนาอย่างไรก็ไม่เข้าครับ  

ลมหายใจเข้ารู้ หายใจออกรู้ หากทำต่อเนื่อง ขณะนั้นได้ทั้งศีล สมาธิ และปัญญาจะได้ขณะนั้น   เมื่อภาวนามากเข้าๆ ๆ ๆ จนได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระอริยบุคคลเบื้องต้น เขาจะเลิกโกหกไปโดยปริยาย  อยู่ที่การตั้งจิต  

พวกที่โกหกบ่อยๆ พวกนี้จิตจะสงบยาก  เรื่องที่โกหกมันตามมาหลอกหลอนเขาตลอด  ใจเขานั่นแหละรับกรรมก่อนกายขันธ์  หรืออย่างคนฆ่าสัตว์เป็นอาจิณ พอมาภาวนา ภาพสัตว์ต่างๆ จะมาหลอกหลอน ภาวนาไม่สงบหรอก   ต้องเลิกฆ่าสัตว์ไปสักพัก ตอนนั้น เท่ากับศีลข้อหนึ่งบริสุทธิ์แล้ว  คนโกหกก็เหมือนกัน  จิตคอยปรุงแต่งเรื่องราวโกหกตลอด แล้วมันจะสงบได้อย่างไร  จิตสงบต่อเมื่อหยุดปรุงแต่ง  ต้องเลิกโกหกสักพักก่อน ปรับจิต ปรับสติก่อน   องคุลีมาน ฆ่าคนตายเป็นอาจิณกรรม พอพบพระพุทธเจ้า ก็ไม่ใช่ว่าฟังธรรมแล้วจะบรรลุ  ต่อเมื่อบวชสักพัก เรียนรู้ ถือศีล เลิกฆ่าสัตว์ก่อน  เจริญสติ ภาวนา สักพักก่อนนั่นแหละจึงบรรลุธรรม  

คนโกหกเมื่อบรรลุธรรม แม้จะเลิกโกหก แต่กรรมที่ทำไว้ก็คอยสนองอยู่จนกว่าจะดับขันธ์นั่นแหละ  ภาวนาไม่เป็น  ไปติดที่ความสงบ  พอออกมาโลกภายนอกมันไม่สงบ  จิตก็ระเบิดออกมาในรูปความเกรี้ยวกราด  

เคยเห็นไหม คนไปวัดทำสมาธิ กลับมาบ้าน โมโหร้ายกว่าเดิม  ไปติดที่ความสงบ  เป็นความสงบที่ไม่ได้เกิดจากสติปัญญา  แต่เกิดจากการเพ่งบริกรรม  หนีอารมณ์เข้าไปอยู่กับสิ่งที่เพ่งบริกรรม  

ถ้าเจริญสติในแนวสติปัฏฐานสี่จะไม่เกรี้ยวกราด  เพราะจะรู้เท่าทันอารมณ์ เห็นอารมณ์ตามความเป็นจริง  หากเห็นอารมณ์ตามความเป็นจริง จิตจะไม่จับอารมณ์ เมื่อจิตไม่จับอารมณ์ จะเอาความเกรี้ยวกราดมาจากไหน  อารมณ์เกิดแล้วดับไปอยู่ตรงหน้านั่นแหละ  เขาคนนั้นที่ปฏิบัติแนวนี้ ก็จะสงบเยือกเย็นอยู่ตลอด   เพราะอารมณ์ใด ไม่ว่าอารมณ์ภายนอก (คนอื่น) หรืออารมณ์ภายในใจตน  มันก็ไม่ต่างกัน คือมีชะตากรรมเดียวกัน นั่นคือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป  ใจเมื่อเห็นอารมณ์ตามจริงอย่างนี้ ก็ไม่ถือสาว่า การมีสติรู้เท่าทันลม รู้เท่าทันอารมณ์ จึงเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง จะไม่เกรี้ยวกราด โมโหร้าย  การปฏิบัติ เวทีจริงจึงสำคัญ  ของผมอย่างที่เคยบอก กลางคืนซ้อมรบ กลางวันรบจริง  แรกๆ ก็แพ้ เพราะไม่รู้ทางมวย  แต่เมื่อเราซ้อมหนักเข้าๆ ๆ ๆ สติมันจะแข็งกล้าๆ ๆ ๆ ขึ้น

