พระพุทธเจ้าสอนสามเณรราหุลเรื่อง กายคตาสติและขันธ์ 5

แสดงธรรม กลุ่ม Natural Mind เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2558
ท่านทรงกลด : วันพระนี้ตั้งใจจะนำเรื่องราวของพระราหุลมาแสดงให้พวกเราฟังเพื่อเป็นอุปนิสัยต่อไป เหตุที่ยกพระราหุลมาแสดง เพราะเห็นว่า ท่านบวชเณรตั้งแต่เด็กๆ แต่กว่าจะบรรลุธรรมก็อายุยี่สิบซึ่งนานมาก
ท่านต้องศึกษามาก ใช้ความเพียรมาก พระพุทธเจ้าจึงตั้งท่านไว้ในฐานะเป็นเลิศในด้านการใคร่ครวญศึกษา อย่างเราก็เหมือนพระราหุลนี่แหละ ค่อยๆ ศึกษา เก็บเกี่ยวไป วันหนึ่งต้องสำเร็จอย่างแน่นอน
พระราหุลนี่ไม่ธรรมดาเลย มีพระอาจารย์ระดับพระอัครสาวกเป็นพระอาจารย์ คือ พระสารีบุตรและพระโมคคัลลาน์ พระโมคคัลลาน์ปลงผมให้ พระสารีบุตรให้ไตรสรณคมณ์ (บรรพชาเป็นสามเณรรูปแรก) พระมหากัสสปให้โอวาท ตอนพระราหุลบวช พระเจ้าสุทโทธนะเสียใจมาก ตอนนั้นท่านเป็นพระโสดาบันแล้วแต่ก็ยังเสียใจอยู่ เพราะเกรงว่าจะไม่มีใครครองกรุงกบิลพัสดุ์ พระองค์จึงขอพระพุทธเจ้าว่า พระไม่ควรบวชบุตรที่พ่อแม่ยังไม่อนุญาต ซึ่งพระพุทธเจ้าก็บัญญัติให้ตามนั้น พอพระราหุลบวชเณร พระนางพิมพาก็ไม่เหลือใคร ถ้าเป็นคนโลกๆ จะตำหนิราหุลว่า ทำไมไม่เลี้ยงดูแม่ที่เป็นหม้ายกลับหนีไปบวชเสียอีก ธรรมดาพ่อแม่ย่อมหยิบยื่นสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกฉันใด การบวชของพระราหุลก็ฉันนั้น พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่า เรื่องโลก ทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียงเป็นเรื่องจอมปลอมไร้สาระ หาใช่สุขแท้ไม่ แต่เรื่องธรรมเป็นสุขแท้ บรมสุข ไม่มีเสื่อม ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป
ตอนนี้เกิดเป็นคนไม่ค่อยรู้สึก หากพลาดพลั้งเกิดในอบายจะรันทดหดหู่ ท่านลองสังเกตดวงตาของสัตว์ทุกชนิดดูเอาเถิด อย่างสุนัขหรือแมว เคยเห็นดวงตามันสดใส รื่นเริงบ้างไหม ลองดูดีๆ ดวงตามันเศร้านะ เพราะพวกเขาต่างก็เคยเกิดเป็นคนแล้วพลั้งพลาด ทำผิดศีล เคยมีคนระลึกชาติได้ เขียนไว้ว่า ตอนตายไปเกิดเป็นหมู พอเกิดมาใหม่ๆ รู้ตัวว่าเกิดเป็นหมู ใจเด็ดมาก วิ่งเอาหัวชนคอหักตาย บางคนตาย เป็นห่วงบ้าน ตายแล้วก็เกิดเป็นจิ้กจก ตุ๊กแก เฝ้าบ้านอยู่ บ้านของกูๆ อย่างร่างกายเรานี้ลองคิดดูดีๆ ข้างในร่างกายเรา ต่างก็มีพยาธิ พยาธิมันก็คิดว่า กายนี้เป็นของมัน เราก็คิดว่า กายนี้เป็นของเรา ต่างก็ทึกทักหมายมั่นแย่งชิงกันอยู่ สุดท้ายมันไม่เป็นของใคร กลับคืนสู่ธรรมชาติ ดิน น้ำ ไฟ ลม หมด พูดให้เกิดปัญญา ไม่ได้พูดให้สะอิดสะเอียน
