พิจารณากาย พิจารณาอารมณ์ ความคิด

แสดงธรรม กลุ่ม Natural Mind เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2559
ท่านทรงกลด : หนังสือของหลวงปู่ชาเป็นปัญญาล้วนๆ เป็นปัญญาที่เกิดจากการรู้แจ้งเห็นจริง ไม่ใช่คิดวิเคราะห์เอาตามความเข้าใจ และมีอุปมามาก เพราะไม่รู้จะทำให้คนไม่เห็น เห็นอย่างที่ท่านเห็นได้อย่างไร จึงต้องใช้วิธีอุปมา พระพุทธเจ้า ก็ใช้วิธีอุปมามาก เพื่อให้คนฟังเกิดปัญญา เห็นธรรม
ธรรมที่ผมแสดง มีบางครั้ง มีบางท่านบอกว่า ยากลึกซึ้ง ไม่เข้าใจ ต้องขออภัยด้วย ถ้ายังไม่เข้าใจ อย่าเพิ่งทิ้ง เก็บไว้ก่อน เมื่อท่านปฏิบัติก้าวหน้าแล้วกลับไปอ่านรับรองว่า จะเข้าใจมากขึ้นๆ ๆ และค่อนข้างเชื่อมั่นว่าในกลุ่มนี้จะต้องมีคนได้ดวงตาเห็นธรรมในชาตินี้เป็นจำนวนหลายคนแน่นอน
การที่เรามาเจอกัน ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เราพบปะแลกเปลี่ยนสนทนาธรรมกันมาหลายชาติเหลือเกินแล้ว ลองไปดูห้องไลน์อื่นๆ เถิด หายากที่จะมาพูดคุยฟังเรื่องแบบนี้กัน ต้องคนมีวาสนาบารมีมาพอสมควร นี่ถ้าเป็นสมัยพุทธกาล ถ้าพระพุทธเจ้ารู้ว่ามีการตั้งไลน์กลุ่มธรรมะ ผมว่าพระองค์คงเสด็จมาโปรดเทศน์ให้เราฟัง จนบรรลุธรรมเป็นแน่
หนังสือของหลวงปู่ชาเป็นเรื่องของปัญญาล้วน และเป็นปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติจนรู้แจ้งเห็นจริง แต่ท่านพยายามพูดเป็นภาษาบ้านๆ เพื่อให้คนฟังเข้าใจ ตอนนั้นเราก็ไม่รู้ค่าเหมือนกัน พอเห็น “น้ำไหลนิ่ง” อย่างที่ท่านเห็น จึงกลับไปอ่าน เสียดายที่ท่านพูดไม่ได้อยู่สิบปีก่อนละสังขาร ตอนนั้นท่านป่วยหนัก พูดไม่ได้เลย พระอาจารย์ผมเล่าให้ฟังว่า ถึงท่านพูดไม่ได้ แต่ท่านก็รู้หมดว่าเกิดอะไรขึ้นในวัด บางทีพระที่ดูแล ทะเลาะกันเรื่องอาหารที่จะถวายให้ท่านฉัน วันนั้น ท่านไม่ฉัน เหมือนรู้ เรื่องการล่วงรู้วาระจิตนี่ แม่นยำมาก
พระอาจารย์อนันต์ (วัดมาบจันทร์) เล่าให้ผมฟังว่า ตอนบวชใหม่ๆ ก็ปรับที่สร้างโบสถ์ พระทั้งหมดก็ไปเคลียร์พื้นที่ เก็บดิน เก็บหิน พระอาจารย์อนันต์คิดอยู่ในใจว่า เอ ! เราจะมานั่งเก็บหินอยู่ทำไมนะ ทำไมไม่ไปปฏิบัติ ทันใดนั้น ก็ได้ยินเสียงหลวงปู่ชา ตะโกนบอกมาว่า นันต์ (ท่านเรียกชื่อสั้นๆ) หินที่เก็บน่ะ ไม่ใช่ของที่นี่นะ
พระฝรั่งนี่ ก็เจอท่านล่วงรู้วาระจิตมาก พระฝรั่งจึงยอมศิโรราบหลวงปู่ชาเลย
