การบรรลุธรรมของพระสุภัททะ สาวกองค์สุดท้ายในพุทธกาล

แสดงธรรมกลุ่ม Natural Mind เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2558
ท่านทรงกลด : ต่อไปนี้จะเล่าเรื่อง การบรรลุธรรมของพระสุภัททะ ใครมีปัญญาอาจฟังแล้วบรรลุธรรมได้นะ
เมื่อพระพุทธเจ้าใกล้ปรินิพพาน พระอานนท์ได้จัดให้พวกมัลลกษัตริย์เข้าถวายบังคมเป็นครั้งสุดท้าย และก็คิดว่า จะไม่ให้ใครเข้าเฝ้าอีก ก็มีปริพาชกนายหนึ่งชื่อ สุภัททะ รู้ข่าวว่า พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานแล้ว จึงเข้าไปยังที่ที่พระพุทธเจ้าประทับนอนอยู่ แจ้งพระอานนท์ว่า จะขอเข้าเฝ้า พระอานนท์ก็ห้าม บอก อย่าเลยสุภัททะ อย่าเบียดเบียนพระตถาคตเลย พระพุทธเจ้าได้ยินเสียงดังเอะอะ จึงถามว่า มีอะไร พอรู้ ก็บอกพระอานนท์ว่า อย่าห้ามสุภัททะเลย เหตุผลข้อหนึ่งที่พระองค์มาปรินิพพานที่เมืองนี้เพราะมีพระประสงค์จะมาโปรดสุภัททะเป็นองค์สุดท้าย
นี่แหละน้ำพระทัยของพระบรมครูล่ะ จริงๆ แล้ว เป็นเรื่องของการอธิษฐานไว้ทั้งนั้น สุภัททะท่านตั้งใจมาเป็นสาวกองค์สุดท้ายในสมัยที่พระบรมศาสดามีพระชนม์ชีพอยู่ และการตั้งพระสาวกเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ถ้าเราเอาสติปัญญาทางโลกไปจับ ไม่มีวันเข้าใจหรอก พระพุทธเจ้าตั้งพระสารีบุตรเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา คนโลกๆ ก็จะมองว่า พระองค์ลำเอียง ทำไมไม่ตั้งพระอัญญาโกณฑัญญะที่ตรัสรู้ธรรมก่อน บรรลุธรรมก่อนเป็นสาวกก่อน นี่ เอาปัญญาทางโลกไปจับ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ท่านไม่ได้ตั้งใครเป็นนั่น เป็นนี่ ท่านเหล่านั้นตั้งของท่านเองคือ ปรารถนากันมาแล้ว บำเพ็ญบารมีกันมาแล้ว พระสารีบุตรเองเมื่อตั้งความปรารถนาแล้วก็บำเพ็ญบารมีมาหนึ่งอสงไขยกับแสนกัป ทุกคนตั้งความปรารถนากันมาทั้งนั้น พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ทำอะไรเลย ตำแหน่งต่างๆ น่ะ ผมถึงบอกพวกเราหลายคนว่า พุทธภูมิที่ตั้งกันไว้น่ะบอกเลิกเสียเถิด ลัดตรงพระนิพพานเลย ดูขนาดพระสารีบุตรยังต้องใช้เวลาหนึ่งอสงไขยแสนกัป เรานี้แค่แปดสิบปีก็แย่แล้วนะ เอาพระสาวกก็พอ ก็กลับถึงบ้านเหมือนกันนั่นแหละ จะมีขบวนแห่สวยงามใหญ่โต นั่งราชรถสวยหรูเพียงไร พอถึงบ้านก็ต้องทิ้งหมดนั่นแหละ เอาขึ้นบ้านไม่ได้สักอย่าง
