ถาม-ตอบ

การลุถึงวิมุตติ

   แสดงธรรม กลุ่มสายธารธรรม เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2558                                                          

 

“การลุถึงวิมุตติ…”

     การลุถึงวิมุตติ คือ การลุถึงสมาธิฝ่ายปรัชญา โดยความไม่ต้องคิด รู้สิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ไม่ต้องมีอะไรห่อหุ้มพัวพัน 

ท่านเว่ยหล่าง

 

“สมถะ คือตัวสติ  วิปัสสนา คือตัวปัญญา”  มันอันเดียวกันนี่แหละ เรียกชื่อต่างกัน  สมมุติ สติ เปรียบเหมือนไฟ 

แต่ปัญญา ก็คือแสงสว่างของไฟต่างหาก ถ้าไฟมีกำลังมาก แสงสว่างก็มาก  ถ้าสติมันดี ปัญญามันก็ดี  

เราจะเรียกว่า แสงสว่างเป็นไฟก็ไม่ได้  เรียกไฟเป็นแสงสว่างก็ไม่ได้  ไฟต่างหาก แสงสว่างต่างหาก  แต่ก็อันเดียวกัน หยั่งลงที่เดียว รู้เรื่องกัน ไม่สงสัยเลย..

หลวงปู่จวน กุลเชฏฺโฐ

 

“การพึ่งในพระพุทธปัญญาคือ การมีที่พึ่งอันปลอดภัย”  การพึ่งในพระพุทธองค์ พึ่งในพระพุทธปัญญา คือการมีที่พึ่งอันปลอดภัย เมื่อเรามีปัญญา เราประพฤติปฏิบัติ และมีความเป็นอยู่อย่างฉลาด เราก็ปลอดภัยอย่างแท้จริง   

     …ปัญญาในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่ารู้เรื่องโลก…  หมายถึง รู้จักธรรมชาติของสภาวะต่างๆ ตามที่เราได้พบเอง ไม่ใช่ไปติดอยู่กับสิ่งปรุงแต่งตามนิสัยเดิมของเรา  ใช้ ‘พุทโธ’ พิจารณาความไม่เที่ยงของสิ่งที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งเหล่านั้น  ความรู้ถึงความไม่เที่ยงหรืออนิจจัง
            นี้แหละที่เราเรียกว่า ‘พุทธ’  และนี้แหละคือ ที่พึ่ง 

                                                                                               พระอาจารย์สุเมโธ

 

            แก่นของภาวนา คือไม่เข้าไปในอำนาจความคิด  แก่นของการภาวนา อยู่ที่การไม่เข้าไปในอำนาจของความคิด ดังนั้นการปฏิบัติของเราคือ การเร้าความรู้สึกตัวเพื่อเห็นความคิด 

ท่านเขมานันทะ

 

ท่านทรงกลด : ขอแสดงความยินดีกับท่านที่ได้รับคำชมเชยจากที่ทำงาน และยินดีโมทนายิ่งขึ้นไปอีกที่ท่านไม่ได้หลงใหลได้ปลื้มไปกับอารมณ์ยินดีเหล่านั้น ถ้าท่านอยู่กับการรู้เท่าทันตรงนี้ ถือว่าท่านภาวนาเป็นแล้ว จากนั้นท่านก็ลองโยนิโสมนสิการไปยังอารมณ์ชอบใจหรือไม่ชอบใจอื่นๆ มันก็มีลักษณะอาการเดียวกัน คือไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ต้องดับไปเป็นธรรมดา หาแก่นสารไม่ได้ จะยึดเป็นเรา ของเราไม่ได้ แล้วปัญญาท่านจะโตขึ้นเรื่อยๆ จนหยุดวิ่งตามอารมณ์ได้  ถ้าท่านทำได้ทุกอารมณ์ที่เกิดกับใจ ท่านจะพบความมหัศจรรย์ของจิต ยิ่งกว่าไอน์สไตน์พบปรมาณูหลายร้อยเท่า

 