ครั้งหนึ่งพระอาจารย์อนันต์เดินจงกรมอยู่ในป่า คิดอยู่ในใจว่า ทำอย่างไรหนอจึงจะรู้เห็นธรรมเร็ว เย็นนั้น หลวงปู่ชาขึ้นโบสถ์ เทศน์เลยว่า การจะรู้เห็นธรรมเร็วนั้น คือ การให้รู้เท่าทันอารมณ์ยินดียินร้าย อารมณ์ยินดี (สุขเวทนา) อารมณ์ยินร้าย (ทุกขเวทนา) นี่แหละจะทำให้รู้เห็นธรรมเร็ว
มีเรื่องราวพิสดารในเชิงปาฏิหาริย์มาก แต่ท่านไม่ให้บันทึก เพราะไม่เป็นประโยชน์ แม้พระอาจารย์อนันต์เองก็เล่าให้ฟัง ตอนท่านบวชได้สามสี่พรรษา ก็บรรลุสมาธิ (แบบบริกรรม) จึงเดินไปหาหลวงปู่ชาที่พักอยู่ ถามว่า ผมฝึกสมาธิได้ขนาดนี้ จะขอฝึกดูจิตเลยได้ไหม หลวงปู่ชาตอบว่า ให้กลับไปพิจารณากาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
ผมไปบวชอยู่กับพระอาจารย์อนันต์ เมื่อสิบปีก่อน มีเรื่องแปลกๆ มากเหมือนกัน แต่ก่อนก็โทรศัพท์ไปรายงานการปฏิบัติเหมือนกัน ท่านก็บอกเร่งความเพียรเข้าๆ สุดท้ายๆ แล้ว
กลับมาที่คำสอนหลวงปู่ชา ที่จะทำให้รู้เห็นธรรมไว้ คือ เรื่องอารมณ์ยินดียินร้ายนี่แหละ ท่านจะสอนให้เห็นขันธ์ห้าตามความเป็นจริง ไม่ว่ารูปหรือนาม อย่างรูปหยาบเรานี้ ท่านก็สอนให้พิจารณาด้วยความไม่สะอาด ไม่เที่ยง ไม่ว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
จำเรื่องพระไม้กวาดที่ผมเคยนำมาลงได้หรือเปล่าครับ ที่วันๆ ท่านถือไม้กวาดเที่ยวกวาดวัด แล้วไปตำหนิพระเรวัติ พระอรหันต์ หาว่าไม่ขยัน วันๆ ไม่ทำอะไรเลย พระเรวัติก็เลยให้มาหาตอนเย็น แล้วสอน บอกว่า ให้ท่านฝึกสาธยายอาการสามสิบสองบ้าง ท่านเชื่อ ปฏิบัติตาม ต่อมาก็บรรลุอรหัตผล ลองหาดูรายละเอียดในหนังสือสวดมนต์ก็มี
เมื่อราวห้าปีก่อน (แม้ตอนนี้) ผมจะนอนสาธยายทุกคืน ไปกลับ จนคืนหนึ่ง อยู่ๆ (แบบไม่ตั้งใจ) ก็ปรากฏว่าจิตนี่พรึบลง โลกราบเรียบไปหมด หญิงก็ไม่มี ชายก็ไม่มี อัศจรรย์มาก ภายหลังไปอ่านประวัติหนังสือหลวงปู่มั่น ท่านก็มีอาการแบบนี้ในตอนเริ่มแรกปฏิบัติ ทำให้มีกำลังใจและเชื่อว่า มาถูกทาง แต่ท่านบอก นี่เป็นเบื้องแรกเท่านั้นยังไม่จบ ต้องทำต่อไปและไปอย่าหลงคิดว่ามันคือการบรรลุธรรมขั้นสูงอะไรเลย มันแค่เบื้องต้นเท่านั้นเอง
การปฏิบัติเช่นนี้จะมีความก้าวหน้า เพราะอะไร เพราะเมื่อท่านพิจารณา (โยนิโสมนสิการ) จิตท่านจะเริ่มเห็นความเห็นจริงของกายนี้ ตั้งแต่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ไปจนถึงเยื่อหุ้มสมอง (มัตถะเกมัตถะลุงกัง) ว่าแท้จริง ไม่สะอาด ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เสื่อมไปตามสภาพ ถือเป็นเรา ของเราไม่ได้ จิตท่านจะค่อยๆ สงบๆ ไปเอง ตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องไปบังคับ ฝืนใจมันเลย ที่เราจิตไม่สงบทุกวันนี้ เพราะเราไม่เห็นตามความเป็นจริง เรียกว่า มิจฉาทิฐิ ในมรรคมีองค์แปดนั่นเอง คืนๆ หนึ่ง อย่างน้อย ท่านควรสาธยายสักครั้งหนึ่ง แรกๆ มันจะฝืนๆ แต่เมื่อทำบ่อยๆ เข้า จะเห็นความอัศจรรย์ทางใจของท่าน ผมรับรองล้านเปอร์เซ็นต์