สุภัททะเมื่อได้กราบพระพุทธเจ้าก็ถามปัญหาสอง สามข้อ สุภัททะถามว่า พวกศาสดาอื่น เช่น นิครนถนาฏบุตร มักขลิโคสาล เป็นพระอรหันต์หรือเปล่า พระพุทธเจ้า ไม่ตอบ เลี่ยงว่า คำถามนี้ไม่มีประโยชน์ คนฉลาดอย่างสุภัททะพอได้ยินคำตอบอย่างนี้ก็รู้ว่า พวกศาสดาอื่นไม่ใช่พระอรหันต์ พระพุทธเจ้าบอกว่า ศาสนาไหนมีอริยมรรคมีองค์แปด ศาสนานั้นไม่ว่างสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ คือ พระอริยบุคคลสี่ระดับ นี่พระพุทธเจ้ารับรองเพียงนี้แล้ว หากท่านไปสำนักไหนหรือเจอคำสอนไหนที่ไม่ประกอบด้วยมรรคมีองค์แปด ก็อย่าหวังว่าจะรู้ธรรม เห็นธรรม เป็นพระอริยบุคคล ที่คนสมัยนี้ไม่ค่อยรู้เห็นธรรมก็เพราะเดินมรรคผิดนั่นเอง บอกสิ่งถูกๆ ให้ก็ไม่เอา
คำถามที่ทำให้สุภัททะยอมพระพุทธเจ้าเลยก็คือ สุภัททะถามว่า แล้วรอยเท้าในอากาศมีหรือไม่ พระพุทธเจ้าตอบเหมือนตอบเด็กๆ ตอบง่ายๆ เลยว่า ไม่มี แล้วตรัสว่า สุภัททะ คำถามแค่นี้เองเหรอที่เธอเพียรมาเข้าเฝ้าเรา สุภัททะหมอบกราบ ยอมขอบวช หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าให้พระอานนท์พาไปบวช
รอยเท้าในอากาศคืออะไร เป็นคำถามของนักปราชญ์ซึ่งเป็นความเห็นส่วนบุคคล ไม่เคยมีที่ไหนอธิบายไว้นะหรือมีก็ไม่รู้ อาจจะไม่เหมือนผมนะ ขอออกตัว พอพระพุทธองค์เห็นทุกข์แยกออกไปจากจิต พระองค์เห็นจิต พบตนเอง พระองค์ก็ดำริว่า เออ ! เรานี่หนอ หลงตามรอยเท้าโคมานานแสนนาน แม้ชาตินี้บวชแล้วก็ยังหลงตามอยู่อีกตั้งหกปี สุภัททะถามพระพุทธเจ้าว่า ในนิพพานมีการปรุงแต่งหรือไม่ อากาศคือ ความว่าง นิพพานก็คือ ความว่าง จิตนี้ก็ว่าง รอยเท้าคือ สิ่งที่จิตปรุงแต่ง เป็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอารมณ์ต่างๆ นั่นเอง ถ้าใครบอกว่า ไปเอาเจดีย์มาจากนิพพาน อันนี้บอกได้เลยว่า โกหกคำโต เพราะนิพพานไม่มีการปรุงแต่ง เมื่อไม่มีการปรุงแต่งก็ไม่มีการเสื่อม การดับ ไม่มีการเกิด การตาย สุภัททะเบื่อที่จะเกิด จะตายแล้ว พอพระพุทธเจ้าตอบว่า รอยเท้าในอากาศไม่มี สุภัททะจึงยอมขอบวชเพราะไม่อยากเกิดอีก เมื่อพระพุทธเจ้ามาไขปัญหานี้จึงส่งผลให้สุภัททะบรรลุธรรมโดยง่าย
เรามาดูกันว่า พระสุภัททะบรรลุธรรมอย่างไร เมื่อพระอานนท์ได้รับบัญชาจากพระพุทธเจ้าให้บวชให้สุภัททะ ท่านก็นำสุภัททะไปในที่แห่งหนึ่ง เอาน้ำรดศีรษะ บอกกรรมฐานทั้งห้า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง จากนั้นนำไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าอีกครั้งหนึ่ง พระองค์ก็สอนธรรมอีกครั้ง พระสุภัททะรับธรรมะแล้วก็หลบไปเดินจงกรมในที่แห่งหนึ่ง ท่ามกลางแสงสว่างที่สาดส่องไปทั่วป่าสาลวันในคืนวันเพ็ญ วิสาขะเดือนหกนั้น พระสุภัททะก็เดินจงกรมไปมา พิจารณาข้อธรรมที่สนทนากับพระพุทธเจ้าเรื่องรอยเท้าในอากาศ ในอากาศไม่มีการปรุงแต่ง ที่ใดมีการปรุงแต่งย่อมมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