ก่อนจะกล่าวถึงเรื่องพระพาหิยะ ตามที่สัญญาไว้ วันนี้มีผู้เอาข้อธรรมของท่านเขมานันทะมาโพสต์ ที่ว่า แก่นของการภาวนาคือ ไม่เข้าไปอยู่ในอำนาจของความคิด อันนี้ถูกต้องทีเดียว ท่านเคยได้ยินผมพูดหลายครั้ง จิตเสวยอารมณ์นั้น อารมณ์นี้ หรืออย่างที่มีพระไปถามหลวงปู่ดูลย์ที่นอนป่วยอยู่ว่า หลวงปู่เจ็บไหม หลวงปู่บอก เจ็บแต่จิตเราไม่ได้เข้าไปเสวยเลยแม้แต่น้อย อาการที่จิตเสวยอารมณ์ก็คือ การที่จิตคิดปรุงแต่ง ดังนั้นเมื่อไม่เข้าไปอยู่ในอำนาจของความคิด ก็คือจิตหยุดปรุงแต่ง  หรืออย่างท่านเว่ยหลาง ก็บอกว่า การเข้าถึงวิมุตติ คือการเข้าถึงสมาธิแบบไม่ต้องคิด รู้เห็นตามความเป็นจริง อันนี้คือสัมมาสมาธิเลย สมาธิที่เข้าไปแล้ว ออกมาแล้ว ไม่รู้เห็นอะไร ไม่ใช่สัมมาสมาธิ เป็นสมาธิหัวตออย่างที่หลวงปู่เทสก์บอก  รู้เห็นอะไร ก็คือ รู้เห็นรูป นาม ขันธ์ห้า อารมณ์ ตามความเป็นจริงว่าจะถือเป็นเรา ของเราไม่ได้เลย ดังที่ผมเคยบอก สมาหิโต ยถาภูตัง ปชานาติ เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ ก็จะเห็นตามความเป็นจริง

ท่านที่เอามาโพสต์ ดูเหมือนจะเอาธรรมะมาโพสต์ในกลุ่มคลังสมองชั้นต้นทุกวัน บางเรื่องก็ลึกซึ้งเกินกว่าปุถุชนจะเข้าใจ น่าเสียดายที่ท่านไม่ได้อยู่ในกลุ่มนี้ มิฉะนั้นท่านคงได้รับประโยชน์มากกว่านี้ 

เรื่องของพระพาหิยะ น่าสนใจมาก ท่านเป็นภิกษุ (ที่ไม่ได้บวช) ที่เป็นเลิศ (เอตทัคคะ) ทางด้านตรัสรู้ธรรมเร็ว พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางตรัสรู้เร็วพลัน คือฟังธรรมไม่กี่ประโยค ก็บรรลุอรหัตผล ตามเรื่อง ท่านเกิดในตระกูลค้าขาย เดินเรือค้าขายไปทั่ว วันหนึ่งเรืออับปาง ลูกเรือตายหมด เหลือท่านคนเดียวที่รอดตาย เกาะแผ่นกระดานเรือเข้ามาถึงท่าเมืองแห่งหนึ่ง เขาบอกคนจะเกิดเป็นชาติสุดท้ายนี่ อะไรๆ ก็ไม่อาจทำให้ตายจนกว่าจะบรรลุอรหัตผล  ท่านไม่มีเสื้อผ้าติดตัว ก็เลยเอาเปลือกไม้มาใช้แทนเสื้อผ้า ถือแผ่นกระเบื้องเที่ยวเดินขอทาน 

สมัยนั้นก็เหมือนสมัยนี้ที่ผู้คนแสวงหาพระอรหันต์ เมื่อไปพบใครนั่งเคร่งๆ เงียบๆ อยู่ในป่า ในกลด พูดภาษาที่มนุษย์ฟังไม่รู้เรื่องก็เข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์ ชาวบ้านพอเห็นคนแทบเปลือย เดินถือแผ่นกระเบื้องขอทาน ก็เข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์ เลยเอาอาหารมาถวาย เมื่อกินอิ่มหนำสำราญ มีคนเอาเสื้อผ้ามาให้ก็ไม่ใส่ เพราะใส่แล้วจะไม่เป็นพระอรหันต์ ทั้งหลงเข้าใจผิดคิดว่าตนเองเป็นพระอรหันต์จริงๆ ขึ้นมา เพราะคนเรียกทุกวันๆ จิตมันก็หลงไปได้ จนกระทั่งวันหนึ่งมีพรหมองค์หนึ่งเคยเป็นเพื่อนปฏิบัติธรรมร่วมกันในชาติก่อน พรหมนั้นบรรลุอนาคามี ส่วนพาหิยะไม่ได้บรรลุธรรม พรหมไปเกิดที่พรหมโลกชั้นสุธาวาส  พรหมโลกชั้นนี้เป็นชั้นพักของพระอนาคามีเพื่อไปบำเพ็ญเพียรต่อที่นั่นก่อนบรรลุอรหัตผล เหมือนอย่างที่ผมเคยเล่าไปว่า หลวงตามหาบัว ท่านสำเร็จอนาคามีก่อน แล้วท่านก็ดำริว่า จะต้องจบกิจให้ได้ในชาตินี้ ท่านไม่อยากไปเกิดที่พรหมโลก ชั้นสุทธาวาสอีก

คนเรานี้เวียนเกิดเวียนตายมากมายหลายล้านชาติ มีพ่อ แม่ พี่ น้อง เพื่อน มิตรสหาย นับไม่ถ้วนที่ล่วงหน้าไปรอเราที่ “บ้าน” มีแต่เราที่มาหลงระเริงอยู่กับสิ่งไร้สาระบนโลกใบนี้ ลองสังเกตดูคนที่ปฏิบัติธรรมจะมีมือที่มองไม่เห็นคอยช่วยเหลืออยู่เสมอ (Invisible Hands) มือนั้น บางทีก็คือเพื่อนสหายที่เคยปฏิบัติกันมา หรือพ่อแม่ในอดีตชาตินั่นเอง เชื่อไม่เชื่อก็แล้วแต่บุคคล 