การพิจารณากายนี่ อยู่ในสติปัฏฐานสี่ว่าด้วยกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เรื่อง กายคตาสติ แม้หลวงตามหาบัวก็บรรลุอนาคามีด้วยกายคตาสติและท่านได้ทำหนังสือเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะ มีภาพประกอบพร้อมเสร็จสรรพ น่าสนใจมาก แต่ไม่รู้ว่ายังมีหนังสืออยู่หรือเปล่า
ทีนี้ ถ้าเราทำความเพียรสม่ำเสมอ พิจารณาอาการสามสิบสองอยู่เนืองๆ ให้ลองสังเกตจิตตัวเอง จิตท่านจะค่อยๆ เปลี่ยนไปๆ สงบขึ้นๆ ที่เคยเป็นคนหงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย โมโหง่าย จะเบาลงๆ มันจะไม่เหมือนกับที่เราเคยเพ่งบริกรรมภาวนาจนจิตสงบ แต่พอออกมา อารมณ์ไม่ดีมากระทบ มันจะระเบิดเลย ไม่เชื่อท่านที่ไม่เคยทำ ลองทำสักสองสามอาทิตย์ เพราะเมื่อท่านพิจารณาจนจิตสงบ ท่านจะเห็นกายนี้ตามความเป็นจริงว่า แท้จริง มันไม่มีอะไรเลย มันประกอบปรุงแต่งขึ้นมาด้วยธาตุทั้งสี่เท่านั้นเอง
การเห็นไม่จำเป็นต้องเห็นหมดทั้งอาการสามสิบสอง เห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วจิตยอมรับถือว่าใช้ได้แล้ว เพราะตัวปัญหาก็คือ จิตเรานี่แหละ มันไม่ค่อยเชื่อ เมื่อทำให้มันเห็นเอง คราวนี้มันก็เชื่อไปเอง หายสงสัย การพิจารณากายนี่สำคัญมาก เป็นเบื้องต้นของการปฏิบัติเลยก็ว่าได้ เวลาบวช พระอุปัชฌาย์ยังสอนกรรมฐานเบื้องต้น คือ เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ (หนัง)
สมัยก่อน เดินจงกรม นั่งสมาธิ ผมก็พิจารณาไปมาแบบนี้ สลับกับการใช้อานาปานสติ รู้เท่าทันลมและอารมณ์ ดังเคยแสดงไป ระหว่างวันก็ให้มีสติให้รู้เท่าทันอารมณ์ ไม่ว่าดีหรือร้ายที่มากระทบ หลวงปู่ชาบอกว่า แล้วมันจะเร็ว เร็วจริงๆ แค่นี้แหละครับ การปฏิบัติของผมที่ผ่านมา
ในบรรดาหนังสือทั้งหมด หนังสือ 48 พระธรรมเทศนาของหลวงปู่ชา เป็นหนังสือที่แปลกมากอยู่อย่างหนึ่ง ถ้าท่านอ่านผ่านๆ ท่านจะไม่ได้อะไรเลย แต่ถ้าท่านอ่านด้วยโยนิโสมนสิการ พิจารณาใคร่ครวญตามไปแต่ละบรรทัด เมื่ออ่านจบแต่ละพระธรรมเทศนา จิตท่านจะสงบอย่างประหลาด แต่ต้องอ่านอย่างใคร่คราญ ไม่ใช่อ่านอย่างลวกๆ อ่านไป พิจารณาไป ส่งกระแสจิตตามเนื้อหาไป