สติก็คือมรรค  เมื่อมรรคกล้าก็ฆ่ากิเลส  เมื่อกิเลสกล้าก็ฆ่ามรรค  ทำใจกลางๆ ดีที่สุด  จริงๆ ไม่มีใครฆ่ากิเลสหรอก  เพียงเรารู้เท่าทัน มันก็ดับชักดิ้นชักงอไปเอง  ไม่ต้องลงมือฆ่า แค่รู้เท่า  กิเลสหรืออารมณ์ หากใจเราเป็นกลาง มันจะเข้าไม่ถึง  มันจะดับอยู่ตรงหน้าให้เห็นจะจะ

คนที่เจริญสติมีกำลัง การมาการไปของใจจะเปลี่ยนไป  แต่ก่อนใจจะวิ่งไปหาอารมณ์ตลอดเวลา  แต่เมื่อฝึกสติมีกำลัง ใจจะหยุดวิ่ง จะหยุดอยู่กับสติ  อารมณ์มันก็เก้อเขินทำอะไรไม่ได้ง่ายเหมือนเมื่อก่อน  มันคล้ายใจกลับบ้านแล้ว นั่งดูอารมณ์เหมือนรถวิ่งผ่านไปผ่านมา  

ขณะที่รู้ทัน รู้เท่า ขณะนั้นใจก็อยู่กับสติโดยอัตโนมัติ  เนื่องด้วยธรรมชาติของสติมันคือความเยือกเย็น สงบ เป็นกลาง  เมื่อใจอยู่กับสติมากเข้าๆ ๆ มันจะเรียนรู้ไปเองว่า การอยู่กับสติมันสงบสุขมากกว่าการวิ่งตามอารมณ์สุข อารมณ์ทุกข์  

จิตฟุ้งซ่านก็ให้รู้ นี่คือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน  เมื่อจิตออกมาอยู่กับรู้ กับสติ ความฟุ้งซ่านก็เป็นเรื่องความฟุ้งซ่าน จิตก็เป็นเรื่องของจิต  แล้วจะพบว่า แม้ฟุ้งซ่านจิตก็สงบ เป็นสมาธิได้  มันจะสงบอยู่ท่ามกลางความไม่สงบ  แต่อย่าหนีความไม่สงบเข้าไปอยู่กับความสงบ มันจะไม่ได้อะไร  บางคนจะหลงเห็นเป็นนิพพานอะไรไป ตรงนั้น แม้จะสุขมาก แต่พระบรมศาสดาก็บอกว่า ไม่ใช่ทาง  สุขตรงนั้น หลวงปู่มั่นบอกหลวงตามหาบัวว่า เป็นสุขขี้ฟันของวิมุตติสุขแค่นั้นเอง   การเจริญสติปัฏฐานสี่ ก็คือสอนจิตให้ฉลาด  เมื่อจิตฉลาด มันจะรู้เองว่า ระหว่างอารมณ์ กับสติ มันจะเลือกใคร   

พระพุทธเจ้าจึงเน้นว่า หายใจเข้าให้รู้ หายใจออกให้รู้ ให้มีสติรู้ในกาย ในอริยาบถทั้งหลาย  เมื่อเสวยสุข หรือทุกข์ ก็ให้รู้  เมื่อจิตมีราคะก็ให้รู้ มีโทสะก็ให้รู้ เมื่อจิตฟุ้งซ่านก็ให้รู้  แค่รู้เท่า มันก็ทำอะไรไม่ได้  พระพุทธเจ้าสอนให้ทิ้งฌานด้วยนะ  ไปดูเอาเถิด ในจิตตานุปัสสนา   เมื่อจิตมหรคต (จิตเป็นฌาน) ก็ให้รู้ นั่นคือ ให้ออกมาจากฌานเสีย  คือ จิตเป็นฌานก็ให้รู้ ให้ออกจากฌาน (การเพ่ง) มาอยู่กับสติ อยู่กับรู้  หรือหลายๆ ท่าน ที่เคยติดความว่าง ผมก็บอกว่า ให้ออกจากความว่าง ให้มาอยู่กับรู้  เอามาจากคำสอนพระพุทธเจ้านี่แหละ 

