ความยึดมั่นในขันธ์ 5

แสดงธรรมกลุ่ม Natural Mind เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2558
ท่านทรงกลด : วันนี้ พระพุทธเจ้าให้ผมมาแสดงธรรมเรื่อง อุปาทาน ให้พวกเราฟังกัน หากท่านฟังหรืออ่านส่งกระแสจิตตามไป จะเห็นธรรมตามความเป็นจริงได้โดยไม่ยาก
อุปาทาน แปลว่า ความยึดมั่น ถือมั่น ยึดมั่นอะไร ทำไมต้องละอุปาทานคือ ความยึดมั่น หากใครเคยสวดมนต์ทำวัตรเช้า จะมีบทสวดตอนท้ายๆ อยู่บทหนึ่ง ที่ว่า ชาติปิทุกขา, ชราปิทุกขา การเกิด การแก่ การตาย เป็นทุกข์ แม้ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจก็เป็นทุกข์ ความประสบกับสิ่งที่ไม่รักก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์ ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ ว่าโดยย่อ อุปาทานในขันธ์ห้านี่แหละคือ ตัวทุกข์
พระพุทธเจ้าสรุปว่า เพราะอุปาทาน คือ ความยึดมั่นในขันธ์ห้านี่แหละคือ ทุกข์อย่างไม่ต้องสงสัย
ยึดมั่นว่ารูป (กาย) นี่เป็นเรา ของเรา
ยึดมั่นว่า เวทนา คือ ความสุข ความทุกข์ ความยินดี ยินร้าย เป็นเรา ของเรา
ยึดมั่นว่าสัญญา คือ ความจำได้หมายรู้ ความหลังทั้งปวง คือเรา ของเรา
ยึดมั่นว่าสังขาร คือ ความคิดปรุงแต่งทั้งปวง คือ เรา ของเรา
ยึดมั่นว่าวิญญาณ คือ ความรับรู้อารมณ์ทั้งปวง คือ เรา ของเรา
นี่แหละคือ เหตุแห่งทุกข์
เมื่อตอนที่ผมรู้เห็นอะไรใหม่ แล้วนั่งสมาธิ พอจิตสงบ ก็ปรากฏเห็นเป็นตะปูยาวประมาณคืบถูกถอนออกจากหัวใจ ต่อมาไปอ่านพระไตรปิฎก กล่าวว่า ผู้รู้เห็นธรรม ตะปูที่ตรึงจิตจะได้ถูกถอดถอนออกแล้ว ตะปูนี่แหละคือ อุปาทาน มันยึดจิตไว้ตรึงไว้มั่น
ให้เห็นว่ากายนี้เป็นเรา เราถูกตี เราเจ็บปวด เราหิว
ให้เห็นว่า สุขทุกข์นี่เป็นเรา เราจึงสุข จึงทุกข์
ให้เห็นว่าความจำได้หมายรู้คือ เรา เราจึงจำเรื่องต่างๆ ทั้งดีและไม่ดี ไว้อย่างยึดมั่น
ให้เห็นว่าคิดนี่คือ เรา เราจึงคิดนั่นคิดนี่ จนฟุ้งซ่านอยู่ตลอดทั้งวันทั้งคืน
วันนี้ เราจะมาศึกษาเพื่อละอุปาทานกัน รูปูปาทานักขันโธ ความยึดมั่นในรูป (กาย) นี้ว่าเป็นเรา ของเราคู่ปรับที่จะชำระสะสางความยึดมั่นในกายของเรานี้ ก็ไม่มีอะไรอื่น นั่นคือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เอ! กลิ่นธูปมาจากไหนอีกแล้ว กลิ่นฟุ้งทีเดียว อย่างที่เคยบอก เวลาแสดงธรรมให้พวกเราฟัง ผมรู้สึกว่า ไม่เฉพาะพวกเราที่กำลังฟังอยู่นะ ตอนที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรมให้พวกปัญญจวัคคีย์ฟัง ว่ากันว่า เทวดาสิบแปดโกฏิก็ได้ฟังไปด้วย เรื่องแบบนี้ ถ้าเราปฏิบัติถึง จะประจักษ์ใจเอง