พรหมซึ่งเป็นเพื่อนของพาหิยะมาเตือนว่า ท่านไม่ใช่พระอรหันต์นะ คนที่เป็นพระอรหันต์อุบัติขึ้นในโลกแล้ว คือสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนนี้พระองค์อยู่ที่เมืองสาวัตถี วัดพระเชตวัน เมื่อพาหิยะได้ยินคำว่า “พระพุทธเจ้า” ก็บังเกิดปิติ (เป็นสัญญาเก่าที่เคยปฏิบัติสมัยที่บวชเป็นพระภิกษุในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง) จึงรีบออกเดินทางทั้งวันทั้งคืนเพื่อมาหาพระพุทธเจ้า เมื่อมาถึงก็เป็นเวลารุ่งเช้า พอเข้าไปที่วัดก็รู้ว่าพระพุทธเจ้ากำลังบิณฑบาตอยู่ในเมือง จึงติดตามไป เมื่อพบพระพุทธเจ้าก็เข้าไปกราบแทบพระบาทขอให้แสดงธรรม 

พระพุทธเจ้าตรัสว่า พาหิยะ เวลานี้มิใช่เวลาแสดงธรรม แต่พาหิยะก็รบเร้าถึงสามครั้ง พระองค์จึงเทศน์สั้นๆ ว่า เมื่อเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น เมื่อได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน ได้กลิ่นก็สักแต่ว่าได้กลิ่น ลิ้มรสก็สักแต่ว่าลิ้มรส สัมผัสก็สักแต่ว่าสัมผัส อย่ายินดี ยินร้ายในสิ่งเหล่านั้น พระพาหิยะฟังเพียงแค่นี้ก็บรรลุอรหัตผล พระพุทธองค์จะบวชให้แต่ถามว่า บาตรและผ้าไตรจีวรมีหรือไม่ พระพาหิยะตอบว่าไม่มี พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า งั้นเธอจงหาบาตรและไตรจีวรก่อน ระหว่างหาไตรจีวร ก็ถูกแม่โคลูกอ่อนขวิดตาย พระพุทธเจ้าจึงให้ภิกษุทำการฌาปนกิจ พร้อมทั้งก่อเจดีย์บรรจุอัฏฐิธาตุ 

ภิกษุต่างก็ประหลาดใจว่า พระพาหิยะเป็นใคร เมื่อทูลถามพระพุทธเจ้าก็ทรงตอบว่า เป็นบุตรของเรา บัดนี้ปรินิพพาน เข้าสู่แดนนิพพานธาตุแล้ว แล้วทรงเปล่งอุทานว่า ดิน น้ำ ไฟ ลม ย่อมไม่ตั้งมั่นอยู่ในนิพพานธาตุใด ในนิพพานนั้น ดาวทั้งหลาย พระอาทิตย์ ส่องแสงไปไม่ถึง พระจันทร์ก็ส่องแสงไปไม่ถึง ความมืดก็ไม่มี เมื่อใด พราหมณ์ชื่อว่า “มุนี” เพราะรู้สัจจะสี่ รู้จริงด้วยตนเองแล้ว ย่อมพ้นจากรูปและอรูป จากสุขและทุกข์ และทรงยกย่องพระพาหิยะว่าเป็นเลิศกว่าผู้อื่นคือ ตรัสรู้เร็วพลัน เรื่องพระสูตรก็มีเพียงนี้

ทำไมพระพาหิยะจึงตรัสรู้เมื่อได้ยินเพียงคำว่า เมื่อเห็นก็สักแต่ว่าเห็น ดูเหมือนหลวงปู่บุญฤทธิ์ก็สรุปคำสอนของท่านเพียงแค่นี้  เมื่อเห็นก็สักแต่ว่าเห็น การสอนของพระพุทธเจ้า นอกจากเคล็ดลับการสอนให้เห็นรูป นาม ตามความเป็นจริงแล้ว ก่อนจะสอนพระองค์จะดูคนก่อนว่ามีศรัทธาหรือไม่  ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ศรัทธาคือความเชื่อ แต่ไม่ใช่เชื่อแบบไม่คิด แบบหัวปักหัวปำ แต่ต้องเป็นการเชื่อที่จะเปิดใจรับฟัง ไม่ใช่ไม่เชื่อเลย 