พระนางพิมพาเห็นว่า สามีก็บวช บุตรชายสุดที่รักก็บวช อย่ากระนั้นเลยเราบวชบ้างดีกว่า ตอนพระนางพิมพาบวช มีอยู่ครั้งหนึ่งอาพาธ เป็นโรคลมกำเริบ สามเณรราหุลมาเยี่ยม พอรู้ว่าแม่ป่วยก็ไปหายามาถวาย แต่เป็นเด็กไม่รู้จะหาอย่างไร เลยไปหาพระสารีบุตรให้ช่วย สังคมพระอริยะเขาไม่ทอดทิ้งกัน พระนางพิมพาก็บรรลุอรหัตผลเหมือนกัน และปรินิพพานขณะมีอายุ ๗๘ ปี พระราหุลนี่กตัญญูต่อมารดามาก
พระราหุลเป็นผู้ที่เคารพกฎระเบียบของพระพุทธเจ้ามาก อ่านประวัติพระราหุลแล้วน่าสงสารจริงๆ ครั้งหนึ่งไม่มีที่นอน เพราะพระพุทธเจ้าห้ามพระภิกษุนอนกับสามเณร ท่านก็ไม่รู้จะไปนอนที่ไหน เลยไปนอนในส้วมของพระราชบิดาคือ พระพุทธเจ้า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้ามาพบ เลยสอบถาม พอทราบเรื่อง จึงอนุญาตให้ภิกษุนอนกับสามเณรได้ไม่เกินสามคืน พระราหุลไม่เคยนึกเลยว่า ตนเป็นลูกพระพุทธเจ้า ท่านทรงทำตามกฎที่พระราชบิดาตั้งไว้ ตั้งใจปฏิบัติตามทุกอย่าง ไม่เคยมีอภิสิทธิ์ใดๆ ท่านเคารพพระราชบิดามากจริงๆ ทั้งนี้พระพุทธเจ้าประสงค์จะข่มมานะ (ความเป็นกษัตริย์) ของพระราหุลด้วย
ครั้งหนึ่งพวกพระวางรองเท้าเกะกะไม่เป็นระเบียบ ต่างก็ถามว่าใครวาง แล้วต่างก็โยนความผิดให้สามเณรราหุล เพราะเป็นเด็กโต้เถียงไม่ได้ สามเณรราหุลก็ยอมรับผิดทั้งที่ไม่ได้ทำ ลองเป็นเราสิ คงเถียงตายกันไปข้างหนึ่ง ก็ฉันไม่ผิดนี่ พระพุทธเจ้าก็ค่อยๆ สอน เรื่องวินัย เรื่องศีล เรื่องการกล่าวเท็จ และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น
อีกครั้งหนึ่งพระราหุลตามเสด็จไปบิณฑบาต แต่ด้วยความเป็นเด็ก ขณะเดินตามเกิดความคิดฟุ้งซ่าน เห็นลักษณะพระพุทธเจ้างดงามมาก เลยตรวจดูตัวเอง แล้วก็ชมตัวเองว่างามเหมือนกัน ถ้าพระพุทธเจ้าไม่บวชจะได้เป็นพระมหาจักรพรรดิ เราก็จะได้เป็นด้วย ขณะนั้นพระพุทธเจ้าทรงทราบวาระจิตของสามเณรราหุล จึงดำริว่า ราหุลเกิดฉันทราคะ (ความพอใจ) เพราะรูปเป็นปัจจัย จึงหันมาตรัสว่า ราหุล รูปนี้ (รูปกาย) ที่เป็นอดีต (เด็ก) อนาคต (ผู้ใหญ่) และปัจจุบัน ก็ดี ภายใน ภายนอก หยาบ ละเอียด เธอพึงเห็นหรือว่ารูปนี้เป็นเรา ของเรา นี่ พระพุทธเจ้ากำลังสอนเรื่องกายคตาสติให้สามเณรราหุลแล้ว
สามเณรราหุลถามกลับว่า รูปเท่านั้นหรือๆ พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า ราหุล ทั้งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ต่างจะถือเป็นเราของเราไม่ได้ สามเณรราหุลคิดว่า วันนี้พระพุทธองค์ทรงให้โอวาทปานนี้เรายังจะไปบิณฑบาตอีกหรือ ท่านจึงปลีกตนไปนั่งที่โคนไม้ต้นหนึ่ง พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงห้าม เพราะคิดว่า วันนี้เราจะให้ราหุลบริโภคอมตโภชนะคือ กายคตาสติก่อน ถ้าเป็นปุถุชนทั่วไปต้องมองว่า พระพุทธเจ้าใจร้าย