เมื่อเช้าลงมานั่งภาวนา ก่อนนั่งคิดอยู่ว่า จะแสดงเรื่องใดดี พอจิตสงบ ก็ปรากฏคำว่า อุปาทานๆ ขึ้นมา อุปาทานในกายนี้ คู่ปรับก็คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เช่น กายคตาสติ พิจารณาอาการสามสิบสอง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ให้เห็นเป็นเพียงแค่ธาตุดิน กับธาตุน้ำ ธาตุดินคือ ส่วนที่แข็ง ธาตุน้ำคือ ส่วนที่เหลว อย่างเช่น ผม นี่ ลองพิจารณาดูความจริงเถิดว่ามันใช่เรา ของเราจริงหรือไม่ ผมร่วงลงทุกวัน บางคนร่วงจนจะหมดศีรษะ ถ้าเป็นของเราจริง ก็บอกมันว่า ผมเอ๋ย เจ้าอย่าร่วง อย่าหงอกเลยนะ ทำได้หรือเปล่า ถ้าทำได้ แสดงว่า มันเป็นของเราจริงๆ เพราะบังคับมันได้ จริงๆ แล้ว มันทำไม่ได้หรอก ทั้งขน เล็บ ฟัน หนัง ทั้งหมด มันไม่อยู่ภายใต้อาณัติบังคับบัญชาของใครทั้งนั้น เวลาฟันจะหัก จะโยก มันก็หัก โยก แบบไม่ฟังเราเลย เวลากายนี้ จะเจ็บจะป่วย จะหิว ก็ห้ามไม่ได้เลย อย่างผมนี่ ผมเคยพิจารณาจนเห็นมันร่วงลงไปแปรสภาพเป็นดินต่อหน้าต่อตาเลย พอเห็นตรงนี้ จิตมันก็หายสงสัยไปเอง หากท่านพิจารณากาย แล้วเห็นแม้เพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง (เห็นในจิตนะ) แค่นี้ ประตูพระนิพพานก็เปิดแล้ว หากไม่บรรลุธรรมในชาตินี้ ก็ต้องบรรลุธรรมในชาติต่อๆ ไปอย่างมิต้องสงสัย
พระยสะกุลบุตร ชาติหนึ่งตนกับพวกทำหน้าที่คล้ายปอเต็กตึ้งในสมัยนี้ คือ ชอบเก็บศพตามถนนมาเผาเอาบุญ ครั้งหนึ่งเก็บศพมาเผาตามปกติ ว่ากันว่า พระยสะ ในชาติหนึ่งร่วมกันทำบุญเก็บศพอนาถานำมาเผา วันหนึ่ง พบศพหญิงมีครรภ์ จึงนำไปเผาที่ป่าช้าแห่งหนึ่ง ทำกับเพื่อนอีกห้าสิบสี่คน พระยสะกับเพื่อนอีกสี่คนอยู่ช่วยเผาศพ ส่วนที่เหลือให้กลับบ้าน ระหว่างนั้นตนก็แทงและพลิกศพเพื่อให้ไหม้ไฟอยู่ ขณะนั้น จิตก็เกิดไปพิจารณากายของศพนั้น เห็นกายของศพนั้นเป็นสิ่งไม่สวยงามเอาเสียเลย จนเกิดนิมิตในใจ เรียกว่า อสุภสัญญา (จิตจับภาพความไม่สวยงามของร่างกาย) พระยสะจึงบอกเพื่อนอีกสี่คนให้พิจารณากายของศพนั้นบ้าง สี่คนนั้นก็เกิดภาพความไม่สวยงามของกายเช่นกัน จากนั้นก็ไปบอกบิดามารดาตน กับเพื่อนๆ อีกห้าสิบคน ให้พิจารณาความไม่สวยงามของกาย จนเกิดอสุภสัญญาเช่นกันหมดทุกคน ด้วยผลของพิจารณาศพนี้ ทำให้พระยสะ บิดา มารดา และสหายห้าสิบกว่าคนนั้น เกิดมาพบพระพุทธเจ้าและได้ฟังธรรม บรรลุโสดาปัตติผลและอรหัตผลตามลำดับ
