การทรงอารมณ์พระโสดาบัน

แสดงธรรม กลุ่ม Natural Mind เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2559
ท่านทรงกลด : การทรงอารมณ์พระโสดาบัน หมายความว่าอย่างไร หมายความว่า ขณะนั้นจิตยังไม่บรรลุโสดาบันแต่ให้ทรงอารมณ์นั้นไว้ อารมณ์พระโสดาบันคือ สภาวะจิตของพระโสดาบัน ให้ทรงคือ ดำรงสภาวะจิตของพระโสดาบัน แม้ยังไม่ถึงแต่ให้พยายามรักษาอารมณ์นั้นไว้ นั่นคือให้เห็นว่า รูป นาม ขันธ์ห้า อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดทั้งปวงเป็นของไม่เที่ยงต้องเสื่อมต้องดับไปเป็นธรรมดา ให้มีความศรัทธาในคำสอนของพระพุทธเจ้า ไม่ดูหมิ่นคำสอน ไม่ลังเล สงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้ทรงศีลห้าไว้ให้ได้เป็นปกติ จิตต้องทรงศีลห้าไว้ตลอด เหยียบมดตัวหนึ่งนี่ โห ! จะรู้สึกบาปเหมือนฆ่าคน เหมือนเราขับรถยังไม่แข็ง ยังไม่เป็นก็พยายามจับพวงมาลัย บังคับรถให้วิ่งให้ตรงทางไว้ พยายามเข้าเกียร์ให้ถูกไว้ เหยียบเบรคเมื่อควรเหยียบ ต่อไปพอเป็นแล้วจะขับบังคับรถได้เป็นอัตโนมัติ ท่านลองนึกเปรียบเทียบตอนนี้กับตอนโน้น ตอนขับรถเป็นใหม่ๆ สิ ต่างกันไหม การอบรมสติปัฏฐานสี่นี้ก็คือ การทรงอารมณ์พระโสดาบันเลยล่ะ เมื่อใดที่ดึงจิตมาอยู่กับลมหายใจเข้าออก หายใจเข้ารู้ หายใจออกรู้ หรือพิจารณากาย หรือมีสติรู้เท่าทันอารมณ์น้อยใหญ่ เมื่อใดที่มีสติเมื่อนั้นก็คืออารมณ์พระโสดาบันแล้ว
คำว่าอารมณ์แปลว่าอะไรรู้ไหม อารมณ์แปลว่า ที่อยู่ของใจ ปกติใจเรามักจะอยู่กับคนนั้น คนนี้ อยู่กับความสุข ความทุกข์ อยู่กับอดีต (สัญญา) อยู่กับการคิดปรุงแต่ง โน่น นี่ นั่น (สังขาร) อย่างนี้ไม่ใช่อารมณ์ของพระโสดาบัน แต่เมื่อดึงจิตออกมาจากอารมณ์ดังกล่าวมาอยู่กับสติ ใจก็เปลี่ยนที่อยู่จากอารมณ์ที่ว่า ซึ่งเป็นของปุถุชน มาอยู่กับสติ เอาสติเป็นเครื่องอยู่ใหม่ เมื่อใดที่ใจอยู่กับสติ เมื่อนั้นชื่อว่า ทรงอารมณ์พระโสดาบันแล้วเพราะพระอริยบุคคล ที่อยู่ของจิต (หรืออารมณ์) จะไม่ใช่อยู่ที่คนนั้น คนนี้ (กาย) อยู่ที่สุข ที่ทุกข์ (เวทนา ) อยู่ที่อดีต อยู่ที่ความคิดปรุงแต่งอะไรทั้งหลาย แต่ที่อยู่ของใจของพระอริยบุคคลคือสติต่างหาก ขึ้นอยู่ว่าเป็นชั้นไหนๆ ชั้นโสดาบัน ก็อยู่น้อยหน่อย ชั้นสกิทาคามีมีก็อยู่มากขึ้น ชั้นอนาคามีก็เกือบเต็ม พออรหัตผล อยู่แบบเต็มร้อย มีสติเต็มร้อย พระพุทธเจ้าจึงบอกว่า พระอรหันต์เป็นผู้มีสติบริสุทธิ์อยู่ แต่เมื่อยังไม่เป็นก็พยายามดึงจิตให้อยู่กับสติให้มากที่สุด เมื่อจิตอยู่กับสติเนืองๆ จิตก็แยกออกจากอารมณ์ออกมา น้อยบ้าง มากบ้าง ขึ้นอยู่กับความเพียร