พระสุภัททะได้เรียนรู้มาจากพระพุทธเจ้าอย่างหนึ่งว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ย่อมมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ในความว่าง ไม่มีการปรุงแต่ง ถ้าว่างก็ไม่ปรุง ถ้าปรุงก็ไม่ว่าง ขณะนั้นเองสายตาของพระสุภัททะแหงนขึ้นมองบนท้องฟ้า เห็นพระจันทร์วันเพ็ญที่สว่างไสวอยู่ มืดมิดลงชั่วขณะเพราะมีเมฆก้อนหนึ่งไหลเลื่อนมาบดบัง เมฆดังกล่าวตั้งอยู่สักพักก็เคลื่อนสลายจากไป พระจันทร์ก็กลับมาสว่างเหมือนเดิม ท่านเอาจิตไปเทียบกับพระจันทร์ จึงเกิดปัญญาขึ้นมาว่า อ้อ ! พระจันทร์นี่ก็เหมือนจิตที่ว่าง สว่างอยู่ แต่มืดมิดไปเพราะเมฆคือ กิเลส คืออารมณ์จรผ่านมา แล้วผ่านไป ตั้งอยู่ไม่ได้ เมฆนั้นเมื่อปรุงแต่งขึ้นมาก็ย่อมเสื่อมไปเป็นธรรมดา เมฆไม่ใช่จันทร์ จันทร์ก็ไม่ใช่เมฆ มันอยู่คนละส่วนกัน ที่จันทร์มืด มืดด้วยตัวมันเองก็หาไม่ แต่มันมืดมัวหมอง (ไม่บริสุทธิ์) เพราะเมฆจรมาต่างหากเล่า ท่านแยกจิตออกจากกิเลส จากอารมณ์ได้ เหมือนหลวงปู่ดูลย์ที่แยกจิตออกจากกิเลส อารมณ์ได้ ขณะนั้นดวงตาเห็นธรรมเกิดแล้ว แต่ท่านไม่หยุดเพียงนั้น ท่านเอาอารมณ์ทั้งปวงที่ไหลเข้าผ่านมาแล้วผ่านไป ที่เห็นเกิดดับอยู่ตรงหน้ามาพิจารณาด้วยไตรลักษณ์ ก็พระบรมศาสดาสอนว่า สังขารทั้งปวงย่อมเสื่อมไปเป็นธรรมดา อารมณ์ กิเลสก็เป็นสังขารอย่างหนึ่ง ย่อมเสื่อมไป ควรหรือจะถือว่า มันเป็นของเรา เราไปบังคับบัญชามันได้หรือไม่ว่า นี่ สุขเอ๋ย จงอยู่กับเรานะ นี่ ทุกข์เอ๋ย จงไปจากเรานะ มันอยู่ในอำนาจของเราได้ละหรือ ไม่ได้ๆ มันไม่อยู่ในอำนาจของเรา มันต้องเสื่อมสลายไปตามธรรมดาของมัน เหมือนเมฆที่กำลังสลายตัวให้เห็นอยู่ในขณะนี้แหละ ไม่ควรเลยที่เราจะไปยึดอารมณ์ กิเลส ราคะ โทสะ โมหะ ที่จรมา จรไปว่า นั่นคือของเรา เมื่อเห็นอย่างนี้อย่างชัดแจ้ง จิตของพระสุภัททะก็เบื่อหน่าย คลายกำหนัด คลายความยึดมั่นในขันธ์ห้า อารมณ์ วิมุติหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นก็รู้ว่าหลุดพ้น กิจที่ต้องทำเพื่อการนี้ไม่มีอีกแล้ว พระสุภัททะก็บรรลุอรหัตผลอยู่บนทางเดินจงกรมนั้นแล แล้วไปกราบแทบเท้าพระพุทธเจ้าที่กำลังจะปรินิพพานอยู่เฉพาะหน้า
นี่แหละคือการแยกจิตกับเวทนาเหมือนพระสุภัททะแยกจันทร์ออกจากเมฆ จิตเดิมแท้จะมีสภาวะผ่องใส ว่าง หน้าที่เราก็คือ กลับคืนสู่สภาวะเดิมของจิตให้ได้
ผู้ปฏิบัติ : ท่านอาจารย์คะ ทำไมท่านสุภัททะจึงกราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “รอยเท้ามีในอากาศหรือไม่” ท่านสุภัททะถามด้วยวัตถุประสงค์อะไรคะ ท่านเข้าใจคำตอบของพระพุทธองค์ว่าอย่างไรคะ และภายหลังจากที่ได้ฟังคำตอบจากพระพุทธองค์แล้วท่านสุภัททะขอออบวช นั่นแสดงว่า ท่านสุภัททะย่อมมีความเข้าใจในเรื่องรูป นาม และการปรุงแต่งของจิตอยู่ก่อนแล้วใช่หรือไม่คะ
