การทำจิตให้บริสุทธิ์คือหัวใจของพระพุทธศาสนา
แสดงธรรมกลุ่ม Natural Mind เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2558
ท่านทรงกลด : หัวใจพระพุทธศาสนาในเรื่องการทำจิตให้บริสุทธิ์นี้มีอยู่ทางเดียวคือ ต้องเจริญสติปัฏฐานจนเห็นรูปนามตามความเป็นจริงแล้วจิตหลุดพ้นจากอุปาทานคือ ความยึดมั่นทั้งปวงออกมาตั้งมั่น ไม่เกี่ยวพันกับอารมณ์ทั้งปวง นั่นแหละคือ จิตบริสุทธิ์ ตรงนั้นบรมสุข ไม่เรียกว่าสุข ไม่ใช่สุขแบบฌาน บรรยายไม่ถูกเหมือนกัน แต่เป็นสุขที่ไม่เคยลิ้มรสมาก่อน ซึ่งอธิบายไว้ค่อนข้างละเอียดในหนังสือกว่าจะถึงกระแสธรรมแล้ว
ส่วนจิตผ่องใสที่หลวงตามหาบัวบอกว่าเป็นอวิชชา มันก็ไม่แตกต่างกับสมาธิหัวตอแบบที่หลวงปู่เทสก์สอนไว้หรอก ท่านเล่าว่า มีพระอาจารย์รูปหนึ่งนั่งภาวนาอยู่ในป่า จิตผ่องใสมาก สว่างไปทั้งป่า ตอนนั้นพระรูปนี้บอกว่า อิ่มมาก ข้าวปลาไม่หิวเลย คิดว่า บรรลุธรรมขั้นสูงแล้ว ต่อมาความผ่องใสก็เสื่อมลงจึงรู้ว่า ไม่ใช่
ความผ่องใสแบบนั้นเกิดจากการเพ่งบริกรรมภาวนา เป็นการปรุงแต่ง อะไรที่ปรุงแต่งก็เสื่อมได้ ดับได้ อย่างฌานของอาฬารดาบสก็มีเสื่อมได้ พอเสื่อมก็จุติ (ตาย) จากพรหมมาเกิดเป็นคนอีก ทุกข์อีก แต่ความผ่องใสของปัญญาที่เกิดต่อจากจิตที่สงบนี้มันเป็นสภาวะอสังขาร อยู่เหนือการปรุงแต่งจึงไม่มีวันเสื่อม คนที่ได้ดวงตาเห็นธรรมนี้เมื่อเห็นแล้วก็จะเห็นไปตลอดอนันตกาล ไม่มีวันกลับไปกลับมา เห็นอย่างไรก็เห็นอยู่อย่างนั้นไม่มีวันเสื่อมจนกว่าจะบรรลุอรหัตผล นิพพานโน่นแหละก็ไม่เสื่อม เหมือนคนเห็นแล้วว่า อันไหนเป็ด อันไหนไก่ เมื่อเห็นของจริงเสียแล้ว ต่อไปใครเอาเป็ดมาแล้วบอกว่าเป็นไก่ เขาก็ไม่เชื่อเพราะเขาเห็นเป็ด เห็นไก่จริงๆ แล้ว
การทำจิตบริสุทธิ์นี้คือเป้าหมายสุดท้ายของพระพุทธศาสนาที่เราเฝ้าพากเพียรสนใจปฏิบัติก็เพื่อจิตบริสุทธิ์นี่แหละ จิตบริสุทธิ์จะอยู่เหนือทุกข์ทั้งปวง ทุกข์เข้าไม่ถึง เมื่อปฏิบัติไปจนเห็นธรรม รู้ธรรมหรือแม้แต่บรรลุอรหัตผล ทุกข์ก็มีเหมือนเดิม ปุถุชนมีทุกข์อย่างไร ท่านก็มีทุกข์แบบนั้น ต่างกันนิดเดียว (จริงๆ ก็ไม่นิดนะ) ปุถุชนพอมีทุกข์ จิตก็สวาปามทุกข์นั้นเข้าเต็มปากทีเดียว แต่อริยชนพอมีทุกข์ จิตท่านเสวยทุกข์มากน้อยต่างกันไปตามลำดับ อรหัตผลนี่ ไม่เสวยเลย โสดาบันก็เสวยแต่วางได้ในที่สุดเพราะเคยเห็นมาแล้วนี่ว่า ทุกข์นี้จะถือเป็นเรา ของเราไม่ได้ เพียงแต่สติยังไม่เต็มร้อย