การแสดงธรรมะมีปัญหาอันแรกคือ คนฟังไม่เชื่อ อย่างผมซึ่งเป็นเพียงฆราวาสแสดงธรรม ไม่ค่อยมีใครเชื่อ ผมรู้ดี เพราะขนาดพระแสดง เรายังไม่เชื่อเลย แต่ผมแสดงไปตามหน้าที่ของสหายเก่า ส่วนท่านจะเชื่อเปิดใจรับฟัง นำไปทดลองปฏิบัติหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับบุญวาสนาของพวกท่าน เมื่อท่านทดลองปฏิบัติแล้วเริ่มเห็นผล  และเริ่มเห็นว่าสิ่งที่ผมพูดเป็นไปได้ ท่านก็จะเชื่อเอง 

พระพุทธเจ้าก่อนสอนใคร ท่านจะต้องให้คนศรัทธาก่อน ถ้าไม่ศรัทธา ท่านไม่สอน เพราะเสียเวลาเปล่า เอาเวลาไปโปรดคนอื่นดีกว่า อย่างที่ผมเคยเล่าให้ฟังว่า จริงๆ คนที่ควรจะได้ฟังธรรมจากพระองค์คนแรกหลังจากตรัสรู้ ไม่ใช่ปัญจวัคคีย์หรอก แต่คือพราหมณ์ชื่อสุภัททะ (คนละคนกับสาวกคนสุดท้าย) ระหว่างทางที่กำลังเสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ ท่านพบพราหมณ์คนนี้ พราหมณ์ถามว่า พระพุทธเจ้าเรียนมาจากสำนักใด พระองค์ตอบว่า เราตรัสรู้เองโดยชอบ พราหมณ์สั่นหัว ไม่เชื่อ แล้วเดินหลบไป ภายหลังมีทุกข์มาก ซมซานกลับมาหาพระพุทธเจ้าให้ทรงสอน  พระองค์ไม่ง้อเลย เมื่อไม่เชื่อก็ปล่อยไปตามยถากรรม แม้เมื่อไปพบปัญจวัคคีย์ เหล่าปัญจวัคคีย์ก็ไม่เชื่อเช่นกัน จนพระองค์ตรัสว่า คำว่า “ตรัสรู้ธรรม”  เราเคยพูดกับพวกท่านบ้างไหม ตั้งแต่รู้จักกันมา เหล่าปัญจวัคคีย์จึงได้สติว่า พระองค์ไม่เคยพูดเลย  ลองฟังดูหน่อย เปิดใจหน่อย พักชาที่เต็มถ้วยไว้ก่อน โกญฑัญญะจึงได้ดวงตาเห็นธรรม เพราะถ่ายชาเต็มถ้วยพักไว้ก่อน  

อย่างพระยสะ ที่เบื่อหน่ายโลกียวิสัย เดินบ่นมากลางคืนว่า วุ่นวายหนอๆ พระพุทธเจ้าเห็นก็เรียกว่า ยสะ ที่นี่ไม่วุ่นวายหนอ หรืออย่างชฎิลสามพี่น้อง กว่าพระองค์จะเทศนาสั่งสอนได้ต้องใช้เวลาแรมเดือน เพราะพวกชฎิลคิดว่าตนเองเป็นพระอรหันต์ พระองค์จึงต้องใช้วิธีแสดงฤทธิ์ จนชฎิลหมดมานะ เกิดศรัทธา นั่นแหละพระองค์จึงสอน  ยสะ ที่นี่ไม่วุ่นวายหนอๆ มาทางนี้เถิดเราจะแสดงธรรมให้ฟัง พาหิยะ เวลานี้ ไม่ใช่เวลาแสดงธรรม เกิดอะไรขึ้นกับพระยสะ และพระพาหิยะ กับถ้อยคำที่ดูเหมือนไม่มีอะไร อันว่า ศรัทธาได้เกิดขึ้นอย่างท่วมท้นในหัวใจของบุคคลทั้งสองแล้ว 

ยสะ เมื่อพระพุทธเจ้าเรียกชื่อตน ก็ประหลาดใจเป็นอันมากว่าพระพุทธเจ้ารู้จักชื่อตนได้อย่างไร ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ยสะคิดว่า พระองค์นี้ไม่ธรรมดาแน่  พระพาหิยะ พอได้ยินคำว่าพระพุทธเจ้าก็ปิติอยู่แล้ว พอมาถึงพระองค์เรียกชื่อได้ถูกก็ศรัทธายิ่งขึ้น เหตุใดพระองค์จึงไม่แสดงธรรมทันทีที่พาหิยะขอในครั้งแรก ทำไมต้องอ้อนวอนถึงสามครั้ง เพราะขณะนั้นพระพาหิยะวิ่งมาทั้งวันทั้งคืน จิตใจอยากจะฟังธรรม ไม่สงบ ต่อเมื่ออ้อนวอนถึงสามครั้ง จิตเริ่มสงบ ควรแก่การฟังธรรมแล้ว พระพุทธเจ้าเทศน์แต่เพียงว่า เมื่อเห็นก็สักแต่ว่าเห็น พระองค์ไม่ได้สอนปฏิจจสมุปบาท หรือสอนอะไรที่มันยากๆ เลย ท่านก็สอนตา สอนหู เหมือนเดิม แต่มันไม่ใช่หยุดอยู่แค่ตา แค่หู มันลึกซึ้งมากกว่านั้น  เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง เกิดผัสสะ เมื่อมีผัสสะ ย่อมเกิดเวทนาตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะขันธ์ (เวทนา) มันทำหน้าที่ของมัน พระพาหิยะบรรลุธรรมเพราะท่านใช้โยนิโสมนสิการอย่างนี้

