ถาม-ตอบ

การพิจารณากายต้องโยนิโสมนสิการให้เป็น

แสดงธรรมกลุ่ม Natural  Mind เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2559

 

ผู้ปฏิบัติ  :  การพิจารณากายต้องโยนิโสมนสิการอย่างไรคะ

ท่านทรงกลด  :  นางสิริมาเมื่อมีชีวิตอยู่มีความสวยงามมากเป็นที่ปรารถนาของชายทุกคนในกรุงสาวัตถี แต่พอตายลงสองสามวัน เน่า มีหนอนออกทั่วไปหมด พระพุทธเจ้าประมูลให้คนมาเอาไปจากพันเหลือร้อย เหลือบาทเดียว จนสุดท้ายก็ให้ฟรีๆ ยังไม่มีใครเอา นี่แหละร่างกายเราล่ะ

การพิจารณาร่างกายอย่างนี้แหละเรียกว่า กายคตาสติหรืออสุภะ พิจารณาไปทำไม ก็เพื่อให้เห็นตามความเป็นจริงของร่างกายว่า เป็นของไม่สะอาด เป็นเพียงธาตุประชุมกัน ไม่เที่ยง จะได้คลายจากความยึดมั่นถือมั่นในกาย อย่างนี้แหละเรียกว่า เห็นชอบ สัมมาทิฏฐิ เป็นการเดินมรรคที่ถูกต้อง คำสอนใดที่ไปไกลกว่ากายก็ดี อารมณ์ ใจก็ดี ไม่อิงเรื่องสติก็ดี เป็นคำสอนที่ไม่อาจนำไปสู่การพ้นทุกข์ได้  เรื่องกายนี้เป็นเรื่องแรกๆ ที่ควรทำความเข้าใจ หากจะปฏิบัติให้ถึงแก่นคำสอนของพระพุทธเจ้า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ กระดูก เลือดทั้งหลาย ตับ ไต ไส้พุงนี่แหละ หลวงปู่คำคะนิงตอนบวชใหม่ๆ อาจารย์สอนให้ชำแหละศพ แล้วล้างทีละอย่าง พิจารณาไปๆ

สมัยพุทธกาลมีพระภิกษุรูปหนึ่ง ขณะบวช พิจารณาผมที่ถูกโกนออกให้เห็นเป็นของไม่สะอาด เป็นเพียงธาตุดิน น้ำตามสภาพ อนิจจัง พิจารณากลับไปกลับมา จนจิตมันเห็นเอง ก็จะวางไปเอง บางทีมันก็แสดงให้เห็นเป็นอนิจจังต่อหน้าต่อตาก็มี จะได้เห็นเสียทีว่า ร่างกายนี้ มันไม่ใช่เรา และถือเป็นของเราก็ไม่ได้ด้วย  ขณะปลงผมบวช ผมร่วงไปส่วนหนึ่งก็บรรลุโสดาบัน ปลงต่อไป บรรลุสกทาคามี ปลงผมต่อไปอีก บรรลุอนาคามี พอโกนหมดศีรษะ บรรลุอรหัตผลพอดี เห็นไหม แค่พิจารณาผมอย่างเดียว บรรลุหมดเลย

พระภิกษุที่บรรลุอรหัตผลขณะปลงผม เพราะท่านโยนิโสมนสิการเป็น พอเห็นผมร่วงลงไปกองบนดิน ท่านก็เห็นชัดว่า ผมนี้จะถือเป็นเรา ของเราไมได้เลย แล้วอารมณ์ เวทนา ความรู้สึกสุข ทุกข์เล่า ก็ไม่ต่างกัน จิตท่านก็ออกมาจากขันธ์ จากอารมณ์ แล้วพิจาณาต่อไปๆ จนบรรลุอรหัตผลในที่สุด  ร่างกายนี้ก็คือ รูป ส่วนที่เหลือ คือ เวทนา สัญญา สังขาร ก็ไม่ต่างกัน ถือเป็นเรา ของเราไม่ได้สักอย่าง นี่แหละเห็นชอบ สัมมาทิฏฐิล่ะ เอากายนี้แหละเป็นเครื่องระลึกรู้ แทนที่จะเอาใจไปไว้ที่คนนั้น คนนี้ ให้มันพิจารณากาย ระลึกรู้อยู่ในกาย นี่แหละกายคตาสติที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญเป็นยิ่งนัก