ทำไมจิตคนอ่านจึงสงบ เพราะเมื่อท่านอ่านด้วยอาการใคร่ครวญ พิจารณาตาม จนจิตท่านเห็นตามจริงอย่างที่หลวงปู่ชาเทศน์ จิตท่านจะละอารมณ์น้อยใหญ่ แม้ไม่ถึงขนาดตั้งมั่น แต่ก็สงบระดับหนึ่งเลยล่ะ
หลวงปู่ชาสอนไม่กี่เรื่องหรอก เรื่องรูป (กายนี้) เรื่องอารมณ์ เรื่องจิต ให้เห็นความไม่เที่ยงของรูป ของอารมณ์ จิตไม่เข้าไปหมายมั่น แม้ชั่วขณะหนึ่ง ก็เป็นปัจจัยให้จิตในชั่วขณะต่อไปได้ และภาษาที่ท่านสอนก็เรียบง่าย แต่คนฟังไม่ค่อยสนใจฟังและพิจารณาตามกัน ท่านบ่นบ่อยๆ ว่า พวกเรานี้ชอบของยาก ติดของยาก ใครมาพูดเรื่องง่ายๆ ให้ฟัง ไม่ชอบ กลับไปชอบของยากๆ ท่านว่า มันแปลกจริงๆ (ท่านว่าคนฟัง) ยิ่งพระพูดอะไรยากๆ ไม่รู้เรื่อง ยิ่งชอบ จึงไม่รู้เรื่องอะไรกัน และท่านก็ชอบอุปมาอุปมัยมาก
แต่ก่อนผมก็ไม่เข้าใจที่หลวงปู่ชาสอนเรื่องลิง ท่านบอกว่า โยมรู้จักลิงไหม ธรรมชาติของลิงมันเป็นอย่างไร มันเคยสงบไหม เคยอยู่นิ่งๆ ไหม ไม่หรอก มันก็วิ่งเล่นปินป่ายไปตามเรื่องตามราวของมัน ท่านบอกว่า ถ้าโยมรู้จักธรรมชาติของลิงว่ามันต้องวิ่ง ต้องซุกต้องซน สักตัวหนึ่ง อย่างลิงที่วัดถ้ำแสงเพชรนี่ถ้าโยมรู้จักธรรมชาติที่แท้จริงของมัน โยมไปไหน เจอลิงที่อื่นมันก็เหมือนกันหมด ถ้าโยมจับลิงมาขังไว้มันจะบ้า ธรรมชาติของเขาเป็นอย่างนั้น ถ้าโยมรู้ธรรมชาติของลิง โยมไปไหนเจอลิง โยมก็สบาย เพราะรู้จักแล้วว่า ธรรมชาติของมันอยู่ไม่สุขแบบนี้ ก็ปล่อยมันไปตามเรื่องตามราว
อารมณ์ ความคิดก็เหมือนกัน ธรรมชาติของคิดมันเป็นอยู่อย่างนั้น ถ้าเรารู้จักลิงเสียแล้ว เราก็เลิกวิ่งตามลิง ธรรมชาติของคิดมันก็เป็นอย่างนั้น ห้ามไม่ให้คิดไม่ได้ มีแต่เราเท่านั้นที่หยุดได้ หยุดวิ่งตามลิง จะไปหยุดลิงให้มันหยุด มันฝืนธรรมชาติของเขา เรานี่แหละจะทุกข์เพราะมัวแต่เที่ยววิ่งไล่ตามหยุดลิง สุดท้ายก็เหนื่อยตาย บอกให้ลิงหยุดมันเคยหยุดไหม แต่ห้ามใจไม่ให้วิ่งตามความคิดได้
ความคิดหนึ่งเมื่อโผล่มาในหัวตอนแรกนั่นคือ ธรรมารมณ์ แต่เพราะไม่รู้จักมัน ก็ฉวยมันปรุงแต่งต่อไป คราวนี้มันก็ยุ่ง เหมือนเราวิ่งตามลิง บางทีมันก็พาเราขึ้นไปถึงยอดไม้ แล้วก็หายไปไหนไม่รู้ ปล่อยเราค้างเติ่ง กว่าจะลงมาได้ เหนื่อยแทบตาย หรือบางทีก็พาเราลงไปที่ก้นเหว แล้วก็หายไปตามธรรมชาติของมัน เราสิแย่ กว่าจะคลานกลับขึ้นมาได้แทบตาย บางทีก็ตายระหว่างทาง ความคิดก็คือ อารมณ์อย่างหนึ่ง (ธรรมารมณ์) มันมาแล้วก็ไปๆ เป็นธรรมดาของมัน มันไม่มีอะไรจริงๆ คนที่คิดฟุ้งซ่านคือ คนที่ไม่รู้จักความเป็นจริงของลิง ไม่รู้จักความเป็นจริงของความคิด ของอารมณ์นั่นเอง เรียกว่า ไม่เห็นตามความเป็นจริงของความคิด อารมณ์