เมื่อตาเห็นรูป ขณะนั้นพระพาหิยะเห็นพระพุทธเจ้าก็เกิดปิติ เกิดความสุข สุขเวทนาเกิด ความยินดีเกิด ความชอบใจเกิด  ความชอบใจที่พระพาหิยะเกิด มันก็อันเดียวกับความชอบใจที่เกิดจากตาของท่านเห็นและอ่านคำชมเชยจากที่ทำงาน  ลำพังเพียงเห็นรูปโฉมของพระพุทธเจ้าแล้วสักแต่ว่าเห็น เพียงแค่นี้ไม่อาจบรรลุธรรมได้ ไม่เช่นนั้นแมวเห็นข้าวเปลือกก็คงบรรลุธรรมเหมือนกัน เพราะธรรมชาติแมวย่อมกินปลา เมื่อเห็นปลาก็กระโจนเข้าใส่ แต่พอเห็นข้าวเปลือก แมวก็สักแต่ว่าเห็นเหมือนกัน  หรือกะเทย เมื่อเห็นชายรูปงามย่อมยินดี แต่พอเห็นผู้หญิง เขาก็สักแต่ว่าเห็น ไม่รู้สึกอะไร

พระพาหิยะเห็นมากกว่านั้น เมื่อตาเห็นรูปโฉมพระพุทธเจ้าแล้วเกิดอารมณ์ยินดี พระพาหิยะไม่เข้าไปหมายมั่นในอารมณ์ยินดีนั้น เห็นก็สักแต่ว่าเห็น พระพุทธเจ้าก็เทศน์ต่อไปว่า ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน เมื่อหู (อายตนะภายใน) กับเสียง (อายตนะภายนอก) กระทบกัน เกิดผัสสะ เมื่อมีผัสสะย่อมเกิดเวทนา คือความรู้สึกยินดี ยินร้าย เหมือนตาเห็นรูปนั่นแหละ จิตพระพาหิยะก็ไม่เข้าไปหมายมั่น แล้วจิตท่านก็โยนิโสมนสิการว่า ไม่ว่าอารมณ์ใดๆ เกิด ไม่ว่าดีหรือร้าย ไม่ว่าจะเกิดจากตาเห็นรูป  หูได้ยินเสียง ให้เห็นอารมณ์ทั้งปวงเพียงสักแต่ว่าเห็น ไม่เข้าไปเสวย ปรุงแต่ง ก่อร่างสร้างตัณหา สร้างภพ สร้างชาติ  เมื่อเห็นเช่นนี้ ก็เห็นอารมณ์เกิดดับๆ หาสาระแก่นสารไม่ได้ เห็นอารมณ์ตามความเป็นจริงว่าจะถือเป็นเรา ของเราไม่ได้ จิตก็เบื่อหน่าย (นิพพิพา) คลายกำหนัด (วิราคะ) และวิมุตติหลุดพ้นไปในที่สุด นี่คือเส้นทางการตรัสรู้ธรรมของพระพาหิยะ ผู้ซึ่งเพียงได้ฟังพระพุทธเจ้าเทศน์ว่า เมื่อเห็นก็สักแต่ว่าเห็น ก็สามารถบรรลุธรรมได้

อย่างเรานี้ ไม่เห็นแล้วสักแต่ว่าเห็นเลย พอเห็นหรือได้ยินอะไรสักอย่าง เกิดอารมณ์ดีหรือไม่ดี จิตก็เข้าไปฉวยคว้าปรุงแต่งโดยอัตโนมัติ บางทีกว่าจะรู้สึกตัวก็หยิบโทรศัพท์มาเมื่อใดไม่รู้ โทรไปหาคนนั้น คนนี้แล้ว อย่างที่ท่านเขมานันทะบอก แก่นของภาวนาคือ ไม่เข้าไปในอำนาจของความคิด  จิตของพระพาหิยะขณะฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า ไม่ได้เข้าไปในอำนาจของความคิดเลย ท่านเห็นคิดก็สักแต่ว่าคิด ไม่ปรุงแต่งต่อ พระพาหิยะมีสติรู้เท่าทันอารมณ์ตลอดเวลาที่ฟังเทศน์จากพระพุทธเจ้า จนจิตตั้งมั่นเห็นอารมณ์ตามความเป็นจริง  

