ถาม-ตอบ

การปฏิบัติที่ลัดที่สุด

แสดงธรรม กลุ่ม Natural Mind เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2558

 

ท่านทรงกลด : รูปนี้ไม่ใช่ตน เวทนาไม่ใช่ตน สัญญาไม่ใช่ตน สังขารไม่ใช่ตน วิญญาณไม่ใช่ตน รูปนี้เกิดแล้วดับ เวทนาเกิดแล้วดับ สัญญาเกิดแล้วดับ สังขารเกิดแล้วดับ วิญญาณเกิดแล้วดับ ขันธ์ห้า อารมณ์ทั้งปวงไม่ใช่เรา เห็นความไม่เที่ยง ไร้แก่นสารของขันธ์อยู่เนืองๆ ชื่อว่า เห็นชอบ วันหนึ่งเมื่อจิตหยุด ไม่เข้าไปหมายมั่นในขันธ์ห้า จิตพรากออกจากขันธ์ห้าได้ จะเห็นตน พบตนเมื่อนั้น 

การปฏิบัติที่ลัดที่สุด ก็คือ การเจริญสติปัฏฐานสี่ ให้เดินจงกรม 20 นาที แบ่งเป็น 2 ตอน สิบนาทีแรก ให้เดินพิจารณากาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง  ไปกลับ  เวลานี้เป็นเวลาที่เหมาะที่จะปฏิบัติ  ร่างกายย่อยอาหารพอควรแล้ว ถ้าไม่กินอาหารเย็นได้จะดีที่สุด ร่างกายจะเบา เมื่อพิจารณากายสิบนาที จิตจะค่อยสงบ พิจารณาให้เห็นเป็นของไม่สวยงาม เป็นอนิจจัง ต้องเสื่อมไปเป็นธรรมดา พิจารณาให้เห็นเป็นสักแต่ธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม ถ้าจิตยังไม่สงบลง ให้เพิ่มเป็นสิบห้านาที  หลังจากนั้น ให้เดินทำความรู้สึกตัว  ประมาณสิบนาที  ไม่ต้องบริกรรมว่า เดินหนอ ย่างหนอ ให้รู้สึกตัวทั่วพร้อมอย่างเดียวเท่านั้น  การรู้สึกตัวทั่วพร้อม ก็คือ สติ  

การเตรียมจิต

การพิจารณากายให้เห็นตามความเป็นจริงในตอนแรกได้ทั้งสติ ได้ทั้งปัญญา ตรงนี้ให้ใช้เวลาประมาณ 20 – 25 นาที ยังไม่ลงมือปฏิบัติจริง เป็นการเตรียมจิต จากนั้นให้หาที่สงัด ปราศจากผู้คนรบกวนจะเข้าสู่ภาคปฏิบัติ ต้องเรียนเบื้องต้นว่า ถ้าท่านลองวิธีอื่นมาหมดแล้ว ไม่บรรลุผล อยากให้ลองวิธีนี้ เพราะผมทำมาแล้ว แต่หากยังไม่ลองวิธีที่จะกล่าวต่อไป ขอให้เก็บบันทึกไว้ เมื่อเวลาผมไม่อยู่แล้ว หรือท่านอายุมากขึ้น ยังไม่สำเร็จ ขอให้หยิบขึ้นมาพิจารณาดู 

วิธีที่จะนำเสนอ คือ กรรมฐานกลางๆ ที่พระพระพุทธองค์ยืนยันว่า เป็นของกลางๆ คนทุกคนสามารถปฏิบัติได้

ซึ่งผมขอสรุปเป็นสามขั้นตอน

หลังจากที่ท่านได้เดินจงกรมมา 20 – 25 นาที

ขั้นที่ 1 ทำอานาปานสติ

ท่านนั่งสมาธิอย่างที่เคยนั่ง หายใจเข้าลึกๆ สามครั้ง เป็นการทำอานาปานสติ แต่เป็นฉบับย่อ ที่สามารถทำให้เห็นธรรมได้โดยง่าย ซึ่งผมพิสูจน์มาแล้ว 

