ถาม-ตอบ

การดูใจที่กำลังเป็นทุกข์

แสดงธรรม กลุ่มต้นบุญ  เมื่อวันที่  9 มกราคม 2559

 

ท่านทรงกลด  การดูใจที่กำลังเป็นทุกข์  ต้องดูด้วยสติด้วยปัญญา  ด้วยการรู้เท่าทัน  เมื่อรู้เท่าทัน ใจก็จะออกจากทุกข์ ทุกข์นั้นก็อยู่ของมัน ใจเราก็อยู่ของเรา  เราจึงไม่ทุกข์  แต่ถ้ายังดูด้วยความหลง หลงเข้าใจว่า ทุกข์คือเรา ของเรา มันก็ยังทุกข์อยู่นั่นแหละ  ไม่มีทางพ้นทุกข์ไปได้หรอก  

การหลงเห็นว่า ทุกข์คือเรา ของเรา  เรียกว่า อุปาทาน พระพุทธเจ้าจึงสอนว่า ว่าโดยย่ออุปทาน  ขันธ์ห้านี่แหละคือตัวทุกข์ ทำความเห็นให้ถูกเสีย เรื่องมันจึงจะจบ  เมื่อความเห็นเริ่มถูก  อุปาทานก็เริ่มจางคลาย  จนละทุกข์ได้ในที่สุด  ถ้าเห็นทุกข์ แต่ยังทุกข์อยู่  แสดงว่ายังเห็นผิดอยู่ ยังมีอุปาทานอยู่  เห็นทุกข์ใดๆ ไม่เที่ยงแท้ เป็นอนิจจัง อุปาทานในทุกข์ก็จางคลาย ใจก็จางคลายทุกข์ไปในเวลาเดียวกัน ต้องรู้ให้ต่อเนื่อง  เหตุที่ความกังวลคือ ความไม่สบายใจผุดขึ้นมาใหม่ เพราะสติ คือรู้ไม่ต่อเนื่อง  ความไม่สบายใจก็คือทุกข์อย่างหนึ่ง  โสกะปะริเทวะ  ทุกขะ  โทมะนัสสุปายาสาปิ ทุกขา  ความเศร้า ความคร่ำครวญ  พิไรรำพัน  ความไม่สบายใจ  ความไม่สบายกาย  ความคับแค้นใจ  นี่คือทุกข์  พระพุทธเจ้าสอนไว้อยู่ในบทสวดมนต์  เหตุเพราะมีอุปาทาน  เหมือนเราจับเหล็กร้อนอยู่ พอรู้ว่าร้อนมันก็ปล่อยโดยอัตโนมัติ  เหล็กร้อนนั่นแหละคือทุกข์  แต่ที่เราไม่รู้สึกร้อน หรือรู้สึกแต่ไม่ยอมปล่อย เพราะเราเห็นผิด เห็นว่าเหล็กที่อยู่ในมือเราคือเรา ของเรา  ความเห็นผิดคือสมุทัย  ผลของความเห็นผิดนั่นแหละคือทุกข์  ส่วนความเห็นชอบคือสัมมาทิฏฐิคือ  มรรคผลของความเห็นชอบอย่างแจ้งชัดจนละอุปาทานได้เด็ดขาด นั่นคือ นิโรธ  ใจเราดับสนิทด้วยเพลิงกิเลส เพลิงทุกข์  การมาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เพื่อใดอื่น  เพื่อทำความเห็นชอบให้เกิดในหมู่สัตว์เท่านั้นเอง  

พระบางรูปสอนว่า ให้เป็นผู้เห็น อย่าเป็นผู้เป็น อันนี้  สอนยังไม่หมดภูมิ  เห็นทุกข์ อย่าเป็นทุกข์ พอเราเห็นก็ออกมาจากทุกข์อยู่ขณะหนึ่ง แล้วกลับไปทุกข์ใหม่ เพราะอะไร  เพราะว่ายังเป็นการเห็นที่ไม่ประกอบด้วยสติ ด้วยปัญญา ถ้าเห็นแล้วขาดการอบรมสติ มันก็วิ่งกลับไปซุกทุกข์ใหม่  แต่ถ้าอบรมสติมาด้วยดี พอเห็น ด้วยอำนาจสติ มันจะหยุดนะ หยุดขณะหนึ่ง พอมีเวลาให้ใช้ปัญญาจัดการได้  ปัญญาคือเห็นทุกข์ใดๆ ไม่ว่าเล็ก ใหญ่ มาก น้อย มันก็หนีกฎธรรมชาติไปไม่ได้ นั่นคือ อนิจจัง อย่าหมายมั่นให้มากนักเลย  หากเราอบรมด้วยสติ ด้วยปัญญาไปเนือง ๆ สติจะโต ปัญญาจะโต ดึงกลับมาอยู่กับลมหายใจก็ได้  อย่ามองข้ามลมหายใจเข้าออก เป็นตถาคตวิหารคือ  ที่อยู่ของใจของพระพุทธเจ้าเชียวนะ  หรือดึงกลับมาอยู่กับการเคลื่อนไหวของกาย ยืน เดิน นั่ง นอน ให้อยู่กับรู้ กับสติตลอด  พิจารณาอาการสามสิบสองบ้าง สติจะกล้าแข็งขึ้นอย่างเหลือเชื่อ  เอาอย่างใดก็ได้ ที่เห็นว่าทำให้สติมีกำลังกล้าแข็ง พอจะสู้กับอารมณ์ได้  อารมณ์เหมือนไฟ สติเหมือนน้ำ หากน้ำไม่พอ ไฟก็จะยังมีอำนาจครอบงำจิตใจของเราไปตลอด  เมื่อกำลังสติมีพอ จะเห็นว่า ใจมันจะระงับ ไม่แส่ส่ายไปหาไฟเหมือนก่อน ใจจะเริ่มเย็นๆ ๆ ลง  สงบลง  เป็นความสงบที่ถูกต้อง สัมมาสมาธิ  เราปล่อยให้มันกดคอขี่หัวมานานหลายล้านกัปกัลป์แล้ว  ชาตินี้ เอาจริงกับมันสักตั้งเถิด  ผมจะเป็นกำลังใจให้ ไม่ทิ้งกันนะ