การปฏิบัติที่ลัดที่สุด คือ “ไม่ต้องทำอะไร”

แสดงธรรม กลุ่ม Natural Mind เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559
ท่านทรงกลด : วันนี้ก็มาต่อเรื่องคำสอนหลวงปู่ชา เรื่อง การปฏิบัติที่ลัดที่สุด คือ “ไม่ต้องทำอะไร” คำว่า ไม่ต้องทำอะไรนี่มันเหมือนง่ายที่สุดแต่ทำยากที่สุด ถ้าเราทำได้เราจะไม่เที่ยวโกรธ เที่ยวชัง เที่ยวรัก เที่ยวหลงใคร และจะไม่ทุกข์อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เลย ทีนี้ก็จะมีคนคิดอีกว่า ไม่ต้องทำอะไรนี่ก็ไม่ต้องให้ทาน รักษาศีลด้วยสิ ไม่ต้องทำงาน ไม่ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ ไม่ต้องทำหน้าที่อะไร ถ้าคิดแบบนั้น ถือว่ายังหยาบอยู่มาก
ธรรมที่ผมแสดง มันเลยขั้นทาน ขั้นศีลไปแล้ว ทาน ศีล มีคนแสดงสอนมากแล้ว ผมแสดงธรรมในกลุ่มนี้บนสมมติฐานว่า ทุกท่านมีการให้ทานเป็นปกติ มีการรักษาศีลห้าเป็นปกติ ตั้งแต่เปิดกลุ่มมาเกือบสองปีนี้ ผมไม่เคยพูดเรื่องทาน เรื่องศีลเลย ส่วนหน้าที่ทางโลก ท่านก็ต้องทำไปตามปกติ ทำงานไปตามหน้าที่ หาเลี้ยงครอบครัว เลี้ยงลูก เลี้ยงภรรยา เลี้ยงดูพ่อแม่ไปตามปกติ นั่นคือทางโลก คำว่า ไม่ต้องทำอะไร หมายถึง หน้าที่ทางใจต่างหาก
คำสอนหลวงปู่ดูลย์ อตุโล
“เมื่อจิตกระทบเข้ากับอารมณ์ภายนอกอย่างไร ก็ให้หยุดอยู่แค่นั้น อย่าไปทะเลาะวิวาทโต้แย้ง อย่าไปเอออวยเห็นดีเห็นงาม ให้จิตได้โอกาสก่อรูปก่อร่างเป็นตุเป็นตะ เป็นเรื่องเป็นราวยืดยาวออกไป อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ต่อไป อย่าไปใส่ใจอีกต่อไป พอกัน เพียงรู้อารมณ์เท่านี้เอง หยุดกันเพียงเท่านี้”
อ่านแล้วก็ช่วยตอบ (จะตอบในใจก็ได้) ด้วยว่า ตรงกับคำสอนหลวงปู่ชาเรื่อง การปฏิบัติที่ลัดที่สุดไหม
พระพาหิยะดั้นด้นวิ่งมาหาพระพุทธเจ้าทั้งวันทั้งคืน มาถึงเมืองสาวัตถีในเวลาเช้าตรู่ พระพุทธเจ้ากำลังออกบิณฑบาต พอพบพระพุทธเจ้า พระพาหิยะก็เข้าไปกราบแทบพระบาท ขณะนั้นปิติของท่านแรงกล้า พระพุทธเจ้าเห็นอย่างนั้นก็ดำริว่า แม้แสดงธรรมก็ไม่อาจบรรลุได้ เพราะขณะนั้นพระพาหิยะมีความกระหายที่อยากจะฟังธรรมมาก หากฟังหรืออ่านในเวลาที่อยากจะบรรลุธรรมจะไม่มีวันบรรลุเลย เพราะใจเต็มไปด้วยการปรุงแต่ง พระพุทธเจ้าจึงห้ามพระพาหิยะถึงสองครั้งว่า ยังไม่ใช่เวลา พระพาหิยะจึงพูดว่า ข้าพระองค์ไม่รู้อันตรายในชีวิตว่าจะมีมาเมื่อใด ใครเล่าจะล่วงรู้วันตายที่จะมาในวันพรุ่ง