ถ้าว่างจะไม่รู้ ถ้ารู้จะไม่ว่าง อันนี้ พาคนออกจากความว่างได้หลายคนแล้วนะ  หลวงพ่อพุธสอนว่า  คำว่า รู้ ก็คือสติ คือรู้สึกตัวทั่วพร้อม แค่รู้เท่า รู้ทัน มันก็เป็นสติอยู่ในตัว เพราะอะไร เพราะเมื่อมีอารมณ์ใดๆ เกิด พอเรารู้เท่าปั๊บ เราก็ออกมาจากอารมณ์นั้น พอออกมา จิตจะไปไหน มันก็ออกมาอยู่กับสติโดยอัตโนมัติ นี่คือความชาญฉลาดของพระพุทธเจ้าในคืนตรัสรู้ธรรม 

แต่ก่อน  ผมก็ไม่เข้าใจที่พระพุทธองค์สอนหรอก ยืน เดิน นั่ง นอน  ให้รู้ หายใจเข้าออก  ให้รู้ เห็นอารมณ์ใดๆ ก็ให้รู้เท่าว่า มันไม่เที่ยง ต่อมาภายหลังเห็นอะไรเป็นอะไร อ๋อ พระพุทธเจ้าสอนสติวิ่งเข้าหากัน วิ่งเข้าหาอย่างไร ลมหายใจเข้าออกให้รู้ ให้จิตเป็นกลาง ยืน เดิน นั่ง นอน  ให้รู้ เพื่อให้จิตชินกับรู้ กับสติ   กายคตาสติ การพิจารณากาย เป้าหมายคือ  เมื่อเห็นกายไม่ใช่ของสะอาด ไม่เที่ยง ต้องเสื่อมต้องพัง   ใจก็ออกจากความยึดมั่นในกาย  เมื่ออกมาจากความยึดมั่น  ใจก็มีสติขึ้นโดยอัตโนมัติ  

จิตมีสุข มีทุกข์ (เวทนา) พระองค์ก็สอนให้เห็นว่า มันไม่เที่ยง ให้เห็นโทษในสุข ในทุกข์นั้น จิตมันก็ออกมา เมื่อออกมา จะไปไหน มันก็ออกมาอยู่กับสตินั่นเอง  พระโกณฑัญญะ พอฟัง  ก็เห็นโทษในทุกข์  ในสุข  จิตก็ออกมาตั้งมั่น เป็นสัมมาสมาธิเลย เห็นธรรมเลย 

จิตมีโทสะ ก็ให้รู้ จิตมีราคะก็ให้รู้ จิตฟุ้งซ่านก็ให้รู้ พอรู้เท่าปั๊บ จิตก็ออกมาจากโทสะ ออกมาจากราคะ ออกมาจากความฟุ้งซ่านนั้น แล้วจิตจะไปไหน มันไม่ไปไหนหรอก เมื่อมันอยู่ที่ไหนไม่ได้ มันก็ออกมาอยู่กับสติโดยอัตโนมัติ เมื่อลิ้มรสอำนาจแห่งความเย็น ความสงบ ความเป็นกลาง ไม่ไปซ้าย ไปขวา ขึ้นบน ลงล่าง  มีสติอยู่เนือง ๆ ที่อยู่ของใจจากเคยอยู่กับอารมณ์ อยู่กับโทสะ ราคะ ฟุ้งซ่าน ก็เริ่มเปลี่ยนไปโดยปริยาย มาอยู่กับรู้ กับสติมากขึ้นๆ ๆ ๆ จนตั้งมั่น เป็นสมาธิ   สมาธิแปลว่า ความตั้งมั่นของจิต เมื่อจิตตั้งมั่น ก็จะเห็นรูป นาม ตามความเป็นจริงอย่างชัดแจ้งเหมือนตาเห็นรูป  

เมื่อเห็นตรงนี้ก็จะเลิกฆ่าสัตว์ เลิกเบียดเบียนผู้อื่น เลิกลักทรัพย์ เลิกผิดลูกผิดเมีย เลิกโกหก เลิกกินเหล้าโดยเจตนาไปเป็นอัตโนมัติ หลังจากนั้นก็ไม่ต้องเคี่ยวเข็ญจิตมากแล้ว มันจะทำของมันเองโดยไม่ต้องมีใครมาบอก ส่วนสตินั้นหรือ มันก็มาเองโดยไม่ต้องกำหนด มันจะมากเข้าๆ ๆ ๆ ๆ จนเป็นสติบริสุทธิ์ในที่สุด  