เมื่อท่านนั่ง หายใจเข้าลึกๆ ขณะหายใจเข้าถึงที่สุดของลม ให้ทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ทำสติให้เกิดจริง ๆ สติมีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปทำมันขึ้นมา แต่จิตเราไม่เคยอยู่กับสติเลย แล่นไปอยู่กับอารมณ์เสียหมด เมื่อหายใจเข้าลึกๆ รู้สึกตัวทั่วพร้อม ให้รักษาความรู้สึกตัวนั้นไว้ ตรงนี้สำคัญมาก เป็นเคล็ดลับของวิชาอานาปานสติให้คงความรู้สึกตัวทั่วพร้อมไว้ แล้วจึงหายใจออก ขณะที่หายใจออก ให้รักษาความรู้สึกตัวไว้ตลอดสายที่หายใจออกไป เมื่อหายใจออกหมด ก็ให้รักษา หรือคงไว้ซึ่งความรู้สึกตัวทั่วพร้อมนั้นไว้ เหมือนตอนหายใจเข้า จากนั้นจึงหายใจเข้า 

เมื่อทำได้ดังแสดงมา  สติท่านจะต่อเนื่อง เป็นวงกลม  ดังที่หลวงปู่มั่นบอก การปฏิบัติให้ทำเป็นวงกลม คือต่อเนื่อง ก็คือ อันนี้นี่เอง  หลวงปู่ชาก็บอกเหมือนกัน ลองทำดูตรงนี้ก่อน

ในอานาปานสติ เราหายใจเข้า รู้ หายใจออก รู้ ส่วนใหญ่จะไปรู้ (สติ) ตอนหายใจเข้า ตอนหายใจออกหมดแล้ว สติจึงขาดช่วง ไม่ต่อเนื่อง เหมือนสายน้ำขาดสาย เราต้องรักษาความรู้สึกตัวทั่วพร้อมไว้ตลอดสายของลมหายใจเข้าและออก หากท่านทำดังนี้สำเร็จ จะมีอาการดังนี้

ท่านจะเห็นลมหายใจเข้าออกเหมือนแขก มาแล้วก็ไป มาแล้วก็ไป มาแล้วก็ไป ลมหายใจจะมาเอง โดยไม่ต้องบังคับให้หายใจเข้าหรือออก เป็นธรรมชาติ

สติท่านจะดีขึ้น จะมีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอด

อันที่สามคือ กายจะเบา จิตจะเบา จะมีปิติน้อยๆ เพราะจิตเริ่มมาอยู่กับสติแล้วตอนนี้

เมื่อจิตห่างจากอารมณ์ ไกลจากกิเลส จิตจะเบา

มีปิติ ส่วนความนึกคิด ปล่อยมันไปก่อน อย่าไปพยายามยุ่ง หรือไปห้ามความคิดเด็ดขาด งานของเราตอนนี้คือหายใจเข้าให้รู้ตลอด หายใจออกให้รู้ตลอด เท่านี้นี่คือขั้นแรก

เมื่อท่านมีอาการของจิตเช่นนั้นแล้ว ต่อไป จะเป็นขั้นที่สอง อานาปานสติฉบับย่อ มีเพียงสามขั้นเท่านั้น

ขั้นที่สอง พิจารณาการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของลมหายใจ จนจิตยอมรับว่ากายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย

เมื่อหายใจเข้าให้รู้สึกตัวทั่วพร้อมเหมือนเดิม  แต่คราวนี้ขณะที่หายใจออกให้พิจารณาการดับไปของลม  เห็นลม เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป มาแล้วไป เกิดแล้วดับ หาสาระแก่นสารไม่ได้ ลมก็คือ กาย กายก็คือ ลม ให้พิจารณา สังเกต การเกิดและดับของลม อนิจจังไม่เที่ยง ทุกขังอยู่ในสภาพที่ทนไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจของใคร หายใจเข้าแล้วไม่ออก ไม่ได้ เฝ้าดูมัน หายใจเข้าให้รู้ นี่คือ สติ เห็นลมเกิดแล้วเสื่อมดับไป หาสาระแก่นสารไม่ได้ จะถือเป็นเราก็ไม่ได้ นี่คือ ปัญญา ความสำเร็จของ