ตอนจบของพระสูตร พระพุทธเจ้าสรุปว่า พระพาหิยะปรินิพพาน พ้นจากสุขและทุกข์ เห็นไหม พระองค์บอกชัดว่า สุขก็ไม่ให้ยึด ทุกข์ก็ไม่ให้ยึด เวลาเกิดอารมณ์ยินดี อารมณ์ยินร้าย ลองสักแต่ว่าเห็นดูสิ มันจะเกิดตัวรู้คือสติขึ้นโดยอัตโนมัติ

นี่คือสัมมาทิฏฐิ (ปัญญา) อบรมสัมมาสติ (สติ) และสัมมาสมาธิ ผมจึงได้ย้ำหนักหนาว่า การมีสติรู้เท่าทันอารมณ์ในระหว่างวันสำคัญที่สุด 

สติก็รู้แล้ว รู้เท่าทันก็บอกไปแล้ว อารมณ์ก็บอกไปแล้ว เข้าใจหมดแล้ว เหลืออย่างเดียวคือลองลงมือปฏิบัติกันหรือยัง ท่านทั้งหลาย อันคำว่าอารมณ์นี้มันกว้างมาก อะไรที่จิตไปยึดอยู่ เกี่ยวข้องอยู่ รวมเรียกว่าอารมณ์ทั้งนั้น ที่เราไม่เห็นธรรมทุกวันนี้ เพราะเรามักจะเอานั่น เอานี่ มาเป็นอารมณ์อยู่ตลอด อย่างสมถกรรมฐานสี่สิบวิธี ก็บอกให้เอาดิน เอาน้ำ มาเป็นอารมณ์ มาเป็นเครื่องอยู่ของใจ ลองเปิดดูในคำอธิบายที่ชาวโลกเขาอธิบายคำว่าอารมณ์ไว้ เขาบอกว่า อารมณ์คือเครื่องยึดเหนี่ยวของใจ แต่จริงๆ แล้ว อารมณ์ก็สักแต่อารมณ์ ใจเราต่างหากที่วิ่งไปหาเขาเอง 

หลวงปู่ชาเคยถามว่า เวลาเสียงดังรบกวนนี่ เสียงมันมากวนเรา หรือเราไปกวนเสียง บรรดารูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธรรมารมณ์ ก็คืออารมณ์ทั้งสิ้น เสียงมันก็ดังอยู่ตรงโน้นของมัน ดังแล้วดับไป เราต่างหากวิ่งไปหามัน เวทนา (ความรู้สึกชอบใจ ไม่ชอบใจ) สัญญา สังขาร (ความคิดปรุงแต่ง) นี่คืออารมณ์ทั้งสิ้น เพราะจิตมักเข้าไปอยู่ เข้าไปยึด ด้วยความเห็นผิดคิดว่านั่นคือเรา ของเรา พระพุทธเจ้ามาบังเกิดก็เพื่อแก้ความเห็นผิดอันนี้แหละ เพราะเห็นผิด พอสุขเกิดเลยกลายเป็นเราสุข พอทุกข์เกิดก็กลายเป็นเราทุกข์ ได้ดวงตาเห็นธรรมเมื่อใด จึงจะเห็นว่า สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี หาใช่เราไม่ 

หลวงปู่ชาบอก ถ้ายังเห็นตน (ขันธ์ห้า) เป็นตน ก็ยังไม่เห็นตน หมายความว่า ถ้าเห็นอารมณ์เป็นเราอยู่อย่างนี้ก็ยังไม่พบตนเห็นตน  พุทธศาสนาสอนให้แยกจิตออกจากอารมณ์  ไม่ได้สอนให้จิตยึดเอาสิ่งนั้น  สิ่งนี้  เป็นอารมณ์ การมีสติรู้เท่าทันอารมณ์คือวิธีที่จะแยกจิตออกจากอารมณ์  เพราะธรรมดาจิตของปุถุชนกับอารมณ์จะอยู่ด้วยกันตลอดเวลาเนื่องจากเห็นอารมณ์เป็นเรา ของเรา แต่เมื่อรู้เท่าทัน จิตจะไม่เข้าไปยึดในอารมณ์ แรกๆ จะยากหน่อย เพราะเคยอยู่กับเขามาตลอด ต่อเมื่อจิตมีกำลังมากขึ้นๆ จะเริ่มเห็นอารมณ์เกิดแล้วดับไป จิตจะค่อยๆ จางคลายในอารมณ์ เพราะรู้เท่าทัน (ปัญญา) เห็นแล้วว่ามันเกิดเป็นธรรมดา ดับเป็นธรรมดา เป็นอนิจจัง จะเริ่มไม่วิ่งตามมัน จะเริ่ม “เห็นก็สักแต่ว่าเห็น” เพราะเห็นแล้วว่ามันไม่มีอะไร  แล้วจิตจะตั้งมั่นได้ จะเห็นรูปนามชัดตามความเป็นจริง เหมือนตาเห็นรูป