การพิจารณากายนี่จึงสำคัญมาก พระพุทธเจ้าจะสรรเจริญกายคตาสติมากๆ หากผู้ใดเจริญแล้ว จิตสงบแม้เพียงครั้งเดียว ก็เหมือนได้ทำบุญสร้างโบสถ์วิหาร แต่ที่เราเจริญ ไม่ได้มุ่งหมายจะเอาบุญ ที่เราเพียรเจริญสติ ภาวนา ก็เพื่อไปให้มันพ้นบุญ พ้นบาป อยู่เหนือดีเหนือชั่ว หากยังอยู่กับบุญและบาป ก็จะยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ ที่เราเจริญกายคตาสติ ก็เพื่อละอุปาทานในรูปกายนี้
ผม เรามองว่าเป็นสิ่งสวยงามหรือไม่สวยงาม ถ้าเห็นเป็นสิ่งสวยงาม แสดงว่ายังไม่เห็นตามความเป็นจริง ยังเดินมรรคในสัมมาทิฐิไม่ถูกต้อง ลองถอนผมหย่อนลงในชามแกงสองสามเส้น เราจะกินต่อหรือเทแกงนั้นทิ้ง เราพิจารณาอาการสามสิบสองในแง่ของอสุภะ คือความไม่สวยงาม เล็บ ลองโยนเล็บใส่ชามข้าวดูเถิด เราจะกินต่อไปได้หรือไม่ เราพิจารณาเพื่อให้เห็นกายนี้ตามความเป็นจริงว่า ที่แท้มันไม่ได้สวยงาม เวลาผมร่วง ไม่นานนัก ผมนั้นก็จะย่อยสลายกลายเป็นดิน นี่คือ ความจริงที่สุด ผมมาจากดิน สุดท้ายก็ต้องกลับไปเป็นดิน อันอื่นก็เหมือนกัน มูตรมาจากน้ำ ก็ต้องกลับไปเป็นน้ำ ทั้งอาหารเก่า อาหารใหม่ มาจากไหน ก็กลับไปยังที่มันมาทั้งนั้น กายนี้เป็นเพียงการประชุมพร้อมกันของธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม เท่านั้นเอง สิ่งใดเล่าที่หมายว่าคือเรา ของเรา ตื่นรู้ เห็นรูปกายนี้ตามความเป็นจริงได้แล้ว
ลม มาจากไหน ลมหายใจ ก็มาจากอากาศธาตุ เรายืมมา แล้วคืนไป ยืมมาแล้วคืนไป อันไหนที่เรียกว่าเรา จะไปถือว่า ลมหายใจเป็นเรา ของเราได้จริงหรือ ลองสูดลมหายใจเข้าตอนนี้ สูดลึกๆ เลย แล้วกลั้นไว้ ทนได้ไหม ทนไม่ได้ หายใจออกได้ไหม ไม่ได้หรอก นี่แหละภาษาธรรมเรียกว่า ทุกขัง เราควรตื่นรู้ได้แล้วว่า ลมหายใจที่เราสูดมาจากอากาศธาตุนั้นแท้จริงจะถือเป็นเรา ของเราไม่ได้ ลมหายใจสูดเข้าแล้วต้องปล่อยออกไป ลมใหม่ที่สูดเข้ามา เราก็ไม่รู้เลยว่า มันใช่ลมอันเดียวกับที่เราเพิ่งหายใจออกไปเมื่อสักครู่หรือไม่ ลมหายใจกับผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ก็ไม่ต่างกันหรอก มันสักแต่ว่าธาตุเท่านั้นเอง จะถือเป็นตัวตนสัตว์บุคคลได้ที่ไหน ยอมรับความเป็นจริงของสภาวธรรมของเขา (ธาตุ) เสียเถิด