คนสมัยนี้เขาใจร้อน ชอบข้ามขั้นไปดูจิต ดูใจ สุดท้ายก็ไม่เห็นอะไร เพราะขนาดกายหยาบๆ ยังไม่เห็นเลย หมายถึง เห็นด้วยใจนะ  การพิจารณากาย อย่ามองข้าม ทุกวันผมยังพิจารณาอาการสามสิบสองอยู่เลย ภาวนาจนกว่าจะตายนั่นแหละ อย่างที่หลวงปู่มั่นบอก 

สัญญาคือ ความจำได้หมายรู้ บางคนคิดว่าพอปฏิบัติไปแล้ว จะลบสัญญาออกจากใจได้หมด ซึ่งไม่ถูกต้อง สัญญามันก็อยู่ของมันอย่างเดิม เหมือนรูปกายเรานี่แหละ แต่มันก็เสื่อมไปได้ ลืมได้ ตามธรรมดาของมัน  ต่อเมื่อดับขันธ์ สัญญาจึงจะดับสนิท แต่พอดับสนิท ไม่ใช่ว่า จะจำอะไรไม่ได้เลย ไม่ใช่นิพพานแล้ว จำอะไรไม่ได้ ตรงนั้นไม่ได้ใช้ความจำแล้วแต่เป็นความรู้ล้วนๆ เป็นจิตบริสุทธิ์ (จิตเป็นธาตุรู้)

การพิจารณากายเพียงอย่างเดียวก็สามารถทำให้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ แยกจิต เห็นจิต เห็นธรรมได้ ไม่ว่าจะเป็นกายคตาสติ  อิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูด คิด ทำ ให้อยู่กับรู้ หรืออานาปานสติหรือมีสติรู้เท่าทันอารมณ์ ก็หลักการเดียวกันทั้งนั้นคือ การอบรมจิตให้เห็นรูปนามตามความเป็นจริง เห็นลมหายใจไม่ใช่เรา ของเรา เห็นอารมณ์เกิดดับไม่ใช่เรา ของเรา  การปฏิบัติก็อยู่ในวงนี้

การพิจารณากายนี่แหละคือ อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ โดยแท้ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน  ตนก็คือ ร่างกายเรา เอาร่างกาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มาพิจารณาให้เห็นว่า ที่แท้มันเป็นของไม่สะอาด เป็นสักแต่ธาตุดิน น้ำ หาแก่นสารไม่ได้ ต้องเสื่อมต้องพังไป เอากายมาเป็นเครื่องระลึกรู้ เครื่องอยู่ของจิต นี่แหละตนที่เป็นที่พึ่งแห่งตนโดยแท้  ตนแรกคือ กาย ตนที่สองคือ จิต  การจะไปสู่ภาวะพ้นทุกข์ ชำระจิตให้บริสุทธิ์ ต้องเอาตนเป็นที่พี่งแห่งตนเช่นนี้