คำว่า ให้มีสติรู้เท่าทันอารมณ์ คำสั้นๆ แค่นี้ หากเข้าใจและนำไปปฏิบัติ จะทำให้ท่านมีดวงตาเห็นธรรมได้ แต่หากยังรู้ทันยาก ก็ต้องฝึก การฝึกก็อย่างที่บอก การพิจารณากาย อิริยาบถ จะยืนหรือนั่งก็ได้ ให้มีสติ หรือการหายใจที่เรียกว่าอานาปานสติ หายใจเข้าลึกๆ สติคือความรู้สึกตัวทั่วพร้อมก็เกิดแล้ว หายใจออกเห็นลมดับไป เห็นอนิจจังในลม หายใจเข้าอีกที สติเกิดอีก (มันจะเกิดอัตโนมัติ) หายใจออก คราวนี้ ให้โยนิโสมนสิการถึงอารมณ์ใดๆ ไม่ว่าดีหรือร้ายที่เกิดกับใจในขณะนั้นว่า ไม่ต่างจากลม คือเกิดแล้วดับ ไม่เที่ยง หาแก่นสารไม่ได้ ยึดเป็นเรา ของเราไม่ได้ ต่อไปเมื่อเห็นเนืองๆ จะเริ่มเห็นก็สักแต่ว่าเห็นไปเอง   การเห็นแล้วสักแต่ว่าเห็น กับการปล่อยวางมันก็อันเดียวกัน เมื่อเห็นแล้วว่า อารมณ์ไม่ว่าชอบหรือไม่ชอบมันก็เท่านี้ เกิดแล้วดับไป ราคาเป็นศูนย์เท่ากัน เมื่อใจเห็นตามความเป็นจริงแล้ว มันก็ค่อยๆ ปล่อยวางไปเอง

ก่อนจบในวันนี้ (ไหนๆ ก็พูดถึงเรื่อง เห็นสักแต่ว่าเห็นแล้ว) ขอเล่าเรื่องหนึ่งให้ฟัง ครั้งหนึ่ง ขณะที่หลวงปู่ดูลย์เข้ามาปฏิบัติศาสนกิจในกรุงเทพมหานคร พักที่วัดบวรนิเวศ ก็มีพระราชาคณะรูปหนึ่งแวะมาคุย สอบถามเรื่องยักษ์ หลวงปู่ดูลย์จากที่นอนเอกเขนกอยู่ก็ลุกขึ้นนั่งทันที แล้วกล่าวว่า  ผมไม่ได้สนใจเรื่องเหล่านี้เลยท่านเจ้าคุณ แล้วย้อนถามท่านเจ้าคุณว่า ท่านเองเคยศึกษาปัญจทวาราวัชชนจิตหรือไม่ มันคือ กิริยาจิตที่แฝงอยู่กับทวารทั้งห้า ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย คือ เมื่อตาเห็นรูป ย่อมเกิดอารมณ์เป็นกิริยาจิตอยู่อย่างนั้น ห้ามไม่ได้ บังคับไม่ให้เป็นไม่ได้ แต่อาจเป็นพาหะให้เกิดทุกข์ได้ และที่น่าตื่นใจก็คือ ให้กิริยาจิต (อารมณ์) โดยประการที่ทุกข์ (ภายหลัง) จะเกิดขึ้นไม่ได้ อันนี้แหละน่าสนใจ น่าศึกษาที่สุด ว่าทำอย่างไร เมื่อตาเห็นรูปแล้วรู้ว่าสวยงาม หรือน่ารังเกียจอย่างไร แล้วก็หยุดเพียงเท่านี้ (เห็นก็สักแต่ว่าเห็น) เมื่อหูได้ยินเสียง รู้ว่าไพเราะ หรือน่ารำคาญ แล้วก็หยุดเพียงนี้ (ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน) เมื่อลิ้นได้ลิ้มรส รู้ว่าอร่อยหรือไม่อร่อย เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม อย่างไร แล้วก็หยุดเพียงนี้ เมื่อจมูกได้กลิ่นหอมหรือเหม็นอย่างไรแล้วก็หยุดเพียงนี้ เมื่อกายสัมผัสโผฏฐัพพะ รู้ว่าเย็น ร้อน อ่อน แข็ง อย่างไรแล้วก็หยุดเพียงนี้ 

เมื่อศึกษาถึงขั้นนี้แล้ว ก็จะปรากฏเหตุอันน่าอัศจรรย์ เรียกว่า หสิตุปปาท คือ กิริยาที่จิตยิ้ม อันกิริยาจิตยิ้มนี้ ย่อมไม่ปรากฏมีในสามัญชนโดยทั่วไป อธิบาย จิตยิ้มนี้คือเบิกบาน (ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน พระโสดาบัน) เมื่อเห็นก็รู้เท่าทันการเห็น แต่ไม่ถึงกับต้องรำพึงรำพันออกมาว่า เห็นแล้วนะ เห็นหนอ อะไรหรอก เมื่อรู้เท่าทันไม่ต้องรำพึงรำพันปรุงแต่งเพิ่มเติมอีก