ขั้นที่สอง เป็นปัจจัตตัง นั่นคือ จิตจะยอมรับว่าลม (กาย) ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย อาการที่จิตยอมรับ  แค่ไหนที่จิตยอมรับ เป็นเรื่องเฉพาะตน บางคนก็จะมีคำบาลีผุดในจิต (ออกมาแบบไม่คิด) ว่า สัพเพ สังขารา อนิจจา จะไม่บอกมาก เดี๋ยวจะเป็นสัญญา ของใครของมัน หรือบางคน จิตยอมรับโดยดุษฎี โดยไม่มีอาการใดๆ ก็ได้ โดยจะเห็นลม (กาย) ไม่ใช่เราอีกต่อไป หายสงสัย

 

ขั้นที่สาม พิจารณาการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดปรุงแต่ง ความจำได้ หมายรู้ จนจิตตั้งมั่น เห็นอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดทั้งปวง แยกออกไปเฉพาะหน้า

 

เมื่อหายสงสัยว่า กายไม่ใช่เรา เราไม่ใช่กาย ต่อไปก็หายใจเข้าให้รู้สึกตัวทั่วพร้อมเหมือนเดิม ถึงตอนนี้สติจะดีขึ้นมากแล้ว แต่คราวนี้ไม่ต้องพิจารณาลม แต่ให้พิจารณาอารมณ์ ทำความเข้าใจอีกครั้งว่า ความรู้สึกนึกคิดทั้งปวงคือ อารมณ์  ไม่ว่าดีหรือร้าย ไม่ใช่หมายถึง  อารมณ์โกรธ ไม่พอใจอย่างเดียว สุข ทุกข์ก็เป็นอารมณ์ ความจำได้หมายรู้ สัญญาทั้งปวงก็คืออารมณ์ ความนึกคิดปรุงแต่งก็คืออารมณ์ เมื่อเข้าใจดังนี้ สิ่งทั้งปวงที่เข้ามาในหัวเราตอนนนี้ ไม่ว่าอดีต อนาคต นั่นคืออารมณ์ทั้งสิ้น 

ตอนนี้หายใจเข้าลึกๆ ให้รู้สึกตัวทั่วพร้อมสามสี่ครั้ง แล้วให้พิจารณาอารมณ์ที่เข้ามาดุจดังพิจารณาลมหายใจที่มาแล้วก็ไป เหมือนแขกมาเยือน  หลวงปู่ชาบอกว่า เหมือนเรานั่งอยู่ในห้องๆ หนึ่ง มีเก้าอี้ตัวเดียว เรานั่งอยู่ แขกจรมา เราไม่ให้นั่ง เดี๋ยวแขกก็ไป เหมือนลม เหมือนอารมณ์นั่นแหละ ไม่ว่าจะเป็นภาพ คน สัตว์ สิ่งของใดๆ ที่ผ่านเข้ามาในใจ ให้พิจารณาเป็นอนิจจัง คือ ไม่เที่ยงแท้ เกิดแล้วดับ ความคิดหนึ่งเกิดขึ้น แล้วก็ไป ความคิดใหม่ก็มาอีก มาแล้วก็ไปๆๆ เกิดแล้วเสื่อมดับๆๆ ให้เห็นเป็นของไม่เที่ยง ทุกขัง ทนไม่ได้ อนัตตาหาแก่นสารไม่ได้ 

โดยวิธีพิจาณาคือ หายใจเข้าให้รู้สึกตัวทั่วพร้อม ตอนนี้ไม่ต้องไปสนใจลมหายใจออกแล้ว แต่ให้พิจารณาอารมณ์ที่เกิดในขณะนั้นแทนลมหายใจออก ให้เห็นว่ามันเกิดแล้วต้องเสื่อม ต้องดับไปเป็นธรรมดา ให้เห็นอนิจจังในอารมณ์เหมือนเห็นอนิจจังในลม 

เมื่อจิตเห็นอนิจจังในอารมณ์มากขึ้นๆๆ จิตจะจางคลายจากอารมณ์ จางคลายจากความยึดมั่น ถือมั่น เห็นอารมณ์ไม่ต่างจากลม มาแล้วไป เกิดแล้วดับ จะรู้สึกเบา ปิติมากขึ้นๆ จนจิตหยุดวิ่งตามอามณ์ได้ จิตตั้งมั่นจะเห็นอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดทั้งปวง แยกออกไปเฉพาะหน้า ที่พระไตรปิฏกเรียกว่า จิตพรากออกจากขันธ์ หรือขันธ์พรากออกจากจิตนั่นแหละ จะเห็นขันธ์ห้า อารมณ์ ไม่ใช่เรา สลัดอารมณ์ออกไปได้ ก็จะพบจิต ผู้ใดเห็นจิตผู้นั้นเห็นธรรม หากวันนี้ยังไม่เห็น ก็ไม่เป็นไร เมื่อปฏิบัติอยู่เนืองๆ ด้วยความเพียร ด้วยศรัทธา สักวันจะต้องเห็น

ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา นี่คือ พละห้า อินทรีย์ห้า ที่พระพุทธเจ้าเน้นมาก จิตที่ไม่วิ่งตามอารมณ์ ตั้งมั่นอยู่ นั่นแหละเรียกว่า สมาธิ สัมมาสมาธิ 

หากวันนี้ไม่สำเร็จ พรุ่งนี้ ไปทำงาน พบปะผู้คน ก็ให้สังเกตอารมณ์ที่เกิดในแต่ละวัน น้อมเข้ามา โอปนยิโก ให้เห็นว่า มันก็เหมือนลมหายใจเข้าออกนี่แหละ มาแล้วก็ไป ไม่ตั้งอยู่นาน เกิดแล้วดับเป็นธรรมดา อย่าไปหมายมั่นให้มากนักเลย อย่าไปให้ความสำคัญกับมันมาก พระพุทธองค์บอกให้พอกพูนความเห็นนี้ไว้ เห็นอนิจจังในอารมณ์อยู่เนืองๆ 

เมื่อตกกลางคืน เราเสียสละเวลาปฏิบัติจริงสักสี่สิบนาที โดยในช่วงแรกประมาณยี่สิบนาที ช่วงอานาปานสติประมาณยี่สิบนาที หากทำได้ทุกวัน เชื่อว่าระดับสติปัญญาอย่างพวกเรา ไม่เกินเจ็ดเดือนจะเห็นธรรมด้วยกันทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่เคยฝึกสมาธิมาก่อน ไม่ว่าแบบใดก็ตาม เพราะจิตสั่งสมกำลังมาด้วยดีแล้ว

ขอเน้นว่าในขั้นแรกอย่าตามหรือเพ่งลม ให้รู้สึกตัวทั่วพร้อมอย่างเดียว ระหว่างวัน เมื่อจิตท่านชินกับสติท่านจะประหลาดใจ เวลามีอารมณ์มากระทบจิตจะวิ่งมาอยู่กับสติโดยอัตโนมัติ มันคล้ายๆ กับว่าเรามีพี่เลี้ยงคอยกันนักเลงโตที่ข่มเหงเรา ประมาณนั้น ขอทิ้งท้ายว่า อานาปานสติทั้งหมดในพระสูตร จริงๆ มี สิบหกขั้น ขึ้นที่หนึ่งถึงสิบสองเป็นเรื่องสติทั้งสิ้น ส่วนขั้นที่สิบสามถึงสิบหกเป็นเรื่องของปัญญา ผมรวบมาเหลือเพียงสามขั้นตอน เป็นหัวใจของอานาปานสติเลยทีเดียว

หลักที่สำคัญ จากประสบการณ์คือ อย่ารอมาฝึกตอนกลางคืนอย่างเดียว ระหว่างวันเป็นช่วงของจริงดีที่สุด ฟัดกับมันตอนที่อารมณ์เกิดนั่นแหละ ขบมันด้วยอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เรียกว่า ธัมมวิจย ในสัมโพชฌงค์ สติ ธัมมวิจย วิริยะ ปิติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกเขา มันเรื่องเดียวกันทั้งหมดนั่นแหละ  ใครด่า ใครชม ก่อนจะพูด ทำอะไร ให้หายใจเข้าลึกๆ ให้รู้สึกตัวทั่วพร้อม ตอนนี้คือ สติ แล้วเอาอารมณ์ไม่ว่าดีหรือร้ายที่เกิดในขณะนั้นมาพิจารณาให้เห็นเป็นของไม่เที่ยง มาแล้วไป เกิดแล้วดับ เหมือนลมหายใจนี่แหละ ก็ขอให้ประกอบด้วยความเพียร ได้ดวงตาเห็นธรรมกันในชาตินี้ทั้งหมดทุกท่านนะครับ