สกทาคามีก็ดีขึ้นหน่อย อนาคามีก็ยังรับรู้ทุกข์บ้าง แต่อรหัตผลนี่ทุกข์ทำอะไรไม่ได้เลย ถ้าจะมีทุกข์ก็เฉพาะทุกขเวทนาทางกายเท่านั้น ทางใจนี่มันจบ ไม่มี พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า พระอรหันต์ เวทนาทางกายมีอยู่แต่เวทนาทางใจไม่มี อยู่ในพระไตรปิฎกเล่มเท่าไร จำไม่ได้แล้ว จะเห็นว่า ตราบใดที่ยังไม่ปรินิพพาน พระอริยบุคคลกับปุถุชนก็มีทุกข์เหมือนกันแต่ต่างกันที่ความเห็นเท่านั้นเอง ปุถุชนจะเห็นว่า ทุกข์เป็นเขา ของเขา อริยชนจะเห็นว่า ทุกข์ไม่ใช่เขา ของเขา แค่นี้แหละ ต่างกันแค่นี้
การเห็นทุกข์ในอริยสัจจ์จึงไปไกลกว่าความคิด ความเข้าใจ ไม่ใช่เห็นทุกข์ด้วยตาเนื้อแล้วบอกว่า ฉันเห็นอริยสัจจ์ เห็นทุกข์เพราะคิดเข้าใจแล้วบอกว่า เห็นทุกข์ในอริยสัจจ์แล้ว หากเป็นเช่นนั้นจริงพระพุทธเจ้าตอนเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตายแล้วดำริว่า ทุกข์จริงหนอๆ ก็เห็นอริยสัจจ์แล้วสิ หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ พระองค์ท่านต้องใช้เวลาอีกตั้งหกปีกว่าจะเห็นทุกข์ในอริยสัจจ์ ท่านจึงตรัสว่า เราตรัสรู้อริยสัจจ์ เพราะท่านเจริญสติ (อานาปานสติ) จนจิตตั้งมั่น แยกทุกข์ทั้งปวงออกไปจากจิตเหมือนมือถือที่วางอยู่เฉพาะหน้าเรา ฉะนั้น
หลวงปู่ดูลย์ก็เห็นทุกข์ในอริยสัจจ์ก่อน เคยมีคณะพระผู้ใหญ่ไปกราบท่านที่วัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ ถามข้อปฏิบัติย่อๆ พระเหล่านั้นเป็นระดับพระราชาคณะทั้งนั้น พระรูปหนึ่งถามว่า อยากจะขอธรรมะสั้นๆ ปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ ไม่ทราบว่ามีหรือไม่ หลวงปู่ดูลย์ตอบว่า มี จงตั้งใจฟังให้ดีนะ “จงทำญาณให้เกิด ให้เห็นจิตเสมือนตาเห็นรูป ทั้งนี้เป็นไปเพื่อการตรัสรู้ยิ่ง ตรัสรู้พร้อม เป็นไปเพื่อมรรค ผล นิพพาน” พระราชาคณะทั้งปวงฟังแล้วก็ไม่เข้าใจ มีสีหน้ามึนงงยิ่งนัก จึงถามอีกครั้งหนึ่ง หลวงปู่ก็ตอบว่า “จงทำญาณให้เกิด ให้เห็นจิตเสมือนตาเห็นรูป ทั้งนี้เป็นไปเพื่อการตรัสรู้ยิ่ง ตรัสรู้พร้อม เป็นไปเพื่อมรรค ผล นิพพาน” พอได้ยินคำตอบเป็นครั้งที่สอง พระเหล่านั้นก็งุนงงหนักขึ้น หันไปปรึกษาหารือกัน แล้วกราบเรียนหลวงปู่ให้ช่วยขยายความอีกครั้งหนึ่ง หลวงปู่ตอบว่า ไม่จำเป็นต้องขยายความหรอก อันนี้ มันลัด สั้น ตรง ชัดเจน และครอบคลุมทุกอย่างอยู่แล้ว พระราชาคณะก็กลับไป