ในขณะที่ตาเห็นรูป จะต้องมีสติรู้อยู่อย่างเต็มที่สมบูรณ์ มีความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา โดยไม่จำเป็นต้องรู้อะไร เมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกข์อันเกิดจากการเห็นย่อมไม่เกิด เมื่อเป็นเช่นนี้ เราย่อมเป็นอิสระเสรี สิ่งที่เรามองเห็นไม่อาจทำอะไรเราได้เลย

เมื่อมีความรู้พร้อมทันกับการรับอารมณ์ ดังนี้แล้ว ปัญญาที่รู้เท่าทันย่อมตัดวัฏจักรให้ขาดออกจากกัน ไม่อาจสืบเนื่องหมุนเวียนต่อไปได้  นี่คือถ้อยคำของหลวงปู่ที่บันทึกไว้ในหนังสืออตุโล ไม่มีใดเทียม เป็นการยืนยันว่า การมีสติรู้เท่าทันอารมณ์เป็นวิธีการที่หลวงปู่ดูลย์ใช้ในการปฏิบัติ แต่เวลาท่านปฏิบัติ ไม่ต้องถามหาจิตยิ้มล่ะ เอ! ตอนนี้จิตยิ้มหรือยังหนอ มันเป็นผลของการปฏิบัติเท่านั้นเอง 

บางสำนัก ผมเคยเข้าไปอ่าน ลูกศิษย์คนนั้นมีจิตยิ้มอย่างนั้นอย่างนี้ พอดูเหตุแล้ว มันยังไม่ใช่เลย แล้วเขาก็หลงอยู่กับภาวะความว่างที่เข้าใจว่า จิตยิ้มอยู่อย่างนั้น น่าสงสารมาก ไม่รู้จะช่วยอย่างไรเหมือนกัน การมีสติรู้เท่าทันอารมณ์ ก็คือการเปลี่ยนที่อยู่ของใจนั่นเอง เมื่อรู้เท่าทันเสียแล้ว อารมณ์ก็ไม่มีความหมาย เมื่อไม่มีความหมาย ใจมันก็ไม่อยู่ด้วย มันจะเปลี่ยนมาอยู่กับสติ อยู่กับรู้แทน หรือจะใช้วิธีโยนิโสมนสิการให้เห็นโทษในอารมณ์อย่างที่บอกไปก็ได้ ทั้งอารมณ์ยินดีและยินร้ายก็มีโทษทั้งนั้น  อารมณ์ยินดีก็ทำให้ใจฟุ้ง วุ่นวาย ไม่สงบ เป็นไฟเย็น ส่วนอารมณ์ยินร้ายก็ทำให้วุ่น ร้อน เป็นไฟร้อนอยู่ อารมณ์ยินดีพอดับไปเป็นธรรมดาก็ทุกข์แล้ว ต้องพยายามสร้างมาอีก พอดับอีกก็ทุกข์อีก  พระพุทธเจ้าจึงบอก ชีวิตเราไม่มีอะไร มีแต่ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป เราก็พยายามเหลือเกิน ที่จะปรุงแต่งสุขมาดับทุกข์ อะไรที่ปรุงแต่งก็เสื่อมดับ แค่นี้ก็เห็นทุกข์แล้ว อย่างเราเวลาหิว ทุกข์ ก็กินอาหารอร่อยๆ นั่นคือสร้างสุข พออิ่มก็สุข พอความอิ่มหายไป อ้าว! หิวอีกแล้ว ทุกข์อีกแล้ว ถ้าคนมีปัญญาเขาจะเห็นว่า โลกนี้มีแต่ทุกข์จริงๆ จึงพยายามหาทางพ้นทุกข์กัน พระพุทธเจ้าก็ชี้ทางให้แล้วว่า ไม่มีทางอื่น เอโก มัคโค ทางนี้ทางเดียว คือสติปัฏฐานสี่ 

อย่างมีลูกนี่ บางคนบอก โอ้! ฉันสุขเหลือเกิน ลองพิจารณาดูดีๆ แบบไม่หลอกตัวเองสิว่า จริงๆ มันทุกข์หรือสุข

เป็นห่วงสารพัด มีหลายคนก็มากห่วง (ราหุล) ลูกเจ็บ เรานี่เจ็บกว่าหลายร้อยเท่า ให้พิจารณาด้วยปัญญา ก็จะเห็น เมื่อเห็นทุกข์แบบหยาบ (โลกียมรรค) ก็จะเป็นทางพาให้เห็นทุกข์แบบละเอียด (โลกุตรมรรค) ต่อไป  หลวงปู่ชาบอก ทุกข์มันทำให้เราฉลาด สุขมันทำให้เราโง่ จริงเท็จอย่างไรลองตรองกันดูเถิด