ปิติที่พระพาหิยะเกิดเพราะได้พบพระพุทธเจ้า เพราะถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ พระพุทธเจ้าคือ วิตก จิตที่จดจ่อกับพระองค์คือ วิจาร จึงมีปิติตามมา เหมือนเราเห็นรูปในหลวง แล้วน้ำตาคลอนั่นแหละ แม้ปิติที่อยู่ในองค์ฌานก็เป็นปิติทางโลกอยู่ (โลกียฌาน) แต่ปิติทางธรรมหมายถึง เมื่อธรรมเกิดจิตก็เป็นปิติด้วยตัวมันเอง สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ สามอย่างนี้เมื่อเจริญประกอบกันด้วยดีก็จะเกิดปิติตามมา แล้วจะมีปัสสัทธิ สมาธิและอุเบกขาคือ สัมโพชฌงค์เจ็ดนั่นเอง นั่นคือองค์แห่งการตรัสรู้ธรรม
อุเบกขาในสัมโพชฌงค์ กับอุเบกขารมณ์ในฌานก็ต่างกัน วันหลังจะอธิบายนะ
เมื่อพระพาหิยะ ทูลว่า ข้าพระองค์ไม่รู้ว่าชีวิตจะมีอันตรายเมื่อใด พระพุทธเจ้าเมื่อได้ยินคำพูดเช่นนี้ จึงรู้ว่า จิตของพระพาหิยะสงบแล้ว เพราะอะไร (ตรงนี้ไม่มีในพระไตรปิฎกหรอก) ขณะที่พระพาหิยะบอกกับพระพุทธเจ้าว่า ข้าพระองค์ไม่รู้ชีวิตจะมีอันตรายเมื่อใดหรือไม่ พูดสั้นๆ ก็คือ ไม่รู้จะถึงพรุ่งนี้หรือไม่ คนเราตายได้ทุกเมื่อ จิตของพระพาหิยะระงับจากปิติ เริ่มอ่อนสงบ ขณะที่ท่านพูดอย่างนั้น เป็นการเจริญมรณานุสติไปในตัว ลองระลึกถึงความตายสิ จิตจะสงบลงอย่างประหลาด ชีวิตนี้ไม่เที่ยงหนอ จิตจะไม่อาลัยในชีวิตเพราะเห็นแล้วว่าชีวิตไม่เที่ยง เหมือนใบไม้ที่ต้องเหลือง เหี่ยว เปื่อยไปเป็นดินนั่นแหละ
พระพุทธเจ้าสอนพระพาหิยะสั้นๆ ว่า เมื่อใดที่ตาเห็นรูป ก็สักแต่ว่าเห็น หูได้ยินเสียงก็สักแต่ได้ยิน เมื่อทราบก็สักแต่ว่าทราบ เมื่อรู้ก็สักแต่ว่ารู้ ไม่ยึด ไม่ถือ ไม่มี ในกาลใด ท่านไม่มี (ตัวตน) ในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มีในโลกนี้ โลกหน้าหรือโลกไหน
หลวงปู่บุญฤทธิ์ก็สอนสั้นๆ ว่า “เห็นก็สักแต่ว่าเห็น” มีคนเคยกล่าวว่า พระพาหิยะ บรรลุอรหัตผลตั้งแต่พระพุทธเจ้าสอนว่า เมื่อตาเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น ทำไมพระพาหิยะแค่ฟังประโยคที่ว่า เมื่อตาเห็นรูป เห็นแล้วสักแต่ว่าเห็นก็บรรลุธรรม เพราะท่าน “ไม่ต้องทำอะไร”