หรือที่เรียกว่า สติเป็นเครื่องกางกั้นกิเลสนั่นแหละ สติมันจะแยก มันจะกางกั้นจิตออกจากอารมณ์ จากกิเลส ตอนที่มันแยกออก จะเริ่มเห็นรูปนามตามความเป็นจริง เห็นขันธ์ห้า อารมณ์ว่า จะถือเป็นเรา เป็นเขาไม่ได้ ตรงนี้เริ่มละสักกายทิฏฐิแล้ว พอเริ่มเห็น ความลังเลสงสัยในคำสอนของพุทธองค์ก็จางลง วิจิกิจฉาก็คลายแล้ว พอจิตมีสติ ทรงสติไว้ได้ ขณะนั้นศีลห้าย่อมครบบริบูรณ์ ท่านจะไม่มาลูบๆ คลำๆ ศีลอีกต่อไป จะไม่เชื่ออะไรงมงายเพราะมั่นใจในมรรคเสียแล้ว ตรงนี้สีลัพพตปรามาส เห็นไหม เมื่อใดที่ท่านมีสติ เมื่อนั้นท่านก็ทรงอารมณ์พระโสดาบันอยู่ในตัว สตินี่แหละคือ ศีล สมาธิ ปัญญา
ปกติปุถุชนทั่วไปจะเสวยอารมณ์อยู่ตลอดชนิดเต็มร้อย เช่น เวลามีใครมาด่าเรา อารมณ์ไม่ดีก็เกิด (ยินร้าย) เราก็กระโจนตะครุบทันที เรียกหยาบๆ ว่า สวาปามเลยทีเดียว นั่นคือปุถุชนคนหยาบทั้งหลาย แต่ถ้าเป็นนักปฏิบัติอย่างเรา เรียกว่า กัลยาณชน (กัลยาณชนอยู่ระหว่างปุถุชนกับอริยชน) จะมีสติคอยมายั้งอยู่ ส่วนจะยั้ง จะหยุดช้าหรือเร็ว ขึ้นอยู่กับกำลังสติของแต่ละคนที่อบรมมา
บางคนอ่านธรรมะเรื่องสติ เรื่องการเปลี่ยนที่อยู่ของใจที่ผมแสดงมาตั้งหลายเดือน พอใครมาลงข้อความอะไรไม่ชอบใจหน่อยเดียวออกจากกลุ่มไปเลย นี่เรียกว่า อ่านอย่างเดียว ไม่ได้ฝึกปฏิบัติ สติจึงอ่อน ไม่มีกำลังพอจะหยุดอารมณ์ยินร้ายที่เกิดขึ้นได้ เรียกว่า เสวยอารมณ์เข้าเต็มเปา ขณะที่เสวยอารมณ์ด้วยความเร็วมากๆ จิตก็ปรุงแต่งกิเลสและเกิดกรรม (เกิดมโนกรรมก่อน) แล้วมีวิบากตามมา พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนเรื่องสติ สตินี่แหละจะหยุดกรรม หยุดวิบากได้ ไม่ไปหาเรื่องก่อกรรมใหม่ ภพ ชาติก็น้อยลงๆ ๆ
ผมบอกสมาชิกตั้งแต่วันแรกเลยว่า การปฏิบัติธรรมไม่มีอะไรมากหรอก ให้เปลี่ยนที่อยู่ของใจจากที่อยู่กับอารมณ์น้อยใหญ่มาอยู่กับสติให้ได้ พระอัญญาโกณฑัญญะทำไมท่านเห็นธรรม ก็เพราะท่านฟังพระพุทธเจ้าสอนว่า อารมณ์สุข (กามสุขัลลิกานุโยโค) อารมณ์ทุกข์ (อัตตกิลมถานุโยโค) สองอารมณ์นี้สมณะทั้งหลายอย่าเข้าไปข้องเกี่ยว อย่าเข้าไปยุ่ง มั่นหมายนะ พระโกณฑัญญะได้ฟังเพียงนี้ท่านก็เก็ททันที จิตท่านก็ละจากอารมณ์ทั้งสุขและทุกข์ ทั้งยินดี ยินร้าย เปลี่ยนที่อยู่ของจิตจากอารมณ์เหล่านั้นออกมาตั้งเด่นแยกต่างหากจากอารมณ์เหล่านั้น ดวงตาเห็นธรรมจึงบังเกิดแก่ท่าน พระพุทธเจ้าจึงอุทานว่า โกณฑัญญะรู้แล้วหนอๆ