ปล่อยให้ลูกอดข้าว อันว่า กายคตาสตินี้หากใครบริโภคแล้วจะนำไปสู่มรรคผลนิพพานดังคำกล่าวที่ว่า รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง กินข้าวกินมามากแล้ว ลองกินกายคตาสติดูบ้างเป็นไร ผมนี่ยังบริโภคทุกคืน ก่อนนอนจะนั่ง เดินหรือนอนจะสาธยายอาการสามสิบสอง ตั้งแต่ผม ขน เล็บ… จนถึงเยื่อในสมอง หากใครต้องการบรรลุเห็นธรรมเร็ว ลองปฏิบัติดูเถิด จะอัศจรรย์กับผล จิตท่านจะสงบแช่มชื่น และจะไม่ค่อยหิวมากนักเมื่อตื่นขึ้นมา และจะเอื้อต่อการเจริญสติอื่นๆ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน หรือเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ทีนี้ปรากฏว่า แทนที่สามเณรราหุลจะได้เจริญกายคตาสติ ปรากฏว่า ขณะนั่งจะเจริญกายคตาสติ พระสารีบุตรผ่านมา ด้วยความเมตตา เห็นสามเณรราหุลนั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง จึงคิดว่า ราหุลจะเจริญสมาธิ จึงเดินเข้าไปสอนอานาปานสติ ด้วยความเคารพพระอาจารย์ ท่านจึงเรียนอานาปานสติจากพระสารีบุตร พระสารีบุตรแม้จะมีปัญญามาก แต่ท่านไม่มีฤทธิ์ที่จะรู้วาระจิตคนเหมือนพระสหายท่าน อย่างมีครั้งหนึ่ง มีพราหมณ์คนหนึ่งจะตาย นิมนต์ท่านไปเทศน์ ท่านเห็นว่าเป็นพราหมณ์ จึงเทศน์เรื่องพรหมวิหารสี่ พราหมณ์คนนั้นตายแล้วก็ไปเกิดเป็นพรหม แต่พอกลับมา พระพุทธเจ้าทราบ จึงทรงตำหนิว่า หากเทศน์เรื่อง มรรคมีองค์แปด พราหมณ์นั้นจะบรรลุธรรม เพราะจิตพราหมณ์ในขณะนั้นเอื้อต่อการบรรลุธรรมแล้ว
ครั้งนี้ก็เหมือนกัน ท่านไม่รู้ว่า ขณะนี้สามเณรราหุลได้รับโอวาทให้พิจารณากาย ท่านจึงเข้าไปสอนเรื่อง อานาปานสติ พอสามเณรราหุลกลับมาตอนเย็น เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า สามเณรราหุลถามเรื่อง อานิสงส์ของอานาปานสติ พระพุทธเจ้าไม่ตอบ แต่ตรัสสอนให้พิจารณากายให้เป็นธาตุห้าอย่าง (มีอากาศธาตุเพิ่มมาคือ ความว่างเปล่าในกายเรา) สอนธาตุดินซึ่งมีลักษณะแข็งที่จิตเราเข้าไปยึดมั่น เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน สอนธาตุน้ำ เช่น เสลด หนอง เลือด เสมหะ สอนธาตุไฟ เช่น ไฟที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น และช่วยเผาและช่วยย่อยอาหาร สอนธาตุลม เช่น ลมในท้อง ลมหายใจเข้าออก แล้วสรุปว่า เธอพึงเห็นด้วยปัญญา เห็นชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่เป็นเรา เมื่อเห็นตามความเป็นจริงแล้ว จิตย่อมเบื่อหน่าย คลายกำหนัด คือ ความพอใจในธาตุ (กาย) ทั้งหลาย จากนั้นตรัสสอนสามเณรราหุลให้เจริญภาวนาธรรมหกอย่างคือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อสุภภาวนาเพื่อละราคะ อนิจจสัญญา (ที่ผมพูดบ่อยๆ) เพื่อให้เห็น ความไม่เที่ยงของรูปนาม อารมณ์ เพื่อละอัสมิมานะ (ความยึดถือว่ามีเรา) จากนั้น ทรงอธิบายวิธีการเจริญอานาปานสติ (อย่างที่ผมเคยแสดงไป) แล้วสามเณรราหุลก็ถูกทิ้งไว้ในวิหาร
พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกให้ใครนำอาหารไปถวาย แต่สามเณรราหุลก็ยังไม่บรรลุธรรมใดๆ แต่อินทรีย์ก็แก่กล้าขึ้นตามลำดับ พระพุทธเจ้าทราบว่า สามเณรราหุลถือว่า เป็นบุตรของเรา อาจจะมีความถือตัว จึงพยายามสอนไม่ให้ดูหมิ่นบัณฑิต สอนให้ปลีกวิเวก สอนให้เห็นโทษในกามคุณห้า และสอนว่า ราหุล เธออย่ากลับมาสู่โลกนี้อีก จงสำรวม จงมีสติไปแล้วในกาย (กายคตาสติ) จงอบรมวิปัสสนา สามเณรราหุลฟังธรรมข้อนี้แล้ว ก็ยังไม่บรรลุธรรมใดๆ อีก แต่ก็ไม่ลดละความเพียร
ครั้งหนึ่งเข้าไปถามพระพุทธเจ้า (เหมือนอย่างที่พวกเราชอบถาม) ว่า บุคคลจะรู้ได้อย่างไร เห็นอยู่อย่างไรว่า ตัวเรา ของเรา เราเป็นนั่น เราเป็นนี่ ในกายที่มีวิญญาณนี้ ไม่มี พระพุทธองค์ตรัสสอนให้พิจารณาขันธ์ห้า อารมณ์ทั้งปวง ด้วยปัญญาให้เห็นชอบความตามเป็นจริงว่า ขันธ์ห้า ไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ ต้องเสื่อมต้องพัง เมื่อบุคคลรู้อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จะเห็นว่าตัวเรา (อหังการ) ของเรา (มมังการ) เรา เป็นนั่น เราเป็นนี่ (มานานุสัย) ในกายที่มีวิญญานี้ จะไม่มี
เห็นไหมที่พยาพยามบอกพวกเราว่า อารมณ์ระหว่างวันนั่นน่ะเอามาขบด้วยอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ให้เห็นว่า หาสาระแก่นสารไม่ได้ มาแล้วไป เกิดแล้วดับ หรือที่หลวงปู่ชาสอนว่า อะไรๆ ก็ไม่แน่ ไม่เที่ยง เห็นอยู่แค่นี้แหละ ไม่ต้องไปเรียนอ่านมันมากหรอก ก็คือ ที่พระพุทธเจ้าพยายามสอนสามเณรราหุลนี่แหละ จนกระทั่ง วันหนึ่ง ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดพระเชตวันวิหาร พระราหุลก็อยู่ด้วย หลังจากบิณฑบาตกลับมาแล้ว
หลังจากที่เสวยแล้ว ทรงเห็นว่า ราหุลนี้เราก็สอนอะไรๆ มามากแล้ว ธรรมะแก่กล้าแล้ว ถึงเวลาที่ควรจะบรรลุธรรมแล้ว จึงตรัสให้พระราหุลถือผ้ารองนั่ง เดินตามเข้าไปในป่า เพื่อจะเทศน์ธรรมยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ขณะนั้นเอง (เชื่อไม่เชื่อก็แล้วแต่นะครับ) เทวดาหลายพันตนติดตามไปด้วย เวลาพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ อย่างหลวงปู่มั่นไปแสดงธรรมที่ไหน พวกเทวดาจะชอบมาฟัง เพราะเป็นการเสริมบุญตัวเองคือ ยังไม่อยากหมดบุญกลับมาเกิดเป็นคนในโลกที่วุ่นวายยุ่งเหยิงใบนี้