ท่านทรงกลด : อากาศคือความว่าง รอยเท้าคือการปรุงแต่ง พระสุัททะมีความสนใจศาสนาเปรียบเทียบอยู่บ้างแล้ว ท่านตามหาพระนิพพาน ที่ที่ไม่มีการเกิดการตาย ที่ๆ ไม่มีการปรุงแต่ง ท่านจึงเปรียบเทียบนิพพานคืออากาศเพราะมันว่างเหมือนกัน แต่จริงๆ แล้วอากาศยังปรุงแต่งอยู่ แต่ท่านต้องการเปรียบเทียบเท่านั้นเอง ส่วนรอยเท้าก็หมายถึง รูปนาม การปรุงแต่งทั้งปวง ถ้าพระพุทธเจ้าตอบว่า มี พระสุภัททะก็จะจากไป แสดงว่า นิพพานยังมีการปรุงแต่งอยู่ แสดงว่า พระพุทธเจ้าสอนผิด แสดงว่า นิพพานไม่ได้ว่างจากการปรุงแต่งจริงๆ พอพระพุทธเจ้าตอบว่า ไม่มี พระสุภัททะจึงยอม แสดงว่า พระนิพพานของพระพุทธเจ้าไม่มีการปรุงแต่ง เมื่อไม่มีการปรุงแต่งจึงไม่มีรูปนาม ไม่มีการเกิดการดับ เป็นอมตธาตุ นั่นคือสิ่งที่พระสุภัททะตามหาเท่านั้นเอง พระสุภัททะจึงเชื่อมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าจะสามารถนำพาให้พ้นทุกข์ได้
ผู้ปฏิบัติ : อาจารย์คะ ทำไมพระสุภัททะจึงมีธงคำตอบอยู่ในใจแล้วว่า คำตอบคือ ไม่มีล่ะคะ แสดงว่าท่านมีความเข้าใจเรื่องรูปนาม ขันธ 5 และนิพพานอยู่ก่อนแล้ว ใช่ไหมคะ
ท่านทรงกลด : ใช่ เป็นเพียงความเข้าใจ ยังไม่เข้าถึง ท่านเหล่านี้ศึกษาคำสอนของเจ้าลัทธิศาสนาอื่นๆมามาก ท่านจึงถามพระพุทธเจ้าว่า คนนั้นเป็นอรหันต์หรือไม่ คนนี้เป็นอรหันต์หรือไม่ พระพุทธเจ้าบอกว่า อย่าไปสนใจเลย เพราะถ้าตอบว่า ไม่เป็น พระสุัททะก็ยังสงสัยอยู่ดี เหมือนเราบอกว่า พระองค์นั้น องค์นี้ไม่ใช่อรหันต์นะ พวกเราก็ยังสงสัยอยู่ดี ต่อเมื่อรู้เห็นธรรม เห็นว่าสิ่งที่พระรูปนั้น รูปนี้สอนอยู่มันผิด นั่นแหละจึงเชื่ออย่างสนิทใจ เพราะตนเห็นแล้ว แต่บางคนยังไม่บรรลุก็รู้ได้ไม่ยาก หากมีปัญญา เช่น เคยคลุกคลีกับพระอรหันต์จริงๆ มาบ้าง เห็นจริยาวัตร เห็นคำสอนหรือศึกษาคำสอนของครูบาอาจารย์ที่เป็นพระอรหันต์มาบ้าง พอมาพบคำสอนที่แตกต่าง แปลกๆ แปร่งๆ ออกไปก็จะรู้ได้ไม่ยาก เคยบอกศิษย์คนหนึ่งไปว่า ให้ศึกษาอ่านประวัติครูบาอาจารย์เยอะๆ อ่านคำสอนเยอะๆ อย่างน้อยพอจะเกิดปัญญาความเข้าใจขึ้นบ้าง ก็จะดูได้ไม่ยาก
จริงๆ ที่พระสุภัททะถามพระพุทธเจ้าก็เป็นการหยั่งเชิง หยั่งภูมิพระพุทธเจ้าเท่านั้นเอง โดยเฉพาะเรื่องบุคคล พระพุทธเจ้าพยายามเลี่ยงจะไม่ตอบ แต่จะตอบหลักการมากกว่า เช่น บอกว่า ศาสนาใดสอนอริยมรรคมีองค์แปด ศาสนานั้นก็จะมีพระอรหันต์ ซึ่งก็มีศาสนาเดียวคือศาสนาพุทธ สำหรับพุทธศาสนา แน่นอนที่สุดว่า พระสุภัททะต้องศึกษามาก่อนอย่างมิต้องสงสัย ไม่เช่นนั้นก็คงไม่บากบั่นเดินทางมาขอเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในวาระสุดท้ายแบบนั้น