ผมได้บอกพวกเราเป็นครั้งที่ร้อยแล้วกระมัง เมื่อถึงตรงนั้นจะเห็นว่า อารมณ์ ทุกข์ทั้งปวง มันแยกจากจิตเราออกไป เหมือนตาเห็นรูปจริงๆ เราจะเห็นทั้งทุกข์ จะเห็นทั้งจิต ในเวลาเดียวกัน ผู้ใดเห็นทุกข์ผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ใดเห็นจิต ผู้นั้นเห็นธรรม การเห็นธรรมจะแยกออกจากขันธ์ทั้งปวงในเวลาเดียวกัน แยกออกจากเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ บอกไม่ถูกเหมือนกัน มันเป็นปัจจัตตัง คนที่จะตรัสรู้ธรรมเขาจะเห็นทุกข์แยกออกไปจากจิตก่อน เห็นอริยสัจจ์นั่นแหละ แต่เมื่อเจริญจิตจนแยกออกจากกายได้ก็ไม่ยากที่จะแยกออกจากเวทนา สัญญา สังขารได้ในอนาคต
บางท่านเข้ามาในกลุ่มไลน์ พอใครโพสต์อะไรไม่ชอบใจก็ออกไปทันที นี่คือ การสวาปามอารมณ์นั้นตามแบบฉบับของปุถุชนเต็มร้อย แต่ถ้าเป็นนักปฏิบัติก็จะพิจารณาอารมณ์ไม่ชอบใจนั้นว่า มันเกิดแล้ว มันจะเที่ยงแท้ไหมหนอ มันจะอยู่กับเรานานสักกี่วันหนอ เราควรจะเข้าไปมั่นหมายในอารมณ์ไม่ชอบใจนั้นดีไหมนะ ถ้าพิจารณาอย่างนี้ จิตมันจะชะงัก จะไม่เข้าไป อารมณ์ยินดี ชอบใจก็เหมือนกัน เวลาอ่านข้อความที่เข้าท่า ความยินดีก็เกิด อย่าประมาทหลงเข้าไปเชียว ให้มีสติรู้เท่าทันมันหรือเผลอหลงเข้าไปแล้ว (ปุถุชนจะหลงเข้าไปก่อนเป็นธรรมดา) ก็ให้มีสติรู้เท่าทันให้ไวที่สุด พระพุทธเจ้าบอกพระโกณฑัญญะว่า สองอารมณ์นี่ อย่าเข้าไปเกี่ยวข้องเลย ทั้งอารมณ์รัก อารมณ์ชัง มันไม่เที่ยงหรอก คนที่เคยรัก บัดนี้ก็เกลียดเราไปแล้ว คนที่เคยเกลียด บัดนี้อาจเกลียดหนักกว่าเดิมหรือกลับมารักเราอีกแล้วก็ได้
ถ้าเห็นจิตสักครั้งจะเข้าใจ จะไม่เถียงใครเลย จะเข้าใจต่อเมื่อเจริญสติจนเกิดญาณ เห็นจิตเหมือนตาเห็นรูปอย่างที่หลวงปู่ดูลย์บอกนั่นแหละ ความเห็นก็ความเห็น ความคิดก็ความคิด คนละชั้นกับความเห็น เพราะเห็นแล้วจะหายสงสัย ส่วนความเข้าใจ วันนี้เข้าใจอย่าง พรุ่งนี้เข้าใจอย่าง ยังหาความแน่นอนไม่ได้ เพราะความเข้าใจเกิดจากความคิด ความคิดคือ การปรุงแต่ง อะไรที่ปรุงแต่งย่อมไม่แน่นอน
ท่านพุทธทาสบอกว่า คนเราทำงานด้วยจิตว่างได้ ถ้าปฏิบัติจริงๆ จะเห็นว่า คนเราทำงานด้วยจิตว่างได้ ว่างจากอารมณ์ทั้งปวง อารมณ์ทั้งปวงเข้าไม่ถึงจิต เป็นการทำงานที่ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจราคะ โทสะ โมหะ พระพุทธเจ้าท่านทำงานตลอดสี่สิบห้าพรรษาหลังจากตรัสรู้ธรรม หลวงตามหาบัวท่านก็ทำงานตลอด คนสามัญทำได้แบบท่านหรือเปล่า หลวงปู่ชา พระอาจารย์วิริยังค์ก็เผยแผ่ศาสนาไปทั่วโลก นี่ ท่านทำงานด้วยจิตว่างทั้งนั้นนะ ถ้าเคยปฏิบัติมาจะเห็นนะจะเข้าใจไม่ยาก แต่ถ้าไม่เคย อ่านอย่างเดียวจะไม่เข้าใจ แล้วก็ตีกับความจำ ความรู้ที่เคยอ่านมา สุดท้ายไม่ได้อะไรนอกจากความงงๆ