พระพาหิยะ หลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ชา หลวงปู่บุญฤทธิ์ หลวงตามหาบัว ต่างยุคต่างสมัย แต่ก็เห็นเหมือนกัน หลวงตามหาบัวท่านบอกว่า อย่าให้ใจมันออกไปวาดลวดลายอะไรให้มีสติรู้เท่าทัน โดยปกติคนทั่วไปเมื่อตาเห็นรูป เกิดผัสสะ (การกระทบของอายตนะภายนอกกับภายใน) ย่อมต้องเกิดเวทนาตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย เวทนาคือ ความรู้สึกยินดีบ้าง (สุขเวทนา) ไม่ยินดีบ้าง (ทุกขเวทนา) หรือเฉยๆ บ้าง (อทุกขมสุขเวทนา) หูได้ยินเสียงก็เหมือนกัน หรือแม้ธรรมารมณ์ (อารมณ์ที่มากระทบใจ ความนึกคิดต่างๆ) เมื่อมากระทบใจก็เกิดผัสสะแล้วเกิดเวทนาตามมาเช่นกัน เช่น เรานึกถึงเพื่อนที่เคยดีต่อเราก็ย่อมเกิดสุขเวทนาคือ ความยินดี เมื่อนึกถึงเพื่อนที่ทำแย่ๆ ต่อเรา ย่อมเกิดทุกขเวทนา ความไม่ยินดีตามมาเช่นกัน ความยินดี ไม่ยินดี อะไรต่างๆ เหล่านี้ จะเกิดดับอยู่เสมอในแต่ละวัน นับเป็นหมื่นแสนครั้งจนกว่าจะเข้านอน และจนกว่าจะหลับ
หลวงปู่ชาจับตรงนี้ได้ จึงสอนว่า การปฏิบัติที่ลัดที่สุดอยู่ตรงนี้ อยู่ตรง “รู้เท่าทันเวทนา” เพราะเวทนานี้ หากไม่รู้เท่าทันก็จะเกิดตัณหา ภพ ชาติ การเวียนว่ายตายเกิดตามมาอย่างไม่มีสิ้นสุด พออารมณ์ไม่ยินดี (ซึ่งจะเกิดทันทีที่ตาเห็นรูป) เกิด จิตที่ไม่รู้เท่าทัน ก็วิ่งแส่ส่ายเข้าไปยึดอารมณ์นั้นทันที ยึดแล้วก็ปรุงแต่งเป็นโทสะ (วิภวตัณหา) อารมณ์ยินดีก็เหมือนกัน จะเกิดก่อน พอไม่รู้เท่าทัน จิตก็เข้าไปยึดเอออวยก่อร่างขึ้นมาเป็นราคะทันที ราคะในที่นี้ไม่ได้หมายถึง กามราคะอย่างเดียว อะไรที่เป็นความอยาก ถือเป็น ราคะหมด
ท่านพุทธทาสพูดให้เห็นภาพง่ายๆ ว่า ราคะนี่คืออะไรที่อยากได้เข้ามา ส่วนโทสะนี่ก็ผลักไสออกไป ที่นี้ เราไม่ต้องสนใจว่า อะไรจะเกิดก่อนหลังให้ปวดหัว ไม่ต้องไปนั่งไล่เรียงลำดับขันธ์ ลำดับอารมณ์อะไรให้มาก ไม่ว่าอารมณ์ใดๆ เกิด ให้เห็นแล้วสักแต่ว่าเห็น