ถามว่า วันหนึ่งๆ ต้องอึ ต้องฉี่ไหม เข้าห้องน้ำ ก็พิจารณากายได้แล้ว เห็นไหม อึ ฉี่ น่ะ มันใช่เรา ของเราไหม วันหนึ่งต้องกินข้าวไหม สามมื้อด้วย ดูสิ รสอาหารที่อร่อยมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วดับไปอย่างไร สุขเวทนา คือความยินดีในรสอาหารมันเที่ยงไหม เดี๋ยวก็ดับไปอีกแล้ว เห็นไหม วันหนึ่งต้องยืน เดิน นั่ง นอนไหม ต้องหายใจไหม ยืนเดินนั่งนอนก็ให้รู้สึกตัว มีสติอยู่ตลอดพยายามๆ หายใจเข้า ก็ให้รู้บ้าง หายใจออกก็ให้รู้บ้าง วันนี้โกรธไปกี่ครั้งแล้วล่ะ ตามทันไหม รู้เท่าทันบ้างไหม นี่แหละการปฏิบัติ ไม่ต้องคอยบอกก็ได้ว่า อันการพิจารณาอึ ฉี่ นี่คือ กายคตาสติ ยืน เดิน นั่งนอน อิริยาบถ ลมหายใจเข้าออก รู้ อานาปานสติ ทั้งหมดเรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ต้องขนาดนั้น มีสติรู้เท่าทันอารมณ์ดี ร้าย ไม่ต้องคอยบอกก็ได้ว่า ฉันกำลังเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฎฐานอยู่นะ ไม่ต้อง เวลาจิตมีโทสะ แล้วรู้ แค่นี้ก็พอแล้ว ไม่ต้องบอกว่า นี่ ฉันกำลังเจริญจิตตานุปัสสนาอยู่นะไม่ต้อง ถ้าเรายังอึ ยังฉี่ ยังเดิน ยืน นั่ง นอน อยู่ ยังหายใจอยู่ ยังรับรู้อารมณ์ต่างๆ อยู่  เราก็ภาวนาได้แล้ว ไม่ต้องไปตามดูอารมณ์คนอื่นหรอก ดูตนเอง แก้ไขตนเองอยู่ตรงนี้แหละ เรียกว่า การภาวนา ไม่ต้องไปนั่งล้อมวงกับใคร ไปต้องไปเข้าคอร์สหลับตา ไม่ต้องไปเข้าชั้นเรียนธรรมะอะไรหรอก ธรรมะอยู่กับเราแล้ว มีสติเมื่อใด ก็เห็นมันอยู่ตรงนี้แหละ ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก ดูกาย ดูลมหายใจ ดูอารมณ์ตนเอง ทั้งหมดทั้งปวง ล้วนไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ต้องเสื่อม ต้องดับไป หาแก่นสารตัวตนที่แท้ไม่ได้ ไม่ควรเข้าไปยึดมั่น หมายมั่น วางทั้งหมดเสีย วางกาย วางลมหายใจ วางอารมณ์ เห็นสักแต่ว่าเห็น แล้วจะเห็นธรรมในไม่ช้าอย่างแน่นอน

สุดท้ายเลย ในขั้นปรมัตถ์ (บอกไว้ก่อนล่วงหน้าละกัน) ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนจริงๆ คือ จิตนั่นแหละเป็นพึ่งของจิต ถึงเวลาจะหลุดพ้น ไม่มีใครมาช่วยได้ จิตต้องช่วยตัวเอง นำพาตนเองออกมาจากความยึดมั่น ถือมั่นในรูปในนามด้วยเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติประกอบกัน พระพุทธเจ้าเป็นเพียงผู้บอกทาง ชี้แนะเท่านั้น จิตจะต้องช่วยตนเอง เมื่อถึงเวลานั้นขึ้นมาจริงๆ ต้องใช้ความกล้าหาญ เข้มแข็ง เด็ดเดี่ยวของจิตที่อบรมมาด้วยสติ ด้วยปัญญาดีแล้ว พาตนเองให้หลุดพ้นออกจากวัฏฏะสงสารให้ได้ นี่แหละ อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ ในพุทธประสงค์ล่ะ

ในเบื้องต้น ทำให้จิตยอมรับว่า มันเป็นธรรมดาอย่างนั้นเอง  อย่างเห็นคนตายเป็นธรรมดา จิตก็ยอมรับว่า การตายเป็นธรรมดา แต่การเห็นตรงนี้เป็นเบื้องต้นเท่านั้น ยังไม่ใช่เห็นจิต เห็นธรรม ยังเป็นความคิดอยู่ มีคนเป็นอันมาก ที่เห็นแล้ว เข้าใจแล้วว่า ความตายเป็นเรื่องธรรมดา แต่พอลูกตาย หรือตัวเองกำลังจะตาย ความคิดความเข้าใจตรงนั้น มันเอาไม่อยู่หรอก มันคนละเรื่องกับ “ความเห็น” หรือ”ญาณ” อย่างที่หลวงปู่ดูลย์บอก