เมื่อประทับนั่ง พระราหุลก็ถวายอภิวาท พระพุทธเจ้าก็ถามว่า (ฟังดีๆ นะครับ เผื่อจะได้บรรลุธรรมเหมือนพระราหุลด้วย) ราหุล เธอเข้าใจว่า จักษุ (ตา) นี้เที่ยงหรือไม่เที่ยง แต่ก่อนเราสายตาปกติ ตอนนี้ สั้นบ้าง ยาวบ้าง ไม่เที่ยง เมื่อแก่ตัวไปตาก็ฝ้าฟาง ใช่หรือไม่ (ผมจะเสริมไปให้) บางคนตาก็บอด ใช่หรือไม่ บางคนตาก็เป็นต้อกระจกใช่หรือไม่ ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นถือว่าอยู่ในบังคับบัญชาของเราได้หรือไม่ เราจะสั่งว่า ตาเอ๋ย เจ้าอย่าเสื่อม อย่าสั้น อย่ายาว ได้หรือไม่ ก็สิ่งใดที่เราสั่งบังคับบัญชาไม่ได้ จะถือว่าสิ่งนั้นเป็นเรา ของเราได้ละหรือ สิ่งใดที่ไม่เที่ยง มีความแปรปรวนอยู่เป็นธรรมดา สิ่งนั้นจะถือว่ามีตัวตน (อัตตา) แก่นสารได้หรือไม่ จะหาสาระแก่นสารในตานี้ได้หรือไม่ สิ่งใดหาแก่นสารไม่ได้ ควรหรือที่จะเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา
พระราหุลก็ตอบว่า ไม่ควรเลย พระเจ้าข้า แล้วเธอเข้าใจความข้อนี้เป็นไฉน เธอว่า รูป (กาย) นี้เที่ยงหรือไม่เที่ยง อย่าลืมว่า พระองค์ทรงสอนเรื่อง กายคตาสติให้พระราหุลพิจารณามานานหลายปีแล้ว ให้เห็นเป็นของไม่สวยงาม ไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง กายนี้เที่ยงหรือไม่เที่ยง กายตอนนี้กับตอนเป็นทารก เด็กน้อย วัยรุ่น หนุ่มสาว กลางคน ปลายคน มันแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา เหมือนใบไม้ที่ผลิใบอ่อน เติบโต เขียว แล้วค่อยๆ เหลือง ร่วงหล่น กลายเป็นปุ๋ย เรากับใบไม้ต่างกันตรงไหน ต่างกันเพียงใบไม้ไม่มีวิญญาณครอง แต่กายนี้มีวิญญาณครองเท่านั้นเอง เราตอนนี้ กับเราตอนเด็ก มันใช่คนเดียวกันหรือ
ส่องกระจก แล้วเอารูปตอนเด็กมาดูสิ มันไม่ใช่ เมื่อไม่ใช่ ยอมรับความเป็นจริงเสียทีว่า กายนี้มันไม่เที่ยง มีความแปรผันเสื่อมไปดับไปเป็นธรรมดา ก็สิ่งใดเสื่อมไปดับไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเห็นว่า สิ่ง (กาย) นั้นเป็นเรา เราเป็นกาย กายนั้นเป็นอัตตาของเรา ไม่ว่ากายหรือรูปใดๆ เมื่อเกิดแล้วย่อมเสื่อมดับไป ตาที่เห็นก็ไม่เที่ยง รูปที่เห็นก็ไม่เที่ยง เมื่อตาเห็นรูป เกิดความรู้ทางตาเรียกว่า จักขุวิญญาณ เมื่อหูได้ยินเสียง เกิดความรู้ทางหู พอ โสตวิญญาณเกิด จักขุวิญญาณก็ดับไป เมื่อลมมากระทบกาย เกิดกายวิญญาณ โสตวิญญาณ ความรู้แจ้งทางหูก็ดับไปอีกแล้ว
เมื่อวิญญาณไม่ว่าจะเกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (ดังแสดงไปมากมายหลายครั้งแล้ว) ไม่เที่ยง เกิดแล้วดับๆ ควรหรือที่จะเห็นว่าวิญญาณนั้นเป็นเรา เราเป็นวิญญาณ วิญญาณเป็นอัตตาของเรา พระราหุลก็ตอบว่าไม่ควรพระเจ้าข้า