อย่างไรจึงเรียกว่า ไม่เห็นตามจริง เห็นผิด เห็นผิดตรงที่เห็นว่า ความคิดนั่นคือ เรา ของเรา ทำไมเราถึงวิ่งตามลิง ถ้าเราเห็นว่า ลิงนั้นไม่ใช่ของเรา มันจะเป็นของใครก็ช่าง เราจะวิ่งตามมันไหม ไม่หรอก แต่เพราะว่าเราเห็นผิดต่างหาก เห็นว่า ลิงนั้นเป็นของเรา เราเลยวิ่งตามมัน เราจึงทุกข์ แต่ถ้าวันใดเราเห็นชอบ เห็นว่า อ๋อ ! ที่แท้ลิงตัวนี้ มันไม่ใช่ของเรานี่หว่า เราก็เลิกวิ่งตามโดยอัตโนมัติ คราวนี้ก็สบาย ลิงมันจะไปเกิดไปตายที่ไหนก็ช่างหัวมัน เห็นไหม สุดท้ายก็เป็นเรื่อง ความเห็นชอบ สัมมาทิฏฐิ
หากท่านเอาความคิดหรืออารมณ์มาพิจารณาให้เห็นด้วยไตรลักษณ์ อนิจจัง ให้เห็นว่าความคิดไม่เที่ยงๆๆ จิตท่านจะสงบลงเองโดยอัตโนมัติ เพราะเมื่อเห็นว่าความคิดต่างๆ มาแล้วก็ไป ๆ หาแก่นสารไม่ได้ จะถือเป็นเรา ของเราไม่ได้ จิตท่านก็จะสงบ ตั้งมั่น เลิกวิ่งตามความคิด เหมือนบุรุษเลิกวิ่งตามลิง ฉะนั้นเมื่อจิตตั้งมั่น ท่านจะเห็นตามความเป็นจริง แต่การเห็นคราวนี้ เป็นการเห็นแจ้ง รู้จริง เป็นปัญญาที่เกิดต่อจากจิตสงบ ตั้งมั่น จะเห็นความคิดก็อยู่ส่วนความคิด จิตก็อยู่ส่วนจิต เห็นความคิดเกิดดับๆ อยู่ตรงหน้า เหมือนน้ำไหล แต่ใจนิ่ง นี่คือ น้ำไหลนิ่งที่หลวงปู่ชาบอก
แทนที่คนเราจะวางใจไว้ที่ใจ ไว้ที่สติ เรากลับเอาใจไปไว้ที่อารมณ์ ความคิด เสมือนเราวิ่งตามเพื่อไปอยู่กับลิง เราจึงทุกข์เพราะความคิดอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราจะรู้เห็นธรรม เราต้องเปลี่ยนที่อยู่ของใจ ถอนใจออกจากลิงเสีย
บางคนคิดโต้แย้งว่า ถ้าไม่คิด จะทำงานอย่างไร จะใช้ชีวิตประจำวันอย่างไร เพราะมันต้องใช้ความคิด เมื่อหลายวันก่อน ผมบอกให้วางความคิดเสีย แต่ไม่ได้หมายถึงให้หยุดคิด ผมเป็นคนชอบทำสวน ขุดดิน ปลูกต้นไม้ วันหนึ่งก็แบกจอบไปขุดดินเพื่อปลูกต้นไม้ตามประสา พอขุดเสร็จ ท่านว่าผมควรวางจอบหรือแบกจอบต่อ ท่านต้องตอบว่า วางจอบสิ เรื่องมันเป็นอย่างนั้นแหละ
ทุกวันนี้เราใช้ความคิดทำงาน แต่เราไม่เคยวางความคิดเลย เราแบก ยึดมั่นมันไว้ตลอด ไม่ใช่สิ ความคิดฉันต้องถูก ต้องใหญ่ ต้องสำคัญกว่าคนอื่น ใครไม่ทำตามความคิดฉัน คนนั้นเป็นปฏิปักษ์กับฉัน เราคิดไม่ผิด ที่ผิดคือ เราไปยึดมั่นในความคิด เหมือนคนขุดดินแล้วไม่ยอมวางจอบ ฉันใดก็ฉันนั้น