หลวงปู่ชาท่านก็สอนอานาปานสติเวลานั่งภาวนา แต่ท่านเน้นการทำงานด้วยสติ ด้วยการรู้เท่าทันอารมณ์มากที่สุด ท่านจึงชอบพาลูกศิษย์ทำงานตลอด การทำงานนี่มันจะเห็นอารมณ์ดีทีเดียว อย่างไปล้างส้วม (ตอนอยู่วัดป่า) นี่ ใครอึไว้แล้วไม่ราด นั่นอารมณ์ไม่พอใจเกิดแล้ว กวาดลานวัดเสร็จ ลานสะอาดตาสวยงาม เข้าไปนั่งพักเหนื่อยที่ศาลาไม่ทันได้นั่ง โน่น ลมมาหอบใหญ่ พัดเอาใบไม้ร่วงพรูลงมาอีกแล้ว อ้าว ! มีอารมณ์โผล่มาให้พิจารณาแล้ว ใบไม้ก็ร่วงลงมา เดี๋ยวก็เปื่อยไปตามธรรมดา อารมณ์ไม่พอใจนี่ก็เหมือนกัน ก็ต้องเสื่อมไปตามธรรมดาเหมือนกัน กวาดไปพิจารณาไป ทำแบบนี้เรื่อยมา

วันหนึ่ง พอมันได้ที่ของมัน มันก็แสดงผลของมันออกมา ชนิดที่เราน้ำตาซึมด้วยความปิติทีเดียว กราบพระพุทธเจ้าหมดหัวจิตหัวใจ พระพุทธเจ้าไม่ได้โกหกลูกเลยๆ ๆ ๆ ผู้ใดเห็นจิต ผู้นั้นเห็นธรรม ญาณคือ ความเห็นเกิดแล้ว เมื่อเกิดมันก็หายสงสัย วิจิกิจฉาหายไปทันที 

กลางคืนซ้อมรบ กลางวันรบจริง กลางคืนซ้อมรบด้วยอานาปานสติ และกายคตาสติ เดินจงกรมไปมา ให้มีสติอยู่กับอิริยาบถ ส่วนกลางวันก็เอาสติที่ซ้อมไว้ตอนกลางคืนนั่นแหละ ไปใช้รู้เท่าทันอารมณ์ต่างๆ ที่ไหลบ่าเข้ามา  หลวงปู่ชาบอกว่า อารมณ์นี้ให้ยึดแต่อย่าให้มั่น คือ ยึดเอามาพิจารณาให้เห็นเป็นอนิจจัง ซึ่งภาษาธรรมะเรียกว่า ธัมมวิจยะ (อยู่ในสัมโพชฌงค์เจ็ด) ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิและปัญญา ต้องอบรมให้เสมอกัน จึงจะเห็นธรรมได้ อย่างที่สมาชิกท่านหนึ่งเอาคำสอนของหลวงพ่อท่านหนึ่งมาลง บอกว่า สติตัวเดียวมันไม่ได้หรอก มันต้องใช้ปัญญาด้วย นั่นแหละ เห็นเนืองๆ เดี๋ยวจิตจะจางคลายออกมาตั้งมั่น เห็นอย่างนั้นแล้ว จะได้ไม่เข้าไปหมายมั่นให้มาก เพราะมันไม่มีอะไร เกิดแล้วก็ดับ มีอยู่แค่นั้นแหละ พอจิตตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิ คราวนี้ไม่ต้องไปถามใครแล้ว มันหมดสงสัยโดยตนเองไปโดยปริยาย สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่า ขันธ์ห้าเป็นเรา เป็นเขาหมด วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยหมด สีลัพพตปรามาส การลูบคลำศีล ถือบ้าง ขาดบ้าง การปฏิบัติทำบ้าง ไม่ทำบ้าง หมดลงในคราวเดียวกันนั่นแหละ การปฏิบัตินี้หากถูกทางขึ้นเรื่อยๆ ให้สังเกตตัวเอง ถ้าถูกทาง ง่ายนิดเดียว จะมีสติ การตื่นรู้มากขึ้นเรื่อยๆ