ก็เวทนาเล่า เมื่อตาเห็นรูปอันที่น่าพอใจยินดี ก็เกิดสุขเวทนา พอหันไปมองรูปที่ไม่น่าพอใจยินดี ก็เกิดทุกขเวทนา สุขเวทนาก็ดับไป สุขเวทนาตอนแต่งงาน ตอนมีลูก ตอนรับปริญญา ตอนเงินเดือนขึ้น ตอนได้กินของอร่อยชอบใจ ดูหนังเรื่องโปรด ตอนนี้มันยังอยู่หรือไม่ มันดับไปหมดแล้ว ตกลงสุขเวทนาก็ดี ทุกขเวทนาก็ดี มันเที่ยงหรือไม่เที่ยง ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า พระราหุลตอบ เมื่อเวทนาไม่เที่ยง ควรหรือที่จะเห็นว่า เวทนามีสาระแก่นสาร มีตัวมีตน เป็นเรา เป็นของเรา ข้อนั้นไม่ควรเลยพระเจ้าข้า
แม้สัญญา ความจำได้หมายรู้ จำนั่นได้ จำนี่ได้ ตอนนี้ ยังจำได้หมดอยู่หรือ เคยท่องประมวลกฎหมาย จำชื่อเพื่อนสมัยเด็กๆ ตอนนี้ ยังจำได้ดีอยู่หรือ เมื่อเช้าวางของไว้ตรงนั้น เผลอแป๊บเดียวลืมแล้ว สัญญาก็ไม่เที่ยงเหมือนเวทนานั่นแหละ
สังขารอีกเล่า ความคิดปรุงแต่ง เมื่อตาเห็นรถฟอร์จูนเนอร์รุ่นใหม่ ก็เกิดความคิดอยากได้ไว้สักคัน พอหันมามองสลิปเงินเดือนที่เหลือแต่ละเดือน ความคิดอยากได้รถก็ดับไปทันที วันก่อน เพื่อนทำให้โกรธ วันนี้เจอ คิดว่าจะด่ากลับให้สาสม แต่พอเจอหน้าเพื่อนถูกรถชนมา ความคิดนั้นก็ดับไป คืนๆ หนึ่งก่อนนอน คิดเรื่องนั้นจบ (ดับ) เรื่องใหม่ก็มาให้คิดอีก คิดแล้วดับๆๆๆ ความคิดปรุงแต่ง (สังขาร) นี่ตกลงเที่ยงหรือไม่เที่ยง พระราหุลตอบ ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า เมื่อความคิดปรุงแต่งไม่เที่ยง มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควรหรือจะเห็นว่า นั่นคือ เรา เราคือ ความคิด ความคิดเป็นอัตตา (ตัวตน) ของเรา ไม่ควรพระเจ้าข้า (ตรงนี้ผมบอกหลายครั้งแล้วว่า เมื่อเห็นธรรม จะเห็นว่าความคิดไม่ใช่เราจริงๆ คิดก็คิด เรา (จิต) ก็เรา มันคนละอันกันจริงๆ)
พระราหุลส่งกระแสจิตตามไป เห็นขันธ์ห้า อารมณ์ทั้งปวง มีความแปรปรวนเสื่อมไปๆ อยู่เนืองนิจ หาแก่นสารตัวตนไม่ได้ จิตพระราหุลขณะนั้นก็เบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายในอารมณ์ที่ไร้แก่นสารเช่นนั้น ก็ย่อมคลายกำหนัด (ความยินดีในขันธ์) จิตก็หลุดพ้น เมื่อหลุดพ้น ก็รู้ว่าหลุดพ้น รู้ชัด (เกิดอาสวักขยญาณ) ว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์จบแล้ว กิจที่ต้องทำเพื่ออย่างนี้ไม่มีอีกแล้ว บรรลุอรหัตผล เมื่อจบพระธรรมเทศนา ส่วนเทวดาหลายพันตนที่ย่องตามเข้าไป ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบันบุคคล ปิดอบายภูมิได้สนิท ที่จะไปเกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เป็นอันไม่มี
ต่อมาเมื่อพระราหุลอายุครบอุปสมบท พระสารีบุตรก็เป็นอุปัชฌาย์ พระมหาโมคคัลลาน์เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ภายหลัง พระพุทธเจ้าก็ทรงยกย่องพระราหุลว่า เป็นเลิศกว่าภิกษุสาวกด้านการใคร่ครวญศึกษา