เมื่อเห็นความไม่เที่ยงของทุกสิ่ง ไม่ว่ารูปหรือนาม ใจก็จะไม่เข้าไปหมายมั่น เมื่อไม่เข้าไปหมายมั่น ก็ตั้งมั่น  เมื่อหมดอยากมันก็หยุด หยุดก็คือตั้งมั่น เราหยุดแล้ว แต่ท่านสิยังไม่หยุด จริงๆ มันลึกซึ้งกว่าที่เขาแปลๆ กันอยู่นะ พระองค์ไม่ได้หมายความว่าหยุดเฉพาะฆ่าสัตว์ แต่ใจท่านหยุดวิ่งตามอารมณ์ทั้งปวงต่างหาก  หยุดความอยาก ดับตัณหา ดับเพลิงกิเลส นิโรธ ที่ใจท่านหยุด ท่านไม่ได้ทำอะไรมากหรอก เพียงแต่ท่านเห็นตามความเป็นจริงว่า อารมณ์ทั้งปวงไม่ใช่เรา ของเรา เท่านั้นเอง เหมือนเราเคยวิ่งตามลูกอยู่ตลอดเวลา เพราะเห็นว่า  ลูกเป็นของเรา วันหนึ่งตามไปทันเห็นหน้า เห็นตามความเป็นจริงว่า ที่แท้ไม่ใช่ลูกเรา ก็หยุดวิ่งเองอัตโนมัติ  

ท่านสอนอนัตตลักขณสูตรก็เพื่อวัตถุประสงค์อันนี้แหละ  ให้เห็นว่า ทั้งรูป นาม  อารมณ์  ที่เราแบก เราวิ่งตามมันอยู่นั่นน่ะ มันไม่เที่ยง หาแก่นสารไม่ได้ ควรหรือจะพึงหมายมั่นว่านั่นคือเรา ของเรา  เมื่อเห็นตามจริงเช่นนี้ ใจมันก็หยุด ใจมันก็วาง ใจมันก็ไม่ปรุงแต่งความอยาก ใจมันก็ไม่คิดจะแสวงหาสุขอีกต่อไป  เมื่อใจหยุดแสวงหาสุข  ใจก็ไม่ทุกข์  สงบ ระงับ นิพพาน 

เมื่อรู้จริงวันใด ใจมันก็หยุดซื้อไปเองโดยอัตโนมัติ  จะหันมาสวมใส่แต่ชุดขาวคือแม่ชี  ถึงเวลาใจนั่นแหละจะเป็นคนกำหนดชุดที่จะสวมใส่เอง    นางวิสาขา บรรลุโสดาบัน ก็ยังติดในของสวยงามอยู่เป็นธรรมดา แต่เมื่อใจนางบรรลุอนาคามีผลเมื่อใด มันจะเลิกของสวยงามไปเอง เพราะอนาคามี พอขึ้นอนาคามีมรรค มันจะหยุดของสวยงามไปเอง อารมณ์ยินดีในของสวยงามผ่านมาแล้วผ่านไป ใจไม่เข้าไปคว้าฉวยเลย  เมื่อเราเดินมรรคถูก ผลที่ตามมาก็จะถูก   ถ้ารู้เท่า 

พระอรหันต์มากมาย ท่านสร้างเจดีย์สวยๆ ทั้งนั้น เห็นไหม  แต่ท่านก็ไม่ติดในความสวยนั้นๆ  อย่างที่ร้อยเอ็ด ที่หลวงปู่ศรี มหาวีโร  สร้างพระมหาเจดีย์ชัยมงคล  สวยงามวิจิตรมาก  อยู่กับงูพิษ ถ้าเรารู้เท่าทัน งูก็ทำอะไรเราไม่ได้  แต่เราหลับเมื่อใด งูกัดทันที  ดังนั้นจงตื่นรู้อยู่เสมอ นั่นก็คือให้มีสติรู้เท่านั่นเอง 

ขอความเจริญในธรรมโปรดมีแก่ท่านผู้อ่านทุกท่าน และขออนุโมทนา สาธุ  กับท่านที่ติดตามอ่านด้วยเทอญ