พระอรหันต์ พระพุทธเจ้าคิดไหม ท่านก็คิดเหมือนเรานี่แหละ อย่างหลวงปู่ชา หลวงปู่ดูลย์จะสร้างโบสถ์ ท่านก็คิดว่า จะสร้างที่ไหน อย่างไร จะหาเงินมาจากไหน ท่านก็คิดตลอดเวลา แต่ท่านคิดแล้วก็วาง คิดแล้วก็วาง ท่านจึงสบาย ความคิดไม่ใช่ความทุกข์ แต่การไปยึดมั่นในความคิดต่างหาก คือ ความทุกข์
พระพุทธเจ้าพบพราหมณ์สองผัวเมีย ที่พาลูกสาวสวยมายกให้พระองค์ พระองค์ก็คิด (ดำริ) อยู่ในใจว่า ถ้าเราสอนธรรมะ พราหมณ์สองผัวเมียจะบรรลุอนาคามี แต่ลูกสาวจะดูหมิ่นเรา และจะไปบังเกิดในมหาอเวจีมหานรก เราจะเทศน์ดีไหมหนอ แต่ท่านคิดแล้วว่า หน้าที่ของพระองค์คือ มารื้อขนสัตว์ไปพระนิพพาน คนลงนรกเอาไว้ก่อน แล้วท่านก็ตัดสินใจเทศน์
แต่ก่อนผมก็บ้ากับความคิดนี่แหละ พยายามจะหนี เข้าไปหลบ แช่แน่นิ่ง แต่พอออกมาก็ฟุ้งอีก บางทีก็บอกว่า จะคิดอะไรหนักหนา แต่พอเริ่มรู้จักมัน ๆ จะโผล่แย็บอะไรมา ก็พยายามปล่อยให้มันเป็นไปของมัน พยายามไม่ไปยุ่งกับมันมาก
สรุปคือ หลวงปู่ชาท่านไม่สอนอะไรมาก สอนให้เราเห็นตามความเป็นจริง สอนให้เกิดปัญญา ท่านบอก ทำความเห็นชอบให้เกิดเท่านี้แหละ สมาธิจะมาเอง ท่านถึงบอกว่า จิตท่านเป็นสมาธิตลอดเวลา
ถ้าฟุ้งเพราะคิด ลองพิจารณาอาการสามสิบสอง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ให้เห็นเป็นของไม่สะอาด (อสุภะ) ไม่เที่ยง (อนิจจลักษณะ) เป็นรังของโรค เป็นที่อยู่ของสัตว์เล็กสัตว์น้อย (พยาธิ เชื้อโรค แบคทีเรีย ไวรัส) เขาเรียกว่า เห็นโทษในร่างกาย จิตจะค่อยๆ สงบ เป็นการสงบด้วยปัญญา เรียกว่า เดินมรรคถูก ยังไม่ต้องไปหวังผลอะไรทั้งนั้น หน้าที่เราคือ พิจารณา (โยนิโสมนสิการ) อย่างเดียว หลวงปู่ชาบอก อุปมาเหมือนคนปลูกต้นมะม่วง หน้าที่เราคือ คอยรดน้ำ พรวนดิน กำจัดแมลง ไม่ต้องไปสนใจว่าต้นมะม่วงมันจะโตกี่เซนต์ พรุ่งนี้จะออกใบกี่ใบ
การพิจารณาอาการสามสิบสอง ขอให้ขณะท่อง พิจารณาตามเท่านั้น เคล็ดลับคือ ให้เห็นเป็นของไม่สะอาด ไม่เที่ยงถาวร และเห็นโทษของมัน ดูดีๆ เถอะ ร่างกายนี้ มันเป็นรังของโรค ที่อยู่ของสัตว์เล็กสัตว์น้อยจริงๆ อันนี้เป็นจุดตายของนักปฏิบัติเลยล่ะ อย่ามองข้ามเชียวนะ เพราะถ้ายอมรับความเป็นจริงของร่างกายที่หยาบๆ นี้ยังไม่ได้ ที่เหลือก็อย่าเพิ่งพูดถึงเลย