ที่พระพุทธเจ้าสอนพระพาหิยะว่า เมื่อตาเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น ไม่ใช่หมายถึง รูปภายนอก รูปหยาบ เช่น รูปมนุษย์ รูปหมู หมา กา ไก่ แต่หมายถึง รูปภายในคือ อารมณ์ที่ก่อตัวขึ้นมาต่างหาก พระพาหิยะ ท่านเห็นอารมณ์ที่เกิด (เพราะตาเห็นรูป) แล้วสักแต่ว่าเห็น ดังนั้นเมื่ออารมณ์ใดๆ เกิด ไม่ว่าจะเกิดเพราะตาเห็นรูป หูได้ยินเสียงด่า ธรรมารมณ์มากระทบใจ ไม่ต้องสนใจว่ามันจะเกิดจากไหน หน้าที่เรามีอย่างเดียวคือ เฝ้าสังเกตมัน เหมือนเฝ้าสังเกตใบไม้ ต้องเหี่ยว เหลือง ร่วง เปื่อย เน่า ผุพังไป ให้เห็นก็สักแต่ว่าเห็น หยุดอยู่แค่นั้น อย่าไปทะเลาะวิวาท โต้แย้ง เอออวยกับมัน (อารมณ์) อย่าเข้าไปก่อร่าง วิพากษ์ วิจารณ์ อย่าใส่ใจ จบเพียงเท่านั้น เพียงรู้อารมณ์เท่านั้น
สุดท้ายคือ คำสอนหลวงปู่ดูลย์ ที่ว่า “เมื่อจิตกระทบเข้ากับอารมณ์ภายนอกอย่างไร ก็ให้หยุดอยู่แค่นั้น อย่าไปทะเลาะวิวาทโต้แย้ง อย่าไปเอออวยเห็นดีเห็นงาม ให้จิตได้โอกาสก่อรูปก่อร่างเป็นตุเป็นตะ เป็นเรื่องเป็นราวยืดยาวออกไป อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ต่อไป อย่าไปใส่ใจอีกต่อไป พอกัน เพียงรู้อารมณ์เท่านี้เอง หยุดกันเพียงเท่านี้” หรือที่หลวงปู่ดูลย์บอกว่า อย่าส่งจิตออกนอก อย่าหอบมันไปนอนกอดที่บ้าน เหมือนเราไม่หอบใบไม้ที่กำลังจะเน่าเปื่อยไปนอนกอดนั่นแหละ ไม่ต้องทำอะไร ปล่อยให้มันเกิดแล้วดับไปตรงนั้น เหมือนที่ผมเคยเล่าว่า ไปงานเลี้ยงมีผู้ใหญ่ระดับผู้ว่า สส. รมว. นั่งโต๊ะเดียวกัน แล้วผมหันไปขอแก้วน้ำเพิ่ม แล้วโดนเด็กเสิร์ฟด่าอยู่ประมาณ 10 นาที ผมไม่เห็นอะไรเลย นอกจากอารมณ์เกิดดับๆ ใครที่เห็นก็ให้รักษาความเห็นนั้นไว้
พระพุทธเจ้าบอกว่า เมื่อเห็นให้พอกพูนความเห็นนั้นไว้ แล้ววันหนึ่งจะอัศจรรย์ใจจนน้ำตาร่วง หรือเหมือนอย่างเรื่องราวของพระเซนสองรูปเดินทางไปในป่า ผ่านลำธาร พบสตรีนางหนึ่งกำลังจมน้ำจึงโดดเข้าไปช่วย อุ้มนางขึ้นมา ขณะที่พระอีกรูปหนึ่งยืนมองอยู่ หลังจากช่วยเสร็จก็พากันเดินทางต่อ จนตกค่ำคืนก็เตรียมตัวจะเข้านอนกัน พระรูปที่ยืนดูพระเพื่อนช่วยอุ้มสตรีก็ถามขึ้นว่า เมื่อกลางวัน ท่านถูกเนื้อต้องตัวอิสตรีไม่อาบัติหรือบาปหรือ พระอีกรูปก็ตอบสั้นๆ ประสาเซนว่า เราวางสตรีนางนั้นไว้ที่ลำธารตั้งแต่ตอนกลางวันแล้ว นี่ท่านยังอุ้มนางตามมาอีกหรือ