มียูทูบมากมายพูดถึงเรื่องดวงตาเห็นธรรมว่า อย่างไรเรียกว่าดวงตาเห็นธรรม เข้าไปดู เป็นของเก๊ทั้งนั้น มีของแท้อยู่อันหนึ่ง ของหลวงปู่ชา นอกนั้นเก๊เสียส่วนใหญ่ บางทีก็เหนื่อยท้อที่จะบอกเหมือนกันนะว่า นั่นมันไม่ใช่ ไม่ถูก ผิดทาง หลงทางนะ แต่ก็ไม่ค่อยมีใครฟัง เราจะไปบอกตรงๆ ก็ไม่ได้เพราะเขาเชื่อของเขาไปแล้ว ได้แต่ปลง ของใครของมันจริงๆ เรื่องที่พระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งแสดงธรรมไว้ไม่มากเพราะท่านท้อพระทัยที่จะสอน เชื่อแล้วจริงๆ แต่ถ้าเป็นนักปฏิบัติที่ถึงแก่นหรือมีปัญญา จะเห็นตรงนี้นะ จะรู้ได้ว่า อย่างไหนจริงอย่างไหนปลอม หรือบางท่านที่มีครูบาอาจารย์ดี สอนมาถูกทางก็จะบอกได้เลยว่า อย่างไหนถูก อย่างไหนผิด ยิ่งปฏิบัติเห็นด้วยตนเองด้วย จะยิ่งเห็นชัดเลย ดังที่มีผู้พิพากษาท่านหนึ่งเป็นลูกศิษย์ (เอก) ฝ่ายฆราวาสของหลวงตามหาบัว ท่านปฏิบัติธรรมมานาน ได้อ่านหนังสือกว่าจะถึงกระแสธรรม ท่านอ่านเสร็จ ไลน์มาบอกว่า หนังสืออ่านเข้าใจง่าย เขียนจากประสบการณ์จริง เหมาะสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม อนุโมทนาด้วย ท่านอ่านเข้าใจง่าย นี่แสดงว่า ท่านมีปัญญามากจริง ท่านบอกว่า เหมาะสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม ตรงนี้สำคัญมาก เพราะถ้าเป็นคนโลกๆ ไม่มีวันหยิบอ่านหรืออ่านไม่กี่บรรทัดต้องวาง ผมอธิษฐานจิตไว้ว่า หนังสือเล่มนี้ขอให้เฉพาะผู้มีวาสนาบารมีทางธรรมเท่านั้นได้มีโอกาสอ่าน อีกท่านหนึ่ง เป็น สส. (ตอนนี้เป็นอดีตไปแล้ว) มีท่าน ผอ.ศาล นำไปให้อ่าน อ่านแล้วบอกว่า เขียนหนังสือธรรมะได้ขนาดนี้น่าจะบวชได้แล้ว แต่บางคนอ่านแล้วอาจจะไม่เข้าใจ ก็ขอให้พยายามอ่านทวนไปทวนมาสักสี่ห้ารอบ แล้วธรรมะจะปรากฏในใจท่านเอง ผมมั่นใจว่าสิ่งที่เขียนมาจากสิ่งที่เห็น มาจากสัมมาทิฏฐิ มาจากคำสอนพุทธองค์ที่สอนสาวก ท่านก็สอนแบบนี้ เมื่อสาวกฟังธรรมตามไปก็เกิดดวงตาเห็นธรรมขึ้น ท่านอาจจะเป็นหนึ่งในจำนวนร้อยที่อ่านแล้วพิจารณาตามไป แล้วเกิดปิ๊ง เกิดจิตตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิ เกิดดวงตาเห็นธรรมได้ เหมือนเราจะหาทางกลับบ้าน คนหนึ่งยังไม่เดินเลยแต่อีกคนเดินแล้ว หากพูดถึงทางกลับบ้าน คนไหนจะเข้าใจมากกว่ากัน นั่นแหละเหมือนกันล่ะ ส่วนใหญ่จะเจอแต่พวกนั่งอ่านคลำแผนที่นะ ไม่ลงมือเสียที อ่านแล้วก็มาถกมาเถียงกันผิดๆ มีครั้งหนึ่งผมไปส่งหนังสือที่ไปรษณีย์ คนส่งก็ถามว่า หนังสืออะไร พอบอกไป เขาสนใจ เลยให้ไปหนึ่งเล่ม วันนั้นเลยไม่ได้ส่ง ที่ศาลผมนี่ไม่ได้ให้ใครเลย (ให้อยู่คนเดียวที่เคยไปปฏิบัติธรรมที่วัดมาบจันทร์) ก็มาขอกันมากมาย คงเห็นหน้าปกสวยดีมากมั้ง ฝีมือพี่ภิรมย์ คราวต่อไปจะกล่าวถึงเรื่อง อาทิตตปริยายสูตร ขอให้ตั้งใจอ่าน