ผมจึงแสดงอานาปานสติ (จัดอยู่ในกายานุปัสสนา) เพื่อให้เห็นว่า เมื่อหายใจเข้าครั้งแรก สติ คือ ความรู้สึกตัวจะเกิด เมื่อหายใจออกไป ให้พิจารณาลมนั้นว่า มันไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ต้องขับปล่อยออกมา และหาแก่นสาร ตัวตนที่แท้จริงของลมหายใจไม่ได้ หากพิจารณาเห็นจริง เราจะแยกจิตออกจากลม ออกจากกายได้ จะเห็นว่าลมก็ลม จิต (สภาวะรู้) ก็จิต เมื่อแยกจิตออกจากลมได้ ก็ไม่ยากที่จะแยกจิตออกจากอารมณ์ได้ มันสัมพันธ์สอดคล้องกันไปหมด เมื่อเห็นธรรมอย่างหนึ่ง ก็จะเห็นอีกอย่างหนึ่งในเวลาเดียวกัน เมื่อกายนี้ไม่ใช่เรา มันก็น้อมไปสู่การเห็นอารมณ์ (เวทนา สัญญา สังขาร) ไม่ใช่เราด้วย การเห็นกายนี้ว่าไม่ใช่เรา ของเรา เป็นเบื้องตนที่สำคัญ
อย่างตอนบวช พระอุปัชฌาจารย์ก็จะให้ปัญจกรรมฐาน คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง กับพระบวชใหม่ เพื่อนำไปพิจารณา หลวงตามหาบัว หลวงปู่มั่น หลวงปู่ชา ก็สอนให้พิจารณากาย เราอยู่กับมัน แต่ไม่เคยรู้ความเป็นจริงของมันเลย เพ่งนอกคือ สมุทัย หลวงปู่มั่นบอกให้เพ่งในคือ ให้พิจารณากายนี่แหละ
ถ้าพวกเราอ่านที่ผมเคยแสดงเกี่ยวกับกาย รวมทั้งวันนี้ แล้วพิจารณาตามไป จิตท่านจะเริ่มเห็นตามความเป็นจริงของกายนี้บ้างแล้ว ยิ่งอายุมากขึ้นๆ จะเห็นความเป็นจริงของกาย เช่น ผิวที่เริ่มเหี่ยว ผมหงอกขาว ร่วง โรคภัยเริ่มเบียดเบียน เพราะกายนี้เป็นเพียงแค่ที่พักอาศัยชั่วคราว ไม่นานมันก็แตกดับไปตามเวลา เหมือนอย่างที่รุ่นพ่อแม่เราที่ทยอยถึงแก่กรรมกันไป วันหนึ่งก็ถึงเวลาของกายเราเหมือนกัน มันหนีไม่พ้น สังขาร คือ กายนี้ ต้องเสื่อมต้องดับ ห้ามไม่ให้เจ็บป่วย ชราและตายไม่ได้ จิตเราเท่านั้นที่ไม่มีวันตาย ขอให้พิจารณากาย อาการสามสิบสองในลักษณะเป็นของไม่สวยงาม เป็นอนิจจัง คือ ไม่เที่ยง ทุกๆ วัน อย่างน้อยก่อนนอน วันละสิบห้านาที
เมื่อพิจารณาเนืองๆ เรียกว่า เจริญกายคตาสติ จิตก็จะเริ่มเห็นความเป็นจริงมากขึ้นๆ จนวันหนึ่ง มันจะแสดงความอัศจรรย์ในใจขึ้นมา วันนั้น ท่านจะหายสงสัยว่า ตกลงแล้ว กายนี้คือ เราหรือใครกันแน่ อาการที่ปรากฏ มันเป็นปัจจัตตัง ของใครของมัน แต่ลงรอยเดียวกันอย่างหนึ่งคือ จิตจะหายสงสัย จะเห็นว่า กายนี้ไม่ใช่เรา ของเราอีกต่อไป วันนั้น ท่านละรูปู ปาทา นักขันโธ ได้แล้ว คือ ละความยึดมั่นในกายนี้ว่าเป็นเรา ของเราได้ แต่ยังไม่จบ นี่เป็นเพียงปฐมบทเท่านั้น เห็นตรงนี้ ยังไม่ถือว่าได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระอริยบุคคลเบื้องต้นคือ พระโสดาบัน แต่มันจะนำหรือน้อมไปสู่การเห็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าไม่ใช่เราในภายหลัง นี่คือเหตุผลว่า ทำไมผมจึงเน้นการเจริญสติให้รู้เท่าทันอารมณ์ระหว่างวันเป็นอย่างมาก มันจะเสริมซึ่งกันและกัน และมันจะทำให้ท่านบรรลุโสดาบันได้อย่างรวดเร็ว เอาแค่โสดาบันก่อน อย่าเพิ่งไปพูดถึงสกทาคามี อนาคามีหรืออรหัตผลเลย