เมื่อเราปฏิบัติจนเห็นจิตอย่างที่หลวงปู่ดูลย์บอกแล้ว ไปหยิบหนังสือเล่มไหนขึ้นมาอ่าน อยู่เฉยๆ จิตมันจะออกมาค้านเอง หากไม่ถูก มีข้อสังเกตอย่างหนึ่ง ถ้าใครสังเกตจะเห็นนะ เวลาใครเอาอะไรมาลง ถ้าเป็นเพียงข้อคิด ผมเฉยๆ แต่ถ้าเป็นข้อธรรม หากมีโอกาสเข้ามาตอนนั้นพอดีก็จะสาธุเลย
เรื่องตำรา ตอนนี้ ขอให้เอาของครูบาอาจารย์ดีที่สุด อย่าง 48 พระธรรมเทศนาของหลวงปู่ชา หรือไม่มีอะไรจะอ่าน ก็เข้าไปฟังผู้สละโลก ในยูทูปดีที่สุด ฟังแล้วจิตสงบเยือกเย็น เดี๋ยวนี้ทีวีอะไรผมก็ไม่ค่อยได้ดูเท่าไร ใครจะว่าโง่ก็ยอมนะ ทางโลกนี่ ยอมโง่จริงๆ แต่ทางธรรมนี่ โง่ไม่ได้ กิเลสกดหัวทันที ต้องพยายามมีสติรู้เท่าทันมัน
ทางโลกนี่ ยิ่งเรียนมากก็ยิ่งโง่นะ เป็นดอกเตอร์ทางโลก มาเรียนทางธรรม บางทีก็โง่หนักกว่าเดิมอีก เพราะติดอัตตาตัวเอง ครูบาอาจารย์เราไม่มีใครจบดอกเตอร์สักคนนะ แต่จบกิจ กิจอื่นที่ต้องทำเพื่อการนี้ไม่มีอีกแล้ว ไม่มีอะไรต้องศึกษาอีกแล้ว เป็นอเสขบุคคล ที่หลวงปู่ดูลย์สอน จงทำญาณให้เห็นจิตเสมือนตาเห็นรูปนั่น คำว่าญาณคือ ความเห็นนั่นเอง แต่ไม่ใช่ความเห็นที่เป็นความคิด ความเข้าใจ มันเป็นความเห็นที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่เราเจริญสติจนจิตตั้งมั่นแยกตัวออกมาจากอารมณ์ทั้งปวงแล้ว ตอนนี้ก็อย่าเพิ่งไปคิดอะไรมาก เจริญสติของเราต่อไป ไม่ว่ากายคตาสติ อิริยาบถ อานาปานสติ สติที่รู้เท่าทันอารมณ์ยินดี ไม่ยินดี (เวทนานุปัสสนา) เอาแค่นี่แหละ ไม่ต้องอะไรมากหรอก เมื่อเห็นถูกมากขึ้น จิตก็จะค่อยๆ บริสุทธิ์ขึ้นจนขาวรอบ ในหนังสือสวดมนต์วัดหนองป่าพง จะใช้คำว่า ชำระจิตให้ขาวรอบ (คือ การทำจิตให้บริสุทธิ์) จิตปุถุชนจะมืดมน ดำสนิทเพราะอำนาจกิเลสทั้งสามครอบงำ อย่างเห็นผู้หญิงสวยคนหนึ่ง หากเราเห็นว่าสวย นั่นอำนาจราคะครอบงำแล้ว จิตมืดแล้ว แต่ถ้าเห็นตามความเป็นจริงว่า ราคะ ความยินดีในรูปไม่มี จิตก็สว่างขึ้นแล้ว เป็นการสว่างด้วยการเห็นตามความเป็นจริง สัมมาทิฏฐิ เห็นเนืองๆ จิตก็จะชำระตัวเองไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็คลายจากความยึดมั่นถือมั่นไปได้จนถึงที่สุดนั่นเอง