ถ้ารู้ว่าคิด แล้วหยุด นั่นคือ สติ คิดแรกเป็นธรรมารมณ์ คือ อารมณ์ชนิดหนึ่ง คิดที่สอง (คิดซ้อน) นี่ปรุงแต่ง ขาดสติแล้ว คนที่มีสติดี พอคิดแรกโผล่ มีสติขึ้นมา คิดนั้นก็ดับไปทันที แต่ส่วนใหญ่กว่าจะรู้ตัวก็เพลินไปสักพัก สักครู่จึงรู้สึกตัว แต่ไม่เป็นไร พยายามประคองให้อยู่กับสติ อยู่กับความรู้สึกตัวไว้ ขณะเดียวกันก็อย่าปล่อยให้ความคิดดับไปเฉยๆ พิจารณามันด้วยอนิจจัง ตรงนี้คือ ปัญญา มันต้องใช้ควบคู่กัน จึงจะเห็นผลเร็ว ลำพังเพียงรู้ๆๆ จะช้า
ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ต้องอบรมให้เสมอกัน
บางคนเชื่อ แต่ไม่ทำ ไม่เพียร ก็ไม่ได้
บางคนเชื่อ ขยัน แต่ไม่ประกอบด้วยสติ ด้วยปัญญา ก็ไม่ได้
แต่ก่อนสงสัยเหมือนกัน ที่ครูบาอาจารย์บอกว่า หลวงปู่มั่นท่านจะเน้นอินทรีย์ห้า พละห้ามาก เวลาสอนพระ มันต้องประกอบกัน อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ โดยเฉพาะปัญญานี่สำคัญที่สุด เห็นอะไรก็น้อมเข้ามาในตัว เห็นใบไม้เหลืองร่วง ก็อนิจจัง
เข้าห้องน้ำ เห็นผมหงอก ขาว ร่วง ฟันห่าง หน้าตกกระ เหี่ยวไปตามวัย ก็อนิจจัง เห็นบ่อย ๆ จิตจะวิวัฒนาการของเขาเอง ตอนแรกผมก็ไม่เชื่อหรอก จนวันหนึ่ง เมื่อเขาถูกอบรมเต็มรอบของมัน เขาก็ตั้งมั่นให้เราดูเหมือนปลูกต้นไม้ ไม่ต้องถามว่าเมื่อไรมันจะโต ถึงเวลา มันก็โตเอง ถ้าเราหมั่นดูแล ประกอบเหตุให้พร้อม ถึงเวลา ผลก็ของแสดงของมันเอง มรรค ผล นิพพาน อยู่ไม่ไกล ไม่หนีไปไหนหรอก
เวลาจิตตั้งมั่นเห็นอะไรตามความเป็นจริงนี่ จิตไม่บอกให้รู้ตัวล่วงหน้าหรอก เหตุปัจจัยพร้อมในขณะใด มันก็แสดงในขณะนั้นเลย เรียกว่า อกาลิโก
มีมากนะครับ คนที่เคยฝึกสมาธิไม่ว่าวิธีใดมาก่อน เมื่อมาฝึกแบบนี้ จะเห็นไว อย่างหลวงตามหาบัว พอวางพุทโธ มาพิจารณากาย ไม่นานท่านก็เห็นสรีระร่างตัวเองแดงฉานไปด้วยเลือด กำลังจิตของเดิมของท่านมีอยู่มาก หลวงปู่มั่นมาเตือนบอก จะมานอนตายอยู่ในพุทโธนี่หรือ ให้ออกทางปัญญา คือ พิจารณากายนี่แหละ สุขในพุทโธ มันสุขขี้ฟัน (ของวิมุตติสุข) เท่านั้นเอง หลวงปู่มั่นบอก
ถ้าเห็นอสุภะจริง แสดงว่าเคยทำมาก่อน เคยเห็นมาก่อน มีบางคนเดินไปมาสักพัก เห็นกายตนเองเดินไปข้างหน้า ตัวเอง (จิต) อยู่ตรงนี้ อย่าเพิ่งกลัวไปก่อน นี่คือ การเห็นตามความเป็นจริง ความเป็นจริงที่ว่า กายนี้ หาใช่เรา ของเราแต่อย่างใดไม่ เป็นความเห็นเบื้องต้นที่จะนำไปสู่การเห็นธรรมในระยะอันใกล้ เป็นสัมมาทิฏฐิเบื้องต้น
กลางวัน เวลาทำงาน ก็อย่าลืมพิจารณาอารมณ์ด้วยล่ะ ต้องทำควบคู่กัน หากทำด้วยความเพียร ไม่ย่อท้อ ก็จะเห็นธรรม พบธรรมในที่สุด ดังที่หลวงปู่ชา ตลอดจนพระสาวกของพระพุทธเจ้าองค์อื่นๆ ที่พบ ที่เห็น