พระโสดาบันนี่ แค่จิตเห็นตามความเป็นจริงว่า รูป นาม ขันธ์ห้า อารมณ์ทั้งปวง จะถือเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นเขาไม่ได้ แค่นี้เอง ยังละราคะ โทสะ อะไรไม่ได้ ผมเคยไปวัดแห่งหนึ่ง มีโยมถามพระว่า พระโสดาบันมีครอบครัวได้หรือไม่ (ตอนนั้น คนสงสัยท่าน… ว่าบรรลุโสดาบัน) พระตอบว่า มีไม่ได้ ผมได้ยิน จิตมันโต้ออกมาเลยว่า ทำไมจะมีไม่ได้ ในเมื่อพระโสดาบันยังมีราคะ โทสะครบอยู่ แต่ก็ไม่สอดเถียงอะไรกับพระท่าน ถ้าใครจำได้ ผมเคยพูดหลายครั้งว่า พระโสดาบันละสังโยชน์สามได้ สังโยชน์อันแรกคือ ละสักกายทิฐิได้ สักกายทิฐินี้แหละคือ ความเห็นผิดว่ากายก็ดี อารมณ์ก็ดีเป็นตัวตนเราเขา
วันใดที่เห็นว่า กายก็ดี อารมณ์ สุขทุกข์ทั้งปวงก็ดี ไม่ใช่เรา วันนั้นละสักกายทิฐิได้ ผมใช้ว่า “เห็น” นะครับ ไม่ใช่คิดทึกทักเอา ความเห็นนี่มันจะเกิดต่อเมื่อท่านเจริญสติ ไม่ว่าเจริญกายคตาสติ หรือเจริญเวทนานุปัสสนา แล้วจิตสงบตั้งมั่นขึ้น แยกกาย แยกอารมณ์ออกจากจิตให้เห็น เหมือนตาเห็นรูป เป็นความเห็นที่เกิดต่อจากจิตที่สงบ ความเห็นนี่แหละเขาเรียกว่า ญาณ ยถาภูตญาณทัศนะ คือ ญาณที่เห็นรูป นามตามความเป็นจริง ความเห็นนี่จะละอุปาทานได้
เห็นไหม ท่านพุทธทาสบอกว่า เมื่อเห็นตามความเป็นจริง มันก็ไม่ยึดมั่น มันคลายออก เหมือนอย่างที่ผมเคยยกตัวอย่างกับท่าน… เมื่อหลายเดือนก่อนว่า ท่านขับรถไปกินข้าวริมถนน แล้วจอดรถไว้ห่างร้านมาก เพราะไม่มีที่จอด แล้วอยู่ๆ ก็มีเด็กในร้านวิ่งมาบอกท่านว่า รถของท่านถูกชน ท่านทุกข์ทันที เพราะรถของกูถูกชน เพื่อนที่ไปด้วยก็บอกว่า รถมีประกันกลัวอะไร อีกคนบอก ถูกชน ก็กลับแทกซี่ก็ได้ ท่านก็ทุกข์อยู่นั่นแหละ ไม่หายหรอก แต่พอวิ่งมาดูรถ อ้าว! ไม่ใช่รถกูนี่หว่า คันที่จอดติดกันต่างหากถูกชน ขณะนั้น จิตก็ปล่อยจากทุกข์ทันที หายทุกข์ทันที เพราะเห็นชัดแล้วว่า รถที่ถูกชนไม่ใช่รถกูนี่หว่า
ขันธ์ห้าก็เหมือนที่เราทุกข์เพราะเราไปยึดมั่นว่ามันเป็นเรา ของเรา เห็นว่ากาย (รูป) ก็ดี เวทนาก็ดี สัญญาก็ดี สังขารก็ดี วิญญาณก็ดีคือเรา ของเรา วันไหนพิจารณากาย แล้วเห็นว่ากายนี้ไม่ใช่เรา ของเรา อุปาทานก็หายไปอันหนึงแล้ว ทุกข์ก็คลายไประดับหนึ่งแล้ว อย่างที่ท่านพุทธทาสบอก คนที่เห็นรูปนามเป็นเรา ของเรา เวลามีดบาดมือ จะอุทานว่า มีดบาดกู แต่คนที่เห็นตามจริงแล้วว่า กายนี้ไม่ใช่กู เป็นเพียงธาตุทั้งสี่ประชุมกัน เวลามีดบาดมือ ก็จะอุทานว่า มีดบาดมือ ไม่ใช่บาดกู ความเห็นของปุถุชนกับอริยชนจึงต่างกัน