พวกเราล่ะ เมื่อคืนนี้อุ้มใครกลับมาบ้านกันบ้าง คงเต็มห้องนอนไปหมดเลยสินะ นักปฏิบัติท่านไม่อุ้มใครเลย แค่รับรู้เท่านั้น รู้แล้ววาง หลวงปู่ชาใช้อีกคำว่า รับทราบ เคยสังเกตไหม เวลาหลวงตามหาบัวรับบริจาคทองคำแล้วมีการขานยอดเท่านั้นเท่านี้ ท่านบอกว่า พอใจ ๆ ตอนนั้นไม่เข้าใจ พอตอนนี้ อ้อ ! ท่านเห็นความพอใจ ท่านก็บอกว่า พอใจ แล้วก็วางคือ รับทราบ แล้วพอแค่นั้น ใจพอก็พอใจ ใจท่านแค่รับทราบรู้อารมณ์พอใจที่มากระทบแล้วก็วาง ไม่เออออ เอออวยไปกับมัน
หลวงปู่ชาก็พูดเรื่องศาลาว่า คนมาเห็นศาลา คนหนึ่งบอกศาลานี้ใหญ่ อีกคนบอกศาลานี้เล็ก หลวงปู่ชาบอกว่า อันความจริง ศาลามันอยู่ของมันอย่างนั้น ไม่เล็ก ไม่ใหญ่ คนเรานี่แหละ เอาใจไปวัดว่าเล็ก ว่าใหญ่ ว่ารวย ว่าจน (อันนี้ผมต่อเอง) ว่าสวย ว่างาม ว่าดำ ว่าขาว ว่าหนุ่ม ว่าแก่ มันจะรวยแค่ไหน จนแค่ไหน ถ้าใจพอมันก็เหมือนกันเท่ากันนั่นแหละ ผมสอนน้องคนหนึ่ง เขาบอกว่า มีคนเข้ามาพูดคุยมากมาย มีข้อความมากมาย รู้สึกรำคาญ ผมสอนไปว่า ข้อความจะมากจะน้อยมันก็เหมือนศาลาหลวงปู่ชานั่นแหละ ใจเรานี่เองไปวัดว่ามากไปวัดว่าน้อย ถ้าเห็นแล้วสักแต่ว่าเห็น ไม่เอออวย ปรุงแต่ง มันก็แค่ข้อความ ไม่ต้องไปอ่านก็ได้ ถ้ารู้สึกรำคาญ เขี่ยๆ ทิ้งไป เหมือนต้นมะม่วงออกลูกออกผล ลูกไหนเสีย ไม่มีประโยชน์ก็เขี่ยทิ้ง ลูกไหนดีก็เอามากิน มันก็เท่านั้นเอง
เห็นแล้วทำอย่างที่หลวงปู่ชาสอนได้ไหม “ไม่ต้องทำอะไร” หยุดอยู่แค่นั้น อย่าไปทะเลาะวิวาทโต้แย้ง เอออวยกับมัน (อารมณ์) อย่าเข้าไปก่อร่าง วิพากษ์ วิจารณ์ อย่าใส่ใจ จบเพียงเท่านั้น เพียงรู้อารมณ์เท่านั้น เห็นแล้วทำอย่างพระพาหิยะได้ไหม เห็นแล้วสักแต่ว่าเห็น
มีเคล็ดลับนิดหนึ่ง ถ้าท่านฝึกสติมาดี คือ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน พูด ดื่ม คิด มีสติอยู่กับกายตลอด รู้สึกตัวตลอด หายใจเข้าออกรู้สึกตัวบ้าง พิจารณากาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ให้เห็นไม่เที่ยงเหมือนใบไม้บ้าง มันจะช่วยให้ท่านมีสติรู้เท่าทันอารมณ์ได้ดีขึ้น ท่านจะเห็นอารมณ์อยู่ต่อหน้า เหมือนตาเห็นมือถือในขณะนี้ แต่เมื่อใดที่ท่านคิดปรุงแต่งแสดงว่า ท่านเข้าไปหลงยึดอารมณ์นั่นเข้าแล้ว (เรียกว่าเสวยอารมณ์) ไม่เป็นไร ให้พยายามรู้สึกตัว ออกจากอารมณ์นั้นให้เร็วที่สุด เดี๋ยวสติจะดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างอัศจรรย์ใจ