หลวงปู่ชาสอนว่า ต้นมะม่วงอยู่หน้าบ้าน อยู่ในที่ของเรา ใครมาเก็บลูกมะม่วงก็ทุกข์เหลือเกิน มะม่วงของกูๆ วันหนึ่งมีเจ้าพนักงานที่ดินมารังวัดสอบเขต ปรากฏว่า ที่ดินที่ต้นมะม่วงอยู่ไม่ใช่ของเรา เป็นของหลวง เป็นทางสาธารณะ ต่อไปใครจะเก็บมะม่วงก็ไม่เดือดร้อนแล้ว เพราะที่ตรงนั้นไม่ใช่ของกูแล้ว นี่แค่พลิกความเห็นก็สุขขึ้นมากเลย ความเห็นผิดนี่แหละเป็นที่มาของอุปาทาน
อย่างเห็นว่า กายนี้เป็นเรา ของเรา เราก็เจ็บ เราก็ป่วยเรื่อยไป แต่ถ้าเห็นว่ากายนี้เป็นสักแต่ว่าธาตุเท่านั้น เวลาเจ็บ ป่วย กายเท่านั้นที่เจ็บที่ป่วย แต่เรา (จิต) หาเจ็บป่วยไปด้วยไม่ ถ้าเห็นว่า กายนี้ไม่ใช่เรา ของเรา ความคิดที่จะเบียดเบียนสัตว์ คนอื่นจะไม่มีเลย นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมพระโสดาบันจึงมีศีลห้าเป็นปกติ เป็นศีลวิรัติ เพราะท่านเห็นแล้วว่า กายคนเรานี้เป็นเพียงสักแต่ว่าธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม มาประชุมกันเท่านั้น จะฆ่าจะแกงไปทำไม จิตที่คิดจะทำร้ายคนอื่นมันไม่มีโดยอัตโนมัติ ราคะ โทสะ ก็จะเบาบางไป เรานี้บ้าหรือเปล่า เที่ยวหลงรัก หลงชัง ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ เวลาคนเราตาย จึงเรียกว่า ธาตุไฟแตก สำหรับธาตุไฟในที่นี้ คือ ความอุ่นในร่างกาย ตัวจะเย็นก่อน ขอย้ำอีกครั้งว่า การพิจารณากายให้เห็นตามจริงไม่ต้องอะไรมาก ให้พิจารณาว่ามันไม่สวยงาม ไม่เที่ยงแท้ คงทนและเป็นเพียงธาตุดิน น้ำเท่านั้น
ลองพิจารณาแค่นี้ดู จิตท่านจะสงบไปเองโดยไม่ต้องบังคับให้มันสงบเลย ผมปฏิบัติมาแล้ว จึงกล้ามาบอก และกล้ายืนยันว่า จิตสงบได้จริง สงบเพราะอุปาทานคือความยึดมั่นถือมั่นในกายนี้มันจางคลายลง จิตจะไม่เที่ยวไปจับกายคนนั้นคนนี้มาคิดปรุงแต่งฟุ้งซ่าน และจะไม่คิดฆ่าตัวตายเลยแแม้แต่นิด เพราะเห็นแล้วว่า มันไม่ตายจริง ที่ตายๆ มันแค่ธาตุทั้งสี่เท่านั้นเอง อย่างที่หลวงตาบอก จิตไม่มีวันตาย และที่เราคิดปรุงแต่งฟุ้งซ่าน เพราะคิดถึงคนนั้นเป็นอย่างนั้น คนนี้เป็นอย่างนี้ หากพิจารณากายจนเห็นประจักษ์ใจแล้วว่า จะถือเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขาไม่ได้ มันจะเลิกคิดไปเอง ความคิดฟุ้งซ่านจะค่อยๆ หายไป เพราะเกิดความเห็นชอบแล้ว เพราะอุปาทาน ความยึดมั่นในกายมันบรรเทาเบาบางหรือหายสิ้นแล้ว